ศิริชัย ไม้งาม แกนนำพธม.รุ่น2 นักสู้พร้อมมีบาดแผล รอลุ้นคดีอาญาสนามบิน 18 ธ.ค.

แม้ถึงตอนนี้ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"(พธม.)ที่บางคนเรียกกัน"ฝ่ายเสื้อเหลือง"จะยุติบทบาททางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาสิบกว่าปีแล้ว แต่คดีความต่างๆที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯที่แกนนำและแนวร่วม ถูกฟ้องร้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง หลายคดี ก็ยังไม่สิ้นสุด อย่างเช่น คดีอาญากรณี กลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ ถูกบริษัทท่าอากาศยานไทย(ทอท.)ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาข้อหาชุมนุมปิดล้อมสนมบินทั้งสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2551 ก็จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลอาญา ที่เป็นศาลชั้นต้นในวันที่ 18 ธ.ค.2566 นี้ หลังมีการพิจารณาคดีกันยาวนาน แม้ในส่วนของคดีแพ่งจะยุติไปแล้ว ที่แกนนำพันธมิตรฯ ถูกศาลตัดสินให้ชดใช้ทางแพ่งหลายร้อยล้านบาท จนต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี-พิทักษ์ทรัพย์  

         ส่วนเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ก็ตัดสินยกฟ้อง คดีแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ถูกฟ้องคดีอาญา กรณีร่วมกันชุมนุมช่วง 25 พ.ค.-7 ต.ค.2551 ที่หน้ารัฐสภาที่เรียกกัน"คดีปิดล้อมสภาฯ"

         เรื่องราวการต่อสู้ของแกนนำพันธมิตรฯและแนวร่วม ฯ แม้เวลาจะผ่านมานานหลายปีแล้ว แต่ผลของการเคลื่อนไหว ในส่วนของคดีความที่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่สิ้นสุด จึงมีเรื่องราวที่ควรได้รับการถ่ายทอด-บันทึกไว้ ซึ่งคนหนึ่งที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯกับเราก็คือ "ศิริชัย ไม้งาม อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 -อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือกฟผ."

         โดย"ศิริชัย-อดีตแกนนำพันธมิตรฯรุ่นสอง"บอกเล่าเส้นทางชีวิตของตัวเองก่อนจะมาเป็นแกนนำนักเคลื่อนไหวการเมืองแถวหน้าว่า การเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ประสบการณ์จากการเป็นหนึ่งในทีมโค้ชผู้ฝึกสอนตระกร้อทีมชาติไทย ที่แข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่กรุงเทพมหานครและซีเกมส์ ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นได้มาหกเหรียญทอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานจิตอาสา และจากที่เคยทำงานด้านกีฬาดังกล่าว ที่ต้องเจอสภาวะกดดันในการแข่งขัน ก็ได้ประสบการณ์ที่ดี

         ...ต่อมาหลังเข้าไปทำงานที่กฟผ.ซึ่งในช่วงที่ประเทศไทย ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ผมเข้าไปทำงานในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พอเข้าไป ก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการและเป็นเลขาธิการฯสหภาพฯ เลย จากนั้นก็เป็นประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.ต่อเนื่องยี่สิบกว่าปีจนเกษียณ

         ประเทศไทยในช่วงปี 2540 ที่ไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจต้องเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่ก็มีเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องทำตามหลายเรื่อง

         ...และเรื่องหนึ่งก็คือ การให้รัฐบาลต้องออกกฎหมาย11 ฉบับ ที่ตอนนั้นเรียกกันว่ากฎหมายขายชาติ อีกทั้งต้องมีการแปรรูป-ขายรัฐวิสาหกิจ ยุคนั้น รัฐบาลชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็มีการขายโรงไฟฟ้าราชบุรี ก็ทำให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้าน มีม็อบพนักงานกฟผ.ที่คัดค้านการขายโรงไฟฟ้า รวมถึงคัดค้านพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ ที่เป็นหนึ่งในกฎหมายสิบเอ็ดฉบับที่ไอเอ็มเอฟ ให้ไทยต้องออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินและนำเงินไปชำระหนี้ไอเอ็มเอฟที่ยืมมา

         ต่อมาจะมีการเลือกตั้งปี 2544 นายทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทย และชูนโยบายต่างๆ เช่น จะทำสงครามยาเสพติด-สงครามความยากจน รวมถึงตอนนั้น เขาชูนโยบายจะไม่แปรรูป-ขายรัฐวิสาหกิจ โดยการเมืองช่วงนั้น แข่งกันระหว่างไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์

          ทำให้พวกเรากลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เรียกกันว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ก็ประกาศสนับสนุนไทยรักไทยและทักษิณให้เป็นนายกฯ เพราะตอนนั้นกลุ่มรัฐวิสาหกิจไม่เอารัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ไปออกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ

         "ศิริชัย-อดีตประธานสหภาพกฟผ."เล่าต่อไปว่า ต่อมาเมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นเป็นนายกฯ ปรากฏว่าสิ่งที่ไทยรักไทยเคยหาเสียงคือ ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ปรากฏว่าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว รัฐบาลไทยรักไทยกลับดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่งทั้ง อสมท. -การบินไทย-การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย-องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย-การสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยรัฐบาลทักษิณ ไม่ใช่แค่แปรรูป แต่ใช้วิธีการขายรัฐวิสาหกิจ ที่แตกต่างจากยุครัฐบาลชวน ที่ใช้วิธีนำกิจการบางอย่างในรัฐวิสาหกิจไปแปรรูปเท่านั้น เช่น การขายโรงไฟฟ้าราชบุรี แต่ยุคทักษิณใช้วิธีการคือขายทั้งหมด โดยใช้พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ แปรทุนให้กลายเป็นหุ้นแล้วเอาหุ้นไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขายหุ้นไป 49 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้ให้รัฐถือ 51 เปอร์เซ็นต์ 

         สำหรับกฟผ.รัฐบาลทักษิณ พยายามจะแปรรูปเหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆที่ทำไปแล้ว

         พอเริ่มมีการดำเนินการดังกล่าว ผมก็ลุกขึ้นสู้ โดยที่ช่วงแรก สังคม ก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนก็มาตำหนิพวกกฟผ.ที่คัดค้านการแปรรูป เช่นบอกว่าพวกเรากฟผ.เห็นแก่ตัว เพราะหากแปรรูปได้ จะได้มีเงินไปใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ และแปรรูปแล้วกิจการกฟผ.จะได้เจริญก้าวหน้า ทำไมต้องมาขัดขวาง ก็หาว่าพวกเรากฟผ.ที่คัดค้านเพราะเงินเดือนสูง กลัวเสียผลประโยชน์ กลัวไม่ได้โบนัส กลัวไม่ได้ใช้ไฟฟรี

         ..โดยที่ตอนนั้น ผมเคยได้ไปดูงานที่อังกฤษ กับฝรั่งเศส ได้เห็นเลยว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวโดยเฉพาะกิจการไฟฟ้า โดยแยกระหว่างระบบผลิต โรงไฟฟ้ากับระบบจำหน่ายไฟ ออกจากกัน โดยมีตลาดกลางคอยทำหน้าที่ซื้อขายไฟฟ้า สุดท้ายมีปัญหาเยอะ ไปต่อไม่ได้ ทำให้ผมถึงต่อสู้เรื่องนี้อย่างถึงที่สุด

         ช่วงนั้น สู้กันร่วมสี่ร้อยกว่าวัน ตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยรักไทยเริ่มมีการขยับแปรรูปกฟผ.ด้วยการจัดตั้งบริษัทกฟผ.จำกัด (มหาชน) แต่สุดท้าย ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะพอเริ่มระดมทุน พวกเราในกฟผ.ก็เคลื่อนไหวกับกลุ่มต่างๆ นำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นแกนนำ -สุริยะใส กตะศิลา ที่ตอนนั้นอยู่ครป.รวมทั้งสิ้น 11 คน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยมีทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ เป็นหัวหน้าทีมฝ่ายกฎหมายให้พวกเราในฐานะผู้ร้อง

         จนในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่ากระบวนการแปรรูปกฟผ.ของรัฐบาลทักษิณ ในเวลานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ถือเป็นชัยชนะของประชาชน

         โดยที่ตอนนั้น มีการจัดตั้งบริษัทกฟผ.จำกัด เรียบร้อยแล้วด้วย มีการกระจายหุ้นให้กับพนักงาน โดยที่ตอนนั้นผมกับเพื่อนๆ รวมกันประมาณยี่สิบกว่าคน ประกาศไม่รับหุ้นกฟผ. ทั้งที่พนักงานคนไหน ไม่มีเงินมาซื้อหุ้น ก็มีการบริหารจัดการหาแหล่งเงินมาให้พนักงานกู้ยืมได้

         "ศิริชัย-อดีตประธานสหภาพกฟผ."ย้อนเรื่องราวการต่อสู้ในครั้งนั้นไว้ว่า การรับหุ้นกฟผ.ตอนนั้น หากรับไปแล้ว ก็เหมือนกับการถูกปิดปาก เพราะถ้ารับไป ก็จะทำให้ไม่มีโอกาสได้เคลื่อนไหวต่อสู้ เพราะคุณได้ผลประโยชน์ไปแล้ว

         หากตอนนั้นผมไปรับหุ้นกฟผ.ที่หากรับ ก็ได้เยอะน่าจะร่วมๆ ห้าหมื่นหุ้น แต่ผมไม่รับ โดยหากผมไปรับหุ้นไว้ก่อน ก็ทำให้โอกาสที่จะฟ้องศาลปกครองอาจต้องพับไป ซึ่งสมัยรัฐบาลชวน ที่มีการขายโรงไฟฟ้าที่ราชบุรี ผมก็ไม่ได้รับหุ้นที่ตอนนั้นหากรับก็น่าจะประมาณหนึ่งหมื่นหุ้น

         ..ผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ทำให้ ความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของรัฐบาลทักษิณ เวลานั้น และรัฐบาลอื่นๆ จนถึงตอนนี้มันยุติลง เพราะตอนนั้น หากกฟผ.แปรรูปได้ ก็จะทำให้ความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ตามมา เพราะตอนนั้นเขาเตรียมไว้หมด จะมีการแปรรูปองค์กรอื่นอีก เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาภูมิภาค การท่าเรือแห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม

         รัฐวิสาหกิจที่ดีๆ รัฐบาลตอนนั้นเขาพร้อมจะแปรรูป แต่พอเกิดกรณี กฟผ.ที่แปรรูปไม่สำเร็จ ก็ทำให้ความพยายามจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ หยุดหมด

         ...ผลก็คือ ทำให้พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ ก็หยุดไปด้วย ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาอีก เพราะหากทำ ก็จะถูกต่อต้านจากประชาชน ที่มีการเอาสมบัติชาติไป แล้วอ้างว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ แต่ข้อเท็จจริงก็คือมันเป็นการไปตอบแทนผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนกับที่เห็นอย่างเช่น ทอท.-การบินไทย-อสมท.

เส้นทางชีวิตนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน  จากประธานสหภาพฯกฟผ. สู่แกนนำพันธมิตรฯเสื้อเหลือง

         "ศิริชัย"เล่าเส้นทางจากแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.จนมาเข้าร่วมเคลื่อนไหวการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เริ่มเปิดตัวในช่วงปี 2548 ในยุคเทอมสองของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ภายใต้การนำของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล -พลตรีจำลอง ศรีเมืองว่า ในช่วงแรกหลังนายสนธิ เริ่มมีการเคลื่อนไหวจัดรายการเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเปิดโปงระบอบทักษิณ จนการเคลื่อนไหวขยายตัวไปจนมีการนัดชุมนุมทางการเมืองกันตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร(สวนลุมพินี-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ลานพระบรมรูปทรงม้า-สนามหลวง เป็นต้น) ที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

         พวกผมในนามของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.ที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ตอนนั้นมีแกนนำคือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข -สาวิตย์ แก้วหวาน ทั้งหมด ก็ประกาศเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ

          จนต่อมามีการตั้งห้าแกนนำพันธมิตรฯ ที่หนึ่งในห้าแกนนำก็คือนายสมศักดิ์ โกศัยสุข โดยผมก็เข้าไปช่วยดูแลภาพรวมการเคลื่อนไหวเช่นการทำความเข้าใจกับพี่น้อง-เพื่อนๆในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยการทำความเข้าใจกับพวกเขาว่า ได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศจากระบอบทักษิณ ที่ตอนนั้นถือว่ากลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งในแนวร่วมพันธมิตรฯ เป็นพลังสำคัญให้กับภาคประชาชน 

         จนสุดท้ายมีการทำรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 โดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในเวลานั้น ที่ทำรัฐประหาร ในนาม คมช. โดยอ้างเหตุผลหนึ่งในการทำรัฐประหารว่า เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยเกิดการเผชิญหน้ากันเอง เพราะทราบมาว่าจะมีกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ที่จัดตั้งกันมา เตรียมจะเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรฯที่นัดชุมนุมใหญ่ 20 ก.ย. 2549 หลังคมช.ทำรัฐประหาร กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ลดบทบาทลงไปหลังมีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ประท้วงขับไล่รัฐบาลนอมินี จนเกิดคดีความชุมนุมปิดล้อมสนามบินฯ

         "ศิริชัย ไม้งาม" กล่าวต่อไปว่า ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ในช่วงปี 2550 จนได้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นรัฐบาลนอมินีของทักษิณ ชินวัตร และเมื่อรัฐบาลสมัคร บริหารประเทศไปได้สักระยะ กลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ ก็ออกมาเคลื่อนไหวนัดชุมนุมการเมืองเพราะเห็นว่ารัฐบาลดังกล่าวคือรัฐบาลนอมินี จนมีการออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวกันทางการเมือง มีการปักหลักชุมนุมประท้วงรัฐบาล ตั้งแต่หน้าทำเนียบรัฐบาลเรื่อยไปที่เป็นการชุมนุมระยะยาว และมีการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล

         จนช่วงหนึ่งรัฐบาลก็มีการใช้มาตราการดำเนินคดีออกหมายจับห้าแกนนำพันธมิตรฯ จนห้าแกนนำพันธมิตรฯ ออกไปเคลื่อนไหวภายนอกจุดชุมนุมใหญ่ไม่ได้ ทำให้ต้องมีการตั้งแกนนำพันธมิตรชุดสอง ที่มีการเลือกนายสำราญ รอดเพชร -สาวิทย์ แก้วหวาน และตัวผมเป็นแกนนำพันธมิตรฯรุ่นสอง

         จากนั้นเมื่อนายสมัคร หลุดจากตำแหน่งนายกฯจากคดีชิมไปบ่นไป ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทางทักษิณ ก็ดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยขึ้นมาเป็นนายกฯแทน และรัฐบาลสมชาย มีการนัดหมายแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเดิม ตรงถนนอู่ทองใน แกนนำพันธมิตรฯ ก็นัดหมายและเคลื่อนขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมไปปักหลักที่หน้ารัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลสมชาย เข้าไปแถลงนโยบายรัฐบาล จนต่อมาเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  และมีการตั้งแกนนำพันธมิตรฯและผู้ประสานงานพันธมิตรฯ เพิ่มเติมเช่น นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง  นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 

         หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาลสมชาย เข้ามาบริหาร แต่เข้าทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ ก็ใช้ที่ทำการของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ที่ตั้งอยู่บริเวณสนามบินดอนเมือง กลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีการเคลื่อนไหนไปชุมนุมกันที่บริเวณแถวๆ ที่ทำการของทอท.แต่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่บริเวณสนามบิน โดยระหว่างนั้น การชุมของพันธมิตรฯ ที่มีทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และที่ดอนเมือง สถานการณ์ก็ตึงเครียด เพราะมี เอ็ม 79 ไปลงที่ทำเนียบรัฐบาล ที่พันธมิตรชุมนุมกันทุกคืน ทำให้มีคนบาดเจ็บ-เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

         ระหว่างนั้น ตัวนายสมชาย บินไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศ และกำลังจะกลับประเทศไทย ก็ทำให้มวลชนส่วนหนึ่งเห็นว่า ควรไปเคลื่อนไหวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่าไม่ให้นายสมชาย เข้าประเทศ ก็เลยเคลื่อนไหวไปชุมนุมกันที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิก่อนที่สมชายจะเดินทางเข้ามา

         "ศิริชัย"เล่าถึงการชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิตอนนั้นไว้ว่า ช่วงการชุมนุมดังกล่าว ทางกลุ่มพันธมิตรฯ กระจายการชุมนุมออกเป็นสามเวที คือทำเนียบรัฐบาล-ดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งการที่มวลชนมีอยู่มาก แล้วชุมนุมแบบดาวกระจาย มันก็มีส่วนดี เพราะไม่อย่างนั้น หากชุมนุมจุดเดียว ก็จะถูกยิงทุกวันทุกคืน ก็ทำให้มีการแบ่งหน้าที่ให้แกนนำ-ผู้ประสานงานในการไปดูแลมวลชน

         การที่เราไปที่สนามบิน เราไม่ได้คิดจะไปปิดสนามบิน แต่เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ มวลชนไปก่อนแกนนำด้วย เราก็ตามไป เพื่อคุยกับมวลชน และสุดท้าย สนามบินคือผู้บริหารของทอท.และเจ้าหน้าที่ของทอท. ก็มาใช้วิธีปิดสนามบิน

         ทั้งที่เราไม่ได้ไปกีดขวางการทำงาน หรือไปทำอะไรที่กระทบกับความปลอดภัยในการขึ้น-ลงของเครื่องบิน หรือผู้โดยสารอะไรต่างๆ เพราะเราชุมนุมอยู่ด้านนอก ไม่ได้ไปขวางทุกประตูเข้าออกของสนามบิน ยังมีประตู เปิดเข้าออกได้ตามปกติ แต่สุดท้าย ทอท.ก็ประกาศยุติการบิน ปิดสนามบิน ทำให้ผู้โดยสารขาเข้า ขาออกก็เดินทางไม่ได้ แต่ก็มีบางคณะเราก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ อย่างคุณพิภพ ธงไชย ก็ช่วยพี่น้องมุสลิมภาคใต้ที่จะไปแสวงบุญที่ นครเมกกะ ก็ประสานให้เครื่องบินจากอิหร่านไปลงที่อู่ตะเภา แล้วก็ประสานเอารถขสมก.พาทั้งหมดไปส่งขึ้นเครื่องที่อู่ตะเภาได้ ยืนยันว่า การที่สนามบินปิดตอนนั้น ไม่ได้ปิดเพราะพันธมิตร แต่ปิดเพราะทอท.ไปประกาศปิดเอง  

         ..คือเขา(ทอท.) อยากโยนภาระทั้งหมดมาให้กับพันธมิตรฯ ว่าเราไปทำการปิดสนามบิน ทั้งที่ตรงนั้นทรัพย์สินเป็นแสนล้าน ยังไง เขาก็ควรต้องให้มีเจ้าหน้าที่ มีรปภ.อยู่ประจำการไว้ เราอยู่แค่ด้านหน้าของอาคารสนามบิน แต่คุณปิดทั้งหมด เพื่อโยนภาระให้เรา เหมือนกับตกกระไดพลอยโจร ที่อาจทำให้มีมือที่สาม มีก่อการร้ายมาก่อวินาศกรรมได้ แล้วเขาก็มาโยนข้อหาก่อการร้ายให้กับเราด้วย ทั้งที่พวกเราพันธมิตร ไม่มีอาวุธใดๆเลย

ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา คดีสนามบิน 18 ธ.ค.

         "ศิริชัย-อดีตแกนนำพันธมิตรฯรุ่นที่สอง"เปิดเผยว่า ศาลอาญา ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัททอท.แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯว่าปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะมีการอ่านคำพิพากษาวันที่ 18 ธ.ค2566 .นี้ โดยสาเหตุที่คดีนี้มีการสู้คดีกันนานเพราะมีการตั้งข้อหาหนักให้กับกลุ่มพันธมิตร โดยมีจำเลยร่วมร้อยคน ทำให้ศาลก็มีการแบ่งกลุ่มจำเลยออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มแกนนำประมาณสามสิบกว่าคน กับอีกกลุ่มคือผู้ร่วมชุมนุมอีกประมาณเจ็ดสิบกว่าคน

         ..จำเลยกลุ่มแรกพวกแกนนำ มีการสืบพยานเสร็จหมดแล้วทั้งพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย โดยจะมีการนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นวันที่ 18 ธ.ค.นี้ โดยการสู้คดีที่ผ่านมา เราก็ยืนยันว่าเราไม่ได้ปิดสนามบินทั้งสองแห่ง ซึ่งคดีนี้ มีการตั้งข้อหาจำเลยร่วมสิบห้าข้อหา ตั้งแต่ก่อการร้าย จนถึงกีดขวางอะไรต่างๆ ซึ่งคดีที่จะตัดสิน 18 ธ.ค.นี้ จำเลยบางคนปัจจุบันก็เสียชีวิตแล้วเช่น ศรัณยู วงษ์กระจ่าง สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ โดยตอนนี้จำเลย อย่างผม ก็เตรียมหลักทรัพย์ไว้ยื่นขอประกันตัวไว้แล้ว

         "ศิริชัย"กล่าวอีกว่า นับแต่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองและมีการดำเนินคดีต่างๆ กับแกนนำพันธมิตรฯ จะพบว่ากลุ่มพันธมิตร ให้ความร่วมมือและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่มอบตัว -ส่งฟ้องทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ รวมถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลในการปล่อยตัวชั่วคราว เช่นเมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็ไม่ได้ออกไปก่อเหตุวุ่นวายอะไร จนจะเป็นเหตุให้ถูกยื่นถอนประกัน จะพบได้เลยว่า ฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เคยออกไปสร้างความวุ่นวายอะไร เราเคารพในเรื่องนี้ อย่างเมื่อแพ้คดี มีการตัดสินจำคุกแกนนำพันธมิตรฯ ในคดีต่างๆ เช่น การยึดทำเนียบรัฐบาล แกนนำก็เข้าคุกตามคำตัดสิน ทุกคนก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และน้อมรับผลคำพิพากษา

         "หากถามว่านับแต่ออกมาเคลื่อนไหว ได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ ก็มีที่กระทบกับวิถีชีวิต และตลอดเวลาของการสู้คดีร่วมสิบกว่าปี พันธมิตร ก็ไปสู้คดี ไปศาลตลอด เราเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และน้อมรับผลคำตัดสิน ไม่ใช่ว่า คดีไหนที่ศาลตัดสินแล้วเป็นประโยชน์ก็บอกว่าศาลยุติธรรม แต่หากคดีไหนเราติดคุกแล้วจะออกมาโจมตีศาล พวกเราไม่ใช่ ศาลตัดสินว่าเราผิด เราก็ยอมรับ เพราะเราก็มั่นใจในสิ่งที่เราทำ ว่าเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างบริสุทธิ์ใจ และยืนยันได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และพยายามรักษาชีวิตของพี่น้องพันธมิตรทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ว่าเราจะพยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ บ้านเมือง และตรวจสอบ กำจัดการเมืองที่ชั่วช้า"

ผลกระทบหลังแพ้คดีแพ่ง ชุมนุมสนามบินฯ ปี 2551

         "ศิริชัย-อดีตแกนนำพันธมิตรฯรุ่นสอง"กล่าวถึงกรณีเมื่อ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา  มีการเผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แกนนำพันธมิตรฯรวม 11 ราย หลัง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) ยื่นฟ้องล้มละลาย โดยมีชื่อของตนเองเป็นลูกหนี้รายที่ 9  ว่า เรื่องที่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องเรื่องกล่าวหาว่ามีการปิดสนามบินนั้น ในส่วนของ"คดีแพ่ง" จะมีหน่วยงานจะฟ้องเรียกค่าเสียหายสามหน่วยงานคือ บริษัท ทอท.จำกัด-บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย  และบริษัทการบินไทย

         ..ทางบริษัททอท.เป็นผู้ดำเนินการยื่นฟ้องก่อนหน่วยงานอื่น โดยฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ซึ่งในส่วนของคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นตัดสินเหมือนกับให้เราแพ้คดี โดยทอท.เรียกค่าเสียหายมาร่วมแปดร้อยกว่าล้านบาท ทั้งที่บอกตรงๆ ความเสียหายในส่วนของสนามบินไม่มีเลย โดยการที่ทอท.สั่งให้เจ้าหน้าที่ของสนามบินออกจากสนามบินทั้งหมด เหมือนกับเป็นการโยนภาระมาให้แกนนำพันธมิตร แบบตกกระไดพลอยโจน ตอนนั้นแกนนำก็เกรงจะเกิดมือที่สามเข้ามาสร้างวุ่นวายเช่นวางแผนเผาสนามบินแต่สุดท้ายเราก็รักษาสนามบินทั้งสองแห่งไว้ได้ เพราะเรามีการวางระบบป้องกันไว้อย่างดี จนทรัพย์สินของทอท.ไม่ได้มีอะไรเสียหายแต่อย่างใด

         เมื่อผลคำตัดสินคดีแพ่งของศาลออกมา โดยที่เหมือนกับเราเป็นฝ่ายแพ้คดี ต่อมาก็มีการติดตามทรัพย์ของแกนนำแต่ละคน มีการฟ้องล้มละลาย อันนี้แค่เฉพาะของการทอท.

         ส่วนบริษัทวิทยุการบินฯ ก็มีการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ต่อมาก็ยุติ เพราะเขาจะรอให้คดีอาญาจบหมดก่อน ส่วนบริษัทการบินไทย ก็มีการฟ้องแต่ยังไม่ดำเนินการ เพราะรอให้คดีอาญาจบก่อนเช่นกัน แต่ทอท.เดินบริษัทเดียว ที่ทำแบบจะเอาเป็นเอาตาย ทั้งการฟ้องร้องคดีแพ่งและเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

         ..ต่อมาก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ออกมา อดีตแกนนำพันธมิตรทุกคนก็ลำบาก โดยหลายคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เขาอาจเตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว แต่ตอนนั้นบางคนที่ยังอยู่ในช่วงวัยทำงาน ยังทำงานหารายได้ ก็ได้รับผลกระทบ ต้องมีการไปคุยกับเจ้าหน้าที่-พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อสอบถามว่า เมื่อมีรายได้เข้ามา จะมีการบริหารรายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างไร ก็ต้องขออนุญาติเขาให้เขาเห็นชอบ เช่น ยกตัวอย่าง บางคนทำงานมีรายได้เข้ามาเดือนละห้าหมื่นบาท ก็ต้องส่งให้เขา 25,000บาท ส่วนอีก 25,000 บาท ก็ยึดส่งเข้ากองกลาง รายละเอียดลักษณะนี้ก็ต้องไปคุยกับเขา เพราะวันนี้เขาทำหน้าที่แทนเราทั้งหมด เราจะทำนิติกรรม ธุรกรรมต่างๆ ไม่ได้เลย แม้กระทั่งการจะไปธนาคารเพื่อเปิดสมุดบัญชี หรือการไปขอกู้เงินเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจอะไรต่างๆ ก็ทำแทบไม่ได้เลย และหากมีรายได้เข้ามา ก็ต้องไปรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

         "ศิริชัย-อดีตแกนนำพันธมิตรฯ"เล่าต่อไปว่า หลังมีคำตัดสินคดีแพ่งจนถึงที่สุดออกมา ก็มีการติดตามอายัดทรัพย์สินต่างๆ มีการติดตามบัญชีธนาคาร โดยมีการส่งชื่อไปที่ธนาคารทุกแห่ง  แล้วธนาคารก็ล็อกเลขที่บัญชีเงินฝากอะไรต่างๆ ตามชื่อที่ส่งมาเอาไว้ ทำให้ทำธุรกรรมปกติต่างๆ ไม่ได้ พูดง่าย ๆคือเขาเอาเงินทั้งหมดในบัญชีไปไว้ตามกระบวนการ เช่น บางคนมีเงินอยู่ในธนาคารห้าพัน ไปทำธุรกรรมถอนเงิน ธนาคารบอกว่าทำไม่ได้ หากจะทำธุรกรรม ก็ต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ บางคนเคยเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา ก็จะได้เงินจากกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาเดือนละหนึ่งหมื่นสองพันบาท จากปกติที่เคยได้ ก็จะไปถอนออกมาไม่ได้ บางคนเคยได้เงินผู้สูงอายุเดือนละหกร้อยบาท ตอนนี้ก็ถอนไม่ได้ โดนล็อกไว้       

         สำหรับตัวผม ที่เคยเป็นอดีตพนักงานกฟผ.ก็จะมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหมือนกับเป็นเงินบำเน็จบำนาญ แบบเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยจะเป็นเงินที่ได้จากกองทุนที่ตั้งตามกฎหมายที่ให้นายจ้างกับลูกจ้าง ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นเงินยังชีพในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยให้ส่งฝ่ายละเท่ากัน เงินตรงนี้ ผมสะสมตั้งแต่ผมเริ่มทำงานที่กฟผ.จนเกษียณ รวมเวลาร่วมสี่สิบปี จากส่งแค่หลักพันต่อเดือน มาเป็นส่งหลักหมื่นต่อเดือน ซึ่งเงินส่วนนี้พนักงานกฟผ.ก็จะต้องส่งทุกเดือนเช่นบางคนได้เงินเดือนเก้าหมื่นบาท ก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 11 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณหมื่นบาท และทางกฟผ.ก็ส่งเข้าไปอีกส่วนหนึ่งเท่ากัน

          ตอนแรกผมคิดว่ากฎหมายคุ้มครอง เป็นเงินยังชีพ ที่ไม่สามารถมายึดหรือล้วงเอาไปได้ ผมก็เลยคาไว้ แล้วตอนหลังศาลตัดสินคดีแพ่งเสร็จแรกๆ เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ได้เข้ามาดูตรงนี้ ตอนนั้น ก็คิดว่าเงินส่วนนี้คงเข้ามาเอาไปไม่ได้ เราก็คงไว้ แต่สุดท้าย พอประกาศพิทักษ์ทรัพย์เสร็จ ก็ทำธุรกรรมอะไรกับเงินดังกล่าวไม่ได้แล้ว คือหากจะเอาออก ก็คงได้ แต่เราก็ระมัดระวัง ไม่อยากทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ไม่อยากทำอะไรที่เสียหาย เหมือนกับว่าเราไปผิดคำสั่งศาล เพราะเราเคารพศาล เลยไม่ได้นำเงินดังกล่าวออกมาก่อน

ไม่เคยเสียใจ เคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ

         -สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากย้อนเวลากลับไปได้ คิดว่าจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรหรือไม่?

         ผมเป็นคนที่เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว ก็จะต่อสู้ อย่างเช่นเรื่องหุ้น กฟผ.ที่มีการไปจัดตั้งบริษัทกฟผ.ไว้แล้ว ตอนนั้นใครจะคิดไว้ กฟผ.จะแปรรูปไม่สำเร็จ ตอนที่มีการเอาหุ้นไปแจกกัน ก็มองเห็นเงินล้านอยู่ข้างหน้า แต่ผมไม่รับ นี้คือจุดยืนของผม ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อองค์กร ถ้าผมไปรับหุ้นตอนนั้น แล้วผมจะเงยหน้าขึ้นมาได้อย่างไร คนก็จะมองว่าที่ผมเคลื่อนไหว แต่พอมีผลประโยชน์มาให้ ก็รับไว้

         การเคลื่อนไหวในภาคประชาชนที่ผ่านมา ผมกล้าบอกเลยว่า ผมไม่เคยรับเงินใครมาเคลื่อนไหว

          ผมยืนยันได้ว่า ไม่มีใครมาซื้อผมได้ ดังนั้น เงินที่เสียไป หรือการที่ตัวเองต้องโดนดำเนินคดี เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำ เราต่อสู้เพื่อส่วนรวม

          ดังนั้น หากถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ แล้วถามว่าจะเข้าร่วมเป็นแกนนำพันธมิตรหรือไม่ ก็ตอบได้ว่า ก็เข้าร่วม โดยที่ตอนแรกที่เข้าไป ก็ไม่ได้คิดว่าจะขึ้นมาเป็นแกนนำ แต่เมื่อเขาเลือกให้เราขึ้นมาเป็นผู้นำ เราก็พยายามทำหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุม ดูแลความปลอดภัยต่างๆ ไม่ให้เกิดความสูญเสีย ทำให้มวลชน ก็เชื่อมั่น ศรัทธา และให้ความร่วมมือกับเรา ทำให้เห็นว่า พันธมิตรฯ  ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เราเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ ถูกไล่ยิง โดนกระทืบ ตำรวจเหยียบ คือโดนทุกอย่างเลย แต่เราก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ตอบโต้กลับ นี้คือพันธมิตรฯ ที่มีอุดมการณ์มุ่งมุ่น

         ประสบการณ์และสิ่งดีๆที่ได้ในชีวิตในการเป็นนักเคลื่อนไหวในช่วงก่อนหน้านี้ก็คือการได้เจอคนดีๆ คนที่ทำงานเพื่อชาติ บ้านเมือง เพราะพันธมิตรฯ ที่มาร่วมกันต่อสู้ ก็คือคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คนที่มีความมุ่งมั่นอยากเห็นบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า บ้านเมืองมีการพัฒนาอย่างถูกต้อง ต่อสู้กับนักการเมืองที่ใช้อำนาจที่ฉ้อฉล เป็นพลังการตรวจสอบของภาคประชาชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์ ทุกคนมาเข้าร่วมกันด้วยการเสียสละจริงๆ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

         "ก็ต้องขอบคุณครอบครัวที่ให้กำลังใจเสมอมา เขาก็มีความห่วงใยเรา ตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงม็อบกฟผ.ที่คัดค้านการแปรรูปแล้ว จนมาถึงพันธมิตรฯ เขาก็เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อชาติบ้านเมืองจริงๆ เพราะครอบครัว ก็สนใจการเมือง เขาก็รู้ว่านักการเมืองเป็นอย่างไร"

         เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับคำพูดที่นักเคลื่อนไหวการเมืองมักพูดกันว่า "นักรบต้องมีบาดแผล"โดย "ศิริชัย-อดีตแกนนำพันธมิตรฯ"บอกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา ก็เหมือนกับอย่าง พระธุดงค์ คือหากอยากเป็นพระที่สวดมนต์อยู่ในวัด ก็ไม่ต้องไปฝ่าดงหนาม เสี่ยงจะโดนพิษร้ายกัดต่อย ก็อยู่วัดก็ได้ ปฏิบัติธรรมในวัดไป แต่ถ้าเป็นพระธุดงค์ ก็ไปธุดงค์เพื่อแสวงหาความจริงของโลกเพื่อให้เห็นสัจธรรม เมื่อไปเดินธุดงค์ในป่า ก็ต้องเจอหนาม อาจต้องเจองู เจอสัตว์ป่าอะไรต่างๆ

         "เรื่องของการเป็นนักรบ เป็นธรรมดา ต้องมีบาดเจ็บ อาจต้องสูญเสียอวัยวะ หรืออาจต้องสูญเสียชีวิต ผมคิดว่านี้คือพันธมิตรฯ ที่เห็นหมดสัจธรรมต่างๆ บางคนมา แล้วเขาต้องเสียชีวิตในช่วงการเคลื่อนไหวเช่นในช่วงสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อ 7 พฤษภาคม 2551 หลายคนก็บาดเจ็บต้องพิการจนถึงวันนี้ เขาเหล่านี้มาเพื่ออะไร ทั้งที่รู้ว่าไม่ได้สนุกเลย แต่มาเพื่อต่อสู้เพื่อบ้านเมือง"  

         -ในการเป็นนักเคลื่อนไหวแล้วต้องเจอคดีมากมาย ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่กับบางคนเช่นนายทักษิณ ชินวัตรที่โดนตัดสินคดีทุจริต แล้วตอนนี้ ก็ไปนอนรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ มีความรู้สึกอย่างไรหรือไม่?

          ผมคิดว่ากฎหมายก็ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ เพียงแต่คนที่ใช้กฎหมาย จะเคารพกฎหมายหรือไม่ หรือว่าจะเลือกปฏิบัติ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก็ต้องทบทวนบทบาทตัวเองว่า ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแล้วเลือกปฏิบัติแล้วสุดท้ายจะไปบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร แล้วยิ่งวันนี้เพื่อไทยอยู่ในอำนาจ แล้วจะปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้หรือ

หากจะออก "กม.นิรโทษกรรม" ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

         "ศิริชัย-อดีตแกนนำพันธมิตรฯรุ่นที่สอง"ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบตามมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการถูกฟ้องร้องดำเนิน ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง เขาให้ความเห็นหลังเราถามถึงว่า มองเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองและการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมหรือคดีแสดงออกทางการเมืองอย่างไร?

กับคำถามดังกล่าว ”ศิริชัย” มีข้อคิดเห็นว่า ตัวผมเอง ก็อยู่ในฐานะที่จะมีส่วนได้เสีย ในเรื่องหากจะมีการนิรโทษกรรม แต่ก็ได้เห็นว่า บ้านเมืองเรา นักการเมืองที่เคยใส่กัน เคยโจมตีกัน เช่นบอกว่าอีกฝ่ายเป็นเผด็จการ แต่หลังเลือกตั้งมา จะมาตั้งรัฐบาลก็บอกว่าต้องมีรัฐบาลปรองดอง ต้องสมานฉันท์เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า

         "เรื่องที่จะให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรืออะไรต่างๆ เช่น ล้างมลทิน ก็ต้องออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาคดีความ ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกัน ถามว่าคนมีความผิด แล้ววันนี้มันตามมา มันไม่ได้โยงแค่พันธมิตร -นปช. -กปปส. แต่ยังมีด้อมส้มอะไรต่างๆ มันจะไปใหญ่ ที่สุดท้าย จะไปกระทบชาติ ศาสนา และสถาบันฯ ไปกระทบความสามัคคีของคนในชาติ อันนี้ก็ต้องดูให้ดี ถามว่าถ้าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แล้วทำให้อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม จะเป็นกระแสที่จะตามมา ที่บอกว่าอยากจะเห็นความปรองดองของคนในชาติมันจะเกิดขึ้นหรือไม่"

         เมื่อถามถึงว่า หลังมีการเปิดสภาฯสมัยประชุมหน้า หากจะมีการขับเคลื่อนเรื่องการออกพรบ.นิรโทษกรรมฯ เช่น หากฝ่ายพรรคการเมืองซีกรัฐบาล มีการเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาฯ เพื่อประกบกับร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอไปก่อนหน้านี้ "ศิริชัย"ตั้งคำถามกลับมาว่า เรื่องนี้ ก็ต้องถามว่ามีความจริงใจหรือไม่ ทั้งที่คนของฝ่ายเพื่อไทยเองก็โดนดำเนินคดี อย่างการชุมนุมของนปช.ที่แกนนำไปปลุกผู้เข้าร่วมการชุมนุมให้ทำลายสถานที่ต่างๆ แล้วบอกว่าจะรับผิดชอบเอง ที่ก็คือการปลุกทางการเมือง  สุดท้าย คุณจะไม่คิดจะนิรโทษให้เขาหรือ วันนี้คุณอยู่ในอำนาจแล้ว ก็เลยอาจทำให้มองไม่เห็นมวลชนที่เคยออกมาช่วงนั้น ก่อนหน้านี้ ก็เคยได้ยินที่มีแกนนำนปช.บอกว่าเหมือนเขาโดนทิ้ง คือพอโดนดำเนินคดี ก็ทิ้งเขาเลย เขาสู้เพื่อให้นักการเมืองกลับสู่อำนาจ แต่พอนักการเมืองมีอำนาจเคยหันกลับไปดูเขาหรือไม่ แต่พันธมิตรฯยังดี มีกองทุนฯ มีทนายมาคอยช่วยดูเรื่องคดีให้ มีการช่วยแบ่งเบาเยียวยาให้ 

         เมื่อถามย้ำว่า เห็นว่าตอนนี้ถึงเวลาหรือยัง ที่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่พูดกันมานาน คำตอบที่ได้ "ศิริชัย"ระบุว่า

         "ผมคิดว่าเพื่อลดความขัดแย้ง ถึงเวลามันก็ต้องทำ แต่ใครจะเป็นคนทำ และหากทำแล้ว ก็ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อะไรที่ให้ได้ อะไรให้ไม่ได้ ก็ต้องอธิบาย ต้องมีการรับฟังจากทุกส่วนให้ได้มีโอกาสพูดคุยกัน  และคนที่หากจะได้รับการนิรโทษกรรม ก็ต้องมีสำนึกด้วย เพราะทุกอย่างมันก็เกิดจากนักการเมือง เพราะหากนักการเมืองไม่ทุจริตคอรัปชั่น เคารพกฎหมาย มันก็ไม่มีการชุมนุม ไม่มีการประท้วง ไม่มีการขับไล่"   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สนธิ' ประกาศปีหน้าทำ 3 เรื่อง ปลุกไล่รัฐบาล เป็นการเดินครั้งสุดท้ายในชีวิต

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ช่องยูทูบที่ใช้ชื่อว่า Sondhitalk ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิ

อาลัย 'เทิดภูมิ ใจดี' อดีต สส.ศรีสะเกษ แนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ เสียชีวิตแล้ว

นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย นักวิชาการอิสระ และอดีตแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า วันนี้ 22 เมษายน 2567 เวลาพลบค่ำ

แกนนำพันธมิตรฯ น้อมรับคำพิพากษา ย้ำชุมนุมโดยสันติ ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฎ-ก่อการร้ายฯ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

ด่วน! ศาลยกฟ้องพันธมิตรฯบุกสนามบิน สั่งปรับจำเลย 13 คน คนละ 20,000 บาท

ที่ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินดอนเมือง คดีหมายเลขดำ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 32 คน