เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... มีคำกล่าวของผู้รู้ในเรื่องคุณค่าของ ศีลเพื่อชีวิต ไว้อย่างหนึ่งว่า
“ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย..
ศีลเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง
บุคคลใดชำระศีลให้บริสุทธิ์แล้ว จะเป็นเหตุให้ละเว้นจากความทุจริต จิตจะร่าเริงแจ่มใส และเป็นท่าหยั่งลงสู่มหาสมุทร คือ พระนิพพาน...”
ในพระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้สาธุชนรู้จักการสมาทานศีลด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสุข เพื่อความมีโภคทรัพย์ และเพื่อความดับเย็น.. อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการพัฒนาชีวิตด้วยการครรลองไปโดยมีศีลเป็นพื้นฐานรองรับ
“ศีล” .. จึงเป็นหลักประกันของมนุษยชาติ ที่มีความหมายว่า สามารถพัฒนาจิตใจให้ประเสริฐได้ ด้วย “การเจริญสติปัญญา”
สมกับคำของมนุษย์ที่มาจาก “มน+อุษย” (ใจ+สูง) ที่แปลรวมว่า ผู้มีใจพัฒนาจนสูงได้
ยิ่งมีศีลสูงขึ้น.. การพัฒนาของจิตก็ยิ่งสูงขึ้นตาม ดังในศีลแปดที่สามารถพัฒนาจิตใจเข้าถึงความเป็น “พรหม” ได้ เพราะมิได้สูงเพียงอย่างเดียว แต่มีความสงบ ตื่นตัวอยู่ด้วยปีติและความสุข.. อันเกิดจากการปฏิบัติเข้าถึงองค์คุณของ ศีลแปด ได้จริง
“ศีลแปด” จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อนักปฏิบัติธรรมที่ปรารถนาเจริญก้าวหน้าในการอบรมจิตภาวนาให้มีสมาธิและปัญญาตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนา
ในช่วงแรก ตั้งแต่ ๑๖-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา อาตมาได้เดินทางมาพำนัก ณ วัด DVMP (Dhamma Vinaya Monastery in Pune /India) ที่ชาวพุทธในอินเดียสร้างถวาย โดยการสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐมหาราษฏระ อินเดีย ในด้านงบประมาณที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ด้วยเป็นวัดที่จัดอยู่ในความเป็น มหาวิหาร เลยทีเดียว ที่เป็นความภาคภูมิใจยิ่งของชาวพุทธในอินเดีย ต่อการร่วมแรงร่วมใจร่วมทุนทรัพย์สร้างวัดดังกล่าวนี้ โดยการถวายที่ดินแปลงสวยงามบนเนินเขาในโครงการจัดสรรที่ดินของ Mr.Jayant Hiralal shah ที่นับถือ ศาสนาฮินดู แต่มีศรัทธาในอาตมาในฐานะ กูรูยีของชาวอินเดีย
การเดินทางไปอินเดียในครั้งนี้ นอกจากแวะไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของการสร้าง วัด DVMP (Dhamma Vinaya Monastery in Pune /India) แล้ว ยังได้มีโอกาสไปสอนการปฏิบัติธรรมชั้นสูงตามหลักวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวพุทธอินเดียและศรัทธาชาวไทยที่ติดตามไปด้วย ซึ่งคณะกรรมการบริหาร DVMP ได้จัดขึ้นเป็นเวลารวม ๕ วัน โดยมี Mr.Ratnakar Gaikwad Former Chief Secretary, Government of Maharashtra เป็นประธานการจัดการอบรมจิตภาวนาในครั้งนี้ ซึ่งชาวพุทธอินเดียและผู้สนใจจากศาสนาเชน ฮินดู ได้เข้ามารับการศึกษาอบรมส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านการอบรมวิปัสสนากรรมฐานจาก สำนักท่านโกเอนก้า (Goenka) แล้วทั้งนั้น บางท่านก็เป็น ครูวิปัสสนาในสำนักท่านโกเอนก้า ซึ่งปัจจุบันท่านโกเอนก้าถึงแก่กรรมไปแล้ว
การเปิดการอบรมในครั้งนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการปูพื้นฐานการศึกษาปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความต้องการของบรรดาผู้มีจิตใจใฝ่เรียนรู้ในธรรมชั้นสูง.. โดยเฉพาะกลุ่มชาวพุทธอินเดียที่มีความศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา โดยเข้ามาจากการชักนำของ ดร.บี อาร์ อัมเบ็ดการ์ ที่กล้าหาญนำชาวฮินดูจำนวนหลายแสนคนเปลี่ยนศาสนามาเป็นชาวพุทธ นับเป็นเวลาถึงปัจจุบันร่วม ๖๗ ปี (๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๙)
ปัจจุบันมีชาวพุทธอินเดียมากกว่า ๑๐ ล้านคน ซึ่งอาจจะเกิน ๒๐ ล้านคนไปแล้วก็ได้ หากสำรวจจำนวนประชากรแต่ละศาสนาในอินเดียอย่างจริงจังอย่างเป็นทางการ..
ซึ่งปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งในหมู่ชาวพุทธจำนวนมาก รวมถึงพระภิกษุอินเดียในปัจจุบัน คือ การศึกษาปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยปัญหาจากเรื่องดังกล่าว มิใช่ความบกพร่องของชาวพุทธในอินเดีย แต่เป็นเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากองค์กรพุทธศาสนาทั่วโลก ที่มีความหลากหลายในการยึดถือปฏิบัติที่ยังไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ชาวพุทธในอินเดียจึงเป็นผลปรากฏจากความหลากหลายของการสั่งสอนของคณะสงฆ์นานาชาติ ที่นำไปสู่การศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่แปลกแยกกันไปจากพุทธศาสนาดั้งเดิม ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องมายาวนาน มากกว่าพันปีหลังพุทธปรินิพพาน อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พุทธศาสนาสูญหายไปจากชมพูทวีปในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา..
การเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนที่เกิดจากความหลากหลาย อันเป็นผลมาจากทิฏฐิของผู้เผยแพร่เป็นสำคัญ.. จึงนำพาให้เกิดความสับสนในหมู่ชน และเป็นเหตุให้นำไปสู่ความแตกแยกทางความรู้ความเข้าใจ จนก่อเกิดเป็นลัทธิ ทิฏฐิ ในพุทธศาสนา ซับซ้อนขึ้นในความเป็นองค์กรพุทธศาสนาที่ไม่มีความเป็นอันหนึ่งเดียวกันโดยพระธรรมวินัย
จึงได้เห็นการดำเนินไปของ องค์กรศาสนาที่อาศัยความอยู่รอดด้วยการพึ่งพากฎหมาย.. อำนาจทางการปกครองของบ้านเมืองฝ่ายอาณาจักรมากกว่า.. การพึ่งพากันภายในศาสนจักรที่มีพระธรรมวินัยเป็นองค์ศาสดาแทน สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จปรินิพพานไปแล้วนั้น
การเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทุกครั้ง จึงได้เห็น ได้ยิน ได้รับฟัง.. การเรียนรู้.. ความเข้าใจ จากการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธในอินเดีย ที่ยังไร้รากฐานของความเป็นพุทธศาสนาตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง
ยิ่งสังคมสมัยใหม่ให้ความสนใจในการปฏิบัติสมาธิ.. อบรมจิตภาวนากันมากขึ้น.. จึง ยิ่งน่าเป็นห่วงในวิปัสสนาคอร์สเหล่านั้น ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Master Vipassana ทั้งหลายที่มีความรู้หลากหลายมาตรฐาน โดยเฉพาะยิ่งชาวพุทธอินเดียให้ความสนใจการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีการจัดอบรมอยู่เป็นระยะๆ ตลอดทั้งปีตามศูนย์วิปัสสนาทั่วประเทศอินเดีย รวมถึงชาวอินเดียจากศาสนาต่างๆ..
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การไม่ได้ปลูกฝังความศรัทธาที่ถูกต้องในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในหมู่ชาวพุทธใหม่ในอินเดีย ซึ่งหมายถึง การไม่ได้ปลูกสร้างความรู้ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแท้จริงของพระพุทธศาสนา และการไม่ได้วางระเบียบแบบแผนการปฏิบัติตามอริยประเพณีในวิถีพุทธ ให้แก่ชาวพุทธหรือผู้สนใจจากศาสนาต่างๆ ในอินเดียหรือจากประเทศต่างๆ... มันจึงกลายเป็นปัญหา เมื่อเกิด ฮินดูสไตล์ พราหมณ์สไตล์ คริสเตียนสไตล์ เชนสไตล์.. ฯลฯ ขึ้นในหมู่ชาวพุทธใหม่ในอินเดียที่มาจากความหลากหลายของความเชื่อ..
จึงไม่แปลกที่จะเกิดการเรียนรู้แบบโลกๆ ขึ้น โดยเข้าใจว่า.. พระพุทธศาสนามีหลักการคำสอนที่สามารถปฏิบัติได้เลย ตามทฤษฎีที่ปรากฏตามพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องคำนึงถึงศรัทธาอย่างมีปัญญา
คล้ายๆ กับในประเทศไทย ที่พยายามอ้างอิงความเห็นที่ตนเชื่อมั่นว่า วิเศษสุดๆ.. เมื่อได้ฟัง ได้อ่าน ได้เรียน.. ทรงจำได้ โดยคาดคิดว่า สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่ต้องมีแบบอย่างจากครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง สืบเนื่องอริยประเพณี เชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนสืบเนื่องมา
การยกพระธรรมคำสั่งสอนมานำเสนอตามแนวทิฏฐิของตน แม้จะอ้าง “พระพุทธพจน์” ที่ถูกต้อง.. ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการนิยมแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง.. ด้วยการโน้มน้าวของครูบาอาจารย์ที่เข้าใจว่า ตนเองรู้เห็นถูกต้อง จนนำไปสู่การละทิ้งคำสั่งสอน ที่พยายามอรรถาธิบายพระธรรมวินัย ที่เกิดจาก ภิกษุผู้เป็นรัตตัญญู.. ผู้บวชมานาน.. ภิกษุผู้เป็นสังฆบิดร.. ภิกษุผู้เป็นสังฆปรินายก.. ผู้เป็นพหูสูต ผู้กล่าวคำของพระตถาคตเจ้า.. ผู้มีผลงานเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งหลาย.. ที่ต้องอ้างอิงภาษาท้องถิ่นในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไม่ผิดเพี้ยนไปจาก คำและความหมาย อันเป็นระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่า “อริยประเพณี” ที่ถือสืบเนื่องกันมา
การมาอินเดียในครั้งนี้.. จึงเป็นการมาปฏิรูปการศึกษาปฏิบัติธรรมครั้งสำคัญ ให้แก่ชาวพุทธในอินเดีย.. ด้วยการชักนำกลับมาสู่การศึกษาปฏิบัติขั้นพื้นฐานให้ถูกต้องตามหลัก สุจริตสามในพระพุทธศาสนา ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาชีวิตของชาวพุทธ .. ชาวโลกที่แท้จริง...
การวางรากฐานความรู้ความเข้าใจ.. ในพระธรรมวินัย เพื่อสร้างความศรัทธาที่ถูกต้องในตถาคตโพธิสัทธา.. จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ก่อนลำดับเข้าสู่การทำทานแบบชาวพุทธ.. การรักษาศีล ๕-๘ ตามแบบชาวพุทธ และการภาวนาด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามแบบชาวพุทธที่ควรปฏิบัติ..
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .