ตัวชี้วัดที่เราดูก็คือเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ดูเรื่องจีดีพี ดูว่าวิกฤตเศรษฐกิจตามตัวชี้วัดต่างๆ เช่นของธนาคารโลก อะไรหรือไม่ คำตอบก็คือมันไม่ถึงขนาดนั้น ก็คล้ายๆ กับของป.ป.ช. รวมถึงเรื่องความเสี่ยงด้านวินัยการเงินการคลังเรื่องรายได้ อย่างประเด็นที่รัฐบาลเคยบอกว่า หากใช้จ่ายไปแล้ว (ดิจิทัลวอลเล็ต) จะทำให้เศรษฐกิจต่างๆ จะเดินไป ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้กี่ล้านล้านบาท มันติดขัด กระบวนการจะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่ เราก็มองความเสี่ยงว่ามันอาจจะไปได้ไม่ถึงตรงนั้น ที่จะมีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาจากการใช้จ่ายตรงนี้ (ดิจิทัลวอลเล็ต) มองเรื่องความเสี่ยง แต่ถามว่ามันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ (รายได้จากการเก็บภาษี) ซึ่งหากเขาทำดีมันก็อาจเป็นได้ แต่เรามองว่ามันมีความเสี่ยงในเรื่องนี้
“สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” หรือ สตง. คืออีกหนึ่งองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยรับตรวจที่ สตง.จะต้องเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกปี ว่ามีการใช้จ่ายถูกต้องหรือไม่ มีการใช้งบประมาณแบบรั่วไหลหรือใช้จ่ายโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ด้วยเช่นกัน
ทำให้เห็นได้ว่า บทบาท อำนาจหน้าที่ของ สตง.ที่ขับเคลื่อนภารกิจผ่าน “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” หรือผู้ว่าฯ สตง. และ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” (คตง.) จึงมีความสำคัญมากในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพราะงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่แต่ละหน่วยงานภาครัฐใช้ ก็คือเงินภาษีประชาชนนั่นเอง
“ไทยโพสต์” ได้สัมภาษณ์พิเศษ "ประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เอง หลังทำงานในฐานะผู้ว่าฯ สตง.มาถึง 6 ปีเต็ม และก่อนหน้านี้ก็รับราชการที่ สตง.มาตลอดชีวิตราชการ จนได้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ สตง.
การสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้พูดคุยกันถึงการทำงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสิ่งที่ได้ฝากไว้กับ สตง.ก่อนพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนกรณีที่สมัยเป็นผู้ว่าฯ สตง.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพื่อต้องการทราบถึงความคืบหน้าว่าผลการศึกษาของคณะทำงาน สตง.จะมีความเห็นอย่างไร
-ตอนเป็นผู้ว่าฯ สตง.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สตง.ก็เคยทำหนังสือทักท้วงไปถึงรัฐบาลให้ระมัดระวังการดำเนินโครงการจำนำข้าว และต่อมาเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ก็พบว่าตอนที่มีการดำเนินคดีจำนำข้าว ก็มีการนำหนังสือ สตง.ไปเป็นส่วนหนึ่งในการไต่สวนเอาผิดด้วย?
ตอนที่มีการทำโครงการรับจำนำข้าว สตง.เคยทำหนังสือเตือนไปถึงรัฐบาลเวลานั้น (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ตั้งแต่หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้น คนก็บอกกันว่า รัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จผ่านไปแค่วันเดียว สตง.ก็ทำหนังสือเตือน แต่จริงๆ คือ สตง.เคยมีการตรวจสอบนโยบายรับจำนำข้าวตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
ช่วงที่ศึกษาโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว (ยุครัฐบาลไทยรักไทย) ทาง สตง.เห็นแล้วว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทำอย่างไร เราเห็นว่าเป็นโครงการที่มีจุดอ่อนตรงไหน สตง.เราเห็น เราก็เลยบอกรัฐบาลตอนนั้นไปว่าหากจะทำออกมา เราบอกเลยว่าโครงการมีจุดอ่อนตรงไหน ต้องไปแก้ไขป้องกันอย่างไร เราบอกได้ชัดเจน
ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐบาลดำเนินการไปโดยไม่สนใจข้อท้วงติงจาก สตง.และสำนักงาน ป.ป.ช. ตลอดจนความเห็นของสถาบันทีดีอาร์ไอ ก็ทำให้สุดท้ายโครงการเกิดความเสียหายจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจในการยับยั้ง เพียงแต่แค่เตือนบอกได้เท่านั้น
จนเป็นที่มาของการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเงินตรวจแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ในมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือ คตง.เพื่อพิจารณา และหากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นด้วยที่ควรจะระงับยับยั้ง ก็ให้ คตง.เชิญกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาประชุมร่วมกัน 3 องค์กร และหากที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ว่าโครงการดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการ ก็ให้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่เป็นเรื่องบทบาทในการระงับยับยั้ง
อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 8 ได้ หมายถึงต้องมีการดำเนินการเกิดขึ้นก่อน แล้วมีการไปตรวจจนพบการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สามารถใช้ไดักับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะยังไม่รู้เลยว่าเขาจะทำอย่างไร และตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ ยังไม่มีมติ ครม.ว่าจะทำแบบไหนอย่างไร จะใช้อย่างไร เพียงแต่เป็นข้อมูลออกมา มีการสื่อสารออกมาว่าจะใช้งบประมาณ แต่เมื่องบประมาณไม่เพียงพอก็มีข่าวจะทำตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะใช้ธนาคารของรัฐเช่นธนาคารออมสิน แต่ก็ไปไม่ได้อีกเพราะติดข้อกฎหมาย ก็มาบอกว่าจะใช้วิธีการออกกฎหมายกู้เงิน แต่ก็มีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ จะเห็นได้ว่ามีข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ตอนนั้นผมก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามนโยบาย หลังรัฐบาลแถลงนโยบายรัฐบาล โดยตั้งเมื่อช่วงกันยายน 2566 เพื่อให้ติดตามดูว่าเขาจะทำอย่างไร และดูว่าที่จะทำมีจุดอ่อน ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร และต่อมาเมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.มีการตั้งคณะทำงานศึกษาติดตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สตง.ก็ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานของ สตง.ที่ผมตั้งขึ้นมา ก็ไปร่วมเป็นคณะทำงานของ ป.ป.ช.ด้วย
อย่างไรก็ตาม บทบาทของ สตง.ยังไม่ถึงตรงนั้น แต่ว่าคณะทำงานของ สตง.ที่ตั้งขึ้นมาได้ศึกษาเสร็จแล้ว ที่ความเห็นของคณะทำงานก็คล้ายๆ กับรายงานผลการศึกษาของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีประเด็นเรื่อง "ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ" แต่เนื่องจากอำนาจของผู้ว่าฯ สตง.ที่ยังไม่สามารถออกรายงานเพื่อไปเผยแพร่ได้ เพราะต้องตรวจก่อน ผมก็นำเสนอต่อ คตง.ที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ มาตรา 27(4) ให้อำนาจ คตง.ในการให้คําปรึกษา แนะนํา หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คําแนะนําแก่หน่วยงานของรัฐได้ ทาง คตง.ก็กำลังพิจารณา เพียงแต่ว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมันยังไม่เคยมีการทำมาก่อน เพราะฉะนั้นถามว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นแน่ๆ หรือไม่ จะออกมาแบบนี้หรือไม่ ก็ตอบไม่ได้ เพราะจำนำข้าวเคยมีการทำมาก่อนแล้ว และทำแล้ว เกิดขึ้นจริงแล้ว และหากทำอีกมันมีโอกาสเกิดขึ้นแน่ๆ
รายงานของคณะทำงานของ สตง.จึงเป็นการคาดการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน และเมื่อทำไปแล้วจะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์
โดยเป็นเรื่องการคาดการณ์หมด ทาง คตง.ก็มองว่ายังไม่ใช่ตัวเลขจริง และ สตง.เป็นหน่วยตรวจสอบ คตง.ก็เห็นความสำคัญแต่อยากให้ลองติดตามอีกสักระยะ เพราะเป็นบทบาทที่ คตง.ต้องเสนอแนะ ทาง คตง.ก็มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำต่อจากที่ สตง.ทำไว้
-บทสรุปที่คณะทำงานของ สตง.ตั้งขึ้นมาศึกษาเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต มีความเห็น ข้อเป็นห่วง ข้อเสนอแนะอย่างไร?
ตัวชี้วัดที่เราดูก็คือเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ดูเรื่องจีดีพี ดูว่าวิกฤตเศรษฐกิจตามตัวชี้วัดต่างๆ เช่นของธนาคารโลก อะไรหรือไม่ คำตอบก็คือมันไม่ถึงขนาดนั้น ก็คล้ายๆ กับของป.ป.ช. รวมถึงเรื่องความเสี่ยงด้านวินัยการเงินการคลังเรื่องรายได้ อย่างประเด็นที่รัฐบาลเคยบอกว่า หากใช้จ่ายไปแล้ว (ดิจิทัลวอลเล็ต) จะทำให้เศรษฐกิจต่างๆ จะเดินไป ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้กี่ล้านล้านบาท มันติดขัด กระบวนการจะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่ เราก็มองความเสี่ยงว่ามันอาจจะไปได้ไม่ถึงตรงนั้น ที่จะมีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาจากการใช้จ่ายตรงนี้ (ดิจิทัลวอลเล็ต) มองเรื่องความเสี่ยง แต่ถามว่ามันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ (รายได้จากการเก็บภาษี) ซึ่งหากเขาทำดีมันก็อาจเป็นได้ แต่เรามองว่ามันมีความเสี่ยงในเรื่องนี้
หรืออย่างเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี หากมีการออกกฎหมายกู้เงินมา ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ตัวสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก็อาจขยายไปเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากขยายไป 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขเพิ่มขึ้นแล้ว มันจะส่งผลในเรื่องความไม่มั่นคงยั่งยืนทางการเงินการคลังชัดเจนจนถึงขนาดมันจะเสีย มันก็ไม่ชัดเจนถึงขนาดนั้น เพราะว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้ที่มีอยู่ มันอาจเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ถามว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ คำตอบคือเพิ่มขึ้นแน่นอน ก็เป็นสิ่งที่คณะทำงานของ สตง.วิเคราะห์ออกมา แต่ไม่ได้ถึงขั้นบอกว่ามันไปไม่ได้ หรือไปบอกว่าทำไปจะล้มเหลวแน่นอน แต่เราก็บอกว่ามันมีความเสี่ยง แต่หากเขาทำดีมันก็มีโอกาสจะดีได้ ซึ่งทาง คตง.ก็บอกว่ามันเป็นการมองไปข้างหน้า เราอย่าเพิ่งไปติเรือทั้งโกลน เพราะเขาก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร คตง.ก็เลยตั้งอนุกรรมการมาติดตามต่อจากรายงานที่ สตง.ทำเสนอไป
หากเริ่มดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อใด ถึงตอนนั้น บทบาทหลักของผู้ว่าฯ สตง.และสำนักงาน สตง.ก็จะเข้าไปติดตาม เช่นหากใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังเดิมก็อาจไม่มีอะไร แต่หากต้องทำแอปพลิเคชันใหม่ สตง.ก็ต้องเข้าไปดูเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ใครไปทำ ทำแบบไหนอย่างไร เป็นไปตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ ทำแล้วใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ สตง.ก็เข้าไปติดตาม
ตั้งสำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ติดเขี้ยวเล็บ ตรวจเมกะโปรเจกต์
"ประจักษ์-อดีตผู้ว่าฯ สตง." เปิดเผยถึงสิ่งที่ได้ขับเคลื่อนทำไว้ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ด้วยว่า เนื่องจากที่ผ่านมา สตง.มีบทบาทในการตรวจสอบรายงานการเงินค่อนข้างมาก ซึ่งโครงการใหญ่ๆ การจะไปติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่ได้ไปให้ความสำคัญเต็มที่ สตง.ก็มองว่าด้วยบทบาทของ สตง.ที่มีภารกิจสำคัญในการตรวจสอบสามประเภทใหญ่ๆ คือ (1) การตรวจสอบการเงิน (Financial Audit) (2) การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน (Performance Audit) และ (3) การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit)
...เจ้าหน้าที่ของ สตง.ที่รับผิดชอบในการติดตามดูแลตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ การติดตามตรวจสอบแค่ปีเดียวมันไม่เสร็จ เพราะการทำโครงการขนาดใหญ่ก็ใช้เวลาบางที 4-5 ปีกว่าจะเสร็จ สตง.ก็ต้องตามเหมือนกัน
ทาง สตง.จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้มีการจัดตั้ง "สำนักงานตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่" แยกออกมาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญต่างหาก
ซึ่งตอนนี้โครงสร้างสำนักงานตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่เสร็จเรียบร้อย มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผล 1 เมษายนที่จะถึงนี้
ทำให้หลังจากนี้โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่นรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีปัญหา ที่ผ่านมา สตง.ยังไม่มีคนเข้าไปจับโดยตรงว่าโครงการเป็นอย่างไร ข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ทางสำนักงานตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ของ สตง.ก็จะเข้าไปติดตามตรวจสอบ อย่างโครงการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ถือว่าเข้าข่ายเช่นกัน โดยเมื่อมีการเริ่มทำงานแล้ว สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ก็ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับงานด้านอื่น
6 ปีบนเก้าอี้ผู้ว่าฯ สตง. กับภารกิจตรวจสอบ การใช้เงินภาษีประชาชน
นอกจากนี้ “ประจักษ์-อดีตผู้ว่าฯ สตง.” ยังกล่าวถึงการทำงานของตนเองในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาว่า หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในช่วงที่มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.พ. 61 โดยผมได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. เมื่อ 27 ก.พ. 2561
...สำหรับการทำงานของ สตง.ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะหลังกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ ทำให้บริบทและวิธีการทำงานของ สตง.เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการตรวจสอบงบการเงินหรือ Financial Audit ซึ่ง สตง.ตรวจสอบหน่วยรับตรวจอยู่ที่ประมาณ 9 พันถึง 1 หมื่นหน่วย เราใช้การประเมินความเสี่ยงตามวิชาชีพ และเลือกตรวจสอบอยู่ประมาณ 3 พันหน่วยต่อปี โดยมาตรา 91 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 กำหนดให้ สตง.ตรวจสอบรายงานการเงินที่หน่วยงานของรัฐส่งให้ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยช่วงปีแรกที่เข้ามารับตำแหน่งก็มีร่วมหมื่นหน่วยงานแต่ปีต่อๆ มาก็ลดลง
...มันก็เกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน ว่าจะทำอย่างไรให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดไว้ ก็ทำให้ สตง.ในช่วงแรกต้องปรับบทบาทในการทำงาน จากที่เราต้องตรวจสอบทางการเงิน (Financial Audit) ตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) ตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) ก็ปรับไปให้ความสำคัญตามกฎหมายโดยเน้นไปที่การตรวจสอบทางการเงินหรือ Financial Audit เกือบ 60-70 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ สตง.ต้องมาคิดกันว่าจะบริหารจัดการบุคลากรของสตง. ที่มีอยู่ประมาณ 3 พันคนและลูกจ้างอีกรวมเป็น 4 พันคน เพื่อทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามกฎหมาย เนื่องจากต้องตรวจสอบรายงานการเงินของทุกหน่วยงาน และต้องดำเนินการให้ทันภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เพราะมีหน่วยรับตรวจร่วม 8,700 แห่ง
เผยตัวเลข 6 ปี พบใช้งบรั่วไหล ไม่มีประสิทธิภาพ ร่วม 1 แสนล้านบาท!
ในการตรวจสอบทั้ง 3 ประเภทของ สตง. คือตรวจสอบทางการเงิน ตรวจสอบการดำเนินงาน และตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ในช่วงที่ผมเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สตง.พบความเสียหาย พบการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์รวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็เท่ากับเฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขบางปีก็เกือบ 4 หมื่นล้าน แต่บางปีก็ไม่กี่พันล้านบาท...ในช่วง 6 ปีที่ผมเป็นผู้ว่าฯ สตง. ทาง สตง.ก็มีการส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ รวมมูลค่าวงเงินก็ประมาณ 2 พันล้านบาท
“ประจักษ์-อดีตผู้ว่าฯ สตง.” สะท้อนการทำงานในช่วงที่ผ่านมาต่อไปว่า เมื่อภารกิจของ สตง.เป็นอย่างที่บอกข้างต้น ทำให้ สตง.ต้องขอความร่วมมือกับหน่วยรับตรวจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย, บริษัท การบินไทยฯ เป็นต้น ที่มีศักยภาพในการใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีจากภายนอกได้ ก็ขอความร่วมมือให้ใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก แต่ สตง.ก็ยังรับผิดชอบในการเห็นชอบผู้ตรวจสอบบัญชี และดูรายงานการเงินตอนที่เขาตรวจสอบเสร็จแล้ว ซึ่งถึงตอนนี้ก็มีการให้ใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกแล้วประมาณ 120 หน่วย โดยมีสิบกว่าบริษัทที่ได้มาตรฐานเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีจากภายนอก
...ส่วนการจะทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ทิศทางปัจจุบันก็ต้องไปในทางดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ โดยหน่วยงานที่มีระบบการเงิน ระบบบัญชีอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เราก็ตรวจสอบผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เลย เพราะบุคลากรของ สตง.สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเป้าหมายระยะยาวเลย ที่เราอยากให้หน่วยงานภาครัฐมีรายงานการเงิน ระบบบัญชีอยู่ในระบบดิจิทัลทั้งหมด เพราะจะทำให้การตรวจโดยเทคโนโลยีและโปรแกรมต่างๆ ที่ สตง.นำมาใช้ก็จะทำให้การตรวจสอบทำได้เร็วขึ้น เพื่อที่เราจะได้นำกำลังคนไปทำภารกิจอื่นได้มากขึ้น
...การตรวจสอบของ สตง.หลักๆ ตรวจสอบทางการเงิน (Financial Audit) ตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) และตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) เช่นการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ เช่น ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย มีเจตนาทุจริต รวมถึงการดูเรื่องผลสัมฤทธิ์ว่าเมื่อมีการใช้จ่ายเงินไปแล้ว ประชาชนได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ที่เราก็พบว่าหลายโครงการ เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการดังกล่าว โดยพบว่าเกิดความเสียหายสูงกว่าการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้องด้วยซ้ำไป เพราะหากไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ก็คือเสียหายทั้งโครงการเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ บอกให้ สตง.เน้นการตรวจสอบทางการเงิน ซึ่ง สตง.ก็ทำได้ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถส่งรายงานการเงินให้ สตง.ได้ทันเวลา เราก็ต้องไปตรวจหลังจากนั้น
ส่วนภารกิจเรื่องการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ซึ่งเดิมเน้นเรื่องการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งโดยภาพรวมการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่งบการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีระเบียบที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ และเป็นช่องทางที่นำไปสู่การทุจริตได้ ส่วนการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้อง เช่นการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง เรื่องเหล่านี้จะเป็นการตรวจสอบที่ต่อเนื่องจากการตรวจสอบทางการเงิน โดยหากพบก็จะมีการค้นหาว่ามันเกิดจากอะไร และต้องมีการชดใช้เงินคืนหรือไม่ ก็จะเป็นส่วนที่ต่อเนื่องมา
ในกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้คำแนะนำ การตอบข้อซักถาม ที่เขียนไว้ในมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ เช่นแต่เดิมหากหน่วยรับตรวจถามประเด็นอะไรมาที่ สตง. ทาง สตง.ก็จะตอบแบบกลางๆ อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เช่นบอกว่าขอให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่กฎหมายฉบับปัจจุบันเขียนไว้ว่าให้ สตง.ต้องตอบให้ชัดเจน ถ้าหน่วยรับตรวจต่างๆ ถามมาที่ สตง.ถึงการใช้งบประมาณต่างๆ ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ หาก สตง.ตอบว่าทำไม่ได้ ก็ต้องบอกด้วยว่าทำไม่ได้เพราะอะไร เพื่อให้หน่วยรับตรวจทำให้ถูกต้อง เพราะ สตง.ในฐานะหน่วยตรวจสอบ เราก็อยากเห็นหน่วยรับตรวจทำสิ่งที่ถูกต้อง ประชาชนได้ประโยชน์ เราไม่อยากเห็นว่าเมื่อเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณแล้ว ตรงนั้นก็ผิด ตรงนี้ก็ผิด มีทุจริต สตง.จึงต้องทำให้หน่วยรับตรวจทำให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เพราะ สตง.ไม่ใช่หน่วยปราบปราม หน่วยจับผิด หากตรวจแล้วถูกก็ต้องบอกว่าถูก ก็เป็นเรื่องดี แต่หากตรวจแล้วพบว่าผิด ก็ต้องว่าไปตามผิด ก็ต้องตอบออกมาว่าผิดตรงไหน โดยหากพบว่าผิดก็ต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้อง ให้เขาชี้แจง แสดงหลักฐานเพื่อความเป็นธรรมกับหน่วยรับตรวจ และหากสุดท้าย ถ้าพบว่าทุจริต ก็ต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพราะบทบาทการเอาผิดกรณีมีการทุจริตจะไปอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
“ในการตรวจสอบทั้ง 3 ประเภทของ สตง. คือตรวจสอบทางการเงิน ตรวจสอบการดำเนินงาน และตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ในช่วงที่ผมเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สตง.พบความเสียหาย พบการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็เท่ากับเฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขบางปีก็เกือบ 4 หมื่นล้าน แต่บางปีก็ไม่กี่พันล้านบาท”
...ซึ่งเราไม่ได้อยากให้เจอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เราอยากให้ความเสียหายเหล่านั้นมันลดลง โดย สตง.ก็เน้นเรื่องการให้ความรู้ การตอบข้อซักถามของหน่วยรับตรวจ การเป็นที่ปรึกษาให้มากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีการถามมาจากหน่วยรับตรวจถึงการใช้งบประมาณต่างๆ ที่ถามมายัง สตง. อย่างภาพใหญ่ๆ ก็เช่นกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถาม สตง.เข้ามาเรื่องการใช้งบท้องถิ่นไปจัดซื้อวัคซีน โดยถามว่าท้องถิ่นซื้อวัคซีนได้หรือไม่ ที่ตอนนั้น สตง.ก็ตอบไปว่าทำได้ เพียงแต่ต้องดูกฎหมายให้ชัดเจน หรือตอนที่จะมีการไปจองวัคซีนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่สอบถาม สตง.ว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ โดย สตง.ก็ตอบว่าไม่ใช่ ต้องไปดูตามกฎหมายเรื่องสาธารณสุข เพราะเป็นการจองซื้อล่วงหน้า หากทดลองแล้วไม่ผ่าน เงินมัดจำจะหายไปไม่ได้คืน การให้คำแนะนำแบบนี้ผลดีก็คือ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ลังเลในการใช้งบให้เกิดประโยชน์
"ประจักษ์-อดีตผู้ว่าฯ สตง." กล่าวด้วยว่า ในช่วงการเป็นผู้ว่าฯ สตง. 6 ปีที่ผ่านไป ได้วางแนวทางในการทำให้การตรวจสอบของ สตง.มีความรวดเร็ว โดยเฉพาะการตรวจสอบรายงานการเงิน เราก็มองว่าต้องพัฒนาให้ระบบตรวจสอบไปในทางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะทำให้การตรวจสอบมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่ต้องทำทั้งหน่วยรับตรวจและ สตง. เราจึงวางระบบให้เป็นแบบบูรณาการทั้งหมด ที่เรียกว่า ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและสนับสนุนการตรวจสอบ (e-Audit) คือให้ สตง.สามารถตรวจผ่าน e-Audit ได้เลย ที่ สตง.ก็มีการของบประมาณไป 134 ล้านบาท เพื่อทำระบบตรวจสอบงบประมาณผ่าน e-Audit ทั้งหมด ที่ตอนนี้ผู้ได้รับการว่าจ้างให้วางระบบอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567 โดยส่วนนี้คือการวางรากฐานสำคัญของระบบตรวจสอบของ สตง. ที่ไม่ใช่การตรวจสอบทางการเงินอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการตรวจสอบการดำเนินงาน และตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะต่อไปการส่งข้อมูลต่างๆ ก็จะอยู่ในระบบ อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยเมื่อระบบแล้วเสร็จและหน่วยงานต่างๆ พร้อมจะเข้ามา ก็จะทำให้งานตรวจสอบภาครัฐ โดยเฉพาะการตรวจสอบทางการเงินรวดเร็วอย่างมาก ไม่ต้องรอ 180 วัน อาจแค่ 3 เดือนก็เสร็จ จากนั้นก็ออกเป็นรายงานการตรวจสอบทางการเงินได้เลย e-Audit คือการวางรากฐานในเรื่องการตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะรองรับการทำงานแบบดิจิทัลได้ในอนาคต
-ที่บอกว่าพบการใช้จ่ายเงินที่ไม่เป็นไปตามประสิทธิภาพ ไม่เกิดประโยชน์ ในช่วง 6 ปีของการเป็นผู้ว่าฯ สตง. ส่วนใหญ่เป็นงบประเภทใด และเป็นของหน่วยงานไหน?
การตรวจสอบของ สตง. หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจสอบรายงานการเงิน เช่นพบว่าการเบิกจ่ายบางรายการไม่ถูกต้อง พอพบ สตง.ก็เข้าตรวจอีกทีว่าไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด และเกิดความเสียหายเป็นงบประมาณเท่าใด อันที่สองมาจากการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง พวกสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โดยงบลงทุนที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ของแต่ละปี ที่มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จะมีงบในส่วนของการจัดซื้อจ้างที่จะมีระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่ เช่นการว่าจ้างให้ทำถนน การก่อสร้างอาคาร หรือการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราบอกว่ามันไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ในประเด็นที่สอบถาม หากเป็นกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับเก่า หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมาย จะเสียหายหรือไม่เสียหาย ถือว่าทำผิดแล้ว ทาง สตง.ก็ต้องแจ้งการพบการทำผิดดังกล่าว แต่ว่ากฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน กระบวนการเปลี่ยนไป โดยแบ่งเป็นเป็น 3 ขั้นตอน
เบื้องต้นหากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายต่างๆ สตง.ต้องดูว่าสุดท้ายทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ มีการนำงบประมาณไปใช้แล้วได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์เมื่อใช้ไปแล้ว ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เพราะบางทีดำเนินการไปครบถ้วน ได้ของที่จัดซื้อมาตามสเปกต่างๆ ที่กำหนดไว้หมด แต่ปรากฏว่ามีการข้ามขั้นตอนตามระเบียบ กฎหมาย หรือกระบวนการไม่ถูกต้อง หากเป็นสมัยก่อนถือว่าผิดทันที แต่กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน หากพบว่ามีความบกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง มติ ครม. แต่พบว่าไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางหน่วยรับตรวจก็เพียงแต่แก้ไขให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป
สตง.ก็พบลักษณะดังกล่าวค่อนข้างเยอะ เพราะบางทีเขามุ่งไปที่เป้าหมาย ความสำเร็จ แต่บางทีไม่เป็นไปตามระเบียบ ยกตัวอย่างเช่นการจัดซื้อเครื่องตรวจ ATK ที่เคยมีปัญหาต่างๆ ที่สุดท้ายได้ ATK ตามสเปกหมด แต่ขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งลักษณะแบบนี้กฎหมายฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้ให้ลงโทษอะไร แต่หากไปดำเนินการไม่ถูกต้องแล้วเกิดความเสียหาย สตง.ต้องแจ้งหน่วยรับตรวจให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาผู้รับผิดชอบ ต้องมีการชดใช้ความเสียหายดังกล่าว โดยหากแจ้งแล้วไม่มีการดำเนินการ หัวหน้าส่วนราชการของหน่วยรับตรวจต้องรับผิดชอบแม้จะไม่ใช่คนทำผิด เพื่อให้สิ่งที่ สตง.ตรวจพบและแจ้งไปต้องมีการดำเนินการและชดใช้คืน
ส่วนคนที่มีความผิดตามวินัยข้าราชการก็ต้องโดนโทษทางวินัย เช่นภาคทัณฑ์หรือปลดออก อะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป เพราะ สตง.ให้สิทธิ์ในการชี้แจง ให้ความเป็นธรรมตามขั้นตอนแล้ว ดังนั้นเมื่อ สตง.แจ้งไปแล้วในขั้นตอนสุดท้าย หากแจ้งแล้วหน่วยรับตรวจไม่ดำเนินการใดๆ ก็ถือว่ามีความผิดเรื่องวินัยการเงินการคลัง
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบของ สตง. หากพบว่าเกิดความเสียหายและผิดระเบียบ อีกทั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต สตง.ก็จะส่งเรื่องไปให้สำนักงาน ป.ป.ช.ต่อไป โดยตัวเลขความเสียหายที่ สตง.ตรวจสอบพบแล้วส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปีหนึ่งๆ ก็ประมาณหลักร้อยล้านบาท เพราะด้วยบทบาทโดยรวม สตง.มีทรัพยากรที่จะตรวจสอบเรื่องทุจริตค่อนข้างจำกัด และประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่าเรื่องไหนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด ให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ดังนั้นหากเป็นเรื่องทุจริต เรื่องฮั้วประมูล สตง.ก็จะส่งเรื่องไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. แต่ถ้าไม่ถึงขั้นทุจริตก็จะเป็นบทบาทของ สตง. คือหากเข้าไปตรวจสอบโครงการต่างๆ แล้วไม่ถึงขั้นทุจริต คืออาจมีการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกต้อง แบบนี้คือบทบาทของ สตง. โดย สตง.ก็จะแจ้งไปยังหน่วยรับตรวจให้หาผู้ที่ต้องมารับผิดชอบชดใช้ หรือดำเนินการทางวินัยกับคนที่เกี่ยวข้อง
"ในช่วง 6 ปีที่ผมเป็นผู้ว่าฯ สตง. ทาง สตง.ก็มีการส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ รวมมูลค่าวงเงินก็ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่ง 2 พันล้านบาทดังกล่าว ก็จะอยู่ในแสนล้านบาทที่ผมกล่าวข้างต้น เพราะ สตง.เราตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อย เพราะหาก สตง.พบเจอหรือมีคนมาร้องเรียนให้ สตง.ตรวจสอบ หากเราพบว่า ป.ป.ช.เขาก็เข้าไปตรวจสอบด้วย สตง.ก็จะส่งเรื่องต่อไปที่ ป.ป.ช.ทันที แต่หาก ป.ป.ช.ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ สตง.ก็จะเข้าไปดำเนินการก่อน จากนั้นถึงค่อยส่งให้ ป.ป.ช. ที่พอ ป.ป.ช.รับเรื่องต่อจาก สตง. ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อได้ทันทีเลย ก็เป็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.กับ สตง."
"ประจักษ์-อดีตผู้ว่าฯ สตง." กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่ สตง.มีการตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) เช่นการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ที่จะพบว่ามีบางแห่งก่อสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ สนามกีฬาสร้างแล้วไม่ได้ใช้จนมีหญ้าขึ้นเต็มสนาม หรือซื้อเครื่องบินมาแต่จอดทิ้งไว้เฉยๆ ลักษณะแบบนี้คือการทำแล้วเกิดความเสียหายทั้งหมด ที่เป็นความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะลงทุนซื้อมาแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ลักษณะดังกล่าวแบบนี้พบว่า ความเสียหายบางปีไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่บางปีก็สูงถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท บางปีก็ 2 หมื่นล้านบาท ที่แล้วแต่โครงการแต่ละปีซึ่ง สตง.เข้าไปตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วพบความเสียหายมากตัวเลขก็สูง โดยหาก สตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการใช้งบประมาณโดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เราถือว่าเป็นความเสียหาย แต่หากตรวจแล้วไม่พบความเสียหายก็ถือว่าเป็นเรื่องดี
-ส่วนใหญ่เป็นงบในหน่วยงานรัฐหน่วยงานใด ที่ตรวจสอบแล้วพบว่าใช้งบประมาณไปแล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์?
ก็มีหลายหน่วยงาน เพียงแต่ว่าบางโครงการหน่วยงานไหนที่มีงบลงทุนเยอะๆ ยกตัวอย่างการบินไทย ซื้อเครื่องบิน งบก็จะเยอะ แต่หากเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. สร้างฝายหรือสร้างอะไรต่างๆ ใน อบต. งบก็ไม่กี่ล้านหรือแค่หลักแสนบาท ที่หากสร้างแล้วไม่ได้ใช้ ความเสียหายก็อาจเป็นแค่หลักแสน
หากเอาเรื่องของจำนวน ก็แน่นอนว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็อาจจะมีจำนวนเยอะ แต่ตัวเลขไม่ได้สูง เพราะโครงการที่จะเสียหายก็เป็นโครงการขนาดเล็ก ตามกรอบงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากเป็นงบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ตัวเลขก็จะสูง ซึ่งที่พบในส่วนของท้องถิ่นก็จะเป็นพวกการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างโครงการทำเสาไฟกินรี (อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ) เมื่อ สตง.เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริตด้วย เราก็ส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. เพราะเราตรวจพบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้อง มีเจตนาทุจริต ก็ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.
-งบของส่วนราชการที่คนวิจารณ์กันมาก เช่นงบไปศึกษาดูงานต่างประเทศ หรืองบจัดสัมมนาต่างๆ สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างไร?
งบในส่วนดังกล่าวอยู่ในงบเบิกจ่ายดำเนินการตามปกติของหน่วยงาน ทุกหน่วยงานจะมีการเดินทางไปต่างประเทศ มีการจัดสัมมนา อบรม สตง.ก็มีการตรวจสอบอยู่ โดยเป็นการตรวจสอบในส่วนของการตรวจสอบรายงานการเงิน ซึ่งงบดังกล่าวก็จะอยู่ในงบรายจ่ายที่อยู่ในรายงานการเงิน โดยหากเราพบว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็เรียกเงินคืน ให้มีการคืนเงิน ซึ่งหากในอนาคตถ้าระบบ e-Audit แล้วเสร็จ จะสามารถหาข้อมูลได้ทันทีว่าเรื่องที่ สตง.ตรวจพบแต่ละปีมีเรื่องอะไรบ้าง
- 6 ปีที่ผ่านมาของการเป็นผู้ว่าฯ สตง. สิ่งที่อยากสะท้อนว่าหากในอนาคต ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การทำงานของ สตง.ทลายข้อจำกัดต่างๆ ได้ และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อยากจะเสนออะไร?
ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่ให้ สตง.ตรวจสอบรายงานการเงิน Financial Audit เราก็เห็นความสำคัญ ในส่วนของที่บอกข้างต้นว่า มีหน่วยรับตรวจที่ใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก 120 กว่าหน่วยงาน แต่อีกหลายหน่วยงานก็ติดปัญหาที่ไม่อยากใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก เพราะกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานของเขาเขียนไว้ให้ สตง.คือผู้ตรวจสอบบัญชี พอมีการใช้กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เขียนว่าการตรวจสอบบัญชีให้เป็นหน้าที่ของ สตง. หรือผู้ตรวจสอบบัญชีที่ สตง.เห็นชอบ ก็ทำให้หลายหน่วยงานเกรงว่าหากใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก จะไปขัดกฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน จึงยังอยากให้ สตง.ตรวจบัญชีหน่วยงานของตัวเองต่อไป
ผมก็เคยบอกกระทรวงการคลังไปแล้วว่า หากจะมีการแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานใดๆ ของรัฐ ก็ขอให้เขียนเพิ่มเติมด้วยว่า การตรวจสอบบัญชีให้ทำโดย สตง. หรือผู้ตรวจสอบบัญชีที่ สตง.เห็นชอบ เขาจะได้ตรวจสอบรายงานการเงิน ส่วน สตง.ก็ไปตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) และตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) ได้มากขึ้น เป็นต้น
-มีอะไรอยากจะฝากให้ผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่เข้ามาสานต่อ หลังจากพ้นจากตำแหน่งหรือไม่?
ที่ผ่านมาก็ได้วางรากฐานการทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายซึ่งทำให้การทำงานของ สตง.ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้านี้ รวมถึงก็ได้วางระบบการตรวจสอบให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล ที่ทำให้การทำงานของ สตง.มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไว้แล้ว แต่พอดีระบบทั้งหมดยังไม่แล้วเสร็จดี แต่ทางนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าฯ สตง.ที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่ และอยู่ในขั้นตอนส่งชื่อไปให้วุฒิสภาพิจารณา ที่ผ่านมาก็ได้ทำงานในส่วนต่างๆ มาพร้อมกับผมอยู่แล้ว ก็คิดว่านายมณเฑียรจะสานต่องานในส่วนต่างๆ เหล่านี้ต่อไปได้.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา! สรรพากร-สตง. สอบที่มาทรัพย์สิน 'นายกฯอิ๊งค์' รวยหมื่นล้าน
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายกฯอุ๊งอิ๊ง ผวาที่มาทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้าน อาจถูกตรวจสอบที่มาของรายได้ และภาระภาษี 30%
นายกฯ ยิ้มรับถูกถามศาลรธน. ตีตกคำร้องดิจิทัลวอลเล็ต ย้อนถามสื่อต้องหน้าบึ้งเหรอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
'แจกเงินหมื่น' เฟส 3 ไม่ใช้แอปเป๋าตัง กำลังจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบ คาดเสร็จ มี.ค.68
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแอปพลิเคชันที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงิน 10,000 บาท เฟส 3 หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกมนตรี
'สนธิญา' ยื่นหลักฐานเพิ่ม ร้องศาลรธน. สั่ง 'อิ๊งค์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก
นายสนธิญา สวัสดี นำเอกสารหลักฐานไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาลดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นแตกต่างจากนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท
รัฐบาลโต้ถังแตก ขึ้นภาษีแวต 15% โยนคลังสรุปให้ชัดก่อน
'ภูมิธรรม' บอกรอคลังสรุปให้ชัดเจน ปมขึ้นภาษีแวต 15% ปัดถังแตกจากโครงการแจกหมื่น ยันทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด