เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีหลายคนกล่าวว่า “โลกสังคมสมัยปัจจุบัน มันช่างซับซ้อน จนยากจะรู้เข้าใจได้ทันความเปลี่ยนแปลง... คนสมัยเราจึงหาความสุขได้ยาก...”
หากพิจารณาผิวเผินในคำกล่าวดังกล่าว ก็คงน่าจะเห็นด้วยตามคำบ่นพร่ำเพ้อคร่ำครวญ.. ซึ่งอาการดังกล่าวทางพุทธศาสนาเรียกว่า ปริเวทนาการ แปลว่า อาการคร่ำครวญรำพันด้วยความโทมนัส.. ที่เป็นปัจจัยแห่งอาสวกิเลส ด้วยความเศร้าหมอง ขุ่นมัว อันเนื่องจากกิเลสที่ประกอบอยู่ในจิตสันดาน ที่นอนเนื่องทับถมอยู่ในจิต มีกิเลสหมักหมม จึงเรียก อาสวะ.. โดยแสดงออกในความเป็น ความโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส.. อันเป็นอาหารของ อวิชชา คือ จิตที่รู้ผิดเห็นผิดไปจากธรรม.. ด้วยอาการแห่งจิต คือ
๑.ติดใจรักใคร่อยู่ในกามคุณ
๒.ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่...
๓.ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง...
๔.ความไม่รู้จริง ลุ่มหลง มัวเมา.. ที่เรียกว่า อวิชชา
รวมอาการดังกล่าวเรียกว่า อาสวะ.. ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และ อวิชชาสวะ.. ซึ่งในส่วนของทิฏฐิ.. สามารถรวมลงในอวิชชาได้ จึงมักจะเห็นการกล่าวถึงอาสวะเพียงแค่ ๓ ข้อ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
อาการบ่นพร่ำเพ้อด้วยความทุกข์ใจ.. จึงเป็นเรื่องของกิเลส.. ที่ประกอบในจิตนั้นให้ดำเนินไปด้วยความลุ่มหลง จนนำไปสู่ความเห็นที่ผิด.. ก่อให้เกิดความรู้ผิดไปจากความเป็นจริง..
ผู้มีปัญญา.. จึงไม่หลงใหลตามคำพร่ำเพ้อของคน เพราะจะเสพคบกับอำนาจอกุศลธรรม.. ที่จะนำไปสู่ความเป็นผู้มี อกุศลวิตก สั่งสมเป็นจิตสันดาน
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเป็นมงคลชีวิตในข้อแรก ที่ควรเสพคบกับบัณฑิต ไม่ใช่พาลชน.. ที่หมายถึง บุคคลที่พร่ำเพ้ออยู่ในกระแสความทุกข์ อย่างไม่เข้าใจในธรรม.. ดังที่ทรงแสดงพุทธภาษิตไว้ว่า
“บุคคลใด เห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
และเห็นสิ่งอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ
บุคคลนั้น มี ความดำริผิด ประจำใจ
ย่อมไม่อาจพบสาระได้..
ส่วนบุคคลใด เห็นสิ่งอันเป็นสาระ ว่าเป็นสาระ สิ่งอื่นไม่เป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ
บุคคลนั้น มีความดำริถูกประจำใจ ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ”
หากจะตั้งคำถามว่า อะไรคือทางให้พบสาระ คำตอบในพระพุทธศาสนาก็จะชี้เปรี้ยงไปที่ ความเห็นชอบ ถูกต้องตรงธรรม ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ที่จะนำไปสู่ การปฏิบัติชอบ.. เพื่อความตั้งมั่นชอบอย่างมีปัญญา.. สู่ความหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส คือ ความเศร้าหมองและเร่าร้อน.. ซึ่งพระพุทธศาสนาของเรายก สัมมาทิฏฐิ เป็นประธานของธรรมในอริยมรรค.. เป็นยอดของคุณธรรมความดีทั้งปวง ที่ตรงข้ามกับ มิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นยอดของโทษทั้งปวง..
เมื่อเข้าใจเช่นนี้โดยสรุป ก็จะมองปัญหาที่ยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นอย่างเป็นธรรมดา ที่คนในยุคสมัยปัจจุบัน ที่คลั่งไคล้อยู่กับวัตถุนิยมเทคโนโลยีชั้นสูง ที่เรียก ไอที (Internet Technology) จะต้องมากไปด้วยความพร่ำเพ้อ อันเกิดจากฤทธิ์เดชของจิตที่เสพติดอยู่ในมายาโลกเสมือนจริง ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าเดิม อย่างยากที่จะคืนกลับมาหาความเป็นจริง แม้ในชั้นของสภาวธรรมของโลก ที่ปรุงแต่งขึ้นตามเหตุปัจจัย ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ..
ความไม่เข้าใจในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ด้วยอำนาจกิเลสที่ปิดบังให้จิตมืดมิด.. ยากที่จะเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ที่เป็นปกติของปุถุชนทางโลก นับเป็นเรื่อง มิจฉาทิฏฐิปกติ ที่เรียกตามหลักธรรมว่า “ทิฏฐิสามัญ” แปลว่า.. เป็นความเห็นผิดตามปกติวิสัยของสัตว์โลก ที่จะสำคัญผิดในสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างนั้น เรียกว่า.. สัตว์ทั้งโลกต้องมีความเห็นเหมือนกันอย่างนี้ เช่น มีความเห็นว่า เราเป็นตัวตน ตัวตนเป็นเรา เรามีอยู่ในตัวตน ในตัวตนมีเรา เป็นต้น
ความเห็นผิดสามัญดังกล่าว.. เป็นบ่อเกิดแห่งวิชาการทั้งปวงทางโลก.. เพื่อการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากธรรมชาติ อันเป็นปกติวิสัยของสัตว์โลก ที่สำคัญผิดว่า.. ตนเองเป็นเจ้าของตนเอง.. เป็นเจ้าของธรรมชาติ.. ทั้งๆ ที่เกิดมาภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ.
จึงไม่แปลกที่สัตว์ทั้งหลาย อันจิตประกอบด้วยโมหะ จะมีความเห็นผิด และมีพฤติกรรมที่ไม่สะดุ้งกลัว ไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรม มีจิตที่ฟุ้งซ่านไป (อุทธัจจะ)
เมื่อจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย ประกอบด้วยโมหะตามที่ยกขึ้นมา.. ก็นับเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีกิเลสอีกสองกองประกอบอยู่ด้วย ได้แก่ โลภะ (ราคะ) และโทสะ ซึ่งในส่วนของ โลภะจิต จะเห็นได้ชัดว่า.. ทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิย่อมเกิดขึ้นในจิตดวงนี้ ควบคู่กับมานะ ที่แปลว่า ถือตัวว่าเป็นเรา.. นำไปสู่ความถือตัวในความมีชาติ ตระกูล ความรู้ ความสามารถ เพศ วัย.. เป็นต้น... เป็นความถือตัวที่ยังไม่ได้ยกตัว
หากเมื่อกิเลสกำเริบ ก็จะเกิดการยกตัวขึ้นในความถือตัวนั้น ว่า ฉันเก่ง.. ฉันแน่.. ฉันเป็น.. ไม่มีใครเก่งแน่.. ไปกว่าฉัน ที่นำไปสู่การแสดงกิริยาดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ด้อยกว่า.. ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความก้าวร้าวขึ้นโดยไม่รู้ตัว อวดดื้อ ถือดี ลบหลู่ ไม่ให้เกียรติผู้อื่น... เป็นต้น
มานะ.. ความถือตัว ที่นำไปสู่ความยกตนจนเกินจริง จึงแปรรูปไปสู่ความเป็นมานะต่างๆ ตามชั้นลึกของกิเลส เช่น อติมานะ มานาติมานะ โอมานะ อธิมานะ อัสมิมานะ และมิจฉามานะ
เมื่อถึง มิจฉามานะ ก็จะทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็น มหาโจร โคตรโจร อัปรีย์ชน.. มหาจัญไร มหาโคตรโกง ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความถือตัวผิดๆ หยิ่งผยองลำพองในความสามารถที่เป็นไปในความชั่วร้าย ดังคล้ายๆ ตัวอย่างของคนที่เคยมีอำนาจวาสนาในบ้านเมืองหลายๆ คน ที่ผันแปรไปสู่ความเป็นมหาโคตรโกง มหาโจร.. ด้วยย่ามใจไปตามกระแสชื่นชมประจบเอาใจว่า ท่านเก่ง ท่านแน่ ท่านฉลาด.. ท่านเป็นนักพัฒนา.. ท่านมีวิสัยทัศน์.. ท่านเป็นหนึ่งในโลก...
ไอ้เวรตะไล.. จึงหยิ่งยโสโอหัง ผยองลำพองในความรู้ความสามารถที่ชักนำไปสู่ความชั่วร้าย เมื่อสามารถทำผิดให้ถูกได้.. และภูมิใจยิ่งในการพูดเท็จเก่งๆ ว่า ใครๆ ก็จับโกหกตนไม่ได้.. ตรงนี้ที่เรียกว่า มิจฉามานะ
มิจฉามานะ เกิดขึ้นในจิตดวงใดแล้ว พยากรณ์ได้เลยว่า เบื้องหน้า อเวจีมหานรก เป็นที่หมายของ มหาโจร แบบนี้
จริงๆ แล้ว เรื่อง มานะ ซึ่งอยู่ในฐานจิตของความโลภ (โลภะจิต) สัมพันธ์กับ ทิฏฐิ อย่างดุจเป็นพี่น้องกัน น่าศึกษายิ่งสำหรับชาวพุทธเรา ดังคำกล่าวที่ว่า.. พี่น้องสองตัวนี้ท่องครองมาด้วยกันตั้งแต่ยายฉันไม่เกิด.. โดยมีทิฏฐิเป็นพี่ มานะเป็นน้อง มีพ่อแม่คือ โลภะจิต..
จึงควรพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องของ ทิฏฐิ ว่า ทิฏฐินั้นเพียงแค่ความเห็นในการยึดเป็นตัวตนในชีวิต ที่เรียกตามธรรมคือ ขันธ์ ๕ หรือเป็น ทิฏฐิพิเศษ ที่เป็นความเห็นผิดขั้นหยาบ จนเข้าไปสนับสนุนให้มานะสุดโต่งจนยากจะแก้ไข
ในความเป็นมานะ มันจึงลงลึกไปจับยึดว่า เป็นนั่น เป็นนี่ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เห็นว่าเป็นเรา สร้างความยึดถือเป็นตัวตนนั้นเป็นเรื่องทิฏฐิ.. แต่มานะเข้าไปยึดมั่นในความเป็นนั่นเป็นนี่ในความเป็นตัวตนนั้น และสำคัญมั่นหมายในความเป็นตัวตนนั้น.. ซึ่งถ้าทิฏฐิหยาบเท่าไร มานะก็จะลงลึกมากเท่านั้น...
มานะ จึงกลายเป็นสังโยชน์เบื้องสูง.. ในขณะที่ทิฏฐิ (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ.. ที่เป็นสังโยชน์แรก..ในสังโยชน์สิบเส้น ที่ผูกมัดรัดยึดให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับโลก.. ไหลไปในกระแสโลก.. ในระบบสังสารวัฏ.. ที่มีแต่ภาวะความเกิด-ดับ.. ผันแปรไปตามเหตุปัจจัย ไม่นิ่งสงบ.. มีแต่ความทุกข์ร่ำไป
เรื่อง ทิฏฐิ .. จึงเป็นเรื่องที่ควรจับมาศึกษา เพื่อให้เข้าใจว่า.. อะไรคือสัมมาทิฏฐิ.. อะไรคือมิจฉาทิฏฐิ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจว่า การบ่นพร่ำเพ้อไปด้วย อำนาจมิจฉาทิฏฐิ .. กับการพูดกล่าวอ้างด้วย อำนาจสัมมาทิฏฐิ ย่อมมีความต่างกันในการให้ผล.. โดยเฉพาะในความเป็น ทิฏฐิพิเศษ ที่พูดภาษาชาวบ้านว่า.. บ้าเกินขนาด!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .