นราพัฒน์-ลงชิงเก้าอี้หน.ปชป. กับสถานการณ์ พรรคประชาธิปัตย์ หลัง 9ธ.ค. และโอกาสจับมือพรรคเพื่อไทย?

การประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)วันที่ 9 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อเลือก"หัวหน้าพรรคปชป."คนใหม่ รวมถึงกรรมการบริหารพรรคปชป.ชุดใหม่ อยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองไม่น้อย หลังก่อนหน้านี้ การประชุมใหญ่พรรคปชป.เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะล่มเสียก่อน แต่ว่ารอบนี้ ดูจากบริบทต่างๆ คาดกันว่า น่าจะสามารถจัดการประชุมและเลือกหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ได้ หลังพรรคปชป.ว่างเว้นการมีหัวหน้าพรรคคนใหม่มาร่วมหกเดือน

"นราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคปชป. -อดีตส.ส.พิจิตร -อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชป.  ที่ประกาศตัวลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคปชป."ให้สัมภาษณ์กับ"ไทยโพสต์"ถึง การลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคปชป.ครั้งนี้ว่า ได้ตั้งใจไว้นานแล้วที่จะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงวันนี้ก็ยังยืนยันจะลงสมัคร โดยการจะให้ที่ประชุมโหวต ก็ต้องมีผู้เสนอชื่อให้ลงแข่งขัน ซึ่งหากมีผู้เสนอชื่อก็ยืนยันจะลงสมัคร ไม่มีการถอนตัว

สำหรับนโยบายการบริหารงานพรรคปชป. หากได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่มนั้น     ต้องมองก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีอะไรเกิดขึ้นกับพรรค ปัญหาคืออะไร ที่ผมเห็นว่า พรรคปชป.ไม่ได้มีข้อเสียอะไร และมีจุดยืนของพรรคที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าการสื่อสารในอดีตที่ผ่านมา สื่อสารออกมาแล้ว ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คนก็เลยอาจมองว่า เราไม่ค่อยเข้าขากัน แต่จริงๆ แล้วประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตย มีการแข่งขันกันอย่างเสรี และเรื่องอะไรที่เป็นปัญหา ก็จะนำเข้ามาพูดคุยกันในพรรค แล้วก็โหวตโดยใช้เสียงส่วนใหญ่ออกมาเป็นมติพรรค การที่หลายคนในพรรคอาจมีความคิดเห็นส่วนตัวแล้วสื่อสารหรือแสดงความคิดเห็นไป ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มาตัดสินกันในเวทีประชุมกรรมการบริหารพรรคและส.ส.ของพรรคปชป. ที่จะตัดสินใจร่วมกันออกมาเป็นมติพรรค

"การที่จะทำให้มติพรรค มีความศักดิ์สิทธิ์ เข้มแข็งได้ เราก็ต้องมีระเบียบวินัย มติพรรคอย่างมาอย่างไร ก็ต้องเดินตาม นี้คือวินัยในการที่จะอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยของพรรค"

"นราพัฒน์"กล่าวต่อไปว่า โลกปัจจุบันทุกคนก็ต้องยอมรับว่ามีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีการใช้วิธีทางการตลาด ช่องทางการตลาด มาสร้างจุดขายแล้วก็ใช้สื่อโซเชียลมีเดียว ดึงดูดหรือเชื้อเชิญ ให้ประชาชนสนใจหรือเข้ามาร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสาร พรรคประชาธิปัตย์ก็พยายาม แต่ว่าอาจจะยังไม่ดีพอ เราจึงจำเป็นต้องปรับการสื่อสารภายในองค์กร ให้สมาชิกพรรค-คนในพรรค ผู้สนับสนุนพรรค ได้เข้าใจว่าเราต้องการเดินไปในทิศทางไหน สื่อสารให้คนของเราเข้าใจ และพูดไปในทิศทางเดียวกัน

โดยก่อนจะไปถึงตรงนั้น หากจะมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น อันนี้ไม่ว่ากัน แต่เมื่อมีมติพรรค ออกมาแล้ว ก็ต้องมีวินัย และสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน มันจะมีความชัดเจน เมื่อพรรคชัดเจน เราก็ต้องสื่อสารไปยังภายนอก เพื่อให้สังคมภายนอกเข้าใจว่าเราตัดสินใจอย่างไร โดยใช้รูปแบบการสื่อสารที่อาจต้องทันสมัยมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเข้ามาประกอบในการสื่อสารทั้งภายในพรรคและภายนอกพรรค

ที่ผ่านมา มีคนพูดกันว่า พรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนตัวช้า ปรับตัวได้ช้า เพราะอาจเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางความคิด ก็มีความจำเป็นที่เราอาจต้องมาดูโครงสร้างบางอย่างของพรรคให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เช่นข้อบังคับบางเรื่องของพรรค ก็อาจจำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ เดินเข้ามาที่พรรคปชป.ได้ ให้เขาได้มาเห็นว่าเมื่อเข้ามาที่พรรคประชาธิปัตย์แล้วทิศทางหรืออนาคตของพรรคจะเป็นอย่างไร เข้ามาแล้วเขาจะเติบโตในพรรคได้หรือไม่ ดังนั้นเรื่องโครงสร้างหรือข้อบังคับพรรค คงจำเป็นต้องมาพูดคุยกันเพื่อปรับให้มีความทันสมัยทันต่อยุค ทันต่อเหตุการณ์

ภารกิจเร่งด่วน หากขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคปชป.

-หากโหวตเตอร์ที่จะลงมติเลือกหัวหน้าพรรคปชป.ในวันที่ 9 ธ.ค.ถามว่าหากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคปชป.เรื่องเร่งด่วนเรื่องแรกๆที่จะเข้าไปทำคืออะไร?

เรื่องแรก ก็คือจะเดินสาย ทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคทั้งหมด จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสมาชิกพรรคว่าอยากเห็นทิศทางพรรคเดินไปอย่างไร เดินไปในทิศทางไหน ต้องระดมสมองก่อน สอบถามความต้องการก่อน

ผมคิดว่ายุคนี้ต้องฟังความต้องการของมวลสมาชิกพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรค ได้เข้ามาปรับและพิจารณา ไม่ใช่ top-down ลงไป ไม่ใช่ว่าผมอยากทำเรื่องต่างๆ เรียงลำดับ 1-2-3 แล้วเข้าไปทำเลย แต่ว่า ต้องมาปรับ ต้องมาทำความเข้าใจ มาตกผลึกในเรื่องของปัญหาก่อนว่าปัญหาของเราคืออะไร และสิ่งที่คาดหวังที่มวลสมาชิกพรรคคาดหวังคืออะไร

เมื่อเราได้ข้อมูลดังกล่าว เราก็คงต้องรีบ ระดมคน ระดมสมอง ระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อมาร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อนพรรค

แต่สิ่งหนึ่ง และเป็นสิ่งแรกเลยคือเรื่องการสื่อสาร จำเป็นต้องมีมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องระบบการสื่อสารองค์กร 

-ที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าหากได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคปชป. จะอยู่แค่สองปี ก็พร้อมจะลาออก?

คือผมอยากจะบอกว่า ผมต้องการเข้าไปแก้ปัญหา ไม่ได้อยากเข้าไปมีอำนาจ แล้วก็มาผูกยึดอยู่กับอำนาจ ผมเคยคุยกับรักษาการเลขาธิการพรรคปชป. คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ก็มีความคิดเห็นคล้ายกับผม คือถ้าพวกเราสามารถเข้ามา แล้วเข้ามาแล้วทำให้เห็นว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้น แต่เราไม่ได้ต้องการจะเข้าไปยึดครอง ถือครองอะไร เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีเจ้าของ เป็นพรรคของทุกคน ถ้าเราแสดงเจตนารมณ์อย่างนี้ สมาชิกก็น่าจะเห็นเจตนารมณ์ของเรา ว่าเราต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงจริงๆ เข้าไปปรับปรุงจริงๆ แล้วก็พร้อมที่จะถอยออกไป

หากสมมุติว่าผ่านไปหนึ่งปีครึ่ง เราทำได้ดี ผมถอยออกมา แต่ก็มีคนสนับสนุนให้ลงสมัครหัวหน้าพรรคปชป.ต่อ เราก็เดินต่อได้ แต่ถ้าถึงวันนั้น มีบุคคลที่มีความพร้อมกว่าเรา มีความเหมาะสมกว่าเรา เป็น อินฟลูเอนเซอร์ ในการที่จะดึงมวลชน นำพามวลชน คือก็ต้องยอมรับว่าการเมืองมันเป็นกระแส ต้องการสร้างผู้นำที่สร้างกระแส สร้างบทบาท หากวันนั้นมีใครที่เหมาะสม พวกเราก็พร้อมสนับสนุนคนๆนั้นขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคในรูปแบบที่เราได้วางระบบเอาไว้ จะได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆเข้ามา อย่างที่มีคนพูดถึงบางชื่อเช่น ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือมาดามเดียร์ (วทันยา บุนนาค)ที่จะเข้ามา แต่ก็อาจยังติดข้อบังคับเรื่องการต้องเป็นสมาชิกพรรคมาก่อนไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งเรื่องแบบนี้เราสามารถพูดคุยและปรับเปลี่ยนได้เพื่อเปิดโอกาสให้คนเข้ามาหาเรามากขึ้น ได้เข้ามามีบทบาทในพรรคมากขึ้น

ผมเชื่อว่า การจะเข้าไปครั้งนี้ เป็นการเข้าไปเพื่อจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย แล้วก็พร้อมจะถอยออกมา เพื่อให้คนที่เหมาะสมเข้าไปบริหารต่อ แต่หากเห็นว่าทีมที่ผมทำงาน เป็นทีมที่ดี แข็งแรง จะให้บริหารต่อ อันนี้ก็ไม่ขัดข้อง

-ที่บอกว่าพร้อมจะเข้าไปแก้ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์ แล้วถ้าเช่นนั้นมองว่าปัญหาของปชป.ตอนนี้คืออะไร?

ผมว่าคือเรื่องของการสื่อสาร อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตย ทุกคนในพรรคจึงสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่พอเราแสดงความคิดเห็นแล้ว พอถึงจุดๆหนึ่ง มันจำเป็นต้องมีข้อยุติ การมีข้อยุติออกมาแล้ว หมายความว่า มติเสียงข้างมากของพรรคประชาธิปัตย์ คือข้อยุติ หากเราไม่มีวินัย ออกมาไม่รับมติ ออกมาตอบโต้กัน ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ยังยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ไปด้วยกัน คนก็จะมองว่าพวกเราแตกแยก เราไม่เป็นเอกภาพ

วันนี้ ผู้ใหญ่หลายคนผมก็ได้ยิน แม้กระทั่งอดีตหัวหน้าพรรค คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บอกว่าเราต้องมีเอกภาพ เราต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน ยุคนี้้ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นแบบนี้ เราก็เดินไปทางนี้ ถ้ายุคหน้า เสียงส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเปลี่ยนแปลงไปทางไหน เราก็เดินไปในทิศทางที่เสียงส่วนใหญ่ในพรรคเป็นตัวกำหนด

ผมคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ถ้าพวกเรามีวินัย ถ้าไม่ออกไปพูดจาข้างนอกให้พรรคเสียๆหายๆ ผมว่ามันจะยุติปัญหาความขัดแย้งตรงนั้น และทำให้ภาพลักษณ์ คนภายนอกจะมองเห็นว่าแต่ละประเด็นเรามีความชัดเจน ประชาธิปัตย์มีจุดยืนแบบนี้ ประชาธิปัตย์ต้องการเดินไปแบบนี้

ส่วนเรื่องที่สอง ก็คือเรื่องการสื่อสาร เพราะหากเป็นสมัยก่อน ผมถามว่าประชาธิปัตย์สมัยก่อน เราแข็งแรงอย่างไร เราแข็งแรงจากการปราศรัย สมัยก่อน พรรคการเมืองไหนก็ปราศรัยสู้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ คนอยากมาฟังประชาธิปัตย์พูด คนเป็นหมื่นๆ คน คนมาฟังกันสี่หมื่นถึงห้าหมื่นคน

อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่โลกมันเปลี่ยนไป การปราศรัยยังจำเป็น การสื่อสารกับประชาชนยังจำเป็น แต่ถามว่าเราจะเรียกคนมาฟังปราศรัยได้สักกี่คนในวันนี้ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและอีกหลายอย่าง ถึงมาเต็มที่ ก็หลักหมื่น แล้วจะทำอย่างไรให้สื่อสารกับคนหลักแสน-หลักล้านได้ พรรคการเมืองอื่น ไม่จำเป็นต้องไปเรียกคนมาฟังปราศรัย เขาสามารถ ถ่ายทอดสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารผ่านระบบโซเชียลมีเดีย ไปยังคนเป็นแสนเป็นล้านคนได้ ในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น คอนเทนต์ต่างๆ และ Messageต่างๆที่จะส่งไปถึงประชาชน และสมาชิก สามารถที่จะสื่อสารในรูปแบบที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้

ทั้งสองเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องหลักๆ ที่อย่างน้อยจะทำให้พรรคปชป.ได้กลับมา เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนได้

ผมยืนยันว่าประชาธิปัตย์ ผมยังไม่เห็นมีข้อเสียอะไร เพียงแต่อาจจะมีสื่ออย่างอื่นหรือคนที่ใช้สื่ออย่างอื่น ยัดเยียดสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ให้ประชาชนฟัง เช่นบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นแบบนั้น ประชาธิปัตย์ทะเลาะ ประชาธิปัตย์แตกแยก ก็มีแต่คนข้างนอก หรือพรรคอื่นๆ หรือคนที่ไม่หวังดี ที่พยายามจะโยนสิ่งเหล่านี้ลงไปในสื่อ ให้ประชาชนเห็น แล้วเขาเห็นทุกวัน เขาอาจเกิดการคล้อยตามความเชื่อ แต่ขณะที่ประชาธิปัตย์ยังไม่ได้มีสื่อที่จะสามารถตอบโต้กลับไปได้เลย อย่างที่เขาเรียกว่ามีการใช้โลกโซเชียลฯเข้ามา ทำให้คุณเป็นแบบนั้น เป็นแบบนี้

ประชาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการตอบโต้สิ่งเหล่านี้ แล้วก็แสดงจุดยืนของตัวเองออกไป ให้ประชาชนเข้าใจ ผมเชื่อว่าหลายคนในใจ เขาก็อาจแอบเสียดายเช่นบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมือง หรือเป็นพรรคที่เสียหายน้อยหรือไม่ดีน้อยที่สุดในสายตาของสังคมทั่วไป เพียงแต่ว่าวันนี้ อาจคิดว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปัตย์

ผมจึงอยากทำสองเรื่องนี้คือ การสื่อสารองค์กร เรื่องการที่จะต้องมีวินัยในการรักษาเสียงส่วนใหญ่ของพรรค และใช้โลกของโซเชียลฯในการสื่อสารให้กับสมาชิกและสังคมภายนอกได้เข้าใจเรา

-แต่การที่ประชาธิปัตย์ไม่สามารถจัดประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ได้ การประชุมล่มถึงสองครั้ง โดยมีการมองว่าในพรรคแบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนกับสายคุณชวน หลีกภัย หากขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป. จะประสานสองกลุ่มนี้อย่างไร?

ทุกอย่างก็เป็นเหรียญสองด้าน แล้วแต่คนมอง คนภายนอกอาจมองว่าเป็นปัญหา แต่หากเป็นคนภายในเขาอาจจะมองว่า เป็นการแสดงออกของสมาชิก ที่อาจจะยังไม่ตกผลึก อาจจะยังไม่เห็นด้วย ก็อาจใช้วิธีการ อาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ก็แล้วแต่ ในการที่จะเบรกหรือชะลอไว้ก่อน ซึ่งผมถือว่าในระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้มันก็เกิดขึ้นได้ แต่ท้ายที่สุด กาลเวลา ก็ค่อยๆ เยียวยา และกาลเวลา ก็ต้องให้มีการได้พูดคุยกัน

อย่างล่าสุดการประชุมใหญ่รักษาการกรรมการบริหารพรรค ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จำเป็นต้องรักษาองค์ประชุม เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์มันเสีย ทุกคนก็เลยกำหนดว่า ขอเพิ่มองค์ประชุมจากข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มมาอีก 150 คน เพื่อตอบโจทย์การประชุมเพื่อให้การประชุมราบรื่น โดยในที่ประชุม ทุกคนเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ตรงกันหมด เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในการจัดประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์วันที่ 9 ธ.ค.นี้ ก็น่าจะราบรื่นและเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการที่จะได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ก็เชื่อว่าการประชุม 9 ธ.ค.นี้ จะไม่ล่มอีกแล้วเพราะมีการสำรองไว้ 150 คน

-มีเสียงวิจารณ์กันทางการเมืองว่า การที่กลุ่มคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน ต้องการเข้ามาคุมพรรคปชป.เพราะหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้า จะนำพรรคปชป.ไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร หากได้เข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคปชป.?

ผมว่าเรื่องของการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล มันไม่มีทางที่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด สามารถที่จะชี้นิ้วหรือบอกได้ว่า จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล

ที่ผ่านมา ก็มีทั้งคนเห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล ที่เป็นความคิดเห็นของแต่ละบุคคล แต่กระบวนการ ถามว่า เวลาประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาล เขามีกระบวนการ มีข้อบังคับพรรคหรือไม่ ก็พบว่า มี ก็คือ หากมีเทียบเชิญ อย่างสมมุติว่ามียกหูโทรศัพท์มา มีหนังสือมา โดยพรรคแกนนำหรือพรรคที่มีเสียงส.ส.อันดับหนึ่ง อยากให้ประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล ถ้ามีอะไรที่เป็นกระบวนการมา ประชาธิปัตย์ก็มีกระบวนการ ก็คือจะมีการเรียกประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพิจารณาเหตุและผลในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล มันต้องเป็นมติ

ซึ่งทุกครั้งมันก็เป็นแบบนี้ตั้งแต่สมัยอดีต จนถึงสมัยที่พรรคไปเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ หรือสมัยนี้ที่มีข่าว มันก็มีข่าวว่า มีการพูดคุยกันนอกรอบ ซึ่งการพูดคุยกันนอกรอบ มันก็เป็นเรื่องปกติ คนรู้จักกัน ก็ต้องคุยกัน คนมาถามว่า อยากร่วมหรือไม่ หากเขาอยากร่วม เขาก็แสดงออกว่าเขาอยากร่วม คนที่มาถามว่าอยากร่วมไหม แต่บอกว่า สถานการณ์แบบนี้ไม่ควรจะร่วม เดี๋ยวรอไปดีกว่า มันก็เป็นเหตุผล แต่คนก็เอาไปตี ว่าประชาธิปัตย์แตกแยก มีคนอยากร่วม ไม่อยากร่วม จนรวมมาถึงการเลือกหัวหน้าพรรคปชป. ก็กลัวว่าอย่างนั้น กลัวว่าอย่างนี้

ต้องบอกว่าไม่ต้องกลัวครับ ประชาธิปัตย์ มีกระบวนการในการตัดสินใจ อย่างสมัยที่ผ่านมา ตอนยุคคุณอภิสิทธิ์(เป็นหัวหน้าพรรคปชป.) คนก็ถามจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ คุณอภิสิทธิ์ก็แสดงความชัดเจนว่าไม่เข้าร่วม ขณะที่กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่เข้ามาตอนนั้น คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคตอนนั้นก็บอกว่า ก็แล้วแต่กรรมการบริหารพรรค และต่อมามีการประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรค กับส.ส.ของพรรคปชป. ก็มีมติว่าให้เข้าร่วมรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ ก็รักษาหลักการ ก็ถอยออกมา แต่คุณอภิสิทธิ์ ก็ยังอยู่ช่วยพรรคปชป.

เช่นเดียวกันครับ กรณี ณ วันข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้น หากเกิดเข้าไปร่วม ใครไม่เห็นด้วย ท่านก็ต้องถอยออกมา แล้วก็ดู เพราะว่ามันเป็นมติ ท่านอาจจะแสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากให้เข้าร่วม แต่หากเกิดมติออกมาให้ร่วม ท่านก็ออกมา หากว่าเกิดท่านไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ควรไปทำอะไรให้ มติมันเสียหาย ถูกไหม เขาเรียกว่า วินัย เหมือนอย่างคุณอภิสิทธิ์ ท่านมีวินัย ที่ก็ออกมารอ wait and see ก็เหมือนกัน หากอนาคตข้างหน้า ถ้าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่วันนี้ แน่นอน ชัดเจนคือเราเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะไม่มีเทียบเชิญมา ก็ไม่มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.ของปชป. ก็ไม่ได้เข้าร่วมแน่นอน

เพราะฉะนั้นแล้วจะไปกลัวทำไม สำหรับคนที่รู้สึกว่า ไม่อยากเข้าร่วม เพราะมันไม่มี เมื่อไม่มี ก็จบ ดังนั้น วันนี้เราก็กลับมาทำพรรคของเรา เรื่องจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ก็ตัดออกไป ก็เป็นเรื่องของอนาคต อาจจะมีการยุบสภา แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ อนาคตจะได้เสียงส.ส.เท่าไหร่ แล้วจะไปร่วมกับใครหรือไม่ร่วมกับใคร ก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่วันนี้ตัดเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล แล้วกลับมาดูเรื่องของพรรค มาดูกันว่า เราจะฟื้นฟูพรรคกันอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้พรรคกลับมาเข้มแข็ง

-หากรัฐบาลนายเศรษฐา ถ้าอนาคตเช่นมีความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยอยู่ในช่วงที่คุณนราพัฒน์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป.โดยมีการปรับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคออกไป หากว่ามีเทียบเชิญมา?

ก็ต้องไปเข้าตามข้อบังคับพรรค ตามกติกาเลย หากเขามีเทียบเชิญมา ผมก็ต้องไปถาม กรรมการบริหารพรรค ไปถามส.ส. ว่าจะเอาอย่างไร หากเกิดมีมติไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาล เราก็ตอบปฏิเสธเขาไป หรือหากมีมติเข้าร่วมรัฐบาล เราก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมเราถึงเข้าร่วมรัฐบาล และเข้าร่วมเพราะอะไร เหตุผลเพียงพอหรือไม่ แล้วมวลสมาชิกพรรคปชป. เห็นอย่างไร เพราะเรามีมวลสมาชิกพรรคที่คอยขับเคลื่อนที่มีอยู่ทั่วประเทศ  เราก็สามารถที่อาจจะออกแบบฟอร์มสอบถามความเห็นสมาชิกพรรคว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อนำความเห็นดังกล่าวมาสนับสนุนการตัดสินใจของส.ส.และกรรมการบริหารพรรคปชป.ด้วยก็ได้

ผมว่ามันต้องไปด้วยกัน เราอยู่ในพรรคการเมืองเดียวกัน เลี้ยวขวา หรือเลี้ยวซ้าย เราก็ต้องไปด้วยกัน ผมว่ามันเป็นกติกา เพียงแต่ว่าหากเขาเลี้ยวไปแล้วมันไม่ถูกใจเรา แล้วเราจะทำอย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่มันยากที่สุด ก็คือ ทำใจได้หรือไม่ อีกทั้งก็ต้องมีวินัย อย่างหลายคน รอบที่ผ่านๆมา หลายคนก็รู้สึกขัดใจ จะลงเลือกตั้งหรือไม่ลงเลือกตั้ง ก็มีคนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมติบอกไม่ลงเลือกตั้ง ก็ไม่ลงเลือกตั้ง(สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาฯ แล้วพรรคประชาธิปัตย์บอยคอยไม่ลงเลือกตั้ง) หรือตอนที่พรรคจะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล สนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือไม่ แต่สุดท้าย พอพรรคมีมติให้เข้าร่วม ก็เดินไป ซึ่งหากเรามีวินัย ก็บอกโอเค เราสงวนสิทธิ์ไม่เห็นด้วยแต่เราอยู่ภายใต้พรรค และเมื่อพรรคปชป.ตัดสินใจแล้ว ก็พร้อมสนับสนุนและเดินตาม

เหมือนกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตก็เช่นเดียวกัน ตอนเลือกตั้งหัวหน้าพรรค รอบที่แล้ว ก็มีคนลงสมัคร 2-3 คน ผมเองก็ยอมรับว่าตอนนั้นผมสนับสนุนคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ลงแข่งตอนนั้น แต่เมื่อผลออกมา คุณพีระพันธุ์แพ้ คุณจุรินทร์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป. ทางคุณจุรินทร์ ก็มาคุยกับผมว่าให้ผมมาช่วยงาน มาเป็นรองหัวหน้าพรรค ผมก็มาเป็นรองหัวหน้าพรรค ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

คือในใจตอนนั้นก็อยากให้พรรคปชป.เปลี่ยนแปลง อยากให้คนใหม่ๆ เข้ามา เพราะเห็นคุณพีระพันธุ์มีความตั้งใจ ผมก็สนับสนุน นี้คือระบอบประชาธิปไตย ต้องรับให้ได้ ถ้าอยู่ภายใต้พรรคนี้ต้องรับให้ได้ เหมือนกับเวลาไปอยู่พรรคอื่น หากหัวหน้าพรรคหรือเจ้าของพรรค ชี้ให้ไปทางซ้าย กล้าเถียงไหมล่ะ กล้าขัดไหม ก็ต้องเดินตาม ไม่กล้าขัด แต่หากไม่เดินตาม อึดอัดเต็มที่ ก็ต้องย้ายพรรคออกไป มันก็เป็นธรรมดา แต่ของประชาธิปัตย์ มันดีกว่าอีกด้วย เพราะประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตย เราพูดกันได้ทุกเรื่อง

หากเป็นพรรคการเมืองอื่น เกิดไปพูดสุ่มสี่สุ่มห้า หัวหน้าพรรค เจ้าของพรรค ก็อาจจะเอาออกจากพรรคก็ได้ แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี ใครก็แสดงความคิดเห็นได้ ผมว่ามันก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน ก็คือระบอบประชาธิปไตยในพรรค แต่จุดอ่อน ก็แน่นอน มันอาจช้าหน่อย ขับเคลื่อนยากบ้าง เพราะต้องรอฟังเสียงทุกคน มันแล้วแต่มุมมองของทุกคน

ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคปชป. จับมือการเมือง-ร่วมรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทย ได้-ไม่ได้?

-ในสถานการณ์ปัจจุบันที่บางพรรคบอกว่าต้องจับมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง แต่ก็มีการพูดกันว่า ดีเอ็นเอของเพื่อไทย ที่ผ่านมาขับเคี่ยวสู้กับประชาธิปัตย์กันมานาน แล้วแบบนี้หากในวันหนึ่ง พรรคปชป.พร้อมจะทำงานร่วมกับเพื่อไทยได้หรือไม่?

คือผมว่ามันต้องแยกในเรื่องของการเมือง พรรคการเมือง และตัวบุคคล เช่นตัวบุคคลไปกระทำความผิด ไปทำทุจริต ไปโกง สมมุติไปทำผิดกฎหมาย ไปยิงคนตาย ถามว่าพรรคจำเป็นต้องผิดไปตามด้วยตามคนๆนั้นหรือไม่ พรรคก็ต้องพิจารณาโทษ หรือคนที่ไปกระทำความผิด ไปโกง ไปทุจริต ก็ต้องรับผิด พรรคเขาก็ต้องขับออก มีมติออกไป แต่พรรคก็ต้องเดินต่อ แม้กระทั่งคนทำผิดไปแล้ว เข้าคุก แล้วทำความดี เรายังมีการให้โอกาส มีการอภัยโทษ นี้คือสังคมของคนไทย คือการให้โอกาส

เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่า พรรคนี้กับพรรคนั้น ร่วมกันไม่ได้ ผมขอถามว่าทำไมจะร่วมกันไม่ได้ เขาเป็นพรรคการเมือง พรรคเขามีคนเลวหมดเลยหรือ พรรคเขาก็มีคนเก่ง มีคนดี มีคนตั้งใจ แต่คนในพรรคเขา บางคนบางกลุ่มอาจจะไม่ดี มันก็อยู่ที่เราจะพิจารณา

หากสมมุติว่าเราพิจารณาแล้วเห็นว่า กลุ่มไม่ดีของเขา มีเยอะมากกว่า พรรคเขาดูแล้ว มีคนไม่ดีเยอะ เราบอกว่าแบบนี้เรารับไม่ได้ หรือว่านโยบายของพรรคเขา มันขัดกับเรา เช่นนโยบายของพรรคเขาสามารถทำให้มีการโกงได้ แล้วเราจะไปร่วมกับเขาได้หรือ แต่หากนโยบายของพรรคเขา มีแนวทางที่จะช่วยเหลือประชาชน สำหรับตัวผม อันนี้คือความคิดเห็นส่วนตัวของผม แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคว่าจะร่วมกับพรรคไหน หรือไม่ร่วมกับพรรคไหน เป็นกระบวนการของพรรค แต่ถ้าถามผมในฐานะส่วนตัว ผมก็บอกว่า ผมร่วมได้กับทุกพรรค แต่ก็อยู่ที่เงื่อนไข

เช่น สมมุติถามผม ว่าร่วมกับพรรคก้าวไกลได้ไหม ผมก็บอกว่า ทำไมร่วมไม่ได้ ก้าวไกลก็เป็นคนรุ่นใหม่แล้วก็เสนอมุมมองในการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ดี ผมก็ร่วมได้ แต่ผมติดที่พรรคก้าวไกลบอกว่า ไม่เอามาตรา 112 ก้าวไกลมี agenda ในการที่จะกระทบกระเทือนข้างบน ผมก็บอก ถ้าแบบนั้น ผมรับไม่ได้ ผมไปร่วมกับก้าวไกลไม่ได้ แค่นั้นเอง ถึงบอกว่าจะร่วมกับสีส้ม สีแดง สีฟ้า สีน้ำเงินอะไรต่างๆ ผมถึงบอกว่าทุกอย่างอยู่ที่เงื่อนไข อยู่ที่บริบท ไม่ใช่ว่าพรรคเขา มีคนเลวอยู่หนึ่งคน แล้วก็บอกว่าต่อไปนี้ พรรคการเมืองนี้ต่อไปเราจะไม่ร่วม เพราะเขามีคนเลวอยู่หนึ่งคน ผมว่ามันไม่แฟร์ แล้วการเมืองมันจะเดินต่อกันไปยังไง การทำงานร่วมกันมันจะเดินต่อไปได้ยังไง มันต้องเอาเหตุและผล เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง

อย่างตอนที่ประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ (หลังเลือกตั้งปี 2562)  มีเหตุผลหลากหลายมาก แต่อย่างน้อยวันนั้น อย่าลืมว่าตัวเลขส.ส.มันเขย่ง ทางเลือกก็คือว่า หากพรรคปชป.ไม่ไปร่วมรัฐบาล เขาก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จัดตั้งรัฐบาลลำบาก เสียงส่วนใหญ่ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็บอกว่า ถ้าจะให้รัฐบาลเดินหน้าได้ บริหารประเทศไปได้ ให้พลเอกประยุทธ์บริหารจัดการได้ เพราะเขาก็มาจากการเลือกตั้งแล้ว เหตุผลหนึ่งที่ผมได้ยินก็คือ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ เราจำเป็นต้องไปร่วมกับพลเอกประยุทธ์เพื่อให้มีรัฐบาลและเดินหน้าไปได้ แต่ตอนนั้นพรรคก็เสนอไปสามเงื่อนไขคือ ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมมนูญ การไม่เอาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น และนโยบายของพรรคปชป. คือเรื่องการประกันรายได้ฯ  ให้เสนอเป็นนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อน ซึ่งมันก็มีเหตุผล ที่ก็ทำให้เดินต่อไปได้

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไปยึดติดกับเรื่อง ของส่วนตัว เรื่องของบุคคล ผมถามว่าเหล้าเก่าในขวดใหม่เยอะมากนะ ก็คือนักการเมืองไม่ดี พอโดนยุบพรรคหรือโดนอะไรต่างๆ เขาก็ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ แล้วทำไม พรรคนั้นยังได้ความนิยม ทำไมประชาชนยังให้โอกาสพรรคการเมืองดังกล่าว ก็แสดงว่าเขาอาจไม่ชอบบุคคล แต่ไม่ได้รังเกียจพรรคก็ได้ แล้วทำไม เราต้องมารังเกียจพรรคการเมืองด้วยกัน อันนี้ความเห็นส่วนตัวผม

-หากขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป. บทบาทการเป็นฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลเศรษฐา อย่างเข้มข้นใช่ไหม ไม่ใช่จะเป็นพรรคอะไหล่ รอพร้อมเข้าไปร่วมรัฐบาล?

ไม่มีปัญหาหรอกครับ ผมเชื่อว่าวุฒิภาวะของส.ส.พรรคปชป.ทุกคน เข้าใจบทบาทหน้าที่ ผมเชื่อว่าทุกคนทำเต็มที่ในการเป็นส.ส.ฝ่ายค้านในสภาฯ เพื่อให้ประชาชนไม่ผิดหวัง และพรรคปชป.ต้องพยายามสร้างฐานข้อมูลให้ด้วยซ้ำไป เพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องข้อมูลให้ส.ส.ของพรรคนำไปอภิปรายในสภาฯ คือเมื่อก่อน ก็ต้องยอมรับว่าพรรคเรามีคนเก่งเยอะ ก็จะใช้ฝีไม้ลายมือของตัวบุคคลที่เก่ง ช่ำชองในเรื่องของการเมืองที่จะไปทำหน้าที่ แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงผมคิดว่าพรรคสามารถทำเป็นเหมือนกับหลังบ้าน ให้กับส.ส.ของพรรคได้ เช่นเรื่องของข้อมูล เรื่องรูปแบบว่าต้องอภิปรายในสภาฯอย่างไร เราจะต้องมีฐานข้อมูล มีบิ๊กดาต้าในการสนับสนุนส.ส.ของพรรค เราจะไปสะเปะสะปะไม่ได้

-ก่อนหน้านี้ คนที่เคยลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคปชป. พอไม่ได้ ก็ลาออกไป เช่น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรณ์ จาติกวณิช นพ.วรงค์ ?

อย่างที่ผมบอก คือเป็นเรื่องของประชาธิปไตย และเรามีวินัยแค่ไหน สำหรับท่านที่ออกไป ผมเคารพมากเลย เพราะถือว่ามีวินัย เขาไม่ได้อยู่แล้วขัดแย้งหรือมาทำให้พรรคปชป.เสียหาย แต่เขามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน และเมื่อทัศนะ-แนวทางมันไม่ตรงกัน ไปด้วยกันไม่ได้ ก็ออกไป เพื่อจะไปขับเคลื่อนแนวทางที่เขาต้องการ

ผมถือว่านี้คือ fair game เพราะหากท่านอยู่แต่ยังทำให้พรรคเสียหาย พูดจาไม่ตรงกับทิศทางของพรรค สร้างปัญหาให้พรรค ผมว่าอันนี้หนักกว่า แย่กว่า แต่สำหรับคนที่คิดว่ารับได้ ท่านอยู่ แต่หากคิดว่ารับไม่ได้ เดินออกไปสร้างพรรค สร้างแนวทางของตัวเอง ผมว่าอันนี้ถูกต้องที่สุด fair play ที่สุด เป็นสิ่งที่สง่างามและงดงามในมุมมองผม

แต่ถ้าวันหนึ่งวันใด ผมสามารถทำพรรค ได้กลับมาเข้มแข็งหรือโดนกับแนวทางของเขา อยากกลับมาอยู่กับพรรคปชป.เพราะตอนนี้แนวทางของพรรคปชป.ใกล้เคียงกับแนวทางของตนเองแล้ว ผมรับหมด พร้อมที่จะให้เดินกลับมาได้ เพื่อมาทำพรรคปชป.ร่วมกันต่อ แต่หากคิดว่าตรงนั้น โอเคแล้ว ก็เป็นแนวร่วมด้านความคิดได้

ผมว่าอย่าคิดว่า คนเดินออกไปแล้ว พรรคจะเกิดปัญหา พรรคการเมือง ก็มีทั้งคนเข้าและออก แต่ออกไปแล้วไปทำอะไร ออกไปเดินตามแนวทางที่ต้องการ ส่วนประชาธิปัตย์ก็เดินไปในแนวทางของพรรคปชป. กรรมการบริหารพรรคปชป.ชุดใหม่ ก็เดินตามนั้น หากใครยอมรับได้ ก็เดินไปร่วมกัน แต่หากใครไม่ยอมรับ รับไม่ได้ คิดว่าแนวทางนี้ไม่ถูกต้อง การที่จะออกไปขับเคลื่อนแนวทางของตัวเอง ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่จะหนัก หากท่านยังอยู่ แล้วทำลาย หรือฝืนมติพรรค หรือออกมาแสดงความคิดเห็นในทางที่ขัดแย้งหรือสิ่งที่พรรคจะทำหรือจะเดิน ผมว่าแบบนี้ทำร้ายพรรคมากกว่า หรือหากอดทน ก็รอรอบหน้า ประชาธิปัตย์ สี่ปี ก็เลือกตั้งหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ การเมืองก็เหมือนกัน สี่ปี ก็เลือกตั้งกัน หากท่านคิดว่าจะรอ ช่วงสี่ปีนี้ ก็รวบรวมสมาชิก รวบรวมสิ่งที่คิด แล้วสี่ปีข้างหน้าก็มานำเสนอ ก็อาจจะได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ผู้บริหารพรรค หัวหน้าพรรคปชป. เพื่อเข้าไปขับเคลื่อนตามแนวคิดของตัวเองได้

-หลังการประชุมใหญ่พรรค 9 ธ.ค.คิดว่าจะมีเลือดไหลออกจากพรรคปชป.หรือไม่?

คือผมไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากผมได้รับเลือกแล้ว จะมีคนออกหรือไม่มีคนออก อันนี้เราไม่สามารถไปก้าวล่วงเขาได้ แต่อย่างที่ผมบอก หากรักประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมให้โอกาส หากครั้งนี้ยังไม่ถูกใจ หากไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง ท่านก็อดทนแล้วก็อยู่ แล้วอีกหนึ่งปีครึ่ง-สองปีข้างหน้า ก็สามารถนำเสนอตัวเองเข้ามา เป็นผู้ขับเคลื่อนหรือผู้บริหารพรรคได้ แต่ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ มันหยุดไม่ได้ที่จะต้องไป ผมว่าก็เป็นเรื่องปกติ พรรคก็จะยังเดินหน้าอยู่ อย่าไปยึดติดกับตัวบุคคลให้ยึดติดกับพรรค

อย่างสมมุติหากผมไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคปชป. ผมก็จะยังอยู่กับพรรค เพราะถ้าไป คงไปนานแล้ว แต่จริงๆ ก็ยังอยู่กับพรรคปชป. แต่บทบาทก็อาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น อาจเป็นเหมือนคุณอภิสิทธิ์ ก็คือก็เป็นสมาชิกพรรค แต่ก็อยู่ข้างหลัง ผมว่ามันมีความหลากหลาย ขอให้คิดง่ายๆ ว่าให้พรรคเดินไปได้ ส่วนพวกเรา ตัวบุคคล จะอยู่จะไป จะเป็นอะไร จะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง ผมว่าเป็นเรื่องเล็ก

-ก็คือดูแล้วคงไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์เลือดไหลออกหรือมีการออกไปตั้งกลุ่ม ตั้งพรรคใหม่แบบในอดีตเช่นยุคกลุ่ม 10 มกราคม?

แล้วเป็นอย่างไร แต่พรรคก็กลับมาได้ อย่าไปกังวล ขอเพียงแต่ว่า ขอให้รักพรรคปชป.ให้มากๆ รักตัวบุคคล ก็รักได้ แต่ให้มีเหตุผล มีขอบเขต

-หากให้สรุปแบบถอดบทเรียนผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นรองหัวหน้าพรรคด้วย มองว่าพรรคประชาธิปัตย์พลาดตรงไหนอย่างไร?

ผมก็ยังยืนยันว่าเราพลาดเรื่องการสื่อสาร ประชาธิปัตย์เรามีแต่คนดีๆ เก่งๆ อย่าง ไปถามใครก็ได้ ท่านชวน หลีกภัย คุณอภิสิทธิ์ คุณจุรินทร์  ดีไหม ก็ดี ก็ดีๆ ทั้งนั้น แต่ถามว่าพอเป็นภาพใหญ่ มันดูหายๆไป แสดงว่าอะไร แสดงว่าคนเห็นเราน้อยหรือไม่ หรือเปิดโทรศัพท์มา เห็นแต่สีส้ม ไม่เห็นสีฟ้าเลย ตกลงว่าเราแพ้เพราะเรื่องของ ตัวบุคคลเราไม่เก่ง คนไม่ยอมรับคนของเราหรือ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่ ลองดูส.ส.-คนในพรรคแต่ละคนก็มีความรู้ความสามารถ มีความเก่งทั้งนั้น มีประสบการณ์ทั้งนั้น อย่างในระบบบัญชีรายชื่อ คุณเกียรติ สิทธีอมร ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ดร.พิศิษฐ์ ลี้อาธรรม เยอะแยะ คนเก่งของพรรค แต่ภาพรวมมันหายไปไหน ที่เราแพ้เพราะเรื่องการสื่อสาร

คนถึงบอกว่าเขาจับเราไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย บอกว่าเราเป็นพรรคที่มีแต่ความแตกแยก พรรคการเมืองอื่น คนออก-คนเข้าพรรค เหล้าเก่าในขวดใหม่สารพัด แต่ไม่เห็นมีใครวิพากษ์วิจารณ์

แต่พอประชาธิปัตย์คนออกไปบางส่วน แต่ตีข่าวกันเช้า-กลางวัน-เย็น ทั้งที่คนเข้า คนออก คนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติ เราขาดตรงนี้ เปิดโทรศัพท์มา เห็นสีฟ้าเราไหม หรือเห็นแต่สีส้ม เมื่อคนเปิดมาเห็นแต่สีส้ม ไม่เห็นสีฟ้า เด็กๆ จะรู้จักประชาธิปัตย์ไหมว่าประชาธิปัตย์เป็นใคร มีใครลงสมัครส.ส.บ้าง วันนี้ก็จะเป็นบทเรียนสำหรับคนที่เลือกตั้งว่า การที่เราลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยที่เราแทบจะไม่รู้จักผู้สมัครเลย ตอนนี้ก็เห็นปัญหาเกิดแล้ว บางคนเคยมีประวัติไม่ดี บางคนเคยต้องโทษ เคยทำร้ายร่างกายกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นบทเรียนว่า การเลือกตั้งเที่ยวหน้ารอบต่อไป ผู้สมัครส.ส.ในเขตของตัวเอง ต้องดูว่าชื่ออะไร พรรคไหน จบที่ไหน มีประวัติเป็นอย่างไร หากเขาทบทวนสักนิดเขาอาจเห็นก็ได้ว่า ต้องเลือกประชาธิปัตย์แล้ว เพราะพรรคคัดเลือกสรรหาคนที่มีคุณภาพมาลงเลือกตั้งเป็นตัวแทนไม่ใช่เอาใครก็ได้

ผมว่าประชาธิปัตย์แพ้ในเรื่องของการสื่อสารให้อยู่ในใจคน เมื่อก่อนเราชนะเพราะเราใช้การปราศรัย คนมาฟังการปราศรัยประชาธิปัตย์ ก็ติดใจ ก็เลือกประชาธิปัตย์แน่นอน แต่วันนี้การปราศรัยมันทำได้ในวงแคบ การทำในโลกโซเชียลฯ มันทำได้ในวงกว้าง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนการปราศรัยที่ดังของประชาธิปัตย์ในอดีต มาเป็นการปราศรัย มาเป็นการแสดงออกทางวิสัยทัศน์ทางโซเชียลมีเดีย ให้ประชาชนทั่วประเทศ คนรุ่นใหม่ได้เห็น ผมว่ามันก็คงไม่ใช่แบบนี้ มันคงดีกว่านี้

"นี้คือมุมของผม คือผมมองว่าประชาธิปัตย์ดี แต่ว่าเสียงมันไม่ดัง มันสื่อสารไม่ได้"

ปชป.-เป็นพรรคกึ่งๆ เสรีนิยม พรรคยังมีโอกาสกลับมาได้อีกครั้ง

ถามปิดท้ายว่า หากขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป.จะทำการรีแบนด์พรรคหรือไม่ เพราะการที่พรรคอยู่มานาน จนบอกว่าเป็นสถาบันการเมือง มาวันนี้คิดว่าตรงนี้ยังคงเป็นจุดแข็งของพรรคปชป.อยู่หรือไม่ "นราพัฒน์"กล่าวตอบกับเราว่า

"ผมมองว่าจริงๆ เราก็กึ่งๆ เสรีนิยม เพราะเราก็มีความหลากหลาย และเปิดโอกาสให้สมาชิกเราเยอะ เราไม่ได้ถึงกับเป็นแบบอนุรักษ์ แต่กึ่งๆ จะออกไปทางเสรีนิยมด้วยซ้ำไป เพราะพรรคเราโอเพ่นกันมาก เพียงแต่ข้อจำกัดของเราคือเรื่องโครงสร้างกับข้อบังคับพรรค ที่หากเราขยับกันเล็กน้อย ก็อาจทำให้คนมองเราในอีกแบบหนึ่ง

โดยหากเรามีการผสมผสาน มีทั้งคนรุ่นเก่า ที่คอยให้คำปรึกษา มีทั้งคนรุ่นใหม่ ที่ขับเคลื่อน มานำเสนอในการเปลี่ยนแปลง และถ่ายทอดออกไป ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เขาก็จะฟัง เขาก็จะกลับมาสนใจเรามากขึ้น

เพราะอย่างน้อย ถ้าประชาธิปัตย์สามารถครองใจคนรุ่นใหม่ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปกับคนรุ่นใหม่แต่ไม่สุดโต่ง คือไม่ล้มล้าง ไม่ทำลายล้าง ผมว่าตรงนี้จะเป็นเวทีของประชาธิปัตย์ที่จะกลับมา ให้คนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ คนเมือง คนกรุงเทพฯ ที่เป็นแฟนคลับเรามาตลอด เขาจะกลับมา คิดถึงเรา และรู้สึกว่านี้คือทางเลือกครั้งต่อไปที่ดีที่สุดเพราะเราสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่เราไม่สุดโต่ง"

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็ก ปชป.ซัดขาประจำวิจารณ์พรรคหัดคิดบวกอย่าทำตัวเป็นมลพิษไปวันๆ

'ศักดิ์สิทธิ์' เตือนขาประจำวิจารณ์ ปชป. เปิดใจ คิดบวกมองเรื่องสร้างสรรค์ อย่าเป็นตัวมลพิษทำลายสุขภาวะบ้านเมือง

เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง

เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.

จับแล้ว! 2 แม่ลูก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลูบคม 'ปธ.กมธ.ตำรวจ'

พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 (ผบก.สอท.5) พ.ต.อ.อุกฤช ศรีนิติวรวงศ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ