ตลาดสินค้าสาธารณะผ่านเงินบริจาค

การบริจาคถือว่าเป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้มีรายได้ตอบแทนคืนสู่สังคม หากมองในทางเศรษฐศาสตร์ การบริจาคเหมือนกับการที่ผู้มีรายได้สนับสนุนการจัดหาสินค้าสาธารณะ ซึ่งหมายถึงสินค้าและบริการที่มีลักษณะพิเศษ ที่ปกติแล้วรัฐเป็นควรเป็นผู้จัดหา เพราะหากรัฐไม่เป็นผู้จัดหา กลไกตลาดอาจจะไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เกิดสินค้าเหล่านี้ไม่เพียงพอ ราคาแพงเกินไป หรือไม่มีคุณภาพ เช่น การสนับสนุนการศึกษา ด้านการศาสนา การแสดงศิลปะวัฒนธรรม การสนับสนุนบริการทางการแพทย์ การสนับสนุนผู้ยากไร้ด้านต่างๆ หรือแม้แต่การทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ

ที่น่าสนใจคือ กลไกการบริจาคทำให้ผู้มีรายได้สามารถ “เลือก” ที่จะสนับสนุนสินค้าสาธารณะที่ตนเองสนใจและอยากให้มีเพิ่มขึ้นได้ แทนที่จะปล่อยให้รัฐเป็นคนเลือกจัดหาสินค้าสาธารณะที่รัฐต้องการ

ที่ผ่านมา รัฐสนับสนุนให้ประชาชนช่วยกันบริจาค​ โดยการ “อุดหนุน” เงินบริจาคนั้น ตามกฎหมายภาษี เราสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อสาธารณกุศล ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้พึงประเมินหลักหักค่าลดหย่อนต่างๆ และหากเป็นเงินบริจาคเพื่อการศึกษา กองทุนพัฒนาครู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็สามารถหักลดหย่อนได้สองเท่าของเงินบริจาค

ยกตัวอย่างเช่น ผู้มีรายได้อยู่ในระดับอัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 30 สามารถนำเงินบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะหักลดหย่อนจากเงินได้พึงประเมิน หากเขาบริจาค 100 บาท เขาจะสามารถลดเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐลงได้ 30 บาท เสมือนว่าเขาออกเงินเพื่อการบริจาคหลังหักภาษีเพียง 70 บาท และรัฐต้องเสียรายได้ไป 30 บาท

ในกรณีเงินบริจาคที่สามารถหักภาษีได้สองเท่า (เช่น การบริจาคเพื่อการศึกษา) หากผู้เสียภาษีคนนี้บริจาค 100 บาทก็จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐในรูปภาษีเงินได้ที่ลดลงไป 60 บาท และผู้เสียภาษีออกเงินเพื่อการบริจาคสุทธิหลังหักส่วนลดภาษีเพียง 40 บาทเท่านั้น

แต่ถึงกระนั้น จากข้อมูลของกรมสรรพากร พบว่าการใช้สิทธิหักลดหย่อนบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะ  ยังมีอยู่ในระดับต่ำ และผู้มีรายได้สูงยังใช้สิทธิบริจาค ต่ำกว่าเพดานสูงสุดค่อนข้างมาก

ผมเชื่อว่า ปัญหาสำคัญสามอันที่เราอาจจะคิดถึงก่อนจะบริจาค คือ 

หนึ่ง ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการทุจริตผ่านการอ้างสิทธิในการบริจาคไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถือเป็นการทุจริตที่ทำให้ต้นทุนการอุดหนุนของรัฐสูงเกินไป เราอาจจะได้ยินกรณีการแจกใบอนุโมทนาบัตรเพื่อนำไปหักภาษีแบบที่เติมตัวเลขกันเอง หรือการสร้างหลักฐานการบริจาคปลอม ซึ่งทำให้รัฐเกิดการสูญเสียรายได้โดยไม่จำเป็น

ปัญหานี้จริงๆ สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก โดยการกำหนดให้การบริจาคส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด) ต้องทำในรูปแบบของ e-donation ที่รายงานการบริจาคตรงไปที่กรมสรรพากร และเป็นข้อมูลในการลดหย่อนภาษี เพื่อให้แน่ใจได้ว่า การใช้สิทธิบริจาคเกิดขึ้นจริงและมีหลักฐานตรวจสอบได้

คำถามที่สอง คือ บางคนอาจไม่มั่นใจว่าเมื่อบริจาคไปแล้ว เงินจะถูกนำไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยเฉพาะกับการบริจาคไปยังบางหน่วยงาน หรือแม้แต่วัด ที่ไม่รู้ว่าเงินที่บริจาคไปนั้นถูกนำไปใช้อย่างไร

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่เราเห็นในต่างประเทศ คือการกำหนดให้หน่วยงานที่รับเงินบริจาคและได้รับสิทธิในการอุดหนุนจากรัฐ ต้องเป็นจดทะเบียนเป็นหน่วยภาษีที่มี “หน้าที่” ต้องยื่นข้อมูลเพื่อตรวจสอบ (แม้ไม่ต้องจ่ายภาษี)  และเปิดเผยต่อสาธารณะ 

เพื่อสร้างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจว่า เงินบริจาคที่เกิดจากเงินผู้มีจิตศรัทธา และเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ถูกใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตรวจสอบได้

ถ้าเราคิดว่า การรับเงินบริจาคที่ได้การอุดหนุนจากเงินภาษีประชาชนเป็น “สิทธิพิเศษ” ที่องค์กรที่รับเงินบริจาค ต้องมี “หน้าที่” ขั้นต่ำที่ต้องปฏิบัติตาม หากองค์กรใดไม่สามารถทำตามได้ ก็ไม่ควรได้รับสิทธิดังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีประเภทขององค์กรที่เรียกว่า “501(c)(3)” ตามกฎหมายภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทขององค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษี เงินบริจาคจากผู้เสียภาษีที่ให้กับองค์ประเภทนี้สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้  แต่มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมด้านศาสนา การกุศล การศึกษา วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม สนับสนุนด้านการกีฬา หรือการป้องกันการทารุณสัตว์ และมีข้อจำกัดที่สำคัญ เช่น องค์กรประเภทนี้ ห้ามทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือนำเงินไปใช้เพื่อการล็อบบี้ทางการเมืองต่างๆ และมีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน

ที่น่าสนใจคือ สถาบันวิจัยนโยบาย (think tank) ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในสหรัฐ ที่เรารู้จักกันดี เช่น Brooking Institute หรือ Heritage Foundation ถูกจัดตั้งขึ้นในรูปแบบนี้ และมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค เพื่อทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับนโยบาย โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีข้อมูลและการวิเคราะห์ที่เป็นอิสระเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

และหลายหน่วยงานมีข้อกำหนดว่า โครงการศึกษาที่ใช้เงินบริจาคจากประชาชนต้องเปิดเผยผลงานเป็นสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงได้

และคำถามข้อที่สาม คือ บางทีคนอยากจะบริจาค แต่ไม่รู้ว่าการบริจาคอะไรดี และจะเกิดประโยชน์อย่างไร 

ถ้าเราสร้างกลไกที่เหมาะสม สร้างแรงจูงใจ และระบบตรวจสอบที่เหมาะสม และป้องกันการเอาเปรียบ เราอาจจะสามารถสร้างระบบนิเวศน์ของการบริจาค และสร้าง “ตลาด” ของการบริจาคเพื่อจัดหา “สินค้าสาธารณะ” ที่ผู้บริจาคเงินสามารถมีสิทธิออกเสียงในที่ขึ้นมาได้ 

เช่น เราอาจสร้าง platform ที่รวบรวมรายชื่อองค์กรที่รับบริจาค จัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านั้นตามผลงานในอดีต และนำเอาข้อมูลที่เปิดเผยออกมาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลงานประสิทธิภาพของแต่ละองค์กรการกุศล เพื่อสร้างการแข่งขันเพื่อเงินบริจาคและการอุดหนุนของรัฐระหว่างองค์กร 

ลองนึกภาพว่า ถ้าเราอยากได้พิพิธภัณฑ์ที่ดีขึ้น แต่รัฐมีเงินไม่พอ ภาคเอกชนก็สามารถรณรงค์ให้คนบริจาค โดยรัฐช่วยอุดหนุน หรือ เราอาจจะสามารถสร้างสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพหลายๆแห่ง หากประชาชนเห็นความสำคัญ และชื่นชมในผลงานที่สถาบันเหล่านั้น หรือถ้าเราต้องการช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาส องค์กรสาธารณะกุศลต่างๆก็อาจจะแข่งกันคิดวิธีระดมทุน และเอาวิธีการช่วยเหลือนั้นมานำเสนอต่อผู้เสียภาษีเพื่อให้ช่วยสนับสนุน

วิธีการเหล่านี้ น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า เงินที่รัฐช่วยอุดหนุนจะเกิดประโยชน์สูงสุด ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค และทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพขององค์กรสาธารณะกุศล อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต

วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

นโยบายและกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล (ตอนที่ 1) : งานหลังบ้านที่ถูกมองข้าม 

ในปี 2562 และ 2565 รัฐบาลได้ออกกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับความเป็นรัฐบาลดิจิทัล 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล (พ.ศ. 2562) และ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2565) กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกออกแบบมาโดยเจตนาเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดความเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างยิ่งยวด