รศ.ดร.สิริลักษณา-คณะทำงานป.ป.ช. ดิจิทัลวอลเล็ต ทำร้ายประเทศไทย ไม่เลิก เสี่ยงทุจริต ถูกชี้มูลความผิด

สิ่งสำคัญคือ เราอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอันนี้มันทำร้ายประเทศไทย จะทำให้เราต้องตกเป็นหนี้กันไปอีกนาน ...ยังมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้... ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่จะถูกคณะกรรมการป.ป.ช.สอบสวน และอาจถูกชี้มูล ก็อาจเป็นไปได้..การที่จะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็มีความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นธรรม..

หลังมีการเผยแพร่"ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet "ที่ศึกษาโดย "คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)"ที่มี "สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการป.ป.ช."เป็นประธานคณะทำงาน ได้ก่อให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ตามมา

โดยเฉพาะกับ รายงานดังกล่าว ที่เตือนว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีความเสี่ยงสามด้านสำคัญคือ"ความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย-ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ-ความเสี่ยงด้านกฎหมาย"

แต่ล่าสุดท่าทีของ"เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง"ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยัน จะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป

"ไทยโพสต์"สัมภาษณ์พิเศษ"รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ -หนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงานป.ป.ช.-อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตรับจำนำข้าวของป.ป.ช."ถึงการทำงานของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวของป.ป.ช.

โดย"รศ.ดร.สิริลักษณา"เริ่มต้นกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการฯว่า การทำงานของคณะกรรมการฯเริ่มต้นจากการที่มีการตั้งประเด็นคำถามจากที่รัฐบาลประกาศจะแจกเงินให้ประชาชนหนึ่งหมื่นบาท โดยเริ่มแรก รัฐบาลบอกว่าจะให้คนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป จะได้ดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนกันหมดทุกคน คนละหนึ่งหมื่นบาท เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประเด็นแรกที่คณะกรรมการฯ คุยกันก็คือ สภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเป็นอย่างไร เข้าข่ายวิกฤตหรือไม่ และมีความจำเป็นแค่ไหนถึงต้องแจกเงินแบบให้ได้กันหมดทุกคน

 โดยตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย หากรัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณในการทำเรื่องต่างๆ หากไม่ได้บรรจุไว้ในร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐธรรมนูญ ก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหาร หากว่าประเทศเจอสถานการณ์เร่งด่วน เฉียบพลันและรุนแรงและต้องการใช้งบประมาณแก้ปัญหาเยียวยาอย่างรวดเร็ว ก็สามารถตั้งงบประมาณมาใช้จ่ายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญคือพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมถึงรัฐธรรมนูญบางมาตราก็มีบัญญัติไว้

ภายใต้หลักคือ ต้องใช้งบประมาณอย่างเป็นธรรม เสมอภาคกับทุกฝ่าย แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เดิมตอนแรก รัฐบาลจะให้กับคนทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เริ่มต้นก็ไม่เป็นธรรมแล้ว เพราะเท่ากับลูกคนรวย ลูกคนจนก็ได้เหมือนกันหมด

การที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณมาทำดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่ได้ใช้งบจากพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีปกติ แต่จะใช้วิธีการออกฎหมายกู้เงินมาใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตามหลักการของฝ่ายนิติบัญญัติการออกกฎหมาย ก็มีสองลักษณะ คือพระราชบัญญัติ ที่เป็นขั้นตอนปกติ กับการออกเป็นพระราชกำหนด(พรก.) ซึ่งตามหลักจะใช้ได้เฉพาะกรณีเร่งด่วน อย่างตอนสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกพรก.กู้เงินฯ มาใช้แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ที่ตอนนั้นไม่มีใครเถียงเลยว่า ช่วงนั้นประเทศไม่วิกฤต

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะทำดิจิทัลวอลเล็ต โดยบอกว่า เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ประเด็นการศึกษาเรื่องนี้ จึงต้องดูก่อนว่า เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย วิกฤตหรือไม่วิกฤต

ที่ผ่านมา บางคน ออกมาพูดว่าประเทศไทยวิกฤตโดยไปหยิบยกประเด็นทางสังคมขึ้นมาเช่น วิกฤตการศึกษา  ผลการสอบวัดระดับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลหรือ PISA ผลออกมาเด็กไทย คะแนนไม่ดี แย่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราไม่ได้เถียงว่าประเทศไทยอาจจะมีวิกฤตหลายอย่างเช่น วิกฤตหนี้ครัวเรือน วิกฤตการศึกษา การเข้าถึงและพัฒนาเทคโนโลยี แต่วิกฤตรายสาขาแบบนี้มันไม่ได้แก้ด้วยวิธีการแจกเงิน เพื่อให้ประชาชนไปซื้อของบริโภค มันผิดฝาผิดตัว โดยหากเป็นวิกฤตการศึกษา ก็ต้องแก้ด้วยการแก้ระบบการศึกษาเช่นปรับปรุงระบบการเรียนการสอน ต้องแก้ให้ตรงจุด ไม่ใช่มาบอกว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วมันช่วยการศึกษาได้หรือ

"รศ.ดร.สิริลักษณา"กล่าวต่อไปว่าในพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ   มาตรา 53 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน"

...ซึ่งหลักการก็คือ หากจะออกกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่าย ต้องเป็นกรณีเร่งด่วนและต้องเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะทำดิจิทัลวอลเล็ตเอาเงินมาแจก แล้วจะออกกฎหมายกู้เงินมาทำ ก็ต้องเป็นเรื่องวิกฤตและเป็นเรื่องระดับมหภาคหรือระดับประเทศถึงต้องใช้วิธีการแจกเงินเพื่อให้เงินกระจายออกไปเยอะๆ

...หลักในการพิจารณาเรื่องนี้ มีประเด็นต้องพิจารณาสองเรื่องก็คือ 1.เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเช่น ไม่ให้มีเงินเฟ้อมาก และ2.การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

กางข้อมูล-ตัวเลขสภาวะศก.ไทย ทั้งการเงิน-การคลัง-การธนาคาร ชี้ชัด สถานการณ์ยังไม่เข้าข่ายวิกฤต 

“รศ.ดร.สิริลักษณา”เล่าให้ฟังถึงการทำงานของคณะกรรมการศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตฯ ต่อไปว่า ทางคณะกรรมการฯ ก็เริ่มต้นการทำงาน ด้วยการคุยกันว่า ตอนนี้เศรษฐกิจประเทศไทย วิกฤตหรือไม่วิกฤต โดยมีการตัวแทนเชิญหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาให้ข้อมูลเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ในการศึกษาของคณะทำงาน เรามีการพิจารณาตามหลักวิชาการในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจว่า การจะดูว่าประเทศเข้าข่ายวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ จะต้องดูบริบทต่างๆ ทางเศรษฐกิจเรื่องสำคัญๆ 7 เรื่อง

เรื่องแรก คือดูว่า มีวิกฤตสถาบันการเงิน หรือไม่ ซึ่งหลักของการพิจารณาก็คือ จะดูเรื่อง เกณฑ์บังคับของ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS)ที่วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเอาสินทรัพย์เสี่ยง เช่นเงินที่ให้กู้ไปแล้ว ลูกหนี้อาจไม่ใช้คืน หรือไปลงทุนที่ไหนแล้วขาดทุน ก็จะดูว่าสินทรัพย์เสี่ยง กับประมาณการกระแสเงินสดสุทธิใน 30 วัน เอามาหารกัน ซึ่งเกณฑ์ของBIS คือธนาคารต้องมีเงินสดอยู่ในมือเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยง ต้องไม่ต่ำกว่า100 เปอร์เซ็นต์

โดยของไทย ณ ตอนนี้ ตัวเลขคือ 196 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับสถาบันการเงินของไทยไม่อยู่ในสภาพเสี่ยง ตามเกณฑ์ภาคบังคับของ BIS ที่เขาไม่ได้บังคับประเทศต่างๆ แต่ว่าธนาคารของทุกประเทศทั่วโลก ก็เป็นหุ้นส่วนของ BIS โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มาออกกฎเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยปฏิบัติตาม

เรื่องที่สอง เรื่องความเสี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่จะล้มละลาย ก่อนหน้านี้ประเทศไทย ที่เคยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงปี 2540 จนธนาคารหลายแห่งล้มละลาย ปิดกิจการ ซึ่งเกณฑ์การดูเรื่องความเสี่ยงธนาคารพาณิชย์มีเกณฑ์พิจารณาหลายอย่าง แต่ที่ดูง่ายๆ ก็คือ ดูจากกองทุนของธนาคารว่ามีอัตราส่วนเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ที่ก็พบว่า ไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดเลยที่มีความเสี่ยงจะล้มละลายในขณะนี้

เรื่องที่สามคือ วิกฤตความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่ธปท.เก็บไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่การสูญเสียก็คือ ต้องสูญเสียอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธปท.พยายามรักษาค่าเงินบาทไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ โดยนำดอลลาร์ไปแลกเงินบาท เพื่อรักษาค่าเงินบาทไว้ จนทุนสำรองหมด และต่อมา ก็มีการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามมาเช่น การบริหารงานภายใน การบริหารความเสี่ยง การไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และต่อมามีการออกหลักเกณฑ์เรื่องความเสี่ยงที่จะล้มละลาย

โดยเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศ ตอนนี้ประเทศไทยมีเงินสำรองฯ ที่ธปท.เก็บไว้ ตอนนี้ไทยอยู่ในลำดับที่ 11 ของโลก ถ้าแบบนี้ ประเทศในโลกอีกจำนวนมาก ที่มีเงินสำรองน้อยกว่าไทย ก็ต้องวิกฤต ถ้าจะมาอ้างว่าตอนนี้ประเทศไทยวิกฤต เพราะฉะนั้นเรื่อง เงินสำรองระหว่างประเทศของไทย จึงไม่เข้าข่ายวิกฤต

เรื่องที่สี่ คือเรื่องค่าเงินอ่อนค่า อย่างตอนนี้เงินบาทไทยอยู่ที่ประมาณ 31 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ แต่หากมองย้อนกลับไปตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ตอนนั้น ค่าเงินบาทจากที่เคยอยู่ที่ 25 บาท ก็ขึ้นไปถึงเกือบ 60 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ คือถ้าค่าเงินอ่อนค่าแบบรุนแรงเฉียบพลัน อันนั้นคือวิกฤตการอ่อนค่าของเงิน โดยของไทยอ่อนค่าจริง โดยปี 2566 เงินบาทอ่อนค่าไปประมาณ 1.3 เปอร์เซ็นต์เทียบกับดอลลาร์ แต่ว่ามันอ่อนค่าน้อยกว่าเงินวอนของเกาหลีใต้ ริงกิตมาเลเซีย ดอลลาร์ไต้หวัน คือในภูมิภาคนี้ หลายประเทศค่าเงินของเขาอ่อนค่าลงกว่าของไทยมาก แล้วประเทศเหล่านั้นเขาวิกฤตหรือ เกาหลีใต้วิกฤตเสียที่ไหน มาเลเซีย ก็ไม่ได้วิกฤต ไต้หวันก็แข็งแรงเพียงแต่อาจจะมีปัญหาการเมืองกับจีนแต่ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น เรื่องค่าเงิน ของไทยเราก็ไม่ได้วิกฤตแต่อย่างใด

เรื่องที่ห้า คือเรื่องวิกฤตหนี้กับต่างประเทศ -วิกฤตหนี้ เอ็นพีแอล ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขในไตรมาสสามของปี 2566 ตัวเลขเอ็นพีแอลในระบบ อยู่ที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ที่ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายวิกฤต

เรื่องที่หก ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี แม้จีดีพีของไทยจะชะลอตัวลงมา แต่ว่าช่วงไทยเจอวิกฤตโควิดจนเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ จนจีดีพีติดลบ เพราะตอนนั้นก็มีการปิดประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เรื่องการส่งออกก็มีปัญหา ส่งออกไม่ได้ แต่ต่อมา อย่างปี 2566 จีดีพี ขยายตัวประมาณ 2.8 เปอร์เซ็นต์ แม้อาจจะมีการเถียงกันบ้างถึงตัวเลขดังกล่าว แต่ยังไง จีดีพี ประเทศไทยก็ไม่ติดลบ เพราะการที่จะบอกว่าวิกฤตคือจีดีพี ต้องติดลบหรือหดตัว แบบเฉียบพลันและรุนแรง แต่ปัจจุบัน จีดีพีของไทย ไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงไม่เข้าข่ายวิกฤต

เรื่องที่่เจ็ด คือการพิจารณาเรื่องสถานะการคลังของรัฐบาล ที่ก็จะมีเกณฑ์การพิจารณาเช่น ดูว่ารายรับพอกับรายจ่ายหรือไม่ ที่ก็คือ ตัวเลขที่จัดเก็บภาษีได้แต่ละปี เพียงพอต่อการใช้จ่ายต่างๆ ของภาครัฐเช่น งบลงทุนต่างๆ -การจ่ายเงินเดือนข้าราชการประจำ เจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ โดยจะเป็นวิกฤตหรือไม่ ก็คือ ต้องเป็นกรณีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายแบบเรื้อรังและรุนแรง คืองบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล เป็นเรื่องธรรมดา หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การที่รายรับน้อยกว่ารายจ่าย ไม่ใช่ปัญหา แต่หากรายรับน้อยกว่ารายจ่ายโดยตัวเลขแตกต่างกันมาก และเป็นแบบนี้มานานแบบเรื้อรังหลายปี ถ้าลักษณะแบบนี้คือเข้าข่ายวิกฤตแล้ว แต่ที่ผ่านมาของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เป็นแค่รายรับน้อยกว่ารายจ่ายจำนวนไม่มาก

หากเราดูตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของเรา อยู่ที่ 62.1 เปอร์เซ็นต์ เราตั้งเกณฑ์ไว้ เพดานหนี้คือ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่ก็คือตัวเลขยังไม่ถึง ดังนั้น ก็ไม่เข้าข่ายวิกฤต โดยหากดูจากต่างประเทศเช่นประเทศในแถบลาตินอเมริกา บางประเทศตัวเลขอยู่ที่ถึงหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เขาขาดดุลการคลัง คือรายจ่ายมากกว่ารายรับ อย่าง กรีซ ที่ใช้ประชานิยม แจกเงินเพื่อเอาใจประชาชน ที่ก็คือไม่มีวินัยทางการคลัง ดังนั้น ประเทศไทยตอนนี้จึงไม่มีวิกฤตการคลังของภาครัฐ

เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง วิกฤตเงินเฟ้อ โดยหากนำไทยไปเทียบกับต่างประเทศ ที่เขาเคยเจอปัญหาวิกฤตเงินเฟ้อ บางประเทศ สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งของไทยเราไม่เคยเจอวิกฤตเงินเฟ้อขนาดนั้น แม้ตอนนี้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นแต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของระบบเศรษฐกิจ และยิ่งบอกจะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต สินค้าบางรายการก็ปรับขึ้นราคาไปก่อนแล้ว

สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อของไทย จนถึงตอนนี้ตัวเลขเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2566 ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าจะไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูจากเกณฑ์เงินเฟ้อ ก็ไม่เข้าข่ายวิกฤตอีกเช่นกัน

"รศ.ดร.สิริลักษณา”ย้ำว่า จากองค์ประกอบข้างต้น เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายโดยให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินห้าแสนล้านบาท แล้วไปดึงเงินออกมาจากกระทรวงการคลัง จึงทำไม่ได้ หากประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ถือว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 53 ของพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ

ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยบอกว่า เป็นเรื่องฉุกเฉิน ต้องรีบทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่การจะออกพรบ.กู้เงิน ก็ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน แต่รัฐบาลบอกเรื่องนี้ฉุกเฉิน ต้องรีบทำ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่มีทางเลือก หากรัฐบาลต้องการใช้เงินจริงๆ ก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่รัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่าการจะออกพระราชกำหนดได้ ต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อดูองค์ประกอบต่างๆ ในการที่จะบอกว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ ก็อย่างที่บอกไว้ข้างต้นก็คือ ประเทศก็ยังไม่เข้าข่ายวิกฤต"

"รศ.สิริลักษณา-อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"กล่าวต่อไปว่า มองในเชิงเศรษฐศาสตร์ การแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากถามว่า ทำแล้วมีประสิทธิภาพหรือไม่ เรื่องนี้ต้องดูข้อมูลในอดีต ลักษณะการบริโภคของคนไทย โดยพิจารณาจากเมื่อมีการนำเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เช่น มีคนซื้อของ-ซื้อสินค้าส่งออกของไทย เพิ่มขึ้นมาหนึ่งล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นเท่าใด เมื่อเงินหมุนเวียนในระบบ ภายใต้หลักที่เรียกว่า "ตัวคูณทางการคลัง"โดยหากตัวคูณทางการคลังเท่ากับสอง จีดีพีของเราจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ก็ประมาณสองล้าน แต่ว่าเราดูจากตัวคูณดังกล่าวทั่วโลก จะอยู่ที่ประมาณ หนึ่งกว่าๆ แต่การอัดฉีดมีหลายอย่าง หากเป็นส่งออก เราได้เงินจากต่างประเทศเข้ามา หรือว่าภาคธุรกิจเขาลงทุนเพิ่ม หรือรัฐบาลใช้จ่ายในการลงทุนทำโครงการต่างๆ หรือครัวเรือนบริโภคเอง

โดยพบว่า ตัวเลขในส่วนของครัวเรือนบริโภค ตัวเลขตัวคูณทางการคลังต่ำสุดคือประมาณ 1.1 เปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าเป็นเอกชนลงทุนเพิ่ม ตัวคูณจะมากที่สุด และพบว่า หากรัฐบาลลงทุนเอง จะดีกว่าการแจกเงินให้ประชาชน และประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐบาล เห็นได้จากผลประโยชน์ต่อค่าจีดีพีสูงกว่าการขยายตัวถ้าแจกประชาชนให้ครัวเรือนบริโภค ที่เป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นธรรม

...คณะกรรมการศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตฯ จึงเห็นว่า อยากให้รัฐบาลใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ แต่นโยบายดังกล่าว หากรัฐบาลจะแจกเงินเพื่อการบริโภคแบบนี้ มันเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ สู้รัฐบาลนำงบประมาณไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านต่างๆ จะดีกว่า เช่นเรื่อง ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง หรือการให้อินเตอร์เน็ต เข้าไปถึงทุกหมู่บ้านในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงเพราะปัจจุบันยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งระบบอินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง" 

"รศ.ดร.สิริลักษณา"กล่าวต่อไปว่า เราไม่ได้บอกว่า มีคนไทยบางกลุ่ม ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต เรารู้ว่ามีคนไทยจำนวนมากมีความลำบาก มีหลายครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ประสบภาวะยากลำบาก เขาประสบภาวะวิกฤตของเขา เราต้องช่วยพวกเขาให้ตรงจุด

อย่างการทำให้อินเตอร์เน็ต เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยเหลือพวกเขา เพราะทำให้เขาสามารถหารายได้เพิ่มขึ้นได้เช่นการขายของออนไลน์ หากรัฐบาลต้องการช่วยคนกลุ่มเปราะบางต้องทำแบบนี้ รัฐบาลต้องลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี ให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงประชาชนกลุ่มเปราะบาง พื้นที่ห่างไกล ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ มีข้อมูลเก็บไว้อยู่ในเรื่อง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในเกณฑ์เส้นความยากจน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะแจกเงินก็ไม่ว่า แต่ควรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่แจกแบบเหวี่ยงแห

ชี้จุดตาย ความเสี่ยงดิจิทัลวอลเล็ต อาจเปิดช่อง ทุจริตเชิงนโยบาย

-ในรายงานของคณะทำงานป.ป.ช.ชุดศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต ที่บอกว่านโยบายดังกล่าวมีความเสี่ยงหลักๆ สามด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงเรื่องทุจริตเชิงนโยบาย?

เรื่องทุจริตเชิงนโยบาย หากเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้แบบเดิมในการทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะใช้ระบบ บล็อกเชน ซึ่งระบบดังกล่าว ธนาคารต่างๆ ก็ยังไม่มีการใช้กัน ดังนั้น ก็ต้องมีการไปจ้าง ก็ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินแล้วเพราะต้องนำงบประมาณไปว่าจ้างบริษัทที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำ แทนที่จะโอนเงินให้ประชาชนโดยตรง และมันก็มีข้อสงสัยว่าบริษัทที่จะเข้ามาเป็นใคร จะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ที่จะให้ใครที่มีเทคโนโลยีสูงดังกล่าว ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มารับจ้างงานไปทำ ที่อาจใช้งบประมาณในการว่างจ้างจำนวนมาก ที่หากทำ ก็ต้องไปดึงงบจากที่ตั้งไว้ว่าจะช่วยเหลือประชาชน อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงอันหนึ่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถามไป รัฐบาลก็ไม่ให้คำตอบ ไม่มีความชัดเจนใดๆ คณะทำงานถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เขาก็บอกว่าเรื่องยังมาไม่ถึง อันนี้ก็เป็นความเสี่ยง

และยังกรณีเมื่อจะมีการโอนเงินเข้าบัญชี ต้องดูว่าจะเกิดกรณีแบบมี"บัญชีม้า"หรือมีการเจรจาบางอยางเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น พอรัฐบาลจะทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว แต่ระหว่างการรอการโอนเข้าบัญชีประชาชน อาจมีบางคนที่มีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์ แต่เขาอยากได้เงินไปใช้ก่อน ก็อาจมีพวกกลุ่มคนที่เป็นพวกนายหน้า คอยไปติดต่อคนที่อยากได้เงินไปใช้ก่อนที่รัฐบาลจะโอน โดยมีการเจรจากันเช่น หนึ่งหมื่นบาท คนไปติดต่อบอกว่า จะให้เงินไปก่อนเจ็ดพันบาท แล้วพอได้เงินมา ก็นำเงินทั้งหมดหนึ่งหมื่นบาทมาใช้คืน ตรงนี้ก็มีความเสี่ยงเยอะ ก็เหมือนกับสมัยโครงการรับจำนำข้าว ที่เคยเป็นอนุกรรมการไต่สวนรับจำนำข้าวของป.ป.ช.มาก่อน ก็เจอประเภทโกงด้วยวิธีการเวียนเทียนข้าวกันเพื่อจำนำซ้ำ

ดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีความเสี่ยงในหลายด้านในการบริหารจัดการ ที่วิธีการบางอย่าง คนที่สุจริต จะนึกไม่ออก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะเห็น

อย่างเราเคยเป็นอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.หลายคณะ ตรวจสอบเรื่องการทุจริต พวกเราในอนุกรรมการไต่สวน ก็ยังนั่งมองหน้ากันเลยในบางคดีว่า โอ้โห ทำไมคิดกันได้แบบนี้ 

-ในฐานะเคยเป็นอนุกรรมการคดีทุจริตรับจำนำข้าวมาก่อน คิดว่าหากรัฐบาลเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต เกรงไหมว่ามันอาจจะซ้ำรอยรับจำนำข้าวได้?

อันนี้ ก็แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ก็คิดว่ามันมีความเป็นไปได้ ก็มีความเป็นไปได้ คือมันต้องมีการพิสูจน์หลายๆอย่าง ว่าคนที่ได้รับประโยชน์เป็นใคร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็คิดว่ามันมีความเสี่ยง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิด แต่มีความเสี่ยง

-ก่อนหน้านี้ สมัยที่ยังเป็นอนุกรรมการป.ป.ช.คดีจำนำข้าว ตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มต้นทำโครงการจำนำข้าวตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทางป.ป.ช.ก็เคยมีหนังสือทักท้วงไปว่าโครงการดังกล่าวอาจเกิดปัญหาการทุจริต แต่รัฐบาลตอนนั้นก็ไม่ฟังและทำต่อ จนเกิดปัญหามีคดีความเกิดขึ้น แล้วกับดิจิทัลวอลเล็ต หากมีการส่งหนังสือรายงานของคณะกรรมการชุดคุณสุภาไปให้รัฐบาล แต่รัฐบาลไม่สนใจแล้วหากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

โอกาสที่จะเป็นแบบนั้น จะซ้ำรอยมันก็มี            

-นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ล่าสุดหลังเดินทางกลับจากราชการที่สวิสเซอร์แลนด์ บอกว่ารัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตแม้จะมีรายงานของคณะทำงานป.ป.ช.ออกมาแล้ว ?

หากรัฐบาลจะทำโดยออกเป็นกฎหมาย ถ้าออกเป็นพรบ. ก็จะไม่เข้ากับหลักการตามพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และอาจขัดรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะเดินหน้าต่อ ต้องดูว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร จะเหมือนเดิมหรือไม่ เช่น จะให้เฉพาะคนที่มีเงินต่ำกว่าเจ็ดหมื่น ยังยืนยันหลักนี้อยู่หรือไม่ ตรงนี้ต้องรอดูรายละเอียด แต่หากเดินหน้าโดยแจกเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง กลุ่มที่เดือดร้อน กลุ่มที่อยู่พื้นที่ห่างไกล กลุ่มคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งคนที่เดือดร้อนจริงๆ เขาน่าเห็นใจ ไม่ได้คัดค้านอะไร 

...แต่ไม่ใช่เอาเงินของประเทศมาแจกแล้วสร้างหนี้สิน ที่จะเป็นการสร้างหนี้ไปอีกนาน และไม่คุ้มค่าด้วย ได้มีการประมาณการทางเศรษฐกิจจากธปท.และสภาพัฒน์ฯว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเท่าใด หากมีการใช้เงินห้าแสนล้านบาททำดิจิทัลวอลเล็ต โดยหากสมมุติว่าแจกในช่วงกลางปี คือพ.ค. ปีนี้ 2567 เศรษฐกิจไทยก็จะโตขึ้นประมาณ 2.8 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากหมดไป ตัวเลขก็จะลดลง เพราะใช้จ่ายไปแล้ว แจกครั้งเดียว แต่หากคาดการณ์กันว่า ถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต สมมุติว่าโตน้อยกว่า เช่นประมาณ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ลองคิดดูว่า ที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต โดยกู้เงินมาห้าแสนล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจโตขึ้นสองแสนล้าน มันสมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อดูจากตัวเลขจีดีพีที่ขยายตัวขึ้นมา จึงเป็นนโยบายที่ทำแล้วไม่คุ้มค่า

เตือนเศรษฐา-รัฐบาลเพื่อไทย เสี่ยงจะถูกสอบสวน ชี้มูลความผิด!

-หากรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ตรงนี้ในฐานะที่ศึกษาเรื่องนี้มา อยากบอกอะไรไปถึงรัฐบาล?

หากรัฐบาลจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นการแจกเงินเพื่อการบริโภคลักษณะที่จะทำ ที่ตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะใช้งบประมาณเท่าใด แต่หากอย่างที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ว่าอาจปรับเหลือสามแสนล้านบาท และยังคงเดินตามเกณฑ์เดิมเช่นจะให้กับคนที่มีรายได้มีเงินเดือนไม่ถึงเจ็ดหมื่นบาทต่อเดือน สมมุติว่ารัฐบาลยังคงยืนยันตามนี้ มันจะทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน

ด้านแรกก็คือการที่จะออกกฎหมายกู้เงินมา ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในบางคดีก่อนหน้านี้ว่า หากมีการออกฎหมายพิเศษกู้เงินมา เงินที่กู้มา ต้องส่งให้กระทรวงการคลัง เมื่องบที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้อยู่ในพรบ.งบประมาณรายจ่ายปกติ  การจะออกฎหมายพิเศษมากู้เงิน ซึ่งตามพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ บอกว่า จะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ แต่เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น เรื่องเงินเฟ้อ สภาวะการคลังของประเทศ ก็จะพบว่าไม่มีเกณฑ์ข้อใดที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้ ด้วยการออกกฎหมาย มันก็จะขัดกับพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่จะนำเงินคลังออกมาใช้

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้ เพราะว่าเครื่องมือที่จะใช้ในการกระจายเงินให้ประชาชนนำไปใช้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ระบบแบบใด จะใช้บล็อกเชนเหมือนเดิมหรือไม่ โดยหากจะใช้เทคโนโลยีขนาดนั้น ก็ต้องมีการไปว่าจ้าง ผู้มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดังกล่าว ที่ก็อาจจะเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์หรือคนที่ให้ผลประโยชน์กับบุคคลในรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่จะถูกคณะกรรมการป.ป.ช.สอบสวน และอาจถูกชี้มูล ก็อาจเป็นไปได้

และในด้านเศรษฐศาสตร์ การแจกเงินเพื่อให้ไปใช้ในการบริโภค ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ควรใช้เงิน ไปกับการลงทุนโดยภาครัฐ ที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวมากกว่าที่จะให้เงินครัวเรือนนำไปใช้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า จีดีพีขยายตัวมากกว่าโดยที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายในการลงทุน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหากรัฐบาลลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่อยู่ในชนบทในพื้นที่ห่างไกล ที่อินเตอร์เน็ตก็ยังเข้าไม่ถึง หากรัฐบาลลงทุนในลักษณะนี้มันจะเป็นประโยชน์กับคนที่ขาดโอกาสจริงๆ

ดังนั้น การที่จะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็มีความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นธรรม รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างเป็นธรรม แต่การแจกเงินลักษณะแบบที่จะทำ ไม่มีความเป็นธรรม เพราะบางคนแม้อาจจะมีเงินเดือนไม่ถึงเจ็ดหมื่นบาท ทำให้จะได้รับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต  แต่เขาอาจจะมีทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ที่ดิน มีสินทรัพย์จำนวนมากกว่าคนที่มีเงินเดือนเจ็ดหมื่น แล้วรัฐบาลจะตรวจสอบตรงนี้ได้อย่างไร หากไม่มีการตรวจสอบแล้วให้เงินกับคนเหล่านี้ไป ก็มีความไม่เป็นธรรมอีกเช่นกัน

คณะกรรมการฯ ไม่มีการใช้ความรู้สึกส่วนตัว ความคิดเห็นส่วนตัว เข้ามาพิจารณา ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เราพิจารณาดูจากข้อมูล -ตัวเลขต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด พรรคการเมืองไหน หากมีนโยบายแบบนี้ ป.ป.ช.ก็จะเข้ามาตรวจสอบ มาวิเคราะห์ ทั้งด้านกฎหมาย -ความเสี่ยงการทุจริต  วิเคราะห์เรื่องประสิทธิภาพของนโยบายในเชิงเศรษฐศาสตร์   ไม่ได้มีการวางโพยไว้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

-หลังจากคณะทำงานจัดทำเอกสารรายงานศึกษาดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้ว กระบวนการต่อไปในส่วนของป.ป.ช.จะทำอย่างไรต่อไป?

ตอนนี้ ถือว่าคณะทำงานทำหน้าที่เสร็จแล้ว และรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ก็เข้าที่ประชุมใหญ่ป.ป.ช.ไปแล้ว  แต่หากรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องกระบวนการให้ดิจิทัลวอลเล็ต คณะทำงาน ก็อาจจะนัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันต่อไปได้

คณะกรรมการฯ ไม่มีธง ขวาง-ล้ม ดิจิทัลวอลเล็ต

-ฝ่ายการเมือง ในซีกรัฐบาล บางส่วนบอกว่า ผลการศึกษาที่ออกมา เหมือนกับฝ่ายป.ป.ช.มีธงอยู่แล้วว่า จะไม่ให้รัฐบาลทำดิจิทัลวอลเล็ต?

ยืนยันได้ว่า คณะกรรมการฯ ไม่มีการใช้ความรู้สึกส่วนตัว ความคิดเห็นส่วนตัว เข้ามาพิจารณา ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เราดูจากข้อมูล -ตัวเลขต่างๆ อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด พรรคการเมืองไหน หากมีนโยบายแบบนี้ ป.ป.ช.ก็จะเข้ามาตรวจสอบ มาวิเคราะห์ ทั้งด้านกฎหมาย -ความเสี่ยงการทุจริต  วิเคราะห์เรื่องประสิทธิภาพของนโยบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้มีการวางโพยไว้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ตัวดิฉันเองที่ทำงานกับสำนักงานป.ป.ช.มาเกือบสิบห้าปีแล้ว ยืนยันได้ว่า สิ่งที่เราพูดในที่ประชุม เราต้องพูดด้วยตัวเลข ข้อมูลต่างๆ ด้วยหลักวิชาการ สิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาฯ เราทำด้วยหลักวิชาการโดยแท้จริง

-หากในอนาคต ถ้าดิจิทัลวอลเล็ต ไปต่อไม่ได้ ฝ่ายการเมือง ก็อาจจะสร้างกระแสว่า พยายามทำตามที่หาเสียงแล้วแต่ไปต่อไม่ได้ เพราะโดนขวาง โดยเฉพาะจากองค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. ตรงนี้ในฐานะอยู่ในคณะกรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงานป.ป.ช.  พร้อมจะรับแรงกระแทรกทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหรือไม่?

ไม่เป็นไร เราโดนแรงกระแทกมาเยอะแล้ว อย่างเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ก็มีการยิงอาวุธในสำนักงานป.ป.ช.ก็เคยมีมาแล้ว แต่อันนี้ไม่สำคัญ

เพราะสิ่งสำคัญคือ เราอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอันนี้มันทำร้ายประเทศไทย จะทำให้เราต้องตกเป็นหนี้กันไปอีกนาน สมมุติในครอบครัวเรา หัวหน้าครอบครัวไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อทีวีจอยักษ์ คนในครอบครัวอาจแฮปปี้ในตอนนี้ แต่ต่อมาเมื่อเจ้าหนี้มาทวงเงิน จะทำอย่างไร          

เราอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ถ้ารัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ หากรัฐบาลจะดูแลเยียวยาเฉพาะประชาชนกลุ่มระดับล่าง ที่ภาครัฐมีข้อมูลคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว 

-เรื่องนี้คิดว่ารัฐบาลจะหาทางออกอย่างไร?

ก็ควรทำตามที่คณะกรรมการฯ เสนอจะดีกว่า ก็คือให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่ก็เคยมีการให้กันมาแล้วก่อนหน้านี้ ก็ใช้ระบบแบบที่เคยทำในการโอนเงินให้กับกลุ่มดังกล่าว ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ

เตือนอันตราย หาเสียงประชานิยม แต่อำพราง ไม่บอกแหล่งที่มาของเงิน

-ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ด้วย มองอย่างไรที่ช่วงหลัง พรรคการเมืองเวลาหาเสียงชอบหาเสียงแบบเอานโยบายประชานิยม มาหาเสียง และบางเรื่องหาเสียงไปแล้ว แต่เวลาเข้าไปทำหากเป็นรัฐบาล รายละเอียดก็ไม่ได้ทำแบบตอนที่แจ้งกับกกต.?

เราพูดเรื่องนี้มานานแล้ว คือพรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะหาเสียง แล้วนำเสนอนโยบายต่างๆ แต่สิ่งที่อยากให้กกต.ดำเนินการก็คือ นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอตอนหาเสียงเลือกตั้ง ใช้งบประมาณเท่าใดและนำงบประมาณมาจากไหน เพราะงบประมาณก็จะมีที่มาอยู่ไม่กี่แห่ง เช่นจากร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ หรือการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้ยืมเงินมาทำนโยบาย ที่ก็ควรต้องบอกให้ชัดว่า จะกู้จากแหล่งใด กู้จากในประเทศหรือกู้จากต่างประเทศ หรือจะใช้วิธีปรับลดงบประมาณในโครงการต่างๆ ลงเช่น ปรับลดงบก่อสร้างลง ลดงบก่อสร้างถนน โรงเรียน เป็นต้น  โดยก็ต้องบอกกับกกต.ว่า ต่อไปงบก่อสร้างต่างๆ จะมีการปรับลดลง เพราะจะเอาเงินที่ปรับลดมาใช้ทำนโยบายใหม่ที่หาเสียง ก็ต้องบอกกับประชาชนให้ชัดตอนหาเสียง

อย่างตอนหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา หากมีการบอกให้ชัดตั้งแต่ตอนนั้นว่างบที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต จะเอามาจากการกู้เงิน ก็คงจะมีคนออกมาวิเคราะห์ให้ฟังแล้วว่าจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่มีรายละเอียดแจ้งไว้

พรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะคิดนโยบายสร้างฝันอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้ระบุว่างบประมาณที่จะใช้นำมาจากแหล่งใด บอกมาให้ชัดเจนเพื่อประชาชนจะได้มีข้อมูลที่ชัดเจน เช่นหากจะต้องมีการกู้เงิน ก็ต้องบอกให้ชัดว่ากู้มาแล้ว ต้องใช้หนี้ภายในกี่ปี ถึงจะหมด เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าการที่ได้เงินมาสำหรับทำนโยบายต่างๆ มันไม่ได้มาโดยไม่มีต้นทุน ไม่ใช่ว่าได้มาฟรีๆ และมันอันตรายมาก

ถ้าพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงว่าจะทำอะไรที่เกินเลย โดยไม่แสดงแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะทำนโยบายที่หาเสียงให้ประชาชนเห็น แล้วต่อมาหลังเลือกตั้ง หากเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็มาอ้างว่าต้องทำ เพราะได้หาเสียงไว้ มันก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่น่ากลัวมาก และเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม 

เรื่องการหาเสียงของพรรคการเมืองตอนเลือกตั้ง ก็อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าผลกระทบจะมีอะไรบ้าง เราอาจได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ถ้าต่อไป ต้องแบกรับภาระในระยะยาว ก็เป็นสิ่งที่ขอให้ประชาชนเข้าใจตรงนี้ด้วย 

"รายงานของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่ทำออกมา เราก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เป็นประโยชน์ในแง่ความมั่นคง ความยั่งยืน ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่จะไม่เป็นภาระต่อไปอนาคต ก็หวังว่ารัฐบาลและประชาชนจะเห็นได้ว่าผลการศึกษาที่ออกมา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ในเชิงข้อมูล -หลักวิชาการ ไม่ได้เป็นความเห็นส่วนตัวแต่อย่างใด

อยากขอให้ประชาชนเข้าใจและรายงานดังกล่าว ที่ไม่ได้ต่อต้านการให้เงินเพื่อบริโภคแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นสำหรับประชาชนบางกลุ่ม แต่บางกลุ่มก็ยังเดือดร้อนอยู่ หากรัฐบาลจะมีโครงการแบบเฉพาะเจาะจงให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยและสนับสนุน"รศ.ดร.สิริลักษณา กล่าวทิ้งท้าย

                                                       โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ยิ้มรับถูกถามศาลรธน. ตีตกคำร้องดิจิทัลวอลเล็ต ย้อนถามสื่อต้องหน้าบึ้งเหรอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

'แจกเงินหมื่น' เฟส 3 ไม่ใช้แอปเป๋าตัง กำลังจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบ คาดเสร็จ มี.ค.68

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแอปพลิเคชันที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงิน 10,000 บาท เฟส 3 หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกมนตรี

'สนธิญา' ยื่นหลักฐานเพิ่ม ร้องศาลรธน. สั่ง 'อิ๊งค์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก

นายสนธิญา สวัสดี นำเอกสารหลักฐานไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาลดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นแตกต่างจากนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท