บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง ทั้งพุทธปฏิปทาและอริยสาวกปฏิปทา.. ที่ประมวลรวมเนื้อหาสาระลงในสูตรเดียวกันได้อย่างเหมาะควร สมกับความเป็น เลิศในทางพหูสูต.. ความเป็น เลิศในทางมีสติ (ความมีสติเป็นเลิศ).. ความเป็น เลิศในทางคติ (ผู้รู้จักหลักการในการเรียนรู้).. ความเป็น เลิศในทางธิติ (ผู้มีความมั่นคงมีความเพียรในการเรียน).. และความเป็น เลิศในทางอุปัฏฐาก (พุทธอุปัฏฐาก) ของพระอานนท์เถรเจ้า ที่ได้ร้อยกรองพระสูตรดังกล่าว นำเสนอต่อ พระสังคีติกาจารย์ ๔๙๙ รูป ในครั้งปฐมสังคายนา ซึ่งเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน

ปฐมสังคายนา.. จึงเกิดขึ้นอย่างมีรากเหง้าของเหตุอันควร ซึ่งปรากฏอยู่ในเส้นทางมหาปรินิพพานของพระพุทธองค์ ดังที่ พระอานนท์เถรเจ้า ได้กล่าวไว้ว่า..

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานเพียง ๗ วัน มีบรรพชิตผู้บวชยามแก่ ชื่อ สุภัททะ ได้กล่าวกับพวกภิกษุว่า..

“..พวกท่านอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย เราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น..

ก็แล พระมหากัสสปเถรเจ้า เมื่อได้ฟังเช่นนั้นก็คิดว่า พระศาสดาปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็มีเหตุที่จะทำให้สงฆ์ล่วงละเมิดทางวินัยบัญญัติเสียแล้ว จึงดำริให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่สำหรับเหล่าสงฆ์จักได้ประพฤติปฏิบัติตาม..

การสังคายนา จึงเป็นการแสดงออกถึงบทบาทหน้าที่ของคณะสงฆ์ ที่ต้องรับผิดชอบสืบทอดพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไป โดยดำเนินตามพระพุทธดำรัสที่มีต่อพระอานนท์เถรเจ้าว่า

“..ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย

ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว...”

การสังคายนา จึงหมายถึง การรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ เป็นแบบแผน สะดวกต่อการศึกษาเล่าเรียน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การสังคายนา จึงเป็นการประกาศของคณะสงฆ์ ที่จักยกย่อง บูชา ซึ่ง พระธรรมวินัย ดุจพระบรมศาสดา โดยจักให้ความเคารพยำเกรงสูงสุด ดังที่มีมติว่า

“..เราทั้งหลาย จักไม่ต่อเติม สิ่งที่มิได้ทรงบัญญัติ ..จักไม่เพิกถอน สิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว..” อันเป็นมติของพระเถราจารย์ ๕๐๐ รูป ที่ล้วนเป็นพระอรหันตสาวกในพระพุทธศาสนา จึงเป็นที่มาของคำว่า เถรวาทะ หรือเถรวาท...

นอกจากนั้น ในมหาปรินิพพานสูตร ยังได้กล่าวถึงการบูชาอันยอดเยี่ยมในพระพุทธศาสนา อันสืบเนื่องจากพระพุทธองค์บรรทม อนุฏฐานไสยา (นอนแล้วไม่ลุกขึ้นอีก) ระหว่างต้นสาละคู่ ณ ป่าสาละ ที่แวะพักของพวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา ซึ่งในครั้งนั้น..

..ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่ง ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา ดอกมณฑารพ จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต สังคีติอันเป็นทิพย์ ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า..

“..ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะได้ชื่อว่า บริษัทบูชา นอบน้อม ด้วยสิ่งสักการะประมาณเท่านี้ก็หามิได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือ อามิสบูชา.. อานนท์ สติผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ประพฤติตามธรรมอยู่

ผู้นั้นชื่อว่าได้สักการะ เคารพ และบูชาตถาคตด้วย ธรรมบูชา ซึ่งเป็นการบูชาอันยอดเยี่ยม..”

จากหลักฐานในเรื่องการบูชาอันเป็นเลิศ ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.. ที่เรียกว่า ธรรมบูชา.. นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะศรัทธาสาธุชนในพระพุทธศาสนา.. แม้ในยุคสมัยผู้คนเริ่มไขว้เขว หันไปจับ อามิสบูชา ว่าเป็นเรื่องควรมากยิ่งขึ้น...

สัจธรรมเรื่องดังกล่าวในร่องรอยมหาปรินิพพาน จึงมีประโยชน์ยิ่งต่อแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง และเป็นธรรมในหมู่ชนทั้งหลายที่เริ่มเคลื่อนคลายย้ายฐานความเชื่อมั่นไปอยู่ที่ อามิสบูชา กันมากขึ้น...

อีกเรื่องหนึ่งในมหาปรินิพพาน.. ที่เชื่อมต่อจากการบูชาอันยอดเยี่ยม อันเนื่องจากคำถามที่ว่า.. แล้วสิ่งใดที่..ควรเห็น เพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ เมื่อพระองค์ล่วงไปแล้ว.. ซึ่งโดยปกติ พระภิกษุทั้งหลายจากทิศต่างๆ จะพากันมาเฝ้าเพื่อพบเห็นพระองค์.. เมื่อทรงมีพระชนม์อยู่..

พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบเรื่องนี้ว่า..​

“..สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ตถาคตประสูติ ๑ สถานที่ตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ สถานที่ตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไป ๑ สถานที่ตถาคตปรินิพพาน ๑

สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้แหละ เป็นที่ควรเห็น ควรระลึกของบริษัท ๔ ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา ชนเหล่าใดจาริกไปยังสถานที่เหล่านี้ ด้วยจิตเลื่อมใส ครั้นทำกาละแล้ว จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เป็นแน่แท้..”

ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจ.. ในคำว่า การเห็น.. การระลึก.. ถึงพระพุทธองค์ในความหมายของคำว่า “สังเวชนียสถาน” อันเกี่ยวข้องกับสถานที่ทั้ง ๔ เป็นหลักฐานแสดงความมีอยู่จริงของพระผู้มีพระภาคเจ้า.. เพื่อจะได้ถือปฏิบัติบูชาธรรมได้ถูกต้อง.. ด้วย “ธรรมบูชา” ที่เหนือการบูชาทั้งปวง

สำหรับในข้อวินิจฉัยที่ว่า.. อะไรคือธรรมวินัยอันเป็นเลิศในพระพุทธศาสนานี้ นั้นก็สามารถสรุปเป็นคำตอบได้ชัดเจน ดังที่ทรงแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตรเช่นเดียวกัน โดยปรากฏในเรื่องที่ สุภัททปริพาชก ได้เข้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า..

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ.. เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าเป็นคนดี (คือ ครูทั้ง ๖) สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดตรัสรู้แล้วตามปฏิญญาของตน หรือทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้!?”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า.. “อย่าเลยสุภัททะ ข้อที่ท่านถามนั้นยกไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจไว้ให้ดี เราจักกล่าว..

สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด ไม่มีในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ก็ไม่มีในธรรมวินัยนั้น..

สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด มีในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ก็มีในธรรมวินัยนั้น..

สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑, ๒, ๓, ๔ (พระโสดาบัน, พระสกทาคามี, พระอนาคามี, พระอรหันต์) ​ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง (ปราศจากอริยบุคคลในศาสนาอื่นๆ)

สุภัททะ ก็ถ้าภิกษุเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกจะพึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย..”

ดังนั้น จากข้อวินิจฉัยที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่า.. ธรรมบูชา คือ การบูชาอันสูงสุดด้วยการปฏิบัติบูชา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นการบูชาอันเป็นเยี่ยม.. แท้จริง คือ การที่ภิกษุพึงอยู่โดยชอบด้วยการประพฤติตามอริยมรรคองค์ธรรมแปดประการ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา นั่นเอง ที่ได้ชื่อว่าเป็น ธรรมบูชา อันเป็นการบูชาที่เหนือการบูชาทั้งปวง.. เพราะสามารถดับทุกข์ได้จริง.. ด้วยการปฏิบัติจริง.. ที่ปฏิบัติชอบถูกต้องโดยอริยมรรคอันมีองค์แปดประการ..

และในวาระสุดท้ายของพระองค์ ก่อนที่จะทรงปิดพระวาจา.. เพื่อเตรียมเสด็จดับขันธปรินิพพาน.. ได้ประทานการสอนครั้งสุดท้าย โดยประชุมธรรมทั้งหมดรวมลงที่ ความไม่ประมาท.. ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า..

..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.....

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .