ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน: ภัยร้ายที่ยังขาดนโยบายในการแก้ไขแบบองค์รวม

ประเทศไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นั้น ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในมุมมองของผู้คนส่วนใหญ่เห็นจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการขาดรายได้ ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญหาสังคมที่มีความรุนแรงไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาเศรษฐกิจเลย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสังคมที่เขย่าขวัญและนำมาซึ่งความเศร้าสลดเสียใจของผู้คนจำนวนมากเห็นจะเป็นปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน

จากข้อมูลของ World Population Review พบว่า ในปี พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีผู้สูญเสียจากการใช้อาวุธปืนมากถึง 3,830 ราย โดยมีเหตุกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นเหตุโศกนาฏกรรมสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อย้อนไป 2-3 ปีก่อน ก็ยังมีเหตุโศกนาฏกรรมจากการกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองนครราชสีมา (พ.ศ.2563) และเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู (พ.ศ.2565) อันล้วนแต่เป็นเหตุสะเทือนขวัญ นำไปสู่การเรียกร้องของประชาชนในสังคมให้มีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่ามีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลก็ดี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดี ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

GunPolicy.org หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ประมาณการว่า อาวุธปืนที่พลเรือนครอบครอง (privately owned guns) ในประเทศไทยมีจำนวน 10 ล้านกระบอก โดยแบ่งเป็นอาวุธปืนขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 6 ล้านกระบอก และอาวุธปืนเถื่อน จำนวน 4 ล้านกระบอก คำถามสำคัญ คือ เราจะแก้ปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนอย่างไร? มีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนมากมายจากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน ข้อเสนอสำคัญประการหนึ่ง คือ การควบคุมจำนวนอาวุธปืน และการกวาดล้างปืนเถื่อน ซึ่งแน่นอนว่า ข้อเสนอที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนนั้น มีแง่มุมที่ซับซ้อน จึงควรมีการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมโดยพิจารณาบริบทของปัญหาแบบองค์รวมด้วย

แม้ประเทศไทยจะมี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการให้อนุญาตการครอบครองปืนก็ตาม การเข้าถึงอาวุธปืนในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยาก มีการรายงานข่าวในช่วงหลังเหตุสะเทือนขวัญกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกี่ยวกับปัญหาโครงการปืนสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางในการค้าขายอาวุธปืนราคาถูกกว่าท้องตลาด รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืน ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตในการจัดหาอาวุธปืน หรือ ปัญหา “สินบนโควต้าปืน” นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังมีการศึกษาวิจัยที่พบว่านายทะเบียนอาวุธปืนบางรายในบางท้องที่ใช้ดุลยพินิจในการให้อนุญาตบุคคลให้มีอาวุธปืน ภายใต้แรงกดดันซึ่งอาจมาจากผู้บังคับบัญชาเอง หรือบุคคลผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นอกจากอาวุธปืนจริงแล้ว การซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืน เช่น บีบีกัน (BB Guns) แบลงค์ กัน (Blank Guns) ซึ่งซื้อหาได้ง่ายมากผ่านทางเว็ปไซต์ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องควบคุมอย่างเร่งด่วน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า การควบคุมอาวุธปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นเรื่องจำเป็น และเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า “อาวุธปืนไม่ได้ฆ่าคน คนด้วยกันเองต่างหากที่ฆ่าคน” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนใช้ปืนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ประเด็นทัศนคติในการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาก็สำคัญไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าการควบคุมอาวุธปืน ภาครัฐจะมีนโยบายในการส่งเสริมสังคมให้มีความอดทนอดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรงอย่างไร? อันที่จริงแล้ว เหตุความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนจำนวนมากก็มาจากความขัดแย้งของประชาชน ซึ่งความขัดแย้งเหล่านั้นอาจเป็นความขัดแย้งสะสมส่วนตัว หรืออาจเป็นเพียงความเดือดร้อนรำคาญอันมีสาเหตุมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนที่มีบ้านเรือนติดกัน หรืออยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าขบคิดต่อ ก็คือ กลไกของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเดือดร้อนรำคาญ เป็นทางเลือกให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนกลายเป็นภัยร้ายใกล้ตัวไปแล้ว ในขณะที่แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเท่าที่ผ่านมานั้น กลับมีลักษณะเป็นเพียงมาตรการตอบสนองเฉพาะหน้า หรือตอบสนองเป็นกรณีๆ ไป ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาถึงความซับซ้อน และแง่มุมแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในด้านกฎหมาย และสังคม เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่มุ่งการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม มิเช่นนั้นแล้ว ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนจะยังคงสร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยต่อไป

รศ.ดร.ติญทรรศน์ ประทีปพรณรงค์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘กกต.’ ไม่หวั่นการเมืองหนุนผู้สมัคร อบจ. ชี้ทำบรรยากาศเข้มข้น ไร้สัญญาณรุนแรง

การเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นรากฐาน ของการพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ถ้าท้องถิ่นดีระดับชาติก็จะดีไปด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

ผงะ สังคมไทย! สตรีเหยื่อความรุนแรง แจ้งความพุ่งปีละ 3 หมื่นคน

กสม.ร่อนสาร  เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ปี  2567 เรียกร้องรัฐบาลขับเคลื่อนป้องกัน ความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ หนุนสังคมต้องช่วยกันดูแลไม่ปล่อยนิ่งเฉย

พบระเบิด 3 ลูกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส จนท.เร่งเก็บกู้

กรณีเหตุเมื่อคืนที่ผ่านมา(21 ก.ย.67)ได้มีคนร้ายประมาณ 20-30 คน อำพรางใบหน้าพร้อมอาวุธครบมือ ลอบวางเพลิงอาคารบ้านพักสำนักงานป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา บ้านบาลา

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ด้วยวาทกรรม ‘นองเลือด’ ของเขา เวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์กำลังยุยงให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นต่อผู้อพยพ รวมถึงโจ ไบเดนคู่แข่