นับถอยหลัง เข้าสู่ปีมะโรงกับช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์ บนความท้าทายทางเศรษฐกิจสังคมไทยที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ปีนี้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตค่อนข้างน่าผิดหวังจากที่คาดไว้ 3% เหลือเพียง 2.5% โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งยังชะลอตัวต่อเนื่อง และส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าที่คาด สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ เรื่องของเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาชะลอตัวลดลงเป็นอย่างมาก โดยเดือนตุลาคมได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 เดือน อยู่ที่ -0.31 % และเดือน พฤจิกากายน ก็ยังคงลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ -0.44% และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน และมีแนวโน้มปรับลงต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1-1.7% สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดและการเติบโตที่อ่อนแอต่อเนื่องหรือไม่
เราจะเห็นได้ว่า ปีกระต่ายเป็นปีที่รายได้ของคนไทยที่หากเทียบกับรายจ่ายแทบจะไม่พอเลี้ยงชีพ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และผลกระทบของสงครามจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงก็ซ้ำเติมให้กำลังซื้อประชาชนอ่อนแอ ล่าสุด ไทยมีหนี้ในระบบสูงถึง 16 ล้านล้านบาทหรือราว 90.7% รวมกับหนี้นอกระบบอีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงเพราะมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าใน 10 ปีที่ผ่านมาและส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP’ ของไทยยังสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดย 2 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ อย่างหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต รวมถึงการพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงลิบลิ่วเป็นจำนวนมาก
เหล่านี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ทำให้ปีนี้นับเป็นปีที่ 7 ในรอบสิบปีที่เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 3% และจากการที่กูรูเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะยังเติบโตไม่ต่างจากปีนี้ โดยคาดว่าจะโตเฉลี่ยเพียง 2.8-3.3% จากปี 2566 (แม้ส่วนใหญ่จะมีการนับรวมเอามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตและ e-Refund เข้าไปแล้ว) สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจจะยังโตไม่ถึง 3% ต่อเนื่องอีกหนึ่งปี และจะต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเดียวกัน (กลุ่มประเทศอาเซียน-5 คาดว่าจะเติบโตที่ 4.5% โดยเฉลี่ยในปี 2567)
ดังนั้น มองไปในปีหน้า ดิฉันคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทย แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีนี้ จากการเมืองที่เริ่มนิ่ง รัฐบาลใหม่และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มส่งผลดี แต่แนวโน้มเศรษฐกิจอาจจะยังคงไม่ได้สดใสเหมือนที่หลายคนคาดหวัง ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยก็ยังคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในระดับสูง เห็นได้จากช่วงโควิตและหลังโควิด การที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซา การพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลักของไทยทำให้เศรษฐกิจบ้านเราไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร คนไทยขาดกำลังซื้อ บรรดาบริษัท หน่วยธุรกิจทุกขนาดต่างระมัดระวังการใช้จ่ายและชะลอการลงทุนในไอเดียใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว นอกจากการเติบโตที่คาดว่าจะอ่อนแรง ความเสี่ยงภาวะเงินฝืด และ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น คือการที่เศรษฐกิจไทยจะยังคงพึ่งพาภาคต่างประเทศอย่างมากต่อไป ในอนาคตอันใกล้หากไม่มีการจัดการในเรื่องนี้ ไทยจะยังไม่มีวันพ้นการพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังคงอ่อนแอต่อไป จากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ เงินเฟ้อ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและเปราะบางสูง ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น
ทำอย่างไรรัฐบาลใหม่จึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดีกว่านี้ ทำอย่างไรเราจะเติบโตได้ทันหรือใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน จากที่ผ่านมาเราโตเพียง 1.9% โดยเฉลี่ย ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่นำเสนอ อาทิ การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และ e-Refund มาตรการแก้ปัญหาหนี้สิน มาตรการลดภาระค่าพลังงานไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน การเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นนโยบายที่น่าจะได้ผลเร็วในระยะสั้น และช่วยแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศสามารถเติบโตได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้ อาทิเช่น การลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลก เน้นการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ผ่านการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ อาทิ การแก้ปัญหาประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME
SME มีความสำคัญมากกับเศรษฐกิจไทย จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยที่เป็น SME มีมากถึง 2 ล้านราย หรือประมาณ 99.5% ของธุรกิจทั้งหมด โดยแม้ว่ากลุ่มขับเคลื่อน GDP หลักจะเป็นธุรกิจรายใหญ่ซึ่งมีประมาณ 2 พันราย แต่ SME มีความเกี่ยวข้องกับ supply chain และคนมากกว่า ผ่านการรองรับการจ้างงานประมาณ 70% และตลาดของ SME ส่วนใหญ่ก็อยู่ภายในประเทศเป็นหลัก
เราจะเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังพอขับเคลื่อนไปได้ด้วยภาคเอกชนเป็นสำคัญ ดิฉันจึงคิดว่าการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME และ การพัฒนาธุกิจเหล่านี้ให้เติบโต รวมถึงการส่งเสริมการเปิดธุรกิจใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นอกเหนือไปจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงมหภาคที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว
ดิฉันหวังว่า รัฐบาลใหม่จะใช้โอกาสจากการที่การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ ดำเนินการเร่งสร้างการพึ่งพาตนเอง รวมถึงความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ตามที่ประกาศไว้ และโดยเฉพาะการเร่งสร้างธุรกิจ SME ที่มีอยู่ให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สนับสนุนการสร้างธุรกิจ SME ใหม่ ๆ รวมถึงส่งเสริมการวางรากฐานการศึกษาให้ประชากรรุ่นใหม่มีคุณภาพและมี entrepreneurship mindset พร้อมจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันในอนาคต
ดิฉันขอให้ปีกระต่ายที่กำลังจะผ่านพ้นไปให้บทเรียนที่ดีหลายอย่างกับเราสำหรับการปรับตัวในอนาคต ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเริ่มต้นปีมะโรงอย่างสดใส ด้วยความหวังและก้าวไปข้างหน้าอย่างมีจุดหมายกับรัฐบาลใหม่ พร้อมกับความตั้งใจใหม่ ๆ ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน ขอให้ทุกท่านโชคดีและประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ในปีใหม่นี้นะคะ
ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
ดร. เทียนทิพ สุพานิช
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"