ในปัจจุบันคำว่าโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในบริบทการการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างแพร่หลาย แต่การใช้คำทั้งสองนี้มักจะสื่อถึงความหมายที่หลากหลาย ขึ้นกับสิ่งที่ผู้ใช้อยากจะโน้มน้าวให้ผู้ที่รับสื่อรับรู้ไปในทางใด
ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติในปัจจุบัน อันสืบเนื่องจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างชัดเจน รวมถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบันก็สามารถยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าภูมิอากาศในภาพรวมระดับโลกและระดับภูมิภาคของโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามปริมาณและพลวัตของความร้อนในชั้นบรรยากาศนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก แต่ยังมีปัจจัยในมหาสมุทรและพื้นทวีปต่างๆ อีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ยังเข้าใจไม่หมด จึงทำให้ผลการคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคตมีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูง การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเงื่อนไขข้ออนุมานที่ต่างกันจึงทำให้ผลการคาดการณ์ยังมีความหลากหลายที่ค่อนข้างมาก
ลำพังแต่ภูมิอากาศในภาพใหญ่ภาพรวมในอนาคตเราก็ยังไม่สามารถมั่นใจในความแม่นยำได้ นับประสาอะไรกับผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาพรวมที่จะส่งผลต่อลักษณะอากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นภาวะแวดล้อมที่ภาคส่วนทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ จะต้องเผชิญในอีก 20-30 ปีข้างหน้าที่จะยิ่งมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่และของภูมิภาคที่ไม่ได้หยุดนิ่งแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับภูมิอากาศของพื้นที่นั้นด้วย ดังนั้นหลักคิดของการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากสภาพอากาศโดยใช้รูปแบบและขนาดของผลกระทบในอนาคตเป็นตัวตั้งเพื่อการออกแบบวิธีการและเครื่องมือในการรับมือในอนาคตจึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะผิดพลาด และความผิดพลาดบางอย่างโดยเฉพาะมาตรการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในเชิงกายภาพ เศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของพื้นที่ก็อาจจะนำไปสู่การทำให้พื้นที่นั้นอาจได้รับผลที่รุนแรงมากขึ้นจากภูมิอากาศและภาวะกดดันอื่นๆ ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มทางสังคมและเศรษฐกิจที่อ่อนแอหรือด้อยโอกาสอยู่แล้วในปัจจุบัน การมองปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตแบบเชิงเส้น โดยเอาภูมิอากาศในอนาคตเป็นตัวขับเคลื่อน (Driver) ภาวะกดดัน (Pressure) ที่จะมีต่อสถานะของระบบทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ (States) เกิดเป็นผลกระทบต่างๆ (Impacts) ที่ต้องมีการตอบสนองรับมือ (Responses) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า DPSIR จึงอยู่บนฐานความคิดที่ว่าเราสามารถหยั่งรู้ภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีนักภูมิอากาศคนใดกล้ายืนยันว่าสามารถคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคต 30-50 ปีข้างหน้าในระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง
การมองภูมิอากาศว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยของการพัฒนาในปัจจุบัน โดยไม่มองว่าเป็นตัวปัญหาที่แปลกแยกออกมาจากปัญหาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วมากมายในพื้นที่ จะทำให้เป็นความเชื่อมโยงกับความจริงและจะได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกขึ้น เพราะนโยบายหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ที่เกิดขึ้นจะยึดโยงกับปัญหาปัจจุบันที่ทุกฝ่ายรับรู้ โดยเน้นการรับมือและสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับทุกปัญหาและแรงกดดันในปัจจุบันซึ่งรวมถึงภูมิอากาศในอดีตมาถึงปัจจุบันด้วย ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะต้องพัฒนาหรือปรับมาตรการต่างๆ อย่างไร รวมถึงการชดเชยหรือเยียวยาผู้ที่เสียโอกาสหรือภาคส่วนที่ต้องเสียสละเพื่อให้พื้นที่โดยรวมสามารถเดินไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และทำให้หน่วยงานที่มีภาระกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบถึงความเชื่อมโยงกับงานของอื่นๆ จึงจะทำให้ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะได้รับการยอมรับมากขึ้น รวมถึงการมีกลไกในการติดตามปรับปรุงมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบและรอบด้านเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้รับประโยชน์ในทันที
อย่างไรก็ดี เนื่องจากภูมิอากาศเป็นภาพรวมของลักษณะอากาศในห้วงเวลาที่ยาวนานระดับทศวรรษ และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต การรับมือต่อภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่จึงต้องมียุทธศาสตร์การสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงต่อภูมิอากาศ (Climate Resilience) ทั้งในปัจจุบันและคำนึงถึงสถานการณ์ในอนาคตระยะยาวเท่าที่ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถสนับสนุนได้ เพื่อให้นโยบายหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ที่จะกำหนดขึ้นในปัจจุบันมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่นำพาสังคมไปสู่ปัญหาใหม่ หรือไม่เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าในอนาคต โดยเป็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นและให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ทุกภาคที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของภาคส่วนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และคำนึงถึงบทบาทของหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคมที่มีภาระกิจในการดูแลรับผิดชอบต่อภาคส่วนย่อยต่างๆ ในพื้นที่นั้นซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่
การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงต่อภูมิอากาศจะต้องอิงกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ปฏิเสธแต่กลับยิ่งต้องการความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งที่เป็นด้านของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในทางกายภาพ ทรัพยากรที่เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งของพื้นที่และสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีการดำรงชีวิต เพื่อปรับปรุงการคาดการณ์อนาคตให้มีความน่าเชื่อถือและสอดคล้องกับความเป็นจริงให้มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ต้องการการศึกษารวบรวมข้อมูลจริงในพื้นที่ทั้งโดยการวิจัยที่เป็นระบบและการสังเกตติดตามโดยภาคส่วนและชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแต่เพียงการหยิบยืมแบบจำลองทั้งทางภูมิอากาศและทางเศรษฐกิจสังคมจากที่อื่นๆ หรือการขยายรายละเอียดของแบบจำลองระดับโลกหรือภูมิภาค (Downscale) ลงสู่ระดับพื้นที่ โดยขาดการนำเข้าหรือเชื่อมโยง (Assimilate) ข้อมูลความรู้ระดับพื้นที่อย่างเหมาะสมหรือเพียงพอ รวมถึงการให้ความเชื่อถือหรือเชื่อมั่นในผลการคาดการณ์จากแบบจำลองที่ขาดความหลากหลายหรือขาดการตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลของแบบจำลองแต่ละแบบอย่างเหมาะสมจะเป็นเรื่องที่อันตราย และอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาใหม่ที่รุนแรงและต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นโดยไม่จำเปนในการดูแลหรือแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในอนาคต
อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
โครงการความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงต่อภูมิอากาศในระยะยาวสำหรับพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกษตรในประเทศไทย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.ธรณ์ ชี้โลกร้อนฆ่าพะยูน ตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว แนะไทยควรพูดใน COP29
ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ปัจจุบัน (2566-67) พะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว
สภาพภูมิอากาศวิกฤตหนัก ‘ซีเค พาวเวอร์’ เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างฤดูหนาวที่รัฐแคชเมียร์ประเทศอินเดียปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นราว 6-8 °C ทำให้ต้องเผชิญฤดูหนาวที่ไม่มีหิมะซึ่ง
'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม
พายุเข้ามาที่ชายฝั่งเวียดนาม 'ดร.ธรณ์' แนะหน่วยงานในพื้นที่เตรียมตัวแจ้งเตือนหากฉุกเฉิน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
ดร.ธรณ์ เผยเหตุพายุธรรมดา กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ยางิ' ในเวลาไม่ถึง 2 วัน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า