ความเข้าใจในการทอดกฐิน .. อานิสงส์ยิ่ง!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ฝนฟ้าชุ่มฉ่ำในยามนี้ แม้จะเป็นช่วงท้ายฤดูกาลฝน นับเป็นปกติธรรมดาที่คุ้นเคยกันมายาวนานของการดำรงชีวิตในวิถีธรรมชาติแบบบ้านเรา..

จึงมีคำสอนของปู่ย่าตายาย ที่ว่า “อย่าแช่งฟ้า อย่าด่าฝน จะเข้าตนเอง” จึงนับว่ามีนัยที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง สอดคล้องกับคำพระที่สอนว่า.. ดิน น้ำ ลม ไฟ ..​ คือ พ่อแม่ของธรรมชาติที่แท้จริงของทุกชีวิตที่ควรรู้คุณ..

ด้วยทุกชีวิตต้องพึ่งพาลมฝน ดังในชนบท ที่รอคอยฤดูกาลฝนในทุกปี เพื่อหวังพึ่งพาน้ำฝนที่สรงสาดราดรดลงมาหล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้ชุ่มฉ่ำ สดชื่น เพื่อความอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารจากพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่ต้องอาศัยน้ำฝน และเพื่อการเติมเต็มลำคลองหนองบึง ให้กลับฟื้นสภาพคืนมามีชีวิตชีวา เพื่อจะได้สร้างสรรค์โลกให้สดชื่นต่อไป

ในขณะเดียวกัน หากปริมาณน้ำฝนในฤดูกาลมีมากเกินไป จากอิทธิฤทธิ์ของมรสุมลูกต่างๆ ที่ดาหน้าโถมเข้ามาสนับสนุน.. ปัญหาการบริหารจัดการน้ำจึงย่อมเกิดขึ้น เพื่อให้คนเราปวดเศียรเวียนเกล้าเล่น โดยเฉพาะปัญหาจากภัยน้ำท่วมฉับพลันในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศเขตมรสุม

จริงๆ แล้ว ภัยธรรมชาติ .. จะไม่รุนแรงมากเกินภาวะที่จะรับมือได้.. หากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม่ถูกทำลายจนเกินเยียวยา..

แต่เมื่อ มนุษย์เรามีความโลภโมโทสันเกินขนาด ภัยร้ายจากธรรมชาติจึงย้อนคืนกลับมาสนอง.. ซึ่งเป็น ภัยธรรมชาติในภาวะวิปริต .. ที่ไม่เคยเกิดปรากฏขึ้นมาก่อน ให้ยากจะแก้ไข.. ในความฉับพลันทันใดจากภัยธรรมชาติเหล่านั้น...

“อะไรจะเกิด .. ก็ต้องเกิด” จึงเป็นคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยๆ.. เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดยากเกินจะแก้ไขในเหตุเฉพาะหน้านั้น.. ให้ต้องปล่อยไปเป็นเรื่องของเวรกรรม.. ในวิถีธรรมชาติ ที่เอาคืนผู้ทำลายให้ได้รับผลทั้งในทางตรงและทางอ้อม.. ในปัจจุบันชาติ.. ไม่ต้องไปรอชาติหน้า.. นั่นคือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในช่วงฤดูกาลฝนที่มีมาให้เห็นอยู่เสมอ

สิ่งดีๆ เป็นมงคลในฤดูกาลดังกล่าว ย่อมมีให้เห็นปกติมากมาย.. และสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดหายไปจากสังคมวิถีพุทธ คือ ความสำนึกในการทำบุญสร้างกุศลในปลายกาลฝน ที่สอดคล้องกับพระวินัย อันมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ปวารณาออกพรรษาที่อธิษฐานอยู่จำพรรษาครบไตรมาส (๓ เดือน) ในฤดูกาลฝนประจำปี โดยมีสิทธิแสวงหาผ้าในอีกหนึ่งเดือนท้ายฝน ที่ชาวบ้านเรียกขานกันมาแต่โบราณว่า “เทศกาลเปลี่ยนผ้าของพระสงฆ์” ..อันเป็นที่มาของการร่วมใจน้อมถวายผ้าเพื่อพระสงฆ์ในวัดวาอารามนั้นๆ ที่มีคุณสมบัติถึงพร้อม ได้นำผ้าดังกล่าวไปเข้า พิธีกรานกฐินตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต เป็นที่มาของคำกล่าวสั้นๆ แต่มีใจความครบถ้วนว่า “ถวายผ้ากฐินจีวร”.. หรือ “ทอดกฐิน”

เรื่องกฐินๆ จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกัน ชีวิตของชาวพุทธในท้ายฤดูฝน ในฐานะ “ผู้ทอดกฐิน” ที่มีความสำคัญยิ่งในการที่จะทำให้การกรานกฐินของพระสงฆ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ถูกต้อง ชอบธรรม ด้วยหากขาดผู้ทอดกฐิน.. หรือผู้ถวายกฐินจีวรแล้วนั้น ศาสนกิจดังกล่าวย่อมขาดความชอบธรรมทันที.. แต่มิใช่ว่า ผู้ทอดกฐินหรือถวายผ้ากฐิน.. จะเจาะจงว่าเป็นคนเราทั้งหลายเพียงส่วนเดียว.. ในความหมายของผู้ทอดกฐิน.. เปิดกว้างให้กับทุกฐานะที่ดำรงความพร้อมในเจตนาการถวาย แม้แต่ทวยเทพยดาภพภูมิต่างๆ ก็ย่อมกระทำได้.. หากมีวัตถุอันถูกต้องในการถวาย ถูกกาล ชอบธรรม.. พร้อมที่จะให้พระสงฆ์ได้นำไปกรานกฐินตามพระวินัยนิยม..

ชาวพุทธจึงควรเข้าใจคำว่า “การกรานกฐิน” ให้ถูกต้อง เพื่อจะได้สมบูรณ์ในองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่ความสัมฤทธิผลในอานิสงส์ผลบุญที่เป็นผู้ทอด/ถวาย..

การกรานกฐิน แปลว่า การที่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสในฤดูกาลฝน ในวัดวาอารามเดียวกัน จำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป และได้มีการประชุมกัน เพื่อมีมติ มอบผ้าที่หามาได้หรือได้รับมาโดยวิธีการที่ถูกต้อง ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในคณะของตน.. เพื่อภิกษุรูปนั้นที่ได้รับผ้ามาโดยวิธีการที่ถูกต้องตามพระวินัย ได้รับแล้ว จักได้นำผ้าผืนนั้นไป ซัก กะ ตัด เนา เย็บ ย้อม และพินทุ ในความเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรของพระภิกษุ หรือจะทั้ง ๒-๓ ผืนครบเลยก็ได้ หากมีกำลังความสามารถที่จะสามารถทำให้เสร็จทันได้ภายในวันหนึ่งคืนหนึ่ง.. หรือภายในวันเดียวนั้น แล้วนำมาแจ้งให้ที่ประชุมภิกษุสงฆ์ทราบ เพื่อที่จะได้กระทำการอนุโมทนา มีส่วนในอานิสงส์อันเกิดจากการกรานกฐินสำเร็จแล้วด้วยดี ชอบธรรม ๕ ประการ

ในการถวายผ้ากฐินหรือทอดกฐิน.. และในการกรานกฐิน.. สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่าง การทอดและการกราน.. คือ ผ้ากฐิน .. ที่ชาวบ้านผู้มีศรัทธาจะต้องรู้เข้าใจในคุณสมบัติ ชนิด ขนาด และสีของผ้า.. ที่จะนำมาจัดทำเป็นผ้ากฐินทอดถวาย.. ว่า ถูกต้อง เหมาะควรหรือไม่.. เพื่อให้การกรานกฐินด้วยผ้าผืนนั้นเป็นไปด้วยดี ดำเนินตามพระวินัยได้.. ที่จะต้องถึงพร้อมด้วยคุณของการ ซัก, กะ, ตัด, เนา, เย็บ, ย้อม และพินทุ.. เพื่อความสมบูรณ์ด้วยการกรานกฐิน

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ระยะเวลา.. ที่จะต้องกระทำให้ถูกกาล.. ด้วยการทอดกฐินเป็นกาลทาน แปลว่า ทานที่ทรงอนุญาตให้รับได้ตามกาล ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบไตรมาสในอาวาสนั้นๆ .. มีสิทธิ์แสวงหาผ้าได้ในระยะเวลาหนึ่งเดือน นับแต่วันปวารณาออกพรรษา เป็นกำหนดเวลาที่คณะบุคคลผู้มีศรัทธาสามารถถวายทานหรือสิ่งของแก่ภิกษุสงฆ์ได้.. หากถวายก่อนหรือหลังระยะกาลนั้น ไม่ถือว่าเป็นกาลทาน

สำหรับพุทธบัญญัติกาลทานนั้น มีทั้ง ผ้าอาบน้ำฝน ที่กำหนดระยะเวลาให้ภิกษุแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนได้ในหนึ่งเดือนก่อนอธิษฐานอยู่จำพรรษา ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และ ผ้ากฐิน ที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุแสวงหาผ้าได้หลังจากออกพรรษาดังกล่าวไปแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวมหนึ่งเดือนเต็ม

“กาลทาน” จึงมีอานิสงส์ยิ่ง ด้วยเป็น “ทานกาล” ที่ต้องเข้าใจในความหมายของกาลแห่งการให้ทาน ซึ่งผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ควรรู้จักให้ทานในกาลที่ควรให้

การให้ทานตามกาล.. โดยเฉพาะในกาลพิเศษ ที่สามารถทำได้ปีละหนึ่งครั้ง โดยต้องถูกต้องในคุณสมบัติต่างๆ ที่ทรงบัญญัติไว้ จึงต้องยิ่งเจริญในปัญญา รู้ยิ่งในความประสงค์ และต้องมีความสามารถในการจัดการมากกว่าการทำทานโดยทั่วไป.. ด้วยความเข้าใจอันสำคัญยิ่งว่า.. การให้ทานถึงภิกษุสงฆ์โดยเคารพต่อพระธรรมวินัยนั้น ย่อมมีอานิสงส์ไพบูลย์ ดุจการถวายทานต่อภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธานในท่ามกลางสงฆ์ ทักษิณาทานนั้นย่อมมีผลไพบูลย์ไม่มีประมาณ

แม้ชนเหล่าใด.. เพียงได้ร่วมอนุโมทนาหรือได้ช่วยเหลือนั้น.. ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญนั้นอย่างเต็มกำลังแห่งประโยชน์โดยธรรม

ดังนั้น.. จึงสำคัญอย่างยิ่งที่ศรัทธาสาธุชนต้องเข้าใจในเรื่องการทอดกฐิน.. การกรานกฐิน.. อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การจัดเตรียมสิ่งของให้ถูกต้องตามคุณประโยชน์แห่งผู้รับ.. สำคัญยิ่ง คือ ต้องถูกต้องตามกาล.. ด้วยการทอดกฐินเป็น กาลทาน มิใช่ อกาลทาน .. และเป็น กาลทาน ที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมความดีอันประเสริฐยิ่ง.. ด้วยเป็นการแสดงออกถึงความรักสามัคคี.. ความมีเมตตากรุณาต่อกัน ทั้งในคณะภิกษุและคณะศรัทธาสาธุชน และในระหว่างพระสงฆ์กับคณะศรัทธาญาติโยม ที่ต้องมีความเอื้อเฟื้อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ศาสนกิจอันสำคัญยิ่งนี้สัมฤทธิผล อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ ตรงตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาตทุกประการ ซึ่งในระหว่างกันและกัน ไม่ว่าในคณะภิกษุหรือในคณะศรัทธญาติโยม หรือในระหว่างคณะภิกษุกับคณะศรัทธาญาติโยม จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันในความศรัทธาเชื่อมั่น ปสาทะความเลื่อมใส ที่ชักนำไปสู่ความรักสามัคคีกัน ในอันที่จะประกอบศาสนกิจดังกล่าวให้เป็นไปอย่างดีที่สุด.. สวยงามที่สุด.. ด้วยจิตใจที่สงบ เบิกบาน ผ่องใส ด้วยบรรยากาศที่ควรแก่ความพึงใจ.. ด้วยความเข้าใจในความหมายเนื้อหาสาระธรรมในศาสนกิจนั้น.. เพื่อนำความรู้ความเข้าใจในธรรมไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างมีประโยชน์.. ถึงประโยชน์ด้วยบุญกุศลที่หนุนนำ.. จึงควรอย่างยิ่งในการเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อ ร่วมทอดกฐินสามัคคี ในพรรษาพุทธศักราช ๒๕๖๖ นี้ ทุกท่านเทอญ.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน