ปัจจุบัน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ไม่ว่าชั้นใด ไม่น่าจะมีอะไรให้ผู้คนสงสัยว่ายังมีเหลืออยู่อีกมากน้อยเพียงใด!
เมื่อกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานรับผิดชอบเรือนจำ มีหน้าที่คุมขังนักโทษไว้ตามระยะเวลาตามคำพิพากษาของศาล
ยังไม่อาจต้านความต้องการของนักโทษชายทักษิณ ชิณวัตร ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก ๘ ปี
แต่ในที่สุด เขาไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเช่นนักโทษคนอื่นแม้แต่วันเดียว!
มันเป็นไปได้อย่างไร?
“เรือนจำ” ปราการด่านสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมไทย จึงพังทลาย ทำลายความเชื่อถือของประชาชนลงอย่างไม่มีชิ้นดี
ผู้คนไม่มีความเชื่อมั่นต่องานราชทัณฑ์ของชาติว่าจะบังคับโทษตามคำพิพากษากับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอีกต่อไป และยากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ง่ายๆ
ในระยะนี้ มีประเด็นเรื่องการดำเนินคดีอาญากับตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับจำนวนมาก
ตั้งแต่กรณีผู้บังคับการตำรวจจังหวัดชลบุรี “เป้รักผู้การเท่าไหร่ ก็ให้เขียนมา”
มีตำรวจหลายสิบคนถูกกล่าวหาดำเนินคดีทั้งการปฎิบัติหน้าที่มิชอบและเรียกรับประโยชน์ฯ
มีโทษสูงถึงประหารชีวิต!
ตามด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในกรณีที่จับผู้ต้องหาแล้วไม่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน และไม่แจ้งให้นายอำเภอและอัยการจังหวัดทราบทันที
มีความผิดฐาน “ปกปิดชะตากรรม” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗
มีโทษจำคุกสูงถึงสิบห้าปี
ผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำ แต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายตามหน้าที่ มีความผิดต้องรับโทษด้วยกึ่งหนึ่ง
การดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ไม่ว่าตำรวจหรือนายอำเภอพื้นที่จะมีอำนาจเริ่มคดีเองได้
แต่ทุกหน่วยต้องแจ้งให้อัยการทราบทันทีเพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑ วรรคสาม
ประชาชนก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า คดีนี้ ในที่สุดจะมีนายพลตำรวจและผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดติดคุกด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ บ้างหรือไม่?
แต่ละคนจะโดนศาลพิพากษาจำคุกกันกี่ปี?
นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีที่ตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาควบคุมของพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีทั้งยศพลตำรวจตรี พันตำรวจเอกไปจนถึงจ่าดาบนับสิบคนถูกกล่าวหาว่าร่วมกับประชาชนคนร้าย เป็นเจ้ามือเวปพนันรายใหญ่!
ส่งผลทำให้ถูกแจ้งข้อหาความผิดมาตรา ๑๕๗ มาตรา ๑๔๙ รวมไปถึงฟอกเงิน
คดีนี้ผู้รับผิดชอบการสอบสวนบอกว่ามีพยานหลักฐานชัดเจน นำไปสู่การเสนอศาลออกหมายจับ และอยู่ระหว่างดำเนินคดี ส่งให้ ปปช.พิจารณาว่าจะส่งกลับมาให้ตำรวจสอบสวนต่อ
หรือ ปปช.จะดำเนินการเอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานนับปี
ระหว่างนี้ ก็ได้มีวิวาทะระหว่างตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวนกับตำรวจผู้ต้องหา ให้ประชาชนรู้สึกตื่นตาตื่นใจในคำพูดของแต่ละฝ่าย ชนิดที่หารับฟังรับชมได้ยาก!
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ งานรักษากฎหมาย ต้องไม่คำนึงถึงว่าใครใหญ่กว่าใคร หรือใครไม่ชอบใครต้องการสกัดไม่ให้ได้ตำแหน่งอะไรแต่อย่างใด
หัวใจอยู่ที่ว่า การกล่าวหามีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำผิดชัดเจนเพียงใด
ในกรณีประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ถ้าตำรวจเสนอศาลออกหมายจับได้
ส่วนใหญ่ก็จะยืดอกพูดอย่างภูมิใจว่า ถ้าไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน ศาลจะออกหมายจับให้ได้อย่างไร?
ประชาชนบางคนถูกจับตัวคุมขัง นำไปฝากขังต่อศาล ถูกคัดค้านการประกันตัว ทั้งเจ้าตัวและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส
แต่ในกรณีที่ศาลออกหมายจับตำรวจผู้กระทำผิดอาญาร้ายแรงตามมาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๔๙ มีโทษสูงถึงประหารชีวิต
นอกจากพวกเขาส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเป็นปกติต่างจากประชาชนทั่วไป
ทุกคนยังสามารถรับราชการตำรวจ ได้เงินเดือน ทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมายในตำแหน่งต่างๆ แต่งเครื่องแบบ พกอาวุธปืน ขอตรวจค้นและจับกุมประชาชนได้
การพิจารณาของ ปปช.ก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใด?
การ “สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” แทบไม่ได้ถูกตำรวจแห่งชาตินำมาใช้ในกรณีตำรวจผู้ใหญ่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญากันเลย
พวกนายพลตำรวจประเทศไทย จึงไม่เคยกลัวโทษอาญา
เพราะว่า การสอบสวนที่ถูกดึงเวลา ทำให้มีวิธีการมากมายในการใช้อำนาจและอิทธิพลทั้งบนดินและใต้ดินทำให้พยานหลักฐานในชั้นสอบสวนเปลี่ยนแปลงไป
ไม่ว่าจะเป็น “การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน”
หรือแม้แต่การไต่สวนตามขั้นตอนต่างๆ ของ ปปช. ซึ่งจะต้องใช้เวลากันนานสองถึงสามปี!
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
คอมลัมนิสต์ "เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ'