จากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ มาเดินตามรอย ‘ในหลวง ร.9’ พิสูจน์ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ปฏิบัติได้จริงทุกมิติ

ก็มันแจกเงินอย่างเดียว ไม่ได้ให้ความรู้ พระเจ้าอยู่หัวถึงบอกว่าขาดทุนคือกำไร ถ้ารัฐบาลให้ความรู้ชาวบ้านพี่งตนเอง มันก็เหมือนขาดทุนระยะแรก ถ้าราษฎรพึ่งตนเองได้ ต่อไปรัฐบาลก็ไม่ต้องช่วย จะเป็นกำไรในบั้นปลาย”

พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเหมือนบ้าน โครงสร้างบ้านจะมั่นคงอยู่ที่ฐานราก เราต้องพึ่งพาตนเองก่อน พออยู่พอกิน แล้วพัฒนาเป็นขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป”

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ เป็นองค์ความรู้ที่ "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ในหลวงรัชกาลที่ 9"  ทรงศึกษาค้นพบ ทดลอง และพิสูจน์จนเห็นว่าได้ผลจริง โดยพระราชทานแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง"  เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2517

ต่อมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก หรือ "ต้มยำกุ้ง"  พ.ศ. 2540 พระองค์ทรงตอกย้ำอีกครั้ง ล่าสุดเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และเกิดศึกสงครามหลายพื้นที่ในโลก แนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ยิ่งเด่นชัดขึ้นว่า ไม่เพียงเป็นทางออกและทางรอดของสังคมไทยเท่านั้น แต่จะเป็นทางรอดของมนุษยชาติอีกด้วย

อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จากอดีตเคยเป็นนักกิจกรรม ยุค 14 ตุลาคม 2516 เข้ารั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2516 เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำงานที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มา  25 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าโครงการเกษตรผสมผสาน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเบลเยียมกับ ธ.ก.ส. ได้เห็นปัญหาของเกษตรกรไทยที่จมอยู่กับปัญหาหนี้สิน พี่งตนเองไม่ได้ โครงการต่างๆ ของรัฐส่วนใหญ่ก็ล้มเหลว เมื่อศึกษาค้นคว้าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การพึ่งตนเอง คือคำตอบ จึงลาออกจาก ธ.ก.ส.มาปักหลักที่ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง-ศาสตร์พระราชา และบ่มเพาะบุคลากรจำนวนมากได้ น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจนได้เห็นผลจริง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและทุกมิติด้วย

อ.ปัญญา อธิบายถึงแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ว่า พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งเรื่องพออยู่พอกินครั้งแรกเมื่อปี  2517 เพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เกิดขึ้นในปี 2504 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นว่าทางด้านตะวันตกอีกซีกหนึ่งของโลกมันเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ จอมพลสฤษดิ์ก็อยากให้ประเทศไทยเจริญแบบฝรั่ง ก็จ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาวางแผนให้ไทย ดูได้จากคำขวัญของแผนฉบับที่ 1 ก็คือ งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ระบอบทุนนิยมของฝรั่งคือเอาเงินเป็นตัวตั้ง จึงเขียนเป็นคำขวัญเลยว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ทั้งที่เดิมทีประเทศไทยพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปทุกเรื่อง ทั้งการเกษตร วิถีชีวิต วัฒนธรรมไทย อยู่กันแบบพี่น้องแบ่งปันกัน แล้วคนตะวันตกก็มาเขียนแผนให้เรา แผนฉบับแรก 6 ปี ถึง 2510 ต่อไปเป็นแผน 5 ปี ฉบับที่ 2 

พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งช่วงแผนฉบับที่ 3 เหมือนทรงเล็งเห็นแล้วว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นระบบโดยเอาเงินเป็นตัวตั้งแข่งขันกัน ลืมวัฒนธรรมเดิมที่เคยแบ่งปันกัน  และแผนฉบับที่ 3 ทางด้านการเกษตรถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อก่อนเราทำเกษตรแบบหลากหลาย ภาคอีสานเรียกไร่นาสวนผสม ภาคกลางเรียกเกษตรผสมผสาน ภาคใต้ เรียกว่าสวนสมรม การเกษตรแต่เดิมปลูกอะไรก็ไว้กินหมด แต่แผนพัฒนาการเกษตรฉบับที่ 3 ระบุชัดเจนว่าเปลี่ยนเป็นเกษตรอุตสาหกรรม จากเกษตรผสมผสานเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรกรจะรวย ก็เอาแนวคิดฝรั่งมากำหนด คือทำอย่างเดียวเยอะๆ แล้วจะรวย เริ่มมีอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง

พระเจ้าอยู่หัวจึงบอกให้ทำเพื่อกินก่อน ไม่ใช่ปลูกเพื่อขาย ก็ทรงเตือนในปี 2517 เราต้องดูว่าพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งในปี 2517 ไปผูกกับสถานการณ์อย่างไร แล้วก็รับสั่งมาเรื่อยๆ ทุกวันที่ 4 ธ.ค.ก่อนวันเกิด ในหลวงจะมีรับสั่งเตือนสติคนไทย ไปดูการรับสั่ง และ ส.ค.ส.ตั้งแต่ปี 2540 ที่เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทฤษฎีใหม่ ต้องดูว่าแนวคิดพระเจ้าอยู่หัวทำไมต้องเดินสายกลาง เศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา โตอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ตอนพระเจ้าอยู่หัวไปอยู่ สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศว่ามันเป็นกลาง ไม่เข้าข้างรัสเซีย ไม่เข้าข้างสหรัฐอเมริกา ธนาคารโลกถึงไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ หน่วยงานต่างๆ ก็ไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะสวิตเซอร์แลนด์ประกาศว่าประเทศเป็นกลาง พระเจ้าอยู่ก็เติบโตในสวิตเซอร์แลนด์ ก็เห็นว่าความเป็นกลางคือความพอดีๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากตรงนี้ เมื่อเกิดวิกฤตปี 40-41 ก็ทรงเตือน และรับสั่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทฤษฎีใหม่ ไม่เคยมีในโลกนี้มาก่อน รับสั่งเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy

-เศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้กับด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ อย่างไร?

ทุกอย่าง พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเหมือนบ้าน โครงสร้างบ้านจะมั่นคงอยู่ที่ฐานราก เราต้องพึ่งพาตนเองก่อน พออยู่พอกิน แล้วพัฒนาเป็นขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป

-การผลิตแบบเชิงเดี่ยวทำไมถึงทำให้เกษตรกรยากจน?

ผมอยู่ ธ.ก.ส.-แผนพัฒนาฯ เข้ามา 2504 ธ.ก.ส.ตั้งปี 2509 ธ.ก.ส.ตั้งได้ 15 ปีผมก็ไปอยู่ ที่อำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ ผมต้องออกไปตระเวนตามหมู่บ้านว่า ธ.ก.ส.คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร เมื่อก่อนผมอยู่ เกษตรกรยังไม่เป็นหนี้ ภาคเกษตรจะเป็นหนี้ได้อย่างไร ปุ๋ย ก็ใช้ขี้วัวขี้ควาย เครื่องมือการเกษตรก็ทำเอง ไม่ต้องใช้แรงงาน ใช้การลงขัน ลงแขก เป็นต้น ซึ่งไม่มีต้นทุน แต่การเกษตรเชิงเดี่ยวต้องใช้เครื่องจักรซึ่งมีต้นทุนสูง แผนฯ ฉบับที่ 3 ระบุชัดเจนว่าต้องเปลี่ยนจากเกษตรแบบเดิม เป็นต้องใช้เครื่องจักรกล ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มผลผลิต เกษตรกรก็มากู้ปุ๋ยจาก ธ.ก.ส. เคยมีปุ๋ยของตัวเองที่เป็นขี้วัวขี้ควาย ก็ต้องมาซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อเครื่องจักรกล ก็เริ่มเป็นหนี้

ผมอยู่ ธ.ก.ส. 25 ปี ธ.ก.ส.เป็นสถาบันการเงิน เมื่อเกษตรกรค้างชำระ ศัพท์วิชาการทางการเงินเขาเรียกว่า แปลงหนี้ คือเป็นหนี้ 1 หมื่น ดอกเบี้ย 2 พัน ส่งไม่ได้ ถ้าธ.ก.ส.ประกาศเป็นหนี้ค้าง มันจะกลายเป็น NPL มันจะไปตัดกำไร ทำให้ ธ.ก.ส.มีกำไรน้อยลง พนักงานก็ไม่ได้โบนัส สถาบันการเงินทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับ ธ.ก.ส.นะ ถ้าปล่อยให้เป็นหนี้เสียมันจะตัดกำไร ทำให้กำไรน้อยลง แล้วภาพลักษณ์ก็เสีย ระบบการเงินของบ้านเราจึงใช้วิธีการแปลงหนี้ คือเป็นหนี้ 1 หมื่น ดอกเบี้ย 2 พัน ส่งไม่ได้ ให้กู้ใหม่ 2 หมื่น หาหลักทรัพย์มาเพิ่ม แต่ ธ.ก.ส.เพิ่มวงเงินโดยใช้คนค้ำ ปีที่ผมอยู่คนค้ำได้ไม่เกิน 1 หมื่น เพิ่มเป็น 1.5 หมื่น 2 หมื่น ทุกวันนี้ค้ำได้เป็นแสน ก็เป็นอย่างนี้

ด้านหนึ่งของระบบของ ธ.ก.ส.หมุนเงินให้ชาวบ้าน อีกด้านหนึ่งนโยบายรัฐบาลได้คะแนนเสียงเยอะ คิดว่าว่าทำแล้วรวยๆ แล้วก็เจ๊งหมด คือเอาเกษตรกรเป็นหนูทดลอง ภาคการเงินของ ธ.ก.ส.ก็หมุนเงินให้ ภาคการเมืองก็เอาโครงการห่าเหวอะไรไม่รู้มาให้ชาวบ้านทำ

-เกษตรกรต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ด้วยเกษตรผสมผสานเหมือนเดิม?

ถูกต้อง พระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ดูครั้งแรกที่ จ.สระบุรี (โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดสระบุรี) โดยแบ่งพื้นที่เป็นสระน้ำ ทำเกษตรต้องใช้น้ำ  เรากินข้าวก็ต้องทำนา และต้องมีกับข้าว ก็ต้องมีผักผลไม้ พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการทำการเกษตรต้องพึ่งตนเอง ต้องทำหลากหลาย พออยู่พอกินก่อน เกษตรทฤษฎีใหม่ในหลวงกำหนดไว้ชัดเจน

-หากมองในเชิงธุรกิจจะทำให้มีเงินจนร่ำรวยหรือไม่ บางคนอาจมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงรวยช้า?

พระเจ้าอยู่หัวเน้นพึ่งตนเองก่อนไง พออยู่พอกินก่อน ที่เหลือแบ่งปันขายได้ แต่เกษตรระบบทุนนิยมที่มาเปลี่ยนแปลงเกษตรแบบเดิมของบ้านเราคือ ลงทุน ลงทุน ลงทุน  แล้วขาย แล้วไงมันสำปะหลัง ข้าวโพด ก็เป็นอาหารสัตว์  อ้อยก็ส่งเข้าโรงงาน สรุปแล้วของที่เกษตรกรปลูกมันกินไม่ได้ มันก็ต้องซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ซื้อปุ๋ย ซื้อเครื่องจักร ซื้ออาหารการกิน จมอยู่กับหนี้สิน ทางหนึ่ง ธ.ก.ส.ก็หมุนเงิน แปลงหนี้ อีกทางหนึ่งภาครัฐก็ไปทำโครงการ มีพันธสัญญา ประกันราคา ทำให้เกษตรกรตาโต โลภมาก มากู้เงิน ธ.ก.ส.ทำโน่นทำนี่ เสร็จแล้วพอเปลี่ยนรัฐบาลมันก็ทิ้ง แล้วก็ถูกทิ้ง  ภาคการเกษตรเรามันเป็นอย่างนี้

-บางคนยังมองว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมีแค่การทำนา ทำสวน จะนำไปปรับใช้ในองค์กรระดับประเทศอย่างไร?

คนต้องกินข้าวไหม มนุษย์ต้องกินอาหารไหม บ้านเราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ร้อนชื้น คือเหมาะที่จะทำการเกษตร ในหลวงก็เตือนต่อไปจะมีวิกฤต มีสงครามรบกัน แผ่นดินไหว น้ำท่วม น้ำแล้ง ความขัดแย้งต่างๆ และพื้นที่ทำการเกษตรในโลกมันมีน้อย ถ้ามันรบกันแบบนี้ อาหารการกินก็จะขาดแคลน พระเจ้าอยู่หัวจึงบอกว่าประเทศเราเป็นยุทธศาสตร์ ต่อไปทุกประเทศในโลกจะต้องพึ่งเรา ท่านรับสั่งกับฝรั่งที่มาสัมภาษณ์เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ท่านทำนายไว้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็เป็นจริง

-จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความบาลานซ์กับภาคเกษตรกรรมอย่างไร?

เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับภาคอุตสาหกรรม บางคนคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้เฉพาะภาคการเกษตร เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมกับทีม อ.ยักษ์ (อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ไปที่สำนักงาน ISO ประเทศไทย อยู่ตรงข้ามกับช่อง 5 (องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for  Standardization-ISO) อ.ยักษ์ก็ไปชวนว่าอุตสาหกรรมน่าจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงไปทำ เขาบอก อ.ยักษ์ โอ้โห! สงสัยจะยาก เพราะว่าหลักเกณฑ์เศรษฐกิจพอเพียงเยอะ อ.ยักษ์พูดคำเดียวผู้บริหาร ISO เปลี่ยนใจเลย อ.ยักษ์บอกว่าทำ มาตรฐานอุตสาหกรรมพอเพียงยากใช่ไหม แล้วเกิดประเทศไหนน้อมนำแนวคิดในหลวงไปทำ แล้วเขาประกาศว่าอุตสาหกรรมพอเพียง เขาได้แนวคิดจากพระเจ้าแผ่นดินประเทศไทย ISO ประเทศไทยจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน  เขาเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นจะลองดู  พอลองดูปั๊บเขาก็มีข้อกังวลอีกว่า โรงงานอุตสาหกรรมไหนจะทำ เพราะมีหลักเกณฑ์เยอะ เขาก็หวั่นไปเรื่อย

ปีแรกมี 36 โรงงานเข้าร่วม ตอนนี้ปัญหาเหล่านี้หมดไปแล้ว ตอนนี้โรงงานต่างๆ ก็อยากมาอยู่ เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมพอเพียงคือพึ่งตนเอง ไม่ผลิตสินค้าไปทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยชุมชนรอบๆ อย่างนี้ ที่สำคัญคนในองค์กรต้องมีความรู้ ผู้นำในองค์กรภาคอุตสาหกรรมพอเพียง การใช้เงินทุนต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่กู้เขาจนเซแซ่ดๆ ผลิตอะไรก็ต้องดูตลาด เดินสายกลาง พอดีๆ เพราะระบบอุตสาหกรรมที่ล้มเหลว อะไรขายดีก็กู้มาลงทุนอุตลุดเลย แล้วก็เจ๊งเพราะผลิตสินค้าไม่ดูตลาด

-เมื่อนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดความเสี่ยงลงได้ แล้วจะได้กำไรเยอะหรือไม่?

หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือถ้าคุณผลิตสินค้า ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เขาก็จะเชื่อถือคุณ ถ้าคุณไปเอาเปรียบแล้วได้กำไร แล้วก็ถือโอกาสเอาเปรียบๆ อย่างนี้ ลดคุณภาพลง ต่อไปใครจะซื้อ ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าคุณซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เขาก็จะซื้อของคุณตลอด แม้กำไรน้อยคนก็จะซื้อคุณตลอด แต่เมื่อไหร่ที่คุณโลภมาก ตาโต ลดคุณภาพลง เพื่อต้องการกำไร ผู้ซื้อก็จะหนีจากคุณไป กำไรน้อยแต่อยู่ได้นาน ดีกว่ากำไรมาก แต่อยู่ไม่นาน

-บางคนมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่วาทกรรม?

หลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แทบไม่ต้องอธิบาย ระบบอุตสาหกรรม การดำเนินงานธุรกิจเป็นอย่างไร  ปี 2540 ระบบทุนนิยมโตเต็มที่ รัฐบาลสมัยนั้นประกาศว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 เริ่มประกาศสมัย พล.อ.ชาติ ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ประเทศเราจะเป็นนิกส์ จะเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม ระบบทุนนิยมสูงสุดคือปี 40 เล่นหุ้น คือทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงินไวที่สุด สมัยนั้นก็เล่นหุ้น ธนาคารก็เอาเงินฝากของประชาชนไปเล่นหุ้น ไม่พอก็กู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน เล่นหุ้นแล้วมันรวย  บริษัทห้างร้านเล็กๆ น้อยๆ ก็เอาทรัพย์สินทั้งหมดมาลงทุน เงินสดมาเล่นหุ้น เอาที่ดิน เอาโรงงานไปตึ๊ง แล้วเอาเงินเล่นหุ้น 

พอ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เปลี่ยนค่าเงินจาก 25  บาท เป็น 50 บาทก็เจ๊งหมด เพราะก็กู้เงินจากต่างประเทศมา ระบบทุนนิยมโตแบบสุดฤทธิ์สุดเดช ภาคอุตสาหกรรมอย่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ตอนนั้นเขาบอกว่าเกือบเจ๊ง เขาก็มาคุยให้ฟังตอนมาอบรมที่นี่ เขาบอกว่าปี 2540 ปูนซิเมนต์ไทยมีธุรกิจ 200 กว่าธุรกิจ  คือลงทุนให้มากเพื่อจะได้กำไรมาก เกือบเจ๊ง ตอนนี้เครือซิเมนต์ไทยทำเฉพาะกิจการที่ตัวเองมีความชำนาญ ก็คือดูตัวเองเป็นฐาน

-เศรษฐกิจพอเพียงปรับมาใช้และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ ไม่ใช่เป็นแค่วาทกรรมอย่างที่คุณธนาธรว่า (นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า  เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่วาทกรรม)?

ที่คุณธนาธรพูดแบบนั้นเพราะบ้านเขาเป็นมหาเศรษฐี เขาโตมาแบบนั้น โตในระบบทุน เขาคิดว่าระบบทุนมันจะไปรอดไง แต่เขาไม่เคยมาดูว่าคนที่ยากจนเขาอยู่กันอย่างไร  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร คนทำเศรษฐกิจแล้วอยู่รอดไหม เพราะระบบการศึกษาที่เขาเรียนรู้มา เขาเชื่อระบบเศรษฐกิจแบบระบบทุน เขาเชื่อแบบนั้น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เขาก็ต้องเชื่อแบบนั้น เพราะเขาจบจากประเทศฝรั่งเศส  แนวคิดฝรั่งเศสก็คือล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาเชื่อจริงๆ  โทษเขาก็ไม่ได้นะ เพราะเขาเติบโตและรับเอาความรู้มาจากฝรั่งเศส ธนาธรก็รับจากเขาเรียนมาและระบบธุรกิจของเขา

-คนรุ่นใหม่ก็มองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าไม่ก้าวหน้า โทษเรื่องโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ต้องดูอีกภาพหนึ่งนะ พอเจอโควิดระบาด เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบชนชั้นกลาง พบว่าใน 2-3 ปีนี้ เอาเฉพาะใน จ.นครนายกเป็นตัวอย่าง พอเกิดโควิด 2-3 ปีมานี้คนกรุงเทพฯ มาซื้อที่ไว้เยอะมาก เพื่อหาเซฟโซน เขาบอกว่าพอเกิดโควิดธุรกิจที่ว่าแน่ๆ ก็เจ๊งหมด แสดงว่าระบบธุรกิจในระบบทุนมันอยู่ยากแล้ว วิธีการคือถอยกลับมามีที่ดินคนละ 1-2 ไร่ ก็ทำกินแบบพอเพียง เยอะมาก แล้วคิดว่าทำกันทั่วประเทศนะ คนเมืองเริ่มกลับไปอยู่ชนบท พวกที่ทำงานโรงงาน พอเกิดโควิดก็ถูกเลิกจ้าง ไล่ออก ก็กลับไปอยู่บ้าน เมืองไทยอย่างน้อยคนยังมีหลังพิง คือการเกษตร ก็กลับมาทำเกษตร 1-2 ไร่ เยอะมาก

การที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจก็ต้องสร้างตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ในหลวงบอกว่า ถ้าจะทำให้คนเชื่อเรา เราต้องสร้างตัวอย่าง ต้องลงมือทำให้เห็น เมื่อมีตัวอย่างความสำเร็จคนก็จะเอาตาม อย่างในนครนายก ลูกศิษย์ผมส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นคนเมือง 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง ก็ไม่มีพื้นฐานการเกษตร มาทำงานเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แล้วแปลงพวกนี้ที่สำเร็จ พวกนี้เป็นคนชั้นกลาง มันก็จะส่งผล มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นคนเมืองเหมือนกัน มนุษย์เงินเดือนเหมือนกัน แต่ก่อนอาชีพการเกษตรมันเหมาะกับเกษตรกร คนเมืองทำไม่ได้ แต่ตอนนี้คนเมืองกลับไปทำเกษตร 1-2 ไร่ก็อยู่ได้ จะเป็นตัวอย่างให้คนที่จบการศึกษาใหม่ๆ ก็จะเห็นชีวิตคนชั้นกลางเปลี่ยนชีวิต แล้วอยู่รอดและมีความสุข พวกนี้ก็มีญาติพี่น้องเต็มไปหมดในเมืองใหญ่

-เกษตรกรในต่างประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น  อิสราเอล หรือประเทศในแถบยุโรป ทำพืชเชิงเดี่ยว ทำไมร่ำรวย ไม่ยากจนเหมือนเกษตรกรบ้านเรา?

เพราะการทำการเกษตรบ้านเขามันน้อยไง บ้านเราพื้นที่มันมาก และต่างประเทศรัฐสนับสนุนภาคการเกษตรมาก 1.เกษตรกรต่างประเทศเขาใช้เทคโนโลยี 2.รัฐสนับสนุน 3.เกษตรกรมีน้อย ผลผลิตก็ราคาสูง อย่างเกษตรกรในประเทศอิสราเอลเขาใช้เทคโนโลยีสูง รัฐก็สนับสนุน

-ที่ผ่านมารัฐบาลก็สนับสนุน เรื่องประกันราคา ประกันรายได้ แจกชาวนาไร่ละ 1 พันบาท พักหนี้เกษตรกร เป็นต้น

ในหลวง ร.9 บอกว่าต้องให้พึ่งตนเอง เปรียบเหมือนบ้านมันต้องมีเสาเข็ม ทีนี้เกษตรกรบ้านเราพึ่งตนเองไม่ได้  ปัจจัยการผลิต ปุ๋ยก็ต้องซื้อ ปกติถ้าหันมาทำเอง อย่างน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยใช้เอง ทำผลิตภัณฑ์ใช้เอง น้ำยาล้างจาน  สบู่ก้อน สบู่เหลว ยาสระผม ทำใช้เอง 

-รัฐบาลก็ใช้เงินสนับสนุนเกษตรกรจำนวนมาก  อย่างราคาข้าวก็หลายแสนล้านบาท?

ก็มันแจกเงินอย่างเดียว ไม่ได้ให้ความรู้ พระเจ้าอยู่หัวถึงบอกว่าขาดทุนคือกำไร ถ้ารัฐบาลให้ความรู้ ชาวบ้านพึ่งตนเอง มันก็เหมือนขาดทุนระยะแรก ถ้าราษฎรพึ่งตนเองได้ ต่อไปรัฐบาลก็ไม่ต้องช่วย จะเป็นกำไรในบั้นปลาย

-แม้จะพึ่งตนเองได้ แต่ในระยะยาวที่ต้องเข้าสู่ระบบตลาด เกษตรก็อาจต้องเจอปัญหาเรื่องถูกกดราคา

บ้านเราถ้าไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ตลาดไม่มีปัญหา มีแต่ปัญหาผลผลิตไม่พอ ถ้ามาทำเกษตรแบบพึ่งตนเอง ไม่ใช้สารเคมี ต้นทุนจะต่ำ เกษตรก็เริ่มทำจากกินเองก่อน แล้วแบ่งปัน แล้วขาย ทำเกษตรเชิงเดี่ยว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ก็กินไม่ได้ ต้องขายเป็นอาหารสัตว์ อ้อยก็ส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ถ้าทำเกษตรทฤษฎีใหม่

-ด้านนโยบายเชิงโครงสร้างที่เอื้อนายทุน เอาเปรียบเกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องราคาจะทำอย่างไร?

ต้องมีเครือข่าย อย่างที่พวกผมทำอยู่ก็มีเครือข่ายคนเมือง เครือข่ายกลุ่มคนที่ต้องการผลิตที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมี  คนเริ่มมีความรู้ ตอนนี้ก็เริ่มแสวงหาซื้อผลิตผลที่ไร้สารเคมี    เรื่องตลาดไม่มีปัญหา มีแต่ผลิตผลไม่พอ ไม่ต่อเนื่อง ที่พวกผมทำกับ อ.ยักษ์ คือให้คนเมืองมาเจอผู้ผลิตแล้วรวมตัวเป็นกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งตอนนี้กระแสคนทั้งโลกก็ต้องการแสวงหาผลิตผลที่ไร้สารเคมี

-แนวทางการแก้ปัญหาเกษตรรัฐบาลนี้จะช่วยชาวบ้านได้หรือไม่?

มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ให้ความรู้ชาวบ้าน ถ้าจะให้ชาวบ้านหมดหนี้สิน พึ่งตนเองได้ ต้องให้ความรู้ แต่นี่มันสาดแต่เงินๆ อย่างเดียว ประกันราคา รับซื้อพืชผล อย่างนี้ เกษตรพึ่งตนเองไม่ได้หรอก

อ.ปัญญา กล่าวถึง ธ.ก.ส.ด้วยว่า ธ.ก.ส.เป็นรัฐวิสาหกิจ  นโยบายก็มอบโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังก็มีนักการเมืองคุม ผมเบื่อ เพราะนักการเมืองใช้ ธ.ก.ส.เป็นฐานในการหาเสียง ธ.ก.ส.ก็รับนโยบายจากนักการเมืองมาทำ    เป็นพวกนักการเมืองขี้ฉ้อ ผมก็เบื่อที่ต้องรับนโยบายจากนักการเมืองห่วยๆ ผมคิดว่าถ้าออกมาอยู่ข้างนอกน่าจะมีประโยชน์มากกว่า  ธกส.ก็คงเป็นอย่างนี้ตลอด เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ขึ้นกับกระทรวงการคลังที่มาจากพรรคการเมือง สั่งอะไรก็ต้องทำ สั่งให้พักชำระหนี้ก็ต้องทำ สั่งให้ปลูกนั่นปลูกนี่ก็ต้องทำตามนโยบาย

อ.ปัญญา เปิดเผยว่า สมัยเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ผมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เคลื่อนไหวในเมือง ตอนเรียนอยู่ ม.ธรรมศาสตร์ก็เป็นพวกซ้ายจัด พคท.ก็ส่งคนเข้ามาเคลื่อนไหว นักการเมืองที่บอกว่าสมัย 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เป็นความจริง ช่วงนั้น พคท.แทรกซึมไปทั่ว ช่วง 14 ตุลานักศึกษายุคนั้นศรัทธาแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาก็ส่งคนมารับเข้าป่า แต่ผมไม่ได้เข้า  เคลื่อนไหวอยู่ในเมือง

-จากเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ สวิงมาเป็นคนรักในหลวงได้อย่างไร?

เพื่อนๆ มันก็เข้าไปในป่า พอออกมาก็เล่าให้ฟังว่าสหายนำมันก็ทุจริต คดโกง แบ่งเป็นก๊ก เป็นแก๊ง เป็นเหล่า พคท.ก็เดินตามพรรคคอมมิวนิสต์จีน นักศึกษาเข้าไปแสดงความเห็นอะไรไม่ได้ นักศึกษาที่เข้าไปก็ต้องการเหตุผล ไม่เหมือนกับตัวหนังสือที่เราศึกษา

-ฝ่ายซ้ายที่มาอยู่กับทักษิณ ชินวัตร จะช่วยแก้ไขปัญหาเกษตรกรคนยากจนได้ไหม?

พวนนั้นออกมาจากป่าแรกๆ มาอยู่พรรคพลังธรรมก่อน  ทักษิณก็มาอยู่พลังธรรม แล้วก็แตกมาสร้างพรรคไทยรักไทย  พวกนี้ก็แห่ตามทักษิณออกมา เมื่ออยู่ในอำนาจ เขาถึงบอกว่า เมาเหล้าเมาเบียร์ยังมีวันสร่าง เมาอำนาจยิ่งเมายิ่งมัน พวกนี้ติดเสพอำนาจ ลืมหมดแล้วอุดมการณ์ แล้วทำทุกทางเพื่ออำนาจ เพื่อตัวเอง.

'ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ' แหล่งเรียนรู้เผยแพร่ ศาสตร์พระราชา’

บ่มเพาะนักรบพึ่งตนเอง ลงมือปฏิบัติจริงทั่วประเทศ

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมืองนครนายก ในพื้นที่ 14 ไร่ บริเวณหน้าเขื่อนขุนด่านชัยปราการ เป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่แนวคิดและทฤษฎี การพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 สาธิตความเป็นอยู่วิถีไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และฝึกอบรมหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชน ส่วนราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยมี อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีผู้เข้าอบรมแล้วกว่า 200 รุ่น นับหมื่นคน นำศาสตร์พระราชากระจายออกไปปฏิบัติจริงทั่วประเทศ เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่าการพึ่งตนเองตามแนว “เศรษฐกิจพอเพียง-ศาสตร์พระราชา”  คือทางรอดอย่างแท้จริง  

อ.ปัญญา เล่าถึงความเป็นมาของศูนย์ภูมิรักษ์ฯ ว่า  เมื่อ 40 ปีที่แล้วในหลวง ร.9 เสด็จฯ มาดูพื้นที่สร้างเขื่อน โดยนั่ง ฮ.มา เพราะยังทุรกันดาร มีรับสั่งคณะทำงานว่า คอยดูนะบริเวณแถวนี้เขาจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีน้ำตกสวยๆอยู่เยอะ มีความงดงามของป่าเขาใหญ่ คอยดูนะเขาจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถนนหนทาง ที่พัก โรงแรม จะเกิดในพื้นที่นี่เยอะ เราเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติที่เป็นอยู่ ช่วยหาซื้อที่ดินให้เราหน่อยสักผืนหนึ่ง เราอยากทำ ที่แสดงแนวคิดเพื่อแสดงความสำคัญของธรรามชาติ ในอนาคตตรงนี้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างน้อยคนก็เห็นความสำคัญของธรรมชาติ อย่าไปซื้อที่ดินดีๆของชาวบ้านมา คณะทำงานเลยได้ที่ดินผืนนี้ เมื่อปี 2532 เป็นทุ่งนาร้าง ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัด แม้แต่หญ้าก็ขึ้นไม่ได้ 

ส่วนเขื่อนขุนด่านปราการชล เริ่มสร้าง พ.ย. 2542  เสร็จ ม.ค. 2548  ปี 2545 ในหลวงมีรับสั่งให้คณะทำงานเร่งรัดการสร้างเขื่อน หนึ่งในนั้นคือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อ.สุเมธเข้ามาในพื้นที่ก็พบประวัติที่ผมเล่าเมื่อกี้ อ.สุเมธจบโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ท่านก็คิดอยากจะมาสานฝันช่วยในหลวง ทำให้เป็นป่าในที่ดินผืนนี้ 14 ไร่ ท่านก็ไปชวนสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยามาช่วยสานฝันในหลวง ในหลวงซื้อที่ดินไว้เมื่อปี 2532 นำไปฝากไว้กับ กรมสมเด็จพระเทพฯ บอกให้ช่วยดูแลที่ดินแปลงนี้ให้หน่อย  ฝากให้มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมีกรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นประธานช่วยดูแล

ที่ดินแปลงนี้ซึ่งปัจจุบันขึ้นต่อมูลนิธิชัยพัฒนา อ.สุเมธ พาคณะทำงานมาวางผังแสดงแนวคิดในหลวง ปี 46 ก็เอาดินจากระเบิดภูเขามาถม จากที่เป็นทุ่งนา น้ำท่วมก็ปลูกต้นไม้ไม่ได้ ก็เอาดินมาถม เป็นที่แสดงแนวคิดในหลวง เรื่องป่า ดิน น้ำ  47-48  ก็เริ่มสร้างอาคาร ผมมาอยู่ปี 2548 ยังไม่มีต้นไม้เลย  ต้นไม้ที่เห็นนี้ผมก็ปลูกมากับมือตั้งแต่ปี 48 สามปีแรก 48-51 เป็นปีที่ผมปลูกต้นไม้เยอะมาก

ภารกิจของศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติมี 2 ประการ ที่กรมสมเด็จพระเทพฯ มอบให้ก็คือ 1.ให้คนที่มาดูงานเช้า กลับเย็น ได้เห็นแนวคิดของพระเจ้าอยู่หัวแล้วนำไปใช้ 2.จัดอบรมให้คนลึกซึ้งแนวคิดในหลวงแล้วเอาไปทำ สำหรับคนที่มาดู เราก็บอกเรื่องดินดี อยากปอกเปลือกให้ห่มฟาง มีฟางใช้ฟาง  มีหญ้าใช้หญ้า มีใบไม้ก็ใช้ใบไม้ ก็เอาง่ายๆ เพราะแนวคิดในหลวงง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก 

อ.ปัญญา เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่มาทำงานในศูนย์ภูมิรักษ์ ว่า  ผมทำเรื่องในหลวงตั้งแต่อยู่ ธ.ก.ส.แล้ว รู้จัก อ.ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร ) มาก่อน และรู้ว่าผมทำเรื่องในหลวง พอผมลาออก อ.ยักษ์ เห็นผมทำเรื่องในหลวงอยู่แล้ว ก็บอกว่า ปัญญามาช่วยกัน ก็ชวนมาทำที่ศูนย์ภูมิรักษ์

ผอ.ศูนย์ภูมิรักษ์ บอกด้วยว่า  มาอยู่ศูนย์ภูมิรักษ์ปีแรก 2548 ก็มีการจัดอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลย ประมาณ 200 รุ่นแล้ว ส่วนใหญ่หน่วยงานราชการ  ภาคเอกชน  เกษตรกร เขาให้เราจัดหลักสูตร ให้เพราะเขาเชื่อใจเรา เขาเห็นหลักสูตรเรา เขาก็โอเค นอกจากเกษตรกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ก็มาอบรม เขาก็มีหลักสูตรพัฒนาอุตสาหกรรมของเขา ในเรื่องการพึ่งตนเอง เพราะเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกมิติ เขามาอบรมหลักสูตรผู้จัดการโรงงาน ก็ได้ความรู้เรื่องการพึ่งตนเอง การทำปุ๋ย การทำน้ำหมัก การทำผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่โรงงานเขาก็มีที่ดินของตัวเอง ก็นำไปใช้ได้  ซึ่งมีอบรมหลายรุ่นติดต่อกันหลายปี ตอนหลังก็เปลี่ยนมาดูงานเช้าไปเย็นกลับ เดี่ยวนี้เขาเอาหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปทำ อุตสาหกรรมพอเพียง มอก.9999 เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมพอเพียง           

ส่วนการอบรมหลักสูตร 5 วัน เรื่องความรู้พึ่งตนเอง  แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หลักกสิกรรม หลักการพอกิน พออยู่ พอใช้ ร่มเย็น ต้องถามคนอบรมว่าได้ความรู้อย่างไร สำหรับงบประมาณลูกศิษย์จะมาจัดงานวันครบรอบศูนย์ตอนต้นเดือน มิ.ย.ก็พากันมาขายของแล้วบริจาคเงินช่วยศูนย์ ทุกปีก็จะมีเงินกองทุนที่ลูกศิษย์จากทั่วประเทศมาจัดงาน ขาดทุนเงินกำไรบุญ ก็เป็นกองทุนระหว่างปีที่ใช้อบรม เงินทุนก็ร่อยหรอไป พอมิถุนายนก็มาโปะใหม่ ปีหนึ่งอบรมได้ประมาณ 2 รุ่น เราเน้นการพึ่งต้นเอง ถ้าพึ่งรัฐก็แบมือขอ ลูกศิษย์ก็เลยลงขันตั้งกองบุญช่วยกัน ส่วนเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติของ อ.ยักษ์ มีทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออก จรดตะวันตก.

ถอดบทเรียน ‘โคก หนอง นา”

อย่าขุดเปรอะ ลงทุนสูง

โคก หนอง นา” คือการนำ "เกษตรทฤษฎีใหม่” มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภูมิสังคม โดย อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร  ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นผู้น้อมนำหลักการ "เกษตรทฤษฎีใหม่” มาออกแบบ โดยยึดหลักสภาพความเป็นจริงของภูมิประเทศ หมายถึงด้านกายภาพ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ (แสง) รวมกับด้านสังคม คือ คน  วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 คนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับไปอยู่ต่างจังหวัด มีการทำ โคก หนอง นา  เป็นจำนวนมาก รัฐบาลยุคนั้นได้อนุมัติงบประมาณ 4.7 พันล้านบาท ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำให้ โคก หนอง นา เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

 อ.ปัญญา บอกว่า โคก หนอง นา มาจากทฤษฎีใหม่ของในหลวง อ.ยักษ์ก็ใช้ศัพท์เรียกง่ายๆ ว่า โคก หนอง นา  แต่พื้นฐานเกษตรทฤษฎีใหม่คือ มีน้ำ เลี้ยงปลา มีข้าว มีผักผลไม้ มีป่า ท้าทำแบบนี้จะรอด พื้นฐานก็มาจากทฤษฎีใหม่นั่นเอง ในหลวงบอกว่าเกษตรทฤษฎีใหม่มี 3 ขั้น ขั้นแรกแบ่งพื้นที่เป็น 30:30:30:10   ขั้นที่ 2 มารวมกลุ่มกัน ร่วมกันซื้อร่วมกันขาย ขั้นที่ 3 เชื่อมกับระบบทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน ขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น

-โคก หนอง นา การลงทุนเยอะไปจะคุ้มทุนหรือไม่?

ตอนนี้กำลังถกเถียงและดูกันว่าล้มเหลวเพราะอำไร ผมเป็นตัวตั้งตัวตี วิเคราะห์ว่าล้มเหลวเพราะอะไร เราควรต้องปรับรูปแบบอย่างไร เพราะทำมา 2-3 ปีพบว่าการลงทุนสูงมาก  ในหลวงบอกว่าการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือวิเคราะห์ ว่าน้ำฝนตกในพื้นที่เท่าไหร่ วิเคราะห์ว่าการทำนาใช้น้ำพันลูกบาศก์เมตร ปศุสัตว์พันลูกบาศก์ ป่า ไม้ผล ใช้น้ำ พันลูกบาศก์ ก็คำนวณน้ำฝน คำนวณปริมาณน้ำที่เก็บให้พอเพียงกับความต้องการของการทำการเกษตร แต่ระบบของโคก หนอง นา เราละเลยเรื่องนี้

เราก็ขุดเปรอะไปหมด ใช้ทุนสูง เราก็เริ่มคุยกัน เราไปพบที่ภาคอีสาน ชาวบ้านเขาแค่เอารถเกรดดัน ให้คันนาใหญ่แล้วก็ปลูกป่าก็ได้ผล อันนี้ทำแบบคนจนจริงๆ แล้วก็เห็นผล เพราะเขาทำมาเป็นสิบปีแล้ว ในกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องมีสระน้ำด้วยซ้ำ ปลูกไม้ป้าบนคันนาที่เขาเอารถเกรดดันเป็นคันนาใหญ่ ไม่ต้องมีแหล่งน้ำด้วยซ้ำ ก็ปลูกก่อนฤดูฝน

-อยู่ที่การนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตัวเอง?

ถูกๆ ตอนนี้โคก หนอง นา ที่ทำมา 2-3 ปีที่ที่เสียหายเพราะอะไร กำลังหามาตรการว่าจะเดินไปข้างหน้าก็ต้องมาดูย้อนไปข้างหลัง แล้วจะเดินไปอย่างไรให้มีความเสียหายน้อยที่สุด ผมเป็นตัวตั้งตัวดีของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ กำลังเตือนกันอยู่ โดยหลักการมันถูก แต่วิธีการต้องปรับ เช่น ขุดคลองไส้ไก่ลึก 2 เมตร ผมก็รณรงค์ว่าไม่ควรขุดหรอก เพราะมันเก็บน้ำไม่ได้ แล้วก็เปลืองเงิน เสียพื้นที่ ถ้าพื้นที่น้ำมากเกินไป ปลูกป่าก็ไม่ได้ ปลุกไม้ผลก็ไม่ได้ ผมพบว่าลูกศิษย์ในจ.นครนายกเสียหายเยอะ ก็เอาความเสียหายเป็นตัวเตือนว่า อย่าทำแบบนี้อีก

ต้องขุดบ่อให้ลึก แล้วใช้การกระจายน้ำด้วยระบบน้ำหยดด้วยสปริงเกอร์ ขุดให้ลึกเลย ไม่ต้องไปขุดคลองไส้ไก่ ขุด 2 เมตร ไม่มีประโยชน์  2 เมตร ไม่ว่าดินอะไรน้ำก็ไม่อยู่ ดินเหนียวมันก็ไม่ซึม แต่มันระเหยหมด  บ้านเราปีหนึ่งมันระเหย 3 เมตร วันละ1 เซนติเมตร มีแสงแดดจัด 300 วันก็ 3 เมตร  ดินเหนียวขุดลึก 2 เมตร มันระเหย 3 เมตร มันก็แห้งหมด ยิ่งดินทรายพอหมดฤดูฝนหมดก็แห้งแล้ว  ต้องขุดบ่อให้ลึกแล้วจัดการน้ำ ด้วยระบบน้ำหยดหรือสปริงเกอร์แทน ตอนนี้พบว่าคลองไส้ไก่ไม่มีประโยชน์ และอย่าขุดเปรอะ จะทำให้พื้นที่ปลูกไม้ผล ปลูกป่าก็น้อย เพราะมันเปรอะไปด้วยน้ำ และการขุดต้องเอาหน้าดินมาโปะเป็นโคก แต่ส่วนใหญ่ไม่เอาหน้าดินมาโปะ เพราะรถแบ็กโฮจะคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เราทำให้ดินดีได้ด้วยการห่มดิน แต่ช้าหน่อย

-ทำการเกษตรตามแนวทางนี้จะมีความเข้มแข็งในระยาว สามารถแข่งขันในระบบตลาดได้แค่ไหน?

เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาตินำโดย อ.ยักษ์ เราเน้นเรื่องการพัฒนาคนให้มารวมกลุ่มกัน อย่างนครนายก เมื่อ  10 เดือนที่แล้ว ผมพบว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนร้อยละ 90 ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร และ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ไม่มีทางสำเร็จเลย เขาก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จ เขาบอกว่าอาจารย์น่าจะรวมกลุ่ม อาจารย์เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณ มารวมกลุ่มกัน ตอนนี้ผ่านไป 10 เดือนจากที่ 90 เปอร์เซ็นต์ล้มเหลว  มาเป็น 90 เปอร์เซ็นต์สำเร็จหมด  ดูอย่างวันนี้ เห็นตลาดไหม (ภูมิใจ มาร์เก็ต เดอะฟาร์มเมอร์  นำผลผลิตมาขายที่ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ) ทำ 2-3 ปี ผลผลิตก็ออก  ระยาวก็จะมีพัฒนามากขึ้น

แนวทางของในหลวงให้พึ่งตนเอง รวมกันเป็นกลุ่ม ตอนนี้ อ.ยักษ์ขยายงานไปได้เยอะมาก เรื่องโคก หนอง นา อะไรที่ไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ไข กำลังดำเนินการกันอยู่  ตอนนี้กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็ทำเรื่องโคก หนอง นา สนับสนุนงบประมาณอยู่. 

โดย ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทิดพระเกียรติ 2 กษัตริย์ ขัตติยมหาราช

ตุลาคมเดือนที่ปวงชนชาวไทยสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5      และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่ 9  ที่เสด็จสวรรคตในวันที่ 23  ตุลาคม

‘สว.วีระศักดิ์’ สุดภูมิใจ เกิดในสมัย ร.9- รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯพิจิตรรุ่นสุดท้าย

ในชีวิตของผม ภาคภูมิใจมากใน 2 เรื่อง ได้เกิดในรัชสมัยของพระองค์ท่าน และ ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร

‘แก้วสรร’ ออกบทความสุดกินใจ ‘คุณค่า‘ ในชีวิตของคนชื่อ ’ภูมิพล‘

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ชีวิตในหลวงของเรา..ได้จากโลกนี้ไปแล้ว พวกเราคนไทยเศร้าโศกยิ่งและแสดงความรักอาลัยออกมามากมายหลายลักษณาการ จนมีผู้คนเป็นอันมากแปลกใจและไต่ถามขอคำตอบจากพวกเราอย่างจริงจังว่า “คุณค่า” ในชีวิตของพระองค์ท่านอยู่ที่ตรงไหน ต่างจากชีวิตอื่นๆที่จากไปในทุกๆวันอย่างไร?

รำลึก ร.9 วันกีฬาแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติในหลวง-พระราชินี ทรงสืบสานกีฬาเรือใบ

17 ธ.ค.2566 - กองทัพเรือและสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ อนุสรณ์สถานราชนาวิกโยธิน (หาดเตยงาม) โ

ชาวโคราชผนึกกำลังทำกิจกรรมจิตอาสา เทิดพระเกียรติในหลวง ร.9 ในวันนวมินทรมหาราช

พ่อเมืองย่าโมนำกำลังจิตอาสาทำสาธารณประโยชน์ น้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 จิตอาสาภาคเอกชนเดอะมอลล์โคราช