“ชีวิตน้อยนิดนัก” .. บทธรรมส่งท้ายปี ๒๕๖๔!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... จริงๆ แล้วชีวิตของคนเรานั้นสั้นนัก หากเปรียบเทียบกับสัตว์โลกทั้งหลาย สิ่งสำคัญจึงต้องมีความสำนึกรู้คุณค่าในฐานะสัตว์ที่สามารถพัฒนาชีวิตให้ถึงความประเสริฐได้... ด้วยการเจริญสติปัญญา.. ด้วยความสำนึกรู้คุณในฐานะสัตว์ที่สามารถเจริญสติปัญญาได้.. อันนับเป็นความประเสริฐอย่างยิ่งในฐานะของสัตว์โลกที่เรียกว่า สัตว์มนุษย์...

หน้าที่ของสัตว์มนุษย์แท้จริง.. คือ การเกิดมาเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณให้มีสติปัญญา.. ก่อเกิด สัมมาทิฏฐิ.. เพื่อนำไปสู่ สัมมาปฏิบัติ โดยในเบื้องต้น จักต้องเชื่อมั่นใน กฎแห่งกรรม.. อันเป็นไปตาม กฎธรรมชาติ

การที่ มนุษยชาติ จะมีความศรัทธาในกฎแห่งกรรม ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้นั้น จักต้องมีการเรียนรู้หรือศึกษาพัฒนาตน เพื่อการรู้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติที่เรียกว่า ธรรม... ซึ่งปรากฏชัดเจนเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น.. อันเกิดจากการตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง ในพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ที่ได้ประกาศหลักธรรมอันเป็นอริยสัจธรรมที่ล่วงมาแล้วมากกว่าสองพันปี...

ถึงแม้ว่าพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็น อริยสัจธรรม จะเดินทางมายาวนาน แต่ก็มิได้ทำให้เกิดความแปรผัน เปลี่ยนแปลง หรือเสื่อมคลายใดๆ ใน พระสัจธรรม ที่สะท้อนความเป็นจริงของความเป็นธรรม .. ในธรรมชาติดังกล่าวนั้น.. เพราะธรรมชาติแสดงความเป็น ธรรมนิยาม ที่ไม่ผันแปรไปตามกาลเวลา.. ดังที่พระภาษิตพระธรรมว่าเป็น อกาลิโก..

หน้าที่ของพวกเรา.. ในฐานะสัตว์มนุษย์.. จึงสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามธรรมอย่างมิผันแปรและเป็นหน้าที่ที่ทรงคุณค่ายิ่ง เมื่อได้ศึกษาปฏิบัติตรงตามพระธรรมคำสั่งสอน หรือสามารถดำเนินชีวิตตามรอยบาทธรรม ที่ทรงแสดงไว้ให้ดู บอกให้รู้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า... นี่คือปฏิปทาของพวกเราทั้งหลาย เพื่อการเข้าถึงความประเสริฐที่เรียกว่า  มัชฌิมาปฏิปทา..

ในวิถีสายธารแห่งชีวิตที่ไม่ยาวนักของสัตว์มนุษย์.. จึงไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาทกาลเวลา.. ที่ดำเนินไปอย่างซื่อตรง.. กวาดกินสัตว์ทั่วปฐพีให้สิ้นไป ภายใต้อำนาจของกาลเวลา.. ดังคติธรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา.. ที่ผูกเป็นปริศนาไว้ว่า...

 “พญายักษ์หนึ่งนา มีนัยน์ตาอยู่ ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่ มีปาก ๑๒ ปาก มีฟันไม่มาก ปากละ ๓๐ ซี่ กินสัตว์ทั่วปฐพี พญายักษ์ตนนี้คือใคร!?..”

เมื่อกล่าวถึงความเป็นสัตว์ที่มีชีวิตน้อยนิดนักของพวกเราทั้งหลาย คงมีบางคนอาจจะโต้แย้งว่า หมู หมา กา ไก่.. มีอายุน้อยกว่าเรามาก... ซึ่งก็เป็นจริง.. หากเรามองไปที่กลุ่มสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้น ที่เกิดมาเสวยคติของความทุกข์ เป็นสัตว์ในอบายภูมิ..

แต่หากเรามองลึกลงไปในอบายภูมิ ทะลุเดรัจฉานภูมิลงไปถึง เปรต อสูรกาย สัตว์นรก.. หรือมองไปสู่เทวดาในชั้นต่างๆ ไม่ว่าชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์.. ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี.. เลยไปจนถึงเทวดาชั้นพรหม.. ตั้งแต่พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา.. มหาพรหม.. เป็นต้น ก็จะพบว่า.. สัตว์มนุษย์มีอายุขัยน้อยนิดนัก ดังที่เปรียบให้เห็นว่า.. เป็นเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้นเอง หากเปรียบเทียบกับเทวดาชั้นดาวดึงส์.. หรือไม่เกินครึ่งวันของชั้นยามา.. และไม่เกิน ๖ ชั่วโมงของเทวดาชั้นดุสิต.. ที่เปรียบเทียบต่อ ๑๐๐ ปีของมนุษย์เรา.. จึงเห็นได้ว่า อายุขัยของมนุษย์เรานั้นสั้นจริงๆ....

เราจึงควรเข้าใจกฎธรรมชาติ.. ที่แสดงความเป็นธรรมดาว่า.. ทุกสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย หาได้เที่ยงแท้แน่นอนไม่.. อนุวัติไปตามความเกิด.. ความดับ แม้ตั้งอยู่ชั่วขณะก็แปรปรวน.. เพื่อเห็นให้ชัดเจนว่า.. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในทุกภพภูมิน้อยนิดนักจริงๆ... ด้วยมีความตายควบคุมความเกิดอยู่ทุกขณะ.. ดังที่พระกรรมฐานได้อบรมสั่งสอนให้เรามีสติ.. กำหนดดู รู้ลมหายใจเข้า-ออก ในทุกขณะ และให้เห็นความเป็นธรรมดาของความเกิด-ดับ ที่ควบคุมอยู่ทุกขณะหายใจเข้า หายใจออก... เพื่อเห็นความเป็นมรณะในทุกขณะหายใจ.. หรือในทุกขณะที่ชีวิตดำเนินไปบนสายธารแห่งธรรมชาติของความมีชีวิตแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย...

ที่สำคัญยิ่ง ในความที่เรามีชีวิตน้อยนิดนัก.. พระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตแม้น้อยนิด ว่า สามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาล.. ในฐานะสัตว์มนุษย์ จึงควรมีความสำนึกอยู่เสมอว่า... “หนึ่งชีวิตของสัตว์มนุษย์ จะมีคุณค่ายิ่ง... หากใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า แม้ว่าชีวิตจะน้อยนิดนัก”

จึงเกิดโจทย์ขึ้นมาข้อหนึ่งในชีวิตของเราทั้งหลายว่า..  จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่าที่สุด.. เพื่อการได้ประโยชน์โดยธรรมจากคุณค่าที่สุดนั้น อันควรเรียกว่า คุณค่าแห่งชีวิต!?...

การดำเนินชีวิต.. เพื่อให้เกิดประโยชน์.. เพื่อการเข้าถึงคุณค่าที่สุด จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน.. ที่สำคัญยิ่ง ต่อหนึ่งชีวิตที่ได้มาอย่างไม่มีอะไหล่สำรอง...

การขวนขวายแสวงหา.. หลักธรรมเพื่อการดำเนินชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมาย.. เพื่อการมีชีวิตที่มีคุณค่า จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละชีวิตที่ควรจะแสดง.. ก่อนที่ชีวิตจะสิ้นคุณค่า.. อันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ...

เมื่อเราได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา.. ที่มี หลักธรรม คำสั่งสอนที่ชัดเจน ตรงไปสู่การสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับชีวิต.. จึงนับเป็นโชคดีครั้งที่สอง.. นับต่อจากครั้งที่หนึ่ง ที่ได้ฐานะของสัตว์มนุษย์มา..

ดังนั้น.. เราจึงพึงควรใช้ฐานะ โอกาส กาลเวลา อันเหมาะสมนี้... เพื่อการทำหน้าที่อันควร.. ในฐานะสัตว์ประเสริฐ.. ที่สามารถเข้าถึงความประเสริฐได้ หากรู้จักหน้าที่อันเป็นธรรมของชีวิต.. หรือรู้จักชีวิตอันเป็นธรรมที่นำไปสู่การมีหน้าที่.. ที่ควรกระทำ.. เพื่อการเข้าถึงประโยชน์แห่งธรรม.. ที่เรียกว่า อริยธรรม ได้จริง.. ด้วยการทำหน้าที่พัฒนาชีวิตนั้นให้เป็นไปตามอริยมรรค.. อันมีองค์ธรรม ๘ ประการ ด้วยการดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา... เพื่อการบรรลุถึงประโยชน์แห่งธรรม อันควรเรียกว่าเป็นประโยชน์แท้จริงของชีวิตแห่งสัตว์โลก โดยเฉพาะฐานะ สัตว์มนุษย์

 “การพึ่งตน-พึ่งธรรม” จึงเป็นหัวใจธรรมสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพื่อการพัฒนาชีวิตให้ถึงประโยชน์แห่งธรรมอย่างยั่งยืน.. เยือกเย็น และแน่วแน่.. นิ่งสงบ...

พระพุทธศาสนา.. จึงได้วางหลัก การเจริญสติปัฏฐานธรรม ไว้เพื่อเป็นหลักใน การพึ่งตน-พึ่งธรรม ที่ถูกต้องตรงธรรม.. ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามธรรม.. ด้วยความรู้เข้าใจที่ไม่วิบัติไปจากธรรม...

การศึกษาปฏิบัติเป็นไปตามลำดับจึงเกิดขึ้น ทั้งเบื้องต้น.. ท่ามกลาง.. และที่สุด... ที่ให้มุ่งสู่ประโยชน์สูงสุดโดยธรรม.. คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง.. ที่เป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่ควรพัฒนาไปให้ถึง...

ดังนั้น ในวันนี้.. ในฐานะสัตว์มนุษย์.. ที่สามารถพึ่งตน.. พึ่งธรรม.. เพื่อการบรรลุความประเสริฐโดยธรรมได้ จึงควรถามตนเองว่า...

 “ในทุกเช้า-ค่ำของแต่ละวันที่เรายังมีลมหายใจเข้า-ออก.. ยังพรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยสุขภาพกาย-จิต.. เราได้สร้างสรรค์ให้ชีวิตเรามีคุณค่าหรือยัง.. เพื่อการทำหน้าที่อันถูกต้องเป็นธรรมสมฐานะสัตว์มนุษย์..

...หากยังไม่ได้กระทำ.. ก็ให้เริ่มทันทีในบัดนี้

- ด้วยการเจริญสติทุกลมหายใจเข้า-ออก

- ด้วยการกำหนดรู้ในอิริยาบถขณะนั้น

- ด้วยการทำความรู้สึกตัวตื่นรู้อยู่เสมออย่างมีสติปัญญาด้วยจิตตั้งมั่น...

พึงรู้จักพิจารณาให้เห็นธรรมชาติของกายนี้ ทั้งที่ปรากฏเป็นอาการต่างๆ.. หรือตามที่ปรากฏเป็นสภาวลักษณะของธาตุนั้นๆ ที่ประกอบรวมอยู่เป็นกองรูปหรือกายนี้ที่มาประชุมกัน.. ตามดูรู้เห็นตามความเป็นจริงแห่งความแตกสลายของสภาวลักษณะนั้นๆ ที่เป็นไปตามลำดับ จนพบเห็นความเป็นจริงอันเป็นธรรมดา ก่อเกิดปัญญาชอบขึ้นในจิตขณะนั้นว่า ทุกอย่างเป็นเช่นนี้เอง ไม่ว่าชีวิตของเรา.. หรือชีวิตของสัตว์ใด.. ในโลกนี้!!”.

จริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก