เปิดเผยข้อมูลด้วยไฟล์คอมพิวเตอร์ Word/Excel การปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ ที่ส่งผลใหญ่

โปรแกรม Microsoft Word/Excel เป็นโปรแกรมอยู่คู่งานภาครัฐไทยมาอย่างยาวนาน เพราะภาครัฐโดยธรรมชาติมักเต็มไปด้วยงานเอกสาร ตั้งแต่ งบประมาณ เอกสารจัดซื้อจัดจ้าง เอกสารรับรอง ใบอนุญาตต่าง ๆ รวมไปถึงจดหมายและบันทึกข้อความที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (การคุยที่เป็นทางการของภาครัฐคือ คุยกันผ่านจดหมาย เพราะทำให้สามารถอ้างอิงยืนยันและเป็นที่รู้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด)

ในบรรดาเอกสารทั้งหลาย เมื่อมีความจำเป็นต้องเปิดเผย เช่น เปิดเผยเพื่อแสดงความโปร่งใส เปิดเผยตามหน้าที่ตามกฎหมาย หรือ เปิดเผยเพื่อให้คนนอกสามารถนำไปศึกษาหรือใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ ในยุคที่ออนไลน์เป็นช่องทางหลัก เรามักพบรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ยอดนิยม คือ PDF (Portable Document Format)

สาเหตุที่หน่วยงานรัฐไทย (หรือแม้แต่ภาคเอกชน) เลือกใช้ไฟล์ PDF ในการเผยแพร่เอกสารเนื่องจาก

PDF เป็นรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาให้ใช้เผยแพร่เอกสารสำหรับอ่านอย่างเดียว ผู้เผยแพร่สามารถจัดรูปหน้าเอกสารให้เหมาะเจาะสวยงาม ด้วยโปรแกรมจัดทำเอกสารนั้น ๆ เช่น Microsoft Word/Excel ก่อนบันทึกออกมาเป็นไฟล์ PDF เพื่อเผยแพร่ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก PDF ถูกออกแบบมาแต่เดิมให้สำหรับใช้อ่านอย่างเดียว (เหมือนอ่านหนังสือ) จึงเป็นการยากที่ผู้อ่านเกิดสนใจข้อมูลหรือเนื้อหาในเอกสาร และอยากนำออกมาวิเคราะห์ หรือ ใช้งานต่อยอด  

เช่น เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นทางการเมือง (เล็กๆ) ในขณะนี้ คือ เอกสารแสดงรายจ่ายงบประมาณของประเทศไทย (ซึ่งภาษาราชการเขาเรียกว่า “เล่มขาวคาดแดง”) ที่มีผู้อยากวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องงบประมาณ (ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยตัวเลข) จึงพบว่าไฟล์ PDF (ซึ่งออกแบบมาให้เปิดอ่านได้อย่างเดียว) ไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถนำไปเข้าสูตรคำนวณ หรือ วิเคราะห์ขั้นสูงใด ๆ ได้ ครั้นจะคัดลอกออกมา ก็เป็นการเสียเวลามาก เนื่องจากเอกสารมักมีหลายพันหน้า และ ต้องอ้างอิงกันไปมา จนมีบางฝ่าย (ที่อาจมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ) ต้องระดมกำลังคน (และซอฟต์แวร์) ถอดข้อมูลกลับออกมาในรูปแบบ Excel เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์เชิงตัวเลขได้ง่าย 

อันที่จริงเรื่องการถอดข้อมูลย้อนกลับนี้ ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เนื่องจากก่อนจะสร้างเป็น PDF ออกมาได้นั้น ผู้จัดทำจะต้องดำเนินการอยู่ในรูปแบบ Microsoft Word และ/หรือ Excel อยู่แล้ว วิธีถอดข้อมูลย้อนกลับยังเพิ่มแรงงานในการตรวจสอบอีกว่า ข้อมูล (ตัวเลข) ที่ถอดออกมาตรงกับต้นฉบับหรือไม่

หมายความว่าหากผู้จัดทำยินยอมเผยแพร่ข้อมูลต้นฉบับ (ที่จัดทำไว้เป็น Microsoft Word และ/หรือ Excel แต่แรก) ก็จะช่วยประหยัดแรงงานของผู้ที่ต้องการนำไปวิเคราะห์ได้มาก  

เอกสารภาครัฐอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว เช่น ข้อกำหนดสำหรับจัดซื้อจัดจ้าง (TOR: Terms of Reference) หากสามารถนำไปลอกและปรับใช้กับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ได้ โดยไม่ต้องนั่งพิมพ์ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมักจะมีรูปแบบคล้าย ๆ กัน เช่น จัดจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศ จัดจ้างทำความสะอาด ดูแลอาคาร จัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เช่ารถยนต์ จัดจ้างวางระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

อีกกลุ่มของเอกสารที่สำคัญจำเป็นต่อการธำรงไว้ซึ่งความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมของรัฐ คือ รายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของสภา เช่น คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และ คณะกรรมาธิการการแรงงาน นอกจากนี้ยังรวมไปถึง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการประชุมนับร้อยครั้งกว่าจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่ามีเอกสารรายงานการประชุมหลายพันหน้า เอกสารเหล่านี้ หากเผยแพร่ให้อยู่ในรูปแบบ Microsoft Word จะมีความยืดหยุ่นต่อการนำไปใช้วิเคราะห์ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์กำลังเฟื่องฟู และต้องอาศัยข้อมูลเพื่อสร้างความเฉลียวลาด

แล้วเหตุใด หน่วยงานรัฐจึงไม่นิยมเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบไฟล์ที่จัดทำมาแต่แรก ? เหตุใดต้องแปลงเป็น PDF เท่านั้น และพยายามปฏิเสธการเผยแพร่ในรูปแบบ Microsoft Word และ/หรือ Excel แม้จะมีผู้ร้องขอ ?

สาเหตุ อาจจะมีดังนี้

  1. ไม่เข้าใจ คือ ไม่เข้าใจว่าถ้าเปิดเผยในรูปแบบ Microsoft Word และ/หรือ Excel จะมีประโยชน์ต่อผู้นำไปใช้อย่างไร เพราะเจตนาให้อ่านในเมื่อเป็น PDF แล้วย่อมจะอ่านได้สะดวก 
  2. ไม่ชัดเจน คือ ไม่ชัดเจนว่ากฎหมายอนุญาตให้เปิดเผยอย่างไรกันแน่ จึงทำตามรูปแบบขั้นต่ำ คือ เปิดเผย(เป็นไฟล์ PDF) เพื่อให้นำไปอ่านได้เท่านั้น
  3. ไม่กล้า คือ ไม่กล้าให้ข้อมูลต้นฉบับ (รูปแบบ Microsoft Word และ/หรือ Excel) เพราะเกรงจะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีมีความสะดวกและนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ จนส่งผลกระทบต่อทั้งส่วนรวมและต่อตัวผู้เปิดเผยเอง
  4. ไม่เคย คือ ไม่เคยใช้งานดิจิทัลเต็มรูปแบบและทำงานด้วยกระดาษมานานจนเกิดความคุ้นชิน แม้เป็นดิจิทัลแล้ว บางครั้งยังพยายามสแกนเอกสารกระดาษที่พิมพ์ออกมา เพราะอยากให้ปรากฏลายเซ็นที่ลงนามรับรองในทุก ๆ หน้า
  5. ไม่ยอม คือ ไม่ยอมให้แก้ไข เพราะเกรงว่าหากเปิดเผยในรูปที่นำไปใช้งานหรือแก้ไขได้ง่ายแล้ว เอกสารหรือข้อมูลต่าง ๆ อาจถูกแก้โดยมิชอบ การเปิดเป็น PDF จึงดูจะปลอดภัยที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงหลายอย่าง ที่อยากปรับความเข้าใจดังนี้

  1. ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้เปิด PDF แล้วแก้ไขได้จนผู้สร้างหรือผู้รับสำเนาไฟล์ข้อมูลมาไม่สามารถดูออกได้ แปลว่า PDF ไม่สามารถป้องกันได้
  2. หากเกรงว่าไฟล์จะถูกแก้ไขโดยมิชอบ สามารถแก้ได้ด้วยการประกาศว่าต้นทางเอกสารคือแหล่งใด หรือหน่วยงานใด เพื่อให้เมื่อเกิดกรณีพิพาทก็สามารถไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจากต้นทางได้
  3. ความไม่ชัดเจนของกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่พบบ่อย แต่หากเรายึดหลักว่าประโยชน์สาธารณะนั้นสูงกว่าโทษที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งเป็นฐานความคิดหลักของกฎหมายทุกฉบับ) จึงย่อมกระทำการเปิดเผยข้อมูลได้ในรูปแบบที่อำนวยความสะดวกกับผู้ใช้ให้มากที่สุด 
  4. กรณีมีผู้นำข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะไปใช้ในทางมิชอบนั้น ความผิดย่อมตกเป็นของผู้กระทำมิชอบ มิใช่ตกสู้ผู้เปิดเผยตามหน้าที่ เทียบเคียงเช่น บริษัทขายรถยนต์ย่อมไม่เกี่ยวข้องกรณีมีผู้ก่อการร้ายนำรถยนต์ไปทำคาร์บอมม์ ผู้ผลิตท่อน้ำย่อมไม่เกี่ยวข้องหากมีผู้นำท่อน้ำไปตีศีรษะทำร้ายร่างกายผู้อื่น

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านคงพอจะเห็นประโยชน์และความจำเป็นบ้างแล้ว  ผมอยากขอวิงวอนหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ให้พยายามเปิดเผยเอกสารในรูปแบบ Microsoft Word และ/หรือ Excel ควบคู่ไปกับ PDF ด้วย เพื่อให้ผู้นำไปใช้งานเกิดความสะดวก และถือเป็นการทำบุญทำกุศลด้วยการให้ข้อมูล โดยมีเจตนาเพื่อประโยชน์ของมหาชนชาวสยาม เป็นที่ตั้ง

มนต์ศักดิ์  โซ่เจริญธรรม

ที่ปรึกษาดิจิทัลอาวุโส สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรอบการพัฒนา AI Roadmap ขององค์กร

ในยุคที่ AI เป็นประเด็นสุดร้อนแรงในทุกวงการ องค์กรต้องการได้ชื่อว่าได้ นำ AI มาใช้งานแล้ว  เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย และ มีประสิทธิภาพ มีความพยายามส่งคนไปอบรมใช้งาน Chatbot เพื่อช่วยทำงานด้านการตลาด การใช้วาดรูป วาดกราฟ หรือ ช่วยจัดทำเอกสารวิเคราะห์รายงานต่าง ๆ 

ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม : ทำอย่างไรให้การเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลเกิดได้จริงในภาคราชการ

ผมทำงานทางด้านการจัดการข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในภาครัฐมาตลอดชีวิตตั้งแต่จบการศึกษา  ได้เห็นโครงการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เวียนตายเวียนเกิดเป็นวัฎสงสารนับครั้งไม่ถ้วนที่เมื่อของบประมาณดำเนินการครั้งใดก็ปรากฎคำว่า “บูรณาการข้อมูล” หรือ “เชื่อมโยงข้อมูล” หรือ “แลกเปลี่ยนข้อมูล” หรือ “ศูนย์ข้อมูล (เพื่อรวบรวม เผยแพร่และนำข้อมูลไปใช้งาน)” เกือบทุกโครงการ 

สปน.เร่งจัดคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายกลาง