การประนอมข้อพิพาทหรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ในภาษาอังกฤษนิยมเรียกว่า “Mediation” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เกิดขึ้นมานานมากแล้วในบริบทสังคมโลกโดยเป็นกระบวนการที่มีผู้ประนอม หรือ ผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคนกลาง และเป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์ ความเป็นอิสระ ปราศจากอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางในการให้ความสะดวกและดำเนินกระบวนการประนอมเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งได้มีพื้นที่ในการพูดจาหรือเจรจาต่อรองอย่างสันติวิธีและอาจมีข้อสรุปที่ทั้งสองฝ่ายสามารถรับและตกลงกันได้ โดยยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันและในประการสำคัญอย่างยิ่งนั้น การประนอมข้อพิพาทยังมีเงื่อนไขสำคัญที่แต่ละฝ่ายต้องรักษาความลับที่ได้มาในระหว่างที่มีกระบวนการประนอมข้อพิพาทอยู่ และไม่สามารถนำไปเปิดเผยได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน
สำหรับในประเทศไทยนั้น คนกลางที่กล่าวถึงนี้อาจหมายถึงบิดามารดา เจ้าอาวาสในวัด ครูใหญ่หรือครูในโรงเรียน ตามหลัก “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียน หรือผู้ที่ทั้งสองฝ่ายที่มีข้อพิพาทยอมรับนับถือ ซึ่งการประนอมดังกล่าวนี้ไม่มีรูปแบบชัดเจนตายตัวและอาจมีลักษณะของการประนอมไกล่เกลี่ยแบบชี้นำได้ (Evaluative Model) ในบางกรณี
สำหรับกระบวนการที่เป็นทางการนั้น จากการสืบค้นพบว่าในอดีตโรงเรียนสอนกฎหมายในประเทศไทยของเราไม่มีการสอนวิชาการประนอมข้อพิพาทซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มวิชากระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่า “ADR” แต่ต่อมาก็มีการนำมาสอนป็นวิชาเลือกแล้วในบางมหาวิทยาลัยแต่นิสิต นักศึกษาก็ยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรโดยอาจมีความเชื่อว่าการเรียนกฎหมายนั้นก็เพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายหรือเป็น นิติกร เท่านั้น ซึ่งความเข้าใจนี้เป็นเรื่องความเข้าใจผิดหรือยังไม่ครบถ้วน จึงขอทำความเข้าใจผ่านบทความนี้ว่า ความสำคัญของการเรียนกฎหมายนั้น
ส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญนั้นก็คือหน้าที่ของการเอาความรู้ทางกฎหมายไปช่วยเหลือแนะนำผู้อื่น ไปช่วยสังคมและประเทศชาติ ซึ่งภารกิจนี้มีคำเฉพาะเรียกว่า “Pro Bono” ซึ่งหมายถึง “For Public Good” คือการให้บริการทางกฎหมายฟรีแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม (Vulnerable Persons) เช่น คนยากจน คนพิการ มูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงหาประโยชน์ เป็นต้น โดยอาจเป็นเรื่องของการให้ความรู้ทางกฎหมาย หรือการดำเนินคดีทางศาลให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อนได้ในบางกรณี ซึ่งที่เห็นอยู่บ่อยครั้งนั้นคือการทำคดีต่างๆของสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีทนายอาสาจำนวนหนึ่งที่มีความเสียสละทุ่มเททำงานนี้ให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีในศาลต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในปี พ.ศ. 2565 นั้น มีคดีแพ่งและคดีอาญาและอื่นๆ ค้างการพิจารณาในศาลไทยอยู่ถึงประมาณ 2 ล้านคดีและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันต่างๆ รวมถึงสำนักงานศาลยุติธรรม ได้พิจารณานำกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยเฉพาะการประนอมหรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation) มาใช้ก่อนการฟ้องคดีในศาล โดยเมื่อไม่นานมานี้ ทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC (www.thac.or.th ) ภายใต้กระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดอบรมโครงการผู้ช่วยผู้ประนอมจิตอาสา (Pro Bono Mediation Training) เป็นรุ่นแรกและครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของผู้ประนอมจิตอาสาของสถาบัน THAC มีนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการ โดยมีภาคเอกชนร่วมเป็นผู้สนับสนุน
ในโครงการนี้ ทางผู้ประนอมจิตอาสาและผู้ช่วยผู้ประนอมจิตอาสาภายใต้สถาบัน THAC จะดำเนินการประนอมข้อพิพาทต่างๆ ให้กับคู่กรณีที่เป็นผู้ยากไร้หรือธุรกิจ เอส เอ็ม อี ที่มีรายได้น้อยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยคาดหวังว่าภารกิจนี้จะช่วยขับเคลื่อนสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ เปราะบางและความแตกต่างของรายได้ครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ หรือข้อพิพาทด้านแรงงาน หรือการผิดสัญญาต่างๆ เป็นต้น เพราะปัญหาเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขให้โครงสร้างของสังคมดีขึ้น อีกทั้งกระทรวงยุติธรรม ยังได้มีนโยบายให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทก่อนการฟ้องคดี คือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน ภายใต้กฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 อีกด้วยโดยท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ www.rlpd.go.th ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประนอมข้อพิพาทจิตอาสา (Mediation Pro Bono Project) ของ สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC นี้จะเป็นความหวังสู่รุ่งอรุณแห่งวันใหม่ของการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ความปรองดองของคนในชาติและเป็นการลดความขัดแย้งตลอดจนข้อพิพาทในสังคมได้ไม่มากก็น้อย
เทวัญ อุทัยวัฒน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กยศ.ประกาศชวนลูกหนี้ร่วมไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง 25 มีนาคมนี้
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขอเชิญชวนผู้กู้ยืมเข้าร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้อง เพื่อช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ ในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชั้น 1 อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ