กรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ กับดาบในมือ ตรวจสอบสีกากี

“คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” (ก.ร.ตร.)คือหนึ่งในคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตามพรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่ถูกมองและคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นช่องทางให้ประชาชน ร้องเรียนการทำงานของตำรวจมายังก.ร.ตร. ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของตำรวจทุกระดับ

ซึ่งก.ร.ตร.ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ หลังเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ โดยปัจจุบันมี พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เป็นประธานก.ร.ตร.

เพื่อให้เห็นถึงบทบาท-การทำหน้าที่ของก.ร.ตร.ว่าเป็นอย่างไร เราได้สัมภาษณ์พิเศษ "สมศรี หาญอนันทสุข-หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ"(ก.ร.ตร.) ซึ่งเป็นคนที่ทำงานและเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-ปฏิรูปตำรวจมานานหลายปี เช่นก่อนหน้านี้ ก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)ที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเรียร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง โดย”สมศรี-ก.ร.ตร.”เล่าให้เราฟังถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่าเข้ามาทำงานในฐานะก.ร.ตร.ร่วมห้าเดือนแล้ว ซึ่งที่มาที่ไปและโครงสร้างของก.ร.ตร.นั้น พรบ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ ก.ร.ตร.เป็นคณะกรรมการอิสระ ที่ตั้งขึ้นตามพรบ.ตำรวจแห่งชาติฯ โดยมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย  หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

ที่ผ่านมา ก.ร.ตร.ทำงานแบบเริ่มจากศูนย์ เพราะเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จึงทำให้เมื่อกรรมการเข้าปฏิบัติหน้าที่ ต้องมาประชุมเพื่อวางกรอบระเบียบปฏิบัติต่างๆในการทำงาน เช่น ข้อบังคับ กฎระเบียบทางราชการ และกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของก.ร.ตร.เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ เพราะก.ร.ตร.เป็นกรรมการที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งจะแตกต่างจากก.พ.ค.ตร.ที่ตำรวจร้องเรียนตำรวจกันเอง

"สมศรี-ก.ร.ตร."บอกว่า ก.ร.ตร.มีวาระการทำงานสี่ปี ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก.ร.ตร.ยังมีกรรมการไม่ครบสิบคนตามที่กฎหมายกำหนดไว้  แต่ก็เกินกึ่งหนึ่งจึงทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ ซึ่งโครงสร้างของก.ร.ตร. จะมีกรรมการมาจากสองส่วนคือ กรรมการที่ทำงานเต็มเวลา ซึ่งมีที่มาตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ก.ร.ตร.ที่มาจากผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประชุมร่วมกันคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน ซึ่งก็คือตัวเรา แล้วก็มีก.ร.ตร.ที่เป็นอดีตทนายความซึ่งประกอบอาชีพทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ซึ่งสภาทนายความคัดเลือกมาหนึ่งคน(สุนทร พยัคฆ์) และก.ร.ตร.ซึ่งเป็นผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวนสองคน ซึ่งที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลคัดเลือก (อริยา แก้วสามดวง-สุกลภัทร ใจบุญ)

ส่วนก.ร.ตร.ที่มาจากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการจำนวนหนึ่งคน ยังไม่มีเช่นเดียวกับกรรมการที่มาจากสายอัยการ ที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับเลือกจากคณะกรรมการอัยการหนึ่งคน ก็ยังไม่มีเช่นกัน ที่ก็เป็นเพราะด้วยผู้พิพากษากับอัยการ อายุราชการเขาเกษียณตอนอายุ 70 ปี จึงทำให้ยังไม่มีจากสายศาล-อัยการเข้ามาเป็นก.ร.ตร.ทำให้ก็เลยมีก.ร.ตร.เต็มเวลามีแค่ตัวเราคนเดียว 

นอกจากนี้ ก็มี ก.ร.ตร.ที่เป็นผู้ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไปจำนวนสามคน ที่มาจากการเลือกตั้งกรรมการข้าราชการตำรวจหรือก.ตร. ที่ตำรวจทั่วประเทศ ไปลงคะแนนเสียงเลือกซึ่งคนที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่ 1-3 จะไปเป็นก.ตร. ส่วนในลำดับที่ 4-6 จะมาเป็นก.ร.ตร.แต่ต่อมามีกรรมการสองคนขอถอนตัว ก็มีการเลื่อนบุคคลที่ได้คะแนนเสียงตอนเลือกตั้งก.ตร.ในลำดับถัดไปขึ้นมา คือพล.ต.ท.เรวัติ กลิ่นเกษร

"สมศรี-ก.ร.ตร.ชุดแรก"เล่าถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาให้ฟังต่อไปว่า การที่กรรมการยังเข้ามาทำงานไม่ครบในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจทำให้การทำงานของก.ร.ตร.อาจจะยังไม่สมบูรณ์มากนัก แต่เราก็พยายามที่จะทำงานให้ดีที่สุด โดยตอนนี้นั่งทำงานกันที่สำนักงานจเรตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมา จเรตำรวจก็เหมือนเป็นแขนขาในการช่วยกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีคนพูดกันว่า การร้องเรียนตำรวจก็มีจเรตำรวจทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ แล้วก.ร.ตร.จะทำงานซ้ำซ้อนกับจเรตำรวจหรือไม่ ที่ต้องบอกว่า การที่ให้มีกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจที่เป็นกรรมการอิสระ เป็นเรื่องของการที่เขียนไว้กฎหมายตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีหลักการในเรื่องการให้มีการปฏิรูปตำรวจในระดับหนึ่ง ทางผู้ยกร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ จึงให้มีกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ ที่เป็นกรรมการอิสระเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ามีคนนอกเข้ามาทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพราะจเรตำรวจก็คือตำรวจเท่านั้น ไม่มีบุคคลจากภายนอกองค์กร 

การรับเรื่องร้องเรียน ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะร้องเรียนไปที่จเรตำรวจหรือร้องมาที่ก.ร.ตร.ทำให้ต่อจากนี้ไป ทั้งจเรตำรวจและก.ร.ตร.ก็คงต้องมาคุยกัน รวมถึงกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือก.พ.ค.ตร.ที่กำลังจะเข้ามาทำงานในเร็วๆนี้  เพราะบางกรณี เช่น ตำรวจ ถูกลงโทษเช่นให้ออกจากราชการ เขาก็มีสถานะกลายเป็นประชาชน เป็นพลเรือน แต่หากเขาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็สามารถยื่นร้องเรียนกับก.ร.ตร.ในฐานะเป็นพลเรือนได้ การทำงานหลังจากนี้ คงต้องมีการพูดคุยเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง จเรตำรวจ ก.ร.ตร.และก.พ.ค.ตร.กันพอสมควร

"สมศรี-ก.ร.ตร."เปิดเผยว่า หลังก.ร.ตร.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จนถึงตอนนี้ เริ่มมีประชาชนทยอยมาร้องเรียนกับก.ร.ตร.บ้างแล้ว ทำให้ตอนนี้ กรรมการก.ร.ตร.ก็เริ่มศึกษาเคสต่างๆ ที่ประชาชนร้องเรียนมา ซึ่งกระบวนการลำดับแรกคือ กรรมการต้องคุยกันว่าจะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวหรือไม่ โดยระบบการทำงานของก.ร.ตร.เป็นระบบไต่สวน จึงต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน โดยหากกรรมการเห็นว่าเรื่องที่ร้องเรียนมามีมูล และพิจารณารับเรื่องร้องเรียนแล้ว จากนั้น ก็จะมีการไต่สวน โดยกรรมการสามารถลงไปแสวงหาข้อเท็จจริง แสวงหาพยานหลักฐานในเรื่องที่ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ ซึ่งการทำงานเป็นการทำงานแบบรับเรื่องร้องเรียนตำรวจทั่วประเทศ โดยที่ก.ร.ตร.ไม่ได้มีสำนักงานภาค จึงทำให้การทำงานก็อาจลำบากพอสมควร ก็ต้องอาศัยจเรตำรวจ เข้ามาช่วยมอนิเตอร์ในการทำงานให้กับก.ร.ตร.ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของก.ร.ตร.ด้วย ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่ก.ร.ตร.กำลังเซ็ตระบบการทำงานจากศูนย์กันเลย จึงทำให้การทำงานของก.ร.ตร.ต้องใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งกรรมการด้วยกันเอง ต้องมีการจูนความคิดให้ตรงกัน แต่ก็สามารถที่จะถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ ซึ่งบางเคส กรรมการอาจเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นไปได้ แต่สุดท้าย ใช้เสียงส่วนใหญ่ชี้ขาด แต่มีการบันทึกความเห็นของเสียงข้างน้อยในบันทึกการประชุมไว้ด้วย

-ห้าเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนมาที่ก.ร.ตร.มากน้อยแค่ไหน และเป็นการร้องเรียนในลักษณะใด?

มีทุกรูปแบบ ก็ประมาณสิบกว่าเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา แต่ยังไม่ใช่เคสที่ซีเรียสมากๆ แบบที่เป็นข่าวใหญ่ตามที่ปรากฏตามสื่อมวลชน แต่ว่ากรรมการก็สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาได้เช่นกัน หากความปรากฏ เช่นถ้าเห็นว่าเรื่องนั้นน่าสนใจ มีผลต่อประชาชนในวงกว้างหรือระยะยาว โดยหากแก้ปัญหาในเคสดังกล่าวได้แล้วจะเป็นตัวอย่างในอนาคคตได้ ก.ร.ตร.ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ หรือในกรณีที่เป็นคดีใหญ่ๆ แล้วก.ร.ตร.เห็นว่ากรรมการควรเข้าไปเพื่อสร้างการถ่วงดุลกับการพิจารณาของหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ก.ร.ตร.ก็มาคุยกันได้ว่าควรเข้าไปทำอย่างไรหรือไม่เพื่อเข้าไปไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงกับหน่วยงานอื่นด้วย เพราะหากหน่วยงานอื่นเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ-สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือป.ป.ท. เขาทำได้ดีอยู่แล้ว ก.ร.ตร.ต้องปล่อยให้เขาทำ แต่ถ้าบางเรื่องที่เราพิจารณาแล้ว และเห็นว่าควรส่งให้กรรมการอิสระอื่นๆเพราะมีเรื่องของการทุจริต ก.ร.ตร. สามารถส่งเรื่องไปให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาต่อได้ เช่น ป.ป.ช. -ป.ป.ท.แต่หากเป็นกรณีเช่น เป็นเรื่องความผิดทางวินัย ก.ร.ตร.อาจส่งให้ผู้บังคับบัญชา เขาลงโทษ เพราะตามกฎหมาย ก.ร.ตร.มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย แต่ก.ร.ตร.ไม่สามารถลงโทษได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อก.ร.ตร.ทำความเห็นไปแล้วเช่น เห็นควรให้ลงโทษวินัยกับตำรวจเช่น ให้ปลดออก เมื่อส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาแล้ว ก.ร.ตร.ต้องติดตามเรื่องด้วยว่า ได้มีการลงโทษตามที่ส่งไปหรือไม่ หากไม่ดำเนินการ ก็ต้องชี้แจงว่ามีเหตุผลอะไร

แนะปฏิรูปวงการสีกากี

ปรับโครงสร้างให้สังกัดจังหวัด

-มองว่าการที่พรบ.ตำรวจฯ กำหนดให้มีทั้งกรรมการพิทักษ์คุณธรรม และกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ จะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

ในฐานะที่เราเคยทำและเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจมาก่อนที่จะมาเป็นก.ร.ตร.ที่ตอนนั้นเคลื่อนไหวในนาม ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ที่ก็จะพบว่า การปฏิรูปตำรวจมีองค์ประกอบเยอะในการจะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจที่จะต้องทำหลายมิติ ดังนั้นการตั้งกรรมการอิสระสองชุดดังกล่าว มันอาจแก้ปัญหาที่ปลายเหตุได้ในระดับหนึ่ง ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ในระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังเป็นปลายเหตุอยู่ดี การที่จะปฏิรูปให้ได้จริง มันต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง

อย่างการที่เราเป็นก.ร.ตร.แต่เราก็ต้องพยายามอธิบายกับประชาชนว่า ความคิดของเรามันไปถึงเรื่อง"การกระจายอำนาจของตำรวจ"หรือการให้ตำรวจไปสังกัดอยู่ในกระทรวงใด เช่น กระทรวงยุติธรรม คือเราเคยเสนอถึงกับที่ว่า ไม่ต้องการให้ตำรวจเป็นอิสระแบบจะไปทำอะไรได้ตามอำเภอใจได้ แบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว เราศึกษามาแล้วว่า ตำรวจถ้าจะให้ดี ก็ควรที่จะเป็นตำรวจจังหวัด เพราะอย่างปัญหาที่ผ่านมากับตำรวจ  ก็ทำให้ตำรวจดีๆ หลายคนก็ทุกข์ เพราะคดีที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักข่าวทำแต่ข่าวตำรวจ เขาก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันน่าอับอาย ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี เขาก็มาบ่นกับพี่อยู่ในช่วงที่เข้ามาทำงานเป็นก.ร.ตร.พวกตำรวจดีๆของจเรตำรวจ เขาก็มี แต่เราไม่รู้ว่าเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เราประเมินไม่ได้ เพราะเราไม่รู้เบื้องหลังเขาว่ามาจากไหนถึงมาอยู่จเรตำรวจ ถูกย้ายมา หรือถูกสั่งย้าย หรือเป็นลูกเจ้าขุนมูลนาย หรือคุณทำผิดอะไรมา เราไม่ทราบ แต่ว่าตำรวจที่ดีๆ เราก็เห็นว่าก็มี ตำรวจที่เขาต้องการปฏิรูปตำรวจก็มี แต่ตำรวจที่อยากจะลาออก ก็มี อันนี้มีจริง แต่ว่าตำรวจถ้าจะให้เขาทำงานอย่างมีความสุข ควรจะให้เขาสังกัดจังหวัดที่เขามีภูมิลำเนาอยู่ อันนี้คือการแก้ปัญหาโครงสร้างเลย

คือทำตำรวจให้เป็นตำรวจจังหวัด ถ้าจะโยกย้ายเขา ก็ไม่ควรย้ายไปไกล เพราะเขามีครอบครัว ที่้่ต้องดูแลในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเอง เขาจะได้ทำงานอย่างมีความสุข

ไม่ใช่เป็นคนเชียงใหม่แต่ย้ายให้ไปทำงานที่ปัตตานี หรือบ้านอยู่อุดรธานี แต่ให้มาทำงานที่กาญจนบุรี ซึ่งเงินเดือนของตำรวจก็ไม่ได้เยอะโดยเฉพาะในระดับชั้นประทวน หากไปใช้งานเขาโดยไม่ได้ให้สังกัดจังหวัด แค่ค่าเดินทางก็หมดแล้วหากต้องไปเยี่ยมครอบครัว จนบางทีครอบครัวแตก ไม่ฝ่ายหญิงก็ฝ่ายชาย ที่ต่างไปมีใหม่เพราะห่างไกล เราก็เห็นใจตำรวจ แต่ขณะเดียวกันเราก็เห็นใจประชาชนเพราะประชาชนเดือดร้อนมาก เพราะตำรวจนอกรีตมันก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างก่อนหน้านี้ที่ส.ส.ฝ่ายค้านเอาเรื่องปัญหาตำรวจไปอภิปรายในสภาฯ เราก็เห็นด้วยเพราะมันเป็นแบบนั้นจริงๆ รวมถึงจากการได้เข้ามาสัมผัสงานในการเป็นก.ร.ตร.แม้จะเป็นเวลาแค่ไม่กี่เดือน เพราะจากที่เข้ามาทำงานเป็นก.ร.ตร.ซึ่งออฟฟิศอยู่ในพื้นที่สำนักงานจเรตำรวจ ที่ก็มีตำรวจประมาณ 300-400 คน แม้จะไม่มาก แต่เราก็ได้ความรู้สึกว่า เขาก็มีความทุกข์และเขาอยากเห็นอะไรมันดีขึ้น

การมีอยู่ของกรรมการทั้งกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ และกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ก็ช่วยในเรื่องการปฏิรูปตำรวจได้ระดับหนึ่ง แต่หากจะให้มันถาวร มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้จริงๆ ซึ่งที่ผ่านมา การให้ความเห็นเรื่องปฏิรูปตำรวจ เราพูดเยอะเรื่องการปรับปรุงงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวน ทำงานหนัก และไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ เราก็อยากให้พนักงานสอบสวนทำงานได้อย่างมีอิสระ ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาที่จะมาคอยสั่งเช่นสำนวนนี้ทำให้มันอ่อน หรือสำนวนนี้ทำให้มันเข้ม หรือหลักฐานพยานบางอย่าง ก็ให้ตัดทิ้งออกไปบ้างเพราะเป็นลูกคนรวย ก็อยากให้พนักงานสอบสวนทำงานได้อย่างอิสระ โดยการเพิ่มพนักงานสอบสวน และควรมีพนักงานสอบสวนหญิงทุกสถานีตำรวจด้วย เพราะตอนนี้ตำรวจหญิงมีน้อยเกินไป และมักถูกสั่งให้ไปทำงานอย่างอื่นเช่นไปอยู่ฝ่ายธุรการ หรือคอยหิ้วกระเป๋าให้นาย และการทำงานของพนักงานสอบสวน ก็ต้องได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายอัยการได้ด้วย โดยให้อัยการเข้ามาตรวจสอบหรือรับรู้พยานหลักฐานในคดีสำคัญๆ ไม่จำเป็นต้องทุกคดี

ปัญหาใหญ่โรงพัก

ไม่ยอมรับแจ้งความ!

"สมศรี-ก.ร.ตร."กล่าวฝากไปถึง"พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร." ด้วยว่า ผบ.ตร.มีเวลาในการทำงานเป็นผบ.ตร.เพียงหนึ่งปี อีกทั้งเข้ามาในช่วงสำคัญคือเป็นช่วงที่ต้องถือว่าวิกฤตสุดๆ และก็เป็นการเข้ามาแบบร้อนแรงมาก ดังนั้นต้องอาศัยความร้อนแรงตรงนี้ถือโอกาสปฏิรูปโครงสร้างไปเลย หากกล้าทำ รวมถึงก็อยากเรียกร้องไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯในฐานะประธานก.ตร.ด้วย โดยนายกฯควรศึกษางานด้านนี้ เพราะเท่าที่เห็น มองว่านายกฯยังไม่เข้าใจว่า จะปฏิรูปอย่างไร ซึ่งหากฟังแต่ตำรวจอย่างเดียว ก็คงไม่ได้ปฏิรูป จึงควรฟังภาคประชาสังคมและฟังเสียงสะท้อนจากสภาฯด้วยเพราะมีการพูดเรื่องนี้มาหลายปีในสภาฯ

ก็อยากให้ผบ.ตร.พิจารณาและแก้ปัญหาเรื่องตำรวจอย่างจริงจัง ให้เป็นหนึ่งปีที่มีคุณค่า หากทำได้ก็จะดีมาก บางเรื่องที่ไม่ใช่งานตำรวจ ก็ลดละไปบ้าง เพราะตอนนี้ปัญหาหลายเรื่องของตำรวจ มีผลกระทบอย่างมาก

เช่น การที่ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความจากประชาชนที่พบว่าตอนนี้มีเยอะมากและเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการไม่รับแจ้งความ ก็คือ เพื่อทำสถิติ ทำผลงานว่าในท้องที่นั้น สน.หรือสภ.อ. ในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ  มีสถิติดีขึ้น มีปัญหาน้อยลง โดยยกเรื่องการรับแจ้งความ ว่าสถิติคดีมันน้อยลง แล้วบอกว่าทำหน้าที่ได้ดี มีผลงาน สน.หรือสภ.อ.นั้น มีผลงาน สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น ซึ่งจะเอาแบบนี้ไปวัดผลงานไม่ได้ ตำรวจต้องรับแจ้งความทุกกรณี ทุกเรื่องร้องเรียน

ปัญหาดังกล่าวเรื่องตำรวจไม่รับแจ้งความ พบว่าก็เกิดกับคนต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ที่พอเกิดเรื่องแล้วไปแจ้งความ ตำรวจไม่รับแจ้งความ นักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาก็กลับออกไป แบบมีความรู้สึกชอกช้ำ คับแค้นใจ แล้วเขาจะเกิดความรู้สึกไม่อยากกลับมาประเทศไทย มันก็มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ตอนนี้สถานทูตหลายแห่งก็ปวดหัวกับเรื่องตำรวจเราเหมือนกัน อย่างเราก็ได้คุยกับตัวแทนสถานทูตฯ และตัวแทนสหประชาชาติที่อยู่ในประเทศไทย ก็ว่าต้นธารของกระบวนการยุติธรรมเรา มีปัญหามาก ทำให้เวลาเราทำรายงานอะไรต่างๆ แล้วบางกรณีต้องไปรายงานต่อสหประชาชาติ เขาก็จะถามเราในเรื่องกระบวนการยุติธรรมเราว่าเราพัฒนาดีขึ้นแล้วหรือยัง ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหา ต่างชาติก็ไม่อยากเข้ามาลงทุนในไทย นักท่องเที่ยวเข้ามาก็มีความกังวลใจ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...