Blockchain (บล็อคเชน) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงเยอะมากหลายประเทศหลายรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลเพื่อไทย พ.ศ. นี้ เพราะเกี่ยวโยงกับนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท
หลายคน มักเข้าใจว่า Blockchain จะหมายถึง (หรือเท่ากับ) เงินดิจิทัล หรือ เงินคริปโต คือ ถ้าพูดว่าทำ Blockchain จะแปลว่าต้องเป็นเรื่องเงินดิจิทัล แต่ความจริงแล้ว เป็นคนละเรื่องเดียวกัน
Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ไว้ใช้สำหรับเก็บข้อมูล เหมือนเทคโนโลยีฐานข้อมูล เพียงแต่มันต่างออกไปจากฐานข้อมูลดั้งเดิมตรงที่ ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาเชื่อมโยงกันหลาย ๆ เครื่อง และฐานข้อมูลถูกสำเนาเก็บกระจายในคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเหล่านั้น และยังโปรแกรมคอยควบคุมไม่ให้การแก้ไขข้อมูลทำได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่การบันทึกข้อมูลใหม่ หรือ แก้ไขข้อมูลเดิมโปรแกรมควบคุม Blockchain จะทำการสื่อสารกัน และตรวจสอบว่าการบันทึกนั้น ไม่ใช่การบันทึกที่แอบ ๆ แก้เองคนเดียว (หรือเครื่องเดียว)
เมื่อมีกระบวนการยึดโยงระหว่างคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่อง เพื่อตรวจสอบความเข้ากันกับข้อมูลที่เก็บมาต่อเนื่องก่อนหน้าว่าไม่ขัดแย้งกันแล้วจึงยอมรับและบันทึก Blockchain จึงได้รับยอมรับว่าค่อนข้างน่าเชื่อถือว่าฐานข้อมูลแบบเก็บไว้ที่เดียวและดูแลโดยคนเดียว (หรือหน่วยงานเดียว)
Blockchain จะยิ่งน่าเชื่อถือ ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันนั้นมีจำนวนมากเป็นร้อย ๆ พัน ๆ และดูแลโดยต่างเจ้าของกัน เพราะการจะฮั้วกันนั้นจะยากยิ่ง อีกทั้ง แม้มีเครื่องใดเสียหายไปก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมีสำเนาเก็บไว้อีกเยอะแยะหลายที่ แถมยังมีวิธีป้องกันไม่ให้เจ้าของเครื่องแต่ละคนแอบดูข้อมูลในฐานข้อมูลได้ด้วย
เมื่อพูดถึงตรงนี้ จะเห็นว่า Blockchain เป็นเพียงฐานข้อมูลประเภทหนึ่งที่ป้องกันการฮั้วนั่นเอง และตรงนี้แหละที่เหมาะเจาะสอดคล้องกับแนวคิดนโยบายสาธารณะ
ในเรื่องนโยบายสาธารณะนั้น หลักการพื้นฐานข้อหนึ่ง คือ รัฐบาลมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และในเชิงดิจิทัลถ้าข้อมูลของรัฐนั้นถูกจัดเก็บกระจายหลายหน่วยงานบน Blockchain เมื่อมีใครจะเพิ่มหรือแก้ไขอะไร ก็จะถูกรับรู้รับทราบและตรวจสอบตลอดเวลาโดยคอมพิวเตอร์ที่ยึดโยงกันจำนวนมาก สำหรับในทางกายภาพผู้มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมาย (เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) เมื่อจะเข้าตรวจ ก็ดึงข้อมูลใน Blockchain มาไล่ดูง่ายสะดวก
และเมื่อมองในแง่ความร่วมมือบูรณาการ Blockchain จะเป็นเครื่องมือที่สร้างกลไกโดยอ้อมให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย Blockchain ต้องร่วมมือกันทำงานเชื่อมโยงและแชร์ข้อมูลกันไปโดยปริยาย เพราะต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในการสำรองและตรวจสอบความถูกต้องตลอดเวลา
แนวทางลงทุนอาจกำหนดให้มีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย Blockchain วางตั้งอยู่ 20 เครื่อง กระจายอยู่ใน 20 กระทรวง และเมื่อหน่วยงานรัฐใดต้องการจัดเก็บข้อมูลสำคัญก็ให้บันทึกและเชื่อมโยงเข้าสู่ Blockchain
ในแง่ความเป็นทางการ รัฐก็จำเป็นต้องออกกฎหมายรองรับการเก็บข้อมูลใน Blockchain ว่าเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องทำตามข้อกำหนดวิธีการที่พิจารณาร่วมกันแล้วว่ารัดกุม
ไม่นานมานี้ มีกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (ออกมาเมื่อปี 2565) ระบุว่าให้หน่วยงานรัฐจัดให้มีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอ ส่งเอกสาร หรือติดต่อราชการใด ๆ เป็นดิจิทัลได้ และต้องยอมรับเอกสารทางดิจิทัลนั้นว่าเทียบเท่ากับการส่งแบบกระดาษทั่วไปที่ทำกันมาแต่เดิม ในทางกลับกันรัฐต้องสามารถออกเอกสาร (เช่น ใบอนุญาตต่าง ๆ) ตอบกลับให้ประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ต้องจัดทำระบบหรือฐานข้อมูล หรือการเชื่องโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อรองรับและตรวจสอบการแสดงใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 13 และมาตรา 14 ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายนี้กำลังบีบให้ภาครัฐต้องหาทางจัดเก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ ซึ่ง Blockchain เป็นเทคโนโลยีหนึ่งจะเหมาะเจาะรองรับเรื่องนี้
ณ ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ส่งเสริมหรือพยายามใช้ Blockchain ก็มี เช่น
ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) มีภารกิจออกมาตรฐานและกำกับดูแลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้พยายามลงทุนตั้งเครื่องแม่ข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อ Blockchain และจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Blockchain Consortium เพื่อหวังว่าให้หน่วยงานต่าง ๆ มาใช้งานและเชื่อมต่อ
DEPA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) มีภารกิจให้ทุน สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการใช้และสร้างเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริม Blockchain เป็นไปในเชิงพูดชี้นำและสนับสนุนแก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนว่าควรนำไปใช้งาน
DGA (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจดูแลนโยบายรัฐบาลดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการสำหรับภาครัฐ ให้คำแนะนำปรึกษาและพัฒนากำลังคนภาครัฐ DGA ได้ทดลองทำโครงการนำร่องระบบ e-Voting โดยเป็นระบบออนไลน์ที่เก็บข้อมูลการโหวตไว้ใน Blockchain
อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจมองให้ลึกซึ้งว่า ปัญหาไม่ใช่ยังไม่มีแอ๊พให้ใช้งาน (เช่น เพื่อการโหวตออนไลน์) แต่เป็นเรื่องการยอมรับ รวมถึงกฎหมายที่รองรับ Blockchain และการโหวตแบบออนไลน์ และแท้จริงแล้วผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบว่าเป็น Blockchain หรือไม่ แต่ผู้พัฒนาต้องออกแบบสถาปัตยกรรมหลังบ้านให้น่าเชื่อถือและตรวจสอบผลโหวตได้ ที่สำคัญคือเรื่องการยืนยันตัวตนของผู้โหวต ควรผนวกกับระบบยืนยันตัวตนผู้โหวตที่มีความเชื่อใจได้ เช่น ThaiD ของ กรมการปกครองที่ใช้ใบหน้าและบัตรประชาชนยืนยันตัวบุคคลผ่านแอ๊พโดยไม่ต้องไปแสดงตน ณ หน่วยราชการ
จะเห็นว่าแม้มีหลายหน่วยพยายามเริ่ม Blockchain แต่ยังไม่มีการส่งเสริมและวางแผนในภาพรวมว่า Blockchain ควรถูกผลักดันไปในแนวทางอย่างไร รัฐจะยอมรับเป็นทางการหรือไม่ หรือจะให้ใช้อย่างไร หรือจะเป็นต่างคนต่างใช้งาน ?
นโยบายสาธารณะที่สำคัญ เช่น ออกกฎหมายรับรองการใช้งาน Blockchain พร้อมทั้งรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมกับงานภาครัฐ กำหนดแผน (Roadmap) และการลงทุนงบประมาณกลางเพื่อให้บริการ Blockchain แก่หน่วยงานรัฐทั้งหลายใช้จัดเก็บข้อมูลเอกสารสำคัญ และสุดท้ายพร้อมด้วยมาตรการประชาสัมพันธ์ผลงาน
โครงการ Digital Wallet หากนำ Blockchain มาใช้ จะนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งาน Blockchain กับข้อมูลสำคัญ (การจับจ่าย) และกระทบผู้ใช้หลายสิบล้านคน ที่สำคัญประเทศไทยจะมีระบบฐานข้อมูล Blockchain ไว้รองรับงานจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลสำคัญอื่นในอนาคตอีกมากมาย พร้อมทั้งเชื่อมโยงเข้าสู่การใช้งานของประชาชนเรียบร้อยถ้วนหน้า
ขอเสนอแนะรัฐบาลว่า นอกจากจะขับเคลื่อนโครงการ Digital Wallet แล้ว ควรมีแผนงาน มีวิธีการส่งเสริม และกำหนดแนวทางเงื่อนไขต่าง ๆ ในการใช้งานและยอมรับ Blockchain ให้ชัดเจนและเป็นทางการ เพื่อให้องคาพยพทั้งหมดขับเคลื่อนไปบนเศรษฐกิจฐานดิจิทัลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำโด่ดเด่นในเวทีโลก
มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม
ที่ปรึกษาดิจิทัลอาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายสาธารณะเพื่อการส่งเสริม Blockchain
Blockchain (บล็อคเชน) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงเยอะมากหลายประเทศหลายรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลเพื่อไทย พ.ศ. นี้ เพราะเกี่ยวโยงกับนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท
ดร.เอ้ ตั้งเป้า 1 หมื่นชื่อจัดตั้ง 'องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ'
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ “ดร.เอ้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. กล่าวว่า การจัดตั้ง “องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ” ได้
สช.ผนึกภาคี เปิดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 4 ตีแผ่สถานการณ์ 'เด็กเกิดน้อย'
เวทีสนทนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 4 สช. จับมือภาคีเครือข่าย รวม 7 หน่วยงาน เปิดพื้นที่กลางแก้ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’
‘ดร.กิตติธัช’ ย้ำบล็อกเชนไม่เหมาะ นำมาแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท
ดร.กิตติธัชยืนยันคำเดิม Blockchain ไม่เหมาะสำหรับนำมาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ประชากรจำนวนกว่า 50 ล้านคน มันมีการรับส่งข้อมูลที่เยอะเกินไ
'แก้วสรร' ออกบทความ 'แจกเงินดิจิตอล : สินบนเลือกตั้ง???'
'แก้วสรร' ออกบทความด่วน แจกเงินดิจิตอล : สินบนเลือกตั้ง? ตั้งคำถาม กกต. น่าจะไต่สวนให้ละเอียดว่า โครงการเป็นสินบนเลือกตั้ง หรือนโยบายงี่เง่าโดยสุจริตเท่านั้น
เปิดมุมมองต่างชาติซื้อที่ดิน ต้องรักษาสมดุล สกัดแย่งยึดที่ดิน
นักวิชาการ แนะเปิดต่างชาติที่ดิน เปิดรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ นโยบายสาธารณะต้องรักษาสมดุลระหว่างโลกาภิวัตน์กับอธิปไตยทางเศรษฐกิจการเมือง ผลดีระยะสั้นเพียงเล็กน้อย มาตรการไม่รัดกุมบังคับใช้ไม่ดี สร้างปัญหาระยะยาว