พิพัฒน์ -รมว.แรงงาน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของขวัญปีใหม่ เตรียมถอยฉาก แต่ยังแบ็คอัพ"ภท."

"กระทรวงแรงงาน"ยุคปัจจุบันที่มี "พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรมว.แรงงาน"พบว่าแค่เริ่มงานได้ไม่นาน ก็เจอเรื่องร้อนๆ  กับการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล หลังเกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ที่ยังคงยืดเยื้ออยู่จนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เรื่องสำคัญที่หลายคนไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเท่านั้น กำลังรอติดตาม ก็คือ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ที่เคยมีการประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการประกาศเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ รวมถึง บางนโยบายของรมว.แรงงานที่น่าสนใจเช่น นโยบายที่ต้องการส่งออกแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้ได้ปีละหนึ่งแสนคน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปขยายความว่าจะมีแนวทางอย่างไร 

"พิพัฒน์ รัชกิจประการ-รมว.แรงงาน"กล่าวให้สัมภาษณ์กับ”รายการอิสรภาพทางความคิด ไทยโพสต์”ถึงเรื่องการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลในช่วงก่อนหน้านี้ว่า จนถึงตอนนี้ มีการอพยพแรงงานไทย กลับมาประมาณแปดพันกว่าคน ยังเหลือสองหมื่นหนึ่งพันคน ส่วนแรงงานไทยที่ไม่ประสงค์เดินทางกลับ ทาง สถานทูตไทย ที่กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล แม้มีการปิดศูนย์พักพิงในอิสราเอลไปแล้ว แต่หากเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่ที่อิสราเอลและมีความประสงค์จะเดินทางกลับ ก็สามารถเดินทางกลับได้โดยแจ้งความประสงค์ไปที่สถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ ฯ

การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะประกาศช่วงสิ้นปี เป็นของขวัญปีใหม่แน่นอน..ถ้าประกาศในอัตราเดียว จะมีการเหลื่อมล้ำ จากค่าแรงที่ได้ 328 บาท แล้วจะขึ้นไป 400 บาท คือขึ้น 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ได้ 350 กว่าบาท เท่ากับขึ้นแค่ 11-12 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีการเหลื่อมล้ำกัน แล้วมันจะเป็นความยุติธรรมกับจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงหรือไม่ เราจึงต้องดูอัตราค่าครองชีพมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินด้วยว่า หากจังหวัดใด ค่าครองชีพต่ำ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรขึ้นน้อยกว่าพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง

จากนั้นสถานทูต ฯ จะอำนวยความสะดวกให้ในเรื่องการเดินทางในการพากลับมาประเทศไทย เพราะตอนนี้ก็ยังมีสายการบินพาณิชย์ที่บินจากอิสราเอลมายังประเทศไทย วันละ 2-3 ไฟท์ทุกวัน โดยตอนนี้ การเช่าเหมาลำของรัฐบาลเพื่อพาคนไทยกลับมาก็ได้ยุติไปแล้วเมื่อ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับแรงงานไทยสองหมื่นกว่าคนที่ไม่ประสงค์เดินทางกลับ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของเพื่อนๆ ที่ไปทำงาน โดยส่วนใหญ่ไปทำงานอยู่ในพื้นที่ลงไปทางใต้ของจุดที่มีการสู้รบกัน เป็นพื้นที่ทะเลทราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์ม ไม่มีประชากรชาวอิสราเอลอยู่ ก็มีแต่เจ้าของฟาร์มอยู่ ระยะทางถือว่าไกล ทำให้พวกจรวด อาวุธอาร์พีจี อะไรต่างๆ พวกเครื่องยินระเบิดของฮามาส ไม่สามารถยิงไปถึงตรงนั้น ถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และแรงงานอีกส่วนหนึ่ง ก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ก็มีการสู้รบบ้างประปราย แต่โดยหลักแล้ว เท่าที่มีการพูดคุยกับเพื่อนๆที่ไปทำงานที่อิสราเอล เขาบอกว่าการที่มีการยิงลูกระเบิดหรืออาวุธอะไรต่างๆ เข้าไป โดยปกติมีเข้ามาเป็นปกติอยู่แล้วทุกวัน

ส่วนการยิงเข้ามาทางอากาศ ระบบการป้องกันทางอากาศของอิสราเอลค่อนข้างดี แต่ที่เกิดการสูญเสียมากเพราะมีการรุกเข้ามาทางภาคพื้นดินจนเกิดการสูญเสีย  แต่เมื่ออิสราเอลมีการปิดกลั้นการเข้ามาทางภาคพื้นดินทั้งหมด ทำให้แรงงานไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติในความรู้สึกของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล

สำหรับแรงงานไทยที่กลับมาแล้ว สามารถกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้ เมื่อทางการอิสราเอลประกาศว่าสถานการณ์ขณะนี้สงบแล้ว พร้อมที่รับกลับ ซึ่งสัญญาระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล มีข้อตกลงกันว่าเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยดี เราจะขอส่งแรงงานไทยกลับไป

โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มที่เดินทางกลับมาโดยที่ยังทำงานไม่ครบตามสัญญา    กลุ่มที่สอง เป็นกรณีพิเศษ คือเมื่อครบสัญญา 5 ปี 3 เดือนแล้ว ยังสามารถต่ออายุให้ได้อีกหนึ่งปี ซึ่งในอดีต พอครบ 5 ปี 3 เดือน จะต้องกลับประเทศไทย แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ จึงมีการประกาศให้ต่ออายุได้อีกหนึ่งปี ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าจะมีเพื่อนๆ แรงงานไทย ที่ตอนนี้กลับมาแล้ว มีความต้องการที่จะเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้ง มีเยอะพอสมควร และมีอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 960 คน ที่ได้ลาพักร้อนกลับมาไทย ก่อนเกิดเหตุการณ์การสู้รบที่เริ่มขึ้นเมื่อ 7 ตุลาคม ซึ่งกลุ่มนี้ เมื่อสงครามสงบ เขาได้สิทธิทันที ในการที่จะเดินทางกลับไปอิสราเอล เพราะมีวีซ่าเรียบร้อยแล้ว

ส่วนข่าวลือที่ว่าตอนนี้มีแรงงานเวียดนาม แรงงานเมียนมา ไปทำงานแทนแรงงานไทยยืนยันว่าไม่จริง เพราะตอนนี้ผมเชื่อว่านายจ้างอิสราเอล ยังต้องการแรงงานของภาคการเกษตรที่มาจากประเทศไทย เพราะมีความขยัน มีทักษะเช่นเรื่องการปรับเปลี่ยน-การจัดเก็บ เช่นเจ้าของฟาร์มที่อิสราเอลอาจจะบอกว่า ให้จัดเก็บแบบนี้ แต่เกษตรกรของไทยที่ไปทำงานที่ฟาร์มที่อิสราเอล เขาจะบอกว่า หากต้องการจัดเก็บแบบที่บอกสามารถทำให้ได้ แต่หากจัดเก็บแบบที่ เขาคิดขึ้นมาใหม่ จะได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นแรงจูงใจให้นายจ้างอิสราเอลต้องการแรงงานภาคการเกษตรคนไทย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่กระเทือนกับสัญญาจ้างแรงงานไทย เพราะกระทรวงแรงงานกับกระทรวงแรงงานอิสราเอล มีการประสานงานกันตลอด เพราะเป็นการส่งออกแรงงานโดยรัฐ ไม่ใช่ส่งออกโดยบริษัทจัดหางาน

"รมว.แรงงาน"กล่าวถึงเรื่องการเยียวยาแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลว่า เท่าที่ทราบจากการประสานงานกับสำนักงบประมาณ ทางสำนักงบประมาณ ผ่านเรื่องเรียบร้อยแล้ว จะมีการส่งเรื่องไปให้นายกรัฐมนตรีต่อไป โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีดูเรียบร้อยและมีการแจ้งกลับมาที่กระทรวงแรงงาน เราจะทำเรื่องเข้าที่ประชุมครม. ก็จะแบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นเงินเยียวยาห้าหมื่นบาท สำหรับทุกคนที่เดินทางกลับมาสู่ประเทศไทย ส่วนที่สองคือบุคคลที่ได้เดินทางกลับมาในช่วงการพักร้อน เราก็ให้สิทธิ์ในการเยียวยาเขาห้าหมื่นบาท ที่ก็คือกลุ่ม 960 คนที่กำลังรอจะเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอล แต่ในส่วนของอีกสี่ร้อยกว่าคนที่ได้ใบอนุญาตให้ไปทำงานที่อิสราเอลแต่ยังไม่ได้เดินทางไป จะไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการดูแล เพราะมีการเสียค่าตรวจโรค มีการทำพาสปอร์ตที่วงเงินไม่เกินห้าพันบาท ในส่วนนี้จะมีการมาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ในส่วนที่มีการไปซื้อตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว สามารถไปขอเงินคืนกับสายการบินได้ และในส่วนที่มีการเตรียมเงินไว้สี่หมื่นบาทเพื่อจะไปชำระที่กระทรวงแรงงานที่อิสราเอล ตรงนี้เขายังไม่ได้ชำระเพราะยังไม่ได้เดินทางไป ทำให้วงเงินเสียหายจะอยู่ที่ประมาณห้าพันบาท ซึ่งตรงนี้ก็จะมีการมาหารือกันระหว่างคนไทยที่เตรียมจะเดินทางไปทำงานประมาณสี่ร้อยคน กับ กระทรวงแรงงาน ซึ่งในส่วนของวงเงินที่ไม่เกินห้าพันบาท ผมคิดว่า กระทรวงแรงงานก็น่าจะตัดสินใจเองได้ สำหรับแรงงานไทยที่กลับมาแล้วแปดพันกว่าคน คิดว่าส่วนใหญ่ก็ต้องการจะกลับไปทำงานกันเกือบหมด

อย่าให้ผมตายคาเวทีการเมืองเลย ก็คือยังช่วยการเมือง จะพยายามช่วยพรรค อะไรที่ผมรับใช้ประเทศได้ ผมก็พร้อมที่จะมาช่วยวงนอก ซึ่งวงนอก คิดว่าทำงานได้ง่ายกว่าอยู่วงใน เราสามารถคิดอะไร ก็ได้ ทำอะไรก็ได้แล้วเสนอต่อผู้บริหาร..ผมเคยบอกคุณเนวิน ชิดชอบกับหัวหน้าพรรค ไว้แล้วว่าผมจะช่วยพรรคในรอบนี้อีกรอบเดียว รอบหน้าการเลือกตั้งผมยังช่วยเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี

ส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศ

ตั้งเป้า 1 แสนคนต่อปี

บุกเบิกตลาดใหม่-เจาะออสเตรเลีย

"พิพัฒน์ -รมว.แรงงาน"ยังกล่าวถึงนโยบายที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีการส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ อย่างน้อยหนึ่งแสนคนต่อปี ว่าในปี 2566 น่าจะมีการส่งแรงงานไทยไปหลายประเทศ จนถึงตอนนี้ก็ประมาณเจ็ดหมื่นคน ส่วนเป้าหมายในปี 2567 พยายามที่จะประสานและส่งแรงงานไทยออกไปให้ได้หนึ่งแสนคนให้ได้ โดยเฉพาะหลังจากนี้ ที่หากสถานการณ์ที่อิสราเอลเบาลง ตัวผมเอง ก็อาจจะเดินทางไปในหลายประเทศ เช่นยกตัวอย่าง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ที่รับแรงงานไทยค่อนข้างเยอะ

และประเทศที่เรายังไม่มีเอ็มโอยูเลยก็คือ ออสเตรเลีย ซึ่งก็คาดว่าจะเดินทางไปในช่วงวันที่ 8 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยมีการประสานกับเจ้าของฟาร์มที่ทำสวนมะม่วง ที่เมืองดาร์วิน   2,500 ไร่

...คือตอนนี้เรื่องของกฎหมายออสเตรเลียในเรื่องการรับแรงงานไทย ยังไม่เปิดช่องให้มีการรับแรงงานไทย โดยกระทรวงแรงงาน ก็พยายามที่จะประสานผ่านสถานทูต เพื่อให้ออสเตรเลียให้กระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในเอ็มโอยู แต่ว่าสำหรับส่วนตัวของผมเอง ผมได้มีการประสานกับเจ้าของสวนมะม่วง ที่มีอยู่ 2,500 ไร่ เขาแจ้งมาเลยว่า วันที่ผมเดินทางไป สามารถเอาแรงงานไทยไปทำงานได้เลย 15 คน เป็นโครงการนำร่อง แล้วเขาจะขอวีซ่าจากประเทศออสเตรเลียส่งมาให้เรา แต่เราต้องส่งชื่อไปก่อนที่เป็นกรณีพิเศษว่าเขาต้องการแรงงานไทย เพราะสวนมะม่วง คนไทยมีความรู้ ความคุ้นเคยกับมะม่วง นี้ก็คือ ประเทศที่เราคิดว่าจะเข้าไปบุกเบิกใหม่ก็คือ ออสเตรเลีย

สำหรับที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย หากเป็นแรงงานระดับล่าง คนไทยไม่ไปทำงานแล้ว เราไม่สามารถส่งไปทำงานที่นั่นได้เพราะว่าเป็นแรงงานของเอเซียใต้เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ซึ่งเงินเดือน ก็เท่าๆกับประเทศไทย ก็ทำให้แรงงานไทยไม่ไปทำ แต่เราจะส่งแรงงานที่มีทักษะสูงเช่น ช่างก่อสร้าง โดยเฉพาะช่างเชื่อม เพราะตอนนี้ ซาอุดิอาระเบีย กำลังจะสร้างเมืองใหม่ ที่ขนานไปกับทะเลแดง มีความยาวประมาณสองร้อยกิโลเมตร ที่โครงการจะเริ่มในปี 2567 ที่ตัวผมเองก็คาดว่า ในเดือนธันวาคม ผมอาจจะเดินทางไปที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อจะไปติดตามดูเรื่องดังกล่าว

ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ที่มีมากเป็นอันดับต้นๆ ก็มี ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยในส่วนของอิสราเอล ที่มีแรงงานไทยไปทำงานร่วมสามหมื่นคน ก็ถือว่ามากเป็นอันดับต้นๆ แต่เมื่อเทียบกับเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ยังสู้ไม่ได้ สำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในบ้านเรา คิดว่าน่าจะประมาณห้าล้านคนได้ ซึ่งประมาณการตรงนี้ วันนี้ถือว่าเราใช้แรงงานต่างด้าวตีว่าที่ลงทะเบียนถูกต้องประมาณสองล้านเจ็ดแสนคน และกำลังจะขึ้นทะเบียนใหม่อีกประมาณหนึ่งล้านคน รวมแล้วก็ประมาณสามล้านเจ็ดแสนคน

 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องยังอาจจะมีประมาณหนึ่งล้านถึงสองล้านคน ตีแล้วเท่ากับประมาณห้าล้านคน  รวมทั้งหมดถ้าคิดจากค่าจ้างแรงงาน ตีว่าวันละสามร้อยบาท เท่ากับเดือนละเก้าพันบาท เท่ากับว่า ที่ลงทะเบียนถูกต้องประมาณสองล้านเจ็ดแสนคน และกำลังจะขึ้นทะเบียนใหม่อีกประมาณหนึ่งล้านคน รวมแล้วก็ประมาณสามล้านเจ็ดแสนคน ตีไปว่า แรงงานต่างด้าว ก็จะมีรายได้จากเดือนละเก้าพันบาท ก็อยู่ที่ประมาณปีละหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทสำหรับคนสามล้านเจ็ดแสนคน เท่ากับมีเงินออกไปจากประเทศไทยปีละประมาณสี่แสนถึงห้าแสนล้านบาท อันนี้คือต่ำสุด เพราะปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเขาได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำมากพอสมควร โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมพวกอาหารทะเล เขามักจะบอกว่าอยากจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย เพราะแรงงานต่างด้าวขยันและฝึกทักษะได้เร็วกว่า นี้คือปัญหาเพราะปัจจุบันโรงงานต่างๆ เหล่านี้เริ่มหันมามองว่า ไม่อยากจ้างแรงงานไทย อยากจ้างแรงงานเพื่อนบ้านหรือแรงงานต่างด้าว เพราะค่าแรงถูกกว่า และมีการอัพสกิลเร็วกว่า นี้คือปัญหาของแรงงานไทย

เพราะฉะนั้น กระทรวงแรงงานในยุคนี้ เราต้อง ทำงานเชิงรุกเยอะมาก เราต้องเปลี่ยนความคิดของคนไทย เช่นต้องหารายได้ที่ดีกว่าในเมืองไทยประมาณ2-3 เท่า แล้วส่งออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะคนไทยมีความสามารถ และเมื่อมีแรงจูงใจของรายได้ เขาจะมีความขยันและฮึดขึ้นมาเพื่อความมั่นคงของครอบครัว อย่างอิสราเอลที่ส่งไป ยังไง ก็ไม่กลับ เพราะเขามีฐานค่าแรงอยู่ที่เดือนละห้าหมื่นบาท อย่างช่วงนี้ขึ้นไปเจ็ดหมื่นบาท บางคนได้หนึ่งแสนบาท

ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

ได้-ไม่ได้ ของขวัญปีใหม่?

-ค่าแรงขั้นต่ำ ที่เคยประกาศว่าปีหน้า  400 บาทต่อวันถึงแน่ แต่อาจจะไม่ได้ทุกพื้นที่?

ก็ยังยืนยัน เพราะค่าแรงของเรา เราต้องมาดูว่า ค่าแรงขั้นต่ำ ที่ได้ต่ำสุดคือ 328 บาท สูงสุดคือ 354 บาท

 โดยที่ได้ 328 บาท ก็มี ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อุดรธานี น่าน ส่วน 354 บาท มีแค่สามจังหวัดคือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง อย่างกรุงเทพมหานครเรา อยู่ที่ 353 บาท

เพราะฉะนั้น การที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ หากสมมุติผมปรับในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน อย่างไรเสีย ช่องว่างก็ห่างกันอยู่ วันที่ 17 พ.ย. กระทรวงแรงงาน ได้ข้อมูลจาก 77 จังหวัด ในแต่ละจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำเท่าใดก็ตาม ผู้ประกอบการรับได้ที่เท่าใด -คนทำงานขอขึ้นเท่าไหร่ และดูเรื่องอัตราการเจริญเติบโตของแต่ละจังหวัดที่ก็ไม่เท่ากันอีก รวมถึงเรื่องเงินเฟ้อ องค์ประกอบเหล่านี้ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ก็จะอิงคณะกรรมการแรงงานระดับโลก ที่จะพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ-การเจริญเติบโตของแต่ละพื้นที่ มีการเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบเหล่านี้ จะเป็นองค์ประกอบในการคำนวณ

...หากถามว่าโอกาสที่จะปรับขึ้นไปที่ 400 บาทต่อวันมีหรือไม่ ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะไปใกล้เคียงที่ 400 บาทได้ โดยเฉพาะเมืองที่มีเศรษฐกิจดีๆ เช่นภูเก็ต ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ค่าครองชีพสูง เราก็ควรให้สิทธิ์ในการขึ้นค่าแรงที่มากกว่าที่อื่น -กรุงเทพมหานครที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวที่กรุงเทพ หรือที่ชลบุรีซึ่งได้ชื่อว่า ค่าครองชีพสูง แต่เศรษฐกิจเรื่องการท่องเที่ยวก็ดีขึ้น รวมถึงที่เชียงใหม่ ที่ตอนนี้รัฐบาลพยายามจะผลักดันสี่จังหวัดนี้ให้เป็นจังหวัดนำร่องในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง อย่างกระทรวงมหาดไทย ก็มีแนวนโยบายจะทำพื้นที่โซนนิ่งในสี่จังหวัดดังกล่าวให้เปิดถึงตีสี่ และเมื่อเปิดถึงตีสี่เศรษฐกิจในจังหวัดก็ต้องกระเตื้องขึ้นแน่นอน ทางกระทรวงแรงงาน ก็อาจดูว่าในสี่จังหวัดนำร่องดังกล่าว ในกรณีค่าแรงขั้นต่ำ ถึงไม่ได้สี่ร้อยบาทต่อวันแต่ก็น่าจะใกล้เคียงที่สุด ก็คือจะใช้สี่จังหวัดดังกล่าวนำร่อง

"การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะประกาศช่วงสิ้นปี เป็นของขวัญปีใหม่แน่นอน"รมว.แรงงานระบุ

-ในปีพ.ศ. 2570 โอกาสที่ค่าแรงขั้นต่ำจะไปถึง 600 บาทน่าจะยาก?

อยู่ที่เศรษฐกิจประเทศไทยและเศรษฐกิจโลก ถ้าวันนั้นเศรษฐกิจไทยและภาพรวมทั้งโลก มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และที่สำคัญ วันนี้ก็ต้องยอมรับ การที่จะอัดฉีดเศรษฐกิจให้ได้ดีที่สุดคือการท่องเที่ยว โดยการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มากที่สุดและให้มีการเชิญชวน ให้เขาเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยให้มากที่สุด ที่จะเป็นการเติมเต็มเศรษฐกิจ

เพราะปีนี้ มั่นใจว่าน่าจะถึง 27-28 ล้านคน ส่วนปีหน้า เชื่อว่านายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าไว้ที่ 40 ล้านคน ซึ่งสมัยผมเข้ามาเป็นรมว.ท่องเที่ยวฯช่วงแรกปี 2562 ตอนนั้นพีกสุด 40 ล้านคน แต่ปีถัดไป เกิดโควิดเข้ามา ปี 2563 ยังเข้ามา 6 ล้านคนกว่าคน แต่พอปี 2564 เหลือ4 แสนคน แล้วก็มาเริ่มต้นสตาร์ทใหม่ในปี 2565 หลังจากเริ่มภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และตอนนี้ปี 2566 ก็เปิดการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ เราก็น่าจะมีสัก 27-28 ล้านคน ปีหน้าก็มั่นใจว่า 40 ล้านคนแบบปี 2562 น่าจะได้เห็น

และไปถึงปี 2570 ถ้าไม่สะดุดจากปัญหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่มีเรื่องของสงครามเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ผมมั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย ซึ่งนายกฯมีความคิดเรื่องเศรษฐกิจ นายกฯมองออกว่าเศรษฐกิจที่บูธประเทศไทยเร็วที่สุดคือเรื่องอะไร ซึ่งเรื่องท่องเที่ยวคือสิ่งที่ทำได้เร็วที่สุด อย่างสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เราเคยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60-70 ล้านคน และจะทำให้เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ ถึงหกล้านล้านบาท ซึ่งเทียบได้เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าถึงเวลานั้น ผมเชื่อว่าถึงเวลานั้น ในปี 2571 เรื่อง 600 บาทไม่ใช่เรื่องแปลก

หากได้เป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้ ว่าเรามีรายได้ในปี พ.ศ. 2570 หกล้านล้านบาท ที่เป็นยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผมบอกได้เลยว่าปี 2571 ค่าแรงหกร้อยบาท ได้เห็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ตามเป้านี้ค่าแรงขั้นต่ำ  600 บาทสำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่

"พิพัฒน์-รมว.แรงงาน"ย้ำชัดๆ อีกครั้งว่าเรื่องการพิจารณาค่างแรงขั้นต่ำ ที่หลายคนรอคอยนั้น การที่จะมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทางนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ผมดูแลกระทรวงแรงงาน ผมจะพยายามที่สุด ในการที่จะพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด ว่าจะได้ขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ โดยการกำหนดค่าแรงของแต่ละจังหวัด จะเป็นเหตุเป็นผลของอัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตของแต่ละจังหวัดมีกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะนำมาเป็นองค์ประกอบ

"สมมุติเราไปประกาศว่าปีหน้า 2567 ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั้งประเทศ ผมเชื่อว่า ก็จะมีคนหัวเราะและอาจจะมีคนที่ไม่หัวเราะ แต่ร้องไห้ เพราะถ้าประกาศในอัตราเดียว ก็จะมีการเหลื่อมล้ำ จากค่าแรงที่ได้ 328 บาท แล้วจะขึ้นไป 400 บาท คือขึ้น 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ได้ 350 กว่าบาท เท่ากับขึ้นแค่ 11-12 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีการเหลื่อมล้ำกันเยอะมาก แล้วมันจะเป็นความยุติธรรมกับจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงหรือไม่

เราจึงต้องดูอัตราค่าครองชีพมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินด้วยว่า หากจังหวัดนี้ ค่าครองชีพต่ำ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรขึ้นน้อยกว่าพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง ก็ขอบอกเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงาน และนายจ้าง ให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจ ตัวผมเองจะกำกับและบริหารเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ให้ได้ข้อยุติที่ดีที่สุด ให้ความยุติธรรมได้มากที่สุด และพยายามจะอิงตามนโยบายของรัฐบาลให้ได้มากที่สุด" 

เตรียมถอยฉาก การเมือง

แต่ยังเป็นเพลย์เมกเกอร์ ภท.

-เหตุใดตอนตั้งรัฐบาล ภูมิใจไทยไม่ขอดูแลกระทรวงท่องเที่ยว?

ขอแล้วครับ แต่เขาไม่ให้(หัวเราะ)ซึ่งตัวผมเอง ก็อยากไปสานต่อนโยบายเดิม แต่ว่าก็เป็นเงื่อนไขของผู้นำรัฐบาล ก็ขอบคุณนายกฯที่ว่าสิ่งต่าง ๆที่ทำค้างไว้เมื่อรัฐบาลชุดที่แล้ว นายกฯ ก็เอามาใช้หมด

-แต่ก็มาถูกที่ถูกเวลา ตอนนี้อยู่ก.แรงงาน ก็เกิดเหตุที่อิสราเอล?

บังเอิญอย่างนี้ครับ ไปท่องเที่ยว เจอโควิด มากระทรวงแรงงานเจอฮามาส-อิสราเอล

-รอบหน้าจะไปอยู่กระทรวงไหนอีก?

ไม่เอาแล้วครับ ผมยืนยันตรงนี้ อันนี้พูดเรื่องจริง ผมจะอยู่ช่วยพรรคภูมิใจไทยเหมือนเดิม แต่การที่จะมารับอะไรในรัฐบาล  เพราะอายุก็ 68 ปีแล้ว  คือยังช่วยการเมือง จะพยายามช่วยพรรค อะไรที่ผมรับใช้ประเทศได้ ผมก็พร้อมที่จะมาช่วยวงนอก ซึ่งวงนอก ผมคิดว่าทำงานได้ง่ายกว่าอยู่วงใน เราสามารถคิดอะไร ก็ได้ ทำอะไรก็ได้แล้วเสนอต่อผู้บริหาร

คือตัวผมตอนนี้อายุ 68 ปี หากรัฐบาลอยู่จนถึงปี 2570 ผมก็จะอายุ 72 ปี ก็ควรเอาเวลาที่เหลือไปท่องเที่ยวบ้าง และผมคิดว่าการที่เราอยู่วงนอก เรามีโอกาสคิดได้หลายมิติกว่าการที่เรามาเป็นเจ้ากระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งผมเคยบอกคุณเนวิน ชิดชอบกับหัวหน้าพรรค ไว้แล้วว่าผมจะช่วยพรรคในรอบนี้อีกรอบเดียว รอบหน้าการเลือกตั้งผมยังช่วยเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี

ส่วนตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ก็คงขอถอยออกหมด ก็ให้เด็กๆขึ้นมาบ้าง ไม่ได้หนี ผมก็อาจส่งทายาทผมเข้าไปทดแทน แต่ผมก็ยังอยู่กับพรรคต่อไป ยืนยัน อยู่แน่นอน เพราะยังไง ทางพรรค ก็ยังให้ผมดูแลพื้นที่เลือกตั้งใน 14 จังหวัดเหมือนเดิม ก็ยังเป็นแม่ทัพภาคใต้เหมือนเดิม พร้อมกับภรรยา ซึ่งภรรยาผมเขาเก่งกว่า ใจถึงกว่า

-พื้นที่ภาคใต้ในการเลือกตั้งรอบหน้า มองว่าภูมิรัฐศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนหรือไม่?

ผมว่าภูมิศาสตร์คงไม่เปลี่ยน แต่รัฐศาสตร์คงเปลี่ยน เพราะอย่าลืมว่าในสมัยปัจจุบันนี้เรามีการต่อสู้กันอย่างจริงจัง ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ แกนหลักในภาคใต้ พรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย แต่พอไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีพรรคประชาชาติ เพิ่มมาอีกหนึ่งพรรค ซึ่งการต่อสู้ที่ผ่านมารุนแรงมาก ส่วนก้าวไกล เกิดจังหวัดเดียวคือภูเก็ต แต่ผมว่าจังหวัดภูเก็ต วันนี้เหมือนกรุงเทพ ไปตามกระแส

การเมืองภาคใต้อาจไม่เหมือนภูมิภาคอื่น คือเราต้องดูแลกัน ตั้งแต่เด็กเล็ก เติบโตเป็นเยาวชน จนเป็นหนุ่มจนถึงแก่ เราก็รู้จักกันดีในหมู่นักการเมือง แต่พอการเลือกตั้งครั้งหน้า มันมีปัจจัยว่า พลเอกประยุทธ์ถอยออกมานอกเวทีแล้ว ส่วนลุงป้อม ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะยังคงเป็นหัวหน้าหรือไม่เป็นหัวหน้า เพราะฉะนั้น รวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐ ก็ต้องดูว่าใครจะมาเป็นผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งผมเอง ก็เชื่อว่าคนใต้ทุกคนมีในจิตใจคือคำว่าพรรคประชาธิปัตย์ แต่วันนี้เราพยายามเติมคำว่า ภูมิใจไทย ไปในหัวใจคนภาคใต้ ว่าพูดแล้วทำ สำหรับพรรคภูมิใจไทย ครั้งแรกปี 2562 เราได้แปดที่นั่ง ปีนี้เราได้เขตมาอีกสี่คน รวมเป็น 12 ที่นั่ง แต่ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนจากความเข้มแข็งที่สู้กันห้า-หกพรรค เราเพิ่มขึ้นมาห้าสิบเปอร์เซ็นต์ จาก 8 มาเป็น 12 แต่ถ้าฐานเราใหญ่ขึ้นจากที่เรามี 12 คน แล้วบางพรรคแข็งแรงขึ้น บางพรรคอ่อนแอลง แต่ผมมั่นใจภูมิใจไทยเรายังยืนอยู่ได้ อย่างน้อยที่สุดเรายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีพรรคที่ร่วมรัฐบาลหลายพรรค มีประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่ในอนาคตผมไม่แน่ใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม หลังจากที่มีหัวหน้าพรรคที่แท้จริงเข้ามา

เมื่อเหตุการณ์ในอีกสามถึงสี่ปีข้างหน้า เกิดเหตุพลิกผันในตรงนั้น ผมยังมั่นใจพรรคภูมิใจไทยยังเดินหน้าต่อไป ผมมั่นใจว่าวันนี้คนภาคใต้เริ่มมองและเริ่มรู้จักภูมิใจไทย จากที่ตอนก่อนเลือกตั้งปี 2562เรามีคนเดียวใน 14 จังหวัดภาคใต้ แต่เลือกตั้งปี 2562 พรรคได้ส.ส.มาแปดคน แต่เลือกตั้งรอบล่าสุดเราได้เพิ่มมาเป็น 12 ถ้าผมคิดง่ายๆ เพิ่มสมัยละห้าสิบเปอร์เซ็นต์

-คิดในใจว่าต้องการให้ภูมิใจไทยเข้ามาแทนที่ประชาธิปัตย์ในภาคใต้?

ไม่ครับ แทนทุกพรรคครับ ก็อาจจะไปดึงพรรคละคนสองคน ผมก็ตั้งอัตราส่วนตามการเจริญเติบโต ตอนปี 2562 ภูมิใจไทยได้ส.ส.แปดคน ปี 2566 ได้มา 12 คน เท่ากับเพิ่มมาห้าสิบเปอร์เซ็นต์

หากมีการเลือกตั้งปี 2570 ผมขอห้าสิบเปอร์เซ็นต์อีก ก็ควรจะได้ประมาณ 18 คน แต่ถ้าผลงานในรัฐบาล ภูมิใจไทยมีผลงานชัดเจน ตอบสนองกับคนภาคใต้ ผมก็เชื่อว่า 20 ที่นั่ง เราควรจะไปครองพื้นที่ได้ จาก 60 ที่นั่ง ที่ก็คิดเป็นสามสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ถือว่าเยอะ แต่หากมีบางพรรคอ่อนแอ จนกระทั่งล้มหายตายจากไป เราอาจจะได้ครองพื้นที่มากขึ้นก็ได้

ที่ก็ตั้งใจว่าอยากให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม เพราะรัฐบาลแต่ละรัฐบาลควรทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ ควรได้มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่าสามปีขึ้นไป แต่ถ้าทำงานปีเดียวหรือสองปี สิ่งที่คุณประกาศไว้จะไม่ได้อะไรเลย อย่างพรบ.งบประมาณปี 2567 กว่าจะได้ใช้ก็เมษายน 2567 ซึ่งการขับเคลื่อนงบประมาณสองปีโดยควบทำภายในปีเดียว มันก็ไม่ง่าย การพัฒนาประเทศจึงมีความต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามปี ถึงจะเห็นผล

.....................................................................................................................................

เลือกบอร์ดประกันสังคม 24 ธ.ค.

ทิศทางเงินกองทุนฯ 2.3 ล้านล้านบาท

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 ทั่วประเทศ จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง “คณะกรรมการประกันสังคม” หรือบอร์ดประกันสังคม เป็นครั้งแรก นับแต่มีการประกาศใช้พรบ.ประกันสังคมฯ ซึ่งจะเลือกกันวันที่ 24 ธ.ค.นี้ โดยจะเลือกบอร์ดประกันสังคม จากผู้แทนฝั่งนายจ้าง 7 คน และฝั่งผู้ประกันตนอีก 7 คน โดยบอร์ดประกันสังคมมีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายอย่างโดยเฉพาะการดูแลเรื่องสิทธิต่างๆ ของผู้ประกันตนทั่วประเทศที่มีหลายล้านคน ผ่านกลไกสำคัญคือ"กองทุนประกันสังคม"ที่มีอยู่ร่วม 2.3 ล้านล้านบาท

 "พิพัฒน์-รมว.แรงงาน"กล่าวถึงเรื่องการเลือกบอร์ดประกันสังคมฯว่า ที่ผ่านมานับแต่มีกระทรวงแรงงาน การเลือกบอร์ดประกันสังคมฯ ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่จะเลือกกันในวันที่ 24 ธันวาคม โดยมีการปิดรับสมัครไปเมื่อ 31 ตุลาคม ผมก็ขอขยายเวลาออกไปถึง 10 พฤศจิกายน เพื่อให้มีการขยายระยะเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม และขยายเวลารับสมัครเลือกตั้งฯ

...การหย่อนบัตร เราคงจะใช้คูหาจังหวัด เหมือนกับการเลือกตั้งทุกระดับ ต้องไปหย่อนบัตรที่คูหา เพราะวันนี้เรายังไม่มั่นใจในการลงทะเบียนและหย่อนบัตรทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะมีการทุจริตหรือไม่ ก็ขอให้มายืนยันตัวตนในวันหย่อนบัตรดีกว่าเพื่อความสบายใจ ว่าไม่มีการซื้อเสียง ไม่มีการทุจริต

-เรื่องเงินในกองทุนประกันสังคมที่มีร่วม สองล้านล้านบาท จะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร ให้ออกดอกออกผล เพราะคนก็เป็นห่วงกับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย อาจทำให้กองทุนฯ ไม่มีเงินเหลือเพียงพอ?

หากเราเอาจากฐานปัจจุบันที่เรามีดอกผล ที่ตอนนี้กองทุนมีประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท หากเรายังได้ผลตอบแทนที่ประมาณสองเปอร์เซ็นต์เศษๆ ปีหนึ่งก็ประมาณ ห้าหมื่นถึงหกหมื่นล้านบาท ก็ประมาณการว่าไม่เกินสามสิบห้าปีข้างหน้า กองทุนนี้ก็จะหมด

ส่วนสาเหตุที่หมด เพราะในเมื่อมีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯทุกเดือน ก็เพราะต้องบอกว่าสังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว โดยผู้ประกันตนเราให้ส่งจนถึงอายุ 55 ปี เรามีเพดานปิดไว้ที่ 15,000 บาท ห้าเปอร์เซ็นต์ก็คือ 750 บาทต่อหนึ่งคน

ประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศในโลก ยังคิดไม่ตก ก็คือ อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราคนเสียชีวิต ซึ่งประเทศไทยเราสถิติในปี 2565 ที่ผ่านมา จะเห็นได้เลยว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่าคนที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นในอีก 30-35 ปีข้างหน้า ช่องว่างนี้ก็จะถ่างขึ้นเรื่อยๆ

 กองทุนประกันสังคมฯ ก็จะมีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้ประกันตน ตามเงื่อนไขประกันสังคมฯ ก็เชื่อว่าไม่เกิน 35 ปีหมดแน่นอน แต่หลังจากก้าวแรกที่ผมเข้ามาที่กระทรวงแรงงาน สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ ในปีหน้า 2567 เราอยากเห็นการเติบโตหรือการออกดอกออกผล ของวงเงินที่ไปลงทุนทั้งหมด ต้องมีอัตราสูงกว่า 2.3 หรือ 2.4 เปอร์เซ็นต์  เราจะต้องเห็นทิศทางในการเจริญเติบโต คือในปี 2566 อาจจะอยู่ที่ 2.3-2.4 แต่ปีหน้า ทำได้หรือไม่ 2.8-3.0 เปอร์เซ็นต์ เราต้องหาวิธี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการลงทุน ตามพรบ.ฯ คุณมีสิทธิ์เอาเงินกองทุนฯ สี่สิบเปอร์เซ็นต์ เอาไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อย ส่วนอีกหกสิบเปอร์เซ็นต์ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงเลย ก็คือฝากธนาคาร กับซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยก็ได้น้อย

แต่วันนี้ยังไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง ไม่ใช่ 60/40 แต่เป็น 70 กว่ากับ20 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพราะเน้นความปลอดภัย

ซึ่งผมก็เข้าใจ เพราะเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ฯ เขาก็ต้องดูแลปกป้องเงินของผู้ประกันตน เขาต้องดูแลให้ดีที่สุด แต่ถ้าจะดูแล ดูแลดีแค่ไหน สุดท้ายหมด จึงต้องหาวิธีปรับนโยบาย

 ปี 2567 ก็น่าจะปรับจาก 27-28 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย แล้วในปีถัดไป ผมก็ต้องบอกว่าเต็มแม็ก 60/40 ตามกฎหมาย(พระราชบัญญัติประกันสังคมฯ)  ที่เขาอนุญาตให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง 60 เปอร์เซ็นต์ และสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้ เราก็คงไม่มองการลงทุนในประเทศไทย เราคงต้องมองการลงทุนในต่างประเทศ ในโลกนี้ที่มีกองทุนที่มีความมั่นคงและสามารถการันตีได้

ซึ่งผมบอกได้เลยว่าตลอดช่วงระยะเวลาที่ผมอยู่ ซึ่งกี่ปีไม่รู้ แต่อยากจะบอกว่าถ้าครบเทอมสี่ปี เราจะได้เห็นดอกผล ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ห้าเปอร์เซ็นต์ ของเงินกองทุนที่มี  2.33 ล้านล้านบาท ก็คือจากที่ตอนนี้เราอาจจะได้อยู่ที่ห้าหมื่นกว่าถึงหกหมื่นล้านบาท แต่อีก 3-4 ปีข้างหน้าเราจะเห็นดอกผลที่ หนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท ซึ่งสำหรับผมคิดว่าเป็นความท้าทายสำหรับตัวผม ว่าผมมีศักยภาพหรือความสามารถถึงตรงจุดนั้นหรือไม่ แต่ผมมีความมั่นใจในทีมงาน โดยโลกปัจจุบันนี้เราสามารถหาอะไรที่จะมาsupport โดยเฉพาะกองทุนต่างๆในโลกนี้มีมากมาย เราต้องเข้าไป หาเรานั่งอยู่แต่ในประเทศไทย ก็เหมือนกับเราปิดตาทั้งหมด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาะ 'รองปลัดคลัง-อธิบดี กสร.' นั่งบอร์ดไตรภาคี ลุยขึ้นค่าแรง 400 ของขวัญปีใหม่

'กระทรวงแรงงาน' เตรียมเสนอชื่อ 'ตัวแทน กสร.-รองปลัดคลัง' นั่งบอร์ดไตรภาคี ขง ครม. 19 พ.ย. เดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นของขวัญปีใหม่

‘พิพัฒน์’ นำกระทรวงแรงงานสัญจร แม่สอด หนุนฝึกอาชีพเสริมรายได้ ร่วมเอกชนรับสมัครงาน พร้อมส่งเสริมความปลอดภัย สวัสดิการสิทธิประกันสังคม

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการกระทรวงแรงงานพบประชาชน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ประกันสังคมเผย เปิดรับสิทธิโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ปี 2567 วันแรก 1 พ.ย. 2567 ผู้ประกันตนให้ความสนใจเกือบเต็มโควตา ยื่นขอรับสิทธิกว่า 9,000 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ. 2567 นี้ จะช่วยให้ผู้ประกันตนมีสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 1.59 ต่อปี

"พิพัฒน์' ยกระดับทักษะแรงงานท่องเที่ยวมูลค่าสูง หนุนไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมไมซ์

วันที่ 5 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์สู่การรองรับการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ระดับนานาชาติ

"พิพัฒน์" ยินดี ประกันสังคม 34 ปี ลั่น ปี 68 เดินหน้า แก้กฎหมายเพิ่มสิทธิ์เตรียมลุยมาตรการ 3 ขอ "ขอเลือก ขอคืน ขอกู้" ให้ผู้ประกันตน

3 กันยายน 2567 วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคมครบรอบ 34 ปี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน