พิชัย-ที่ปรึกษานายกฯ วิเคราะห์ฉากทัศน์ เศรษฐกิจไทยปี 2567

ปี 2567 เรื่องเศรษฐกิจจึงต้องทำหลายเรื่อง ซึ่งของเพื่อไทยดีอย่างที่ จะทำหลายอย่างพร้อมกัน ก็หวังว่าทุกคนจะเห็นตรงกัน และอย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง อยากให้มองด้วยความเป็นจริงว่า ที่ผ่านมา คนลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจมาหลายปีแล้ว ตอนนี้จึงต้องมาดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำให้ประเทศก้าวทันโลกได้อย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคให้ได้

2567 ปี”มังกรทอง”เป็นปีที่ต้องติดตามกันว่า การบริหารงานของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย เป็นไปในทิศทางใด เพราะมีหลายนโยบายที่ประชาชนรอคอยกันอยู่เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะมีฉากทัศน์-ทิศทางอย่างไร มีความเห็นจาก"พิชัย นริพทะพันธุ์ -ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-อดีตรมว.พลังงาน-อดีตรมช.คลัง -รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย-แกนนำด้านทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย"ที่ฉายภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และมุมมองของเขาว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย จะขับเคลื่อนออกมาอย่างไร

เริ่มต้นที่ “พิชัย-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”เกริ่นนำว่า อยากขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าทุกอย่างเป็นการเมือง เพราะหากย้อนดูก่อนหน้านี้ ที่ผมออกมาให้ความเห็นเรื่องทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยแต่ละปี จะเป็นความเห็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ เป็นข้อมูล-ตัวเลขที่พิสูจน์ได้ และมีการพิสูจน์มาแล้ว ตลอดหลายปีที่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์มา ก็ให้ข้อมูลที่ถูกต้องมาตลอด โดยเศรษฐกิจไทยที่เคยทำนายไว้ เคยเตือนไว้ บอกไว้มาตลอด ก็เป็นจริง

...หากเราหันกลับมาดูจริงๆ สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทย ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐา ทวีสิน ที่เข้ามาทำงานได้ประมาณสามเดือนกว่า รับปัญหาต่างๆ เข้ามาเยอะ ซึ่งจุดนี้ไม่ได้อยากโทษใคร แต่หากนำข้อมูลมาพิสูจน์ให้เห็นกัน จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำมาเป็นเวลานาน สิบปีที่ผ่านมา เราโตแค่เฉลี่ย 1.8-1.9 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าต่ำมาก สิ่งนี้คือปัญหาข้อที่หนึ่ง

 โดยบางคนอาจจะอ้างว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะผลกระทบจากโควิด แต่จริงๆ มันก็ไม่ใช่ เพราะก่อนเจอวิกฤตโควิด ตอนช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ก็มีการรายงานเรื่องสภาพเศรษฐกิจของไทยเช่นสื่อของต่างประเทศอย่าง  The Financial Times ก็เคยบอกไว้ว่าเศรษฐกิจไทย เหมือนกับคนป่วยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และก็จะป่วยหนัก โดยการอ้างอิงตัวเลขต่างๆ ตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด เช่นบอกว่า สภาวะเศรษฐกิจของไทยเศรษฐกิจโตต่ำที่สุดในเอเชีย  ทั้งการส่งออก-การลงทุน และยิ่งมาเจอโควิดเข้าไปอีก เศรษฐกิจไทยเลยยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก หากดูจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ของไทยจะพบว่า ตั้งแต่เกิดโควิดระบาดในไทย จนถึงตอนนี้ คือปี 2563-2566 ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้นกลับไปอยู่ที่จุดเดิม อันนี้คือความเป็นจริง

"พิชัย-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจประเทศไทยที่เริ่มตกลงมาก ในปี 2563   ที่เศรษฐกิจไทยติดลบที่ 6.1% ส่วนในปี 2564 ไทยขยายตัวได้เพียง 1.6% ปี 2565 ขยายได้ 2.6% และ ปี 2566 ที่เคยมีการบอกว่า จะโตที่ 2.5% แต่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะถึง เพราะเก้าเดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เพิ่งจะแค่ 1.9% ถ้าจะให้ถึง 2.5%เท่ากับจะต้องโต 4.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

..คาดกันว่า น่าจะฃยายตัวได้ประมาณ 2% เท่านั้น เนื่องจากการส่งออกในไตรมาสหลัง เริ่มจะดีขึ้น เพราะเมื่อการส่งออกดี จะทำให้จีดีพีดีขึ้น ที่พูดง่ายๆ ประเทศไทย อยู่ในแดนลบมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2563-2566 เรายังไม่ฟื้นเลย ขณะที่ประเทศอื่น เขาฟื้นไปไกลแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ที่มีศักยภาพที่ดี แม้ปี 2563 ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะตก แต่พอปี 2564 ก็ฟื้นกลับมาโตใหม่จนทะลุเกินหมด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย สิ่งเหล่านี้คือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่คนต่างก็รู้สึกว่า เศรษฐกิจแย่จริงๆ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย เพราะเศรษฐกิจมันไม่โต

ปัญหาเรื่องหนี้ หากไม่มีการแก้ไข จะเป็นเหมือนระเบิดเวลา

 "พิชัย-ที่ปรึกษานายกัฐมนตรี"กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกมาก โดยประเทศไทยยังมีปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง"หนี้"โดยเมื่อเศรษฐกิจโตช้า ทำให้เกิดปัญหาหนี้เยอะ ซึ่งหมายถึงหนี้ทั้งหมด เช่นหนี้สาธารณะ ที่พุ่งขึ้นไปถึง 62.12% ของจีดีพี เพิ่มจากเดือนกันยายนปี 2557 ที่ 5.69 ล้านล้านบาท เป็น 11.12 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน อีกทั้งหนี้ครัวเรือนยังพุ่งถึงกว่า 16.07 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของจีดีพี และ หนี้นอกระบบ ที่ยังวัดแน่นอนไม่ได้ บางคนก็บอกว่ามีหลายล้านล้านบาท จนปัจจุบันกลายเป็นว่า เรามีปัญหาเรื่องหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ที่อาจจะทะลุเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไปแล้ว และยังมีปัญหาหนี้เสียในธนาคารที่มีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ

"ปัญหาเรื่องหนี้ จึงเป็นปัญหาหลักของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย หากไม่มีการแก้ไขให้ดี ก็จะเป็นเหมือนระเบิดเวลา"

"อดีตรมว.พลังงาน-พิชัย"กล่าวด้วยว่าสำหรับเรื่อง"การลงทุน"ที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนลดลงมาต่อเนื่อง ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คือแนวทางที่ถูกต้อง อยากให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี เพราะนายกฯขยันมาก หวังว่านักลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นอนาคต เช่นธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงอยากให้เกิดยูนิคอร์น หรือ บริษัทที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ที่เป็นบริษัทของคนไทยมากๆ ซึ่งปัญหาของไทย ในเชิงโครงสร้างเองก็มีปัญหาเช่น Aging Society (สังคมผู้สูงอายุ) ที่เริ่มมีผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยทำงาน จนตอนนี้เราเริ่มมีคนไทยอายุเกิน 60 ปีเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร แล้วอัตราการเกิดของประชากรเราก็น้อย ที่ต่อไปจะเป็นปัญหาในอนาคตว่า แรงงานที่จะทำงานหาเงินไปเลี้ยงผู้สูงอายุจะหารายได้จากที่ใด ก็เป็นจุดที่ทำให้ต่างประเทศ ก็จะกลับมามองว่า ของเราจะมีกำลังซื้อเท่าใด -จะมีภาคแรงงานในการผลิตจำนวนเท่าใดที่อยู่ในระบบ ตรงนี้เราก็ต้องดูให้ดีเช่นกัน

 รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ก็เป็นผลจาก Aging Society เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นแบบนี้ ก็ต้องมีแรงงานต่างด้าวเข้ามา  เพราะตอนนี้อัตราการว่างงานของคนไทยยังถือว่าน้อย แล้วจะหาแรงงานจากที่ไหนมาทำงานเมื่อมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"พิชัย-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"กล่าวอีกว่า จุดที่สามที่สำคัญคือเรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่มีการมองกันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรื่องนี้ผมว่าต้องดูว่าทิศทางมันเป็นอย่างไร เพราะอย่างมาเลเซีย ค่าแรงก็แพงกว่าไทย เพราะรายได้ต่อหัวต่อคนของมาเลเซียตอนนี้เป็นประเทศรายได้สูงแล้ว เราต้องไปดูโครงสร้างเศรษฐกิจ-การลงทุนว่าทำไมมาเลเซียถึงทำได้ อาจต้องไปในทางที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ มี value added สูงขึ้น พัฒนาให้สูงขึ้นเพื่อจะได้ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้

...สำหรับเรื่องที่สี่ ที่เป็นปัญหาก็คือ"ค่าไฟที่แพง"ที่ปัจจุบันค่าไฟประเทศไทยแพงกว่าหลายประเทศในโลก แพงกว่าสหรัฐอเมริกา โดยมีการเปรียบเทียบสเกลของค่าไฟฟ้า โดยค่าไฟในโลก สมมุติของไทยเต็ม100 ของสหรัฐฯ เท่ากับ 90 ของไทย คือถูกกว่าไทย 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมาเลเซีย 83 เกาหลี 75 อินเดีย 74 ไต้หวัน 72 แคนาดา 66 จีน 56 เวียดนาม 46    

เรื่องนี้เราก็ต้องมานั่งพิจารณาว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ค่าไฟของไทยเราถูกลงมาได้ ซึ่งนโยบายที่ตอนนี้รัฐบาลทำกันอยู่ก็มีเรื่องหลักๆ เช่นโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่ก็มีความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาเช่น การพูดถึงเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ

..อยากจะเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ที่มีการคุยกันเรื่องนี้ในพรรคเพื่อไทย ก็มีบริษัทวิจัยมาให้ข้อมูล ในทำนองว่ามันอาจไม่คุ้มทุน อาจเป็นแค่การทำเพื่อมาขนของอย่างเดียว ผมก็เสนอความเห็นไปตอนนั้นว่า อย่าเข้าใจผิด เพราะหากเราจะสร้างแลนด์บริดจ์ เราคงไม่ใช้เพียงเพื่อการขนของ โดยหากคำนวณเรื่องการส่งก๊าซและน้ำมัน ที่มีปริมาณที่สูงมาก ซึ่งในช่องแคบมะละกา มีการส่งน้ำมันดิบเฉลี่ยวันละ 15-16 ล้านบาร์เรล จึงทำให้สิงคโปร์มีรายได้สูงเพราะมีโรงกลั่นขนาดใหญ่ 5 โรงกลั่น  มีโรงปิโตรเคมีคอล เขาสร้าง value added ได้มโหฬารในธุรกิจนี้

ดังนั้นหากไทยทำแลนด์บริดจ์ ก็อยากให้มองเรื่องการทำโรงกลั่น การทำปิโตรเคมีคอล ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกเยอะ ทำให้จะคุ้มทุน

สมัยผมเป็นรมว.พลังงาน เมื่อช่วงปี 2554 ตอนนั้นการขนส่งก๊าซและน้ำมัน ที่ช่องแคบมะละกา ยังแค่ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งได้เคยแลกเปลี่ยนความเห็นกับอุปทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย ว่ามองโครงการแลนด์บริดจ์เป็นอย่างไร ทางเขาก็บอกว่า ทางซาอุดีอาระเบีย ยินดีทำทั้งหมดโครงการ ลงทุนให้ทั้งหมด แต่ขอเป็นเจ้าของโปรเจกต์ ได้หรือไม่ เพราะเขาเชื่อว่า หากทำแล้วเขาคุ้ม

คนยังไปมองแค่ว่า แลนด์บริดจ์ ทำเพื่อไว้ส่งของ-ยกสินค้า อาจไม่คุ้มค่าการลงทุน โดยไปเทียบกับ คลองสุเอซ -คลองปานามา ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะหากเราทำให้เป็นพื้นที่การส่งออกน้ำมันด้วยมันจะคุ้ม เพราะจะทำให้มีธุรกิจต่างๆ เช่นโรงกลั่น ตามมา เพราะหากในอนาคต ถ้าเรามีโรงกลั่นขนาดใหญ่ ต่อไปราคาน้ำมันอาจจะขึ้นกับประเทศไทยแล้ว ไม่ใช่ขึ้นกับสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมองอนาคตด้วย เพราะต่อไป คนอาจจะใช้น้ำมัน-ก๊าซ น้อยลงเรื่อยๆ แต่ก็คงอีกเป็นสิบๆ ปี กว่าที่น้ำมัน-ก๊าซจะลดความสำคัญลงไป ที่ก็ยังถือว่ามีโอกาส หากเราทำได้เร็ว

เจรจา พื้นที่ทับซ้อนฯ ไทย-กัมพูชา ตัวจักรสำคัญ แก้ปัญหา”ค่าไฟแพง”

"พิชัย-อดีตรมว.พลังงาน"กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการเรื่อง”การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา” (Overlapping Claims Area -OCA) ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องนี้หากทำได้สำเร็จ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟได้ จะทำให้ค่าไฟถูกลง

...โดยก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อน เมื่อนำมาแยกก๊าซและทำไฟ ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง เพราะปัจจุบันก๊าซจากอ่าวไทย -พม่า ที่นำมาผลิตไฟฟ้า ต้นทุนคือ 2-3 บาท ที่ก็แล้วแต่จังหวะราคา หากเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนสำเร็จ ก็จะทำให้ค่าไฟของเราลดลงมาได้เยอะ เพราะปัจจุบันค่าไฟไปเอา LNG เข้ามา ต้นทุนมันสูง บางทีถึง6 บาท แล้วมาขาย 3-4 บาท เลยขาดทุน ทำให้มีปัญหา แต่หากลดค่าก๊าซลงมาได้ จะทำให้ต้นทุนไฟฟ้าถูกลง จนทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจปิโตรเคมีคอล ได้อีก

ดิจิทัลวอลเล็ต อีกหนึ่งกลไกล พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

"พิชัย-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"กล่าวถึงนโยบายที่คนไทยทั้งประเทศกำลังรอคอยติดตามความคืบหน้าว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั่นก็คือ"ดิจิทัลวอลเล็ต"โดยบอกว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ตอนแรกๆ ในพรรคเพื่อไทย ก็มีการสอบถามกันเยอะ ว่าจะนำเงินจากไหนมาทำนโยบายดังกล่าว แต่เมื่อตัดสินใจทำนโยบายออกมาแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

...หากถามว่า ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ การจะทำดิจิทัลวอลเล็ต มีเหตุผลหรือไม่ ผมคิดว่ามีเหตุมีผล เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้เห็นชัดเจนว่า มีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะหากจำกันได้ ผมเป็นคนที่ออกมาเตือนเป็นคนแรกๆ ว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2567 จะมีปัญหาเยอะ เพราะหากดูจากสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจหลายอย่างมันเริ่มปรากฏ โดยเฉพาะตัวเลข"เงินเฟ้อ"ของไทย ที่สวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อของต่างประเทศ ซึ่งเป็นลักษณะที่ผิดปกติ

 เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเล็กและเป็นเศรษฐกิจเปิด ที่อาจารย์ผม  ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เคยสอนไว้ ทำให้ไทยคุมเงินเฟ้อตัวเองได้ยาก เงินเฟ้อไทยจะขึ้นกับเงินเฟ้อต่างประเทศเพราะว่าราคาเมืองนอกเท่าใดเช่นราคาน้ำมัน ของต่างๆราคาจึงใกล้เคียงกับต่างประเทศ เงินเฟ้อของไทยจึงพอๆกับต่างประเทศ โดยหากเมืองนอก เงินเฟ้อสูง เราก็จะเงินเฟ้อสูง แต่หากเงินเฟ้อต่ำ เราก็จะเงินเฟ้อต่ำ เราไม่สามารถคุมตัวเองได้

 อย่างปีที่ผ่านมา 2565 เงินเฟ้อทั้งโลก เพราะทั่วโลกกำลังฟื้นตัวหลังโควิด สินค้าขาดตลาด ทำให้ของแพง เงินเฟ้อทั่วโลกจึงขึ้นสูงมาก สหรัฐฯ ก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย  สำหรับไทยเอง เงินเฟ้อก็สูง เฉลี่ยเงินเฟ้อไทย คือ 6.02 เปอร์เซ็นต์ เมื่อตอนปี 2565 แล้วพอปี 2566 สำหรับประเทศไทย ช่วงต้นปี ก็ยังเงินเฟ้อสูง เดือนมกราคม อยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์- กุมภาพันธ์ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์- มีนาคม 2 เปอร์เซ็นต์กว่า จนมาช่วงพฤษภาคม ลงมาเหลือ 0.53 เปอร์เซ็นต์ จากนั้น ก็ลงมาเรื่อยๆ จนมาติดลบช่วงเดือนตุลาคม ที่-0.31 เปอร์เซ็นต์ เดือนพฤศจิกายน เงินเฟ้อ ติดลบที่ -0.44 เปอร์เซ็นต์ และคาดหมายกันว่าจะติดลบมาจนถึงธันวาคม 2566

...การที่เงินติดลบ ในทางทฤษฎีก็คือเงินฝืด นี้คือปัญหาเศรษฐกิจไทย คนเริ่มไม่มีกำลังซื้อ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ที่ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตอนนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต กำลังอยู่ในระบบ  ที่หากสมมุติทำไม่ได้ ก็ต้องคิดเรื่องอื่นที่จะต้องทำ ต้องเข้าใจว่าดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะดีทันที มันไม่ใช่ แต่ดิจิทัลวอลเล็ตคือส่วนหนึ่งของการทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจขยายตัว มีการเติบโต เพราะตอนนี้อัตราการเติบโตของเราต่ำมานาน เพราะทั้ง ธนาคารโลก-ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ เอดีบี และไอเอ็มเอฟ ก็บอกว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำ จึงเป็นเรื่องที่หากไม่มีการทำอะไรเลย เศรษฐกิจไทยปี 2567 อาจจะย่ำแย่ อย่าง ที่นักเศรษฐศาสตร์บางคน ก็วิเคราะห์ว่าอาจจะโตแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์กว่าหรืออาจจะติดลบได้

“พิชัย-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”กล่าวย้ำว่า การเข้ามาของรัฐบาลเพื่อไทย ก็จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีปัญหาอยู่ที่มีค่อนข้างเยอะ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องทำหลายด้านไม่ใช่แค่ดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ การอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อสร้างสภาพคล่องในระบบ 

...อยากเรียกร้องให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจ อย่ามองทุกอย่างไปในทางการเมือง คือต้องยอมรับก่อนว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา และเศรษฐกิจไทยปี 2567 ก็จะมีปัญหามากขึ้น จึงต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มาบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างกำลังดี กำลังขยายตัว แต่จะพบว่าพูดแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว แล้วมันดีจริงหรือไม่ อย่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาบอกแต่ละปี ตัวเลขผิดหมด บอกว่าจะโต 4-5 เปอร์เซ็นต์ สุดท้าย เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์กว่า หรือบางปีบอกว่าจะติดลบ แค่ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้าย ติดลบ 6 เปอร์เซ็นต์ คือไม่เคยคาดการณ์ถูกเลยสักปีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จึงควรมานั่งคิดแล้วว่า วิธีคิดผิดหรือว่าการคำนวณคาดการณ์ผิด หรือว่าโครงสร้างผิด ต้องปรับอย่างไร

 ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องมีนโยบายการเงินเตรียมรองรับ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต เช่น การลดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้  จะทำได้หรือไม่ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ทางธปท. จะช่วยได้มาก ถ้าจะมีมาตราการพิเศษต่างๆ ก็อยากเรียกร้องไปยังธปท.ว่าอาจต้องมีนโยบายการเงินออกมาเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย

"เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งแบก์ชาติ สภาพัฒน์ฯ ทีดีอาร์ไอ รวมถึงหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ต้องช่วยกันระดมสมองว่าจะทำอย่างไร อย่าไปยึดติดกับเรื่องเก่าๆ มาบอกว่าปีหน้า เศรษฐกิจจะดี อะไรต่างๆ เพื่อพูดเอาใจอย่างเดียว ที่ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เศรษฐกิจมันไม่ดี ไม่ใช่บอกว่า กำลังไปได้ดี กำลังขยายตัว แต่หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังไม่ไปไหนเลย"

...ตอนนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เข้าสู่กระบวนการแล้ว ที่หากทำได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว คือหากทำได้ เป็นเรื่องดี แต่หากทำไม่ได้ ก็ต้องมีมาตราการต่างๆ มารองรับว่า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้น กลับมาโตที่ 5 เปอร์เซ็นต์ให้ได้

เพราะไม่ใช่ว่าตอนนี้โตแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ก็ดีใจแล้ว ที่มันไม่ใช่ เพราะศักยภาพของเรา ต้องเติบโตที่ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ ไม่ใช่บอกว่าโครงสร้างมันเสื่อม การโตปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ก็ดีแล้ว เพราะถ้าโครงสร้างเสื่อม ก็ต้องแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีศักยภาพและเติบโตแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้ เช่นการหาทางเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ อุตสาหกรรมการผลิตแบบใหม่ ก็จะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

ในตอนท้าย”พิชัย-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”กล่าวถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทยในปี 2567 ว่า สิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องแก้ไข ก็จะมีทั้งนโยบายการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ก็คือ จากสภาพเศรษฐกิจที่แย่มีปัญหา  จึงต้องมาทำให้คนมีกินมีใช้  ให้คนมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วตั้งแต่เพื่อไทยเข้ามา ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้นทางเศรษฐกิจ

...อย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ก็ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น สามเดือนที่เข้ามา ตัวเลขการส่งออกเป็นบวกตลอด ที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีและหวังว่าเราจะขยายการส่งออกให้มากขึ้นได้ และต่อจากนี้ ก็ต้องดูว่า จะดึงการลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยได้มากเท่าใด เพื่อให้การส่งออกขยายตัวได้มากขึ้นเพราะหากไม่มีการลงทุน การส่งออกก็ขยายตัวยาก

สองคือ ต้องทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ๆ พวกธุรกิจเกี่ยวกับ เทคโนโลยี การทำให้เกิดยูนิคอร์นของคนไทย อย่างอินโดนีเซีย เศรษฐกิจของเขาเติบโตได้ก็เพราะยูนิคอร์น เพราะมีธุรกิจเทคโนโลยีเข้าไปลงทุนเยอะ แต่ของไทย ยังมีน้อยมาก ก็ต้องหาทางทำให้ธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้เติบโตให้ได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยไปพึ่งพาต่างประเทศเยอะ จึงต้องสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นของคนไทยเอง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจดิจิทัลในระบบยังมีแค่ประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยหากทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวได้ ก็จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ก็จะเติบโตตามไปด้วยได้

รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ,การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอันจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และยังมีอีกหลายเรื่องที่จะค่อยๆ ทยอยขับเคลื่อนออกมา เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวมากขึ้นหลังจากนี้

"แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 หากรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย จนสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลออกมาได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะสามารถขยายตัวได้ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ มีปัญหาต่าง ๆเยอะ มีความขัดแย้งต่างๆ เศรษฐกิจก็อาจแย่ได้ มีโอกาสที่อาจจะถึงขั้นติดลบ แต่ก็หวังว่าจะไม่เป็นแบบนั้น แต่หากไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ แล้วปล่อยไว้ โดยหวังว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะโตได้ 3 เปอร์เซ็นต์กว่า อย่างที่เวิลด์แบงก์ หรือสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ไว้ ก็อาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะที่ผ่านมา ที่ออกมาบอกก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยทำได้

ปี 2567 เรื่องเศรษฐกิจจึงต้องทำหลายเรื่อง ซึ่งของเพื่อไทยดีอย่างที่ จะทำหลายอย่างพร้อมกัน ก็หวังว่าทุกคนจะเห็นตรงกัน และอย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง อยากให้มองด้วยความเป็นจริงว่า ที่ผ่านมา คนลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจมาหลายปีแล้ว ตอนนี้จึงต้องมาดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำให้ประเทศก้าวทันโลกได้อย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคให้ได้"พิชัย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุ

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.อาทิตย์ แนะวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่การแจกเงิน!

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองไทย ถ้าจะให้ยั่งยืนถาวรและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ต้องเ