ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
หลายฝ่ายโทษคะแนนที่ตกลงว่าเป็นผลของการเรียนการสอนช่วงโควิด ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะเกือบทุกประเทศที่เข้ารับการประเมินมีคะแนนลดลงจากการประเมินรอบก่อนหน้าในปี 2561 แต่การระบาดของโควิดเป็นเพียงการซ้ำเติมคุณภาพการศึกษาของไทยที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในมุมมองเศรษฐศาสตร์มหภาค ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมาจากสามส่วน ได้แก่ แรงงาน ทุน และประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า ในช่วงสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ประมาณร้อยละ 2 มาจากการขยายตัวของกำลังแรงงาน ขณะที่ในปัจจุบัน อัตราการขยายตัวของกำลังแรงงานได้ลดลงมาที่ประมาณร้อยละศูนย์ จากการที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งหมายความว่า ถ้าให้ปัจจัยทุนและปัจจัยประสิทธิภาพในการผลิตขยายตัวเท่ากับในอดีต ต่อไปนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวโดยเฉลี่ยได้เพียงร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น
การที่จะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 จึงจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนและประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งคุณภาพการศึกษาเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นส่วนที่สำคัญมากของประสิทธิภาพในการผลิต ผมเชื่อว่าการที่เงินทุนไหลไปเวียดนามเป็นจำนวนมาก ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ มาตรฐานการศึกษาของเวียดนาม ซึ่งคะแนน PISA ทิ้งห่างไทยในทุกด้าน
ทั้งหมดนี้ ทุกรัฐบาลตระหนักดี เราจึงเห็นรัฐบาลทุกชุดประกาศกระตุ้นการลงทุนและยกระดับการศึกษา แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาชี้ว่ามาตรการต่างๆยังไม่ถูกจุด ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการลงทุนรวมต่อจีดีพีที่ย่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23 (ซึ่งต่ำมากสำหรับประเทศที่ต้องการพ้นกับดักรายได้ปานกลาง) มาตั้งแต่ปี 2559 หรือผลการประเมิน PISA ที่โน้มลงต่อเนื่อง
คนทั่วไปมักคิดว่าการปฏิรูปเพื่อยกระดับการศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว ต้องใช้เวลานาน แต่จากประสบการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก การปฏิรูปการศึกษา แม้จะใช้เวลานาน แต่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
นอกจากนี้ ระยะเวลาที่ว่านาน ก็ไม่ได้นานมาก หลายปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยเชิญคุณหมอธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ธันวาคม 2559-พฤษภาคม 2562) มาบรรยายเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยให้กับพนักงานและผู้บริหารธนาคาร ซึ่งผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้ ท่านบอกว่า จากประสบการณ์ต่างประเทศ การปฎิรูปการศึกษาถ้าทำอย่างต่อเนื่องและจริงจังใช้เวลาเพียง 10 ปี ปัญหาของไทย คือ เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ไม่ครบปี บางปีเปลี่ยน 2-3 คน และเมื่อรัฐมนตรีใหม่มา ก็คิดใหม่ทำใหม่อยู่เสมอ จึงไม่มีความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีบอกว่า รายจ่ายด้านการศึกษาต่อจีดีพีไทยสูงเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ใช้กับสิ่งปลูกสร้างถาวร วันนั้นท่านพูดถึงสองนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมชอบมาก ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากในต่างจังหวัด และ 2. การส่งเสริมการศึกษาในระดับปฐมวัย (3-6 ปี) ซึ่งงานศึกษาทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเองชี้ว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญมากต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
ในวันนั้น ผมเดินออกจากห้องประชุมด้วยความหวังเต็มเปี่ยมต่อการศึกษาไทย แต่จากการสอบถามล่าสุดกับ ดร. วีระชาติ กิเลนทอง นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาระดับแนวหน้าของไทย พบว่า การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กทำไปได้ไม่มาก ขณะที่การจัดการด้านการศึกษาปฐมวัยเน้นการสร้างความตระหนักรู้ของโรงเรียน โดยไม่มีการสร้างแรงจูงใจให้ครูและโรงเรียนยกระดับการเรียนการสอน อีกทั้งไม่มีการประเมินนโยบายอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นปัญหาของการศึกษาในทุกระดับชั้น ไม่เฉพาะการศึกษาระดับปฐมวัย
ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปอบรมหลักสูตร Lee Kuan Yew Senior Fellowship in Public Service ที่ประเทศสิงคโปร์ ผมไม่แปลกใจเลยทำไมสิงคโปร์ได้รับการประเมินใน PISA รอบล่าสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก จากผู้ร่วมอบรมสิงคโปร์ทั้งหมด 20 คน มาจากกระทรวงศึกษาธิการถึง 8 คน มีชั่วโมงเรียนที่เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาโดยเฉพาะ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามาเป็นวิทยากรรับเชิญ
หากจะถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ที่ผมสัมผัสมาในช่วงสั้นๆ ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษา คือ ความต่อเนื่องของนโยบาย รัฐมนตรีศึกษาของสิงคโปร์ส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งอย่างน้อย 3 ปี ไม่นับว่าเขาพิถีพิถันในการคัดสรรคนที่เป็นรัฐมนตรีศึกษามาก โดยรัฐมนตรีคนปัจจุบันและ 2 คนก่อนหน้า ล้วนเป็นคนที่รัฐบาลสิงคโปร์วางไว้ให้เป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไป
โรดแมปการศึกษาของสิงคโปร์แบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1. Survival-driven (2502-2521) 2. Efficiency-driven (2522-2539) 3. Ability-based driven (2540-2554) และ 4. Values driven (2555-ปัจจุบัน) แต่ละช่วงกินเวลายาวนานข้ามวาระรัฐมนตรี โดยในช่วงล่าสุดมีการริเริ่มโครงการสำหรับการศึกษาะดับปฐมวัย (MOE Kindergartens)
ในแต่ละช่วงของการพัฒนา เขามีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วัดได้ มีการเก็บข้อมูล และการประเมินนโยบายอย่างเป็นระบบและตรงไปตรงมา ฟังแล้วก็ไม่ต่างจากที่ ดร. วีระชาติ ต้องการเห็นในการปฏิรูปการศึกษาไทย
ในเรื่องการตั้งเป้า ถ้าเป็นคะแนน PISA เราก็มี โดยแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การพัฒนาการเรียนรู้ ตั้งเป้าคะแนนเฉลี่ย PISA ของไทย ระหว่างปี 2561-2565 และ 2566-2570 ที่ 470 และ 480 คะแนนตามลำดับ ผมไม่ทราบว่าเป้าข้างต้นอิงจากอะไร แต่หากดูคะแนนเฉลี่ยล่าสุดของปี 2565 ที่ 394 คะแนน ผมคิดว่าอีก 3 ปี ก็น่าจะพลาดเป้าเช่นกัน จึงน่าจะต้องมีการปรับเป้าหมาย พร้อมหามาตรการที่นำไปสู่การบรรลุผลได้
สำหรับไทย การที่เราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำให้เราไม่สามารถมีรัฐมนตรีศึกษาที่อยู่ในตำแหน่งได้นานแบบสิงคโปร์ แต่ถ้าทุกรัฐบาลทุกพรรคยึดเป้าหมายระยะยาวร่วมกัน มีการประเมินแต่ละนโยบายอย่างจริงจัง และสานต่อนโยบายที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ผมเชื่อว่าเรายังมีความหวังครับ
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร ดอน นาครทรรพ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทศวรรษนานาชาติแห่งวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รณรงค์กันมายาวนานต่อเนื่อง...และจะยังคงต้องรณรงค์กันต่อไป และ...วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่จะต้องรณรงค์คู่ขนานกันกับการพัฒนา
ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ-มองต่างมุม
เมื่อต้นปี 2567 มีหนังสือตีพิมพ์ใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ The Trading Game: A Confession ผู้เขียน คือ Gary Stevenson ได้รับความชมชอบจากผู้อ่าน (4.2 ดาว จาก website Goodreads) และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ 2 ประเด็นว่า ผู้เขียนโอ้อวดเกินจริงว่าตนเป็นนักค้าเงินอันดับหนึ่งของโลก และอีกประเด็นในเรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมองว่า เป็นแนวความคิดใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์มองไม่เห็นมาโดยตลอด
ลงทุนในทองคำดีไหม
ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต
ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง
ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)
เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..
ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง
ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น