สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง วัตถุกับจิตวิญญาณ หรือ รูปกับนาม ที่ประกอบกันจนมีชีวิต นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตของมนุษยชาติ.. ที่รวมเรียกลงในความเป็น สัตว์โลก เพื่อการบรรลุถึงจุดสมดุลของชีวิต.. ที่ต้องสัมพันธ์เกาะเกี่ยวเนื่องโยงใยกับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงนิยาม ๕ ประการไว้อย่างชัดเจน เพื่อแสดงความจริงของกฎแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อม (อุตุนิยาม) รวมถึงพันธุกรรมของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ (พีชนิยาม) กับจิตวิญญาณ (จิตนิยาม) ภายใต้กฎแห่งกรรม (กรรมนิยาม) ที่แสดงบทบาทของอำนาจแห่งธรรม (ธรรมนิยาม) ว่า มีอำนาจควบคุมทุกสรรพสิ่งทั้งมีชีวิต ไม่มีชีวิต ตลอดจนดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อม ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้...

การจัดความสัมพันธ์ในวงจรธรรมชาติด้วยนิยามทั้ง ๕ จึงนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ควรศึกษา โดยเฉพาะในสังคมโลกปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ความวิบัติทางธรรมชาติ.. ด้วยการถ่ายทอดพลังงานสู่กันและกันอย่างไม่สัมพันธ์กัน ที่ทำให้เกิดการสูญเสียความสมดุลไป ดังที่ปรากฏภาวะ Climate Change ที่หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ยในพื้นที่หนึ่ง อันเกิดจากการกระทำของสัตว์มนุษย์ ที่ทวีความเร่าร้อนรุนแรงด้วยไฟกิเลสที่สุมอยู่ในจิตใจ

เมื่อจิตใจของสัตว์มนุษย์ถูกกิเลสเข้าครอบครองและบงการจนเสียสมดุลในจิตสำนึกของความเป็นสัตว์ประเสริฐ จึงส่งผลต่อสังคม สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต สรรพสัตว์ทั้งหลายน้อยใหญ่ ในวงจรธรรมชาติ ที่รวมถึงพืชพรรณธัญญาหาร ตลอดจนถึงดินฟ้าอากาศ ฤดูกาลด้วย

ด้วยกิเลสในจิตใจของสัตว์มนุษย์ที่ผันแปรเชิงผกผัน จึงเป็นโจทย์ที่นำมาสู่การศึกษา เพื่อทำความเข้าใจในเหตุปัจจัยของทุกปัญหา ก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาฟื้นฟูด้านจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ให้มีความแน่วแน่ มั่นคง อย่างมีสติปัญญา เพื่อก่อเกิดภาวะดุลยภาพแห่งธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกับกิเลสได้ อย่างไม่ตกเป็นทาสของกิเลสจนสูญเสียความสมดุลในชีวิต

พระพุทธศาสนาแสดงหลักธรรมความเป็นจริง เรื่อง ธรรมชาติของกิเลส ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

“..ธรรมชาติใด ที่เร่าร้อน เศร้าหมอง และเมื่อไปประกอบกับจิตใจ.. จนทำให้จิตใจเร่าร้อน เศร้าหมอง ตามไปด้วย.. ธรรมชาตินั้นเรียกว่า กิเลส..”

โดยกิเลส มี ๓ ตัวหลัก คือ โลภะ โทสะ และโมหะ

โลภะ แปลว่า ความโลภ ความต้องการ ความยึดติด

โทสะ แปลว่า ความไม่ชอบใจ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด เศร้าโศก เสียใจ เป็นต้น

โมหะ แปลว่า ความหลงผิด คิดผิด ทำผิด เป็นธรรมชาติที่ปิดบังความจริง จึงไม่รู้ไม่เข้าใจธรรม

กิเลสทั้ง ๓ ตัว เมื่อประกอบกับจิต.. จะมีอำนาจควบคุมจิตที่เป็นธาตุรู้โดยธรรมชาติ ให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส.. หมายถึง รู้ไปตามอำนาจของกิเลส

เฉกเช่น คนที่มีดวงตาที่ดี มองเห็นทุกอย่างได้ชัดเจน แต่เมื่อนำแว่นกระจกสีมาใส่ เช่น สีเหลือง สีแดง สีดำ.. การมองเห็นก็จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสีเหล่านั้น.. จนเกิดการปรุงแต่งให้คิดนึกไปตามสิ่งที่เห็นนั้น.. ด้วยอำนาจของกิเลสนั้น ที่แปรรูปเป็น อกุศลธรรม สร้าง อกุศลจิต ให้เกิดขึ้น

ในกิเลสทั้ง ๓ ตัว.. ที่น่านำมาศึกษายิ่งในวิกฤตการณ์ความเร่าร้อนของโลกในทุกมิติ คือ โลภะกิเลส ที่เมื่อมาประกอบกับจิต ก็จะเป็น โลภจิต

โลภจิต เป็นจิตที่เข้าไปรับรู้อารมณ์และก่อเกิดความยินดีในอารมณ์นั้น ที่รับมาจากอายตนะทั้ง ๖ เช่น ยินดีติดใจในรูปที่สวย เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอม รสที่เอร็ดอร่อย เป็นต้น

โลภจิต จะเข้าไปยินดีติดใจอยู่กับอารมณ์นั้น จนทำให้จิตเกิดความต้องการในอารมณ์ที่ชักนำไปสู่การแสวงหา เพื่อให้ได้มาตามความต้องการนั้น...

กล่าวได้ว่า.. โลภจิต ได้แปลงรูปเป็น ตัณหา อุปาทาน ภพ (กรรม) ได้อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้อำนาจของอวิชชา.. ที่เกิดจากจิตกิเลสดวงนั้น ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงของความเป็น สัตว์โลก ว่า แท้จริง คือ กิเลส+จิต นั้นเอง.. อันหา..ตัวตนเที่ยงแท้ไม่มีเลย... ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวไปตามอำนาจกิเลส ที่ทำให้จิตเกิดความสำคัญมั่นหมายที่วิปลาสไปจากธรรม.. จนก่อเกิดความวิบัติ.. ความฉิบหายต่อตนเองและสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับจิตนั้น.. อันเป็นผลที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ภายใต้อำนาจแห่งธรรม ที่สร้างกฎแห่งกรรมขึ้นมาควบคุม เพื่อสร้างความสมดุลในวงจรธรรมชาติ...

แม้จะมี กฎแห่งกรรม ที่ทรงพลานุภาพ ภายใต้ อำนาจแห่งธรรม ที่เป็นหนึ่ง.. แต่ก็มิได้หมายความว่า.. จะสามารถทำให้กิเลสสิ้นไปจากจิตใจของสัตว์โลกได้ไม่.. ตราบที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาจิตบนหนทางอริยมรรคอันมีองค์ ๘ ประการในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น ทั้ง กฎแห่งกรรม.. อำนาจแห่งธรรม.. และกิเลสกับจิต.. ก็ทำงานไปตามความเป็นจริงตามบทบาทหน้าที่

และเมื่อกิเลสยังไหลวนในวงจรจิต โลภจิต จึงได้กำลังเพิ่มขึ้น ด้วยอำนาจความอยากที่ไม่เคยรู้จักคำว่า พอ.. ด้วย โลภะสอนจิตให้อยาก แต่ไม่ได้สอนให้รู้จักคำว่า พอ...

โลภจิต จึงยกขึ้นสู่ อภิชฌาจิต.. ก่อเกิดอาการเพ่งเล็งอยากได้ในความอยากนั้น ด้วยกำลังของกิเลสฝ่ายโลภะที่มีมากขึ้น จนเกินกว่าจะควบคุมให้อยู่ในภาวะความสมดุลได้...

หลักธรรมกล่าวไว้ว่า.. อภิชฌามีในสมัยใด การโลภ กิริยาที่โลภ ความโลภ ความกำหนัด กิริยาที่กำหนัด ความกำหนัดนัก ความเพ่งเล็ง อกุศลมูลคือโลภะ.. ย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้น... จึงได้ชื่อว่า อภิชฌา มีในสมัยนั้น

เมื่อความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น คือ อภิชฌา เมื่อมาบวกกับ คำว่า วิสมโลภะ ที่แปลว่า ความโลภไม่สม่ำเสมอ จึงยิ่งเน้นย้ำถึง โลภจิต ว่า.. มีอาการเพ่งเล็งในการอยากได้ของผู้อื่นด้วยอาการความโลภที่ไม่สม่ำเสมอ

ซึ่งจริงๆ แล้ว ทั้งอภิชฌาและวิสมโลภะ เป็นไวพจน์กลุ่มเดียวกัน คือ วิสมโลภะ เป็นไวพจน์ของ อภิชฌา.. ที่แสดงให้เห็นถึงความอยากได้ของผู้อื่น ที่มีอาการเพ่งเล็งเป็น ความโลภทางทุจริต .. ซึ่งแม้จะต้องเข่นฆ่าทำลาย ทำให้ฉิบหาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ก็ย่อมกระทำได้ แสดงความเป็นองค์ธรรมของโลภะ.. ที่มีทั้ง โดยชอบธรรม (ธรรมิยโลภะ) และความพอใจอยากได้ที่มิชอบธรรม (อธรรมิยโลภะ)...

อภิชฌาวิสมโลภะ จึงนำไปสู่การแสวงหาในรูปการทำลายวงจรธรรมชาติจนเสียสมดุล ที่นำไปสู่ความแปรปรวน ผิดเพี้ยนไปจากความเปลี่ยนแปลงในภาวะปกติ ที่เรียกว่า สูญเสียระบบนิเวศ (Ecosystem) ในวงจรธรรมชาติ.. ที่เคยแสดงความเป็นธรรมดาของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับสิ่งแวดล้อม สังคม.. สภาพธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นดำรงอยู่...

การศึกษาธรรม.. จากวงจรธรรมชาติในผืนป่าภูเขาใหญ่ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ จะนำไปสู่ความเข้าใจในระบบห่วงโซ่หรือ ปัจจยาการ ความสืบเนื่องส่งต่อของทุกสรรพสิ่งที่ต้องดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกัน โดยเฉพาะ ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ ที่น่าศึกษายิ่ง เพื่อการมองให้ละเอียดแบบค้นลงไปในความเป็นส่วนเล็ก.. ส่วนย่อย.. ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์สืบเนื่องกัน จนกลายเป็นวงจรธรรมชาติที่สมดุล

สภาพธรรมเหล่านี้.. สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ในผืนป่าใหญ่.. พร้อมกับการพัฒนาจิตให้สงบ.. รู้.. เพื่อเข้าใจในวงจรธรรมชาติของชีวิต.. วิถีจิต.. ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ดีแล้วในความเป็น กฎธรรมชาติ..

จึงเป็นเหตุผลสำคัญยิ่งต่อการนำพระภิกษุออกจากวัดวาอารามที่พักอันสะดวกสบาย เข้าสู่การศึกษาวงจรธรรมชาติในป่าใหญ่.. เพื่อความเข้าใจใน กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อย่างแท้จริง โดยจะได้จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๑๙ เมษายน ๒๕๖๗ ที่อากาศกำลังร้อนระอุ.. เพื่อการเรียนรู้อยู่ร่วมกับธรรมชาติทุกสภาวะตามความเป็นจริง.. ของภิกษุในปกครองของวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์!!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน