อุปกิต กับความหวังชนะคดี หลังศาลยกฟ้อง ทุน มินหลัด-ลูกเขย

ขนาดต้นเรื่องยังไม่ผิด แล้วผมอยู่ที่ปลายเรื่อง เพราะผมไม่ได้มีชื่อเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปที่นั่นมาแปดปี และขายกิจการทุกอย่างก่อนผมมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2562 แล้วแบบนี้ผมจะไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ในเมื่อขนาด 5 จำเลยที่ศาลอาญายกฟ้อง ยังไม่เกี่ยวข้องตามข้อหา  

น่าสนใจไม่น้อย กับทิศทางคดี ของ "สว.อุปกิต"หรือ "อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา"ที่ตอนนี้ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญาฯ  ในคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง ข้อหาเป็น สมาชิกวุฒิสภาสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน, เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฯ ที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อ 14 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

เหตุที่บอกว่าคดีนี้น่าสนใจก็เพราะ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา 30 ม.ค. 2567 ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่อัยการคดียาเสพติด เป็นโจทก์ฟ้องนายทุน มินหลัด (Mr.TUN MIN LATT) นักธุรกิจชาวเมียนมา จำเลยที่ 1 นายดีน ยัง จุลธุระ ลูกเขยนายอุปกิต จำเลยที่ 2 น.ส.น้ำหอม เนตรตระกูล จำเลยที่ 3 น.ส.ปิยะดา คำต๊ะ จำเลยที่ 4 และบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด จำเลยที่ 5 ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง องค์กรอาชญากรรม 

คำตัดสินดังกล่าวสรุปได้ว่า ศาลฯ พิเคราะห์แล้วไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันทำผิด เกี่ยวกับการสมคบค้ายาเสพติด และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พยานหลักฐานของจำเลยสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ทั้งหมด พิพากษายกฟ้อง

ซึ่งรูปคดีดังกล่าว มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับคดีของนายอุปกิต ดังนั้น เมื่อศาลยกฟ้อง จึงทำให้น่าสนใจว่าแล้วคดีของนายอุปกิตจะเดินต่อไปอย่างไร

"อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา"กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีของตนเองที่ศาลอาญาว่า จะมีการนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 4 มี.ค.นี้ หลังเดิมทีศาลนัด 13 พ.ค.แต่ตนขอให้ทนายความร้องขอให้มีการเลื่อนมาให้เร็วขึ้น เพื่อต้องการให้การพิจารณาคดีดำเนินไปรวดเร็วมากขึ้น

เมื่อถามถึงว่า การที่ศาลอาญาฯยกฟ้องคดีที่ลูกเขย ถูกฟ้องเป็นจำเลยเมื่อ30ม.ค.ที่ผ่านมา คิดว่าจะมีผลต่อคดีของตัวเองอย่างไรต่อจากนี้ "อุปกิต"กล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นว่า

"ก็ลองคิดดูว่า ขนาดต้นเรื่องยังไม่ผิด แล้วผมอยู่ที่ปลายเรื่อง เพราะผมไม่ได้มีชื่อเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปที่นั่นมาแปดปี และขายกิจการทุกอย่างก่อนผมมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2562 แล้วแบบนี้ผมจะไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ในเมื่อขนาดห้าคนที่ศาลอาญายกฟ้อง ยังไม่เกี่ยวข้องตามข้อหา"

และเมื่อถามว่า จะนำผลคำตัดสินของศาลอาญาที่ยกฟ้องดังกล่าวมาต่อยอดในการสู้คดีของตนเองหรือไม่ ได้ปรึกษากับทนายความหรือยัง"อุปกิต"กล่าวตอบว่า ยังไม่ได้คุยกับทนายความ  แต่ด้วย common sense ก็คิดว่าน่าจะต้องเป็นแบบนั้น เพราะว่ามันเป็นคดีเดียวกัน เพียงแต่คนละช่วงเวลา

โดย"อุปกิต"ยังกล่าวถึงการที่ศาลยกฟ้องคดีที่ลูกเขยตัวเองตกเป็นจำเลย โดยอธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า คดีดังกล่าว ที่มีการฟ้องเอาผิดจำเลยทั้งหมดร่วมกันทำผิด เกี่ยวกับการสมคบค้ายาเสพติด และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แต่ในขั้นตอนการสู้คดีในชั้นศาล พยานหลักฐานของจำเลยสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ทั้งหมด เมื่อศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแบบนี้ ก็รู้สึกดีใจและโล่งอก แทนผู้ต้องหาทั้งสี่คนบวกกับหนึ่งบริษัท ที่ศาลอาญาฯ ยกฟ้อง ดีใจแทนพวกเขา ที่ได้พึ่งกระบวนการยุติธรรม จนสุดท้าย คำตัดสินของศาลสถิตยุติธรรม ก็อ่านคำพิพากษาชัดเจนว่า ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด

โดยเท่าที่ติดตามจากข่าว มีคำพิพากษาบางตอนที่บอกทำนองว่า ตำรวจทำงานด้วยความสะเพร่า ไม่ได้พิจารณาทำคดีอย่างดี และหลายครั้งระหว่างการพิจารณาคดี ผมก็ได้ทราบว่า ท่านผู้พิพากษาได้ติงฝ่ายอัยการว่า ไม่ทราบว่านำพยานฝ่ายโจทก์จากที่ใดมา เพราะพยานฝ่ายโจทก์เยอะมาก และส่วนมากก็เป็นผู้ค้ายาเสพติด ที่ไม่ได้รู้จักกับกลุ่มของบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป เลยสักคน ไม่มีอะไรที่มาเกี่ยวพันกับยาเสพติดหรือการฟอกเงิน หรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติใดๆ ทั้งสิ้น

ถือเป็นคำพิพากษาที่เคลียร์มาก ชัดเจนมาก โดยลูกเขย ก็ได้รับการปล่อยตัวมาเมื่อ31 ม.ค. หลังถูกจำคุกมาหนึ่งปีสี่เดือน

....สาเหตุที่ศาลอาญายกฟ้องคดีดังกล่าว เพราะไม่มีอะไรเชื่อมโยง ไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้น ที่จะมาเชื่อมโยงที่จะมาเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ -การฟอกเงิน และเป็นการใช้ที่แลกเงิน-โอนเงิน อย่างที่ผมเคยชี้แจงมาตลอด

เพราะการดูแลรับฝากเงิน ถอนเงิน ที่ผมขอใช้คำว่า โพยก๊วน ทางโพยก๊วน จะนำเงินตรงไหนโอนไปที่การไฟฟ้าฯไม่มีใครสามารถทราบได้ ตรงนี้ศาลก็บอกเคลียร์ว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่โอนเงินผ่านโพยก๊วนดังกล่าวไปที่การไฟฟ้าฯ แต่ในเวลาเดียวกัน พยานโจทก์ก็ได้มาให้การว่าบริษัทของเขาต่างก็ใช้โพยก๊วนเดียวกัน รวมถึงรัฐบาลพม่า ก็ยังใช้จ่ายค่าไฟ เพราะฉะนั้นตรงนี้ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ไปเกี่ยวพันเงินยาเสพติด

"อุปกิต"กล่าวถึงการสู้คดีที่ผ่านมาตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงอัยการ และต่อไปที่จะต้องสู้คดีในชั้นศาลว่า ที่ผ่านมา สู้ไปตามความเป็นจริง ผมก็อ่านเอกสารฟ้องของโจทก์(อัยการ)ทั้งหมด ผมและคณะทีมงาน ก็ได้สรุปเส้นทางการเงิน มีเส้นทางไป-มา อย่างไร ก็เลยมาทราบว่าเส้นทางการเงินที่มาเกี่ยวข้องก็คือ จากโพยก๊วน ไปจ่ายค่าไฟฟ้า โดยช่วงสู้คดี ผมก็ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปที่อดีตอัยการสูงสุดในเวลานั้น คือคุณนารี ตัณฑเสถียร ว่ามีบริษัทร่วม 400-500 บริษัท ที่โอนเงินแบบนี้ แล้วทำไม ไม่ไปตรวจสอบหรือไปดำเนินการกับเขา แต่เลือกมาดำเนินการกับพวกที่เกี่ยวข้องกับผมเพราะว่าอะไร

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะข้อเท็จจริง อัยการอาวุโสที่รับผิดชอบคดีนี้ ไม่ยอมให้นำเรื่องนี้เข้าสำนวน เหมือนกับต้องการปิดบังความจริง ที่ผมก็ได้ร้องเรียนไปที่ ประธานคณะกรรมการข้าราชการอัยการหรือก.อ.และอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์

ตำรวจชั่ว-กับพรรคการเมือง ต้องการทำให้ผมเสียหาย

"อุปกิต"กล่าวต่อไปว่า เรื่องคดีนี้ ต้องทำความเข้าใจเรื่อง โพยก๊วน ก่อน ซึ่งหลักก็คือ สมมุติเราให้เงินโพยก๊วนที่พม่าสิบล้านบาท เขาก็จะดูว่ามีลูกค้าในเมืองไทยกี่รายที่ต้องการเงินในพม่าบ้าง เพราะจริงๆ เงินไม่ได้ออกมาจากพม่า เราก็ให้เขาที่โน่น เขาก็มาบัญชี สมมุติมีสิบบัญชี โดยมีบัญชีละล้าน ที่ต้องการเงินพม่า เขาก็สั่งสิบบัญชีดังกล่าวให้โอนเงินไปที่การไฟฟ้าฯ แล้วจากสิบบัญชีดังกล่าว อาจจะมีหนึ่งบัญชีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไร

เหมือนสมมุติคุณไปทานข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีคนนั่งเต็มร้าน แต่มีหนึ่งคนในร้านที่นั่งกินข้าวด้วย เป็นพ่อค้ายาเสพติด แล้วจ่ายเงินให้ร้านด้วยเงินจากการค้ายาเสพติด แล้วเจ้าของร้านอาหารจะรู้เรื่องด้วยหรือ แต่ตำรวจไปจับเจ้าของร้านอาหาร

ลักษณะแบบนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีที่เป็นคดี ซึ่งหากเทียบกับการทำธุรกิจ ที่เดือนหนึ่งๆ มีมูลค่าการทำธุรกิจอยู่ที่ 30-50 ล้านบาท มีแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นบัญชียาเสพติดที่มีการโอนมา แต่ว่า เกิดขึ้นเฉพาะช่วงด่านปิดจากโควิดระบาดเท่านั้น แต่ก่อนหน้านั้น ผมทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าฯ มาร่วมสิบห้าปี ทำไมไม่มีปัญหา ก็เพราะว่าผมได้ขออนุมัตินำเงินสดออกมา ไปที่ธนาคารฝั่งแม่สาย ให้เขาออก แคชเชียร์เช็ค   แล้วก็เอา แคชเชียร์เช็ค   จ่ายที่การไฟฟ้าฯ

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกรณีที่ต้องโอนผ่านโพยก๊วน ที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐบาลเมียนมา เลยไปมีการพันกันแบบนี้ แต่บริษัทอื่นๆ อีกกว่าสี่ร้อยบริษัท ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ โอนเงินจากบัญชีแบบนี้ เข้าบัญชีบริษัทตัวเอง โดยไม่ได้โอนจากบัญชีรัฐวิสาหกิจหรือการไฟฟ้าฯเลย แต่ทั้งตำรวจและอัยการกลับไม่ได้ดำเนินคดีกับพวกนี้ แล้วพอผมท้วงติงไป ก็ยังเฉย

ที่หมายความว่าตั้งใจจะมากลั่นแกล้งผมอย่างชัดเจน เพราะว่าในช่วงนั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ไปอภิปรายในสภาฯเรื่องสว.ทรงเอ ทำให้ผมต้องพบกับวิบากกรรมมาร่วมหนึ่งปีสี่เดือน

ในช่วงแรก ผมก็ไม่ทราบสาเหตุ จนค่อยๆมาศึกษาดู จนพบว่าสิ่งที่เขานำไปอภิปรายมาจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ (พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท )ที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับรังสิมันต์ โดยเอกสารที่อภิปราย เป็นเอกสารซึ่งเป็นเอกสารกระดาษสี ขนาดผมไปขอศาล เขายังไม่ให้ผมเลย แล้วในที่สุดพวกจำเลยในคดีที่ศาลยกฟ้องฯ ที่ก็ไปขอมา ก็ได้เป็นเอกสารขาวดำ แต่นายรังสิมันต์ ได้เอกสารกระดาษสีไปอภิปรายเรื่องผมในสภาฯ

พอมาดูเนื้อหาในคำอภิปราย ก็คือ พ.ต.ท.มานะพงษ์ สร้างหลักฐานเท็จ เพราะเป็นการคุยกันระหว่างผม กับ ทุน มินหลัดเป็นสิบๆปี ซึ่งแทนที่จะแปลทุกหน้า ตามลำดับเหตุการณ์ ก็เลือกบางช่วงมาแปล

ยกตัวอย่าง "ไฟฟ้าฯนี้สามารถจ่ายได้โดย เปิดBank Guarantee  และ L/C” ทั้งที่ ผมพูดเรื่อง ลาว เขาอยากซื้อทองคำในประเทศไทย จึงต้องเปิด L/C เพื่อจะมาดูทองคำ เพราะทองคำแท่ง ไม่ใช่จู่ๆ จะเดินเข้ามาดูในร้านได้ แต่คนขาย เขาต้องมั่นใจว่า มีเงินถึงจะมาดูได้ พอดูก็จะเห็น serial number แล้วก็เช็คไปที่สวิสเซอร์แลนด์ได้ จนเมื่อพอใจแล้วก็เปิดL/C  สั่งซื้อของ แต่พ.ต.ท.มานะพงษ์ ก็ไปแปลว่า ไฟฟ้าฯสามารถเปิด L/C  หรือ เปิดBank Guarantee จ่ายได้  ที่มันคนละธุรกิจ คนละเรื่องกันเลย หรือเรื่องที่ผมคุยกับ ทุน มินหลัด ว่ากำลังดำเนินการช่วยบริษัทไทย บริษัทหนึ่งที่ถูกพม่าโกง ไปสร้างโรงปูนไว้แล้วโดนเอกชนพม่าโกงเป็นหมื่นล้าน ก็มาแปลว่า เห็นไหม ผมรับรู้เรื่องไฟฟ้าทั้งหมด

อันที่สาม ที่ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ที่ผมพูดถึง การที่ นายทุน มินหลัดเรื่อง ไปดูระบบโรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า ระบบสายส่งที่ลาว แต่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ก็มาแปลว่า เห็นไหม ผมรู้ดีเรื่องไฟฟ้าในเมียนมา มันคนละเรื่อง คนละประเทศ

...ที่ก็คือ สร้างหลักฐานเท็จ เพื่อที่จะเอาผิดผมให้ได้ และด้วยหลักฐานพวกนี้ เขาก็มาขอหมายจับผม ทั้งที่ไม่มีเรื่องอะไรเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย คุยกันเป็นสิบๆปี ถ้าเป็นผู้ค้ายาอะไร ก็ต้องมีการพูดว่า "มายัง ของมายัง" "น้ำหนักเท่าไหร่" "จะให้ใครมารับ" แต่ไม่มีเลย เขาก็เลยมาปรักปรำว่าผมครอบงำธุรกิจไฟฟ้าเท่านั้น

การที่เขาไปออกหมายจับผมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ผิดกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผิดระเบียบของศาลฎีกาฯที่ได้ออกไว้ว่า ต้องแจ้งให้ทราบว่าจะขอหมายจับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กรณีของผม เขาไม่ได้มีการไปแจ้งผู้พิพากษาเวรว่าผมเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสาเหตุที่มีระเบียบดังกล่าว ก็เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งจริง ๆแล้ว แค่โทรศัพท์มาหาผม ผมก็ต้องรีบไปชี้แจงแล้ว หรือออกหมายเรียกก็ได้ โดยหากออกแล้วสองครั้ง ถ้าผมไม่ไปตามหมายเรียก ก็ออกหมายจับผมได้ แต่สิ่งที่เกิดกับผม กลับรีบทำแบบด่วนสรุป เหมือนกับที่รีบจับ ทุน มินหลัดและลูกเขยผม และผู้ต้องหาคนอื่น จากนั้นค่อยยัดเยียดให้สามสิบกว่าข้อหา หลังจับพวกเขาไปกักขัง 7 ผลัด กับอีก 48 วัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดมันผิดเพี้ยนไปหมด

"ทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า ตำรวจชั่ว บวกกับพรรคการเมืองที่ต้องการหาเสียง ต้องการทำให้ผมเสียหาย เพราะว่าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ร่วมรัฐบาล เช่าตึกของผมอยู่ แล้วผมเป็นสว.ที่รัฐบาลชุดที่แล้ว เขาเลือกมา"

"อุปกิต"กล่าวต่อไปว่า สำหรับ พ.ต.ท.มานะพงษ์ มีเพื่อนชื่อ พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล ที่เป็นคนเผยแพร่ การเขียนร้องเรียนผู้พิพากษา ที่ยกเลิกหมายจับผม ไปที่คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ โดยสารวัตร ธีรวัตร์ เป็นคนเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียว่า เป็นห่วง พ.ต.ท.มานะพงษ์ จะได้รับผลกระทบโดนอะไรต่างๆ เพื่อจะหาว่าผมเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งผมถามคำเดียวว่า หากผมเป็นผู้มีอิทธิพล ถ้าอดีตผู้บัญชาการตำรวจต้องการช่วยผม ทำไม เขาไม่ปล่อยลูกเขยผม และพวก ตอนที่คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของตำรวจ ทำไมต้องกักขังไว้ ทั้งที่ไม่มีความผิด และตอนนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำผิดเลย กับคำตัดสินที่ศาลอาญายกฟ้อง  แต่เขาต้องไปติดคุกติดตารางฟรี หนึ่งปีกับอีกหกเดือน ถามว่าใครจะรับผิดชอบ

..ตัวของ พ.ต.ท.ธีรวัตร์  ก็มีภรรยาคือ ทนายแจม  น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ที่ตอนนี้คือ สส.กทม.พรรคก้าวไกล โดยพบว่าในตอนเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ตัวของรังสิมันต์ โรม-พ.ต.ท.ธีรวัตร์ และทนายแจม ที่ลงเลือกตั้ง ทั้งสามคน มีการช่วยกันหาเสียงให้กับ ทนายแจม แล้วพบว่า มีการนำเรื่องของผมไปพูดด้วยตอนหาเสียง แล้วหลังเลือกตั้ง พอนายรังสิมันต์ โรม ได้เป็นประธาน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ตั้งให้ พ.ต.ท.ธีรวัตร์ เป็นเลขานุการคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ พวกนี้คือมีแนวคิดอุดมการณ์เดียวกันหมด เป็นรุ่นเดียวกันหมด และร่วมกันพยายามที่จะซักทอดผม ในเรื่องที่ร้ายแรงที่สุดที่จะทำได้ เพื่อที่ต้องการจะได้คะแนนในการเลือกตั้ง เพื่อที่จะได้ทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วเสื่อมเสีย แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีที่ผมเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ถูกต้องหมด คือต่างตอบแทน และมีลักษณะเป็นสภาผัวเมีย แล้วที่เคยด่าคนอื่นเขาไว้ แต่สุดท้าย ตัวเองนำไปปฏิบัติหมด

ลั่นหากสุดท้ายชนะคดี เตรียมฟ้องกลับ-เอาคืนทั้งหมด

"อุปกิต-สมาชิกวุฒิสภา"กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสำหรับคดีของตนเอง ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ก็เห็นแล้วว่า ตำรวจชั่วร่วมกับนักการเมือง ขณะที่กลางน้ำ คืออัยการ ก่อนหน้านี้ ผมก็เคยทำเรื่องขอความเป็นธรรมไปที่ คุณนารี ตัณฑเสถียร อดีตอัยการสูงสุดหลายรอบ ทั้งที่เมื่อเป็นอัยการสูงสุด ก็ควรดูอย่างละเอียดเช่น ผมเคยแจ้งไปว่า มีบริษัทอีกร่วม 400-500 บริษัท โอนเงินแบบนี้ แต่ก็ไม่ไปดำเนินการ แต่สุดท้าย ก่อนหมดวาระ ก็เซ็นสั่งฟ้องผม 6 ข้อหาที่ฉกาจฉกรรจ์มาก

... และผมมาทราบทีหลังว่า ท่านได้ตั้งเพื่อนท่านคนหนึ่งที่เป็นอัยการอาวุโส มาคุมคดีนี้กับคดีตู้ห่าว คำถามคือทำไมต้องตั้งอัยการอาวุโสในเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดมีสำนักงานคดียาเสพติด ที่มีทั้งอธิบดี-รองอธิบดี มีลูกน้องตั้งร่วม 40 คน ที่พร้อมจะว่าความและดูเรื่องนี้ แต่กลับไปตั้ง อัยการอาวุโส มาคุม ที่ไม่ได้มีลูกน้องทีมงานอะไร แล้วสุดท้าย ก็ต้องไปขอตัวทีมงานจากสำนักต่างๆ มาช่วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอคติอะไรกับผม เพราะผมเคยฟ้องนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ แล้ววันที่มีการไต่สวนมูลฟ้องที่ศาล เขาก็เดินขึ้นมากับอัจฉริยะ เขาก็เรียกทนายไป โดยบอกกับทนายว่า ถ้าผู้กำกับที่ทำเส้นทางการเงิน มาเป็นพยานจำเลย เขาจะเอาออกจากราชการ ด้วยความผิดมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ผมยังคิดเลยว่า โห..เขาเป็นอัยการใหญ่มาก ขนาดศาลออกหมายเรียกให้เบิกความเป็นพยาน แล้วยังไปข่มขู่ตำรวจไม่ให้มาเบิกความ แล้วในที่สุด เขาก็ไม่ได้มา ก็เลยสรุปท้ายฟ้องไปว่า อัยการผู้นี้ ต้องการปิดบังข้อเท็จจริง เพราะหน้าที่ของอัยการเขามีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความผิดและพิสูจน์ความถูกต้องด้วย

"อุปกิต"เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมา หลังถูกยื่นฟ้องและมีการอายัดทรัพย์ฯ ทำให้ชีวิตได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อย่างบัญชีเงินเดือนการเป็นสว.ก็ยังถูกอายัด คือกะให้ผมตายไปเลย ไม่ต้องมีอะไรใช้ วันที่อัยการยื่นฟ้องผม 14 ธ.ค. 2566 ผมต้องไปยืมเงินเพื่อนมายื่นขอประกันตัวต่อศาล เพราะที่ดินของผม ทุกแห่งถูกอายัดไว้หมด ทั้งที่เป็นที่ดินมรดก เรียกว่า ไม่เปิดทางให้ผมหายใจเลย อย่างนี้เรียกว่ากลั่นแกล้งหรือไม่

-หากสุดท้าย คดีของตัวเอง ถ้าศาลยกฟ้อง จะดำเนินการอย่างไร?

ผมก็จะใช้กฎหมายดำเนินการจนถึงที่สุด กับทุกคนที่กล่าวหาและไม่ให้ความเป็นธรรมกับผม ตัวผมจะทำให้เป็นตัวอย่างของคดีที่ ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม 

การสู้่คดี ผมมั่นใจมาก เพราะผมไม่ได้ทำผิด ที่ผมก็ยืนยันมาตลอด เพราะหากดูจากที่ผมให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง ผมก็พูดเหมือนกันหมดทุกครั้ง เพราะลำดับเหตุการณ์ได้ตลอด แต่ตอนแรกที่ผมไม่ได้ออกมาพูดเรื่องนี้เพราะเกรงจะกระทบกับคดีลูกเขยผม เพราะผมตกใจมาก ครอบครัวผม ไม่เคยโดนจับโดนอะไรเลย ผมเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์อะไรกับ ตำรวจ อัยการ และศาล ทำให้ผมตกใจจริงๆ แต่พอศาลอาญาตัดสินยกฟ้อง เมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา คืนนั้น ทำให้ ผมได้นอนหลับอย่างสบายใจมากที่สุดวันหนึ่งในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาหลังเกิดเรื่องขึ้น แต่คิดว่า คืนนั้น คงมีหลายคน นอนไม่หลับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.อุปกิต ครวญตกเป็นเหยื่อยุติธรรมสามานย์

นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่ตนตกเป็นเหยื่อความยุติธรรมสามานย์ของคนบางกลุ่มในกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้อำนาจกลั่นแกล้งในการทำลายผู้อื่น สิ่งที่ตนจะอภิปรายต่อไปนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหากระบวนการต้นน้ำและกลางน้ำ ของการบังคับใช้กฎหมาย ที่รัฐบาลชุดนี้ ไม่มีความชัดเจนจริงจังในการแก้ปัญหา

ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐาน คดี 'สว.อุปกิต' สมคบค้ายา-ฟอกเงิน

ศาลอนุญาตเลื่อนนัด ตรวจหลักฐานคดีกล่าวหา 'สว.อุปกิต' สมคบค้ายาเสพติด-ฟอกเงิน 22 เม.ย. เหตุยังคัดถ่ายเอกสารคดีทุนมินลัตไม่ได้ เจ้าตัวมั่นใจบริสุทธิ์ ขู่ฟ้องกลับกราวรูด

อัยการคดียาเสพติด สั่งฟ้อง 'สว.อุปกิต' ถูกกล่าวหาพัวพันเครือข่าย 'ทุน มิน ลัต'

พนักงานอัยการสำนักงานคดียาเสพติดนัดส่งตัวฟ้องในคดีที่ อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง นายอุปกิต ปาจารียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ข้อหา เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน, เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ สนับสนุนหรือช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฯ

'สว.อุปกิต' ฟ้องแพ่ง 'โรม' ละเมิดอีกคดี เรียกค่าเสียหาย 20 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ท