สร้างวัฒนธรรมการฟื้นฟูนิเวศวิทยา สังคม สุขภาพในสมการการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในวันนี้ที่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นคำพูดสวยหรูที่แพร่หลายไปทั่วทุกแวดวงสังคม ตั้งแต่เป็นป้ายอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา ไปจนถึงหัวข้องานสัมมนาโดยบริษัทชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศ ชีวิตของรจและชาวบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ได้ผ่านวันคืนที่เติบโตมากับเสียงหริ่งเรไรยามค่ำท่ามกลางป่าที่สมบูรณ์ สู่ยุคที่เสียงธรรมชาติและอากาศสะอาดถูกทดแทนด้วยเสียงระเบิดเหมืองและมลพิษ มาถึงจุดปัจจุบันที่ซากการพัฒนาทิ้งสารเคมีไว้ในดินและน้ำ ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่ประสบภัยจากปัญหาการพัฒนาเหมืองแร่ที่ขาดมิติการฟื้นฟู และขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในสมการ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา 2022 Thai Equity Initiative Fellows (ในนามเครือข่าย Restorative Culture Coalition Thailand) และภาคี ได้จัดเสวนาสาธารณะเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ สังคม สุขภาพ ประเทศไทย โดยใช้กรณีศึกษาจากหกหมู่บ้านรอบเหมืองทองในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่รวมกันต่อสู้ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อถอดบทเรียนพัฒนาเป็นกรอบขับเคลื่อนการสร้าง Restorative Culture ในประเทศไทยซึ่งสอดรับกับแนวทางการพัฒนาระดับสากลในช่วงสิบปีนี้ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นทศวรรษการฟื้นฟูระบบนิเวศ (the UN Decade on Ecosystem Restoration, 2021 – 2030) ที่เสนอหลักการฟื้นฟูระบบนิเวศให้ (1) Reduction ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (2) Remediation/Removal การขจัดสิ่งปนเปื้อน แก้ไข เยียวยา (3) Rehabilitation การฟื้นคืนการทำหน้าที่บริการทางนิเวศในพื้นที่เสียหาย และ (4) Restoration การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียหายให้สมบูรณ์ เอื้อต่อชีวิตผู้คนและธรรมชาติ

กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ชุมชนได้ต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม มีหลักฐานประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และจิตใจของคนในชุมชน จนเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2561 ศาลได้พิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่ทองคำชดใช้ค่าเสียหายกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดแก้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนร่วมทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย แต่บริษัทเหมืองประกาศล้มละลายปิดกิจการไปเพียงไม่กี่เดือนก่อนศาลตัดสิน ผู้ก่อมลพิษทิ้งให้รัฐ (ผ่านการใช้ภาษีที่เก็บจากประชาชน) รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่แทน และกระบวนการก็ลากยาวมาห้าปีก่อนที่จะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยที่มีสัดส่วนภาคประชาชนและหน่วยงานราชการเท่ากันเพื่อเริ่มร่างแผนฟื้นฟูฯร่วมกันในเดือนตุลาคม ปี 2566 ที่จัดงานนี้พอดี

จากการเสวนาและกรณีศึกษานี้ที่มีตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองในจังหวัดปัตตานี หนองบัวลำภู เชียงใหม่ และนครราชสีมา นักวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย โดยมีความคิดเห็นเบื้องต้นว่าการสร้างวัฒนธรรมการฟื้นฟูนิเวศวิทยา สังคม และสุขภาพ (Restorative Culture) ต้องมีองค์ประกอบทั้งจากการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการพัฒนา การจัดการของรัฐที่ทำให้ผู้ก่อมลพิษต้องนำเรื่องการฟื้นฟูใส่เข้าไปในแผนโครงการพัฒนาแต่ต้น การพัฒนากฎหมายที่ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองและสร้างความมั่นคงในระบบยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลมาใช้และทำให้การเก็บข้อมูลเป็นไปได้ง่ายและไม่แพงสำหรับชุมชน การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง และท้ายสุดแต่สำคัญมากคือการสร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงผลกระทบของการพัฒนา

นอกจากบทเรียนที่ต้องนำแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ เข้าไปในสมการแล้ว กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดยังมี Soft Power เล่าเรื่องการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมและสร้างรายได้เพื่อเป็นทุนสำหรับทำงานขับเคลื่อนต้านเหมือง ผ่าน “ตำหูก” หรือการทอผ้าในภาษาอีสานนั่นเอง

ปี พ.ศ. 2556 แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ส่วนใหญ่เป็นแม่หญิงสูงวัย เริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจเพราะต้องเอาเวลาทำมาหากินมาต่อสู้กับนายทุนเหมือง และการทำเกษตรในพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษก็มีข้อจำกัด จึงมองหาช่องทางสร้างอาชีพใหม่จากทักษะดั้งเดิมในท้องที่ เอ็นจีโอที่ทำงานกับกลุ่มจึงนำเอาพันธุ์ฝ้ายเข้ามาให้แม่ๆปลูกที่เหนือเหมือง โดยเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ที่ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยา ฝ้ายไร้สารที่ตรวจแล้วว่าไม่มีเคมีเจือปนถูกนำไปทอเป็นผ้า ย้อมสีธรรมชาติ ออกแบบลายโดยแม่หญิงในชุมชน เช่น ลายรอยแร่ และลายหลุมเหมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านกับเหมืองทองที่ก่อสารพิษให้กับชุมชน โดยคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านช่วยขายออนไลน์ผ่านเพจ Facebook กลุ่มตำหูกบ้านนาหนองบง – สู้เหมือง และอาจารย์เบ็กกี้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนศึกษาเรื่องผลกระทบจากเหมืองในชุมชน ได้ทำแบรนด์ Radical Grandma Collective (www.radicalgrandmacollective.com) แปรรูปผ้าทอเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งขายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทั้งช่วยขยายวงการรับรู้ของปัญหาในท้องที่และนำรายได้มาเป็นทุนในการทำงานฟื้นฟูอีกด้วยภาพจาก Facebook Page: Radical Grandma Collective

อยากชวนผู้อ่านมาเป็นเครือข่าย Restorative Culture Coalition Thailand ร่วมส่งเสียงในฐานะพลเมืองเพื่อให้การฟื้นฟูระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพเป็น auto pilot ของการออกนโยบายสาธารณะในประเทศไทย และอุดหนุนแม่หญิงใจสู้เหมือง เพื่อฟื้นฟูหกหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ได้ทาง Facebook Page กลุ่มตำหูกบ้านนาหนองบง – สู้เหมือง และ Radical Grandma Collective ค่ะ

เอด้า จิรไพศาลกุล

กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทศวรรษนานาชาติแห่งวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รณรงค์กันมายาวนานต่อเนื่อง...และจะยังคงต้องรณรงค์กันต่อไป และ...วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่จะต้องรณรงค์คู่ขนานกันกับการพัฒนา

ปลูกพืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ จารึกหายนะ 'เหมืองแร่ทองคำ'

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง จ.เลย” จัดกิจกรรม “ปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมา” ครั้งที่ 2   ลุยเดินแผนฟื้นฟูภาคประชาชนคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยี เผยแม้เหมืองจะปิดไปแล้วแต่ผลสุ่มตรวจเลือดชาวบ้าน ยังเจอโลหะหนักในเลือด หวังรัฐตรวจเลือดครบทุกคน ชนะคดีสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาตามคำสั่งศาล

บูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนในการศึกษา

นานาประเทศต่างมุ่งหมายขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และการศึกษาคือเฟืองที่ส่งกำลังหมุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสนใจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีมาหลายทศวรรษ

'เศรษฐา' หารือ นายกฯแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้น

'เศรษฐา' หารือ นายกฯแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อการเติบโตครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกฯ ปลื้มนานาชาติสนใจหุ้นกู้สีเขียวของไทยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์!

นายกฯ ภาคภูมิใจได้นำเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืนและอารยะเกษตร ในเวที UNGA ครั้งที่ 78 เผยต่างชาติสนใจการออกหุ้นกู้สีเขียว หวังจะขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปลื้ม 'ยูเอ็น' ยกไทยครองอันดับ 1 ในอาเซียน ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกฯยินดีองค์การสหประชาชาติจัดอันดับความยั่งยืนไทยดีขึ้นและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำผลสัมฤทธิ์กำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ