ความคิดปุถุชน .. แก้กรรมด้วยความไม่เข้าใจธรรม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เมื่อคืนวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๗ ได้มีโอกาสอรรถาธิบายธรรมแก่คณะสงฆ์และศรัทธาสาธุชน ที่วัดป่าพุทธพจน์ฯ จ.ลำพูน ในเรื่อง กฎเกณฑ์ของกรรมที่สัมพันธ์กับวิถีจิต ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรม (ธรรมนิยาม) ตามหลักอิทัปปัจจยตา เพื่อสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในเรื่องของกรรม.. ที่ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์กรรมใน วิถีพุทธศาสนา!!

โดยกล่าวถึง วงจรไตรวัฏฏะ.. ที่หมุนวนเวียนไปตามเหตุปัจจัยใน กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ วิปากวัฏฏะ.. ที่แสดงถึงความเป็นจริงว่า  ธรรมทั้งหลาย.. กำลังดำเนินไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิจ โดยไร้อัตตาควบคุมสั่งการ.. อันเป็นไปตาม กฎอนัตตา

ความเข้าใจในเรื่องอนัตตาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต ว่า แท้จริง ชีวิตที่แยกย่อยออกไปเป็นรูปนามหรือขันธ์ ๕ นั้น ล้วนไร้ความเป็นอัตตา..!!

หากจะทำความเข้าใจในความหมายของกฎอนัตตานั้น พึงทำความเข้าใจในความหมาย ๔ ลักษณะ ได้แก่ เมื่อรื้อค้นเข้าไป จะพบความว่างเปล่า.. ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใครๆ ที่จะบงการให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ได้.. ทุกอย่างจักต้องสละคืน จะถือความเป็นเจ้าของหาได้ไม่ และที่สุดย่อมแย้งกับคำว่า.. อัตตา

ความเข้าใจในความหมายของอนัตตาดังกล่าว จะนำไปสู่การเข้าใจในความเป็นจริงอย่างเป็นปกติธรรมดาของธรรมชาติ.. และทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ โดยเฉพาะชีวิตของคนเรา.. ที่หลงสำคัญผิดให้ยึดถือกันว่าเป็นตัวตน.. จนเกิดความวิปลาส

ความวิปลาสคลาดเคลื่อน วิปริตผิดไปจากธรรม จึงก่อให้เกิด ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ให้เข้าไปยึดถือว่า รูปเป็นเรา เราเป็นรูป รูปมีในเรา เรามีในรูป.. แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นเรา.. มีในเรา ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่า ความสำคัญผิดโดยยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน.. ซึ่งเป็นไปในวิสัยปุถุชนทุกคน..

ความเห็นผิดดังกล่าว จึงนำไปสู่การยึดมั่นในการกระทำ (กรรม) ว่าเป็นตัวตน.. เพื่อสร้างผลที่เป็นตัวตนตามความต้องการที่ทะยานอยากเข้าไปจับยึดถือ เพื่อกระทำการให้เกิดความเป็นตามที่ต้องการนั้น...

จึงได้เห็นการกระทำกรรมทั้งดีและชั่ว.. เพื่อสนองตอบความต้องการในความเป็นตัวตน จนนำไปสู่ความสำคัญผิดว่า.. มีผู้กระทำการนั้นๆ ในกรรมดี-กรรมชั่วนั้น.. ให้เกิดการรับผลการกระทำในความเป็นตัวตนขึ้น.. ในฐานะความเป็นสัตว์ที่เกิดจากการอุปาทานในขันธ์ ๕.. ว่า เราเป็นรูป.. เรามีในรูป เป็นต้น

จึงไม่แปลกที่จะมีการสั่งสอนในระดับโลกียะ ให้กระทำเพื่อหวังผลในความเป็นตัวตน มีภพชาติ.. แม้จะสร้างคุณความดี ก็เป็นไปเพื่อภพชาติ ที่เรียกว่า วัฏฏกุศล.. คือ เป็นกุศลหรือคุณความดีที่ไม่พ้นไปจาก วัฏฏสงสาร มีการเวียนเกิด เวียนตาย ไม่มีที่สิ้นสุด.. มีแต่ความทุกข์

ด้วยความเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง.. ด้วยไม่เข้าใจในหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ กฎอนัตตา .. จึงทำให้เกิดความลุ่มหลงในความเป็นสัตว์ขึ้น ที่ยากจะเข้าใจในธรรมชาติของสัตว์นั้นๆ .. ที่มีชีวิตดำเนินอยู่ในวงจรไตรวัฏฏะ ขับเคลื่อนด้วย กิเลส กรรม วิบาก หมุนวนไม่จบไม่สิ้น ตราบยังมีเหตุปัจจัยถึงพร้อมในความเป็นสัตว์โลกที่มีชีวิตนั้นๆ

ความเข้าใจเรื่องของกรรมในความเป็นตัวตน.. มีตัวตนในการกระทำ.. จึงเกิดขึ้นในหมู่ผู้อ้างตนเป็นชาวพุทธ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยยึดมั่นในความเป็นตัวตนที่สามารถกระทำการต่างๆ นานาได้ตามความต้องการ ด้วยความเห็นผิดดังกล่าวจึงนำไปสู่การคิดว่า กรรมสามารถแก้ได้ตามความต้องการของตนเอง.. การแก้กรรมด้วยนานาวิธีตามความคิดของปุถุชน ที่ผูกมัดด้วยโอภารัมคิยสังโยชน์ ที่ยังมีสักกายทิฏฐิ จึงเกิดขึ้น.. ด้วยการพึ่งพาอ้างอิงอำนาจภายนอก ที่เชื่อมั่นว่ามีอำนาจในการช่วยแก้ไขกรรมที่ไม่ดีให้ดีได้ และที่ดีให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วย อัตตสัญญา.. อัตตทิฏฐิ.. อัตตวาทุปาทาน ที่เชื่อมั่นว่า เราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ บังคับบัญชาทุกอย่างให้เป็นไปตามความต้องการได้.. จะถือความเป็นเจ้าของก็ได้.. เพราะชีวิตเป็นอัตตา.. โลกเป็นอัตตา..

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลก หากจะมีการชักนำให้คนที่ประสบความทุกข์ อันเนื่องจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย.. ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก.. ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก.. ไม่สมปรารถนา ไปสู่ กระบวนการแก้กรรม ตามวิถีโลกียะที่อุปาทานในความเป็นตัวตน.. จิตวิญญาณเป็นตัวตน.. สัตว์ทั้งหลายเป็นตัวตน.. กรรมจึงมีตัวตน.. ผู้เป็นเจ้าของ.. ด้วยความเข้าใจในธรรมทั้งหลาย.. ว่าเป็น อัตตา ... ที่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของได้

ความเป็นตัวตน.. จึงสร้างความหลงผิดให้เกิดความเห็นแก่ตัว.. ที่นำไปสู่การปฏิเสธในสิ่งต่างๆ ที่ตนเองไม่ชอบใจ.. และอยากได้ในสิ่งที่ตนเองชอบใจ ด้วยอำนาจโมหะจิต.. คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา.. จึงชักนำให้เกิด โลภะจิตและโทสะจิต.. อยู่ทุกขณะ ก่อเกิดเป็น อกุศลจิต ขึ้นในวิถีจิต.. ที่ดำเนินวิถีชีวิตให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกรรม.. ภายใต้อำนาจแห่งธรรม...

การกระทำด้วยโลภมูลจิต.. คือ จิตที่มีโลภะเป็นมูลจึงเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเห็นผิดที่นำไปสู่ความขวนขวายกระทำการเพื่อให้ได้มาในสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะสุจริตหรือทุจริต.. โดยจะไม่คำนึงถึง โทษ ทุกข์ ภัย ที่จะเกิดขึ้นตอบแทนคืนกลับ และถึงแม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิอยู่บ้าง หากแต่เมื่อกำลังของความโลภมากเกินยากต้านทาน ก็สามารถทำความชั่วปรารถนาลามกได้ ทั้งนี้เพราะสติปัญญาไม่พอยับยั้งความโลภ

ยิ่งมีโทสะเกิดขึ้นประกอบจิต.. เป็นจิตที่มีความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ.. ก็ย่อมจักนำไปสู่การเบียดเบียนทำร้ายทำลายกันได้อย่างไม่ยากเลย...

ทั้งนี้ โดยมี โมหะจิต ซึ่งเป็นจิตที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีความหลงผิด ความเข้าใจผิดเข้าสนับสนุนให้หลงใหลไปในสิ่งที่ไม่เป็นสารประโยชน์โดยธรรม ไม่รู้อะไรผิด อะไรถูก อะไรควร มิควร และไม่รู้สรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงยากจะเข้าใจในกฎอนัตตา-อริยสัจ ๔ ในพระพุทธศาสนา...

ความเข้าใจที่ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง จึงนำไปสู่ความเข้าใจในความเป็นตัวตนแห่งสัตว์ทั้งหลาย โดยมิได้เข้าใจว่า แท้จริง สัตว์นั้นมาจากอาการแห่งจิตที่เข้าไปข้อง.. ไปยึด ว่าเป็น ตัวตน ด้วยอำนาจอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเป็น สัตว์ .. ที่หามีความเป็นอัตตาตัวตนไม่...

..และถึงแม้ว่าจะเป็น กุศลจิต แต่หากขาดปัญญา.. ก็ยากจะนำไปสู่การประกอบคุณความดีที่หวังความดับสิ้นทุกข์ได้ไม่.... ทั้งนี้ เพราะความไม่เข้าใจเหตุอันเป็นแดนเกิดของกรรม คือ ผัสสะ และความดับของกรรม คือ การดับที่ผัสสะ จึงเข้าไปยึดถือผัสสะ ก่อให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ที่นำไปสู่ความทุกข์อย่างไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น...

ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง.. ยิ่งจนใจ ยิ่งทุกข์ยาก วุ่นวาย จึงเกิดมากขึ้น.. แม้ในหมู่ชาวพุทธ ที่ขาดความเข้าใจในธรรม และไม่เข้าใจในกฎแห่งกรรมที่แท้จริง จึงเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่สัตว์โลกยึดถือในความคิดเห็นว่า เป็นตัวตน เที่ยงแท้ ค่อนข้างสูง.. จึงมุ่งกระทำการในทุกวิธีการ เพื่อการบรรลุผลตามความต้องการ โดยปฏิเสธกฎธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง ไม่ยอมรับในกฎพระไตรลักษณ์.. ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.. และ ยิ่งมีหมู่นักบวชบางหมู่บางคน ที่ไม่เข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธองค์ ได้เผยแผ่แนวคิดตามทิฏฐิวิปลาส ตามลัทธิผีสางนางไม้ เทวดาฟ้าดิน โดยไม่เข้าใจ กฎอนัตตา.. จึงยิ่งเพิ่มความสับสนวุ่นวายในหมู่มหาชนคนยุคใหม่ ที่ห่างไกลสัจธรรมในธรรมชาติ ที่นำไปสู่การแนะนำให้แก้กรรมได้ด้วยพิธีการต่างๆ นานา ตามความเข้าใจของตนที่ผิดเพี้ยนวิปริตไปจากธรรม.. ที่น่ารังเกียจยิ่งนัก คือ พวกที่แอบอ้างว่าเป็นวิธีการคิด.. วิธีการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา.. โดยกล่าวตู่พระพุทธพจน์.. ลบหลู่พระสัทธรรม.. เหยียบย่ำพระพุทธศาสนา

การปลูกสร้างความเชื่อ..ความศรัทธาที่ขาดปัญญา จึงกลายเป็นลักษณะของหมู่ชนในสังคมที่อ้างว่าเป็นพุทธศาสนิกชน.. โดยนำเอาคำว่า ความเคารพนับถือ.. การสักการบูชา.. มาเป็นเครื่องขวางกั้น.. เพื่อไม่ให้พิจารณาไต่สวนว่า ถูกต้องเป็นจริงตามหลักธรรมหรือไม่....

จึงเกิด การแก้กรรม อย่างเสรี .. ที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม.. อย่างไม่เข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ.. ที่ว่าด้วย “อนัตตา”

จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันในสังคมบ้านเราจึงมีพวก นิพพานดิบๆ มากขึ้น.. ด้วยการตรัสรู้แบบดิบๆ ของตนเอง.. ที่ยังไม่เคยเห็นจริงในความเกิด-ดับ..ของรูปนามหรือขันธ์ ๕.. ไม่เคยรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ ประการ.. จึงน่ากลัวจริงๆ กับพ่อมหาจัญไรพวกนี้!!!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน