ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

การแตกตัวออกเป็นนิกายต่างๆ มากกว่า ๑๘ นิกาย หลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๑๐๐ ปี เป็นหลักฐานรับรองคำกล่าวเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอันเป็นไปเพื่อการเจริญสติปัญญาประกอบความเพียรชอบ แต่ผู้อ้างตนเป็นพุทธบริษัทจำนวนไม่น้อย กลับไม่ยอมศึกษาปฏิบัติ อันเป็นไปเพื่อการเจริญสติปัญญา..

การเข้าไปยึดถือ สะเก็ด เปลือก กระพี้.. ที่อ้างว่าเป็นองคาพยพของพุทธศาสนา รวมถึงการต่อเติมทิฏฐิของตนรวมลงไปในคำสั่งสอน เพื่อชักนำไปสู่เดรัจฉานวิชา.. ไสยศาสตร์ โดยปฏิเสธ “พุทธศาสน์แท้จริง” กลับเป็นเรื่องที่เผยแพร่ไปทั่ว

จึงไม่แปลกที่หมู่ชนที่ห่างไกลการศึกษาปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา.. จะพากันปฏิเสธพุทธศาสนา ด้วยความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปตาม พระสัทธรรมปฏิรูป ที่เกิดขึ้นมาจากทิฏฐิของพุทธบริษัทปลอมๆ รุ่นหลัง

แม้ว่าจะมีหนังสือ พระไตรปิฎก ประมวลรวมพระธรรมวินัยไว้ดีแล้ว เป็นหลักฐานอ้างอิงพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ด้วยความเข้าใจที่ต่างกันจากการศึกษา บวกกับความเห็นของตนเอง ที่สำเร็จความรู้ด้วยความคิดนึก ที่หลากหลายไปด้วยทิฏฐิ.. จึงทำให้นำไปสู่ความเข้าใจที่ต่างกัน.. และเป็นเหตุที่ชักนำไปสู่การกระทำที่ไม่เป็นไปในความเป็นหลักปฏิบัติอย่างเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะเหตุเกิดจากการยึดถือพระธรรมคำสั่งสอนตามทิฏฐิของตน ที่ออกจากผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์.. โดยสามารถสรุปเหตุเกิดของการยึดถือคำสั่งสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิมได้ดังนี้

๑.ถือเอาตามความเชื่อของตน.. เป็น มิจฉาอธิโมกข์ ที่ก่อเกิดจากความงมงาย

๒.ถือเอาตามจริต .. ความชอบใจของตน.. อันเกิดจากตัณหาของตน

๓.ความเชื่อตามเขาว่ามา.. โดยขาดการพิจารณาโดยแยบคาย ด้วยความเชื่อมั่นในบุคคลมากกว่าเหตุผล

๔.ตรึกตามอาการเอาเองได้.. พวกนี้สำเร็จความรู้ด้วยความคิดของตน.. เพราะคิดนึกตรึกตรอง คาดคะเนเอาเองได้ว่าเป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้.. โดยไม่มีสติปัญญาเป็นเครื่องประกอบในการคิดนึกนั้น.. เพื่อพิจารณาโดยแยบคาย

๕.ถูกต้องตรงตามทิฏฐิของตน.. เป็นการปักใจเชื่อลงไปในเรื่องนั้นๆ.. เมื่อตรงกับทิฏฐิของตน อย่างขาดการพิจารณา

หลักธรรมแสดงเหตุเกิดของผิดเพี้ยนดังกล่าว ปรากฏอยู่ใน เทวทหสูตร ที่สอดรับกับกาลามสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ทำนองเดียวกันแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ในวิธีปฏิบัติตนต่อสิ่งที่สงสัยหรือหลักความเชื่อ ซึ่งมี ๑๐ ประการดังนี้ว่า..

อย่าเพิ่งเชื่อ.. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา.. ด้วยการถือสืบๆ กันมา.. ด้วยการเล่าลือ.. ด้วยการอ้างตำราคัมภีร์

อย่าเพิ่งเชื่อ.. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว.. หรือตรงตามทิฏฐิของตน

อย่าเพิ่งเชื่อ.. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะรูปลักษณะน่าเชื่อถือ.. น่าเป็นไปได้ หรือเพียงเพราะลักษณะภายนอกน่าเชื่อถือ

อย่าเพิ่งเชื่อ.. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะความเคารพนับถือว่า ท่านผู้นี้เป็นครูของเรา!!

จนกว่าจะรู้แจ้งจริงด้วยการสอบสวนจนรู้ด้วยตนเองว่า.....

“ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล.. ไม่มีโทษ..

ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล.. มีโทษ

โดยพึงละเสียในอกุศลธรรมที่เป็นโทษ และพึงถือปฏิบัติในกุศลธรรมที่ไม่เป็นโทษ”

สิ่งสำคัญของหลักการพิจารณา ก่อนที่จะปลงใจเชื่อ คือ การรู้เข้าใจในสารธรรมนั้น ด้วยการเจริญสติปัญญาประกอบความเพียรชอบ จนเกิด สัมมาทิฏฐิ  นั่นหมายถึง จิตใจต้องประกอบด้วยองค์สาม เพื่อดำเนินไปตาม “อริยมรรค” จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม.. เป็นผู้เคารพธรรม.. ในพระพุทธศาสนา

ปัญหาในสังคมต่อการเข้าไม่ถึงพระสัทธรรมแท้จริง.. คือ การขาดสติปัญญาและความเพียรชอบในการพัฒนาจิตใจ.. ซึ่งหมายถึง มิได้เจริญสติปัฏฐานธรรม ในการดำเนินชีวิตไปในทุกขณะ.. จึงเป็นปัญหาต่อการพิจารณาโดยแยบคาย เพื่อการเกิดปัญญารู้ชอบในสิ่งนั้นๆ... หรือเพื่อการก่อเกิด สัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์ธรรมอันสำคัญยิ่งใน ๘ ประการของอริยธรรม

จึงเป็นธรรมดา.. ที่แม้จะอ้างว่าเป็นชาวพุทธ.. แต่ก็ยากจะพัฒนาชีวิตให้เกิดภาวะพุทธะได้.. ด้วยเพราะขาดความใส่ใจในการศึกษาปฏิบัติธรรม...

เมื่อไม่นิยมศึกษาปฏิบัติธรรม.. ตาม “หลักพึ่งตน-พึ่งธรรม” จึงไม่แปลกที่จะงมงาย เกิด มิจฉาอธิโมกข์ .. มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง ในวิถีสังคมศาสนาในปัจจุบัน ที่ไม่แปลกหากจะเกิดสำนักแนวศึกษาศาสนาใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม.. จนนำไปสู่การก่อเกิดการปฏิรูปการศึกษาปฏิบัติขึ้นอีกครั้ง เพื่อการหาจุดสมดุลของการศึกษาที่นำพาไปสู่พระสัทธรรมดั้งเดิม.. ซึ่งแม้คงดำรงอยู่แต่ก็ยากจะเข้าถึง ยากจะเข้าใจใน พระสัทธรรม เพราะขาดต้นแบบคือ พระสุปฏิปันโนที่แท้จริง.. มีแต่ “สุปฏิปันนึกคิด”... คาดว่าไปตามทิฏฐิของตน จนเกิดอริยบุคคลที่เต็มไปด้วยทิฏฐิเกลื่อนกราดเต็มบ้านเต็มเมืองในโลกโซเชียลออนไลน์

หลายแนวทางที่เกิดจึงไม่ใช่เรื่องใหม่.. เช่น กรณีการเกิดสำนักพุทธวจนะของท่านพระคึกฤทธิ์ขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการแตกตัวมาจากอิทธิพลแนวคิดของหลวงพ่อพุทธทาส ในการปฏิรูปหลักธรรมคำสั่งสอนที่มีความซับซ้อนต่างไปจากหลักธรรมพุทธดั้งเดิม อันเนื่องมาจากภาวะการปลอมปนทิฏฐิของบุคคลลงไปปะปนในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. อันเกิดจากการศึกษาที่ยึดต่อกับตัวเรา ที่เกี่ยวเนื่องกับพระไตรปิฎก ที่เข้ามามีอิทธิพลในแต่ละยุค แต่ละสมัย โดยเฉพาะแนวความคิดที่เกิดจากนักแสดงธรรมทั้งหลาย นำเข้ามาปลอมปนลงไปในพระธรรมคำสั่งสอนที่บริสุทธิ์ หมดจด ด้วยอรรถและพยัญชนะ เพื่อประกาศความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในพรหมจรรย์ของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา

เหตุปัจจัยที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ การแสดงธรรมของพระภิกษุที่ไม่อ้างอิงพระไตรปิฎก.. ไม่ได้อ้างอิงพระพุทธพจน์ แต่กลับไปอ้างอิงครูบาอาจารย์หรือพระเถระต่างๆ ตลอดจนความเห็นของตนเอง จนกลายเป็น การเผยแผ่ศาสนาใหม่ในแนวพุทธะ ที่แสดงไปตามความคิดของตนที่เคยได้ยิน ได้ฟังมา หรือนึกคิดเอาเอง อันเป็นไปตามวิสัยปุถุชนที่เกิดปรากฏมากในวงการศาสนายุคไอที เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ชักนำให้หมู่ชนผู้ขาดสติปัญญา.. ขาดความคิดความอ่านที่ถูกต้อง เข้าไปเชื่อถือ เป็นบริวาร ที่นำไปสู่การแสวงหาลาภ ปัจจัยเงินทอง จากบุคคลเหล่านั้น ที่เข้าใจ-มั่นใจด้วยตนเอง โดยขาดการพิจารณา โดยคาดคะเนเอาเองว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ตามที่ได้เห็น.. ได้รับฟังมา...

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการใช้สื่อไอที เพื่อเผยแพร่เชิงโฆษณาชวนเชื่อ ที่นับเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญมากในการทำการตลาดเชิงรุก เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่ มหาชน.. ที่กำลังแสวงหาอำนาจบางอย่างที่จะช่วยให้ตนเองก้าวไปสู่ความสำเร็จ.. พ้นทุกข์โรคภัยที่ประสบอยู่ได้จริง

การเกิดลัทธิการสอนที่ผิดไปจากเดิมในแนว อริยประเพณี จึงเกิดขึ้นมากในยุคสมัยนี้ ที่มีการกล้าหาญในการพูด.. การแสดงออกหลากหลายรูปแบบ อย่างไม่เกรงกลัวต่อผลตอบแทนกลับคืนอันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม.. ขอเพียงแต่กฎหมายไม่สามารถจัดการอะไรได้ ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว

ปรากฏการณ์แสดงธรรมตามแนวคิดตนจึงเกิดขึ้นมาปิดบังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว.. แม้แต่การเอ่ยอ้างพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ก็เพื่อมารองรับแนวคิดของตนว่า ถูกต้อง ชอบธรรม

สิ่งที่ผิดเพี้ยนยิ่งขึ้นก็คือ การปรากฏบุคคลหลากหลายทั้งชาย-หญิง เข้าไปสู่บทบาทครูผู้สอนปฏิบัติธรรม.. นักเทศนาสั่งสอนธรรม.. แทนที่พระภิกษุผู้ที่รับภารธุระโดยตรงในการสืบทอดพระธรรมวินัย..ให้สืบเนื่องต่อไป

เรื่องดังกล่าวยิ่งเกิดมีมากขึ้นในช่องว่างที่พระภิกษุส่วนใหญ่ มุ่งแต่ไปให้ความสำคัญศาสนาในเชิงศาสนกิจ ศาสนพิธี.. ศาสนวัตถุและความเกี่ยวข้องกับการศึกษาแบบโลกๆ ในสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์... โดยละทิ้ง ศาสนธรรมแท้ อันเป็นแก่นของพุทธศาสนา

เมื่อตาลปัตรกลับด้านเกิดขึ้น เรื่องราวที่ปรากฏในเขตแดนพระศาสนา จึงผกผันไปจากความเป็นธรรมดา ดังเช่น การที่มีบุคคลผู้ครองเรือน อ้างอิงว่า มีอำนาจวิเศษในการติดต่อรู้เรื่องราวจากกรรมกับภพภูมิต่างๆ ได้ออกมาพยากรณ์เรื่องกรรมของคนนั้น.. คนนี้ ว่าจะต้องแก้อย่างนั้น อย่างนี้.. และก้าวไปสู่การโปรโมตพระภิกษุรูปปนั้น รูปนี้ วัดนั้น วัดนี้ ว่าควรแก่ความเคารพ.. เป็นพระอริยเจ้าที่ควรแวะเวียนไปกราบ

ลัทธิผีบุญ จึงฟื้นคืนชีพขึ้นในสังคมที่งมงายในความเชื่ออย่างขาดความเข้าใจในธรรม...

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .