“วันมาฆบูชา” .. ความมั่นคงของสถาบันสงฆ์ในพระพุทธศาสนา!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา บัดนี้ เข้าสู่พุทธศักราช ๒๕๖๗.. ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานมาแล้ว ๒๕๖๗ ปี เมื่อนำไปบวกกับอายุพระพุทธเจ้า ๔๕ พรรษา ก็จะได้อายุพระพุทธศาสนาครบ ๒,๖๑๒ ปี นั่นหมายถึง การเดินทางของพระพุทธศาสนาที่ยาวนานมากว่า ๒,๖๐๐ ปี อันควรแก่ความภาคภูมิใจในหลักธรรมคำสั่งสอนที่เป็น “สัจธรรม” ที่ทนทานต่อการพิสูจน์ ที่สรุปคำสั่งสอนรวมลงในความเป็นจริงขั้นสูงสุดที่แสดงความเป็นธรรมดา..ว่า       “สังขารทั้งหลายทั้งปวง .. ไม่เที่ยงแท้                   ธรรมทั้งหลายทั้งปวง .. ไม่มีอัตตาเที่ยงแท้”

ดังที่กล่าวเป็นภาษาธรรมว่า.. ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ที่เรียกว่า สังขาร นั้น เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย.. และเมื่อเหตุปัจจัยสิ้นไป “สังขาร” หรือ “สภาวธรรม” เหล่านั้นย่อมสิ้นไป เป็นธรรมดา

แต่หากเหตุปัจจัยยังมีอยู่.. สังขาร ก็ยังคงมีอยู่.. ด้วยการส่งสืบต่อของปัจจัยอันมาแต่เหตุนั้นตามหลักธรรม.. ที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเรียกหลักธรรมดังกล่าวว่า “กฎอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาทธรรม”

โดยแสดงความเป็นไปของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ว่า.. ดำเนินไปภายใต้กฎธรรมชาติ.. ที่เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา.. ดังกล่าวนี้ ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ธรรมนิยาม”

จากความเข้าใจในกฎธรรมชาติดังกล่าว.. จึงนำไปสู่การเข้าถึงชั้นความเป็นจริงในส่วนลึกสุด ที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติว่า “สภาพธรรมทั้งหลาย ไร้อัตตา ตัวตน เที่ยงแท้ บังคับบัญชา” โดยพระพุทธเจ้าเรียกกฎความจริงดังกล่าวว่า “กฎอนัตตา”

การประกาศ กฎอนัตตา ของพระพุทธเจ้าให้เป็นไปในโลกนี้ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ชมพูทวีป ในพรรษาที่ ๑ จาก ๔๕ พรรษา ของความเป็นพระพุทธเจ้านั้น.. นับว่าเป็นการปฏิวัติปรัชญาความเชื่อของมหาชนในยุคสมัยดังกล่าวไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่ต่างก็พยายามมุ่งแสวงหาความเป็นจริงในธรรมชาติของโลกนี้ตามความเชื่อ-ความเห็นของตนเอง... จึงเกิดทิฏฐิในสังคมมนุษยชาติสมัยนั้น มากถึง ๖๒ ทิฏฐิ หรือ ๖๒ ทฤษฎี โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายใหญ่ๆ คือ

๑.สัสสตทิฏฐิ .. โดยมีความเห็นว่า อัตตาตัวตน เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขาดสูญ แม้ตายก็เป็นเพียงร่างกายแตกสลาย แต่สิ่งที่เรียกว่า อาตมัน (อัตตา).. ชีวะ.. เจตภูติ ยังเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย จะไปถือเอาปฏิสนธิในกำเนิดของภพอื่นต่อไป..

๒.อุจเฉททิฏฐิ .. โดยมีความเห็นว่า ตายแล้วขาดสูญ ไม่มีอะไรที่จะไปเกิดหรือไปปฏิสนธิในภพอื่นอีก ไม่มีอาตมัน (อัตตา).. ชีวะ..​ เจตภูติ ทุกอย่างขาดสูญไปทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลือไปเกิดในสุคติ..ทุกคติอีกต่อไป...

ซึ่งในส่วนของพระพุทธศาสนานั้น อยู่ในระหว่างความเห็นทั้ง ๒ ส่วน คือ ไม่ใช่ความสืบเนื่องไป ไม่มีที่สุด และก็ไม่ใช่ความขาดสูญ ไม่มีอะไรเลย...

โดยพระพุทธศาสนาแสดงความเป็นจริงแท้อันพิสูจน์ได้ว่า

“ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย..

..เมื่อเหตุปัจจัยมีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี..

เมื่อเหตุปัจจัยสิ้นไป สิ่งนั้นย่อมสิ้นไป..”

เป็นความเป็นจริงที่เป็นธรรมดา.. ที่มีอยู่และเป็นไปแล้วในโลกนี้ ที่ไม่มีใครๆ เป็นผู้แต่งขึ้น เพื่อแสดงความเป็นจริงว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นธรรมดาดังกล่าว...

พระพุทธศาสนาจึงวางจุดมุ่งหมายของการศึกษาไปสู่ การพัฒนาจิตให้มีปัญญา.. เพื่อความรู้แจ้งในความเป็นจริงของธรรมชาติของชีวิต ตลอดจนสังคมสิ่งแวดล้อม.. ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เพื่อแสดงความเป็นธรรมดาว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างมีระเบียบแบบแผน ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

พระพุทธศาสนาจึงกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต เพื่อมุ่งสู่ความดับสิ้นใน ความทุกข์ ซึ่งได้กำหนดว่า “ทุกข์” เป็นความจริง (สัจจะ) ที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติของชีวิตที่มีจิตวิญญาณครอง.. โดยเฉพาะในมนุษยชาติ.. ที่เป็นสัตว์โลกที่สามารถพัฒนาให้มีสติปัญญา.. เพื่อยกระดับจิตให้เข้าสู่ความประเสริฐได้จริง...

พระพุทธศาสนาจึงกำหนดการศึกษาลงไปที่ ความจริงคือทุกข์ (ทุกขสัจจะ) ที่ทุกชีวิตต้องประสบอันเกิดจากวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า อนิจจัง อันยากที่จะต้านทาน จึงเรียกว่า ทุกข์.. ด้วยความที่ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของใครได้ไม่... ไม่อยู่ในอำนาจของใครๆ.. และทุกอย่างไม่สามารถถือความเป็นเจ้าของได้.. จักต้องสละคืนกลับไปสู่ธรรมชาติ.. สะท้อนความเป็นจริงว่า ไร้อัตตาตัวตน.. เมื่อรื้อค้นเข้าไป มีแต่ความว่างเปล่า เรียกว่า สุญญตา..

การประกาศหลักความจริงอันประเสริฐ ที่เรียกว่า อริยสัจธรรม มีอยู่ ๔ ประการ จึงเกิดขึ้นในโลกนี้ ด้วยการตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก.. ที่ไม่มีศาสดาใดยิ่งกว่า.. ด้วยการแสดงความจริงอันประเสริฐ.. เป็นความจริงที่เป็นที่สุดแห่งความจริง.. เป็นความจริงที่เหนือความจริงทั้งปวง.. ไม่มีความจริงใดที่จะประเสริฐ เท่ากับความจริง ที่เรียกว่า อริยสัจธรรม ที่แสดงความเป็นจริงอันควรศึกษา เพื่อการพัฒนาชีวิตจิตใจให้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้จริง โดยการรู้แจ้งในความเป็นจริงของ ความทุกข์.. เหตุเกิดความทุกข์.. ความดับทุกข์ และหนทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค)

การประกาศหลักธรรมที่มนุษยชาติปฏิบัติได้จริงด้วยตนเอง จึงเกิดขึ้นในโลกนี้ โดยยึดหลัก “การพึ่งตน-พึ่งธรรม” .. ไม่ใช่การไปพึ่งเทวดาฟ้าดิน ภูเขา ป่าไม้ สัตว์น้อยใหญ่ หรืออำนาจวัตถุ สิ่งของ บุคคลภายนอกทั้งหลาย...

พระพุทธศาสนาประกาศหัวใจแห่งธรรม.. เพื่อความสำเร็จทั้งปวง อยู่ที่การพัฒนาจิตใจ.. โดยมีเครื่องมือในการพัฒนาด้วย การเจริญสติปัฏฐานธรรม ที่นำไปสู่การเจริญ วิปัสสนาญาณ โดยให้ความหมายในความสำคัญของ จิตใจ (มโน) ว่า

“ธรรมทั้งหลาย มีจิต (มโน) เป็นหัวหน้า..

ธรรมทั้งหลาย มีจิต (มโน) เป็นใหญ่

ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต (มโน)..”

การประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้า.. จึงเป็นการประกาศหลักความเป็นจริงที่เรียกว่า อริยสัจมี ๔ ประการดังกล่าว ได้แก่ ทุกขสัจจะ สมุทยสัจจะ นิโรธสัจจะ และมรรคสัจจะ จะไม่มีขาดหรือเกินไปกว่านี้โดยเด็ดขาด ตลอด ๔๕ พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมคำสั่งสอนไว้มากมาย คือ ประมวลรวมลงเป็น พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ที่มีหลักฐานปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎก.. ที่สืบเนื่องพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน ที่ล้วนแล้วต้องมุ่งสู่พระอริยสัจสี่ประการดังกล่าวเป็นที่สุด

โดยมีหมู่ผู้เชื่อฟัง ที่เข้าสู่การศึกษาปฏิบัติจนบรรลุ พบถึงซึ่งความดับทุกข์ ที่เรียกว่า พระสงฆ์สาวก ได้ทำหน้าที่สืบทอดส่งต่อพระอริยสัจธรรม ๔ ประการดังกล่าว มาจนถึงสมัยปัจจุบัน..

ดังนั้น การจัดระเบียบแบบแผนขององค์กรพระสงฆ์ เพื่อการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ มีธรรมานุภาพ เพื่อประโยชน์แห่งมหาชน จึงเป็นความสำคัญอีกประการหนึ่ง.. เพื่อการทำหน้าที่ส่งสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เป็นไปอย่างยาวนานที่สุดในโลกนี้

จึงปรากฏเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ก่อนเข้าสู่พรรษาที่ ๒ ของพระพุทธองค์ ที่ได้ทรงประชุมพระสงฆ์สาวก ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ณ พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ปัจจุบันอยู่ใน ต.ราชกีร์ นาลันทา นครปัตนะ รัฐพิหาร/อินเดีย

โดยเรียกวันที่มีการประชุมพระอรหันตสาวกครั้งแรกนั้นว่า “วันมาฆบูชา” ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่ เวฬุวันมหาวิหาร เป็นเขตอุโบสถ.. หรือเป็นอุโบสถแห่งแรกของพระพุทธเจ้า ที่ทรงประกาศเขตอุโบสถโดยพระองค์เอง.. เพื่อทรงแสดง พระโอวาทปาติโมกข์ อันมีความสำคัญ ที่เทียบเคียงได้กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ของการปกครองทางโลก ซึ่งใน พระโอวาทปาติโมกข์ นั้น ได้มีการประกาศ หลักการ อุดมการณ์ และข้อปฏิบัติ ไว้อย่างชัดเจน.. เพื่อการศึกษาปฏิบัติของพระสงฆ์สาวก ที่จะต้องเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนและมีมาตรฐานคุณภาพเดียวกัน... เพื่อความเป็นเอกภาพของพระสงฆ์สาวกในพระพุทธศาสนา ที่จะต้องทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องไปในโลกนี้..

ดังคำกล่าวที่ว่า.. “พระโอวาทปาติโมกข์ ยังคงดำรงอยู่.. คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา.. ยังคงดำรงอยู่

พระโอวาทปาติโมกข์ สูญสลายไป.. คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ย่อมสิ้นไป..”

ในปีนี้ (พ.ศ.๒๕๖๗) .. วันมาฆบูชา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗.. จะได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันมาฆบูชาโลกที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ.. (ต.ราชกีร์ นาลันทา นครปัตนะ รัฐพิหาร/อินเดีย) อีกครั้ง.. นับเป็นครั้งที่ ๑๕.. โดยเริ่มจัดงานมาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหารครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓.. ซึ่งมีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ ทั้งฝ่ายพุทธเถรวาท..และพุทธมหายาน มาร่วมประชุมกันมากมาย โดยมีพระสังฆราชสยามอุบาลีวงศ์จากประเทศศรีลังกาเป็นองค์ประธาน...

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน