เจริญพรศรัทธาสาธุชนในพระพุทธศาสนา... เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (กฤติกา) ซึ่งเป็น วันปรินิพพานพระสารีบุตรเถรเจ้า พระอัครสาวกเบื้องขวา เอตทัคคะทางด้านผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางปัญญา ได้มี การก่ออธิการกุศลขึ้นบนแคว้นกุรุ ชมพูทวีป ปัจจุบัน ได้แก่ นครนิวเดลี/อินเดีย ซึ่งแคว้นกุรุในอดีต มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อ “กัมมาสธัมมนิคม” อันเป็นสถานที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ ทรงแสดงพระธรรมคำสั่งสอนแด่พระภิกษุและมหาชนชาวแคว้นกุรุ อันปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระสูตรที่ชื่อว่า “มหาสติปัฏฐานสูตร” ดังพระคาถาต้นพระสูตรที่กล่าวว่า
“เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา กุรูสุ วิหะระติ กัมมาสะธัมมัง นามะ กุรูนัง นิคคะโม......”
จากพระธรรมคำสั่งสอนบนแคว้นกุรุที่ปรากฏเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎกในหลายเรื่องราว.. จึงยืนยันได้ว่า ชาวแคว้นกุรุในชมพูทวีปมีความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนายิ่ง หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ คือ พระพุทธศาสนาหยั่งรากลงลึกประดิษฐานบนแผ่นดินแคว้นกุรุอย่างมั่นคง สืบเนื่องยาวนานจนถึงวาระสุดท้ายของพระพุทธศาสนา ที่ได้เข้าสู่วาระสูญสิ้นไปจากชมพูทวีป
แม้จะมีการนำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในชมพูทวีปอีกครั้ง โดยความยินยอมของ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็น รัฐบาลฮินดู เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ ในสมัย ท่านยาวาฮาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐอินเดีย
แต่ก็มิเคยมีปรากฏการณ์การน้อมถวายแผ่นดินจากฝ่ายอาณาจักร เพื่อบูชาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ ดังที่ พุทธกษัตริย์ ผู้ปกครองแผ่นดินเคยถือปฏิบัติกันมาจนเป็น ราชประเพณี
แม้ว่าจะมีการสร้างวัดวาอารามของพระพุทธศาสนามากขึ้นในสาธารณรัฐอินเดีย แต่ก็เป็นไปด้วยวิธีการซื้อขายหรือการเช่าจ่ายค่าตอบแทน เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิ์การครองแผ่นดินภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอินเดีย
จึงแตกต่างไปจาก.. อธิการกุศลที่เกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตรงกับ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เมื่ นายธีรภัทร มงคลนาวิน ทำหน้าที่อุปทูตแห่งสถานทูตไทยในกรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย พร้อมกับเจ้าหน้าที่และชาวไทยที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ณ สถานทูตไทย ได้พร้อมใจกันกล่าวถวายแผ่นดิน ณ สถานทูตไทยแด่คณะสงฆ์ อันมี พระราชวัชรสุทธิวงศ์ (พระ อ. อารยวังโส) เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน เป็นประธาน เพื่อการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวในการกระทำสังฆกรรม.. อันเป็นไปตามพระธรรมวินัย.. ซึ่งภายหลังจากพระสงฆ์กระทำสาธุการและอธิษฐานใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็น อพัทธสีมา ประกอบสังฆกรรม.. จนเสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อย สวยงาม แล้วนั้น.. ในยามค่ำของวันดังกล่าว ฝนฟ้าได้ตกลงมาอย่างหนัก ท่ามกลางเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า อย่างไม่เคยปรากฏมานาน.. ชำระล้างความสกปรกของสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองที่ติดอันดับต้นของโลก ของนครนิวเดลี อินเดีย
สภาพอากาศได้ปรับเปลี่ยนเป็นหนาวเย็นอย่างสะอาดโดยฉับพลัน ทำเอาเจ้าหน้าที่สถานทูต.. และชาวอินเดียที่ทราบเรื่อง ล้วนมีความยินดียิ่งกับอานิสงส์การประกอบสังฆกรรมบนแผ่นดินพระพุทธศาสนา ที่กลับคืนมาอีกครั้ง ดังรายละเอียดดังเอกสารที่บันทึกอ้างอิงไว้ดังต่อไปนี้
รูปภาพ
แผ่นดินพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นอีกครั้ง
ในแคว้นกุรุ ชมพูทวีป
“...พระสงฆ์จำนวน ๔ รูป นำโดย ท่านเจ้าคุณหลวงพ่ออารยวังโส (พระราชวัชรสุทธิวงศ์) เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธรรมยุต) ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับอาราธนานิมนต์ไปร่วมประชุมพุทธศาสนานานาชาติที่นครนิวเดลี อินเดีย ได้ร่วมลงอุโบสถประกอบสังฆกรรม ฟังสวดปาติโมกข์ ณ ปริมณฑลพระมหาโพธิ์ในสถานทูตไทย ณ นครนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยมี นายธีรภัทร มงคลนาวิน ทำหน้าที่อุปทูตไทย (ในขณะนั้น) เป็นผู้แทนสถานทูตไทย กล่าวถวายพื้นที่ในสถานทูต ในฐานะเขตแดนราชอาณาจักรไทย เพื่อภิกษุสงฆ์จักได้รับเพื่อประกอบสังฆกรรมปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ทั้งนี้ โดยถือสิทธิ์ตามกฎหมายว่าแผ่นดินที่ตั้งสถานทูตไทย คือ ราชอาณาจักรไทย .. ภายใต้พระปรมาภิไธยในรัชกาลปัจจุบัน
การน้อมถวายพื้นที่ในสถานทูตไทยในครั้งนี้แก่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เฉกเช่นเดียวกับ การถวายแผ่นดินไทยไว้รองรับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ เพื่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจะได้ถือใช้ประโยชน์ตามพระธรรมวินัย เพื่อการสืบสานพระศาสนธรรม เพื่อการสืบเนื่องพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบต่อไปในโลกนี้
นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรจดบันทึกไว้ อันเนื่องจากการเกิดขึ้นในเขตพุทธภูมิ (ชมพูทวีป) ที่มีการประกาศแผ่นดินพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามอริยประเพณีในพระพุทธศาสนา อันเกิดขึ้นบนแผ่นดินในแคว้นกุรุ ชมพูทวีป สาธารณรัฐอินเดียในปัจจุบัน...”
โดยสถานทูตไทย ได้ดำเนินการแทนราชอาณาจักรไทย เพื่อกระทำสถานที่ในเขตสถานทูตให้เป็นเขตแดนพระพุทธศาสนา เพื่อรองรับการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ที่ต้องถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ทั้งนี้ การที่พระสงฆ์ได้รับเขตพื้นที่ในสถานทูตเพื่อกระทำสังฆกรรมนั้น จัดอยู่ในประเภท อพัทธสีมา ด้วยปริมณฑลในนิคมหรือคามะนั้น ปราศจากวัดวาอารามและพระภิกษุสงฆ์พักอาศัย ซึ่งทรงอนุญาตให้กำหนดเขต เขตบ้าน (คาม) เขตนิคม (หมู่บ้านหรือตำบล) ที่ตนเข้าอาศัยอยู่ ซึ่งฝ่ายบ้านเมืองจัดไว้ เป็นเขตสามัคคีมีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ซึ่งจัดเป็นอพัทธสีมาที่สงฆ์สามารถทำสังฆกรรมได้ โดยไม่ยึดถือสิทธิ์เป็นเจ้าของ ดังที่ได้กำหนดพื้นที่ปริมณฑลต้นพระมหาโพธิ์ในสถานทูต เป็นเขตการประกอบสังฆกรรมในกาลครั้งนี้
จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรบันทึกไว้ บนแผ่นดินพุทธภูมิ ในชมพูทวีป (สาธารณรัฐอินเดีย) ซึ่งพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากชมพูทวีป ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา
ดังนั้น การประกาศยกเขตพื้นที่ในสถานทูตถวายพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเพื่อการได้ใช้สอยปฏิบัติศาสนกิจตามพระธรรมวินัย จึงนับเป็นความสำคัญอันยิ่ง ด้วยเป็นการสื่อความหมายว่า นี่คือการยกแผ่นดินในแคว้นกุรุ ขึ้นสู่ความเป็นแผ่นดินของพระพุทธศาสนาอีกครั้ง อันมีผลยิ่ง อานิสงส์ยิ่ง .. ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันพึงจะได้ถึงซึ่งอธิการกุศลในครั้งนี้ โดยเฉพาะสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ที่ได้มีโอกาสร่วมอนุโมทนาสาธุการในอธิการกุศลที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินแคว้นกุรุในครั้งนี้
อันควรยิ่งต่อการเผยแพร่ข่าวสารดังกล่าวไปสู่ทุกฝ่าย และสาธุชนทุกท่าน.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .