ดร.มุนินทร์-นิติศาสตร์ มธ. ชี้จุดเสี่ยง คำตัดสินศาลรธน. ก้าวไกล กับโอกาสรอด ยุบพรรค

ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ ศาลอาจจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก็ได้ โดยศาลอาจมองว่ามันไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 92(1)   ของพรบ.พรรคการเมืองฯก็ได้ ศาลยังมีอำนาจพิจารณาอยู่เพราะเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่แยกต่างหากจากรัฐธรรมนูญ ...สิ่งที่เกิดขึ้นจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคก้าวไกล มันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ทุกๆความผิดของกฎหมาย เพราะแต่ละกฎหมาย ก็กำหนดวิธีการในการพิสูจน์ความผิด มีกระบวนการพิจารณาทางคดีที่แตกต่างกัน

ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ในคดี"ล้มล้างการปกครอง"ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ

เป็นคำวินิจฉัยที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองตามมามากมาย โดยเฉพาะอาจถึงขั้นทำให้พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ตลอดจนส.ส.ก้าวไกล 44 คนที่เคยเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ในสภาฯสมัยที่แล้ว ก็กำลังถูกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เอาผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ เพื่อให้ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต!

คำวินิจฉัยดังกล่าว มีมุมมอง-ทัศนะจากนักกฎหมายที่ติดตาม-ศึกษาเรื่องการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญมาตลอดหลายปี นั่นก็คือ "รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ -อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์" 

"ดร.มุนินทร์"กล่าวว่า มีข้อสังเกตุสองประเด็นต่อคำวินิจฉัยคดีพรรคก้าวไกลดังกล่าว

..ประเด็นแรกคือเรื่อง"สมดุลอำนาจระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" ผมคิดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงกลไกทางกฎหมายที่ถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพ.ศ.2560ที่วางให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดเหนือองค์กรรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนองค์กรอื่นๆ

...โดยปกติ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะถูกค้ำจุนโดยหลักการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามองค์กร คือรัฐสภา ที่ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ -คณะรัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจทางบริหาร และฝ่ายตุลาการที่ใช้อำนาจฝ่ายตุลาการ โดยแต่ละองค์กร จะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ โดยอาจจะมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันในบางกรณี แต่ต้องถือว่าทั้งสามองค์กรเป็นองค์กรสูงสุดที่อยู่ในระนาบเดียวกัน มีสถานะเดียวกัน เป็นสามองค์กรสูงสุดของรัฐ ที่ทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน

...สำหรับสถานะของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุล อย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีพรรคก้าวไกลเมื่อ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาก็มีระบุไวัตอนหนึ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลร่างกฎหมายต่างๆ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่หากเราดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็จะพบว่า อย่างในมาตรา 49 หรือมาตราอื่นๆ ก็เปิดช่องที่ไม่ใช่แค่ช่องเล็กๆ หรือให้อำนาจแค่บางกรณี แต่ว่าให้ศาลมีอำนาจเข้าไปควบคุมตรวจสอบการกระทำขององค์กรของรัฐ หรือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างกว้างขวางและอย่างทั่วไป

..หากดูในมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการให้บุคคลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องเรื่องคดีล้มล้างการปกครองฯ ก็กำหนดให้บุคคลใดก็ได้ ไปยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อน แต่ถ้ายื่นอัยการสูงสุดครบ 15 วันแล้วไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็ให้ไปยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ บทบัญญัติดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเป็นการทั่วไป ที่จะเข้าไปควบคุมตรวจสอบอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา

นอกจากนี้ยังเคยมีตัวอย่างในอดีตที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบคำตัดสินของศาลอื่น ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสามระบบศาล คือ ระบบศาลยุติธรรม ระบบศาลปกครอง และระบบศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลักทั้งสามศาลนี้จะอยู่ในระนาบเดียวกัน มีอำนาจเสมอกันและทำหน้าที่ภายในเขตอำนาจตัวเอง แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยถูกตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วในคำวินิจฉัยคดีสัญญาการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ ที่องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้ขอให้ที่ประชุมใหญ่ของตุลาการช่วยกันชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อให้องค์คณะในการใช้ในการตัดสินคดี แต่ต่อมามีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ามติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นด้วยและประกาศว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลสูงสุดของแต่ระบบศาล อาจจะถูกศาลรัฐธรรมนูญประกาศได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญถ้ามีคนไปร้อง  

"เพราะฉะนั้นสถานะของศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่เหนือองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยองค์กรอื่นๆ ที่ก็ไปขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ"

... และในทางปฏิบัติและในทางการเมือง ก็จะทำให้มีผลกระทบสืบเนื่องตามมาเยอะ เพราะเมื่อในความเป็นจริงศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจสูงกว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี ก็จะทำให้เวลาคณะรัฐมนตรี จะทำอะไรต่างๆ ก็จะรู้สึกระแวดระวัง วิตกกังวลว่านโยบายของตัวเองหรือการกระทำของฝ่ายบริหาร จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบบร้องทุกข์ในทางรัฐธรรมนูญ (มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ) ที่ให้ใครไปร้องก็ได้ เมื่อร้องแล้วคำร้องต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลก็จะทำให้ ซึ่งอาจจะมีผลให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือการดำเนินนโยบายต่างๆ หยุดชะงักหรือถูกยกเลิกได้ ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายมหาชน มันมีหลักที่ว่าศาลจะไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบการทำในทางรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องการดำเนินการในทางนโยบายของฝ่ายการเมือง ที่หากมีสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบทางการเมือง เว้นแต่เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตก็ต้องรับผิดชอบในทางอาญาเป็นรายกรณีไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหารได้ ก็เท่ากับว่าการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ จะถูกกำหนดและตัดสินใจโดยศาลธรรมนูญไปเสีย

... ในเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองของฝ่ายบริหาร เวลาทำนโยบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าคนไม่เห็นด้วยก็จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ หรือ สส. หรือ สว. หยิบยกไปอภิปรายในสภา ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ก็ต้องไปชี้แจงต่อสภาฯ ที่สิ่งนี้คือความรับผิดชอบทางการเมือง ถ้านโยบายล้มเหลว คนก็จะไม่เลือกพรรคนั้นหรือรัฐมนตรีคนนั้นอีก นี่คือระบบความรับผิดชอบทางการเมืองที่อยู่ในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ แต่เมื่อใด ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเป็นการทั่วไป โดยเข้ามาชี้ได้ว่า การกระทำในทางบริหาร การกระทำในทางการเมือง ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การบริหาราชการแผ่นดิน ก็ต้องหยุดชะงัก ไม่เป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนด้วยความราบรื่น

..อย่างกรณีของรัฐบาลปัจจุบัน แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่มีใครไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบนโยบาย แต่วันข้างหน้าอาจจะมีก็ได้ เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งดีไม่ดีอย่างไร ประชาชน สส. และสว. ก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่ถ้ามีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญเกิดสั่งให้หยุดการดำเนินการตามนโยบายก็จะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง ทั้งในแง่หลักการกฎหมายและการเมืองในความเป็นจริง มันไม่ควรที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะถือเป็นการเข้าไปแทรกแซงในพรหมแดนอำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

"ดร.มุนินทร์"ให้ทัศนะต่อไปว่า สำหรับในส่วนของรัฐสภาที่ใช้อำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เช่นเดียวกัน โดยจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคก้าวไกลเมื่อ 31 มกราคม สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งสัญญาณไปก็คือ ร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภา ทางศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจในการที่จะเข้าไปตรวจสอบ โดยไม่ได้แค่ตรวจสอบร่างพรบ.ที่สภากำลังพิจารณาหรือผ่านรัฐสภาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่านโยบายในทางนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญก็เข้าไปตรวจสอบได้  ซึ่งผลก็คือทำให้พรรคการเมืองเกิดความระแวดระวังในการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย ทั้งๆ ฝ่ายนิติบัญญัติควรมีอำนาจและดุลยพินิจอิสระในการใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบในลักษณะที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น  แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกว้างขวาง พอศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจกว้างขวาง การใช้อำนาจนิติบัญญัติก็จะไม่เป็นไปอย่างอิสระเสรีตามเจตจำนงที่ประชาชนได้ให้ไว้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมากับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก และอยู่เหนือองค์กรอื่นๆ ก็คือทำให้ การทำหน้าที่ตามบทบาทที่มีภายใต้รัฐธรรมนญ ก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เกิดความไม่แน่นอน ไม่เป็นอิสระ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการในทางรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผมกังวลมาก หลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 มกราคม

"ดร.มุนินทร์"ให้ความเห็นต่อไปว่า แน่นอนว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่บทบัญญัติเหล่านั้นมีปัญหา เพราะให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการเขียนเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากกว่าเดิม ซึ่งคำวินิจฉัยคดีพรรคก้าวไกล คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่กว้างขวาง จนสามารถล้ำเข้าไปในดินแดนของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการทั่วไป และสามารถตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอื่นที่ก็ทำมาแล้วจากคำวินิจฉัย ที่กล่าวถึงข้างต้นในคดีโฮปเวลล์ (ศาลปกครองสูงสุด) ซึ่งเรื่องลักษณะแบบนี้เราไม่เคยเจอมาก่อนในอดีต นับแต่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ผมไม่ได้กังวลเฉพาะแค่คดีที่ตัดสินเมื่อ 31 มกราคม แต่ผมกังวลต่อไปในอนาคตด้วยว่า กลไกที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันวางไว้ มันอาจทำให้เกิดคดีคล้ายๆ กันแบบนี้อีก ที่ก็อาจเกิดขึ้นกับฝ่ายบริหาร ฝายนิติบัญญัติ ในกรณีอื่นๆ ซึ่งความกังวลดังกล่าว จริงๆ เป็นความกังวลที่มีต่อตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมากกว่าตัวศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลก็ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลทำได้ เขาก็ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้ ต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป และคดีพรรคก้าวไกล ดังกล่าวก็คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มากมายมหาศาลของศาลรัฐธรรมนูญ

-ก็คือมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ ดังกล่าว ไปล้ำเขตแดนอำนาจ?

อำนาจอธิปไตย ที่รัฐธรรมนูญมอบให้องค์กรอื่นๆ และทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะอยู่สูงกว่า องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยองค์กรอื่นๆ ที่ก็คือมีสถานะสูงกว่ารัฐสภา มีสถานะสูงกว่าคณะรัฐมนตรี และสูงกว่าศาลอื่นๆ ทั้ง ศาลยุติธรรม ศาลปกครองสูงสุด อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล และยังเป็นอำนาจทั่วๆ ไป เป็นอำนาจที่กว้างขวางมาก ที่กว้างมากกว่าตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยให้อำนาจกับศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มีโอกาสที่ศาลจะใช้อำนาจเหล่านี้เข้าไปในสถานการณ์ต่างๆ ในดินแดนของแต่ละองค์กรได้ง่ายขึ้น

เหตุผลชี้"ก้าวไกล"ล้มล้างฯ  ขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมาย

"ดร.มุนินทร์"กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตุประเด็นที่สองในคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ มองว่า เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ประกอบคำวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ มีบางเรื่องที่ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุผลที่ศาลให้มันไปขัดกับ"หลักการพื้นฐานทางกฎหมาย"หรือไม่

..โดยตัวอย่างก็คือกรณีคำวินิจฉัยของศาลระบุถึงพฤติการณ์ของส.ส.พรรคก้าวไกล เคยไปประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยคดี 112 บ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนา แต่สิทธิในการได้รับการประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมายที่ทุกคนควรได้รับ ซึ่งหากคนที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ไม่มีนายประกัน ไม่มีหลักทรัพย์ เขาอาจต้องถูกคุมขัง ไม่ได้รับอิสรภาพ

ดังนั้น หากมีคนที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้ตัวเองได้รับอิสรภาพ การที่คนอื่นเข้าไปช่วยเหลือให้เขาได้รับการประกันตัว ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในทางกฎหมายสิ่งนี้ถือเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ แต่กลายเป็นว่าถูกตีความไปว่าเป็นเรื่องพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็เลยยังขัดๆ กันอยู่ กับหลักการดังกล่าว

..ประเด็นต่อไปคือกรณี ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ส.ส. -ผู้บริหารพรรคก้าวไกล ตกเป็นผู้ต้องหา -จำเลยในคดี 112 บางคนถูกศาลพิพากษาจำคุกจากคำตัดสินของศาลชั้นต้น บางคนอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี แล้วศาลก็มองว่า นี้แหละ คนเหล่านี้ มีเจตนา-มีส่วนในการล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งจริงๆ แล้วมันขัดกับหลักพื้นฐานกฎหมายอาญาที่ว่าตราบใดที่ศาลยังพิพากษาไม่ถึงที่สุด ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งคดียังไม่ถึงศาลฎีกาเลย สุดท้าย ศาลอาจตัดสินไม่ผิดก็ได้ จะบอกว่าเขาผิดไปแล้วตามมาตรา 112 แล้วจะมาบ่งชี้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองฯ มันก็จะขัดกันเองกับหลักการที่ต้องสันนิษฐานก่อนว่า จำเลยยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินคดีจนถึงที่สุด

ผมเลยกังวลว่า เหตุผลที่ศาลให้กับคำตัดสินคดีพรรคก้าวไกล ยังมีหลายส่วนที่ขัดกับหลักการของกฎหมาย เลยทำให้เกิดคำถามหลายคำถามที่นักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ ต้องถกเถียงกันต่อ และเรื่องนี้ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่อย่างที่บอกคือเป็นคำวินิจฉัยที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป 

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับศาลด้วย เพราะตอนนี้ก็ต้องรอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มว่าศาลให้เหตุผลอย่างไรในรายละเอียดต่างๆ ที่อาจจะทำให้เราเข้าใจศาลได้มากขึ้นก็ได้ เพื่อดูว่าศาลรับฟังพยานหลักฐานแต่ละชิ้น ศาลให้เหตุผลอย่างไร และหลักการของกฎหมายที่มันขัดกันเอง ศาลอธิบายอย่างไร

ยุบพรรคก้าวไกลเอาผิดส.ส.ยื่นแก้ 112 ยังมีโอกาส ชนะคดี 

-รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลผูกพันทุกองค์กร ตอนนี้มีคนไปร้องกกต.ให้เอาผิดพรรคก้าวไกลด้วยการให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงไปร้องต่อป.ป.ช.ให้เอาผิดส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คนที่เคยเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ในสภาฯสมัยที่แล้ว ในเชิงกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อเรื่องที่ไปร้องกับกกต.และป.ป.ช.หรือไม่?

เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยภายใต้กรอบของมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่ในคำร้องเพียงแค่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดเรื่องมาตรา 112 ส่วนการดำเนินการภายใต้กฎหมายอื่นๆ ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการภายใต้กฎหมายนั้นๆ

อย่างเช่น"การร้องเพื่อให้ยุบพรรค"ที่เป็นมาตราการซึ่งถูกกำหนดอยู่ในพรป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) ที่มีการเขียนถ้อยคำในมาตราดังกล่าว คล้ายๆ กับมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ แต่ว่าไม่ได้มีการอ้างอิงโดยตรงว่า หากเกิดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 49 แล้ว ต่อไปต้องดำเนินการตามมาตรา 92 (1) ของพรบ.พรรคการเมืองฯ

อันหมายถึงหากจะมีการดำเนินการขอให้มีการยุบพรรคการเมือง ต้องว่าไปตามที่พรป.พรรคการเมือง ฯ กำหนดไว้ โดยหากกกต.รับเรื่องไว้พิจารณา ก็อาจมีการไต่สวนเรื่องที่ร้องมา แต่จะใช้เวลาไต่สวนสั้นหรือยาว เป็นดุลยพินิจของกกต. โดยหากกกต.มีความเห็นตามมาตรา 92  ก็ต้องส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและวินิจฉัย โดยหากศาลรับคำร้อง ก็อาจมีการไต่สวนคำร้องอีก แต่จะใช้เวลาไต่สวนสั้นหรือยาว หรือจะไม่ไต่สวนเลย โดยอาจอ้างคำวินิจฉัยเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว หรือจะไต่สวนอีก เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องอีกครั้ง ก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรคก็ได้ เพราะว่าตัวมาตรา 92(1)  ของพรบ.พรรคการเมืองฯ ไม่ได้บังคับว่าต้องยุบ หากศาลมองว่ามันไม่ถึงขั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 92(1)  ที่อาจะมีมาตรฐานในการพิสูจน์แตกต่างจากมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ศาลก็อาจจะไม่ยุบพรรคก็ได้

แน่นอน หลายคน คงมองว่า โอกาสที่ศาลจะไม่ยุบพรรคเกิดขึ้นยาก เพราะศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง แม้จะเป็นการล้มล้างตามรัฐธรรมนูญ มันก็น่าจะเป็นการล้มล้างเดียวกันตามกฎหมายพรรคการเมือง หรือไม่ หลายคนก็คาดคิดว่าผลที่ออกมามันจะส่งผลไปแบบนี้

แต่ผมต้องยืนยันในหลักการทางกฎหมายว่ามันยังคงมีความเป็นไปได้ที่ ศาลอาจจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก็ได้ โดยศาลอาจมองว่ามันไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 92(1)   ของพรบ.พรรคการเมืองฯก็ได้ ศาลยังมีอำนาจพิจารณาอยู่เพราะเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่แยกต่างหากจากรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐธรรมนูญ เขียนสอดรับกันชัดๆ เลยว่า ถ้าศาลวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ตามพรบ.พรรคการเมืองฯ ถ้าแบบนี้คือมันชัดเจน ปฏิเสธไม่ได้เลย คือเมื่อวินิจฉัยว่าเข้าข่ายตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญแล้วให้ดำเนินการตามมาตรา 92 ของพรบ.พรรคการเมืองฯเลย แต่อย่างที่เห็นคือมันไม่ได้มีการโยงกันชัดขนาดนั้น เพียงแต่เขียนข้อความไว้คล้ายกัน ผมก็คิดว่ามันยังเป็นส่วนที่แยกกันได้

ส่วนเรื่องการดำเนินการเอาผิดส.ส.พรรคก้าวไกลสมัยที่แล้ว 44 คนที่เข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯว่าทำผิดตามมาตรฐานจริยธรรมฯนั้น ทางป.ป.ช. ก็มีมาตรฐานกระบวนการพิจารณาของป.ป.ช.

สิ่งที่เกิดขึ้นจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคก้าวไกล มันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ทุกๆความผิดของกฎหมาย เพราะแต่ละกฎหมาย ก็กำหนดวิธีการในการพิสูจน์ความผิด มีกระบวนการพิจารณาทางคดีที่แตกต่างกัน มาตรฐานในการรับฟังพยานหลักฐานก็มีความแตกต่างกัน เช่นในทางอาญา ก็ต้องดูเรื่ององค์ประกอบในทางอาญา ต้องดูเจตนา คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อมีคนไปยื่นเรื่องแล้ว แต่ละองค์กรจะมีกระบวนการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายแบกเพื่อไทย' ตบปาก 'นายกฯว่าว' โทษฐาน แนะ 'นายกฯอิ๊งค์' ใช้เวทีสภาฯ ลบคำครหาเรื่องโพย พึ่งพ่อ

นายอิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความว่า พิธา แนะนายกฯอิ๊ง ให้ใช้เวทีสภาฯ แส

'ทักษิณ' เกทับ! เลือกตั้งครั้งหน้า กวาด สส.เชียงใหม่ ครบ 10 ที่นั่ง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือสว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้

พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ