จังหวัด น่าน คืออีกหนึ่งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่อยู่ในใจนักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยไปเยือน จนต้องปักหมุดให้เป็นจังหวัดในดวงใจ เพราะ น่าน เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์หลายอย่าง ทั้งเรื่องแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย อีกทั้งเรื่องอาหารการกินก็อร่อยขึ้นชื่อหลายอย่าง ตลอดจนอัธยาศัยของคนจังหวัดน่าน ที่เป็นมิตรกับทุกคนที่ไปเยือน
ที่น่าสนใจขณะนี้ก็คือ กำลังมีความพยายามจากหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาจังหวัดน่านตามแนวทาง น่านโมเดล เพื่อให้เป็นจังหวัดของ เมืองต้นแบบสุขภาพ ซึ่งมีอารยสถาปัตย์ที่มีสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึง ผู้สูงวัย- คนพิการ อีกทั้งเริ่มจะมีการพูดถึงการเตรียมยื่นเรื่องต่อยูเนสโก เพื่อให้น่านเป็นมรดกโลกในความเป็น creative city
ทั้งหมดทำให้ น่านโมเดล มีความน่าสนใจอย่างมาก และพบว่าเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจที่จังหวัดน่าน ตามแนวทาง น่านโมเดล โดยเป็นกิจกรรมที่จัดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณลานข่วงเมืองน่าน วัดภูมินทร์
โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นประธานเปิดงานที่ชื่อว่า ทัวร์อารยสถาปัตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดน่าน “เปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน” พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เป็นต้น
ซึ่งงานดังกล่าวเป็นการจับมือร่วมกันจัดงานของหลายภาคส่วน อาทิ จังหวัดน่าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เทศบาลเมืองน่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อเดินหน้าสนับสนุน “น่านโมเดล” เมืองต้นแบบสุขภาพ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design (UD)
โดยทาง นพ.ชลน่าน-รมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมงานดังกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรไทย และมีคนพิการมากกว่า 2.1 ล้านคน คิดเป็น 3% ของประชากรไทย กิจกรรมเปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน ถือเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) และระบบโลจิสติกส์ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย
โดยมีเป้าหมาย 4 ด้านคือ 1.ขับเคลื่อนเมืองสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2.ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) 3.การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ของจังหวัดน่าน 4.ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนพิการรองรับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว
“นักท่องเที่ยวในกลุ่มเป้าหมายนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พักฟื้นสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มคนพิการ และกลุ่มที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กต้องใช้รถเข็น
ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ด้วย แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ UD จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยของคนกลุ่มนี้” นพ.ชลน่านกล่าว
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุไทยในปี 2565 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.69 ล้านคน คิดเป็น 19.21% ถือเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ผู้สูงอายุจำนวนมากมีบ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิต และจากข้อมูลปี 2564 มีผู้สูงอายุ 853,390 คน ระบุว่าเคยหกล้มในบริเวณบ้านพักมากที่สุด ผู้สูงอายุ 216,078 คน ที่เคยหกล้มภายในตัวบ้าน เป็นการหกล้มในห้องน้ำมากที่สุด รองลงมาคือ ห้องนอน ระเบียงบ้าน และบันได ตามลำดับ
ขณะที่ข้อมูลคนพิการ ปี 2566 มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั่วประเทศ 2.18 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ทั้งผู้สูงอายุและคนพิการถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในการดำเนินชีวิต จากความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยของผู้สูงอายุ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ
“สสส.สนับสนุนให้ผู้สูงอายุและคนพิการได้ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่ต่างๆ อย่างมีอิสระ สะดวก และปลอดภัย โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการออกแบบเพื่อทุกคน ปรับปรุง พัฒนาอาคาร สถานที่ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทั้งมวล ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมต่างๆ เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ใน 10 จังหวัด ซึ่ง จ.น่าน เป็น 1 ใน 10 พื้นที่ต้นแบบที่ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกตามแนวคิด UD ในสถานที่สาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว วัดภูมินทร์ และวัดสวนตาล ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งมวลได้” ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าว
โยธิน ทับทิมทอง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านได้รับความนิยมเรื่องการท่องเที่ยวจากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มาเป็นครอบครัว และจะมาพักในเมือง เพราะน่านตอบโจทย์สโลว์ไลฟ์กลุ่มผู้สูงวัยต่างประเทศที่กำลังเข้ามา ตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2566 กับปีนี้ 2567 ที่เข้ามาจังหวัดน่านต่างกันชัดเจน ปีนี้เข้ามาค่อนข้างมาก สิ่งที่เราเห็นมีกลุ่มผู้สูงวัยมาเช่าจักรยานขี่เที่ยวในเมืองน่าน เช่น พื้นที่ย่านเมืองเก่า ซึ่งล่าสุด ททท.ร่วมกับชมรมโรงแรมของจังหวัด จัดทำคิวอาร์โค้ดให้นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานเที่ยวได้เอง
นางศุภรดา กานดิศยากุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน จ.น่าน กล่าวว่า พื้นที่พิเศษที่เราดูแลประกอบด้วย 5 ตำบล ล้วนเป็นไข่แดงใน จ.น่าน เรามี ต.ในเวียง อ.เมืองฯ จ.น่าน เป็นพื้นที่คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวติด 1 ใน 100 ของสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวโลก ได้รับรางวัลในปี 2563 /2564 และ 2566 ในปีนี้เราจะพัฒนาเขตในเวียงให้เป็น green destination (Global Sustainable Tourism Criteria การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับแหล่งท่องเที่ยว-GSTC) ไปประกวดในสภาการท่องเที่ยวโลก การจะได้มาหนึ่งในนั้นต้องส่งเสริมการเข้าถึงคนทั้งมวล เกณฑ์ข้อหนึ่งคือ การเป็นเมืองเก่าของน่าน ต้องมีอารยสถาปัตย์เป็นส่วนประกอบ เรื่องราวดีๆ ในเมืองน่านกำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะจะมีการประชุม ครม.สัญจรในวันที่ 18-19 มี.ค. ที่ จ.พะเยา มีนายกฯ เป็นประธาน โดย จ.น่านจะได้รับงบจากกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวเชิงอาหารมุ่งสู่เมืองสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล
“อีกเรื่องคือ เรื่องที่เรากำลังปูทางขอ จ.น่านเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ในประเด็น creative city ที่เราจะล่ารางวัลมรดกโลกได้ โดยเรามี theme ที่ว่า Livable crafts and folk art for all ดังนั้นลมหายใจเข้าออกของคนน่านตอนนี้ คือ เราจะไม่ลืมคำว่า for all ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอายุ เรายังมี green hotel green restaurant green temple ใน จ.น่าน โดยเฉพาะ 3 วัดในเมือง คือ วัดภูมินทร์ วัดหัวข่วง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดท่องเที่ยวใน อ.เมืองฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ถือเป็นความเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมของหลายฝ่ายที่มาร่วมมือกันในการพัฒนาพื้นที่ ภายใต้การมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาจังหวัดน่านให้มีศักยภาพในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรูปแบบ แนวคิด การจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวที่จังหวัดน่าน เชื่อว่าคนจากอีกหลายจังหวัดคงคาดหวังจะได้เห็นกิจกรรมลักษณะดังกล่าวในพื้นที่ของตัวเองบ้าง ตามแนวทาง “น่านโมเดล”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
'ชลน่าน' แจงไม่ได้โกรธ 'พิเชษฐ์' แค่เห็นทำหน้าที่แบบมึนๆเลยอยากช่วยให้ทำถูกข้อบังคับ
'ชลน่าน' แจงหลังวีนใส่ 'พิเชษฐ์' บอกไม่ได้โกรธ แค่เห็นทำหน้าที่แบบมึนๆไปไม่ถูก เลยอยากช่วยให้ทำถูกข้อบังคับ ยัน ไม่มีปัญหาอะไรกัน ไม่ต้องเคลียร์
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 281 ราย ดับเพิ่ม 4 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 287 ราย ดับเพิ่ม 3 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 กันยายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 287 ราย
เคาะ 6 ข้อเสนอ แผน 'สุขภาพจิตชุมชน' พร้อมดันสู่วาระชาติ
นายชาญชัย ทองสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาศักยภาพเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ตัวแทนแกนนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความร่วมมือ