บูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนในการศึกษา

นานาประเทศต่างมุ่งหมายขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และการศึกษาคือเฟืองที่ส่งกำลังหมุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสนใจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีมาหลายทศวรรษ

นิยามของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) มีบันทึกไว้ใน Brandt Report ปี ค.ศ. 1987 (World Commission on Environment and Development, 1987) โดยให้ไว้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่สนองตอบความต้องการในปัจจุบัน โดยต้องไม่ลิดรอนความสามารถสนองตอบความต้องการของคนรุ่นที่ตามมา”  รายงานได้แสดงให้เห็นถึงนัยยะของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าเป็นการสร้าง “อนาคตร่วมกัน” สื่อสารถึงอนาคตที่ยั่งยืนของการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งนัยยะนี้รณรงค์กันจนถึงทุกวันนี้

ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การประชุมระดับโลก Rio ‘Earth Summit’ ณ นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. 1992 เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่มีความสำคัญ เป็นการประชุมระดับโลกที่พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการวางนโยบายการพัฒนาสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า มีความเชื่อมโยงกันในมิติทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และได้จัดทำแผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) ที่มีแนวคิดของการพัฒนาว่าทำเพื่อทุกคน แผนปฏิบัติการ 21 มีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก (UNCED, 1992) 

การประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษ (‘Millennium Summit’) จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 2000 เป็นการประชุมสหประชาติที่มีการประกาศการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ แนวทางการพัฒนาที่นอกจากคำนึงในมิติของสิ่งแวดล้อม ได้คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาระดับประถม และการขจัดความยากจนและความหิวโหย โดยต้องการบรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2015 (un.org)

การประชุมสหประชาชาติที่สำคัญและส่งผลให้มีการร่วมมือดำเนินการระดับพหุภาคีตั้งแต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาร่วมสิบปี จนถึงปัจจุบัน และจะร่วมมือดำเนินการต่อเนื่องถึงอนาคต คือ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ที่มีประเทศสมาชิก 193 ประเทศ(รวมประเทศไทย) ได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมายที่มีความเป็นสากล  และได้กำหนดการบรรลุเป้าหมายไว้ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) 

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย (SDGs) มีมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำและการขจัดความยากจน การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกให้ดีขึ้น ความเป็นมนุษยชาติที่มีความเท่าเทียมกัน ที่สำคัญ คือ มีเป้าหมายเรียกร้องความร่วมมือด้วยการกระทำในการลดสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์และจากการพัฒนาอันอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบโลก 

การร่วมมือระดับพหุภาคีมีความสำคัญในการต่อสู้กับความท้าทายระดับโลกที่มีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 เป้าหมาย (SDGs) เป็นพันธกรณีที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวมถึงประเทศไทย ต้องดำเนินการให้สอดรับและบรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ 2030 (พ.ศ. 2573) ทั้งนี้ มีการติดตามและจัดอันดับการบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับโลก จากข้อมูลในรายงานปี 2566 (SDG Index 2023) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ (Sustainable Development Report, 2023) 

การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เป็นองค์กรระดับโลกที่มีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง และมีแผนดำเนินงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ‘ESD for 2030’ ที่เป็นข้อริเริ่มใหม่ต่อจากที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ‘ESD for 2030’ มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อโลกที่ยั่งยืน และเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย (UNESCO, 2021)

‘ESD for 2030’ เป็นการดำเนินด้วยความร่วมมือพหุภาคีระดับโลก มีแผนดำเนินงานช่วงระยะเวลาปี ค.ศ. 2020-2030 ซึ่งแผนการดำเนินงานมีความสอดคล้องกับช่วงเวลาการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2030 

ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของ ‘ESD for 2030’ คือ การส่งเสริมการศึกษาคุณภาพ อันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยั่งยืน เป้าหมายที่ 4  (SDG 4) และเป้าหมายย่อยที่ 4.7 (SDG target 4.7) ที่มีเป้าประสงค์พัฒนาผู้เรียนให้ได้เรียนรู้ และได้รับทักษะที่จำเป็นในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน การเป็นพลเมืองโลก และการมีมิติคิดที่ดีทางสังคมและวัฒนธรรม 

บูรณาการ SDGs ในการศึกษา

การบูรณาการ SDGs เพื่อการเรียนรู้ความยั่งยืน ทำได้โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกระดับชั้น ทุกช่วงวัย และกับผู้เรียนทุกคน โดยเรียนรู้ได้ทั้งในชั้นเรียน นอกห้องเรียน ภาคสนาม แหล่งเรียนรู้ และในรูปแบบอื่น

พิจารณาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 และ 2566 หลักสูตรมีแนวทางที่สร้างโอกาสสำหรับท้องถิ่นและสถานศึกษาให้สามารถจัดทำหลักสูตรได้ หลักสูตรมีวิสัยทัศน์ที่เตรียมผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 และสร้างทรัพยกรคนสู่อนาคต  จึงสามารถบูรณาการการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียนได้ 

การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ SDGs มี 17 เป้าหมาย การเลือกเนื้อหาสำหรับหลักสูตรสำคัญมากและต้องวิเคราะห์สังเคราะห์จากเป้าหมายและเป้าหมายย่อยของ SDGs  เช่น เป้าหมายที่ 2 – ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดี เป้าหมายที่ 7 – พลังงานที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 – เมืองและชุมชนยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 – การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 – ปฏิบัติการเร่งด่วนต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 – การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร/ทะเล/ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 15 – การอนุรักษ์ปกป้องฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบนอย่างยั่งยืน โดยการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้อาจบูรณาการจากเป้าหมายหลายอัน และการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้คำนึงถึงมิติการเรียนรู้ทางปัญญา มิติทางสังคมและอารมณ์ และมิติในการปฏิบัติจริง รวมทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนแบบมีส่วนร่วม

เนื้อหาและสาระในการเรียนรู้ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่สร้างกระบวนการเรียนรู้จากบริบทหรือสถานการณ์จริงของท้องถิ่น มีคุณค่าต่อการเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากขึ้น หากผู้เรียนมีโอกาสได้สะท้อนความคิดเห็นจากสิ่งที่ได้เรียนรู้และมีโอกาสได้ตัดสินใจทำในทางปฏิบัติจริง

การพัฒนาตนเองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาเพื่ออนาคต การสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่ผู้เรียนสนใจอยากเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้เอง มีประโยชน์มากต่อการศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และควรจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มาก รวมทั้งการเรียนรู้ร่วมกัน และการเรียนรู้กับชุมชน ทั้งนี้ ผู้สอนยังต้องคงเป้าประสงค์ที่ต้องการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและสมรรถนะสำหรับผู้เรียน และยังคงเป้าประสงค์ที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนในการปฏิบัติและมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการศึกษาคุณภาพ เป้าหมายที่ 4 และเป้าหมายย่อยที่ 4.7 (SDG 4, 4.7) การเรียนการสอนจึงต้องใช้เทคนิคการออกแบบการเรียนรู้ที่สร้างสมรรถนะผู้เรียน พัฒนะทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการสร้างกรอบคิดของความยั่งยืน (Sustainability Mindset) อันเป็นกรอบคิดของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืน กระบวนการเรียนรู้ควรเป็นการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic learning) และเป็นการเรียนรู้ในบริบทชีวิตจริง (Real-life learning) และเป็นการเรียนรู้สร้างความหมายเชื่อมโยงบริบทของท้องถิ่น ประเทศ และโลก 

กลไกที่สำคัญ

– การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบให้เป็นโรงเรียนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable school)  นักเรียน ครู บุคลากรทุกคนรวมทั้งผู้บริหาร ร่วมมือปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน และอยู่กับโรงเรียนที่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนทั้งในอาคารและนอกอาหาร ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและพัฒนาความยั่งยืนของโรงเรียน เรียนรู้ปัญหาและแก้ปัญหาหรือตัดสินใจทางเลือกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน การพัฒนาเป็นโรงเรียนคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้มีกรณีตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีที่สุดและการปฏิบัติที่ดีให้ศึกษาเรียนรุ้ทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ 

– การพัฒนาสมรรถนะผู้สอนระดับท้องถิ่นที่ดำเนินการต่อเนื่องมีความสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ผู้สอนได้รับความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการออกแบบการเรียนรู้และเทคนิคการเรียนการสอน และการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน  การดำเนินการอาจเป็นแบบไม่ต้องเผชิญหน้า (non-face-to-face) 

– การสร้างและพัฒนานักเรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตการศึกษาเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงาน และมีการพัฒนาเป็นเครือข่ายระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ทั้งนี้การสร้างและพัฒนานักเรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในมิติของความยั่งยืน มีทัศนคติและเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืน 

– การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความท้าทายความสามารถในขอบเขตอันจำกัดของระบบโลกที่ไม่สามารถตอบสนองได้ จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 8000 ล้านคน ในกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 

จากการเปรียบเทียบย้อนหลัง  จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น 1 พันล้านคน จากปี ค.ศ. 2010 และเพิ่มขึ้น 2 พันล้านคน จากปี ค.ศ. 1998 คาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 2 พันล้านคน ในอีก 30 ปีข้างหน้า คือประชากรโลกเพิ่มจาก 8 พันล้านคน เป็น 9.7 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2050 และอาจเพิ่มขึ้นถึง 10.4 พันล้านคน ในกลางทศวรรษของ ค.ศ. 2080 (www.un.org>global-issues>pop…)

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
มนธิดา สีตะธนี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' หารือ นายกฯแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้น

'เศรษฐา' หารือ นายกฯแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อการเติบโตครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

สร้างวัฒนธรรมการฟื้นฟูนิเวศวิทยา สังคม สุขภาพในสมการการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในวันนี้ที่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นคำพูดสวยหรูที่แพร่หลายไปทั่วทุกแวดวงสังคม ตั้งแต่เป็นป้ายอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา ไปจนถึงหัวข้องานสัมมนาโดยบริษัทชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศ ชีวิตของรจและชาวบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ได้ผ่านวันคืนที่เติบโตมากับเสียงหริ่งเรไรยามค่ำท่ามกลางป่าที่สมบูรณ์ สู่ยุคที่เสียงธรรมชาติและอากาศสะอาดถูกทดแทนด้วยเสียงระเบิดเหมืองและมลพิษ มาถึงจุดปัจจุบันที่ซากการพัฒนาทิ้งสารเคมีไว้ในดินและน้ำ ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่ประสบภัยจากปัญหาการพัฒนาเหมืองแร่ที่ขาดมิติการฟื้นฟู และขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในสมการ

นายกฯ ปลื้มนานาชาติสนใจหุ้นกู้สีเขียวของไทยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์!

นายกฯ ภาคภูมิใจได้นำเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืนและอารยะเกษตร ในเวที UNGA ครั้งที่ 78 เผยต่างชาติสนใจการออกหุ้นกู้สีเขียว หวังจะขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปลื้ม 'ยูเอ็น' ยกไทยครองอันดับ 1 ในอาเซียน ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกฯยินดีองค์การสหประชาชาติจัดอันดับความยั่งยืนไทยดีขึ้นและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำผลสัมฤทธิ์กำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ

'สสว.' ผนึกกำลัง 'สอวช.' คิกออฟ โครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วย 'บีซีจี'

สสว. ผนึกกำลัง สอวช. คิกออฟโครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วยบีซีจี ยกระดับผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ สร้างโอกาสแข่งขัน เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' จวกทุกพรรคการเมือง 'สอบตก' นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' จวกพรรคการเมืองไทยทุกพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 'สอบตก' เรื่องนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล จี้ทบทวน เรือปั่นไฟจับปลากะตัก เรืออวนลาก เตือนไทยหลีกมาตรการทางสากลต่างๆไม่ได้