เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”
เมื่อกล่าวถึงวันมาฆบูชาในพระพุทธศาสนา.. เราทั้งหลายจะนึกถึง เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางพระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป เพื่อประทานพระโอวาทปาติโมกข์แด่คณะสงฆ์ ด้วยพระประสงค์ให้องค์กรสงฆ์เข้มแข็ง มั่นคง ในการทำหน้าที่สืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในโลก (โลกะวิทู) จึงได้ทรงวาง หลักการ อุดมการณ์ ข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับคณะสงฆ์ จึงได้ประทานพระโอวาทปาติโมกข์ภายหลังจากการตรัสรู้เพียง ๙ เดือน ทำให้พระพุทธศาสนาได้สืบเนื่องอายุมาจนถึงวันนี้ ยาวนานมากกว่าสองพันปี ผ่านไปหลายช่วงอายุของมนุษย์เรา
การให้ความสำคัญในวันมาฆบูชาของคณะสงฆ์ จึงนับเป็นเรื่องที่ควร.. เพื่อจะได้ทบทวนบทบาท หน้าที่ ของความเป็นภิกษุในพระศาสนา ว่า.. ได้สร้างภูมิรู้ในสารธรรมมาฆบูชา คือ พระโอวาทปาติโมกข์ บ้างหรือไม่..
เพราะความไม่เข้าใจในสาระสำคัญของพระโอวาทปาติโมกข์นี้แหละ.. จึงทำให้องค์กรพระสงฆ์แตกแยกเป็นนิกายต่างๆ มากกว่า ๑๘ นิกาย เพียงแค่ร้อยปีหลังพุทธปรินิพพาน
จึงไม่ต้องกล่าวถึงความไม่ตรงทางของพระสงฆ์ในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ยังเดินไปด้วยความสำคัญมั่นหมายของตน ว่า.. นี้คือความถูกต้อง.. โดยขาดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่แท้จริง...
ยิ่งคณะสงฆ์พากันหลงทางละทิ้งพระพุทธพจน์ ด้วยความเชื่อในคณาจารย์ ได้ปลอมปนทิฏฐิของตนและหมู่คณะเข้ามาในพระธรรมวินัย จนเกิดพระสัทธรรมเนื้องอกขึ้นมากมาย ผ่านทางภาษาบาลีที่ตีความกันเองอย่างขาดญาณ .. ปัญญา จึงยิ่งเห็นความล้มเหลวขององค์กรสงฆ์ในความมีอยู่ของ พระพุทธศาสนา
การขาดญาณ.. ปัญญา.. ที่นำไปสู่ สัญญา สังขาร.. ก่อเกิดทิฏฐิ อันเป็นเหตุให้เกิดความวิปลาสในธรรม.. อย่างไม่ตั้งใจ.. ไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก อันเป็นภัยร้ายที่มาแต่ภายในพระศาสนา
จึงได้เห็นร่องรอยความหายนะขององค์กรพระศาสนา ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติอย่างไม่เคารพในพระธรรมวินัย.. ไม่ให้ความสำคัญแด่พระโอวาทปาติโมกข์ของผู้อ้างตนว่าเป็นภิกษุในพระศาสนา.. จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การไม่ให้ความสำคัญในวันมาฆบูชา...
สมัยที่ได้เดินทางไปสู่ชมพูทวีปในครั้งแรก จึงเกิดความสังเวช เมื่อเวฬุวันมหาวิหาร ที่กลายเป็นสวนป่าเวฬุวันของฮินดูในปัจจุบัน ถูกทอดทิ้งจากชาวพุทธ.. ไร้การเหลียวแล ทั้งๆ ที่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าประทับถึง ๕ พรรษา ได้แก่ พรรษาที่ ๒-๓-๔-๑๗ และ ๒๐ โดยเฉพาะความเป็นเมืองหลวงของพระพุทธศาสนา.. ที่พระพุทธองค์ทรงตั้งเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา..
การที่ทรงเลือก เวฬุวันมหาวิหาร เป็นสถานที่ประกาศพระโอวาทปาติโมกข์ตามพุทธวิสัย จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ชาวพุทธควรให้ความสำคัญยิ่งในการศึกษา.. หากเราชาวพุทธรักที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาเลื่อมใสที่แท้จริง..
ในสมัยนั้น เวฬุวันมหาวิหาร เมื่อถึงวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ กลับตั้งอยู่ในความมืด ไร้เสียงสวดมนต์บูชาพระพุทธองค์ โดยเฉพาะในยามค่ำ ที่ควรจุดแสงเทียน ทำประทักษิณรอบลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางสวนป่าเวฬุวัน
แตกต่างจาก พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ที่ทุกคนให้ความสนใจกันมากที่สุด โดยเฉพาะเนื่องใน วันวิสาขบูชาโลก ที่สหประชาชาติประกาศเป็นวันสำคัญของชาวโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่ชาวพุทธทั่วโลกได้ให้ความสำคัญที่สุด เนื่องในความเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์
แต่ที่แปลกคือ การที่คณะสงฆ์ให้ความสำคัญในวันมาฆบูชาน้อยมาก แม้ในประเทศพุทธศาสนาเถรวาท.. จึงไม่ต้องกล่าวถึงพุทธมหายาน.. ที่ไม่รู้จัก พระโอวาทปาติโมกข์.. ไม่รู้ความสำคัญของ เวฬุวันมหาวิหาร เลย
จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แม้จะอ้างว่ามาจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน จะมีการศึกษาปฏิบัติแตกต่างกันไป จนนำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ให้ปรากฏเกิดขึ้นที่สืบมาถึงวันนี้
ครั้งหนึ่งได้เข้าประชุมร่วมกับผู้นำพุทธศาสนานานาชาติที่อินเดีย จัดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดีย ด้วยนโยบายทางการเมืองของ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี.. จึงได้มีโอกาสพูดในที่ประชุมผู้นำองค์กรพุทธศาสนานานาชาติจากทั่วโลก ที่มี องค์ทะไล ลามะ เป็นประธาน.. เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของพระโอวาทปาติโมกข์ ที่เปรียบดุจธรรมนูญแม่บทของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา และได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ เวฬุวันมหาวิหาร ที่ชาวพุทธไม่ควรทอดทิ้งให้เป็นเพียงแค่สวนป่า อุทยานของชาวฮินดู ที่มาเดินออกกำลังกาย.. เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของหนุ่มสาว.. โดยเฉพาะลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่กลายเป็นสถานที่ตากผ้าของคนงานสวนป่าเวฬุวันในสมัยนั้น...
จำได้ว่า ในการพูดเรื่องวันมาฆบูชา.. พระโอวาทปาติโมกข์และเวฬุวันมหาวิหารในครั้งนั้น ทำให้ท่านองค์ทะไล ลามะ ได้ตื่นตัวหันไปถามผู้ติดตามอย่างสนใจยิ่งในความสำคัญของเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งต่อมานำไปสู่การขอสร้าง สถูปแบบทิเบตในสวนป่าเวฬุวัน ที่เกิดปรากฏภายหลังการพูดเรื่องวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ในครั้งนั้น
ด้วยการฟื้นฟูวันมาฆบูชาโลกให้คืนกลับมาบนแผ่นดินเกิด ณ เวฬุวันมหาวิหาร เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง นับว่าเป็นภารกิจของการสืบอายุพระพุทธศาสนาที่เกิดมาอย่างมี พันธกิจ... จึงนำไปสู่การเดินทางเข้าจำพรรษาบนภูเขารัตนคีรีในปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ ของอาตมา (พระอาจารย์อารยวังโส) เป็นการจำพรรษาบนภูเขาที่สูงเหนือภูเขาคิชฌกูฏ อันเป็นที่ตั้งของ ศานติเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้นำพุทธศาสนา นิกายนิชิเรน.. จากญี่ปุ่น
ในพรรษาดังกล่าวของอาตมา บนแผ่นดินพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต.. ต้องใช้ความเพียรสูงมากในการเดินขึ้นลงภูเขา ไปบิณฑบาตถึงบริเวณด้านหน้าสวนป่าเวฬุวัน.. จนสืบเนื่องเข้าไปฉันภัตตาหาร ประกอบศาสนกิจ โดยมีพระภิกษุที่ติดตามไปจำพรรษาที่ วัดไทยสิริราชคฤห์ จำนวน ๓ รูป มาร่วมประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะการลงอุโบสถ ฟังสวดปาติโมกข์ ทุกกึ่งเดือน.. ตามพระธรรมวินัยที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติ
และนั่นก็คือ.. ที่มาของการขออนุญาตเข้าพักในเวฬุวันมหาวิหาร.. เพื่อจัดงานวันมาฆบูชาโลกอย่างเป็นทางการ ที่ได้รับ Official Permit จากหน่วยงานป่าไม้ของรัฐบาลท้องถิ่น รัฐพิหาร/อินเดีย ให้สามารถจัดงานวันมาฆบูชาในสวนป่าเวฬุวันหรือเวฬุวันมหาวิหารได้ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓
การจัดงานมาฆบูชาโลกครั้งแรก ต้องใช้กำลังพอสมควร เพราะมีพระสงฆ์จากเถรวาทและมหายาน เดินทางมาร่วมจำนวนมาก โดยมี พระสังฆราชาจากศรีลังกา พุทธศาสนา นิกายสยาม-อุบาลีวงศ์ มาเป็นองค์ประธาน..
หลังจากนั้น การจัดงานในปีต่อมาก็จะเบาลงบ้าง.. จนเข้าสู่ภาวะปกติที่สามารถจัดเป็นธรรมดาๆ เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของรัฐบาลอินเดีย ได้ยอมรับและประกาศเป็นวันสำคัญ ที่นำไปสู่การเชิญตัวแทนองค์กรพุทธศาสนาทั่วโลก เดินทางมาเยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญของพุทธศาสนาในรัฐพิหาร ซึ่งหนึ่งในสถานที่สำคัญของพุทธศาสนานั้น ได้แก่ เวฬุวันมหาวิหาร และวันสำคัญของพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ วันมาฆบูชา.. ที่ก่อนหน้านี้ แม้ชาวพุทธอินเดียก็ไม่เคยได้ยินคำว่า.. วันมาฆบูชาของพุทธศาสนา!!
ในห้วงเวลาไวรัสโควิด-๑๙ แพร่ระบาด จึงได้หยุดการเดินทางไปจัด งานมาฆบูชาที่เวฬุวันมหาวิหาร.. แต่ยังคงสนับสนุนให้เกิด การจัดงานเชิงสัญลักษณ์ของวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหาร เพื่อไม่ให้ขาดตอน จนสูญเสียโอกาส
จนเข้าสู่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗.. ที่มีความพร้อมคืนกลับมา ให้สามารถเดินทางมาประกอบศาสนกิจวันมาฆบูชาได้อีกครั้ง ณ เวฬุวันมหาวิหาร จึงได้เห็นภาพคณะสงฆ์.. ศรัทธาญาติโยมจากประเทศไทยและชาวพุทธในอินเดีย ได้ร่วมกันประกอบศาสนกิจดังกล่าว เนื่องในวันมาฆบูชา.. โดยมี รัฐมนตรีแห่งรัฐบาลท้องถิ่น รัฐพิหาร เดินทางมากล่าวต้อนรับและประกาศสนับสนุนการให้ความสำคัญกับเวฬุวันมหาวิหาร ที่ปัจจุบันมีการสวดประกาศเขตอุโบสถ ผูกพัทธ์ ฝังลูกนิมิต สมบูรณ์ ควรค่าแก่พุทธสถานแห่งแรก ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำปาริสุทธิอุโบสถ ท่ามกลางพระอรหันตสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ในวันเพ็ญเดือนสาม ก่อนเข้าสู่พรรษาที่ ๒ ของพระพุทธองค์ ที่ต่อมาเรียกว่า วันมาฆบูชา..
การได้มาปรับปรุง ซ่อมแซม ตบแต่ง ทาสี พระอุโบสถโอวาทปาติโมกข์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร เพื่อจัดงานวันมาฆบูชาโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ นับเป็นมหากุศล ที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก จริงๆ .. จึงควรแก่การนำมาบอกกล่าวให้สาธุชนได้มีส่วนร่วม.. ด้วยการ อนุโมทนา..สาธุการ!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .