เมื่อเกิดกรณีของนายทักษิณ ที่เป็นกรณีซึ่งมีการพูดถึง และตั้งคำถามจากประชาชน เรื่องนี้จึงมีประเด็นอยู่ ในแง่เรื่องของกฎ กติกา กฎหมาย มีการบังคับใช้เหมือนกันหรือไม่ ที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด
วันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการประชุมญัตติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 153 โดยการอภิปรายที่จะเกิดขึ้น กลุ่มสว.ที่จะร่วมกันอภิปรายแบ่งหัวข้อการอภิปรายออกเป็น 7 ประเด็นดังนี้
1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย 3.ปัญหาด้านพลังงาน 4.ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม5.ปัญหาด้านการต่างประเทศและท่องเที่ยว6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7.ปัญหาการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
"ดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม แกนนำสมาชิกวุฒิสภา ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อสว.เพื่อให้มีการเปิดอภิปรายของสว.ในครั้งนี้"กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของสว.ในการอภิปรายครั้งนี้ว่า สมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ที่ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาเช่นเดียวกับส.ส.เพราะระบบการเมืองของไทยเป็นระบบสองสภาฯคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติอำนาจหน้าที่ของส.ส.และสว.นอกจากการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย ในส่วนเรื่องของอำนาจหน้าที่ในการ"ถ่วงดุลและกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน" ก็มีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ว่า ในส่วนของส.ส.ที่เป็นผู้เลือกรัฐบาล ก็สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ขณะที่สว.ทำหน้าที่เป็นสภาถ่วงดุลหรือสภาวิชาการ ทำหน้าที่ถ่วงดุลทั้งด้านการออกกฎหมายระดับหนึ่งและการเป็นตัวแทนประชาชนในการกำกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
หน้าที่ของสว.ในการกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน สว.สามารถตั้งกระทู้ถาม หรือมีข้อหารือไปยังรัฐบาลในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อกำกับการบริหาราชการแผ่นดินหรือศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆ เสนอแนะต่อรัฐบาล อันนี้คือภาพรวมใหญ่ๆในการทำงานของสว. แต่หากว่ามีประเด็นหรือมีเรื่องที่จัดกลุ่มแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ สว.ก็สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้รัฐบาลมาแถลงข้อเท็จจริง-ปัญหาอุปสรรค-วิธีการดำเนินงานในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่สว.อยากรู้ และได้ตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน และทำหน้าที่ในการแนะนำรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน
"ดิเรกฤทธิ์-สมาชิกวุฒิสภา"กล่าวต่อไปว่าสำหรับ 7 หัวข้อที่เป็นกรอบในการอภิปราย เป็นประเด็นปัญหาที่สว.คิดว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องบอกกล่าวกัน เพราะหากปล่อยไป อาจเดินผิดทาง ผิดกฎหมาย เสียงบประมาณ ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยหลายเรื่องใน 7 ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่เราคิดว่าประชาชนสนใจ ประชาชนมีข้อสงสัย โดยจะมีสว.ลุกขึ้นอภิปรายประมาณ 29 คน เพื่อเสนอแนะ ให้ข้อแนะนำต่อรัฐบาล
"ทักษิณ"ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว อภิปรายย้ำ ปัญหาการบังคับใช้กม.
-เรื่องปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทางสว.จะมีการอภิปรายหรือไม่?
ก็มี เพราะเรื่องนี้อยู่ในกรอบของ 7 หัวข้อหลักที่จะมีการอภิปราย เพราะเรื่องของกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย เป็นประเด็นปัญหาทางสังคม เป็นปัญหาระดับชาติ เป็นปัญหาความมั่นคง เป็นปัญหาเรื่องของความเท่าเทียม เสมอภาค ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยที่ผ่านมา สว.มีการศึกษาติดตามเรื่องกระบวนการยุติธรรมมาตลอด และเมื่อตอนนี้มีเคสตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง กับกรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่า หลักการทางกฎหมายที่ประเทศเราวางไว้ ที่อยากให้กระบวนการยุติธรรมเป็นของประชาชนโดยแท้จริง คือต้องไม่ใช่เครื่องมือพันธนาการที่ให้รัฐบังคับใช้อย่างเลือกปฏิบัติ แต่ต้องมีความรวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรมกับทุกคน เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง เพื่ให้เป็นกระบวนการยุติธรรมของประชาชน
แต่เมื่อเกิดกรณีของนายทักษิณ ที่เป็นกรณีซึ่งมีการพูดถึง และตั้งคำถามจากประชาชน เรื่องนี้จึงมีประเด็นอยู่ ในแง่เรื่องของกฎ กติกา กฎหมาย มีการบังคับใช้เหมือนกันหรือไม่ ที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่-อย่างไร มีการปฏิบัติหรือเลือกปฏิบัติระหว่างนายทักษิณกับคนอื่นหรือไม่อย่างไร และยังมีกรณีหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องว่าเมื่อเกิดกรณีมีพฤติการณ์เหล่านี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้องไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่ยังมีเช่น แพทย์ที่ทำความเห็น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ การกักบริเวณ การให้ข้อยกเว้น
เฉพาะกรณีของนายทักษิณ จะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องสามส่วนด้วยกัน
หนึ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อนายทักษิณ ที่ต้องโทษจำคุกแปดปี แล้วการให้เหตุผลในการขอพระราชทานอภัยโทษ ทำไม-ด้วยเหตุผลอะไร แล้วนักโทษคนอื่นมีกรณีแบบนายทักษิณหรือไม่ เพราะการขอพระราชทานอภัยโทษ จริงๆ แล้วเหมือนกับเป็นเรื่องของสถาบันฯ ที่จะพิจารณาตามพระราชอำนาจ แต่ว่าต้นเรื่องที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ หรือผู้ที่มีหน้าที่ในการนำเสนอจำเป็นต้องทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้เหตุผลว่าด้วยเหตุอะไร จึงทำเรื่องเหล่านี้ มีการทำคุณงามความดีอะไร มีเหตุผลอะไร เข้าเงื่อนไขกฎหมายอะไร จึงได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษ
สอง หลังได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งปี แล้วเหตุใดถึงไม่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ มีกรณีพิเศษอะไรถึงได้เข้าไปนอนรักษาตัวที่รพ.ตำรวจได้ มีอาการเจ็บป่วยอย่างไร แล้วการไปนอนที่โรงพยาบาล ที่ถือว่าเป็นการต้องขังรับโทษ มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างไร ,ระหว่างอยู่รพ. มีเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ไปดูแลควบคุมหรือไม่ และเรื่องของการได้รับการพักโทษ ที่นักโทษที่จะเข้ารับการพักโทษได้ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร
และสุดท้าย คือการได้รับการพักโทษ กลับไปอยู่บ้านได้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรมคุมประพฤติ แล้วตัวเขาได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติหรือไม่ อย่างที่เราเห็นภาพข่าวกัน ที่ไปปรากฏตัวที่เชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วหากเป็นนักโทษคนอื่นที่ได้รับการพักโทษ จะสามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้หรือไม่ เพราะการกลับไปไหว้บรรพบุรุษก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็มีการใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งไปทำกิจกรรมที่คนป่วยขั้นวิกฤตที่เคยได้รับข้อยกเว้น ทำได้หรือไม่อย่างไร และจริงๆ แล้วการคุมประพฤติ ที่ต้องมีการรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติตลอด จริงๆ แล้วการคุมประพฤติเป็นเรื่องของการกักบริเวณ เช่นอยู่ได้เฉพาะในบ้านหรือไม่ก็เป็นเขตพื้นที่ เพราะอย่างกรณีคนอื่น ที่ได้รับการพักโทษแล้วติดกำไลอีเอ็ม เพื่อที่จะได้ใช้จีพีเอสติดตามว่า บุคคลที่ติดกำไลอีเอ็ม ที่อยู่ระหว่างการต้องโทษ-พักโทษ ก็ต้องอยู่ในพื้นที่-บริเวณที่แจ้งไว้ หากไม่อยู่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็จะทราบจากข้อมูลที่ปรากฏทางระบบออนไลน์ และหากไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติไม่อนุญาต ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ตามหลักจะต้องทำอย่างไร จะต้องกลับมารับโทษจำคุกหรือไม่
ทั้งหมดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก และเป็นปัญหาที่ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่สว.-ส.ส.เท่านั้นที่มีข้อสงสัย โดยเหตุที่ต้องสงสัยเพราะกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ การให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม ที่ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมอย่างทั่วถึง จากรัฐบาล-รัฐ อย่างเป็นธรรม เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่า คุกมีไว้ขังคนจน หากเป็นคนรวย ทำผิดจะไม่ถูกคุมขัง ถ้าคนรู้สึกแบบนี้ มันจะเป็นการสร้างความกดดัน ความขมขื่นต่อประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ
เตรียมอภิปรายแนวทางแก้รธน. ตอกย้ำ รัฐบาลกำลังคิดผิด
"ดิเรกฤทธิ์-สมาชิกวุฒิสภา"ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสว.ที่ลุกขึ้นอภิปรายครั้งนี้ด้วย โดยจะอภิปรายในประเด็นเรื่อง"ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"กล่าวถึงเหตุผลในการอภิปรายประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งก็มีหลายพรรคการเมือง ที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วก็สร้างภาพที่คลาดเคลื่อน เช่น สร้างภาพว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญปีศาจ เป็นรัฐธรรมนูญต้นไม้พิษ แล้วมาบอกว่าจำเป็นต้องโค่นออก เพราะหากไม่โค่นประเทศจะอยู่ไม่ได้หรืออยู่ได้ แต่จะไม่เป็นประชาธิปไตย จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน
มีการใช้ถ้อยคำสำคัญจากบุคคลจากฝ่ายรัฐบาล ที่กล่าวในช่วง
การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 11 กันยายน 2566 โดยเขามีอคติว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบัน ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่เป็นประชาธิปไตย เลยมีแนวคิดจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่ยกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
“ดิเรกฤทธิ์”กล่าวต่อไปว่า สองคำที่ปรากฏคือ"เพื่อให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น"และ"เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น" มันเป็นหัวใจสำคัญของวิธีคิดของคนในรัฐบาล ซึ่งในการอภิปราย 25 มีนาคมนี้ ผมก็จะอธิบายว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแบบนั้นหรือไม่อย่างไร เพราะเมื่อคิดผิดแล้ว เขาก็จะดำเนินการผิด ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อเขาคิดว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับ ไม่เป็นประชาธิปไตย จะให้การยอมรับก็ต้องร่างโดยสมาชิกสภารัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนจากประชาชนมายกร่าง ไม่ใช่มาจากบุคคลหรือองค์กรที่มาจากเผด็จการที่มาเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจในช่วงสมัยเวลานั้น แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แล้วเนื้อหาที่ฝ่ายเผด็จการมาร่วมร่างด้วย ต้องรื้อทิ้งให้หมด บ้านที่ไม่ได้รับการยอมรับต้องมีการรื้อเสารื้อบ้าน อะไรประมาณนี้ ซึ่งพอมีวิธีคิดกันแบบนี้ ก็จะคิดไปว่า นอกจากเนื้อหาที่จะแก้ไขได้ทั้งหมด ก็จะให้มีตัวแทนที่จะมาแก้ไข ก็เลยจะให้มีสมาชิกสภาร่างรธน. ก็เลยทำให้มีคำถามตามมาในทางปฏิบัติเช่น เนื้อหาที่จะแก้ไข-เขียนใหม่ทั้งหมด จะทำอย่างไรให้ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมันก็มีประเด็นปัญหาเรื่อง รัฐสภาจะทำได้เฉพาะการแก้ไขรายมาตราเท่านั้น จะไปทำทั้งฉบับทำไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินมาแล้ว ในคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ที่ฝ่ายค้านเวลานั้น เสนอร่างแก้ไขรธน.โดยให้มีสภาร่างรธน.มายกร่างใหม่ทั้งหมด โดยไปแก้ไขหนึ่งมาตรา แล้วให้มีหมวดใหม่ได้ มันขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรธน.ก็บอกว่า ถ้าจะทำแบบนี้ได้ ที่เป็นการทำเกินอำนาจรัฐสภาต้องไปทำประชามติ ขออำนาจที่เหนือกว่ารัฐสภา คืออำนาจประชาชนทั้งประเทศมาทำ
ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้ มันต่างกับเหตุการณ์ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศใหม่ มันไม่มีประเด็นร่างตั้งต้น ที่เป็นสารตั้งต้นหรือหัวเชื้อว่าผิดหรือถูกที่รัฐสภามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ ก็เลยส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็มีประเด็นแล้ว แต่เมื่อมันไม่มีประเด็น แล้วจู่ๆ อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ ก็เลยบอกว่าจะให้มีมติครม.เห็นควรให้มีการทำประชามติ เชิญชวนคนมาทำประชามติ แต่คำถามสำคัญคือ แล้วจะตั้งคำถามอย่างไรในการทำประชามติ แล้วคำถามนั้น จะเป็นไปเพื่อปรึกษาหารือธรรมดา หรือจะเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่จะให้ไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วปัญหาคือว่า ถ้าจะแก้ โดยให้มีการทำประชามติ แล้วในส่วนของขั้นตอนการทำประชามติ จะทำถูกต้องหรือไม่
โดยที่สำคัญคือ หากจะให้มีการลงรายละเอียด เราไม่สามารถออกแบบคำถามให้ครอบคลุมได้ แล้วเราจะถามคำถามอย่างไรที่มันจะตัดสินใจ ได้เห็น ได้ทราบถึงเนื้อหาว่าถ้าไปลงประชามติ แล้วผลจะเป็นอย่างไร เช่น ผลที่ตามมา จะมีการเลือกสมาชิกสภาร่างรธน.มาทำหน้าที่ แล้วสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีการทำงานอย่างไร ตัวของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคนจะมีผู้ช่วยกี่คน แล้วจะมีระยะเวลาการทำงานยาวแค่ไหน ,กระบวนการต่างๆ จะต้องใช้งบประมาณเท่าใด ต้องเสียงบเยอะหรือไม่ หรือเรื่อง การเขียนรัฐธรรมนูญ จะแตะหมวดไหนได้ แตะหมวดไหนไม่ได้ และเมื่อยกร่างรธน.เสร็จ ต้องทำอย่างไร ต้องส่งไปให้รัฐสภาโหวตแล้วประกาศใช้ได้เลยหรือต้องกลับมาทำประชามติอีกรอบ ซึ่งรายละเอียดต่างๆเหล่านี้มันไม่มีรายละเอียดปรากฏในตัวคำถามตอนทำประชามติ แต่ไปใช้วิธีการถามแบบกว้างๆ แล้วประชาชนจะสับสนหรือไม่ แล้วเรื่องดีๆ เช่นการเป็นรธน.ปราบโกง การเป็นรธน.ที่เป็นเสาหลักปกป้องบ้านเมืองฯ เรื่องเหล่านี้จะไม่ถูกเหมารวม ไม่ถูกอำพรางด้วยการไปแก้แล้วเขียนใหม่ทั้งฉบับ โดยตัดเรื่องดีๆ เหล่านี้ออกไปหมด สิ่งเหล่านี้คือปัญหาว่าแล้วเราจะไปทำประชามติถามประชาชนอย่างไร
การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผมแค่ฉายภาพรวมเท่านั้น แต่ลำดับของวิธีคิด จะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังคิดผิด ที่ไปคิดว่ารธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย รธน.ไม่ได้รับการยอมรับ ก็จะมีการถามว่า รัฐบาลคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร มีหลักฐานอะไรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อคิดผิด ก็เลยกำลังจะทำผิด เรื่องเหล่านี้ กำลังนำไปสู่ว่า รัฐบาลกลัดกระดุมผิดหรือไม่ เพราะหากคิดถูก การทำถูกก็จะตามมา เพราะหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง เช่นควรบอกให้ชัดว่า บทบัญญัติเรื่องใด ที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือหากแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนไหนแล้วจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น หรือบอกให้ชัดว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรื่องใด ที่ทำให้องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญพบแล้วว่าไม่ได้ผล หรือมีปัญหา ควรมีการแก้ไข
รัฐบาลกำลังข้ามเรื่องเหล่านี้ไปหมด โดยทำให้ประชาชนเข้าใจไปว่า กำลังมีบ้านที่สวยงามรออยู่ จะมีประชาธิปไตย จะมีรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับ จึงควรมอบอำนาจให้สมาชิกสภาร่างรธน.ไป แล้วเขาจะเอาต้นไม้ที่งดงามมาปลูก
“ตรงนี้ผมคิดว่าอันตรายมาก เพราะทันที เมื่อมีการทำประชามติ คนจะขัดแย้งกันทั้งประเทศ แนวคิดของคนที่ยังรัก ยังเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับคนที่ต้องการเปลี่ยน ก็จะขัดแย้งกันมากมาย คนที่รักสถาบันฯ ก็อาจบอกว่าอย่าทำเลย ทำแล้วอาจกระทบสถาบันฯ ทำแล้วจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดหนึ่งและหมวดสองจริงหรือไม่ ซึ่งแม้อาจบอกว่าไม่แก้หมวดหนึ่ง-หมวดสอง แต่ไปแก้มาตราอื่นๆอีก 39 มาตรา ที่ว่าด้วยเรื่องพระราชอำนาจฯ เช่นไปเปลี่ยนความสำคัญหรือจัดวางเรื่องพระราชอำนาจใหม่ ตรงนี้อาจเป็นปัญหาสำคัญซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีการพูดถึงเลย ซึ่งการไม่พูดถึงเลย แล้วไปให้ประชาชนลงประชามติ ผมว่าตรงนี้มันสุ่มเสี่ยงต่อความเห็นที่ขัดแย้ง เวลารณรงค์ให้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการร่างรธน.ใหม่”
ในตอนท้าย "ดิเรกฤทธิ์-สว."ย้ำว่า จากที่กล่าวทั้งหมด ก็คือภาพรวมว่า สว.มีความจำเป็นต้องเปิดอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้ ที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล จะได้ฉุกคิด จะได้เดินให้ถูกต้อง จะได้ไม่ทำในสิ่งที่ผิด จะได้เป็นโชว์รูมการทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบระหว่างกัน ระหว่างทางรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งหากสว.อภิปรายแล้ว รัฐบาลอธิบายชี้แจงได้ดี ก็จะได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน ก็จะได้ช่วยกันผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผล แต่หากอธิบายไม่ได้ ประชาชนก็จะได้ใช้เป็นประเด็นตั้งต้นในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่อาจเกิดความบกพร่องในอนาคตได้
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' สดุดี 'ทักษิณ' ครองใจคนอุดรฯ พา พท. ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.
'ภูมิธรรม' ฟุ้งอุดรธานีหัวใจคนเพื่อไทยโดยแท้ ชนะเป็นเรื่องธรรมดา ยํ้า ปชช. ยังรัก 'ทักษิณ' ชอบผลงานที่ทำมา อุบ 'อิ๊งค์' ลงพื้นที่ขอบคุณ
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49