เศรษฐกิจไทย วิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ

วิกฤติหมายถึงอะไร ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ขณะนี้มีความสับสนอย่างมากในสังคมไทยในการใช้คำว่า วิกฤติ

เราพูดกันถึงวิกฤติคุณภาพการศึกษา วิกฤติหนี้ครัวเรือน วิกฤติความสามารถในการแข่งขัน วิกฤติการพัฒนาผลิตภาพและการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิกฤติศรัทธาในระบบศาล วิกฤติศรัทธาในข้าราชการและนักการเมือง หรือศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย  วิกฤติความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น วิกฤติความขัดแย้งในด้านความคิด วิกฤตสังคมชราภาพ รวมทั้งวิกฤติทุจริต ธุรกิจสีเทา นักการเมืองสีเทา สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองมิใช่ด้วยความสามารถแต่เพราะเครือข่ายทุจริตที่เกื้อหนุนกัน เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา เป็นวิกฤติ ที่ต้องขบคิดและแก้ไข

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบาย ว่าประเทศไทยวิกฤติ จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโอนเงินเพื่อการบริโภคของครัวเรือน ก็ต้องเป็นที่เข้าใจว่า รัฐบาลหมายถึงวิกฤติเศรษฐกิจ มิใช่วิกฤติในความหมายอื่นที่กล่าวมา ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง เป็นปัญหารายสาขา หรือปัญหาโครงสร้าง ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นวิกฤติระดับประเทศที่เรียกว่าเศรษฐกิจมหภาค เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ย่อมต้องหมายถึงวิกฤติในระดับเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียวเท่านั้น

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตอบโจทย์ว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ วิกฤติในแง่ใด การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นการบริโภคมีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาตรงเป้าหรือไม่

วิกฤติเศรษฐกิจ คืออะไร

วิกฤติเศรษฐกิจ อาจมีสาเหตุและลักษณะต่างๆ และแม้ว่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้างในเชิงวิชาการเรื่องแนวคิดและตัวชี้วัดในทางปฏิบัติ แต่นักวิชาการตลอดจนสถาบันที่เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในระดับสากล ก็เห็นพ้องต้องกันว่าวิกฤติเศรษฐกิจ จะต้องมีลักษณะบางอย่างที่บ่งชี้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้

(ก) วิกฤติสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากการขาดสภาพคล่อง เกิดขึ้นเมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถจ่ายหนี้เจ้าหนี้ได้ เช่น ผู้ฝากเงินขอถอนเงินไม่ได้ตามสัญญาที่กำหนด หรือ ธนาคารไม่สามารถรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ หรือการขาดทุนจากการลงทุนของสถาบันการเงินเอง ระบบธนาคารระหว่างประเทศมีความเข้มงวดในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ จากบทเรียนภาวะวิกฤติในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlements: BIS) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ถือหุ้นอยู่ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ ดูแลระบบเงินตราระหว่างประเทศให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ กำหนดให้สินทรัพย์สภาพคล่องหมายถึง สินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงและความผันผวนต่ำ ไม่ติดภาระผูกพันและแม้ในสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยมูลค่าของทรัพย์สินเหล่านั้นไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน กำหนดอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้นหารด้วยประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายใน 30 วัน ให้เท่ากับ 100% โดยเกณฑ์ที่ส่อว่าวิกฤติคือต่ำกว่า 100% ซึ่ง ณ ปลายปี 2566 อัตราส่วนนี้มีค่าสูงประมาณ 196% สำหรับระบบธนาคารในประเทศไทย

(ข) วิกฤติสถาบันการเงิน จากภาวะเสี่ยงต่อการล้มละลาย เกิดขึ้นเมื่อสถาบันการเงินไม่มีความมั่นคง ผู้ฝากเงินไม่มีความมั่นใจว่าธนาคารจะสามารถจ่ายคืนเงินฝาก และชำระคืนเงินกู้แก่เจ้าหนี้ได้เต็มจำนวน ธนาคารมีกองทุนไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะผันผวนต่างๆ และสร้างความเจริญเติบโตขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต ปัจจุบัน BIS กำหนดเกณฑ์เงินกองทุนที่ธนาคารต้องดำรงไว้ ในอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 11% (ประกอบด้วยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 8.5% และกันชนอีก 2.5%) นอกจากนี้ธนาคารที่มีความสำคัญสูงต่อระบบสถาบันการเงิน ให้ดำรงเงินกองทุนที่ 12% ทั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

(ค) วิกฤติสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศอย่างรุนแรงหรือการหยุดไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศแบบเฉียบพลัน เงินสำรองฯ ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วย ทองคำ เงินตราและสินทรัพย์สกุลต่างประเทศ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อตรวจสอบข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2567 พบว่าประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศ สุทธิ 251,387.70 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นเงินบาทแยกเป็น ทองคำ ประมาณ 566,339.50 ล้านบาท สิทธิพิเศษถอนเงิน 194,756.08 ล้านบาท และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศและเงินให้กู้แก่กองทุนฯ 41,542 ล้านบาท

(ง) วิกฤตค่าเงินอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ไม่มีคนไทย อายุเกิน 40 ปี ที่จะลืมวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2540 เมื่อค่าเงินบาทลดค่าลงอย่างเฉียบพลัน รุนแรงและรวดเร็ว จาก 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ลงไปจนเกือบ 60 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ สร้างความปั่นป่วนสูญเสียในระบบเศรษฐกิจและความเดือดร้อนให้ประชาชนคนไทยโดยถ้วนหน้า วิกฤติเงินอ่อนค่าที่สำคัญก็มีตัวอย่างมากมาย เช่น เงินรูเบิลของรัสเซีย อ่อนค่าลงในปี 2014 เงินฟรังค์สวิสที่ถอนตัวจากการผูกค่าไว้กับเงินยูโรในปี 2015 เงินลีร่าตุรเกีย ซึ่งลดค่าไป 15% ในหนึ่งเดือน ในปี 2021 เงินเวเนซุเอลาทีลดค่าไปถึง 95% ในปี 2018 และก่อให้เกิดเงินเฟ้อถึงหนึ่งล้านเปอร์เซ็นต์ เงินเปโซอาร์เจนตินาที่สูญเสียมูลค่าไป 20% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ภายในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ค่าเงินเปโซลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ  500 เปโซต่อดอลล่าร์สหรัฐ   สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เงินบาทได้อ่อนค่าลง ประมาณ 1.3% และอ่อนค่าน้อยกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคหลายสกุลเช่น เงินวอนเกาหลี เงินดอลล่าร์ไต้หวัน และเงินริงกิตมาเลเซีย

(จ) วิกฤติหนี้และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเป็นวงกว้าง ประเด็นนี้ ดูข้อมูลง่ายๆก็คือ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา NPL อยู่ในระดับ 2.7% ในขณะที่ก่อนโควิด ซึ่งระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะการขยายตัวอย่างดี ตัวเลข NPL ในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 2.9%
(ฉ) วิกฤติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีประสบการณ์มาแล้ว ทั้งในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และช่วงสถานการณ์โควิด ที่เพิ่งผ่านมา แต่ในปัจจุบัน สำนักวิเคราะห์วิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยแม้ว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะซบเซาในตลาดส่งออก และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวประมาณ 2.8% ในปีที่ผ่านมา ไม่มีการหดตัวแต่อย่างใด
(ช) วิกฤติการคลังภาครัฐ เกิดขึ้นเมื่อรายรับของภาครัฐไม่พอรายจ่ายอย่างเรื้อรังและรุนแรงและรัฐบาลมีความยากลำบากในการชำระหนี้ ปัจจุบันตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับ 62.1% ซึ่งเป็นระดับที่ต้องระมัดระวัง ต้องบริหารการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบและคุ้มค่า แต่ก็ยังไม่ถึงเพดานหนี้ที่กำหนดไว้คือ 70%

(ซ) วิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง เกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้น ข้าวยากหมากแพง โดยทั่วไป มักถือว่าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 40% ต่อเดือน นับว่าเป็นภาวะวิกฤติ สำหรับประเทศไทยคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2566 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2%
เมื่อพิจารณาเกณฑ์ต่างๆและตัวชี้วัดทุกตัว ซึ่งเป็นเกณฑ์สากลของหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจก็จะเห็นว่าประเทศไทยมิได้อยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

จริงอยู่ประชาชนที่เปราะบางกลุ่ม อาจจะประสบภาวะวิกฤตในปัจจุบัน ในกรณีนี้ นโยบายหรือมาตรการที่ถูกต้องควรเป็นเป็นการเยียวยา ช่วยเหลือสงเคราะห์ เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

วิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ นั้น สำคัญไฉน

ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่มุ่งส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายงบประมาณด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และคุ้มค่า การจัดทำงบประมาณในแต่ละปีมีกระบวนการและขั้นตอนที่มุ่งเน้นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการใหญ่ๆ มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน

การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยวินัยในการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น มาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง จึงเปิดโอกาสให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ เฉพาะกรณีที่มีวิกฤต มีเหตุฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศเท่านั้น

แก้ปัญหาตรงเป้าหรือไม่

นอกจากประเด็นกฎหมายแล้ว ยังต้องถามว่านโยบายให้เงินเพื่อการบริโภคนั้น เป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ มีความเป็นธรรมหรือไม่ แก้ปัญหาได้ตรงเป้าหรือไม่ หรือว่า เป็นการใช้มาตรการผิดฝาผิดตัว และสร้างปัญหาให้ประเทศในอนาคต

การใช้งบประมาณเพื่อการบริโภคระยะสั้น ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อความเจริญที่ยั่งยืน และงานศึกษาจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐ มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการแจกเงินเพื่อการบริโภคของครัวเรือน
เรื่องความเป็นธรรม ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะการแจกแบบเหวี่ยงแห ทำให้มีผู้รับจำนวนมาก เป็นผู้ที่ไม่สมควรได้รับ หากรัฐบาลมุ่งช่วยเหลือ เยียวยากลุ่มเสี่ยง กลุ่มประชาชนเปราะบางที่เดือดร้อนสาหัสจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา ให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงและตรงเป้า ความเป็นธรรมจึงจะเกิด

นโยบายนี้ยังสร้างปัญหาให้ประเทศ จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การก่อหนี้ที่จะต้องชดใช้ในอนาคต และการขาดวินัยทางการคลังยังอาจนำไปสู่การลดระดับเครดิตของประเทศโดยรวม กระทบต่อผู้กู้ ธุรกิจเอกชนและประชาชนอย่างถ้วนหน้า

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. สิริลักษณา คอมันตร์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง 

ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน 

ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ

เตือนแล้วนะ!  กรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช. ชี้รัฐบาลเดินหน้าเสี่ยงทุจริต ซ้ำรอยจำนำข้าว

กรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ตป.ป.ช. เตือนรัฐบาลถ้ายังเดินหน้าเสี่ยงทุจริตหากไม่เลิกอาจโดนชี้มูลดำเนินคดีชี้อาจซ้ำรอยจำนำข้าว! ย้ำไทยไม่เข้าขั้นวิกฤตเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน-รุนแรงถึงขั้นต้องออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาท

โฉนดเพื่อเกษตรกรรมกับปัญหาการลักลอบเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน          

สืบเนื่องจากนโยบายปัจจุบันของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันให้มีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมให้กับที่ดินเกษตรกรรม ส.ป.ก. โดยคาดหวังว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางทรัพย์สินให้กับเกษตรกรที่ยากจนได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะสามารถอนุรักษ์รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมเอาไว้ด้วยนั้น

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรอบใหม่ : ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รอบใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา คำถามคือการพักชำระหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรลงสู่ระดับที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระได้ตามปรกติโดยไม่เดือดร้อนได้หรือไม่