เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่
๑.ประโยชน์ในปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถะ)
๒.ประโยชน์เบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ)
๓.ประโยชน์สูงสุด (ปรมัตถะ)
ในจุดมุ่งหมายของประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับ ยังสามารถจำแนกเป็นประโยชน์ ๓ จุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องระหว่างบุคคลกับสังคม สิ่งแวดล้อม ได้แก่
๑.ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ)
๒.ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)
๓.ประโยชน์ร่วมกัน (อุภยัตถะ)
สิ่งสำคัญที่จะสำเร็จในประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับ ๓ จุดมุ่งหมาย นั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการศึกษาปฏิบัติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงธรรม ที่เป็นสัจธรรม.. จนสามารถรู้แจ้งในอริยสัจธรรม ๔ ประการได้จริงด้วยตนเอง ซึ่งแบ่งระดับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ปัญญา ไว้ ๓ ระดับ อันสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ได้แก่
๑.สุตมยปัญญา
๒.จินตมยปัญญา
๓.ภาวนามยปัญญา
จากปัญญาทั้ง ๓ ระดับ จะเห็นได้ว่า ปัญญาในขั้นต้น คือ สุตมยปัญญา นั้นสำคัญที่สุด ด้วยเป็นการเปิด ประตูพุทธธรรม เพื่อเข้าสู่การศึกษาปฏิบัติอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา
สุตมยปัญญา แปลว่า ปัญญาที่เกิดจากการสดับ.. การฟัง หรือการเล่าเรียนเขียนอ่าน ท่องบ่นจดจำมา.. บางครั้งเรียกปัญญาขั้นนี้ว่า อุคคหโกสัลลญาณ คือ ความรู้ที่ฉลาดจากการเรียน ซึ่งต้องอาศัยธรรม ๕ ประการ คือ สัทธา (ความเชื่อ), อโรคิกะ (ความไม่มีโรค), อสาเฐยยะ (ความไม่โอ้อวด), วิริยรัมภะ (ความเพียร) และ ปัญญา (ความรู้)
เมื่อพิจารณาธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ให้น่าสนใจพิจารณาใน อโรคิกะ (ความไม่มีโรค) และ อสาเฐยยะ (ความไม่โอ้อวด) เป็นอย่างยิ่ง.. ด้วยสะดุดตามากกว่า ศรัทธา วิริยะ ปัญญา.. ซึ่งคุ้นเคยเป็นปกติในกุศลธรรม.. ที่มีอยู่ใน พละ ๕.. อินทรีย์ ๕.. หรือในธรรมหมวดต่างๆ ของความเป็นสัตบุรุษ-บัณฑิต ที่ต้องมี ศรัทธา วิริยะ ปัญญา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่วมกับ ศีล.. หิริโอตตัปปะ.. สุตะ.. เป็นต้น
อโรคยะ หรือ อโรคิยะ นั้น คงไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ว่า จักเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต เพื่อการดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมาย คือ ความสุขความเจริญในสันติธรรม
แต่สำหรับ อสาเฐยยะ หรือความไม่โอ้อวดนั้น.. เป็นข้อธรรมที่น่านำมาพิจารณา เพราะเป็นเรื่องปกติของปุถุชนทั้งหลายที่ต้องมี ดังที่จัด “สาไถยยะ” ไว้คู่กับ “มายา”.. ปรากฏในอุปกิเลส ๑๖ ซึ่งมักจะกล่าวคู่กันในอกุศลธรรม ๒ ตัวนี้ ว่า “มายาสาไถยยะ”
หากแยก “มายา” ออกมา แปลตรงตัวก็คือ รูปลวง การล่อลวง การหลอกลวง การโกง การหน้าไหว้หลังหลอก
มายา เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เรียกว่า มารยา ที่แปลว่า การลวง การแสร้งทำหรือเล่ห์กล
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ระหว่าง มายา บาลี กับ มารยา ไทย จึงต้องค้นลงไปให้ถึงรากศัพท์ของคำว่า มายา .. ที่พบว่า มาจากคำว่า มา (ธาตุ=กะ, ประมาณ) + ย ปัจจัย + อา ปัจจัย เครื่องหมายอิตถีลิงค์
มา+ย = มาย+อา = มายา แปลตรงตามศัพท์ว่า อาการที่เทียบความดีของตนกับความดีเยี่ยมของผู้อื่น ซึ่งหมายความว่า เอาความดีของตนที่ไม่มีหรือมีเล็กน้อย ไปแสดงอาการให้เข้าใจว่ามีความดีมาก โดยมีเจตนาเพื่อลวงให้เข้าใจผิด
ส่วนคำว่า “สาไถย” หรือ สาเฐยยะ (สาเฐยฺย) รากศัพท์มาจาก สฐ+ณฺย ปัจจัย ซึ่ง สฐ รากศัพท์มาจาก สฐฺ (ธาตุ=โกง, ลวง) + อ ปัจจัย
สฐฺ + อ = สฐ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า ผู้คดโกง หมายถึง...
- มีเล่ห์เหลี่ยม
- คดโกง
- ฉ้อฉล
เมื่อนำ สฐ + ณฺย ปัจจัย = สฐณฺย ลบตัว ณ ออก = สฐย
ทีฆะ อะ ที สะ (ฐ) เป็น อา “ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย เนื่องด้วย ณ” = สฐย > สาฐย ซ้อน ยฺ = สาฐย > สาฐยฺย
แปลง - ยฺย (อยฺย) เป็น เอยฺย = สาเฐยฺย > สาเฐยฺย
สาเฐยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า ภาระแห่งผู้คดโกง หมายถึง ความคดโกง, ความคิดคดทรยศ
สาเฐยฺย บางแห่งสะกดเป็น สาเถยฺย ในภาษาไทยใช้ “สาไถย”
เมื่อนำ “มายา” หรือ “มารยา” ในภาษาไทย มาสนธิเข้ากับ “สาเถยฺย” หรือ “สาไถย” ในภาษาไทย จะได้เป็น “มายาสาไถย”
“มายาสาไถย” .. เป็นรากศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคยและนิยมใช้.. โดยเฉพาะเมื่อดูละคร โขน หนัง ลิเก มโนราห์ .. ที่มีการละเล่นไปตามบทตามตอน..
บทบาทหนึ่ง.. ของตัวละครที่โดดเด่น น่าชวนติดตามอย่างหมั่นไส้.. ไม่ชอบใจ.. เกลียดชัง.. หรือโกรธเกรี้ยวมากๆ.. คือ บทบาทของตัวละครที่เล่นเป็น ตัวร้าย ตัวอิจฉา.. ที่ต้องปรุงแต่งให้มากไปด้วย “มายาสาไถย”
ใครๆ ที่รับบทตัวร้ายที่แสนเจ้าเล่ห์เพทุบาย.. อุบาทว์ชาติชั่ว ที่เต็มไปด้วย มายาสาไถย .. ล้วนมักจะได้รับคำก่นด่าจาก พ่อแก่แม่เฒ่า พี่ป้าน้าอา.. ตลอดไปถึงลูกเด็กเล็กแดงที่มีอารมณ์ร่วมในเรื่องราวละครนั้นๆ...
จึงปรากฏให้เห็นในบางเวทีมีแจ็กพอต ส่งก้อนดิน.. ก้อนหิน รองเท้า ขวดน้ำ.. ขึ้นไปประเคนให้ตัวร้าย เพื่อแสดงออกถึงความจงเกลียดจงชังตัวร้ายเหล่านั้น ที่มากไปด้วย มารยาสาไถย แพรวพราวไปด้วยเล่ห์เพทุบาย กลลวงต่างๆ นานา.. จนทำให้พระเอก นางเอก.. ตัวดีๆ ทั้งหลาย ต้องถูกเนรเทศขับไล่ออกจากเวียงวัง บ้านเรือน.. ระหกระเหินเดินดงไปตามบท.. ที่ต้องพรรณนาคร่ำครวญให้เห็นถึงความน่าสงสาร ที่นำไปสู่ความทุกข์ยากลำบากเจียนเป็นเจียนตาย.. เล่นเอาพ่อแก่แม่เฒ่า พี่ป้าน้าอา.. รีบหาของขวัญชำร่วย.. ผ้าเช็ดหน้า.. ผูกแบงก์ร้อย.. แบงก์ห้าร้อย.. ขึ้นคล้องคอ ปลอบอกปลอบใจ.. ให้กำลังใจ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในชีวิตไปให้ได้.. อันก่อเกิดจากตัวร้ายทั้งหลาย
“มายาสาไถย” จึงเป็นคำร้ายใช้ในทางลบกับ คนถ่อยเถื่อน พฤติกรรมเลวชาติ.. มหาโจรทั้งหลาย ที่ไร้ยางอาย.. ไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรม เป็นทุรชนคนพาล ที่จิตใจเต็มไปด้วยความยกตนข่มท่าน.. ตีตัวเสมอท่าน.. และมากไปด้วย อิสสาริษยา
“มายาสาไถย” .. จึงถูกใช้คู่กับคำว่า “อิสสาริษยา” และ มักขะ+ปลาสะ ที่แปลว่า ลบหลู่คุณท่าน หรือ ความไม่รู้จักคุณท่าน ที่คนไทยชอบเรียกว่า “เนรคุณ” หรือ คนอกตัญญู ซึ่งเป็นความหมายของ มักขะ
สำหรับ “ปลาสะ” แปลตรงว่า ตีตัวเสมอท่าน หรือ ยกตัวเทียมท่าน ซึ่งนิยมใช้ควบคู่กับ “มักขะ” เพราะเมื่อไรที่เกิดความอกตัญญู ไม่รู้คุณท่าน ก็จะมีอาการตีตัวเสมอท่าน หรือ ยกตัวข่มท่านขึ้นมาทันที ซึ่งเป็นไปในปุถุชนทั่วไป.. ที่ขาดจิตสำนึกที่ดี.. นับเป็นเรื่องธรรมดา
ดังนั้น ในสังคมใด.. ที่หมู่ชนเต็มไปด้วยคนประเภทนี้ ที่มากไปด้วย มักขะปลาสะ.. มายาสาไถย แล้วนั้น.. สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วย ความริษยา.. ความตระหนี่.. เกลื่อนกล่นไปด้วยพาลชน
สังคมใดเต็มไปด้วย ความริษยา.. ความตระหนี่.. ชนในสังคมนั้น ย่อมก่อเวร.. ก่ออาชญา.. ก่อความเป็นศัตรูกัน.. พยาบาทเบียดเบียนกัน ไม่จบไม่สิ้น.. แม้ปากของคนเหล่านั้นจะเรียกหา สันติสุข.. สันติธรรม.. ไม่ต้องการก่อเวร ไม่ต้องการหาอาชญา ไม่ต้องการเป็นศัตรูและพยายามเบียดเบียนกันและกัน.. ก็ยากจะเป็นผลตามเรียกหา.. ทั้งนี้.. เพราะคนเหล่านั้นติดอยู่ในหล่มปลักของกิเลส.. ที่ยากจะถอนตัวขึ้นมา จึงไม่แปลก.. ที่คนในสังคมที่เต็มไปด้วยอุปกิเลสดังกล่าว.. จะก่อการใดๆ อย่างไม่เกรงกลัว.. และไม่ละอายต่อบาปกรรม
“มายาสาไถย” จึงโดดเด่นมากในสังคมของคนเราในทุกสมัย ที่หมู่ชนอ่อนด้อยคุณธรรมความดี.. ขาดหิริโอตตัปปะ.. ดังที่มีการพูดพาดพิงถึงหลักธรรมดังกล่าวกันมากที่สุดในปัจจุบัน อันควรแก่การนำมาเป็น กรณีศึกษา.....
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย