ฝ่ายรัฐบาลเก่งทำเรื่องเป็นดรามา หลายสิ่งที่ทำ ยังไม่ควร และหลายสิ่งที่ควร ก็ยังไม่ทำ
1.การดิ้นรนอยากใช้เงินดิจิทัล “ใหม่” ยังไม่ยอมประกาศใช้ “เป๋าตัง” … ไม่ควร : รัฐบาลเพื่อไทยชูธงพัฒนาเงินดิจิทัลแบบคริปโตเคอร์เรนซีบนระบบบล็อกเชนมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เป็นกลยุทธ์ที่แสดงความไม่รู้จริง และแสดงความละโมบด้วยความขัดกันของประโยชน์
เพราะคริปโตเคอร์เรนซีพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นได้แค่ สกุลเงิน ไร้ปัจจัยพื้นฐาน ที่เอาไว้เก็งกำไรเชิงเล่นพนันกัน รายย่อยส่วนใหญ่เป็นเพียงแมงเม่าที่เป็นเหยื่อ “ยังไม่สามารถใช้เป็นสกุลเงิน” สำหรับการใช้จ่ายประจำวันได้เลย ด้วยเป็นการต้องใช้ระบบบันทึกบัญชีรายคนแบบกระจาย (Decentralized Ledger Technology: DLT) บนโหนดหลายๆ โหนด ซึ่งดูแลโดยไมเนอร์จำนวนมาก ในแต่ละครั้งที่เงินมีการเปลี่ยนมือ ทุกที่ทั่วไทย ต้องปรับปรุงทุกๆ โหนดให้ถูกต้องตรงกัน จึงต้องใช้เวลา ทำให้ไม่สามารถรองรับการใช้จ่ายเงินประจำวันที่ต้องบันทึกการเปลี่ยนมือได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว หลายประเทศที่ฉลาดพอ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะสนับสนุนคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงินหลักสำหรับการใช้จ่าย
มีแต่ประเทศอย่างเอลซัลวาดอร์ที่รัฐบาลแจกเงินคริปโตฯ บิทคอยน์ ให้ประชาชนคนละ 30 เหรียญ ในปี 2021 ออกกฎหมายรองรับบิทคอยน์ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เหมือนสกุลเงินจริง ทุนสำรองส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปถือบิทคอยน์ แล้วก็เป็นช่วงขาลง เงินทุนสำรองร่อยหรอ ปัจจุบัน ตามข่าวรอยเตอร์วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024 รายงานว่า ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ส่วนใหญ่เลิกสนใจนโยบายรัฐบาลสนับสนุนการใช้เงินคริปโตฯ ในปี 2023 ประชาชนเอลซัลวาดอร์ 88% ไม่ได้ใช้เงินคริปโตฯ ตามนโยบายรัฐบาล ค่าเงินอ่อน ขาดความน่าเชื่อถือ ข้าวของแพงขึ้นเท่าตัว หนี้สินของประเทศพุ่งสูงเป็น 25,000 ล้านเหรียญฯ สูงสุดในรอบ 30 ปี!
นายกฯ เศรษฐา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็มีชนักติดหลัง ด้วยความสัมพันธ์ในฐานะอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.แสนสิริ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี เป็นที่รู้กันทั่ว หากยังจะกล้าใช้อำนาจรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์กิจการที่ตนเองเกี่ยวข้องนั้น ก็คงเป็นความผิดสำเร็จตามที่ ป.ป.ช.ได้เตือนไว้
รัฐบาลจึงควรใช้ “เป๋าตัง” ซึ่งใช้เทคโนโลยีข้อมูลรวมศูนย์ (Centralized Ledger Technology) แม้มีผู้ใช้กว่า 40 ล้านคน พิสูจน์แล้วว่า ใช้จ่ายหมุนเวียนอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว จึงน่าจะยอมรับได้แล้วว่าจะไม่เดินทางผิดไปใช้ DLT แล้วใช้เป๋าตังแทน
2.การทำเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นเรื่องดรามาอย่างไร้คุณค่าทางวิชาการ …นั่นก็ไม่ควร : ทั้งนายกฯ เศรษฐา และนายเผ่าภูมิ ออกมาพูดถึงเรื่องการปรับลดดอกเบี้ย ด้วยเหตุผลเพียงมุมเดียว คือ ลดภาระประชาชนผู้กู้ แต่ในความเป็นจริง ความสมดุลตามกลไกตลาดการเงิน และสภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นเหตุผลสำคัญที่ กนง.ใช้พิจารณา การอ้างวิชาการหลายเรื่องแสดงว่า “ไม่รู้จริง”
… การอ้างเงินเฟ้อติดลบ ว่าสะท้อนเศรษฐกิจชะลอตัว สะท้อนความคิดแบบ “นักตบแต่งบัญชี” เพราะได้ใช้งบประมาณรัฐ และกองทุนน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า และลดราคาน้ำมัน ทำให้เงินเฟ้อต่ำ และหาก ธปท.ทำตามจริงๆ ประเทศไทยจะขาดความน่าเชื่อถือ
… ดอกเบี้ยสหรัฐ อยู่ต่ำกว่าไทย ด้วยความเป็นสกุลเงินหลักของโลก ความน่าเชื่อถือประเทศระดับสูงสุด แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายยังยืนสูง 5.5% แต่ของไทยเพียง 2.5% แม้นักการเมืองสหรัฐจะเก่งดรามาเช่นกัน แต่ไม่มีใครใช้เรื่องดอกเบี้ยสูง ดรามาว่า ต้องลดลง เพราะกิจการเล็กๆ จะเดือดร้อน เพราะประชาชนชาวอเมริกันเขามีความรู้ ดอกเบี้ยสูงยังจำเป็นและเหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน
… จากการที่ ธปท. อธิบายเหตุผลส่วนหนึ่งว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยกำลังเหมาะสม หากลดดอกเบี้ย เพิ่มส่วนต่าง เงินจะไหลออกอีก นายเผ่าภูมิโต้ตอบแบบ “ไม่รู้เรื่อง” และมีแนวโน้มจะทำให้ประชาชนผู้รับฟังไม่รู้เรื่องไปด้วย ว่าเงินทุนไหลออกหากลดดอกเบี้ย เป็นเพียงเงินเก็งกำไรระยะสั้น แต่ถ้าไม่ทำให้เศรษฐกิจยืนได้เติบโต จะกระทบเงินลงทุนระยะยาวให้ไหลออกได้ ทั้งที่เงินลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยและตลาดหลักทรัพย์มีส่วนสำคัญทำให้เกิดความเชื่อมั่น การที่ตลาดหุ้นตกต่ำลงมาเรื่อยๆ จากก่อนเลือกตั้ง เคยสูงถึง 20 ล้านล้านบาท ตกต่ำมาเหลือ 17 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน เงินในกระเป๋าประชาชน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ หายไป 3 ล้านล้านบาท มาก 6 เท่าของงบ 500,000 ล้าน ในโครงการแจกเงินดิจิทัลเสียอีก และความเชื่อมั่นของประเทศ และนโยบายการเงินการคลังอย่าง “มีปัญญา และตรงไปตรงมา ไม่แต่งบัญชี” ยังช่วยส่งเสริมการลงทุนระยะยาวด้วย
ในยุค 2540 รัฐบาลนายกฯ ชวลิต ที่อดีตนายกฯ ทักษิณเป็นรองนายกฯ สมัยนั้นมีแต่เงินทุนไหลออก กิจการรถยนต์เริ่มจะไม่ลงทุนในไทย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเงินลงทุน “ระยะยาว” ไหลเข้ามาลงทุนในไทยมาตลอด จนไทยเป็นฮับผลิตรถยนต์อีวีพวงมาลัยขวาได้อย่างเต็มภาคภูมิ
3.การตอกย้ำว่า “เศรษฐกิจวิกฤตแล้ว” แบบ ย้ำแล้วย้ำเล่า เพียงเพื่อจะทำเงินดิจิทัล ก็ไม่ควร : เพราะความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมีส่วนในเรื่องการจับจ่ายและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สมัยโควิด กระทบไทยโดยตรงอย่างหนัก เพราะเราเคยมีรายได้จากท่องเที่ยวสูงมาก แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับกู้ความเชื่อมั่นได้ โครงการคนละครึ่ง ไทยเที่ยวไทย ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจได้ผลเป็นอย่างดี
4.การเร่งเรื่อง “งบประมาณรัฐบาล” ควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ : เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักส่วนหนึ่ง คือการใช้จ่ายรัฐบาล การตั้งรัฐบาลช้า ทำให้การอนุมัติงบประมาณ 2567 ช้า ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ และเป็นปัญหาตรงต่อเศรษฐกิจ แต่มันไม่หายไปไหน หากเร่งกระบวนการและการใช้งบประมาณ 2567 และต่อด้วยงบประมาณ 2568 ตามเวลาด้วย จะทำให้เราผ่านจากช่วง “งบประมาณภาครัฐช้าไป” การเป็น “งบประมาณภาครัฐ 2 ปี เร่งใช้ ต่อๆ ติดๆ กัน” อย่างน่าตื่นเต้น เมื่อประกอบกับการไม่บ่นว่า “เศรษฐกิจวิกฤต” ทำลายบรรยากาศการจับจ่ายของประชาชน ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ฝ่ายค้านก็ยังเก่งแต่ดรามา คำตำหนิรัฐบาล จึงเป็นเพียง “ผิวๆ” ขาดน้ำหนัก
… จะค้านเรื่อง DLT ควรใช้ “เป๋าตัง” ก็ไม่กล้าพูด เพราะฝ่ายค้านก็ไม่เข้าใจ หรือเพราะถ้าพูดไปก็ย้อนแย้งกับสมัยโจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทุกเรื่อง ไม่กล้าให้เครดิตกับระบบ “เป๋าตัง” ที่ทำได้ดียอดเยี่ยม
… จะค้านเรื่องรัฐบาลโต้ตอบ ธปท. อย่างหลงทาง ก็ไม่กล้าสนับสนุนหลักการวิชาการตามที่ กนง. เสียงส่วนใหญ่อ้างอิง และจึงไม่ได้ตื่นเต้นกับการเร่งลดดอกเบี้ยก่อนสหรัฐ และประเทศอื่นๆ เพราะกลัวเสียความนิยมในโลกดรามาที่สร้างไว้
ถ้ารัฐบาลเก่งแต่ดรามา ฝ่ายค้านเก่งแต่ดรามา สิ่งที่ทำ…ยังไม่ควร สิ่งที่ควร…ยังไม่ทำ จะนำบ้านเมืองลงเหวอีกหรือไม่?.
ไทยทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามสูตร! ฟื้นคณะกรรมการ 6 ชุดแก้ปัญหาสมัชชาคนจน
'ชูศักดิ์' ถก คกก.สมัชชาคนจน ตั้ง 6 กก. สมัยเศรษฐา เร่งวางแนวทางแก้ 4 เรื่องด่วน
ปิ๋วอีกคดี! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องปมแจกเงินดิจิทัลไม่ตรงปก
'ศาล รธน.' มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง 'สนธิญา' ร้อง 'นายกรัฐมนตรี' เปลี่ยนแปลงแนวทางแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เหมือนที่หาเสียงไว้ ระบุไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.พิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ
'คำนูณ' เตือนอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย! ชี้ไทยไม่รับอำนาจศาลโลกมา 64 ปีแล้ว
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"
ข่าวดี กรุงไทย ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25%
ธนาคารกรุงไทย ขานรับมาตรการภาครัฐ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR MLR และ MRR พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง