เรื่อง ถวายผ้ากฐิน .. ที่ควรศึกษา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันมหาปวารณาออกพรรษาในปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖

ตามพุทธประเพณีที่ดำเนินตามพระธรรมวินัย ชาวพุทธจะทราบกันดีว่า นับตั้งแต่วันออกพรรษาไปอีก ๑ เดือน จะเป็นช่วงเทศกาล ถวายผ้ากฐิน แด่พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่อยู่จำพรรษา ณ วัดวาอารามนั้นๆ ที่ตนมีความศรัทธาปสาทะ

แม้ว่า จะมีการถือปฏิบัติกันจนเป็นจารีตประเพณีของชาวพุทธในการถวายผ้ากฐิน ใน ฤดูกาลแสวงหาผ้า ของพระสงฆ์ ที่พระพุทธองค์ทรงพุทธานุญาตให้สามารถกระทำได้

แต่ก็ยังมีการปฏิบัติกันอย่างไม่ถูกต้องให้เห็นอยู่เสมอ ดังที่มีการเผยแพร่เป็นข่าวสารออกไปทั่วโลกออนไลน์ ตั้งแต่ยังไม่ออกพรรษา

จึงควรอย่างยิ่งที่สาธุชนจะได้ทำความเข้าใจให้ตรงกับพระธรรมวินัย ว่า การถวายผ้ากฐินเพื่อให้ถึงซึ่งอานิสงส์อันควรนั้น.. ต้องถือปฏิบัติกันอย่างไร เพื่อการเข้าถึงคุณสมบัติของผู้ควรแก่การได้รับอานิสงส์จากการถวายผ้ากฐิน ซึ่งได้บันทึกเผยแพร่ให้กับคณะศรัทธาสาธุชนได้ทราบไปแล้วบ้าง.. อันควรนำมาเผยแพร่ใน “ปักธงธรรม” ดังนี้..

“เจริญพร คณะศรัทธาสาธุชน…

 ขอทำความเข้าใจในเรื่องการ ถวายผ้ากฐิน.. ที่คณะศรัทธาผู้แสดงตนเป็นเจ้าภาพจะได้จัดเตรียมผ้าขาว อันมีปริมาณเนื้อผ้า ชนิด สี อันเหมาะควร.. เพื่อถวายเป็น ผ้ากฐินจีวร แด่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในวัดวาอารามต่างๆ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระธรรมวินัย ซึ่งต้องมีจำนวนครบ ๕ รูปขึ้นไป เพื่อสามารถกระทำสังฆกรรม “การกรานกฐิน” ได้

 จากกรณีที่เคยอ้างอิงว่า.. “แม้พระภิกษุจำนวน ๑ รูปก็สามารถรับได้” โดยนิมนต์พระสงฆ์จากที่อื่นมานั่งร่วมสังฆทานเพื่อให้ครบองค์สงฆ์ ที่เรียกว่า คณปูรกะ (คะ-นะ-ปู-ระ-กะ) ซึ่งหมายถึง ภิกษุผู้เข้าร่วมทำสังฆกรรมที่ทำให้ครบองค์พอดี กล่าวคือ ในการทำสังฆกรรมของสงฆ์ เรื่องดังกล่าวยังเป็นกรณีศึกษากันอยู่ มีทั้งฝ่ายยอมรับและไม่ยอมรับ...

ด้วยในกรณีของคณะภิกษุที่จะเข้าร่วมให้ครบตามจำนวนใน พิธีการถวายผ้ากฐินจีวร นั้น จะมีความเป็นพิเศษที่ระบุไว้ในพระวินัยว่า “จะต้องอยู่ร่วมจำพรรษาในอาวาสเดียวกัน จำนวน ๕ รูป เพื่อประกอบพิธีกรรมกรานกฐินได้ตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาตได้..

..แม้มีภิกษุในอาวาสนั้นอยู่ครบ แต่หากขาดพรรษาหรือเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙  ที่เรียกว่า เข้าพรรษาหลัง ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะร่วมกรานผ้ากฐินจีวรได้”

หากมีสามเณรอายุครบอุปสมบทได้ (๒๐ ปี) จำพรรษาในวัดวาอารามแห่งนั้น สามารถอุปสมบทได้ทันทีในเดือน ๑๑ หรือเดือน ๑๒ ข้างขึ้น.. จำนวน ๑-๒-๓-๔ รูปขึ้นไป พอดีครบองค์สงฆ์ ๕ รูป ก็สามารถรับผ้ากฐินและประกอบสังฆกรรม “กรานกฐิน” ได้.. ซึ่งจำนวนภิกษุในการกระทำสังฆกรรมนับเป็นเรื่องที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนที่ฝ่าฝืนไม่ได้...

แม้จะมีการอ้างกรณีมีพุทธานุญาตพิเศษ เกิดขึ้นกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่เคยได้รับการถวายจีวรจากคนในถิ่นที่เปล่งวาจาว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์” ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุรูปนั้นได้นำผ้าจีวรผืนนั้นไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระนครสาวัตถี กราบทูลเรื่องถวายพระพุทธองค์เพื่อขอรับคำสั่งสอน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงว่า..

“ดูก่อน ภิกษุ จีวรนั้นเป็นของเธอนั่นแหละ จนกว่า กฐินเดาะ

 “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียว ประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวร ด้วยเปล่งวาจาว่า “พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่ภิกษุนี้เท่านั้น จนกว่ากฐินเดาะ

จากเรื่องดังกล่าว แม้จะทรงแสดงไว้ว่า จีวรอันถึงสงฆ์ที่กล่าวถวายพระภิกษุแม้รูปเดียว ณ อาวาสนั้นๆ.. ต้องเป็นของภิกษุรูปนั้น หรือ ๒ รูป.. ๓ รูปนั้น ที่อยู่อาศัยในอาวาสนั้น อันชาวบ้านในถิ่นนั้นได้กล่าวถวาย แม้จะไม่ครบองค์สงฆ์ คือ ๔ รูปขึ้นไป.. แต่นั่นหมายถึง การถวายทานถึงสงฆ์.. ที่ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับการกรานกฐิน ที่จะต้องประกอบสังฆกรรม...

 ซึ่งในกรณี กฐินทาน หรือ การถวายผ้ากฐินจีวร นั้น.. ลักษณะพิเศษ คือ จะต้องมีพระภิกษุครบจำนวน ๕ รูปขึ้นไป ที่อยู่ร่วมจำพรรษาในอาวาสนั้น.. เพื่อมีสิทธิในการร่วมสังฆกรรมถวายผ้ากฐินได้.. และมีสิทธิในการได้รับอานิสงส์กรานกฐินอันเท่าเทียมกัน.. จึงออกจะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งหากถือปฏิบัติตรงตามพระพุทธพจน์ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่เมื่ออรรถกถาจารย์ได้นำมาขยายความในจีวรนั้น และวิธีปฏิบัติว่า..

 “ถ้าได้ภิกษุคณปูรกะ กฐินเป็นอันกรานได้ จีวรนั้นเป็นของเธอตลอด ๕ เดือน

ถ้าไม่ได้กรานกฐิน จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอ ตลอดจีวรมาสเดือนเดียวเท่านั้น”

​ จึงได้มีคณะภิกษุบางหมู่..บางพวก ได้ยึดถือว่า แม้ภิกษุจำพรรษาแล้วอยู่รูปเดียว ก็มีทางที่จะกรานกฐินได้ โดยมีภิกษุที่อื่นมาร่วมประชุมเป็นคณปูรกะ (ให้ครบองค์สงฆ์) เพื่อจะได้ทำสังฆกรรมได้ แม้ว่าจะมีภิกษุรูปเดียวจำพรรษาในอาวาสนั้น

จึงยังมีข้อขัดแย้งไม่ลงรอยกัน.. ซึ่งในภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ยังยืนกับพระพุทธพจน์ที่ทรงบัญญัติเรื่อง กฐินทาน อันมีสาระสำคัญอยู่ที่ว่า “สงฆ์ (ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อย) ตกลงมอบผ้ากฐินที่ทุกรูปร่วมเป็นเจ้าของ ให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วน อันควรกรานกฐิน เอาผ้าไปกรานได้.. เมื่อกรานแล้ว ภิกษุนั้นมาแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายร่วมอนุโมทนา.. เพื่อถึงซึ่งอานิสงส์กรานกฐินทั่วกัน..”

ดังนั้น ในเรื่องจำนวนและคุณสมบัติของพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาในอาวาสนั้นๆ ที่พึงจะมีสิทธิและหน้าที่ในการรับผ้า.. ไปกรานกฐินจีวรนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่สาธุชนควรพิจารณา.. ในฐานะตัวการสำคัญฝ่ายสนับสนุน ซึ่งหากไม่มีคณะศรัทธาญาติโยมถวายผ้ากฐินแล้วนั้น.. “การกรานกฐิน” ของพระสงฆ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

จึงควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่า ควรถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา ครบ ๕ รูปขึ้นไปในอาวาสนั้นๆ.. หรือแม้ภิกษุรูปเดียวตามนัยพิเศษ ที่ อรรถกถาจารย์ แสดงมติเห็นชอบ อันมิใช่พระพุทธพจน์ตามที่ทรงบัญญัติ..

อีกประการหนึ่ง ที่ใคร่จะแนะนำให้พิจารณา ในกรณีเป็นเจ้าภาพร่วม ถวายผ้ากฐิน ที่เรียกว่า “กฐินสามัคคี” เรื่องสำคัญยิ่งของคณะศรัทธาฯ คือ การมีส่วนร่วมในการสร้างผ้ากฐินจีวรผืนนั้น พร้อมบริวาร ที่ควรมีส่วนร่วมกันตามลำดับ.. ในการจัดสร้างผ้ากฐินและบริวาร โดยเฉพาะผ้าขาวที่ยกขึ้นกล่าวถวายว่า “ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินผืนนี้.. เมื่อรับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้”

คำว่า “ผ้าผืนนี้” .. สำคัญมาก ที่คณะสงฆ์ต้องนำไปกรานกฐินตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต มิใช่ ผ้าผืนอื่น.. จึงเปรียบผ้าผืนดังกล่าวว่า.. “ดุจผ้าทิพย์ของเทพยดา ที่ลอยลงมาจากสรวงสวรรค์ ตกลงท่ามกลางสงฆ์”...

การมีส่วนร่วมกันจัดสร้าง.. ร่วมกันทอดถวายผ้ากฐิน.. แด่คณะสงฆ์ที่ร่วมกันรับ.. นับเป็นหัวใจในการถึงอานิสงส์จากการถวายผ้ากฐิน ซึ่งทานเฉพาะกาล (กาลทาน) ที่เน้นย้ำความรักสามัคคีในหมู่คณะเป็นสำคัญ

การเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพตามกำลัง.. นับเป็น สาระธรรม ที่ยังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแท้จริง ที่ควรคำนึง

สิ่งสำคัญยิ่ง.. คือ หน้าที่และสิทธิ..ในแต่ละฝ่ายที่ต้องเคารพพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะฝ่ายพระภิกษุ.. จะก้าวล่วงลงไปจัดหาลาภ เพื่อให้ได้มาตามความต้องการนั้น.. มิได้เลย ไม่ว่าจะแสดงออกมาด้วยอาการใดๆ อย่างมีเจตนาหวังให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินจากญาติโยม.. อันเป็นการแสวงหาที่เป็นโทษ ไม่ชอบธรรม ผิดพระวินัย

ดังปรากฏออกมาให้เห็นบ่อยๆ จากวัดวาอารามต่างๆ ที่พระภิกษุในอาวาสนั้น แสดงออกในการเชิญชวนให้ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาไปช่วยเป็นเจ้าภาพจัดถวายผ้ากฐิน.. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การถวายผ้ากฐินนั้นย่อมเสียหาย เนื่องจากความวิบัติแห่งศีลของพระภิกษุ.. เป็นสาระสำคัญ

อีกประการหนึ่ง คือ การกล่าวแสดงตน เพื่อขอถวายผ้ากฐิน แด่คณะสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดวาอารามนั้นๆ ที่เรียกว่า “การจองกฐิน” โดยแสดงตนถูกต้อง เปิดเผย ของคณะศรัทธาทั้งหลาย.. เพื่อคณะกรรมการวัดนั้นๆ  จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้รับทราบ ไม่ใช่วัดกำหนดวันทอดกฐินกันเอง.. โดยยังไม่มีเจ้าภาพ.. ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรทำ เพราะจะเทียบเคียงกับการที่พระสงฆ์ในวัดนั้น (หากร่วมรู้) แสดงเจตนาโน้มน้าวหาลาภจากบุคคลที่ไม่ปวารณา.. ย่อมขัดต่อคุณสมบัติในการมีสิทธิรับทันที หมายถึง การรับผ้ากฐินนั้น ไม่เป็นไปโดยชอบธรรม ไม่สามารถรับมากรานกฐินได้.. ยกเว้นกล่าวปวารณาไว้อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย!!

สรุปได้ว่า.. การถวายผ้ากฐิน จึงต้องเกิดด้วยความศรัทธาของญาติโยม มิใช่จากพระภิกษุในวัดนั้นๆ ไปพูดโน้มน้าวชักชวน.. เลียบเคียงให้ถวาย.. ห้ามใช้ผ้าที่ไม่เป็นสิทธิ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามาทอด.. ไม่ใช้ผ้าที่ได้มาโดยอาการมิชอบ เช่น การพูดเลียบเคียงหรือทำนิมิต.. ไม่ใช้ผ้าที่เป็นสันนิธิ คือ ผ้าที่ทายกมาทอดแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ค้างคืน.. ไม่ใช้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือ ผ้าที่ภิกษุเสียสละ เพราะต้องโทษตามพระวินัยบัญญัติ..

สิ่งที่พึงควรระวังที่สุด คือ เรื่อง การบอกบุญกับการเรี่ยไร.. ที่แม้ใกล้ชิดกัน แต่ก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยเจตนา.. ที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งวัตถุ สิ่งของ บุคคล และเจตนาอันเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง.. ในสาธุชนทั้งหลาย!!

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .