สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน ได้จัดทำ “โครงการพระคืนสู่ป่า” เพื่อการเพ่งเพียรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างจริงจังในภาคสนาม อันเป็นการส่งเสริมทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของวัดป่าฯ ที่ให้ความสำคัญทางด้านเปรียญธรรมควบคู่ปฏิบัติธรรม ดังที่จัดส่งพระภิกษุในสังกัดเข้าศึกษาเปรียญธรรมที่วัดอาวุธวิกสิตาราม บางพลัด กรุงเทพฯ รุ่นแรก ๗ รูป ที่สามารถสอบเปรียญธรรม ๑-๒ ได้ถึง ๔ รูป และได้รับสิทธิ์สอบซ่อมอีก ๑ วิชาจำนวน ๓ รูป ซึ่งคาดหวังว่าน่าจะสอบได้ทั้งหมด

การส่งพระปฏิบัติชุดแรกที่มีอายุมากแล้ว อยู่ในวัย ๔๐-๖๐ ปี นับเป็นเรื่องท้าทายต่อความอดทนในสภาพสังขารขันธ์ ที่แปรปรวน ทรุดโทรม มากกว่า พระเล็กเณรน้อยวัยต้นๆ ทั้งหลาย ที่อยู่ในวัยกำลังดีต่อการเล่าเรียนท่องบ่นจดจำ

เมื่อพระภิกษุชุดแรกทั้ง ๗ รูป สามารถสอบผ่านได้ถึง ๔ รูป และได้สิทธิ์สอบซ่อมอีก ๓ รูป จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีของสำนักเรียนวัดอาวุธฯ.. และวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ

ในโอกาสอันเหมาะสม หลังจากสอบเปรียญธรรมเรียบร้อย จึงจัดปฏิบัติธุดงควัตร จาริกกลับคืนสู่ผืนป่า ภูเขา ที่มีธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ อย่างเช่น ในย่านเทือกเขาหลวงที่ครอบคลุมพื้นที่หลายพื้นที่ จรดเขตแดนหลายจังหวัด โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่เรียกชื่อทางการว่า เทือกเขาบรรทัด

ปัจจุบันบนเทือกเขาบรรทัดในหลายพื้นที่ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์นั้น อยู่ในความดูแลของสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ประสานกับ คุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอำนวยความสะดวกในการเข้าพักปฏิบัติธรรมในเขตป่าอุทยานในพื้นที่เขาหลวง ดังเช่น อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น (ช่องช้าง ๕๐๘) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี

อุทยานแห่งชาติน้ำตกกรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมมราช

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเหนือฟ้า อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช

ซึ่งแต่ละพื้นที่อุทยานในเทือกเขาหลวง ที่ครอบคลุมหลายอำเภอ จังหวัดในภาคใต้ อดีตเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคใต้ โดยเฉพาะ “กรุงชิง อ.นบพิตำ” .. ที่เล่าลือกันมานานว่า เป็นศูนย์กลางกองบัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคใต้ ที่มีชัยภูมิดีเยี่ยม.. เป็นฐานที่มั่นที่แข็งแรง ยากจะเข้าโจมตีได้ง่าย ด้วยกองกำลังภาคพื้นดินเพียงอย่างเดียว ด้วยภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ของเทือกเขาหลวง ที่ยังคงป่าธรรมชาติสมบูรณ์ยิ่ง แม้ถึงปัจจุบัน เมื่อกองกำลังคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยย่อยสลายไปเป็น “ผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย” จนหมดสิ้น.. และอุทยานแห่งชาติเข้าไปรับต่อ เพื่อรักษาดูแลผืนป่าต้นน้ำดังกล่าว จึงได้เห็นสภาพป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศ

การนำพระภิกษุที่มุ่งเน้นปฏิบัติธรรมหรือพัฒนาจิต ด้วยหลักสติปัฏฐานสี่ กลับคืนสู่เขตป่า เพื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วย เสนาสนะป่า แท้จริง จึงต้องไปรับการสนับสนุนจากกองอุทยานแห่งชาติ ที่ปัจจุบันเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการดูแลพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ จำนวนเนื้อที่หลายแสนไร่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศชาติให้สืบทอดต่อไป...

การเข้าพักเพื่อปฏิบัติธรรมในแต่ละพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ยังได้รับความดูแลจากฝ่ายปกครองของกรมการปกครอง ดังที่มี.. นายอำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี, นายอำเภอลานสกา, นายอำเภอเมืองและปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ถวายการต้อนรับตามสมควร อันเป็นไปตามนโยบายของ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ที่สนับสนุนให้พระภิกษุได้ออกปฏิบัติศาสนกิจเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแก่ประชาชนในทุกท้องที่ เพื่อเสริมสร้างการสร้างความผาสุกด้วยการประพฤติธรรม ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี.. และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและประโยชน์สุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วทุกภูมิภาค ที่จักได้ร่วมกัน ทำบุญ สร้างกุศล ด้วยการใส่บาตร รับศีล ฟังธรรม.. เพื่อพัฒนาจิตใจ อันเป็นไปตามพระสัทธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ตรัสแสดงไว้ดีแล้ว

ด้วยการสนับสนุนของฝ่ายอาณาจักร ผ่านทาง กรมการปกครองและกรมอุทยานแห่งชาติ จึงทำให้ “โครงการพระคืนสู่ป่า” เป็นไปด้วยดี สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการพัฒนาจิตใจของพระภิกษุทุกรูปที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้มีโอกาสทดสอบความรู้และกำลังใจว่า ถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนและเพียงพอหรือไม่ต่อการจะบรรลุถึงซึ่ง พุทธภาวะ

ดังนั้น ในระหว่าง ๕-๑๙ เมษายน ๒๕๖๗ จึงเป็นเวลาที่พระภิกษุในโครงการได้รื่นเริงยิ่งต่อการจาริกปฏิบัติธุดงควัตรไปตามขุนเขา ป่า ต้นน้ำลำธารทั้งหลาย.. ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ในความเป็นป่าชื้น ดินชุ่มฉ่ำ แสดงถึงประสิทธิภาพของระบบนิเวศที่ยังคงคุณภาพ ให้ธรรมชาติเป็นไปตามระบบอย่างปกติ ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสรรพสิ่งให้อยู่ใต้อาณัติ... อันเป็นความรู้ในวงจรธรรมชาติที่พระภิกษุควรได้รับการเรียนรู้ด้วยตนเอง จะดียิ่งกว่า ท่องเที่ยวอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต จนเสียศีล.. เสียธรรมกันไป.. อย่างไร้ค่า

นอกเหนือจากพื้นที่การปฏิบัติธรรมในเขตอุทยานแล้ว.. ยังมีเสนาสนะป่าในเขตวัดป่าฯ ตามขุนเขาใหญ่น้อยในภาคใต้ ที่ได้เข้าพักอาศัยปฏิบัติธรรมของพระภิกษุตามโครงการ ไม่ว่าจะเป็น พระธาตุภูหว้า ที่สำนักวัดป่าเทสรังสี อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ตั้งบนเทือกเขานาคเกิด และสำนักวัดป่าเขาขุนน้ำคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ที่ญาติโยมได้ซื้อถวาย โดยมีเอกสารสิทธิ นส. ๓ ก. ถูกต้อง ซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์ยิ่งในความเป็น เสนาสนะป่า ที่ควรแก่การเสพคบ

กล่าวได้ว่า ไม่ว่าอากาศจะร้อนไปทุกหย่อมหญ้าทั่วทุกภาค.. แต่สำหรับ พระธาตุภูหว้ารัตนคีรี อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และ สำนักวัดป่าเขาขุนน้ำคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ยังคงสามารถดำรงความร่มเย็นอยู่ได้ อันเหมาะควรเป็นสถานพัฒนารักษาจิตใจของพระภิกษุ ที่มุ่งเน้นทำความเพียร ด้วยครบสมบูรณ์ในความเป็น สัปปายะสถาน ที่ควรแก่การเจริญธรรมอย่างยิ่ง

วัตรปฏิบัติ.. ป่า.. ธรรมชาติ จึงต้องดำรงอยู่เพื่อการดำเนินไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกันและกันในวงจรธรรมชาติ ที่ต้องคิดคำนึงถึงความสมดุลเป็นสำคัญ ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามธรรมในธรรมชาติ...

ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงเวลาของความสุขในการเจริญธรรม สั่งสอนธรรม.. แสดงโปรดศรัทธาญาติโยมในทุกถิ่นฐาน โดยเฉพาะข้าราชการในพื้นที่ อันเป็นการประกอบศาสนกิจอันยิ่ง เพื่อความถึงพร้อมในกุศลผลบุญ.. ที่ จักได้น้อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ใน ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้

ความสัมฤทธิ์ของโครงการพระคืนสู่ป่า.. จึงเกิดขึ้น ภายใต้การร่วมกันตามฐานะ หน้าที่ และจิตศรัทธาของแต่ละฝ่าย ที่จะถวายการอนุเคราะห์ สงเคราะห์ เพื่อบูชาคุณของพระรัตนตรัย ด้วยการสนับสนุนให้พระภิกษุคืนกลับสู่ป่า เพื่อมุ่งเน้น การเจริญจิตภาวนา อันเป็นไปเพื่อการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว

จึงขออนุโมทนาในความศรัทธาของทุกฝ่ายที่มีต่อพระพุทธศาสนา ด้วยการให้การสนับสนุน การจาริกปฏิบัติธุดงควัตรของพระภิกษุ จำนวน ๑๘ รูป สามเณร ๑ รูป ในครั้งนี้ ที่จะไปสิ้นสุดโครงการฯ ณ พระธาตุภูหว้ารัตนคีรี อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ นี้

สำหรับโครงการพระคืนสู่ป่า.. จะจัดให้มีขึ้นในทุกๆ ปี และหากมีกำลังสนับสนุนเพียงพอ จะเปิดโครงการให้มีพระภิกษุจากวัดวาอารามต่างๆ ที่มีความประสงค์.. ได้เข้าร่วมด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างคุณภาพของพระภิกษุให้ดีขึ้นและถูกต้องตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง.

 

                                                       เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย