หนึ่งในทรัพยากรที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทาย ที่เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ สองประการคือ ประการที่หนึ่ง จำนวนแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะลดลง ประการที่สอง ตลาดแรงงานไทยขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะหลากหลายสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของเอกชนและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งในการปรับปรุงระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา เพื่อสามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ดีจากผลการสำรวจ การจัดอันดับ และรายงานศึกษาทั้งจากหน่วยงานภายในประเทศไทย และหน่วยงานระดับนานาชาติตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนนำเสนอข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในด้านโอกาสและคุณภาพ รวมทั้งปัญหาการผลิตกำลังคนที่ขาดทักษะซึ่ง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าลงทุนของประเทศไทย ในระดับนานาชาติ
ข้อสรุปที่รายงานข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาหลายฉบับต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันคือหนทางสู่ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษา จำเป็นต้องอาศัยการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาออกจาก หน่วยงานส่วนกลาง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ในการปฏิรูปการศึกษา และ การสนับสนุนแหล่งทรัพยากรใหม่เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
จากข้อมูลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในปี 2566 มีเด็กเยาวชนอายุระหว่าง 3-17 ปี (ช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวน 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาทุกสังกัด (อยู่นอกระบบการศึกษา) ถ้าดูในกลุ่มนักเรียนยากจนพบว่า ในปี 2562 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ที่สำเร็จ การศึกษาในระดับชั้นม.3 จำนวน 168,307 คน ไม่พบการศึกษาต่อในระบบการศึกษา (รวมการศึกษานอกโรงเรียน) ในปีการศึกษา 2563 จำนวน 33,547 คนหรือร้อยละ 20 ที่ออกจากระบบการศึกษาโดยมีสาเหตุหลัก คือ ความยากจน และความห่างไกลของสถานศึกษาระดับ ม.ปลาย หรือเทียบเท่า ส่วนอีก 134,760 คน หรือร้อยละ 80 คือนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กศน. หรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2563 นอกจากนี้จากงานวิจัยของ กสศ. ในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัดที่ยากจนที่สุด ยังพบว่า มีเพียงร้อยละ 5% ของนักเรียนยากจนพิเศษที่ศึกษาต่อระดับมัธยมปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เท่านั้นที่ยอมกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สาเหตุหลักของการไม่กู้ คือ ไม่ต้องการเป็นหนี้ สมัครไม่ทันตามกำหนดเวลา และไม่ทราบว่ากู้ กยศ. เรียนมัธยมปลายได้ ในจำนวนนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ 134,760 คน ที่ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เมื่อปี 2563 พบว่า มีเพียง 21,921 คน หรือ ร้อยละ 12.46 ที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS ในปี 2566 แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ต่ำกว่า ค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 3 เท่า
รายงานขององค์การยูเนสโกได้ประเมินเอาไว้ว่าสถานการณ์ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ได้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยโดยมูลค่าสูงมากถึงร้อยละ 1.7 ของผลิตภัณฑ์มวล รวมภายในประเทศ (GDP) ประเทศไทย หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี หากเยาวชนเหล่านี้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา หรือ อุดมศึกษา ย่อมจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและประเทศมากขึ้นหลายเท่าตัวตลอดช่วงชีวิตการทำงาน 30-40 ปี ในตลาดแรงงาน ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจึงถือเป็นโจทย์สำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาของประเทศไทยซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
จากงานวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยของ กสศ. พบว่า ในปี พ.ศ. 2561 งบประมาณ ด้านการศึกษาของไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายจ่ายส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจกรรมผลิตนักเรียนและ บัณฑิต คิดเป็นร้อยละ 85.4 (เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน เงินที่จัดสรรให้โรงเรียน เงินเดือนครู และเงินเพื่อจัดสรรนม และอาหารกลางวัน ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน และเงินอุดหนุนเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา) รายจ่ายเพื่อการลงทุน (ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง) คิดเป็น ร้อยละ 6.7 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ร้อยละ 2.8 ส่วนกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดสามรายการคือ การพัฒนาครู การอบรมบุคลากรด้านการศึกษา และ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีรายจ่ายรวมกันไม่ถึงร้อยละ 1.0 ด้วย โครงสร้างงบประมาณด้านการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่สามารถจัดหาสินค้าสาธารณะ (public goods) ทางการศึกษาได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียน ที่ด้อยโอกาส ดังนั้นการสนับสนุนรายจ่ายด้านการศึกษาจากภาคเอกชนทั้งการบริจาคจากภาคเอกชนด้าน การศึกษา และการช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้าน การศึกษา
การสนับสนุนให้ ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล หรือ ESG โดยเน้นการศึกษาด้วย จะมีส่วนให้ภาคเอกชน ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 4 คือ การศึกษาที่เท่าเทียม ในปัจจุบัน แม้มีแรงจูงใจทางด้านภาษีที่เงินบริจาคเพื่อการศึกษาสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง สอง เท่า แต่บริษัทเอกชน กลับมีการบริจาคเงินทุนเพื่อการศึกษาเพียงร้อยละ 0.2 ของกำไรก่อนหักภาษีซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 10 ของวงเงินที่สามารถบริจาคได้สูงสุด
แนวทางส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน มีหลายวิธีดังนี้
- สนับสนุนให้บริษัท ให้คำมั่นสัญญาในการ นำเงินกำไร จากการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุน การศึกษา ทั้งนี้ในต่างประเทศ มีบริษัท ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะ ตัดเงินกำไร ร้อยละ 1-2 เพื่อใช้สนับสนุนกิจการทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม
- การลงทุนของภาคเอกชนในกิจกรรมพัฒนาการศึกษา ซึ่งดำเนินการโดย ผู้ดำเนินงานโครงการ ซึ่งอาจเป็นวิสาหกิจด้านสังคม (social enterprises) โดยรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ สัญญาที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ลงทุน เมื่อกิจกรรมหรือโครงการถูกประเมินว่าสำเร็จตามเป้าหมาย โดยผู้ประเมินโครงการอิสระ หน่วยงานของรัฐก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้โดยจ่าย งบประมาณเฉพาะโครงการที่ประสบผลสำเร็จ นักลงทุนก็จะเป็นผู้รับความเสี่ยง และจะต้องเลือกลงทุนกับวิสาหกิจด้านสังคมซึ่งประสบความสำเร็จในอดีต
- สนับสนุนให้ภาคเอกชนออกหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) มีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน โดยนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ในโครงการเพื่อการศึกษา โดยมีกระบวนการที่ใช้ในการประเมินและคัดเลือกโครงการ และมีการรายงาน โดยเน้นความโปร่งใส เนื่องจากวัตถุประสงค์ ของการนำเงินไปใช้เป็นการทำเพื่อสังคม ดอกเบี้ยของตราสารอาจมีระดับต่ำกว่าหุ้นกู้ธรรมดา นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้เอกชนออกตราสารหนี้ ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds) ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ผูกพันกับ ผลสำเร็จที่คาดหมายในอนาคต ตามตัวชี้วัดที่ตั้งเอาไว้
- มาตรการสร้างแรงจูงใจให้บริษัท ลงทุนเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการดำเนินงานด้าน ESG โดยการสร้างความเรียนรู้และตระหนักรู้ ว่าการศึกษาสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ และภาคเอกชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในระยะยาว การปรับนโยบายและข้อกำหนดรายงาน เช่น One Report การเสริมสร้างและสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมด้านการศึกษาโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนหรือบริจาคของภาคเอกชน การส่งเสริมให้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในการระดมทุนด้านการศึกษา
- การใช้สถานประกอบการเป็นศูนย์ฝึกพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา จำนวนมากกว่า 150,000 คนต่อปี บริษัทควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพทักษะอาชีพร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีการสนับสนุนสวัสดิการค่าเดินทาง ค่าอาหาร และเบี้ยเลี้ยงให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ในช่วงที่มีการฝึกอบรมพัฒนา และเปิดโอกาสในการจ้างงานในสถานประกอบการที่ร่วมพัฒนากลุ่มเป้าหมายนี้ ในขณะเดียวกันระบบการศึกษาในอนาคตของไทย ภาครัฐ และ ภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และเป้าหมายการผลิตบัณฑิตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาความขาดแคลนกำลังในสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้รัฐอาจพิจารณาสิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่บริษัทเอกชนร่วมลงทุนในกระบวนการผลิตพัฒนากำลังคน
การร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนเป็นส่วนสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การพัฒนา ประเทศที่ยั่งยืนต่อไป
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
เนวิน สินสิริ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ขอขอบคุณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับข้อมูล เรียบเรียงบางส่วนจากรายงานวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 33 (วตท.33)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เซียนการศึกษา “วิษณุ เครืองาม” เสนอตั้งกรรมการนวัตกรรมทางการศึกษา Active Learning พร้อมภาครัฐสานต่อเพื่อการศึกษาในอนาคต
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความต่อเนื่อง หลักสูตร Active Learning จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง
เชิญชวนน้องๆ กลุ่มมัธยมศึกษา (เทียบเท่า) ร่วมประกวดสื่อสร้างสรรค์ "Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ" ปี 2
ถ้าคุณเป็นเยาวชนที่สนใจ...การใช้สื่อโซเชียลมีเดียบนโลกอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การโพสต์ และการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้รับสาร ผู้ส่งต่อ
'ไอติม'ขอเจียด 10%ของดิจิทัลวอลเล็ตมาเพิ่มทักษะการศึกษา!
'พริษฐ์' เจอ 3 ปัญหาพัฒนาทักษะซ้ำกัน ชงตัวเปลี่ยนเกมยกระดับทักษะฉบับก้าวไกล พร้อมขอแบ่ง 10% จากดิจิทัลวอลเล็ตคงไม่มากเกินไป