การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย หากท่านเจอผู้อำนวยการโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนทั้งระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ผมมั่นใจว่า กว่าร้อยละ 90 จะต้องพูดถึงแต่การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่ต่างอะไรจากท่านผู้บริหารเหล่านั้น แต่เริ่มเปลี่ยนใจมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่นานมานี้เอง หลังจากที่ได้ศึกษางานวิจัยจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อเสาะหาวิธีการพัฒนาสังคมที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หลักการที่สนับสนุนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นเข้าใจได้ง่ายมาก ดังที่ศาสตราจารย์ เจมส์ เจ เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลได้สรุปไว้สั้นว่า “skills beget skills” ซึ่งหมายความว่า เด็กที่มีทักษะเริ่มต้นสูงกว่าสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่า ช่วงปฐมวัยจึงเป็นเหมือนฐานรากของการพัฒนาทุนมนุษย์ ทั้งความฉลาดด้านสติปัญญาและความฉลาดด้านอารมณ์

งานวิจัยที่เปลี่ยนใจผมได้มากที่สุด คือ การประเมินผลของการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยโดยใช้หลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ที่ทดลองในโรงเรียนแพรรี่ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 60 ที่แล้ว ซึ่งพบว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนของโครงการฯ มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมโดยรวมประมาณ 7 บาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้เรียนมีรายได้จากการทำงานที่สูงกว่า และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากการที่ผู้เรียนก่ออาชญากรรมและการติดยาเสพติดน้อยกว่า ซึ่งเป็นที่มาของหลักการที่ว่า การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้

คำถามที่ตามมาหลังจากได้ศึกษางานวิจัยชิ้นนั้น คือ ทำไมเราไม่เห็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กข้างบ้านสอนแบบนี้ จึงเกิดความคิดที่จะทดลองนำเอาแนวทางการสอนจากงานวิจัยชิ้นนั้นไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชนบท โดยได้เริ่มครั้งแรกที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ท้าทายแต่ก็สนุกมาก มีที่ที่ทำได้ดี และมีที่ที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย บทเรียนสำคัญประการแรกคือ ครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชนบทสามารถใช้แนวทางการสอนสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพได้จริง หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ การทดลองพัฒนาครูด้วยการอบรมในสถานที่จริง พิสูจน์ให้เห็นว่า ครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชนบทสามารถพัฒนาตนเองได้ บทเรียนสำคัญประการที่สองคือ วิธีการสอนที่นำมาใช้มีประสิทธภาพ สามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งพิสูจน์ได้จากงานวิจัยที่ประเมินผลอย่างเป็นระบบ

บางสถานศึกษาทำได้ดี แต่บางแห่งทำได้ไม่ดี อุปสรรคสำคัญคือ ครูและสถานศึกษาขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมักต้องใช้ความพยายามมากกว่าการสอนแบบปกติ คำถามคือ ใครได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง คำตอบน่าจะเป็นผู้ปกครองและเด็ก ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะได้ประโยชน์ด้วย แต่ครูซึ่งเป็นคนที่ลงแรงจริง กลับไม่ได้ประโยชน์เพิ่ม ยกเว้นความภาคภูมิใจ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ครูและสถานศึกษาส่วนใหญ่จะขาดแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เนื่องจากระบบไม่สามารถตอบแทนครูที่สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีเพียงพอ หรือพูดแบบชาวบ้านได้ว่า คนที่ทำดีอาจไม่ได้ดี แต่ไม่ต้องทำดีก็อาจได้ดี เหมือนดังที่ศาสตราจารย์ มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้กล่าวไว้ว่า “ปัญหาเงินเดือนครูในสหรัฐอเมริกาเป็นปัญหาที่ว่า ครูที่สอนได้ดีได้เงินเดือนต่ำกว่าที่ควรจะได้ ส่วนครูที่สอนได้ไม่ดีกลับมีเงินเดือนสูงกว่าที่ควรจะได้ เพราะทุกคนได้พอๆ กัน” ปัญหาการขาดแรงจูงใจเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของการศึกษาไทย คงต้องเริ่มด้วยการยอมรับปัญหาร่วมกัน มีการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหานี้ในวงกว้าง และมีการถกเถียงกันเพื่อหาทางออกอย่างจริงจัง

ทางออกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง คือ การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาการขาดแรงจูงใจได้ เนื่องจากผู้ที่ต้องดำเนินการหลักคือ ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุด เมื่อผู้ที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดเป็นผู้ที่ต้องลงทุน จึงควรจะมีแรงจูงใจในการดำเนินการ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ได้มีการทดลองพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและผู้ปกครอง ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย โคลอมเบีย ผลการวิจัยส่วนใหญ่ชี้ไปในทางเดียวกันคือ การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครองสามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างดี ข้อดีของกิจกรรมในรูปแบบนี้คือ สามารถขยายผลได้รวดเร็ว ส่วนจุดอ่อนคือ ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นการดำเนินการทีละครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในโรงเรียนที่สามารถสอนเด็กหลายคนได้พร้อมกัน ทำให้ลดต้นทุนต่อหัวลงได้

ดังนั้น นโยบายเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ ควรเป็นการผสมผสานระหว่าง การพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครองและการยกระดับคุณภาพสถานศึกษาปฐมวัย โดยเริ่มจากการพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครองตั้งแต่แรกเกินจนถึงก่อนวัยเรียน เมื่อเข้าสู่วัยเรียน จึงมุ่งเน้นที่การยกระดับคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานศึกษาปฐมวัย ด้วยแนวทางการสอนที่มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่า การดำเนินการตามแนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการ

นอกจากนี้ ในฐานะนักวิจัย อยากเห็นภาครัฐออกแบบนโยบายโดยใช้หลักฐานจากงานวิจัยมากขึ้น อีกทั้งควรทดลองและประเมินผลนโยบายอย่างเป็นระบบก่อนนำไปใช้ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการเลือกนโยบายที่ด้อยประสิทธิภาพซ้ำแล้วซ้ำอีก และสามารถออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต

รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง
สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลงทุนในทองคำดีไหม

ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต

เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..

ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง

ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท  จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก  ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน  แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

โอกาสของการพัฒนาภาคเกษตรไทย

ภาคเกษตรเคยเป็นพระเอกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูประชากรให้มีความอิ่มหนำสำราญ สร้างโอกาสให้คนไปทำงานอื่น ๆ แถมยังสร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศด้วย

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน