เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ
ดังในมุมหนึ่งจากหลากหลายเรื่องราวในวงจรพุทธศาสนาในยามนี้ ที่เคลื่อนไหวไปตามจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่ออกอาการสั่นสะเทือนในความเชื่อมั่นต่อบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถาบันพระพุทธศาสนา อันได้แก่ บริษัทสี่ โดยเฉพาะ ภิกษุหรือพระสงฆ์..
จากความหลากหลายในทิฏฐิของภิกษุที่ยกตนขึ้นเป็นครูบาอาจารย์ ออกทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน โน้มเอียงเข้าสู่ทิฏฐิของตน โดยแสดงตนเป็นผู้รู้.. ผู้ชำนาญการในปริยัติ ปฏิบัติ อย่างเต็มกำลังความรู้สึก แตกต่างไปจากบรรพชนที่เคยปฏิบัติสืบกันมา ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้น
อาจจะด้วยอิทธิพลของสังคมไอทีที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงในการสื่อสารในยุคนี้ จึงเกิดการปฏิวัติกระบวนการเผยแผ่ศาสนาให้แตกต่างไปจากเดิม อย่างน่าเป็นห่วง ในเสรีภาพของการเผยแผ่โดยใช้สื่อออนไลน์ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนทำลายระบบสื่อสารแบบเดิมๆ ให้สิ้นไปได้อย่างไม่หลงเหลือคุณค่า
จึงควรให้ความใส่ใจยิ่งในเรื่อง เสรีภาพของการสื่อสาร ที่ควรจะมีกฎระเบียบ กฎหมาย กฎศีลธรรม-จริยธรรม เข้าควบคุม เพื่อเป็นการตักเตือนผู้ใช้ ว่า.. เสรีภาพควรอยู่ในกรอบของความดีงามและถูกต้องตามศีลธรรม-จริยธรรมด้วย มิใช่คำนึงเฉพาะกฎหมายอย่างเดียว
เรื่องดังกล่าว.. สถาบันพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ควรอย่างยิ่งที่จะหยิบยกขึ้นเป็นหัวข้อแห่งการประชุม เพื่อร่วมปรึกษาหารือกันในการสร้างมาตรการเพื่อการควบคุมดูแลการใช้สื่อยุคไอทีของภิกษุ-สามเณร ให้คงเส้นคงวา อยู่ในระบบศีลธรรม-จริยธรรมตามหลักธรรมในศาสนา โดยควรคำนึงถึง สมณสารูป เป็นสำคัญว่า.. เหมาะควรหรือไม่.. มีประโยชน์โดยธรรมหรือไม่.. เหมาะสมกับสมณสารูปหรือไม่ โดยเทียบเคียงความเป็นพระภิกษุที่ต้องแตกต่างไปจากความเป็นคนครองเรือนเสพกาม..
สิ่งสำคัญยิ่ง คือ การสร้างมาตรการตรวจสอบการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนที่อ้างว่าเป็นของพุทธศาสนา ว่า ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย เป็นพระสัทธรรมแท้ หรือไม่... เพื่อป้องกันการเผยแผ่หลักธรรมพระพุทธศาสนาไปตามแนวความคิดของตนเอง โดยขาดความยำเกรงในพระรัตนตรัย ประมาทในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. ในไตรสิกขาและในความประมาท
แม้ว่าการคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของอาณาจักร แต่ฝ่ายศาสนจักรก็ไม่ควรนิ่งเฉยต่อปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อพระพุทธศาสนา จึงควรเป็นผู้หยิบยกปัญหาขึ้นหารือ..กับฝ่ายอาณาจักร เพื่อป้องกันภัยร้ายต่อพระพุทธศาสนา..
โดยควรคำนึงเสมอว่า.. ทุกปัญหาต้องรีบแก้ไข.. เมื่อก่อตัวเป็น อธิกรณ์ ขึ้นมา.. คณะสงฆ์ไม่ควรวางเฉย ไม่ใส่ใจ เพราะนั่นคือความประมาทต่อภัยร้ายที่กำลังเกิดขึ้นในเขตพระพุทธศาสนา
คณะสงฆ์.. โดยพระเถระผู้บวชมานาน มีความรอบรู้ในพระธรรมวินัย ควรแต่งตั้งมอบหมายให้คณะกรรมการสงฆ์ ทำหน้าที่ในการช่วยกันเฝ้าระวังและขจัดปัญหา.. การเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนที่ไม่ถูกต้องให้สิ้นไป.. อย่าปล่อยให้ลุกลามไปทั่วจนยากจะห้าม... และอย่าได้เกี่ยงกันว่าเป็นของคณะนั้น.. คณะนี้.. เพราะพระพุทธศาสนามีคณะเดียวเท่านั้น คือ คณะสงฆ์ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ดุจดังเรื่อง .. การจ่ายเงินไปนิพพาน ที่เป็นข่าวดังในช่วงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น.. เมื่อเกิดมีขึ้นต้องรีบแก้ไข ขจัดปัญหาดังกล่าวให้สิ้นไป ไม่ใช่ปล่อยให้คนทำความผิดลอยหน้าลอยตา พูดออกสื่อเลอะเทอะไปวันๆ.. โดยไม่มีองค์กรใดของพุทธศาสนาที่ชอบธรรมขึ้นมาจัดการปัญหาดังกล่าวให้สิ้นไปในทันทีทันใด ไม่ปล่อยให้กระแสไหลไปในโลกออนไลน์จนวุ่นวายไปทั่ว...
การปล่อยเป็นหน้าที่ของสื่อ.. และบุคคล ไม่ว่าเป็นพระภิกษุหรือคน ออกมาโต้ตอบ วิพากษ์วิจารณ์กันไป อย่างไม่มีรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ชอบธรรม และชัดเจน.. กลายเป็นการสร้างภาวะผันผวนให้เกิดแรงขึ้นในพระพุทธศาสนา.. มิได้มีผลดีต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาที่จะต้องสืบเนื่องต่อไป เพื่อประโยชน์ของมหาชน.. เพื่อประโยชน์สุขของโลกนี้ ไม่...
แน่นอน การส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติในคณะสงฆ์ เป็นเรื่องที่ดี.. การเผยแผ่การศึกษาปฏิบัติสู่ประชาชนผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นเรื่องที่ควรกระทำ.. แต่นั้นหมายถึง ควรรวมถึงการปกป้องดูแลพระพุทธศาสนาไว้ด้วย จึงควรมุ่งเน้นการสนับสนุนการศึกษาปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม.. อันเป็นไปเพื่อพระนิพพาน.. ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเพียงแค่การได้ผ่านการศึกษาตามลำดับขั้นแบบทางโลก.. แต่หาได้วัดผลคุณค่าทางจิตวิญญาณว่าเจริญด้วยสมณธรรม.. ที่บำรุงชโลมด้วยคุณธรรมความดี ไม่...
การไม่ส่งเสริมให้การศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้เป็นไปเพื่อ ความสะอาด สงบ สว่าง.. จึงกลายเป็นการสร้างผลไม้พิษให้เกิดขึ้นในเขตพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการมุ่งน้อมโน้มไปทางโลกธรรม.. รางวัล เกียรติคุณ ชื่อเสียง
ที่น่าเป็นห่วงยิ่ง.. คือ สิ่งตอบแทนแด่ผู้ประสบความสำเร็จในแวดวงพระพุทธศาสนา ที่ดูเหมือนจะเป็นแรงชักจูงโน้มนำให้เกิดความสำคัญต่อการทุ่มเทเพื่อความสำเร็จในการศึกษา ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่ง กลับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาแบบทางโลกที่มุ่งเน้นลาภสักการะ.. มากกว่า การสร้างคุณธรรมความดีที่เป็นคุณค่าแท้ของการศึกษาในวิถีศาสนา...
การสร้างคุณค่าจอมปลอมขึ้นมาปิดบังคุณค่าแท้ของพระสัทธรรม นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง.. ซึ่งระบาดแพร่หลายไปทั่วในสังคมยุคไอที.. อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสร้างแฟชั่นการบวชใต้ควงพระศรีมหาโพธิ์ สังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและออกจาริกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ควรสักการบูชาของพระพุทธศาสนา ก่อนกลับมาลาสิกขาที่วัดสังกัดในพุทธคยา.. ซึ่งออกจะย้อนแย้งกับคุณค่าแท้ของการบรรพชา-อุปสมบทในพระพุทธศาสนา
การบวชใต้ควงพระศรีมหาโพธิ์และออกเดินทางจาริกปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความรู้ในพระธรรมวินัย จึงนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เช่น การรับเงินทอง ขบฉันไม่ถูกต้อง และเที่ยวพักในสถานอโคจร คือ โรงแรมทั้งหลาย.. นี้ยังไม่นับการไม่รู้จักความสำรวมและการไม่รู้จักพิจารณาใช้สอยในปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจตุราปริสุทธิศีลของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
การสร้างคุณค่าเทียมขึ้นมาครอบคุณค่าแท้ โฆษณาแต่บุญกุศล ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก ยิ่งใหญ่มหาศาล ไม่มีประมาณ โดยเฉพาะการบวชในเขตแดนแผ่นดินตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า... นับเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งว่า.. ที่สุดของเรื่องจะไปจบอยู่ที่ใด นรก สวรรค์ หรือ พระนิพพาน!!
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น.. ไม่ว่าอะไรจะเป็นไป และไม่ว่าอะไรจะสิ้นไป.. ที่แน่ๆ คือ ประเทศอินเดียร่ำรวย ต่อการท่องเที่ยวของชาวพุทธที่เดินทางไปใช้เงินทองในแผ่นดินของเขาปีละจำนวนไม่น้อย จนที่สุดของรัฐบาลอินเดียที่เชิดชูศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ.. ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับสมบัติของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะสังเวชนียสถานทั้ง ๔ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ.. สถูปเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธศิลป์ปางต่างๆ.. ที่ก่อนหน้านี้ถูกทำลายย่อยยับแบบฝังกลบ จนพุทธศาสนาไม่หลงเหลือร่องรอยใดในชมพูทวีป
โชคดีที่สังเวชนียสถานได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง.. โดยการต่อสู้ของชาวพุทธ ทุ่มเททั้งชีวิตจิตวิญญาณ ดังการต่อสู้ให้ได้มาในสิทธิอันชอบธรรมของชาวพุทธต่อพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ประมวลรวมถึงมหาโพธิวิหารและพระสถูปเจดีย์รายรอบมากมาย ซึ่งถูกทำลายสภาพไปพอสมควร.. เพื่อการได้มาดูแลในนามของพุทธศาสนา..
แม้วันนี้ ฟ้าจะเปลี่ยนสี ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย.. มีการแสดงออกถึงการสนับสนุนอุ้มชูพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว.. แต่ชาวพุทธต้องพิจารณาให้เห็นจริงใน คุณค่าแท้.. คุณค่าเทียม จากเรื่องราวนั้นๆ ที่เป็น วิถีทูตทางศาสนา เพื่อความไม่ผิดพลาดต่อการสืบอายุพระพุทธศาสนา...
สำคัญยิ่ง คือ ชาวพุทธทั้งหลาย โดยเฉพาะพระภิกษุ ผู้เป็นเถระทั้งหลาย อย่าได้เข้าไปสร้างคุณค่าเทียมขึ้นมาปิดคุณค่าแท้ของพระพุทธศาสนา จนพระสัทธรรมแท้สูญหาย คงเหลือแต่พระสัทธรรมปฏิรูป.. เพื่อหวังผลแต่โลกธรรมที่พึงจะได้รับ.. อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข... เพราะนั่นหมายถึง การสร้างความฉิบหายให้ตนยังไม่พอ.. แต่กำลังช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนาให้สิ้นไป.. เป็นบาปมหันต์..จริงๆ!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .