มั่นใจในระบบที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ในศักยภาพของทุกคน แล้วภูมิใจไทยจะกลายเป็นสถาบันพรรคการเมืองจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง ต่อให้ไม่มีผม แต่พรรคภูมิใจไทยในอนาคต ก็จะเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งเหมือนเดิม
พรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อตั้งพรรคมา ก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 6 เม.ย โดยก่อนหน้านั้น พรรคภูมิใจไทย ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567ไปเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีการเลือก"คณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่" ซึ่งแม้ หัวหน้าพรรคยังเป็นคนเดิมคือ"อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย"แต่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆอีกหลายคน พบว่ามีการผลักดันนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรค ขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรคกันหลายคน
โดยบุคคลสำคัญที่หลายคนจับตากันก็คือ”ไชยชนก ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย -บุตรชายคนโตของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย คีย์แมนคนสำคัญของภูมิใจไทย”ที่ขึ้นมารับตำแหน่ง”เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยคนใหม่”แทนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม ที่ก็คือ อาของนายไชยชนก
รายการ”ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด”โดยสำราญ รอดเพชร ได้สัมภาษณ์พิเศษ กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่ ที่หลายคนมานั่งร่วมให้สัมภาษณ์พูดคุยอย่างเป็นกันเอง ถึงทิศทางของพรรคภูมิใจไทยต่อจากนี้ โดยเนื้อหาการสัมภาษณ์ดังกล่าว มีบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจ ที่คัดมานำเสนอดังนี้
-คุณพ่อ เนวิน บอกให้มาลงเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยหรือว่าคิดเอง?
ไชยชนก -ก็ต้องบอกว่า คณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดก่อน มีไอเดียพอสมควร ว่าใครควรที่จะต้องอยู่ตำแหน่งไหน แต่ทุกคน ก็ได้เปิดฟลอร์เหมือนกัน ให้พวกเราได้พิจารณาปรับเปลี่ยน ปรับแต่ง แล้วก็ร่วมกันตัดสินใจ ที่ต้องบอกว่าเปลี่ยนเยอะมาก
-การปรับเปลี่ยนดังกล่าว คิดร่วมกันทั้งพรรคหรือไม่?
ไชยชนก -ในระดับกรรมการบริหารพรรค อาจจะไม่ถึงกับทั้งพรรค แต่จะเป็นกรรมการบริหาร ที่ตอนนี้อาจจะเรียกว่าชุดเก่า กับกลุ่ม potential ที่เป็นส.ส.ที่มีศักยภาพ หลาย ๆคนที่แสดงผลงานออกมาแล้ว ซึ่งจริงๆ มีศักยภาพทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพแล้ว ก็เป็นการหารือ กันตรงนั้น แต่ถามว่าตำแหน่งเลขาธิการพรรค ก็เรียนตรงๆว่าไม่ได้มีคู่แข่งในเชิงที่ว่า ทุกคนเห็นตรงกัน ก็ยกเว้นผมคนเดียว เพราะยังคิดว่าไม่ควรเป็นผม(หัวเราะ) คือในวันนั้น ก็ยังเป็นวันที่เรายังน้อยพรรษาในการเมือง เพราะก็เป็นส.ส.สมัยแรก และต้องไม่ลืมว่าเพิ่งเป็นได้แค่ไม่กี่เดือน ที่พวกเราปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส.ส. คือเรามีความกังวลส่วนตัว แต่สุดท้ายแล้ว พอเราได้เริ่มทำงานกันมา ไม่มีความกังวลเลย เพราะในสิ่งที่ผมขาดตกบกพร่อง ทุกคนพร้อมที่จะsupport ทุกคนก็ช่วยกันเติมเต็มกันและกัน
-ที่เข้ามาการเมือง สนใจโดยส่วนตัวหรือว่าคุณพ่อ (เนวิน) ผลักดัน?
ไชยชนก -ถ้าจุดเริ่มต้น ตั้งแต่เด็กจนโตเลย ผมไม่อยาก ผมก็พยายามเลี่ยง เพราะประสบการณ์ที่ผมสัมผัสตอนที่ผมยังเด็กๆ ช่วงนั้นสิ่งที่ผมเห็น ช่วงนั้นการเมืองมันดุเดือดมาก และความที่ผมเป็นลูกคนโตของพ่อ เวลามีอะไรเขาก็จะหนีบผมไปด้วยตลอด ช่วงนั้นก็มีทั้งโดดลงเรือหลังบ้านหนีทหาร อะไรต่างๆ แล้วผมก็ได้เห็นว่าชีวิตของผม แตกต่างจากชีวิตของเพื่อนๆอย่างมหาศาล ที่วัยเดียวกันแล้วก็เรียนมาด้วยกัน ตรงนั้นมันทำให้ผมมีความรู้สึกค่อนข้างลบเกี่ยวกับการเมือง แล้วมันก็ฝังในใจมาตลอด
-ในพรรคภูมิใจไทย คนรุ่นก่อน เขาตกผลึกหรือไม่ ยอมหรือไม่ที่ให้คนรุ่นใหม่ๆเข้ามามีบทบาท เพราะทำให้เขาต้องถอยออกไป?
ไชยชนก -จริงๆ ผมมองว่า เรื่องการถ่ายเปลี่ยนของ เจเนอเรชันเป็นเรื่องที่อยู่ในไทม์ไลน์ของพรรคภูมิใจไทยอยู่แล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริง เขาก็อยากให้เวลา ให้พวกเราได้เรียนรู้นานกว่านี้ แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไวขึ้น
ถามว่าผู้ใหญ่ในพรรครู้สึกอย่างไร คิดว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดในวันหนึ่งและควรต้องเกิดในวันหนึ่ง แต่ว่าในฐานะที่เขาเป็นผู้ใหญ่ เขาก็ต้องเป็นห่วง มีความกังวลทายาทของเขาอยู่แล้ว ในฐานะพ่อแม่ ในฐานะญาติ เพราะว่า ลูกในไส้ ไม่มีใครไม่รัก ถ้าจะมีความรู้สึกกังวล ก็อาจเป็นเรื่องของความรู้สึกกังวลว่าพวกเราพร้อมจริงๆหรือไม่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่มันไม่มีความขัดแย้งในเชิงที่ว่าไม่อยากให้น้องๆ ลูกหลาน เข้ามา ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นความกังวลในเชิงว่าพวกเราจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีเพียงพอที่จะตอบโจทย์พี่น้องประชาชนหรือไม่
- การปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ ที่บางคนบอกว่า รุ่นใหม่ บ้านใหญ่ มีของ อันนี้ปฏิเสธหรือไม่ คำขวัญอันนี้?
ไชยชนก -ปฏิเสธไม่ได้ครับ แม้จะไม่ได้อยากจะพูดออกมาจากปากพวกเราเอง แต่จริงๆ แล้ว แต่ผมคิดว่ามันปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว อย่าง คำว่า"รุ่นใหม่"สำหรับพวกเรา เจเนอเรชันใหม่ ไม่ได้หมายถึงแค่อายุ ถ้าสังเกตุ ก็มีบางคนก็ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุแบบพวกเรา ที่เป็นท่านอาวุโสที่เราเคารพรัก แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ วิธีการทำงาน ที่สามารถปรับเปลี่ยน และพัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงของเวลา อันนี้คือความหมายของรุ่นใหม่ของเรา
สำหรับคำว่า"บ้านใหญ่"อันนี้ ผมว่ามันไม่มีความจำเป็น ต้องมาอธิบายหรือนิยามเพิ่มเติม หากถามผม เพราะเป็นเรื่องของต้นทุนที่แตกต่างจากคนอื่น ทั้งในเชิงประสบการณ์ชีวิตที่เราผ่านมา ส่วนคำว่า"มีของ"อันนี้ ผมคิดว่าเราจะให้นิยามหรือพูดเองไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องไปลอง research ค้นหาและวิเคราะห์ เพราะแต่ละคน "มีของ"ไม่เหมือนกัน มีความสามารถ มีความเจ๋งแตกต่างกัน
ส่วนของผมเอง พรรษาการเมืองน้อย ของในด้านการเมือง จริงๆแล้ว ปู่(ชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา) พ่อ(เนวิน ชิดชอบ) อา (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) มีเยอะก็จริง แต่สำหรับผมยอมรับว่ายังมีน้อย แต่ประสบการณ์ของผมจะมาจากส่วนอื่นๆ มากกว่า เช่นการพัฒนา การอยู่ร่วมกับชุมชน การอยู่ร่วมเป็นฟันเฟืองของการทำให้จังหวัดบุรีรัมย์ จากจังหวัดที่เคยยากจนเป็นอันดับสาม(ของประเทศ)จนมาเป็นจังหวัดบุรีรัมย์แบบทุกวันนี้ และจะพัฒนาอย่างยั่งยืน เรื่องของฟุตบอล การแข่งรถ การพลิกวงการอีสปอร์ต และสิ่งต่างๆ
ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง -ถ้าพูดถึงเรื่องรุ่นใหม่ เท่ากับผมเป็นผู้อาวุโสสูงสุดในกลุ่ม(ที่มานั่งให้สัมภาษณ์) แต่ก็ยังนับตัวเองว่าเป็นรุ่นใหม่อยู่ด้วยแนวคิด ส่วนบ้านใหญ่ ก็ชัดเจน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องบ้านใหญ่ แต่ละคน ก็มีปูมหลัง ว่ามีบรรพบุรุษ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ที่เขาทำการเมืองมาก่อนแล้วเรามารับไม้ต่อ เป็นเจเนอเรชันที่สอง -เจเนอเรชันที่สาม ซึ่งมันมีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ส่วนเรื่อง"มีของ"ผมเชื่อว่า ทีมกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดปัจจุบันทุกคน มีศักยภาพในการที่จะขับเคลื่อนพรรคภูมิใจไทย และในการที่จะขับเคลื่อนประเทศ
เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี(หลานชายนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย) -บ้านใหญ่ทางการเมือง คือบ้านใหญ่ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ ทุกคนผ่านสมรภูมิการเลือกตั้งมา อย่างพวกผม อยู่ในจุดที่"เสียไม่ได้"ที่ก็คือ ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลด้วย ชื่อเสียงของสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างมา จนมาถึงวันนี้ มาถึงรุ่นของพวกผม ที่ก็ต้องพิสูจน์การทำงานทางการเมือง พิสูจน์ตัวเองในการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน
วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย-อย่างที่เลขาธิการพรรคกล่าว จริงๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะพวกเรา(ส.ส.รุ่นใหม่สมัยแรก) เพราะถ้าสังเกตุในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ในการทำงานในสภาฯ หากติดตามการถ่ายทอดการประชุมสภาฯ จะเห็นพวกเราถือข้อมูล ถือเอกสาร เดินกันไปมา เป็นแบบนี้แทบทุกครั้ง ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราทำงานกันเข้มข้นมากขึ้น
-ที่บอกว่ามีของ สุดท้ายแล้วจะมีของจริงหรือไม่ จะให้ความมั่นใจได้อย่างไร ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ นำความเปลี่ยนเปลงมาสู่ประเทศ มาสู่พรรคภูมิใจไทยจริง?
ไชยชนก -ส่วนตัวผมเอง เวลาที่ตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว จะทำอย่างสุดความสามารถ แต่มันจะเพียงพอหรือไม่เพียงพอ ก็ดูที่ผลลัพธ์และผลงาน แต่ว่าตั้งแต่ผมก้าวเข้ามาสู่วงการการเมือง ในตอนแรก ผมก็ยังเป็นผมเหมือนเดิม พยายามเป็นตัวผมแบบเดิม ที่ตอนแรก ผมก็มีความกังวลหลายอย่างมาก แต่พอผมได้ทำไปเรื่อยๆ แล้วทุกๆ คนเอง ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ผมได้เห็นไฟในตัวเขา
อย่างถ้าสำหรับคนที่อยู่ในสภาฯ จะสัมผัสได้เลยว่า พรรคภูมิใจไทยในสมัยนี้ เป็นพรรคเดียว เท่าที่ผมสังเกตุ อันนี้ผมอาจพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าเป็นพรรคที่ทำงานแล้วมีความสุขและสนุก พวกเราจะมีความยิ้มแย้มแจ่มใส เราตั้งใจกันทำงาน ตรงนี้เป็นเหตุผลที่ผมจะบอกว่าเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แล้วสิ่งที่เห็น ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติในการทำงานเป็นแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเพียงแค่ด้านหน้าอย่างเดียว แต่สิ่งที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงมหาศาลจริงๆ ในพรรคภูมิใจไทย คือโครงสร้างการทำงานภายในพรรค คือภูมิใจไทย ตั้งแต่จากพรรคขนาดเล็ก มาขนาดกลางและมาตอนนี้ ที่ก้ำกึ่งระหว่างจากกลางไปใหญ่
โดยในอนาคต หวังว่าหากพี่น้องประชาชนยอมรับในผลงาน ก็จะเป็นพรรคใหญ่ โครงสร้างไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงภายในเลย ในเชิงที่ว่าเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของบุคลากร ถ้าเรามองในเชิงองค์กร เพราะองค์กรยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องมีระบบการทำงานที่ละเอียดและมีประสิทธิภาพ แล้วถ้ามันไม่มี เราไม่สามารถเข้าถึง ไม่สามารถดึงศักยภาพของบุคลากรออกมาใช้ได้เลย ถ้าเปรียบเทียบเป็นองค์กร
เมื่อมองกลับมาในความเป็นพรรคการเมือง การที่เราจะ manageแบบเดิม แบบที่เราเคย manage จากที่เคยเป็นพรรคที่มีส.ส.20คน แล้วมาเป็นพรรคที่มีส.ส. 71 คน แล้วถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนตรงนี้ เราไม่ดึงศึกยภาพของส.ส.ออกมาเพื่อตอบโจทย์ประชาชน ถือว่าเราใช้ส.ส. ได้ไม่คุ้มค่า แล้วส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาทุกคน ซึ่งโดยกระแสการเมือง ผมว่าไม่มีใครเถียงได้ว่าพวกผมไม่มีของ ไม่งั้นไม่รอดสักคน ทุกคนมีศักยภาพแน่นอน
ซึ่งถ้าเราปรับตรงนี้ แล้วทำให้ทุกคนสามารถโชว์ความสามารถ โดยให้เวทีไม่พอ แต่ให้ทุกคนร่วมงาน ร่วมแรงร่วมใจกัน มาทำงานในทุกๆด้าน ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
14 พ.ค. big launch รีแบรนด์ดิ้ง ภูมิใจไทย
-ที่มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา อันนี้ยังไม่ใช่โครงสร้างภายใน?
ไชยชนก -อันนี้เป็นแค่เพียงผิวเผินด้านบน เราเป็นแขน เป็นขา จริงๆ แล้วคนไปมองว่ากรรมการบริหารพรรค เหมือนกับเป็นเจ้าของพรรค แต่สำหรับมุมมองของพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่ พวกเราแทบจะเป็นจุดล่างสุดเลย เพราะเราต้องบริหาร เราต้องเซ็ต เราต้องช่วยกันอำนวยความสะดวก เพื่อให้สมาชิกพรรค สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-เห็นว่า จะมีการเปิดตัวแผนงานต่างๆ ของกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน ในวันที่ 14 พ.ค.นี้?
ไชยชนก -ตามแผนงาน ก็วันที่ 14 พ.ค. ที่จะได้เห็นโครงสร้างภายใน และจะมีทีเซอร์บางส่วน วันนั้นจะเปรียบเสมือนการ big launch ของการรีแบรนด์ดิ้ง ที่ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ complete ของพรรคภูมิใจไทย แต่จะเป็น big launch ของการเปลี่ยนแปลงที่ภูมิใจไทยจะรีแบนด์ในครั้งนี้ที่เป็นครั้งใหญ่ เพราะหากเราเร่งรีบทำ เร่งรีบรีแบนด์เกินไป มันจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงและยั่งยืน อยากให้คอยติดตามชม ส่วนสโลนแกนพรรค "พูดแล้วทำ"ก็ยังคงเป็นดีเอ็นเอของพรรคเราแน่นอน เช่นเดียวกับเรื่อง"สถาบันฯ" ก็เป็นดีเอ็นเอ
-การรีแบนด์อะไรต่างๆ ไม่ใช่เป็นคำสั่งมาจาก ลุงเน(เนวิน ชิดชอบ) ?
ไชยชนก- ไม่ใช่ครับ รอดูวันที่ 14 พ.ค.จะรู้เลยว่า หลายสิ่งหลายอย่าง ไม่มีทางที่ลุงเน จะจินตนาการออกมาได้
-เกิดลุงเน ไม่เห็นด้วย แล้วบอก นก ว่าไป พ่อไม่ยุ่งแล้ว แบบนี้จะไม่ยุ่งหรือ?
ไชยชนก -ก็นี้คือสิ่งที่จะได้สัมผัสในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งบางเรื่อง ผมต้องบอกว่ามันตามความเหมาะสม และตามสมควร ผมมองว่าพ่อแม่ การที่เขาคลอดเรา ก็ต้องมีความเป็นห่วง ยิ่งเขาเห็นเราในร่มเงาของเขา ยิ่งเขาเห็นเราพัฒนา มีความพร้อมมากขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น เขาก็อยากค่อยๆ ปล่อยให้เราทำ ทีนี้ จะบอกว่า ลุงเน จะปล่อยให้ทำ จะยอมให้ทำหรือไม่ คุณพ่อเขาประเมินจากศักยภาพของพวกผมทุกคน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่คุณพ่อ แต่รวมถึงกรรมการบริหาร จะมาบอกว่า ไม่ปล่อย จะมาปล่อยร้อยเปอร์เซ็นต์เลย อันนี้ จะเป็นความอันตรายต่ออนาคตของพรรค และผลกระทบกับประชาชนมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ถ้าเขาทยอยปล่อยตามการพิสูจน์ผลงานของเราให้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เขาคอยให้คำแนะนำ แล้วก็คอยเฝ้าระวัง เพราะ Gen ใหม่ รุ่นใหม่ มักจะมุ่งไปข้างหน้า แต่ถ้าเป็นแบบนั้น มักจะไม่ค่อยระวังหลัง แต่การที่มีคนมีประสบการณ์ คอยระวังหลัง คอยตักเตือน คอยชี้แนะ แล้วมีเราที่คอยโฟกัสไปข้างหน้า ผมก็มองว่า มันเป็นแบบที่ สมดุลและกลมกล่อม แต่ในวันที่เขารู้ว่าเรารอบคอบและมีประสบการณ์พอ เขาก็จะปล่อยเราเรื่อยๆ
-มั่นใจว่าโครงสร้างที่จะออกมา จะตอบโจทย์การทำงาน การขับเคลื่อนของพรรค จะมีอะไรเซอร์ไพร์สหรือไม่?
ไชยชนก- แน่นอน แต่มันจะไม่ได้มีแค่นั้น กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. แต่ด้วยการที่ผมยังไม่มีประสบการณ์การเมืองมาก เลยยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นสิ่งที่เซอร์ไพร์สสำหรับวงการการเมืองหรือไม่ ซึ่งจริงๆ หลายเรื่อง ก็ยังไม่ได้บอกกับคุณพ่อ (เนวิน) แต่พ่อก็บอกว่า นก (ชื่อเล่นของไชยชนก) ว่าไปเลย
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ครูใหญ่ บอกว่า นก ว่าไปเลย ก็เพราะว่าในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เรามีท่านหัวหน้าพรรค อนุทิน และรัฐมนตรีของพรรคอีกสองคนที่เป็นกรรมการในชุดนี้ ก็คือ คุณสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กับพี่ผึ้ง ศุภมาศ อิสรภักดี รมว.อุดมศึกษาฯ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกล้าปล่อยมากขึ้นทีละนิด ทีละนิด
วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย -ที่มาที่ไปของการปรับโครงสร้าง และการปรับรูปแบบการทำงานในครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่พวกเรานั่งคิดกัน แต่ยังมี ผู้หลักผู้ใหญ่ และกรรมการบริหารพรรคชุดเก่าและชุดใหม่ทุกคนด้วย ก็อย่างที่เลขาธิการพรรคบอกตรงนี้เปรียบเหมือนกับเป็นหน้าเค้ก แต่จริงๆ แล้ว เนื้อเค้กจริงๆ คือส่วนที่เหลืออยู่ และเป็นส่วนที่สำคัญกว่าตรงนี้(กรรมการบริหารพรรค)ด้วย จะบอกว่ามันกลั่นออกมาจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภูมิใจไทยออกมา
-ความกดดันสูงสุดในการเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ?
ไชยชนก- คือจากที่ผมเติบโตมามันมีแรงกดดันมาตลอด ที่เกิดมาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่มีประสบการณ์และเก่ง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรับมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาเราทำในส่วนของเอกชน เป็นธุรกิจของที่บ้าน หรืออย่างตอนที่ผมไปฝึกงานที่ประเทศสิงคโปร์ ก็เป็นแรงกดดันอีกแบบ เพราะถ้าเราผิดพลาดขึ้นมา คนที่ต้องได้รับผลกระทบและรับผิดชอบส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นแค่ตัวเราเอง หรือครอบครัวเราเองหรือว่าบริษัทเราเอง
พอมาเป็นพรรคการเมือง ความคาดหวังหรือการผิดพลาดหรือการตัดสินใจไม่รอบคอบหรือทำอะไรออกมา แม้กระทั่งสื่อสารพูดออกมา มันสามารถส่งผลกระทบ ที่ไม่ใช่แค่พรรค หรือสมาชิก แต่ถึงพี่น้องประชาชน ที่ให้โอกาส มีความศรัทธาและเลือกเรามา และประชาชนที่ไม่ได้เลือกเรามาด้วย อันนี้สำหรับผม เป็นสิ่งที่กดดันผมมากที่สุด แต่เราใช้แรงกดดันไปในทางบวก ก็ทำให้เรารอบคอบขึ้น ทำละเอียดขึ้น และผลักดันให้เราพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น
ภูมิใจไทย -เราอยู่ฝั่งประชาชน
-ในความเป็นพรรคภูมิใจไทย อย่างตอนนี้การเมืองที่เขามีการแบ่งขั้วเป็นเช่น พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคเสรีนิยม ในส่วนของภูมิใจไทย เคยมีการนิยามกันเองบ้างหรือไม่ ว่าภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองแนวไหน?
ไชยชนก-ในวันที่ 14 พ.ค. ก็จะเป็นวันที่เห็นพื้นที่ตรงนี้มากขึ้นแต่ถ้าจะพูดก่อนตรงนี้ ก็คือ เราอยู่กับฝั่งของประชาชน ในนโยบายหากสังเกตุ ซึ่งไม่ใช่แค่เพราะ เจเนอเรชันหรือว่าในส่วนของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตอนนี้ แต่ว่าพรรภูมิใจไทยจะมีนโยบายที่ ออกมาแล้วบางทีก็ดูซ้ายดูขวาตลอดเวลา แต่ทุกอย่างมันถูกคิดและคำนวณออกมาว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะส่งผลเชิงบวก หรือเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดในเวลานั้น อันนี้ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าถามว่านิยามของเราจะเป็นอะไร ผมจะบอกว่า ทุกๆคน มีนิยามที่แตกต่างกันหมดเลย ทั้งในกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน ชุดที่แล้ว และในพรรคเอง แต่ในความที่เราทำงานเป็นทีมที่ทำงานร่วมกันจริงๆ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราประกอบจุดอ่อนจุดแข็งและความคิดต่างๆเข้ามาแล้วมาหาความพอดี จนออกมาเป็นนโยบายที่สุดท้ายแล้วมีความครอบคลุมมากที่สุด อันนี้ขอตอบเพียงเท่านี้ เพราะเดี๋ยวงานพรรควันที่ 14 พ.ค.จะไม่เซอร์ไพร์ส
-เมื่อก่อนตอนเลือกตั้งปี 2562 พรรคเคยมีนโยบายเรื่องกัญชา แล้วต่อไป เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าคนนึกถึงพรรคภูมิใจไทย จะให้นึกถึงนโยบายอะไร ?
ไชยชนก-ถ้าย้อนไปเรื่องนโยบายกัญชา และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อๆ มาจนถึงผลเลือกตั้ง นอกเหนือจากการพูดแล้วทำ ผมยังมองว่าเรายังเป็นพรรคที่ทำแล้วไม่ค่อยพูดด้วย มันมีหลายอย่างที่เราไม่ได้ออกมาสื่อสารเพิ่มเติม หรือทำความเข้าใจกับประชาชนในหลายๆ มุมได้มากเพียงพอ ซึ่งเหตุและผล มันเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับเรื่องของโครงสร้างพรรคด้วย แต่ว่าอันนั้นจะขยายความกันในวันที่ 14 พ.ค.
-ในยุคที่นายอนุทิน เป็นหัวหน้าพรรค มีไชยชนก เป็นเลขาธิการพรรค จะมีสักเรื่องหรือนโยบายสักอย่างหนึ่งหรือไม่ ที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคเลย?
ไชยชนก -เกิดครับ และไม่ใช่แค่เรื่องเดียวด้วย แต่จะมีเรื่องอะไรบ้าง รอดูตามสถานการณ์ ซึ่งพวกผมทำเต็มที่แน่ๆ แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ก็ต้องรอชม แต่จริงๆ ก็มีแล้วเช่นเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล อันนี้แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่แสดงให้เห็นว่าเราทำงานอยู่แล้ว แต่หากถามว่าต่อไปจะมีหรือไม่ ผมค่อนข้างชัวร์ว่ามันจะมีแน่ๆ และมันไม่ใช่แค่ผม แต่จะมีหลายคนที่จะสร้างปรากฏการณ์ เพราะว่า เป้าหมายของเราคือสร้างการเปลี่ยนแปลง
-การที่พรรคมีส.ส. 71 คน แต่มีส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน คนก็วิจารณ์ว่าภูมิใจไทยเป็นพรรคบ้านใหญ่ ยังไม่มีฐานเสียงแบบ mass ตรงนี้อยู่ในความคิดของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ที่จะหาวิธีการมาตอบโจทย์เรื่องนี้?
ไชยชนก- ถึงจะมีแค่สามคน แต่คุณภาพล้วนๆ เรื่องนี้ทุกคนทราบดี และปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งกระแสที่ผ่านมา เป็นกระแสที่ เกินความคาดหมายของทุกคน ทุกคนในที่นี้ แม้กระทั่งกับพรรคก้าวไกล อันนี้พูดตรงๆ
ถามว่าผมคิดหรือไม่ ผมได้บทเรียนจากตรงนี้มาเยอะมาก และทุกๆคนได้บทเรียนจากตรงนี้มาเยอะมาก ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่(ในพรรค)ตระหนักว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่รู้ว่า ประสบการณ์ที่เรามีกันอยู่ล้นหลาม มันยังใช้ได้อยู่ แต่การที่จะสื่อสารมันให้ถึงประชาชนรุ่นใหม่ วิธีการของเขา มันสื่อสารไม่ถึงแล้ว ซึ่งการสื่อสารมันเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นเบสิกของการตลาด ถ้าคุณสื่อสารให้คนที่เป็น customer , consumer ไม่ให้เขาเข้าใจคุณภาพของproduct ของคุณ ไม่ได้ทำให้เขามีความรู้สึกต่อมัน ของจะดียังไง ก็ขายไม่ออก
ส่วนหากถามว่า แคร์คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ หรือไม่ ก็แน่นอน นอกจากนี้ สิ่งที่ผมแคร์มากที่สุด ก็คือการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของพรรค พอเราทำแบบนั้น มันจะตอบโจทย์มันจะส่งผลกระทบให้เราตอบโจทย์พี่น้องประชาชนมากขึ้น
และผลที่ได้ก็คือ ได้เสียงมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเขตเลือกตั้งหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์ก็ตาม แต่สิ่งที่ผมแคร์และต้องโฟกัสมากที่สุดตอนนี้ก็คือต้องทำให้เราสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในฐานะสถาบันการเมือง
-หากอนาคตมีการปรับครม. แล้วต้องไปเป็นรัฐมนตรี จะนั่งกระทรวงอะไรที่มีความถนัด?
ไชยชนก- ไม่ได้คิดอยู่ในหัวเลยครับ คือผมมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ผมยังขาดตกบกพร่องและต้องพัฒนาอีกเยอะ สิ่งที่ผมโฟกัสตอนนี้ วิธีคิดของผม ตัวผมไม่ได้มีเป้าหมายแบบนั้นไว้พุ่งชน ผมมองที่ตัวเอง พัฒนาตัวเองแล้วผมรู้สึกว่า มันจะดึงดูดความสำเร็จเข้ามาเอง ผมโฟกัสทำตรงนี้ไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่ง ผมว่ามันจะบอกตัวผมเองว่าผมเหมาะ แล้วจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเข้าไปทำหน้าที่ในกระทรวงไหนได้มากที่สุด หากวันนั้นมาถึง หากวันนั้นมาถึง
"ผมมั่นใจในระบบที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ในศักยภาพของทุกคน แล้วภูมิใจไทยจะกลายเป็นสถาบันพรรคการเมืองจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง ต่อให้ไม่มีผม แต่พรรคภูมิใจไทยในอนาคต ก็จะเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งเหมือนเดิม"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูมเศรษฐกิจ 2 ชาติ ! “อนุทิน” เร่งสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน จับมือกัมพูชา กระตุ้นค้าขายชายแดน-ท่องเที่ยว
วันที่ 21 พย. บริเวณสะพานข้ามคลองตะเคียน ด่านผักกาด จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะผู้บริหาร อาทิ นายอรรษิษฐ์ สัมพัน์รัตน์
'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง
'อนุทิน' ยันภูมิใจไทยโหวตเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติ
'อนุทิน' ยืนยัน ภท.โหวตเสียงข้างมาก 2 ชั้น หากนำมติ กมธ.ร่วมประชามติเข้าโหวตในสภา ย้ำเพื่อให้ ปชช.ตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง ชี้ทุกอย่างมีเงื่อนเวลาถ้าแก้ไม่ทันก็รอสภาชุดหน้า
'อนุทิน' ยันไม่คิดเอาคืนใคร ปมที่ดินเขากระโดงอย่าโยงการเมือง ไม่อย่างนั้นก็หมดสภาฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงข้อพิพาทพื้นที่เขากระโดงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดิน ซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันสิทธิ์ตามกฎหมาย
“ผู้ประกอบการ ราชบุรี” ชม “อนุทิน” ฟื้นกีฬาวัวลาน ให้แข่งตอนกลางคืน มั่นใจ เป็นงานเฟสติวัลระดับโลก
จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวง ให้การแข่งขันวัวลานจัดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 โดยล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปเปิดการแข่งขันวัวลานที่
'อนุทิน' เผยค่าแรง 400 บาท เป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่ ขึ้นกับคณะกรรมการไตรภาคี
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงค่าแรง 400 บาท ที่กระทรวงแรงงานป