พล.อ.อ.พันธ์ภักดี -ผบ.ทอ. มอง "สงครามรูปแบบใหม่" ย้ำหมดยุค ทำรัฐประหาร

บทบาทของกองทัพในทางการเมือง ยังคงเป็นจุดโฟกัสสำคัญในบริบทการเมืองไทย โดยเฉพาะกับยุคปัจจุบัน ที่เป็นรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยรักไทยยุคทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพื่อไทย ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยถูกทหารทำรัฐประหารมาแล้ว ทั้งสองรัฐบาล ทำให้หลายคน จึงจังตามองไม่น้อยว่า รัฐบาลเพื่อไทย ที่ส่ง"สุทิน คลังแสง"มาเป็น"รมว.กลาโหม"สัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับกองทัพ จะราบรื่นไปจนรัฐบาลอยู่ครบวาระหรือไม่?

สำหรับ"กองทัพอากาศ"(ทอ.) หนึ่งในแผงอำนาจสำคัญของทหาร ในยุคปัจจุบัน มี"พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล หรือ"บิ๊กไก่"-เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ"ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารงานในกองทัพอากาศ ที่พล.อ.อ.พันธ์ภักดี จะอยู่ในตำแหน่งสองปีโดยเฉพาะการย้ำจุดยืนเรื่องกองทัพกับการเมือง

-การเข้ามาเป็นผบ.ทอ.ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นประวัติการณ์ไม่น้อยที่มาเป็นผบ.ทอ.ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งสองปี เพราะก่อนหน้านี้ผบ.ทอ.หลายคนที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่แค่ปีเดียวก็เกษียณ?

คือผมคิดว่า ระบบอของกองทัพอากาศหรือของเหล่าทัพ จะมีระบบอาวุโส อย่างกองทัพอากาศ จะมีระบบคัดกรองผู้บังคับบัญชามาตามลำดับชั้น จะเห็นได้ว่า ทุกท่านที่เคยมาเป็นผบ.ทอ. ก็มีความเหมาะสม และเรามีแผนพัฒนากองทัพ หรือยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพอากาศอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้น การมองว่าจะมาเป็นผบ.ทอ.หนึ่งปีหรือสองปี ก็อาจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ว่าปีนี้ ที่ทางท่านผบ.ทอ.คนที่แล้ว พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ท่านอาจจะมองถึงเรื่องของระบบงบประมาณที่อาจจะล่าช้าในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เกี่ยวพันระหว่างปี 2567 กับปี 2568 ก็น่าจะมองถึงเรื่องของกองทัพเป็นหลักในการที่จะให้มีความต่อเนื่อง แต่สำหรับตัวบุคคลแล้ว คนที่จะมาเป็นผบ.ทอ.ได้ ทุกคนผ่านระบบคัดกรอง และมีความสามารถทุกคน ทุกคนพร้อมจะเป็นผบ.ทอ.ได้

-การเป็นสองปี ทำให้มีความต่อเนื่อง ?

ก็ทำให้มีความต่อเนื่องด้วย และเรื่องหลักๆ ก็คือเราต้องบริหารงบประมาณ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าที่สุด เมื่อมีความต่อเนื่อง ก็จะเป็นโอกาสที่ดี

-พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เรียนรุ่นเดียวกัน?

ใช่ครับ รุ่นเดียวกัน เตรียมทหารรุ่น 24 และเกษียณพร้อมกันเช่นเดียวกับ พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ปลัดกระทรวงกลาโหม คือทั้งสองท่าน ก็เป็นผู้บังคับบัญชาผม และทั้งสองท่านก็เป็นที่ยอมรับทั้งในเรื่องของอาวุโส และการยอมรับจากรุ่นน้อง เป็นผู้มีวิสัยทัศน์และค่อนข้างจะโอเพ่น ทำให้ง่ายต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผมได้มาร่วมงานกับท่าน

ภารกิจทัพฟ้า ช่วยคนไทยกลับจากอิสราเอล

“พลอากาศเอก พันธ์ภักดี-ผบ.ทอ.”กล่าวถึงภารกิจของกองทัพอากาศในการช่วยเหลือคนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ในช่วงที่กำลังเกิดสงครามในขณะนี้ว่า ต้องบอกว่ายังมีภารกิจอยู่ตลอดเวลา แต่อาจไม่ได้เป็นข่าว เพราะตอนนี้เป็นเรื่องการช่วยเหลือตัวประกัน ที่ทางรัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งประชาชนได้อุ่นใจได้เลยว่า ทางรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี -รมว.กลาโหม และกระทรวงต่างๆเช่นกระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงการต่างประเทศและกองทัพอากาศ

... เรามีความร่วมมือ มีการประชุมหารือกันตลอดเวลา เราทราบถึงความจำเป็นและความสำคัญ ในการนำพี่น้องคนไทยกลับจากอิสราเอล โดยในส่วนของกองทัพอากาศ ก็พร้อมที่จะไปรับ-ส่ง ถ้ามีคนไทยที่ความประสงค์จะกลับ ก็จะมีเครื่องบินแอร์ไลน์บินกลับมาตลอดเวลา ในส่วนของเครื่องบินกองทัพอากาศก็พร้อมตลอดเวลา ที่ผ่านมา กองทัพอากาศ ใช้แอร์บัส A340 ไปห้าเที่ยว โดยเป็นที่สนามบินเบนกูเรียน (กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล) สามเที่ยวและที่สนามบินฟูไจราห์ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) สองเที่ยว ก็รับมาได้เกือบพันคน

-มีปัญหาอะไรหรือไม่ ในการใช้แอร์บัส?

เครื่องบิน ไม่ได้เป็นเครื่องบินใหม่ที่กองทัพอากาศรับมา โดยรับซื้อมาจากการบินไทย แต่ก็นำมาบริหารจัดการทำให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจได้แต่ด้วยสภาพของอายุการใช้งานและอะไหล่ที่บางชิ้นส่วนอาจจะหายากหน่อย แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราทำให้บินได้อย่างปลอดภัยที่สุด ปฏิบัติภารกิจได้ ซึ่งเครื่องก็เหมาะสมกับราคา

สำหรับที่ประเทศอิสราเอล เราไม่มีผู้ช่วยทหารฯ ซึ่งในมุมมองของกองทัพเอง ก็พยายามจัดในประเทศที่มีความสัมพันธ์ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือทางทหาร ซึ่งจะไม่เหมือนสถานทูตทั่วไปที่จะมีค่อนข้างแพร่หลาย โดยเราจะใช้จุดที่สำคัญที่สุดที่มีความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นการฝึกร่วม ฝึกผสมหรือการแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคง เราจึงมองเป็นกลุ่มๆ อย่างเรามีผู้ช่วยทหารที่ประเทศปากีสถาน อินเดีย ที่อยู่ในละแวกนั้น โดยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน เพราะอย่างการตั้งทูตทหารฯ ก็ต้องมีงบประมาณ ส่วนตัวผมเอง ก็เคยเป็นผู้ช่วยทหารฯที่ประเทศอังกฤษ ก็อยู่สามปี ในช่วงปี พ.ศ.2556-2559

-ช่วงที่มีการบินไปรับคนไทยที่อิสราเอล ที่มีการเสนอข่าวกันว่า เครื่องบินของไทยต้องบินอ้อมหลายประเทศ ใช้เวลานานกว่าปกติ เรื่องเป็นมาอย่างไร ?

 การขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าแต่ละประเทศ สิบประเทศ ใช้ระยะเวลาตามปกติไม่ต่ำกว่าสองสัปดาห์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น(ที่อิสราเอล) ซึ่งเกิดช่วงประมาณเย็นวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม พอวันรุ่งขึ้น ก็มีการเรียกนัดประชุมกันก็มีกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพอากาศ และหลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน เราบินไปไฟท์แรก เพราะฉะนั้น ขั้นตอนการขอบินผ่านน่านฟ้าของแต่ละประเทศ จากปกติสองสัปดาห์ กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ได้ภายในสามวัน ที่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก

สำหรับประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็ไม่น่าจะมีปัญหามาก เพราะหลังจากนั้น เที่ยวบินเที่ยวต่อมา เที่ยวที่สอง เที่ยวที่สาม เราก็ไปได้ ก็ร่นเวลาไปได้สี่ชั่วโมงครึ่ง ที่ต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญ และมีส่วนช่วยผลักดันให้การอนุญาตให้บินผ่านน่านฟ้าทำได้เร็วขึ้น

แนวรบอิสราเอล-ฮามาส กับสงครามรูปแบบใหม่

-มองสงครามที่เกิดขึ้นที่อิสราเอล โดยเฉพาะแนวรบบนฟ้า มีข้อคิด หรือได้ประชุมในกองทัพอากาศบ้างหรือไม่ว่าต่อไป ทอ.ต้องเป็นอย่างไร?

ผมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เราไม่ได้มีการรู้ล่วงหน้าเลย แม้กระทั่งอิสราเอล ก็ไม่รู้ล่วงหน้า ว่าจะโดนกลุ่มฮามาสที่ใช้โดรนหรือจรวดยิงเข้ามาถึงห้าพันนัด ก็มาถึงการที่เราถามตัวเองว่า เราจะอยู่อย่างนี้ แล้วรอให้วันนั้นเกิดขึ้นหรือไม่

เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่า สงครามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งตัว และมียุทธวิธีใหม่ที่เราต้องเตรียมพร้อมและรองรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโดรน -โดรนกามิกาเซ่ (kamikaze drone)  เรื่องของการต่อต้านหรือAnti Drone (ระบบตรวจจับอากาศยานไร้คนขับ) ซึ่งจรวดที่ไปสกัด ราคาแพงมาก ราคาสูงมหาศาล โดยหนึ่งนัดที่ยิงไปสกัด แพงกว่าตัวโดรนหลายเท่าอาจจะเป็นสิบเท่า เทคโนโลยีมาควบคู่กับงบประมาณ ค่าใช้จ่าย ถ้าเราจะให้มีเทคโนโลยีสูงๆ เราก็ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ก็เป็นความท้าทายของกองทัพอากาศเช่นกันว่าเราจะพัฒนากองทัพอย่างไร ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับ และให้มีขีดความสามารถสูงสุด

-ที่มีข่าวออกมาว่าในปี 2567 กองทัพอากาศไม่ได้รับงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธของกองทัพอากาศ พวกเครื่องบินรบ แต่เห็นว่าในปี 2568 รัฐบาลพร้อมไฟเขียวให้จัดซื้อได้แบบจัดเต็ม?

ผมเองในนามกองทัพอากาศ ก็ต้องดูสภาพแวดล้อมทั้งหมด ต้องดูสถานการณ์ด้วย เราฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก และเข้าใจถึงภาพรวมของประเทศ ผมก็เรียนนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่ากองทัพอากาศเคยมีแผนที่จะซื้อเครื่องบิน จัดหาเครื่องบิน อย่างที่ผมเคยไปชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาฯ เมื่อสักสองปีที่ผ่านมา เราก็เคยขอไว้เมื่อสองปีที่แล้ว มาปีนี้ เริ่มต้นเราก็จะขอเหมือนกัน แต่ทราบว่าประเทศ ต้องนำงบประมาณมาพัฒนาประเทศในเรื่องที่มีความจำเป็นก่อน ซึ่งท่านก็รับปากว่า ความมั่นคงก็สำคัญ ก็จะจัดสรรงบประมาณในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ให้กองทัพอากาศได้จัดหาอาวุธที่จะมาทดแทน

เรามองว่าในอนาคต เครื่องบินรบหลักของเราต้องปลดประจำการในเร็วๆนี้ หากเราไม่จัดหามาทดแทน หากในอนาคต อย่างที่ผมบอกแต่ตอนต้นว่า สงครามหรือเหตุการณ์ที่จะเกิด เราคาดการณ์ไม่ได้จริงๆว่า จะเกิดพรุ่งนี้หรือวันไหน เพราะฉะนั้น การเตรียมพร้อม การหาเครื่องบินมาหนึ่งฝูงบิน ต้องใช้เวลาในการเตรียมพร้อม การจัดหา เตรียมการจัดซื้อ -ตรวจรับและฝึกนักบินประมาณสิบปี ถึงจะมีความพร้อมรบ ถึงจะปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศได้ และยิ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ ทุกประเทศมีความต้องการอาวุธหมด แล้วถ้าเราไม่มีความชัดเจน เราอาจจะไม่ได้จัดอยู่ในลำดับความสำคัญที่เขาจะจำหน่ายให้เราได้

UNBEATABLE AIR FORCE  กองทัพอากาศแพ้ไม่ได้

ก่อนหน้านี้ที่ได้ไป แถลงนโยบาย 8 ด้าน ที่ประกาศว่า UNBEATABLE AIR FORCE กองทัพอากาศแพ้ไม่ได้ เป็นอย่างไร?

คือผมเองมองว่ากองทัพอากาศไม่ได้จะมีอาวุธเพื่อไปแสดงความก้าวร้าว หรือจะไปข่มเหงหรือรังแกใคร เพื่อนบ้านเราเป็นมิตรประเทศเพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะพัฒนากองทัพอากาศ เราต้องการพัฒนากองทัพอากาศให้มีขีดความสามารถ ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการร่วมรบ การปกป้องและรักษาความปลอดภัยในภูมิภาค เพราะเราอาจคาดเดาไม่ได้ว่าในอนาคต ภัยคุกคามจะเกิดจากอะไร แต่ที่สำคัญที่สุดที่เกิดแน่นอน ก็คือเรื่องของ Non Combat  คือจากภัยพิบัติจากธรรมชาติ ที่นับวันก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเพราะฉะนั้น เราต้องมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านของเราในการที่จะรับกับภัยคุกคามที่เป็นทั้ง  Combat และ Non Combat  การที่เราไม่ได้มีงบประมาณมากมาย ทำให้เราไม่สามารถไปจัดซื้อทุกอย่างได้ตามที่เราต้องการ แต่เราจะทำของที่เรามีทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เป็นลักษณะที่ว่าเราจะไม่ยอมให้เราพ่ายแพ้ต่อภัยคุกคาม ทั้ง  Combat และ Non Combat ที่ก็คือ UNBEATABLE AIR FORCE แต่เราก็ไม่ไปรุกรานใคร เราจะร่วมมือกับเพื่อนบ้านเรา

ส่องเขี้ยวเล็บทัพฟ้า มีอะไรบ้างใน”คลังแสง”

 เมื่อถามถึงกรณี งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่แม้จะไม่ได้ซื้ออาวุธมาก แล้วจะมีการจัดซื้อจัดหาอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เท่าที่งบมีพอจะทำได้ “พล.อ.อ.พันธ์ภักดี-ผบ.ทอ.”ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของเครื่องบินเอง เราก็ต้องซ่อมบำรุงก่อน ในส่วนของที่เรามองว่าหมดอายุการใช้งานหรือเพื่อยืดอายุการใช้งานได้ ผนวกกับเรื่องการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องบินของเราในการสลายหมอกควัน ในการดับไฟป่า หรือการทำฝน เราก็จะปรับปรุงตรงนั้นด้วย หรือการจะใช้ C-130 ในการอพยพคนไทย ซึ่งในหลายครั้ง เราจะใช้ c-130 เป็นหลักในการช่วยเหลือในด้านของNon Combat   เราก็จะปรับปรุงเครื่องยนต์ c-130  เพราะหากเราปรับปรุง เราจะใช้งบไม่มากนัก แต่เราสามารถยืดอายุการใช้งานไปได้อีกประมาณสิบปี โดยตอนนี้เรามี c-130  ประมาณสิบลำ

-ในส่วนของกองทัพอากาศ หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ของเรากับประเทศในอาเซียนเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่าเราก็ทัดเทียม แต่เราก็ไม่ได้โดดเด่นหรือเหนือกว่า แต่เราก็ไม่ได้ด้อย เราโดดเด่นกันคนละแบบ อย่างประเทศ มีการจัดสรรงบประมาณให้กับด้านการทหาร ซึ่งเทียบกับจีดีพีของประเทศก็ถือว่ามีเปอร์เซ็นต์สูง แต่ว่าของเราเองไม่ได้มีงบประมาณมากขนาดนั้น แต่เราก็พยายามจะพัฒนาในส่วนที่เราจะพัฒนาได้ เราเน้นในเรื่องของ Cyber Security เรามามองในเรื่องของ space เรื่องของอวกาศ โดยการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปด้วย ในส่วนของด้านกำลังรบหลัก เรื่องของเครื่องบิน เราก็มีการปรับปรุง มีการซ่อม และรักษาให้ดีที่สุด และเมื่อปลดอายุประจำการไป เช่น เราจะปลดประจำการไปสามฝูงบิน แต่เราจะจัดหามาทดแทนแค่ฝูงบินเดียว แต่ต้องเป็นเครื่องบินที่ดี ต้องมีประสิทธิภาพ ต้องเทียบเท่ากับสามฝูงบินที่ปลดประจำการ เราจะลดปริมาณ แต่ไม่ลดคุณภาพ แต่จะเพิ่มคุณภาพมาทดแทน โดยสามฝูงบิน ก็จะมี F-16 หนึ่งฝูง , F-5 ที่อุบลราชธานี ก็จะทยอยปลดในปี พ.ศ. 2571 -2572 เป็นต้นไป แล้วก็  "อัลฟา เจ็ต"ที่จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้เรายังมองเรื่องการจัดหาคล้ายๆ "โดรนติดอาวุธ" มาทดแทนด้วยในบริเวณนั้น

ส่วนการจัดซื้ออาวุธ-เครื่องบินของกองทัพอากาศ ที่มีการจัดซื้อแบบงบผูกพันข้ามปี จนถึงปัจจุบันของกองทัพอากาศมีเหลือไม่เยอะแล้ว เพราะมีการยกเลิกโครงการไปบ้างเช่น การจัดซื้อ เครื่องบินรบเอฟ-35 (F-35) ที่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว กองทัพอากาศ ก็มีการคืนให้กับสำนักงบประมาณไปแล้วประมาณ 369 ล้านบาท ก็ทำเรื่องคืนตามคำมั่นสัญญา

ส่วนการที่ไม่ได้เอฟ-35  ผมก็เข้าใจว่าทางสหรัฐอเมริกา ก็เข้ามาดู ตรวจสอบสภาพแวดล้อมแล้ว อาจเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่น ของเครื่องบิน โดยเอฟ-35เป็นเครื่องบินที่ทันสมัยมาก ทำให้การดูแลต้องดูแลดีมากและต้องมีการ transition เครื่องบินของเราเป็นเอฟ35 ทางสหรัฐก็แนะนำว่าควรจะมีตรงกลางอีกซักหนึ่ง เจนเนอเรชั่น การที่จะไปจาก เจนเนอเรชั่นที่4 ไปเจนเนอเรชั่นที่5 เลยก็จะลำบาก ซึ่งเจนเนอเรชั่นที่ 5 จะเป็น Stealth aircraft เขาจึงแนะนำว่าเราควรจะมีเครื่องบิน 4.5 ก่อน เช่น F-16 block 70  หรือเป็น Gripen E/F ซึ่งฝูงบินที่เรามีอยู่นั้นจะเป็น 4.5 ในระบบเครือข่าย network centric ที่มอบมากับเครื่องบิน ที่เราซื้อ ซึ่งขณะนี้มีประจำการอยู่ 11 เครื่อง

นอกจากนั้นกองทัพอากาศ ยังมีF 16 อยู่ 2 ฝูงบิน  คือ ฝูงบิน403 จำนวน 18 เครื่อง และฝูงบิน 103 จำนวน 24 เครื่อง โดยผมก็เคยทำการบิน ยืนยันว่าที่เราไม่ได้F 35 ไม่ได้มีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

-เป็นเรื่องที่สหรัฐ ต้องการให้บทเรียนเราหรือไม่?

ไม่มีครับ ผมว่าเขาเข้าใจด้วยซ้ำว่า ถ้าเราได้มาตอนนี้ เราจะดูแลยาก เพราะต้องแบกรับภาระอะไรหลายอย่าง ทั้งที่เราก็ไม่พร้อมเต็มที่นัก ดังนั้นต้องให้เวลาเราได้เปลี่ยนผ่าน ประกอบกับภัยคุกคามที่เราต้องมาวิเคราะห์ในอนาคตว่าเราจะทุ่มเทไปทางไหน

ช่วงไหนจะชัดเจนในการคัดเลือกแบบ?

ตอนนี้ผมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูว่าความเหมาะสมที่สุดของเครื่องบินที่จะเข้ามาประจำการ ทดแทนเครื่องบิน F 16 ที่จะปลดประจำการ คงต้องให้เวลาเขาได้ศึกษาหาข้อมูลในทุกด้าน จากเครื่องบินหลายๆแบบที่อยู่ในข้อพิจารณา

-แนวรบด้านยุทโธปกรณ์ทางอากาศของโลกมีการเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ สำคัญขนาดไหน?

คือเรามองถึงเรื่อง โดรน ซึ่งพัฒนาเร็วมาก เนื่องจากมีความปลอดภัยสูงสำหรับผู้ปฏิบัติ เพราะไม่มีนักบินอยู่บนเครื่องและต้นทุนต่ำ ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยากและไม่ซับซ้อนในการที่จะสร้างโดรนขึ้นมา และสามารถติดอาวุธได้ อีกทั้งไปยังเป้าหมายได้อย่างแม่นยำเทียบเท่ากับเครื่องบิน ซึ่งราคาก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโดรนอย่าง Kamikaze Dorne ราคาก็จะแพง ส่วนโดรนที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก หรือ ไม่ได้บินระยะไกลแต่เป็นระยะปานกลางหรือระยะใกล้ ก็จะสามารถจัดหาได้ด้วยมูลค่าที่ไม่สูงนัก ถ้าเทียบกับเครื่องบินก็ถือว่าราคาต่างกันหลายเท่าตัวมาก เครื่องบินลำละ 2-3 พันล้านบาท แต่โดรนก็อาจจะแค่หลักร้อย

ส่วนปริมาณของที่จะมาใช้ทดแทนเครื่องบินอาจจะขึ้นอยู่กับเพลย์โหลดหรืออาวุธที่บรรทุกขึ้นไป หรืออาจจะเป็นหนึ่งตต่อหนึ่งก็ได้ในอนาคต  อย่างบางประเทศ จริงมาจัดบูธในงานนิทรรศการ แสดงอาวุธที่เมืองทองธานี Defense and security บริษัทจะทำเป็น  Combat Drone คล้ายๆเครื่องบินรบ โดยไม่มีนักบินอยู่ในเครื่อง ซึ่งพัฒนาไปถึงระดับนั้น คือเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 6

ส่วนรุ่นที่กองทัพอากาศ ผลิตเองนั้น ได้ร่วมกับ หลายหน่วยงานในคิดค้นมีงานวิจัยรองรับ ซึ่งผมได้หารือกับ ผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศว่า เราจะนำงานวิจัยที่เรามีอยู่ ทางด้านความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน จัดเป็นงานซิมโพเซียม โดยนำงานวิจัยมาสู่ผลิตเพื่อใช้งานจริง โดยร่วมกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนในประเทศ

โดยมองว่าจะทำงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลิตยุทโธปกรณ์ใช้งานในประเทศของเรา 100% ซึ่งของทัพอากาศคิดว่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้าจะจัดงานนี้ขึ้นมา

ปัจจุบันเรามีโดรน M Solar X เป็นของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช โดยมีอาจารย์และนักเรียนร่วมกันวิจัย ตอนนี้ขั้นตอนก็จะสูงสุดของการวิจัย แล้ว เรียกว่า TRL Technology Readiness Levels level 9 สูงสุดคือ เลเวล 9 ตอนนี้อยู่เลเวล 8 หมายความว่าเรามีการผลิตชิ้นส่วน มีการปฏิบัติการบิน ทดลองการใช้งานและประสบความสำเร็จแล้ว รอชั่วโมงเพื่อที่จะผ่านการพิจารณาอีกประมาณซ 400 ชั่วโมง ก็จะได้ TRL ขั้นสูงสุดคือสามารถผลิตจำหน่าย เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และใช้งานได้จริง ซึ่งเรามีแผนที่ใช้งานในปี 2567 20 ลำ เป็นการตรวจการป้องกันฐานบิน แทนการลาดตระเวน ถือเป็น  UAV ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์บินได้นาน 10 ชั่วโมง เราก็พยายามปรับตัวให้ทันกับภัยคุกคาม และกับสภาพที่ตรงตามภารกิจเราต้องปฏิบัติ ถ้าเราไปถึงเราก็ต้องไป

-นอกจากห่วงเรื่องงบฯ แล้วเป็นห่วงเรื่องอะไรอีก และรู้สึกว่าอยากได้แต่ลำบากใจมาก?

ถ้าถามว่าผมเป็นห่วงหรือไม่ ผมก็ไม่ได้เป็นห่วงอะไรนะ เพียงแต่เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน เพราะเรามองว่าเราก็คือประชาชนคนหนึ่งก็เข้าใจประชาชน 

ห่วงเรื่องการรับรู้ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องและย้อนกลับมาส่งให้เราต้องมีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราจะทำงาน ทำหน้าที่เป็นสิ่งที่ผิด ถึงอย่างไรกองทัพต้องสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติแต่การที่จะทำหน้าที่เราต้องของบประมาณระดับหนึ่งต้องกราบเรียนว่าทุกครั้งที่ผมจะมีโครงการพัฒนาอะไร เราก็จะฟังประชาชน

-ไปสภาฯชี้แจงเรื่องงบประมาณมา 2ครั้งหนักใจอะไรหรือไม่?

ผมว่าเป็นสิทธิ ที่ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้ ผมเองก็ต้องทำหน้าที่ ท่านเองก็ทำหน้าที ผมคิดว่าท่านเข้าใจ เจอสส.หลายท่านก็บอกว่าท่านเข้าใจ แต่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนเราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเช่นกัน แต่ขอให้มีความเชื่อมั่นว่าของทัพอากาศหรือว่าเหล่าทัพอื่น ตอนนี้เราค่อนข้างพบเจอกันบ่อยมากปลัดกลาโหม ผบ. ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร เราพูดคุยกันบ่อยมาก ทุกคนมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือจะทำเพื่อประเทศชาติ

-รมว.กลาโหมพลเรือนที่ไม่ควบในตำแหน่งนายกฯ ต่างจากรมว.กลาโหมคนก่อนๆ อย่างไร?

จริงๆผมก็ดูท่านตอนแถลงในสภาฯตอนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ผมคิดว่าวิธีการนำเสนอ การพูดของท่าน เป็นที่น่าชื่นชมประทับใจ  อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม  แต่มาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่โอเพน เปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นให้เกียรติเหล่าทัพมาก เมื่อท่านให้เกียรติเราก็มองว่าเราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงอยู่แล้ว ยิ่งได้พูดคุยกัน  และเข้ามาถึงกองทัพ ก็เข้าถึงใจของกำลังพลของกองทัพ คิดว่าเราน่าจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เป็นอย่างดี

-มุมมองของ รมต.เปลี่ยนไปจากตอนเป็นฝ่ายค้าน?     

อ๋อใช่ครับ แน่นอน ท่านเป็นคนที่เข้าใจ ท่านเป็นคนสมาร์ทและเข้าใจเร็ว แล้วก็มีเหตุผล  ส่วนในเรื่องวิสัยทัศน์ ผมก็คิดว่าท่านก็ศึกษาเกี่ยวกับกองทัพพอสมควร

-ทำการบ้านมาเยอะ

ใช่ครับ ท่านมองในเรื่องCyber Security กองทัพไซเบอร์ เราก็ปรับตัว ซึ่งจริงๆก็มีอยู่แล้ว แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นความร่วมมือกันระหว่างเหล่าทัพ

-ไม่มีปัญหา รมว. กห. เป็นพลเรือนเพราะเราเป็นกองทัพอาชีพ?

กองทัพก็ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกฎด้วยระเบียบ กฎหมายที่เราต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ในการดูแลเรื่องความมั่นคง

-ทหารอาชีพของผบ.ทอ.เป็นอย่างไร?

ผมมองว่าต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองและเข้าใจวัตถุประสงค์ของกองทัพในภาพรวมในเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เราเอาสองจุดนี้มาร่วมกัน ตอนนี้กองทัพอยู่ได้ และยึดมั่นสถาบัน เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือจะต้องเป็นทหารของพระราชา ต้องดูแลสถาบัน ชาติ พระมหากษัตริย์ ดำรงไว้ซึ่งศาสนาของแต่ละบุคคลที่เคารพนับถือ พยายามปลูกฝัง ยึดมั่นตรงนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดที่เรามองคือเราจะต้องทำทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติและกองทัพ

-เรื่องของความคิดของอ่าน การปลูกฝัง การยึดมั่นในสถาบัน กองทัพช่วยอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องยากในยุคสังคมสมัยใหม่?

ผมคิดว่าความจริงพิสูจน์ ถ้าเราอยู่กับความเป็นจริงแล้ว ความจริงนั้นก็จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่กองทัพและกำลังพลปฏิบัติถ้าเรายึดมั่นในสถาบัน เราก็จะมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นจิตใจหรือการปฏิบัติ ผมเองก็ได้พบปะกับผู้ใต้บังคับบัญชาพูดคุยกัน ผมก็เคารพในความเป็นตัวบุคคลของแต่ละคน 

“แต่ผมเชื่อว่ากำลังพลกองทัพอากาศทุกคนสิ่งแรกเลยคือเขาต้องฟังผม เพราะผมคือผู้นำของทัพอากาศ ผมก็เป็นตัวอย่างให้เขาเห็นเช่นกัน และผมก็นำเขามาเป็นตัวอย่างเช่นกัน  เราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเชื่อซึ่งกันและกันจะทำให้ความสัมพันธ์และนโยบายของผมมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

สำหรับนโยบาย8 ด้าน เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการกำกับมาตรกรขับเคลื่อน ซึ่งกองทัพอากาศเป็นกองทัพเทคโนโลยีถ้าเราไม่มีมาตรฐานกำกับเราก็อาจจะไม่ได้มาตรฐาน  เรามีหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเรียกว่าสำนักงานการบินMilitary Aviation Authority เทียบเท่ากับ มาตรฐานสากล เช่น ICAO FAA

อย่างเอกชนคือ  CAAT Civil Aviation Authority of Thailand หรือสำนักงานการบินพลเรือนของไทยซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานของเครื่องบินพลเรือน

ในส่วนของเครื่องบินทหารเราใช้สำนักงานการบิน กองทัพอากาศ ที่บุคลากรของเราผ่านการอบรม ให้ได้รับการอบรม ในมาตรฐานเดียวกับ CAAT เจ้าหน้าที่ของเราผ่านการรับรองมาตรฐานการเรียนรู้ มาตรฐานการซ่อมบำรุง มาตรฐานสนามบินซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวที่มาจากต้นฉบับเดียวกันทั้งหมด ซึ่งกองทัพอากาศถือว่าโชคดีที่เราตั้งสำนักงานการบินของเราขึ้นมาในสมัย พลอากาศเอก มานัต  วงษ์วาทย์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเรากำลังขยายไปสู่อากาศยานที่เป็นของราชการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกองทัพบกกองทัพเรือ กระทรวงเกษตรฯ ที่ไม่มีกรรมการกำกับการบิน

-เราต้องรักษาสมดุลในการซื้ออาวุธ ของสองฝั่งมหาอำนาจหรือไม่ บางทีตรงกลางก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน และก็อาจไม่ได้ดั่งใจเรา มีหลักคิดอย่างไร?

ขอเรียนว่า ความจริงมหาอำนาจ แต่ละประเทศก็มีข้อดีเยอะ แต่สิ่งที่เราต้องยึดถือคือ  ความต้องการความเหมาะสมของเราเป็นหลักก่อนการรักษาสมดุลก็เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาสัมพันธภาพและมิตรภาพเอาไว้ จริงๆงผมไม่ได้บอกว่ารักษาสมดุล เพียงแต่ว่าที่เราเป็นมิตรอยู่ เราเป็นมิตรทุกประเทศ เพราะฉะนั้นมิตรต้องดูแลมิตร ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน

“ทหารไม่คิดทำปฏิวัติ”

ระหว่างการสัมภาษณ์ช่วงหนึ่ง เมื่อสอบถาม”พลอากาศเอก พันธ์ภักดี -ผู้บัญชาการทหารอากาศ”ว่า คิดว่าจะมีเหตุให้มีรัฐประหารหรือไม่ “ผบ.ทอ.”ตอบกลับมาว่า”ไม่มีครับ”

-เป็นความเชื่อ?

ไม่มีครับ ผมเองก็ถือเป็นผู้บัญชาการ ทหารอากาศ ผมได้คุยกับผบ.เหล่าทัพ เรามองว่าปัจจุบันถึงอนาคต เราต้องไปกับประชาชนทุกคน ไปกับทุกคนที่อยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลฝ่ายค้าน เพราะเราเป็นประเทศที่โชคดี ไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม  คนยังทำมาหากินกันได้ และได้นอนในบ้านตัวเอง ยังมีทะเลให้เล่นน้ำ มีปลา มีภูเขาไปเที่ยว เราไม่ต้องหอบหมอน หอบเสื่อไปนอนที่อื่นเราก็ต้องปรับตัวอยู่ด้วยกันให้ได้และจะไม่มีรัฐประหารหรือ ปฏิวัติรัฐประหาร

-ทหารยุคนี้ไม่คิดแล้วใช่หรือไม่

ครับ ไม่คิดแล้วครับ

-ทหารทุกยุค ก็คิดว่าจะไม่มีแต่ก็จะมีเหตุ ดังแต่ละฝ่ายก็อย่าไปสร้างเหตุให้มันเกิดใช่หรือไม่

ครับผม ผมคิดว่าร่วมมือกันดีกว่า ช่วยเหลือดูแลประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไม่ได้ใหญ่โตนัก แล้วก็ไม่ได้เล็ก ทุกครั้งที่เราทำงานเราจะทำงานพร้อมกับรัฐบาลและประชาชนและเหล่าทัพอื่นตลอดเวลา เพราะเป้าหมายเราคือ เป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือความมั่นคงความปลอดภัยและความผาสุขของพี่น้องประชาชน อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะภัยพิบัติจากธรรมชาติเรามียุทโธปกรณ์ทรัพยากรซึ่งผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด เคียงข้างพี่น้องประชาชนในยามที่ลำบาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทอ. ส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 สกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก

ทอ.ปรับโครงสร้างใหญ่ เตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น 'กองทัพอากาศและอวกาศ'

พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ แถลงภายหลังประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ถึงการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศ ตามที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการ

ทอ.ส่งปฎิบัติการพิเศษไปเชียงใหม่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ทอ.ส่งกำลังพลจากกรมปฏิบัติการพิเศษที่ตั้งดอนเมืองไปเชียงใหม่ พร้อมทบทวนการฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำให้กับกำลังพลเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ประสบภัย

'ภูมิธรรม' แบ่งรับแบ่งสู้ สอบปมฉาวบริษัทสหรัฐ ติดสินบนจนท.กองทัพอากาศ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณี “สินบนข้ามชาติ” ได้รับรายงานจากกองทัพอากาศแล้วหรือไม่ว่า ยังไม่ได้รับรายงาน

ป.ป.ช. เร่งตรวจสอบ ปมบริษัทเอกชนสหรัฐฯ จ่ายสินบนหน่วยงานรัฐไทย

นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567

ผบ.ทอ. เคลียร์ปมฉาว! บริษัทรถไถดังสหรัฐฯ ติดสินบนเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงกรณี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ ลงโทษ บริษัท เดียร์ แอนด์ คอมพานี" (Deere & Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจรถแทรกเตอร์ในชื่อ จอห์น เดียร์ (John Deere) หลังพบข้อมูลการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของไทย