เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา
“.. ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษ คือ คนดี เมื่อเกิดในตระกูลใด ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก”
“.. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คุณธรรมนี้ คือ ความกตัญญู รู้คุณอย่างหนึ่ง.. กตเวทิตา ตอบแทนคุณอย่างหนึ่ง เป็นภูมิธรรมของคนดี”
จาก พุทธภาษิต ดังกล่าว จักสรุปได้ว่า คนดี คือ คนที่มีคุณธรรม.. คุณธรรมของคนดี คือ ความกตัญญูกตเวทิตา
เมื่อคนดีมีคุณธรรม ๒ ประการดังกล่าว จะได้ชื่อว่าเป็น สัตบุรุษ ที่เกิดมาในครอบครัวใด.. เกิดมาในสังคมใด.. เกิดมาในประเทศใด จักย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล.. เพื่อความสุข.. แก่คนในครอบครัว สังคม ประเทศชาตินั้นๆ..
เมื่อเข้าใจหลักธรรมดังกล่าว.. ก็จักนำมาสู่การคิดการแก้ไขปัญหาในสังคมของเราว่า.. จักทำอย่างไรให้คนในสังคมทุกกลุ่มวัยมีคุณธรรมของความเป็นคนดี..!?
เรื่องความเป็นคนดี.. เป็นเรื่องที่เกิดมีขึ้นจากการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาชีวิต คือ กาย วาจา ใจ และทิฏฐิ ให้เป็นไปถูกต้อง สุจริตในธรรม ไม่ใช่อยู่ๆ จะเกิดมีขึ้นได้เอง ซึ่งแสดงความเป็นจริงว่า..
“.. ความเป็นคนดี เกียรติยศ ไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ”.. สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า
น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ
กมฺมุนา วสฺโล โหติ กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ
แปลว่า บุคคลเป็นคนเลว เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หาไม่ เป็นผู้ประเสริฐ เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หาไม่
เขาเป็นคนเลว เพราะการกระทำ เป็นผู้ประเสริฐ เพราะการกระทำต่างหาก..
สืบเนื่องจากพฤติกรรมในทางลบของเด็กกลุ่มหนึ่งที่เสพคบกับคนพาลที่เป็นผู้ใหญ่ มีบทบาทฐานะในทางสังคม.. โดยเฉพาะมีความเป็นผู้ชี้นำทางความคิดจิตวิญญาณ ที่มีอคติต่อแผ่นดิน จึงทำให้เด็กเหล่านั้นก่อพฤติกรรมที่มีปัญหาต่อสังคมอย่างไม่รู้ตัวว่า ทำอะไร.. ทำไปได้อย่างไร.. จึงให้ระลึกถึงความหมายของความเป็นคนดีหรือสัตบุรุษ.. ที่คนเหล่านี้ในสังคมปัจจุบัน สะกดไม่เป็น.. ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างขาดจุดประสงค์และเป้าหมาย ในฐานะของสัตว์ที่สามารถเข้าถึงความประเสริฐได้.. ด้วยการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ.. ตามหลักธรรมเพื่อการพัฒนาชีวิต ให้เข้าถึงประโยชน์และความสุขได้อย่างแท้จริง
เบื้องต้นจึงต้องศึกษาให้รู้เข้าใจในความได้ฐานะความเป็นสัตว์โลกมา.. ว่า อะไรเป็นเหตุแห่งการเกิดความเป็นสัตว์.. และด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงเรียกว่า สัตว์.. ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบคำถามดังกล่าวไว้ว่า.. “..เพราะเหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. เป็นผู้เกี่ยวข้องใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น.. ฉะนั้นจึงเรียกว่า สัตว์..”
เรื่องของสัตว์.. จึงเกิดขึ้น เพราะอำนาจกิเลสที่เข้าไปควบคุมจิตให้ไหลวนไปในสงสาร ด้วยอำนาจของกิเลสที่แสดงออกถึง ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน และความเห็นผิด ดังที่กล่าวไว้ว่า.. สัตว์เหล่านั้นมีอวิชชากางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก จึงเร่าร้อน ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร อย่างไม่ปรากฏที่สุดแห่งการเกิดและการสิ้นไป.. เบื้องต้น เบื้องปลาย รู้ไม่ได้..
จึงเป็นเรื่องปกติ.. หากในสมัยใด เมื่อสัตว์โลกขาดการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ที่แสดงความเป็น อริยสัจธรรม จะมีการกระทำไปอย่างผิดเพี้ยน วิบัติไปจากธรรม
คนเหล่านี้ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่หาได้เข้าถึงความประเสริฐตามฐานะที่เป็นชาติกำเนิดไม่...
จึงขวนขวายกระทำการไปตามอำนาจความทะยานอยาก เพื่อตอบสนองกิเลส.. ที่เข้าไปจับยึดให้จิตเกิดทิฏฐิว่า.. เป็นตัวตน.. จึงพยายามข้องเกี่ยวยึด.. ในทุกสภาวธรรม.. เพื่อตอบสนองความต้องการ
เมื่อธรรมชาติของกิเลส คือ ความเร่าร้อนและความมืดมน.. จึงเป็นธรรมดาที่จิตใจย่อมเดือดพลุ่งพล่าน และมืดมนให้ลุ่มหลง จนยากจะเข้าใจในธรรม.. เพื่อการเล่าเรียนปฏิบัติให้เข้าถึง คุณธรรมความเป็นคนดี ได้.. ซึ่งได้แก่..
๑.การเป็นบุคคลที่ขวนขวายไปในการสร้างความไม่สบายให้แก่ตน
๒.การไม่รู้จักประมาณในความสบายนั้น
๓.การบริโภคอาหารการกินที่ย่อยยาก ไร้ประโยชน์
๔.การประพฤติทุศีล (ทุสฺสีโล)
๕.การคบคนชั่วเป็นมิตร (ปาปมิตฺโต)
ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นกับคนในสังคมที่ เพศ วัย ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในคุณธรรมความเป็นคนดี
จึงเป็นเรื่องธรรมดา.. ที่จะเกิดเหตุการณ์สร้างปัญหาในสังคม.. อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากคนในสังคมปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง.. ที่สมคบกันด้วยอวิชชาและตัณหา.. ซึ่งผูกรัดมัดยึดให้เกิดความเป็นสัตว์ขึ้น.. เพื่อรับผลการกระทำของความเป็นสัตว์ไปตามชาติภูมินั้นๆ.. ไม่ว่า สัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต.. หรือมนุษย์ เทวดาชั้นต่ำ.. อันเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการปฏิสนธิของสัตว์โลก.. ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรม.. ในธรรมชาติ...
จึงเป็นหน้าที่ของคนดีในสังคม ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมเพื่อความเป็นคนดี.. และธรรมที่เป็นไปเพื่อเป็นคนชั่ว.. ตลอดจนถึงผลของดีชั่วนั้นที่จะนำไปสู่การให้คุณหรือให้โทษ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต..
โดยคนดีในสังคมต้องคำนึงถึงเสมอว่า.. ความสงบสุขในสังคมไม่ได้เกิดขึ้น เพราะคนชั่วหมดไป
หากแต่ เพราะคนดีต้องเป็นคนดีจริง.. เป็นคนดีที่มีคุณธรรมความดี.. มีความกล้าหาญ แน่วแน่ ซื่อตรงต่อความเป็นคนดี ที่ต้องทำความดีอย่างไม่วิตกกังวลจนออกอาการหวาดกลัว ที่จักนำไปสู่ความเสื่อมจากคุณธรรมความดี..
ดังนั้น การจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้คนดี หวาดกลัว วิตกกังวล.. จนเสื่อมไปจากคุณธรรมความดี.. จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการเล่าเรียนศึกษาของคนในสังคมนั้นๆ เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติฝึกอบรมจิตให้ เข้าถึง เข้าใจ.. และพัฒนาชีวิตให้ถึงคุณธรรมความดี.. เพื่อความตั้งมั่นอยู่ในกระแสของความดีไปตลอดกาล...
โดยคำนึงเสมอว่า หากคนดีไม่เสื่อมจากคุณธรรมความดี.. ก็ยากที่คนชั่วจะมารุกรานทำให้สังคมของความดีย่อยยับดับไปได้ไม่.. ทั้งนี้ ด้วยอำนาจของคุณธรรมความดีที่ชนะอำนาจอธรรมความชั่วทั้งปวง อันเป็นสัจธรรมที่ปรากฏในโลกนี้ ไม่ว่ากาลใดสมัยใด
ดังที่มีเรื่องราวของพระพุทธเจ้า.. ก่อนตรัสรู้ เมื่อประทับใต้ควงพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เป็นกรณีศึกษา ซึ่งในกาลครั้งนั้น พญาวสวัตตีมาราธิราช ผู้มีเสนาน้อยใหญ่มากมาย ได้ยกกำลังพลมารุกราน ขัดขวางการบำเพ็ญบารมีธรรมขั้นสูงสุด เพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. โดยกองทัพพญามารมาทั้งทางบก ทางอากาศ และพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ความเพียรของพระองค์เสียหายล้มเลิกไป ซึ่งขณะนั้น มีเฉพาะพระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว.. แม้เทวดาทั้งหลายก็ได้เกรงกลัวหวาดวิตกหนีไป ทอดทิ้งพระองค์ให้อยู่เผชิญพญามารและเหล่าเสนาน้อยใหญ่เพียงลำพัง
แต่พระโพธิสัตว์.. ทรงสั่งสมคุณความดีมาจนมั่นคง.. ในพุทธกรณธรรมทั้ง ๑๐.. จึงมี พระสติปัญญา ที่ควบคุมจิตให้ไม่หวั่นไหว จนสามารถชนะกองทัพพญามารได้ ด้วยสติปัญญาและคุณความดีของพระองค์ โดยทรงอธิษฐานคุณความดีหรือบารมีที่ทรงกระทำมาเป็นเกราะป้องกัน ขจัดภัยอันตรายทั้งปวง จนสามารถผ่านภัยมารทั้งปวงได้อย่างไม่สูญเสียคุณค่าความดีที่ทรงอบรมสร้างสมมายาวนาน และมิหนำซ้ำ ยังเพิ่มคุณความดีขั้นสูงสุด.. ให้สามารถบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ในกาลครั้งนั้น.. ทั้งนี้ เพราะทรงชนะมารด้วยคุณความดีพระบารมีของพระองค์เอง
จึงกล่าวได้ว่า.. หากเราท่านทั้งหลายดีจริง.. ดีแท้.. ไม่ต้องกลัวเกรงมารทั้งปวง แม้จะมากมายมหาศาล.. เพราะความดีย่อมชนะความชั่วเสมอ.. นั่นเป็นสัจธรรม
ข้อควรระวังอย่างยิ่ง คือ.. อย่าได้ชนะความชั่วด้วยความชั่ว.. เพราะเท่ากับเรายอมสวามิภักดิ์เข้าเป็นพวกมาร.. โดยปริยาย.. ที่สุด คงต้องยกประเทศเขตแดนให้กับมารไป.. เพราะแม้เรายังมอบจิตใจให้กับมารเลย.. ทั้งนี้ เพราะเราดีไม่จริง.. และไม่รู้คุณค่าของความดีที่แท้จริงนั่นเอง!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .