สรวงศ์ เทียนทอง-เลขาธิการพรรคพท. ในภารกิจ นำทัพกลับมา ชนะเลือกตั้ง กับความพร้อม ‘อุ๊งอิ๊ง’ เป็นนายกฯ

หลัง"พรรคเพื่อไทย"มีการปรับทัพใหญ่เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการที่"อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร"ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลถูกจับตามองอย่างมากว่าหลังจากนี้ ทิศทางพรรคเพื่อไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะกับภารกิจสำคัญคือต้องทำให้พรรคเพื่อไทย กลับมายิ่งใหญ่ -ชนะเลือกตั้งอีกครั้งให้ได้ หลังที่ผ่านมา นับแต่ มีการตั้งพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544  จนมาถึงพรรคพลังประชาชนและมาพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาตลอด แต่กับการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อ 14 พ.ค. 2566 เป็นครั้งแรกที่ เพื่อไทย เสียแชมป์ให้กับ  พรรคก้าวไกล ที่ชนะเลือกตั้ง โดยมีพรรคเพื่อไทยมาอันดับสอง

"ไทยโพสต์"โดยรายการ"อิสรภาพแห่งความคิด"ได้สัมภาษณ์พิเศษ "สรวงศ์ เทียนทอง -เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  -ส.ส.สระแก้ว 4 สมัย -อดีตรมช.สาธารณสุข"กับบทบาทสำคัญในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ถึงการขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้

การสัมภาษณ์เริ่มต้นขึ้นด้วยการถามถึงการเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่ง"สรวงศ์-เลขาธิการพรรคเพื่อไทย"เล่าให้ฟังว่า ได้มีการพูดคุย โดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณแพทองธาร ชินวัตร ได้มีการทาบทามว่าขอให้มาช่วยงานได้หรือไม่ ผมก็ได้ถามว่ สโคปงานเป็นอย่างไร ผมจะเข้าไปช่วยงานพรรคอย่างไร ตอนแรกยังไม่ได้คุยกันเรื่องตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ว่าทางหัวหน้าพรรค มีทีมงานในการทำงาน มีการไปสอบถามสมาชิกพรรค -ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยว่า อยากได้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยแบบใด ก็มีชื่อผมขึ้นมา ที่ต้องขอขอบคุณสมาชิกพรรคเพื่อไทยทุกคนที่ลงคะแนนให้ผม

-หัวหน้าพรรค มีการไปเช็คเสียงคนในพรรคมา เสร็จแล้ว หัวหน้าพรรคก็บอกพี่บอยมาเป็นเลขาธิการพรรคให้ ลักษณะแบบนี้?

ถูกต้องครับ ประมาณนั้นเลย ผมบอกกับหัวหน้าพรรคว่า หากเห็นว่าผมมีความสามารถ ผมก็พร้อม แต่ตอบคำถามนี้ว่า พอตอบรับเสร็จแล้ว ไปคุยกับใคร ก็คุณพ่อ(นายเสนาะ เทียนทอง) ไปหาครูใหญ่ เพราะเป็นตำแหน่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านเสนาะ ก็รับตำแหน่งนี้(เลขาธิการพรรคการเมือง)มาหลายครั้ง อย่างที่คนเขาพูดกันเป็นคนปั้นนายกฯ ซึ่งคนปั้นนายกฯก็คือเลขาธิการพรรค 

-สมัยท่านเสนาะ เทียนทอง บิดา  ก็แยกตัวออกจากพรรคความหวังใหม่ไปอยู่กับคุณทักษิณ ชินวัตรที่ไทยรักไทยตอนเลือกตั้งปี 2544 มาตอนนี้ ลูกชาย ก็มาเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โดยมีหัวหน้าพรรคคือลูกคุณทักษิณ ก็แปลกดี?

ก็เป็นอะไรที่แปลก โดยวันที่นั่งประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ก็พูดเรื่องนี้เหมือนกันว่า เป็นสิ่งที่แปลก เพราะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่ชินวัตรเลย ก็มีสมัยท่านทักษิณ แล้วคนข้างๆ ก็มีคุณเสนาะ แล้วมายุคนี้ ก็มีหัวหน้าพรรค คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร มองไปทางซ้าย เลขาธิการพรรค ก็สรวงศ์ มองไปมันเหมือนกับ เดจาวูก็ได้ ก็เป็นอะไรที่แปลก แต่ว่าพอมองซ้ายมองขวา แล้ว environment ทำงานได้

-เครียดไหม เพราะคุณพ่อเคยปั้นนายกฯมาแล้ว?

คือไม่ใช่คำว่าปั้นนายกฯหรือสร้างนายกฯดีกว่าครับ ใช้คำว่าเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะผลักดันช่วยให้แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป อาจจะเป็นท่านเศรษฐา ทวีสินคนเดิมก็ได้ คือมันไม่มีอะไรแน่นอน หรือคุณอุ๊งอิ๊งก็ได้ ที่ ณ ตอนนี้ ก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่ ถ้าสมมุติเกิดอะไรขึ้นหรือท่านเศรษฐา คิดอยากจะยุติบทบาททางการเมือง คุณอุ๊งอิ๊งก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่

-มีข้อตกลงพิเศษอะไรกับคุณอุ๊งอิ๊งหรือไม่ว่า มารับบทบาทตรงนี้ในเพื่อไทย ขออะไรสักอย่าง-สองอย่าง มีข้อตกลงอะไรแบบนี้ไหม?

พูดกันตรงๆ ที่ผมดีใจอย่างหนึ่ง สิ่งที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยพูดกับผมก็คือ ขอให้พูดตรงๆ เราจะสังเกตุ แต่ก่อนอาจจะมี ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับเจ้านาย แต่ด้วยความที่เราเป็นคนตรงๆ แล้วเราได้ยินหัวหน้าพรรคบอกแบบนี้ คือ "พี่บอย มีอะไร ก็บอกอิ๊งได้เลย" ผมก็บอกว่า ผมเป็นคนมีอะไรก็พูดตรงๆ หัวหน้าพรรคก็บอกว่า "ตรงๆ สิดี อิ๊งชอบ"

พอได้ยินแบบนี้ เราก็ดีใจ ว่าทุกคนที่รับตำแหน่งแม้กระทั่ง ผมคุยกับพี่บรู๊ค ดนุพร ปุณณกันต์ ก็พูดเหมือนกัน ก็ถามคำถามนี้กลับไปที่หัวหน้าพรรควันที่เขาถูกทาบทามเหมือนกัน คือถ้าจะทำงานร่วมกัน ทุกคนสามาารถที่จะออกความเห็นได้ สามารถมีความเห็นแย้งได้ อะไรที่เราเห็นไม่ตรงกัน เราเถียงกันในพรรคให้เรียบร้อย แต่เมื่อเป็นมติ มันก็คือมติ

ตามรอยเส้นทางเลขาธิการพรรค  จาก"ป๋าเหนาะ" ถึง "บอย สรวงศ์"

-เป็นลูกนักการเมือง เป็นส.ส.สี่สมัย คงได้รับข้อคิดดีๆจากคุณเสนาะ บิดาเยอะ แต่เห็นเคยบอกว่า ก็ไม่เห็นด้วยกับคุณเสนาะหลายเรื่อง?

หลายเรื่องครับ เถียงกันด้วย เถียงกันบ้านแตกก็มีครับ

-แล้วข้อที่ดีที่สุดของท่านเสนาะ ที่ได้นำมาใช้ในทางการเมืองคืออะไร?

ก็ความตรงไปตรงมา ทุกสิ่งทุกอย่างในเมื่อเราทำงานการเมืองและต้องยอมรับว่าเราก็มีต้นทุนทางการเมือง คุณพ่อเสนาะเอง และตัวผม ก็มีต้นทุนทางการเมือง ผมก็มีแนวคิดของผม ในเมื่อผมไปพูดอะไรกับชาวบ้านเอาไว้ แล้วถ้าจะให้ผมกลับคำพูดหรือผิดคำพูด ผมไม่สามารถทำได้ เพราะชีวิตทางการเมืองของผม ยังต้องไปต่อ ถ้าผมคิดจะเล่นการเมือง อะไรก็แล้วแต่ ความตรงไปตรงมา สำคัญที่สุด พ่อจะพูดและสอนผมตั้งแต่เด็ก ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน คำนี้ผมจำไว้ในใจตลอด คืออะไรก็แล้วแต่ หากเราซื่อตรงกับคำพูดที่เราบอกกับประชาชน จะทำให้เราเดินต่อไปในทุกอาชีพได้

-เมื่อพูดถึงตำแหน่งเลขาธิการพรรค คนจะมองถึงการเป็นแม่บ้านพรรค การเป็นผู้ประสานงาน การเป็นคลังให้กับพรรค คอยดูแลเรื่องเงินทองตอนเลือกตั้ง  แล้วเลขาธิการพรรคชื่อ สรวงศ์ จะเป็นแบบนั้นหรือไม่?

คือเป็นหน้าที่ของการเป็นหลังบ้าน คือเป็นทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน คือการเป็นเลขาธิการพรรคในอดีต ก็เป็นอย่างที่ถาม ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า หน้าที่นั้นก็ยังต้องคงอยู่ในการที่จะหาแนวร่วม หาสปอนเซอร์ หาคนที่จะมาช่วยสนับสนุนแนวคิดของพรรคให้สำเร็จ ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ แต่ถามว่าจะเหมือนสมัยก่อนหรือไม่ ก็คงไม่เหมือนสมัยก่อนเสียทีเดียว เราจะมุ่งเน้นไปในเรื่องการเสนอนโยบายใหม่ๆ ให้กับประชาชน เพราะหากทำให้ประชาชนยืนด้วยตัวเองได้ สามารถทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ โดยตัวเขาเอง ผมเชื่อมั่นในหลักการนี้มากกว่า

-คิดว่าตัวเองเหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการพรรค ในบทบาทไหนมากที่สุด?

เป็นคนที่เหมือนกับคุณพ่ออย่างหนึ่งคือ คุยได้กับทุกคน ก็ดีใจ มีน้องๆในพรรค บางคน ก็เรียกผมว่าพี่อยู่ ทั้งที่จริงๆ เป็นรุุ่นหลานแล้วก็มี ส่วนอาๆหลายคนที่ยังอยู่ในสภาฯ ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดี หลายคนก็เป็นลูกศิษย์เก่า ป๋าเหนาะ ตลอดจนพรรคการเมืองที่อยู่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เราก็สามารถเชื่อมได้หมดทุกรุ่นทุกสมัย ก็เข้าใจทั้งผู้อาวุโสและเข้าใจน้องๆ ด้วยในการทำงาน

-ดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทยคืออะไร?

ก็หัวใจคือประชาชน

-ไม่ใช่ชินวัตรนะ?

ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่ ไม่ใช่แน่นอน ผมพูดตรงๆ คือบางคน บางท่านมองไปอย่างนั้น แต่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ยิ่งการที่คนชินวัตรมาเป็นหัวหน้าพรรค ยิ่งพูดชัดเจนเลยว่า เราต้องช่วยกัน ผมพูดมาตั้งแต่ก่อนมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคว่าอะไรก็แล้วแต่ ที่คนข้างนอกเขาพูดกัน เราต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเราทำงานกันเป็นทีม คือปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยคือท่านทักษิณ ชินวัตร แล้วก็มีการดำเนินงานกันต่อมา คือเรามองอย่างนี้ว่า คนที่เป็นหัวหน้า และอุดมการณ์ที่สร้างกันมา เราจะไปทิ้งคนที่ก่อตั้งหรือสร้างพรรคมา ก็ไม่ใช่เรื่อง ซึ่งการที่จะสานต่อที่ดีที่สุด ก็คือตัวพรรคเอง ซึ่งเราดำเนินนโยบายแบบนี้มาตลอด รอบที่ผ่านมา เราใช้แคมเปญว่าแลนด์สไลด์ แต่ผู้สมัครส.ส.บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับคำว่าแลนด์สไลด์ เขาบอกว่าให้ใช้คำว่า เพื่อไทย หัวใจคือประชาชนดีกว่า ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า

-แล้วเพื่อไทย หากอนาคต ไม่มีชินวัตร หมดยุคคุณอุ๊งอิ๊งแล้ว พรรคจะไปต่อหรือไม่?

คือดูจากเจตนารมณ์และอินเนอร์ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผมว่าอีกนานครับ หัวหน้าพรรคเพิ่งอายุ 37 ปี ยังไปต่อได้อีกยาว เพียงแต่ว่านำประสบการณ์ในอดีตมาบริหาร เพราะเราต้องยอมรับอยู่อย่างว่า ขบวนการอะไรต่างๆมันก็โถมเข้ามาหา เพื่อไทย มาโดยตลอด

-แล้วที่คนไปคิดกันว่า รอบนี้ คุณทักษิณ เยียวยาคุณเสนาะ เลยทำให้คุณสรวงศ์เป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย คล้ายๆว่าขอบคุณพี่เสนาะ?

ต้องถามว่าเยียวยาเรื่องอะไร ขอบคุณเรื่องอะไร คือความจริงแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องเยียวยา เพราะเราก็อยู่กันมาแบบนี้ เลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา ผมพลาดไป แต่ผมก็ยืนหยัดอยู่กับพรรคเพื่อไทยเพราะอุดมการณ์ ผมไม่ได้ย้ายออกไปจากพรรคเพื่อไทยพร้อมกับพี่ผมสองคนอันนี้ชัดเจน(ฐานิสร์ เทียนทอง-ตรีนุช เทียนทอง) คนจะไปมองกันว่าเป็นเกมการเมืองของป๋าเหนาะหรือไม่ ให้หลานไปอยู่โน้นแล้วให้ลูกอยู่เพื่อไทย แต่คนในพื้นที่จะทราบ ก็มีการมาขอให้ผมย้ายพรรคด้วย แต่ผมไปไม่ได้จริงๆ 

ยืนยันได้ว่า ไม่ใช่เกมการเมือง มันเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน ผมก็สู้ของผมแบบนี้ สู้แบบนี้ทั้งจังหวัดในการเลือกตั้งรอบก่อนหน้านี้แต่ก็พลาด จึงไม่มีอะไรต้องเยียวยา และจริงๆ แล้ว คุณพ่อต้องอยู่ในอันดับต้นๆของผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทย แต่คุณพ่อก็ไม่เอา แล้วก็ฝากลูกชายไว้คนหนึ่งคือสุรเกียรติ์ เทียนทองมาลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อของเพื่อไทย ที่ตอนนี้เขาก็เป็นส.ส.โดยที่ผ่านมา เขาทำงานเป็นทีมงานเบื้องหลังให้กับผมและสุรชาติ เทียนทอง อดีตส.ส.กทม.เพื่อไทยมาตลอด

ตอนเลือกตั้งรอบที่แล้วปี 2562 ที่ผมแพ้ไป แต่ผมก็ไม่ได้ทิ้งพื้นที่ ก็พูดตรงๆ ตั้งแต่เรียนจบกลับมา ยังไม่มีโอกาสได้ทำมาหากิน แต่สี่ปีที่ผ่านมาที่ไม่ได้เป็นส.ส. ก็ได้มีโอกาสไปทำ ได้ไปทำสวนผลไม้

พร้อมประสานดึง "กลุ่มเทียนทอง-สระแก้ว" กลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

-แล้วเลือกตั้งรอบหน้า จะชวนส.ส.สระแก้วสองคน(นางขวัญเรือน เทียนทอง -ตรีนุช เทียนทอง) กลับมาอยู่เพื่อไทยหรือไม่?

ก็เป็นหน้าที่ของเลขาธิการพรรคครับ(หัวเราะ) คือจริงๆ แล้ว ถ้าจะคุยกันจริงๆ ก็น่าจะคุยได้ ซึ่งจริง ๆหลายคนที่เราต้องวางแผนในการวางตัวผู้สมัครส.ส.ในอนาคตต่อไป

-คิดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่?

ก็มีความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน อันนี้พูดตรงๆ ก็เป็นเป้าหมายครับ ว่าอย่างน้อยเอาให้บ้านเรากลับมาเป็นเอกภาพก่อน

-หลังเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็มีการมองกันว่า เพื่อไทยตอนนี้อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไปแล้ว ในความคิดของเลขาธิการพรรคมีความคิดแบบนี้ไหมว่าเพื่อไทยอยู่ฝั่งไหน?

คือผมมองว่าอะไรที่ผ่านการเลือกตั้งมา มันไม่มีฝ่าย แม้กระทั่งสมัย พลเอกประยุทธ์ พูดตรงๆ ผมก็ยังไม่ใช้คำนี้ คือสมัยคสช.แน่นอนว่าเป็นรัฐบาลที่ตั้งตัวเองขึ้นมา อันนั้นอีกประเด็นหนึ่ง และเมื่อมีการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ลงสู่การเลือกตั้ง ผมก็มองแบบนี้ว่า ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับกติกา แต่ถ้าคุณลงมาเล่น คุณก็ต้องเคารพในกติกา ไม่ว่าเขาจะใช้อะไร

อย่างผมก็โดนมาทุกรูปแบบ แต่หลังเลือกตั้ง ผมก็ไม่ได้ไปร้องเรียนอะไรทั้งสิ้น เพราะเมื่อเราลงมาเล่นแล้วในกติกาแบบนี้ แต่เมื่อแพ้ เราก็ต้องแพ้

ดังนั้น พอผ่านการเลือกตั้งของประชาชนมาแล้ว ก็ไม่ควรมีวาทกรรมเรื่องของ ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้  คือเหมือนกับว่าผมเป็นคนดี ผมยกตัวเองเป็นคนดี แต่ว่าคนอื่นไม่ดีไม่รู้ แต่ว่าผมเป็นคนดี มันก็ไม่ถูกต้อง อันนี้คือมุมมองผม คือผมมองว่าอะไรก็แล้วแต่ เมื่อผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว คือมีคนไปพูดว่าเพื่อไทยตระบัดสัตย์ มีคนใช้คำนี้เยอะ แต่เขาไม่มองไปถึงเจตนารมณ์ของเราอย่างตอนโหวตนายกรัฐมนตรี เพื่อไทย เราก็โหวตให้ ผมก็โหวตให้ ทุกสิ่งทุกอย่างเราทำให้หมด

แต่เมื่อมันเป็นแบบนี้ เราไม่สามารถรอได้ บางคนอย่างก้าวไกล เสนอว่าให้รอไปสิบเดือน แต่ผมถามว่าสิบเดือนอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แล้วสิบเดือน ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า สิบเดือนไปแล้วสว.หมดอำนาจไป คุณจะได้เป็น ไม่มีอะไรการันตี บ้านเมืองรอไม่ได้ บ้านเมืองต้องไปต่อ ถามว่า พวกเรา รู้สึกอย่างไร พูดตรงๆ ก็กลืนเลือดครับ ท่านนายกฯเอง ท่านหัวหน้าพรรคเอง ทุกคนกลืนเลือดครับ กลืนเลือดก็คือ มีความจำเป็น ที่ต้องเป็นแบบนี้

อย่างการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งครั้งไหนหรือไม่ บนเวทีดีเบต พอสุดท้าย บังคับให้ตอบเลยว่า หลังเลือกตั้งแล้ว คุณจะไปรวมกับใคร มันไม่เคยมีแบบนี้ โดยเราก็ตอบแบบกลางๆ มาตลอดว่า ถ้าประชาชนให้คะแนนเสียงเราท่วมท้น แลนด์สไลด์ เราก็จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เราก็พูดแบบนี้มาตลอด แต่พอมีวาทกรรมขึ้นมา บอกว่ามีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง แล้วก็ไปบี้ถามคนที่ไปขึ้นเวทีดีเบต หลังเลือกตั้งจะไปรวมกับใคร ซึ่งที่ผ่านมา เราก็ตอบกันชัดเจน แต่ความชัดเจน ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ผมถามว่าน้องๆ อย่างพรรคก้าวไกล พอชนะเลือกตั้ง จะรวมเสียง ซึ่งการเลือกตั้งก็ส่วนหนึ่ง แต่พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะมีการตั้งรัฐบาล ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง อย่างตอนที่ไปเชิญบางพรรคมาเช่นชาติพัฒนากล้า ท่านสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คุณกรณ์ จาติกวณิช พอเชิญมาแค่ข้ามคืน มีกรณ์ ไม่มีกู ก็ต้องทิ้งเลย ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลจะทำแบบนั้นไม่ได้

-ฟังดูเหมือนเป็นคนไม่ชอบพวกสร้างวาทกรรมการเมืองต่างๆ ?

ไม่ชอบเลยครับ คือมันเป็นเครื่องมือที่เอามาทำลายฝ่ายตรงข้าม ที่ผมมองว่าไม่แฟร์โดยเฉพาะยุคสมัยนี้ที่มันไปเร็วมาก ทุกวันนี้แค่ปลายนิ้ว มันทำให้คนพังทั้งชีวิตเลย ส่วนจะแก้อย่างไร ก็คงแก้ยาก คือทุกวันนี้ การอย่างจะมานั่งคุยกันแบบนี้ มันก็น้อยลง ทุกวันนี้ นั่งอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน ยังแซทคุยกันเลย โลกมันเปลี่ยน นี้คือสิ่งที่เราก็ต้องตามสังคมให้ทัน

เลือกตั้งรอบหน้า ทุกที่ก็ต้องได้เพิ่ม กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง เพื่อไทยต้องกลับมาให้ได้...เราต้องพยายาม ซึ่งผมมั่นใจในการที่เราจะดึงความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนกลับคืนมา

-เลือกตั้งรอบที่แล้ว คนมองว่า เพื่อไทยแพ้ก้าวไกล ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องของโซเชียลมีเดีย เรื่องไอโอต่างๆ แล้วต่อไปจะตั้งรับอย่างไร?

ตอนนี้การทำงานของส.ส.แบ่งเป็นสองส่วนแล้ว ส่วนแรกคือส่วนที่เป็น on ground คือใกล้ชิดประชาชน รู้ปัญหาประชาชน นำปัญหาประชาชนมาสู่การแก้ไข ซึ่งผมมั่นใจว่าเพื่อไทยไม่แพ้ใคร สิ่งนี้คือจุดเด่น จุดแข็งของเพื่อไทย ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ เราลงพื้นที่ อยู่กับประชาชนตลอด ส่วนที่สอง คือ on air ก็สำคัญ เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ โหวตเตอร์ต่างๆ โดยเฉพาะพวกผมส.ส.ต่างจังหวัด คนที่เป็นโหวตเตอร์จริงๆ เขาไม่ได้อยู่พื้นที่ เขาไปทำงานต่างจังหวัด เข้ามาทำงานกรุงเทพมหานคร หรือไม่ก็ระยอง ชลบุรี เขาก็อาจไม่รู้ว่าส.ส.ทำอะไรในพื้นที่ของเขา เขาไม่รู้ว่าเราแก้ปัญหาอะไรให้บ้านเขา สิ่งที่เขารู้อย่างเดียวก็คือรู้ผ่านหน้าจอมือถือ จากโซเชียลมีเดีย

ตรงนี้ คือสิ่งสำคัญ ที่เป็นการบ้านของผม และพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องทำ อย่างเวลาเราทำอะไรในพื้นที่ เราต้องให้คนที่เขาอยู่นอกพื้นที่ซึ่งเป็นโหวตเตอร์ของเรารู้ด้วย นอกเหนือจากงานต่างๆ เช่นไปงานศพ งานบวช งานแต่งงาน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องนโยบายต่างๆ ที่เราพูดกับประชาชน เราต้องทำให้สำเร็จ

ภารกิจทวงแชมป์ชนะเลือกตั้ง จุดหมาย ที่ต้องทำให้ได้

-ในการเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย มารับบทบาทสำคัญ จะทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาทวงแชมป์ชนะเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบหน้าได้หรือไม่?

นั่นคือจุดหมาย และต้องทำให้ได้ เพราะเราอยู่ในพรรคการเมืองที่มีต้นทุนสูงพอสมควร คือเราเองต้องบอกว่า เราไม่ได้อยู่ในช่วงของที่อยู่ในขาขึ้น เราลง แต่ตอนนี้เรากำลังพยายามจะขึ้นมา กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดปัจจุบันต้องทำงานหนักมาก แต่เรามองซ้ายมองขวาแล้ว บรรยากาศในการทำงาน มันน่าทำงานและผมมองว่ามันทำงานได้ ทุกคนพร้อมมันเหมือนกับว่า คนเราสมหวังมาตลอด ก็จะไม่กระตือรือร้น ก็จะชิลล์ๆ ก็จะเฉยๆ และต้องยอมรับว่าหลายเขตเลือกตั้งที่เราพลาดไปในงวดนี้ พลาดมาจากผลโพลที่พลาด บางคนผมลงไปคุย เขาบอกว่านึกว่ายังไงเพื่อไทย ก็ชนะอยู่แล้ว ก็เลยไปกาให้คนอื่น เยอะครับ ในกรุงเทพมหานครก็เยอะ คือนึกว่ายังไงเพื่อไทยก็ชนะ ก็เลยไปกาให้พรรคอื่น

เลือกตั้งรอบหน้า ทุกที่ก็ต้องได้เพิ่ม กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง เพื่อไทยต้องกลับมาให้ได้ เลือกตั้งที่ผ่านมา กทม.คุณ อิ่ม ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เข้ามาได้แค่คนเดียว ชนะมาสี่คะแนน ซึ่งก็เสียดาย หลายคนที่ไม่ได้เข้ามา ทุกคนเป็นคนทำงานหมด โดยทำงานทั้งในพื้นที่และในสภาฯ เราก็เลยขาดบุคลากรที่ทำงานให้พรรคที่จะเข้ามาทำงานในสภาฯเยอะพอสมควร เราก็ต้องพยายาม ซึ่งผมมั่นใจในการที่เราจะดึงความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนกลับคืนมา โดยอย่างพื้นที่กทม.ตอนนี้ ก็ให้คุณดนุพร ปุณณกันต์ มาเป็นผอ.ภาคกทม.ของเพื่อไทย หลังที่ผ่านมา พี่แจ๋น พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ก็สร้างน้องๆ ที่เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไว้เยอะพอสมควร ก็เป็นฐานเสียงให้ได้  เป็นเครือข่ายที่เราจะสามารถสานต่อตรงนั้นได้ เพราะเขาทำงานติดพื้นที่ตลอด

ส่วนภาคอื่นเช่นภาคใต้ ก็ต้องพยายาม เลือกตั้งที่ผ่านมา เราก็มีความหวัง เพราะผมเองก็อยู่ในคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครส.ส.เขตภาคใต้ของเพื่อไทยด้วย ก็ได้สัมภาษณ์ผู้สมัครหลายคน ที่ก็เห็นว่ามีศักยภาพ

-มีการมองกันว่าหลังมีการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ คุณอุ๊งอิ๊งขึ้นมา ทำให้คุณเศรษฐา นายกฯขาลอยแล้ว คงอีกไม่นานแล้ว สักปลายปีหน้า คุณอุ๊งอิ๊งจะขึ้นเป็นนายกฯแน่นอน ที่คนภายนอกสังเกตุการณ์กันแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่ หากมองแบบนี้?

คือการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าจะให้ผมยืนยันตอนนี้เท่าที่คุยกัน  ยังไม่มีความคิดนี้เพราะท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็มีความตั้งใจในการทำงาน อย่างก่อนที่ผมจะมาเป็นเลขาธิการพรรค ก็เป็นทีมทำงานของท่านเศรษฐา ตอนหลังเลือกตั้งเสร็จ ที่มีแกนนำพรรคไปเจรจาเรื่องการตั้งรัฐบาล นายกฯเศรษฐา ไม่สนใจเรื่องนั้นเลย มุ่งหน้าในการที่จะฟอร์มทีมทำงานเสริม ไม่ว่าจะเป็นนายกฯหรือไม่เป็นนายกฯ แต่ตอนนั้นเราจะเข้าไปเป็นรัฐบาล เราก็ต้องเตรียมทำงาน มีการตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ออกมาสิบสองคณะ เช่นด้านนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยี ด้านเกษตร อย่างผมก็เข้าไปอยู่ในด้านเกษตร ก็เป็นการทำงานแบบทีม

ผมจึงมองว่าพรรคเพื่อไทยเอง หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเอง ไม่ได้คิดที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ท่านเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ไม่มีธงแบบนั้น แต่ธงของเราคือการที่เราจะกลับมาให้พี่น้องประชาชนเลือกเราเป็นอันดับหนึ่งในสมัยหน้า แล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นท่านเศรษฐา ทวีสิน อีกสมัยก็ได้ หรืออาจจะเป็นคุณอุ๊งอิ๊งก็ได้ หรืออาจะเป็นใครก็ได้ ที่มีความเหมาะสม ซึ่งพรรคเพื่อไทยเราชัดเจน งวดนี้เราพูดชัดเจนเลย อย่างคนสงสัยว่าทำไมเพื่อไทยต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสามคน ก็เพราะเราถูกกระทำมาเยอะ และสิ่งที่เกิดกับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ชัดเจนเลยคือถ้าก้าวไกล มีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯสำรองไว้อีกสักสองคน มันก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยบอกไว้ได้ว่า ความคิดของหัวหน้าพรรคที่ถามไม่มี ไม่มีแน่นอน เพราะอย่างที่เห็นการทำงานของทั้งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ทำงานคู่ขนานกันตลอด ท่านนายกรัฐมนตรีเอง ถ้าเรื่องการเมือง เทียบกับหัวหน้าพรรค ทางหัวหน้าพรรคอยู่กับการเมืองมากกว่านายกฯ เพราะอยู่มาตั้งแต่เด็กๆ คือเห็นการเมืองมาตลอด แต่นายกรัฐมนตรีอยู่ในภาคธุรกิจมาตลอด แล้วถูกทาบทามมาเพราะมีความสามารถในการช่วยพาประเทศไปในทางด้านบวก

-แต่ถ้าเกิดอะไรที่จำเป็น นายกฯต้องลง ในปีหน้า 2567 คุณสรวงศ์ ก็มั่นใจว่าคุณอุ๊งอิ๊งพอจะรับช่วงต่อได้ ทั้งเรื่องวุฒิภาวะ ประสบการณ์?

ได้ครับได้ โดยส่วนตัวแล้ว ไม่มีข้อบกพร่องอะไรเลย ที่จะรับไม่ได้ คำว่าวุฒิภาวะ ต้องแยกแยะให้ออก ถ้าเราพูดถึงวุฒิภาวะ อย่างอายุ 18 ปี ที่เลือกตั้งได้ แม้จะยังไม่บรรลุนิติภาวะ 20 ปี แต่ที่เลือกตั้งได้ เพราะมองว่า 18 ปีถือว่ากลั่นกรอง คิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ ในการเลือกคน เพราะฉะนั้น  หัวหน้าพรรค อายุ 37 ปี ผมก็ไม่แปลกใจอะไรที่เหมาะในการจะมาเป็นผู้นำประเทศ

-ตอนนี้คุณอุ๊งอิ๊ง ก็มีเวลาทำงานไปก่อนก็มีงานใหญ่ที่รับผิดชอบเช่นเรื่องยกระดับบัตรทอง เรื่องซอฟต์พาวเวอร์?

ก็คือทีมงานก็ทำงานกันทุกวัน บางที ผมก็ยังตกใจเลย หัวหน้าพรรคไลน์มาตอนเที่ยงคืนกว่า คือเวลาทำงานอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ พอนึกอะไรออก ต้องรีบทันที เพราะจะเยอะมาก อย่างนายกฯก็เช่นกัน ตอนก่อนจะรับตำแหน่ง ซึ่งช่วงที่ผมอยู่ในคณะทำงานด้านการเกษตร พอนึกอะไรได้ ก็จะบอกมาว่าช่วยดูเรื่องนี้หน่อย แล้วเราก็ต้องไปทำการบ้านมา

จุดแข็ง"อุ๊งอิ๊ง"หน.เพื่อไทย?

-จุดแข็งของคุณอุ๊งอิ๊งในสายตา เลขาธิการพรรคคืออะไร?

ผมว่าคือเรื่องความมุ่งมั่นที่จะสานต่อในสิ่งที่ท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้เคยคิดเอาไว้ คือถ้าเรามองกลับไป ลองคิดดูว่า ถ้ามันไม่เกิดอะไรขึ้น หรือว่าไม่มีอะไรติดขัด มันก็น่าจะ flow กว่านี้ ประเทศน่าจะไปได้ดีกว่านี้ แต่ว่าด้วยอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดทั้งปวง อะไรเกิดขึ้นดีเสมอ ผมคิดอย่างนั้น มันก็สอนให้พวกเรา ที่เป็นเพื่อไทย ได้รู้ เหมือนกับที่เราแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมา มันก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่ง ให้เรากระตุ้นตัวเองขึ้นมาในการทำงาน จะเห็นได้ว่าการทำงานงวดนี้ ทั้งที่เพื่อไทยเราเป็นรัฐบาล น้องๆพี่ๆที่อยู่ในสภาฯ ทำงานอย่างเข้มแข็งมาก อภิปรายอะไรต่างๆ โดยมีพี่น้องประชาชนเป็นหลัก

ความสัมพันธ์"เพื่อไทย-ก้าวไกล" กับโอกาส เป็นรัฐบาลร่วมกัน?

ในช่วงการสัมภาษณ์ เมื่อมีการถาม”สรวงศ์ -เลขาธิการพรรคเพื่อไทย”ถึง”นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต”ที่เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย โดยมีการยิงคำถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพื่อไทยคิดไม่จบเรื่องนี้ แล้วก็มาประกาศเป็นนโยบายใหญ่โต ที่อาจจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง

ทาง”สรวงศ์”ย้ำว่า เรื่องของนโยบายก็เป็นเรื่องอำนาจของนายกรัฐมนตรีและครม.ที่จะตอบ แต่มุมมองของผม ตัวผมมองว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นเงินบาทแต่ถูกส่งให้พวกเราในรูปของดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเป็นบล็อกเชน เพื่อกำหนดว่าเราจะใช้อะไรได้บ้าง ใช้ตรงไหนได้บ้างและใช้ได้นานเท่าใด ต้องเน้นย้ำว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่นโยบายเชิงช่วยเหลือผู้ยากไร้ แต่เป็นการกระชากเศรษฐกิจ กระตุกเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าใครจะพูดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่พวกผมที่อยู่ต่างจังหวัด ผมลงพื้นที่ไป ผมจะรู้ว่ามันดีขึ้นจริงหรือไม่ พี่น้องประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยหรือไม่ ร้านค้าเป็นอย่างไร พวกผมจะรู้

...เพราะว่าบางทีจะดูที่ตัวเลขอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางทีตัวเลขมันก็อาจไม่ใช่ fact ซึ่งหากลงไปดูความเป็นอยู่จริงๆ มันจะเห็นชัด ซึ่งเรื่องนี้ทางนายกรัฐมนตรี ก็บอกแล้วว่าขอให้ท่านเป็นคนพูด แล้วพวกเรามีหน้าที่ในการ ซัพพอร์ต ในการนำข้อมูลของประชาชนในพื้นที่มาบอกว่า ประชาชนเขารออยู่ ซึ่งนโยบายนี้ต้องไปได้ ผมก็คุยกับ คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังพอสมควร เพราะก็เป็นเพื่อนกัน รุ่นเดียวกัน ถามว่าหนักไหม ก็หนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่ก่อนหน้านี้ คุณจุลพันธ์ ออกมาพูดถึงกรอบการให้ดิจิทัลวอลเล็ตที่ออกมาสามแนวทาง ข้อเสนอดังกล่าวมาจากอนุกรรมการที่มีความเห็นแบบนั้น เพื่อเสนอคณะใหญ่ ก็รอคณะใหญ่(คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet )จะลงความเห็นว่าอย่างไร จะนำเงินมาจากไหน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พอหรือไม่ หรือต้องรอเป็นสองช่วงต้องรอปี 2568 ด้วย ก็ต้องรอให้ทางนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พูดกับประชาชน ก็เชื่อมั่นว่าไปได้ แม้จะไม่ใช่งานที่ง่าย

-แฟนคลับเพื่อไทยก็เป็นห่วงว่า เพื่อไทยจะเสียศูนย์จากเรื่องนี้หรือไม่?

คือเราไม่ได้เพิ่งโดน อย่างสมัยก่อน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผมจำความได้ว่า ก็โดนแบบนี้ แต่ดิจิทัลวอลเล็ต เม็ดเงินเยอะกว่า ก็พอเข้าใจ แต่ตอน 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนแรกก็โดนแบบนี้ โดนแอนตี้ ถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน จะทำอย่างไร ก็เหมือนกัน แต่ว่าดิจิทัลวอลเล็ต เป็นอะไรที่ใหญ่กว่า เยอะกว่า ก็อยากให้รอคณะรัฐมนตรีเขาเป็นคนเคาะ

-ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล คิดว่าสภาฯชุดนี้ จะอยู่ครบเทอมไปถึงปีที่สี่หรือไม่?

จริงๆ ก็ไม่น่ามีอะไรเป็นห่วง เพราะจริงๆ แล้วการทำงานของสภาฯกับการทำงานของรัฐบาล ก็ไปด้วยกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีการพูดคุย เช่นเรื่อง กระทู้ต่างๆ  ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างกลับมาเรื่องวาทกรรม ก็อย่างที่ก็รู้ว่านายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังตั้งกระทู้ถามท่านนายกรัฐมนตรีอยู่ เพียงเพื่อจะบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เท่านั้นเองครับ ไม่ได้มีอะไรมากเลย อย่างไม่สบายใจอย่างหนึ่งคือ ตอนมีการตั้งกระทู้สดถามด้วยวาจาที่ถามนายกรัฐมนตรีตอนประชุมสภาฯ ช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ตอบกระทู้แทน ผมฟังแล้ว ก็ไม่สบายใจที่มีการพูดคำว่า รัฐมนตรีไม่มีคุณสมบัติในการตอบกระทู้ ที่ผมว่ามันไม่โอเค

-แล้วอย่างวาทกรรมอันนี้โกรธไหม ที่ฝ่ายค้านบอก ประยุทธ์คิด เศรษฐาทำ ไอ้โม่งสั่ง?

ผมถึงบอกไงว่า วาทกรรมใครก็พูดได้ แต่พวกผมที่อยู่ในวงใน ในการทำงานจริงๆ เรารู้ว่า ไม่มีใครสั่งนายกรัฐมนตรีได้ เพียงแต่ว่า นายกรัฐมนตรีเวลาทำงาน ทำแบบเป็นคณะทำงาน อย่างคนไม่เคยทำงานกับนายกฯจะตกใจ อย่างเวลาประชุมที มีการเปิดห้องประชุมหกห้อง แล้วนายกฯเดินเข้าทุกห้อง เดินมาสั่งการแล้วบอกว่า อยากได้แบบนี้ แบบนี้ ลองคุยดู แล้วก็เดินไปอีกห้อง เราก็ประชุมกัน ประชุมเสร็จ นายกฯก็เดินกลับมาถามว่าที่บอกไว้เป็นอย่างไร เราก็รายงานนายกฯ ทางนายกฯฟังแล้วก็บอกแบบนี้ไม่ได้ ผมไม่โอเค อยากได้เร็วกว่านี้ เป็นแบบนั้นเลย  ซึ่งหากคนไม่เคยเห็นการทำงานของนายกฯ จะตกใจ

-มีคนพูดกันว่า ที่เพื่อไทยกับก้าวไกล ตอนนี้ดูจะทะเลาะกัน เป็นเรื่องของละคร เป็นดรามา สุดท้ายสองพรรคนี้จะจูบปากตั้งรัฐบาลร่วมกัน หลังสว.ชุดนี้ที่มีอำนาจโหวตนายกฯ หมดวาระ?

คือถ้าถามความจริงในสภาฯวันนี้ ไม่ได้มีอะไรไปไกลขนาดนั้น ไม่ใช่ ถามว่าเรามีอุดมการณ์คล้ายกันหรือไม่ในการแอนตี้รัฐประหาร ก็แน่นอนว่าตรงกัน และหลายเรื่องเราก็มีแนวคิดที่ตรงกัน หลายนโยบายเราก็ตรงกัน แต่มันคือการเมือง เราจะเห็นตรงกันหมดคงไม่ได้ หลายสิ่งหลายอย่างเราก็เห็นไม่ตรงกัน อย่างตอนประชุมสภาฯ ที่พิจารณาญัตติเสนอให้จัดทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับฯ (ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอ) พอมีการคว่ำญัตติ ก็มีวาทกรรมว่าเอาอีกแล้ว เพื่อไทย ซึ่งต้องบอกว่า เราแก้ทั้งฉบับ    แต่ต้องไม่แตะหมวดหนึ่ง หมวดสอง ซึ่งตอนที่เราเป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกันกับก้าวไกลตอนสภาฯสมัยที่แล้ว เราก็มีการเสนอญัตติดังกล่าว ซึ่งก้าวไกล ก็ไม่ร่วมลงชื่อกับเรา ทั้งที่เป็นฝ่ายค้านด้วยกัน เพราะเรามีคำว่า ต้องไม่แตะหมวดหนึ่ง หมวดสอง ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องป้องกันไว้ทุกอย่าง

-สรุปว่าโอกาสที่จะจับมือกันในอนาคตก็อาจเป็นไปได้ ?

หลังเลือกตั้งงวดหน้า ก็เป็นไปได้ครับ แต่สมัยนี้ ไม่ใช่ว่าแบบกลางคัน ไม่มีครับ ว่าปรับครม.แล้วเอาก้าวไกลมาร่วมไม่ใช่แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่พี่น้องประชาชนหมด สุดท้าย ท้ายสุด พอถึงเวลาระฆังดัง ทุกคน ต่างคนต่างหาเสียง ซึ่งพรรคเราทั้งพรรคก็ต้องกระตือรือร้นตัวเองขึ้นมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แม้วเดินสายโชว์บารมี อิ๊งค์ปราศรัยนครพนม

"ทักษิณ" ลุยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. จ่อขึ้นเวทีเชียงราย 3 เวที "เทิง-เชียงของ-แม่จัน" ปราศรัยช่วย "สลักจฤฎดิ์-เมียยงยุทธ" ก่อนเดินสายลำปาง-นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ

‘แพทองธาร’ เข้าพบ ‘สุรยุทธ์’

นายกฯ เผย สมเด็จพระสังฆราชประทานพรให้แข็งแรง ดูแลบ้านเมืองให้สงบ พร้อมเข้าขอพรปีใหม่ประธานองคมนตรี สักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง

‘พ่อ-ลูก’ แห่ช่วยหาเสียง หลายพื้นที่สอย ‘ผู้สมัคร’

“แพทองธาร” ลุยช่วยหาเสียง อบจ.นครพนม 12 ม.ค.นี้ ส่วนพ่อนายกฯ ลงซ้ำ 18 ม.ค.นี้ “อนุทิน” ไม่หวั่น ขอแค่ส่งใจช่วยเครือข่ายสีน้ำเงินรักษาเก้าอี้ภาคอีสาน

ประธานองคมนตรี อวยพรนายกฯแพทองธาร ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลนนท์ ประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี เพื่อกราบขอพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่ โดยพล.อ.สุรยุทธ์ ได้อวยพรให้นายกรัฐมนตรี

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1