เปิดใจ"นพ.สรณ"ปธ.กสทช. กับปัญหางัดข้อ -ไม่เป็นเอกภาพ 7 อรหันต์ ซอยสายลม

หนึ่งในองค์กรภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะกับทิศทางการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ซึ่งองค์กรแห่งนี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในการวางเข็มทิศและการกำกับดูแลการเติบโตดังกล่าว นั่นก็คือ

"คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ"หรือ"กสทช."ที่เป็นองค์กรซึ่งต้องควบคุมดูแลกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่มีผลประโยชน์หลายแสนล้านบาท ทำให้การทำงานของกสทช.ถูกเฝ้าติดตามตรวจสอบจากคนในสังคมมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม สำหรับ กสทช. ชุดปัจจุบันพบว่า ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ข่าวการทำงานของกสทช.ที่ปรากฏออกมา มักมีข่าวทำนองเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน มีการแบ่งกลุ่มแบ่งขั้วกันในกสทช.เกิดขึ้นตลอดเวลา จนหลายคนตั้งคำถามกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรแห่งนี้

"ไทยโพสต์"สัมภาษณ์พิเศษ"ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ -ประธาน กสทช."เพื่อเปิดใจถึงการทำงานในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา นับแต่เมษายน 2565 จนถึงปัจจุบันเพื่อต้องการรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับกสทช.และเรื่องนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด

ลำดับแรกเราถามถึง การคัดเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนใด หลังที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏออกมาว่ามีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างกสทช.ในการเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่ ซึ่ง"ประธานกสทช."ให้ข้อมูลว่า การเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่ ถือเป็นเรื่องหนักใจ สืบเนื่องมาจากมีรักษาการเลขาธิการกสทช.(นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) แล้วต่อมามีการปลดออกจากรักษาการเลขาธิการกสทช. ซึ่งการปลดรักษาการเลขาธิการกสทช.มติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมก็เลยไม่ได้เซ็นคำสั่งไป

ต่อมา มีการรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นเลขาธิการกสทช. ซึ่งรักษาการเลขาธิการกสทช. (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ก็เป็นหนึ่งในผู้สมัครเป็นแคนดิเดตด้วย มันเลยทำให้ทุกอย่างเลยซับซ้อน

เพราะฉะนั้น กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการกสทช.เลยยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้อาจจะคาราคาซังไปอีกสักระยะ โดยตอนนี้ก็มีการฟ้องร้องกันหลายรูปแบบ ทำให้อาจจะสรรหา-แต่งตั้งเลขาธิการกสทช.อาจยังไม่ได้ภายในสามเดือนข้างหน้า ซึ่งสำนักงานกสทช.ก็มีรักษาการเลขาธิการกสทช.ก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาทำหน้าที่ และตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ เขาก็รักษาการเลขาธิการกสทช. ทำให้ก็รักษาการเลขาธิการกสทช.มาร่วมสามปีแล้ว งานต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้

แต่เราก็อยากได้เลขาธิการกสทช.ตัวจริง ซึ่งมันก็มีผลต่อไปถึงเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของคณะกรรมการกสทช.ว่าบอร์ดกสทช.คิดอะไรไม่ตรงกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือบอร์ดฟ้องประธาน -รักษาการเลขาธิการกสทช.ฟ้องบอร์ดกสทช. อย่างที่เป็นข่าว ซึ่งดูแล้ว มันก็หดหู่หน่อย ในฐานะคนที่พยายามทำให้องค์กรมันเดินไปได้ แต่ก็ต้องรอดูต่อไป คือถึงจุดหนึ่งเมื่อมีลงแล้ว มันก็ต้องมีขึ้น เราต้องหาทางคุย หาทางออกกันให้ได้

-ปัญหาความขัดแย้ง ในบอร์ดกสทช.ตามข่าวที่ออกมา ที่ถูกมองว่า การทำงานของกสทช.ไม่เป็นเอกภาพ จนมีสว.บางคน นำปัญหาดังกล่าวไปพูดกลางที่ประชุมวุฒิสภาว่าขอให้กสทช.เลิกทะเลาะกัน?

ขอบคุณในความเป็นห่วง แต่เวลาคนทำงานแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องแก้ไขปัญหาเอง ต้องพยายามหาทางแก้ไข ก็ยอมรับว่าคงมีข่าวแบบนี้ออกไปเรื่อยๆ แต่ทุกอย่างมันมีจุดสมดุลกัน แต่มันก็ต้องมีจุดเปลี่ยน ถึงจุดตรงนี้มันไม่ได้ มันก็ต้องมีจุดเปลี่ยน ต้องรอดูไปว่าจุดเปลี่ยนมันจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้น มันอาจกระทบความรู้สึก แต่ยืนยันได้ว่ามันไม่กระทบกับงานหลักๆ ที่กสทช.ทำ ภาพพจน์ที่ออกไป ที่ดูเหมือน กสทช.ไม่มีเอกภาพ แต่ผมคิดว่า มันไม่ได้ทำให้งานเสีย ไม่ได้ทำให้งานของกสทช.ล่าช้า ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรเกินตัว

การที่เห็นไม่ตรงกัน มันเป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องกฎหมายที่เราตีความไม่เหมือนกัน แล้วมันก็เป็นธรรมชาติ เป็นความสวยงาม เพราะหากกรรมการเห็นด้วยเหมือนกันหมด มันก็อาจไม่ได้เป็นบอร์ด แต่ว่าด้วยความที่เราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว อีกสักพัก คงต้องคุยกันให้ได้

ผมเองก็ยอมรับว่าหนักใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีคนเอาเรื่องโกหก เอาเรื่องไม่เป็นความจริงไปพูด หรือมีคนไปให้ข่าวสื่อในทางที่เป็นลบตลอดเวลา ขอให้สื่อตรวจสอบข่าวก่อนที่จะนำเสนอ เพราะไม่อย่างนั้นมันก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย

 อย่างตอนที่มีการนำรายงานประจำปีของสำนักงานกสทช.ไปเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ที่ผมก็ไปชี้แจงต่อสภาฯ ก็มีการนำเรื่องโกหกมาอภิปราย เอาข่าวลือมาพูด ที่มันไม่แฟร์สำหรับผม เช่นเรื่องบอกว่าผมมีคลีนิกส่วนตัวที่ต่างประเทศ ก็ยืนยันอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ ผมได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯไปแล้วว่า ผมไม่เคยมีคลีนิกส่วนตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผมมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าผมเคย practiceในสหรัฐฯ ตอนเป็นเด็กๆ ตอนช่วงปี ค.ศ.1984-1993 ผมมี TRAINING ที่เรียกว่า license to practice medicine และที่สหรัฐฯ ผมก็ได้วุฒิบัตรที่แสดงความเชี่ยวชาญว่าเป็นหมอหัวใจ ซึ่งจะต้องสอบทุกสิบปี ผมก็สอบปีค.ศ. 2003 ต่อด้วย ค.ศ. 2013 และในปีนี้ 2023เพื่อแสดงว่าเรายังเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ แต่พอดีปีนี้ผมไม่ได้ไปสอบ เพราะงานผมเยอะ

ยืนยันได้ว่าผมไม่เคยประกอบวิชาชีพเวชกรรมตั้งแต่ผมกลับมาจากสหรัฐฯเมื่อค.ศ. 1993 ผมไม่เคยทำ ผมไม่เคยมีคลีนิกส่วนตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมอาจเคยตรวจคนไข้ที่รพ.เอกชน แต่ผมไม่เคยเปิดคลีนิกส่วนตัว ดังนั้นที่พูดกันเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องการโกหก สร้างข่าว ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย  

-เสียงวิจารณ์เรื่องว่าเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร?

ผมในฐานะเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศด้านโทรคมนาคม เพราะฉะนั้นมันเป็นภาระหน้าที่ของผมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆเช่น  สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ  (International Telecommunication Union - : ITU) หรือ Global Spectrum Management Forum (GSMF) หรือ องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APG) และอีกหลายหน่วยงาน ทำให้ผมในฐานะเป็นตัวแทนขององค์กร ผมก็ต้องไปทำความรู้จักทำความเข้าใจของระบบ อย่างเวทีของITU ก็มี2-3 งานที่ต้องไป มันจึงเป็นภาระหน้าที่ซึ่งผมต้องเดินทางไป แต่หากเป็นกรณีไปส่วนตัว ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของผม

"กสทช.ก็เหมือนกับทุกองค์กรที่ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน กรรมการคงต้องปรับจูนกัน แต่ก็เสียดายที่ภาพพจน์ออกมาอย่างนั้น แต่มันก็เป็นความจริง ผมจะไปเปลี่ยนความจริงให้หน้าบ้านเราดูสวยงาม โดยที่มันไม่เป็นความจริงมันก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นอะไรซึ่งอยู่ในใจเราอยู่ ผมก็อยากทำให้มันดีขึ้น และคงต้องเปิดใจคุยกัน"

-การทำงานของกสทช.ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง ส่วนตัวพอใจผลงานมากน้อยแค่ไหน?  

งานของกสทช.ที่เห็นในสื่อ เป็นข่าวในสื่อ 2-3 เรื่อง คือการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ที่กสทช.ก็ยังติดตามผลการควบรวมอยู่ในระดับหนึ่งคิดว่า อัตราค่าบริการน่าจะถูกต้อง

ส่วนเรื่อง SERVICE QUALITY คุณภาพการบริการหลังการควบรวม  ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป ซึ่งผมคิดว่าการที่ประเทศไทยมีระบบ 5 จี ของเอไอเอส และมีการแข่งขันหลังการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค เป็นเรื่องที่สะท้อนนโยบาย 5 จี ของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ ที่ตอนนี้ประเทศเรามีโครงสร้างพื้นฐาน 5 จี มี Digital Infrastructure ที่จะทำให้ประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุนและการทำธุรกิจต่างๆ เพราะ Digital Infrastructure ที่มีอยู่จะไปช่วยได้ การที่กสทช.ทำให้มีการแข่งขันหลังมีการควบรวมกิจการ น่าจะทำให้โครงสร้าง 5 จี Digital Infrastructure ในประเทศไทยเติบโตขึ้นไปอีกได้

เรื่องที่สอง ก็คือการไปดูเรื่องดาวเทียม ที่สะดุดในเรื่องการประมูลเพราะว่าดาวเทียม ไทยคม 4 ก็จะหมดอายุวิศวกร ที่ให้มีการประมูลไปมี 5 package ก็มีผู้สนใจมาประมูล package ที่ 2-3-4 ก็เหลือวงโคจร 55 กับ 140 ที่ยังไม่เป็นที่น่าสนใจเพราะไม่ได้อยู่ในโครงข่ายที่จะทำให้เกิดผลในทางธุรกิจได้ก็อาจต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ว่า จะทำอย่างไรต่อไปกับสองวงโคจรดังกล่าว โดยการประมูลดาวเทียมที่ดำเนินการไป เป็นบทบาทสำคัญที่รับผิดชอบโดยพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องผลทางวิชาการที่กสทช.ที่รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กำลังดำเนินการอยู่ในหัวข้อเรื่อง Consumer Price Index (CPI) ดัชนีราคาผู้บริโภค ของระบบโทรคมนาคม ซึ่งจะนำมาใช้เป็นแลนด์มาร์ค ในการดูว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการอินเตอร์เน็ตของเราเมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศ -รายได้ต่อบุคคล ราคาหากเทียบกับบางประเทศเช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย ของไทยเราเป็นอย่างไร ดีกว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เราได้แต่คิดว่าเราจ่ายถูกหรือจ่ายแพงสำหรับบริการอินเตอร์เน็ต เพราะตัวชี้วัดยังไม่ชัดเจน

สิ่งเหล่านี้คือผลงานคร่าวๆ ของกสทช.ที่ทำกันมาปีกว่าๆ หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อช่วงเมษายน 2565 แต่จริงๆ ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ที่ยกมาเพราะสื่อมวลชนให้ความสนใจ และมีผลระดับประเทศ

และสิ่งที่จะตามมาเช่นการควบรวมธุรกิจ ก็คือ การรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี

โดยหากดูโครงสร้างของ Internet connection ถ้าเป็น 5จี ก็มี ทรูกับดีแทค แต่อันนั้นเป็น MOBILE แต่หากเป็น FIXED Internet ที่เป็น อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์  ก็จะเป็น AIS กับ 3BB ซึ่งหากดูภาพรวมตลาด ผมคิดว่า true น่าจะมีมากที่สุดถ้าเป็นFIXED Internet ที่เป็นไฟเบอร์ออปติค รองลงมาก็จะเป็น 3BB แล้วตามด้วย AIS และ NT Broadband (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด) ก็คิดว่าหากเขารวมกัน ก็น่าจะใหญ่ที่สุด แต่การรวมกันของ FIXED กับ MOBILE  จะแตกต่างกัน เพราะส่วนใหญ่ ระบบ FIXED จะไม่ค่อยมีใครเปลี่ยนยี่ห้อที่ใช้บริการกัน อย่างแต่ละหมู่บ้าน ก็จะมีของเจ้าใดเจ้าหนึ่ง จะไม่ค่อยเข้าไปแข่งกันเยอะนัก ไม่เหมือนกับการใช้ระบบซิมการ์ด ที่จะตรงไหนก็ได้ ซึ่งตอนนี้ กสทช.เรายังไม่มีแผนที่ว่าเจ้าใดอยู่ตรงไหนมาก และแข่งกันอย่างไร แต่รู้ว่าการที่มี infrastructureเพิ่มมากขึ้น มีการแข่งขันกันมากขึ้น มันก็น่าจะดีต่อผู้บริโภค ที่จะทำให้การใช้ชีวิตแบบดิจิทัล จะมีมากขึ้น จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงได้ จะทำให้ Digital divide (ช่องว่างของสังคม หรือความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน) ถูกลดช่องว่างลง โดยเฉพาะหากค่าบริการเราลดลง ก็จะทำให้ใครๆ ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ในการประกอบอาชีพได้ เช่นขายของออนไลน์

"การควบรวมธุรกิจหากเกิดขึ้นได้ตามกฎหมาย  สามารถป้องกันการผูกขาด ก็จะเป็นบทบาทที่ กสทช.ต้องส่งเสริม เพื่อให้คนที่ได้ประโยชน์จากการควบรวมธุรกิจ คือประชาชน ในแง่การเข้าถึงที่สมเหตุสมผล และสมราคา"

กสทช.จ่อเคาะดีล

ควบรวม AIS-3BB

-ความคืบหน้า การพิจารณาของกสทช.เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง  AIS – 3BB จะได้ข้อสรุปเมื่อใด ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะเคาะกันในวันที่ 5 ตุลาคมนี้?

จะมีการประชุมกสทช.นัดพิเศษ ในเดือนตุลาคมนี้ คงไม่เกินกลางเดือนตุลาคมนี้ก็จะได้ข้อสรุปในการพิจารณาของกสทช.

โดยการพิจารณาของกสทช. ในเรื่องดังกล่าว ทางกสทช.ได้มีการตั้งอนุกรรมการมาพิจารณาศึกษา เช่นเดียวกับกรณีการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค ก่อนหน้านี้ โดยมีทั้งกรรมการศึกษาด้านข้อกฎหมาย -ด้านเศรษฐศาสตร์ -ด้านเทคนิค และมีที่ปรึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อช่วยเราพิจารณา

กรณีดังกล่าว กสทช.รับเรื่องมาประมาณปลายเดือนเมษายนปีนี้ ก็ใช้เวลาในการพิจารณาพอๆ กับตอนที่กสทช.พิจารณากรณีทรูกับดีแทค ซึ่งการพิจารณาของกสทช.ในเคส กรณีควบรวม AIS – 3BB  จะพิจารณาคล้ายกัน โดยยึดหลักประกาศกสทช.ปี 2561 ซึ่งเป็นประกาศเรื่องการพิจารณาเรื่องการควบรวมธุรกิจ ที่ก็มีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องเขียนไว้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็อาจมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องตัวหนังสือ แต่การพิจารณาจะใช้ประกาศปี 2561 เป็นหลัก โดยจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการ กำหนดเรื่องการป้องกันการผูกขาดด้วย

-ในช่วงวาระการทำงานของกสทช.ชุดปัจจุบันนอกจากเรื่องนี้แล้ว จะมีเรื่องสำคัญที่จะต้องให้กสทช.พิจารณาตัดสินใจอะไรอีกบ้าง?

ก็ยังมีคลื่นที่ต้องนำมาประมูลอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่า 5จี ตอนนี้ โอเปอเรเตอร์ยังไม่สามารถหารายได้ชดเชยเงินที่ได้ลงทุนไป  เนื่องจากเขาลงทุนไปเยอะ ซึ่งผมคิดว่าธุรกิจที่นำ 5จี ไปใช้ ยังไม่ได้ใช้เต็มที่ เลยทำให้ โอเปอเรเตอร์ ยังไม่ได้กำไรอย่างที่เขาตั้งใจไว้ คนที่ได้กำไรไปน่าจะเป็น OTT (Over The Top - การให้บริการเนื้อหาต่างๆ ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต) มากกว่า อย่างโรงงาน ก็ยังไม่ได้นำ 5จี ไปใช้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย การใช้ 5จี ยังไม่ได้มาก ยังไม่ได้ก่อให้เกิดผลมากกว่าที่เรามี 4G LTE เพราะยังแค่นำมาแค่ดูหนัง-วีดีโอ อันนี้เป็นความรู้สึก ซึ่งเมื่อเรามี infrastructure แล้ว และหากใช้ 5จีให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ก็จะมี Use Case ที่จะโปรโมต 5จี มากขึ้นเรื่อยๆ 

อนาคตทีวีดิจิทัล

จะเดินไปทางไหน?

-เรื่องทีวีดิจิทัล ที่ใบอนุญาตจะหมดลงอีกห้าปีหลังจากนี้ หลังจากนั้น กสทช.จะทำอย่างไรกับ คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล?

เรื่องใบอนุญาตที่กำลังจะหมดลงหลังจากนี้ ผมก็ต้องถามเหมือนกันว่าตอนที่เขามีการออกใบอนุญาต เขาก็คงคิดไม่ออกเหมือนกันว่า ภายในกี่ปี หลังจากตอนนั้น เทคโนโลยีมันจะเปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยน ทำให้มีการนำใบอนุญาตมาคืนกับกสทช.หลายราย เพราะความนิยมในการดูทีวีมันหายไป

หากถามตอนนี้ว่าอีกห้าปีหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผมก็มีสมมติฐานหรือการคาดการณ์ไว้ แต่อาจจะไม่สามารถทำนายภาพที่ชัดเจนที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้ เพราะอย่างตอนที่มีการประมูล คนที่เกี่ยวข้องก็คงคิดว่าทีวีดิจิทัลมันจะไปได้ แต่สุดท้าย กสทช. ต้องมาเยียวยาผู้ประกอบการจำนวนหลายราย ประมูลได้มาห้าหมื่นกว่าล้านบาท แต่สุดท้าย ต้องคืนค่าอะไรต่างๆ สุดท้ายเหลือแค่ประมาณสองหมื่นล้านบาท และอีกห้าปีหลังจากนี้จะหมดสัญญา หากให้ผมคาดเดาว่ามันจะเหลืออยู่อีกหรือไม่ คนดูทีวีดิจิทัล จะเป็นอย่างไร ถ้าให้ประเมินผมก็คงประเมินว่า คนก็คงจะดูน้อยลง แต่ก็ไม่แน่ โมเมนตัมมันอาจย้อนกลับไป จนคนนิยมกลับมาดูทีวีอีก เพราะเมื่อตัวเลือกมันมากขึ้น คนอาจคิดไม่ออกจะดูอะไรก็กลับมาดูทีวีแบบเดิม เหมือนอย่างวิทยุ คนฟังวิทยุตอนนี้เท่าที่ผมเห็น หากเขาไม่ได้ขับรถเอง ก็แทบจะไม่ได้ฟังวิทยุ อย่างผมเวลานั่งรถ หากมีคนขับ ผมก็นั่งดูไอแพด แต่ประชาชนหรือชาวนา เขาก็ยังมีเครื่องฟังวิทยุ แต่ก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมการฟังวิทยุของเขาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ผมว่าทีวีดิจิทัลตามบ้าน ก็ยังมี แต่ก็จะเป็นสมาร์ททีวี คือพออินเตอร์เน็ตเข้าไป เขาไม่ได้ดูช่องทีวีปกติ เขาก็ดูยูทูป-ดูสตรีมมิ่งแทน เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่กสทช.อาจต้องมีการประเมินวัดผลว่าพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชนเป็นอย่างไรกันแน่

เพราะฉะนั้น เทรนด์ในอีกสามปีหรือห้าปีข้างหน้า ตัวนี้จะเป็นตัวบอกว่า ทีวีดิจิทัล จะไปทางไหน ให้บอกตอนนี้ทุกคนก็ไม่เชื่อ บอกจะต่อใบอนุญาตให้ แล้วผู้ประกอบการจะเอาหรือไม่ หรือใบอนุญาต ราคามันอาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้

โมเมนตัมคือคนอาจกลับมานิยมดูทีวีดิจิทัลมากขึ้น หรือทีวีดิจิทัลอาจจะมีการแพร่ภาพที่มี quality ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบ 4K ที่อาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เขาอาจมีการรวมตัวกันแล้วช่องน้อยลง แต่ Service Quality ดีขึ้น ส่งไปถึงคนหมู่มากได้มากขึ้น มีคอนเทนต์ที่ดีขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่หากจะดูรูปแบบตอนนี้ แล้วให้บอกว่าอีกห้าปีจะทำอะไร คงยังบอกไม่ได้ แต่ถามว่าบอกแบบปีต่อปีได้หรือไม่ ต้องบอกว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว เพราะเขามองไม่ออก มันถึงมีปัญหา ซึ่งหากเราคิดแบบนั้น เราก็อาจเจอปัญหาแบบเดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่เราต้องตามพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งทีวีและวิทยุให้มากขึ้น ว่าสุดท้ายจะเหลือมากน้อยแค่ไหน

-ที่ผ่านมา การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาแฝง โฆษณาเกินจริงในสื่อทีวีมากน้อยแค่ไหน และเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว ได้มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง?

ที่ผ่านมา กสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะพวกโฆษณาเกี่ยวกับสินค้าสุขภาพที่เกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เขาช่วยตามจับให้เรา เขาช่วยชี้เป้าให้เราว่า ทีวีช่องไหนหรือรายการวิทยุคลื่นใด ทำไม่ถูก มีคนเฝ้าระวังอยู่ กสทช.ทำงานร่วมกับอย. ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ

ภาพรวมเรื่องร้องเรียนดังกล่าวก็เยอะเป็นปกติ แต่ไม่ได้ถึงกับเพิ่มขึ้นมากก็เท่าๆ เดิม แต่พบว่ารูปแบบการโฆษณาเกินจริง อะไรพวกนี้ รูปแบบช่องทางมันมากขึ้น เมื่อก่อนที่พบมากคือพวกโฆษณาเกินจริงขายวิตามิน ยาบำรุง แต่ตอนนี้เริ่มเห็นมากพวกขายฉีดฟิลเลอร์ เป็นเรื่องการขายเรื่องความสวยงาม ไม่ใช่การขายให้ซื้อยาไปกิน   

บทบาทกสทช.

กับการป้องกันปราบปราม

อาชญากรรมออนไลน์-ภัยไซเบอร์ฯ 

-บทบาทของกสทช.ในการช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ปราบปรามพวกหลอกลวงประชาชนเช่นส่ง SMS อะไรต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้ก็ยังเห็นปัญหาดังกล่าวนี้อยู่?

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอาชญากรรมที่ทำผ่านโทรศัพท์มือถือและระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งกสทช.เอง จะช่วยไม่ให้มีการทำผิดกฎหมาย ป้องกันการทำผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันการทำผิดลักษณะดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำผิดไปเรื่อยๆ กสทช.ก็พยายามจะกำหนดมาตรการออกมา ยกตัวอย่างรูปแบบการทำผิดเช่น พวกภัยคอลเซ็นเตอร์ ที่กลุ่มผู้ทำผิดจะไปอยู่แถวๆ ชายแดน แล้วโทรศัพท์มาหลอกลวง เราก็เป็นเบาะแสให้ตำรวจ มีการแชร์ Database กับตำรวจ ซึ่งพล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ที่เป็นอดีตตำรวจเก่า ใส่ใจเรื่องนี้มาก ก็ได้ประสานงาน ทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอด

อย่างที่เคยพบรูปแบบการทำความผิดเช่น คนไทยกลุ่มที่เป็นพวกคอลเซ็นเตอร์ ไปอยู่แถวชายแดนชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา หรือกัมพูชา ลาว แล้วโทรศัพท์มาหลอกคนไทย เพื่อหลอกให้โอนเงินไปให้ เราก็พยายามแจ้งเตือนว่า หากมีโทรศัพท์ที่เป็นเบอร์ไทย แต่โทรมาจากต่างประเทศ จะขึ้นเป็น 697 ก็ให้ระวังไว้ว่าเป็นเบอร์พวกมิจฉาชีพ การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กสทช.ทำ

และอีกรูปแบบหนึ่งที่เราพยายามทำ ก็คือคนที่ใช้เบอร์เยอะๆ จะต้องไปขึ้นทะเบียน คือหากมีซิมม้า ถ้ามีมากกว่าห้าเบอร์ขึ้นไป ต้องไปขึ้นทะเบียนแล้วก็ต้องไปแสดงตน ซึ่งเรามีคนที่มีซิมมากกว่าร้อยประมาณเจ็ดพันราย ซึ่งถือว่าเยอะ โดยก็จะเป็นพวกเจ้าของร้านที่ขายซิมโทรศัพท์ที่เขาซื้อไว้ก่อน แต่เขาต้องไปแสดงตนว่าเขาเป็นเจ้าของซิม เพราะส่วนใหญ่ที่พบคือใช้ซิมแล้วก็ข้ามชายแดนไปอีกฝั่งแล้วก็โทรกลับมา การให้มาแสดงตนเพื่อจะได้รู้ว่าซิมเป็นของใคร ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม นอกจากนี้กสทช.ก็ยังได้ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นปัจจุบัน หากจะมีการโอนเงินเช่นโอนเงินช่วยงานกฐิน หรืออะไรต่างๆ  แล้วมันมีอะไรผิดแผกไปจากที่เคยโอนปกติ  ก็จะมีระบบที่แจ้งเตือนขึ้นมาว่าให้ระวังมิจฉาชีพ

เรื่องนี้เราใช้เวลาปีกว่าๆ ในการประสานกับธปท. ซึ่งปกติธนาคารเขาก็มีมาตราการอยู่แล้วคือหากใครมีบัญชีธนาคารมากกว่าหนึ่งร้อยบัญชี แล้วมีลักษณะคือเปิดบัญชีแล้วปิดบัญชีเร็ว อันนั้นก็คืออาชญากรรม

 ยิ่งปัจจุบันมีการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการดูแล แต่ผมยังไม่แน่ใจเพราะตอนนี้เรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มันลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่เราจะได้ยินอยู่ทุกวันว่ามีคนหลอกให้โอนเงินอะไรต่างๆ

รูปแบบการกระทำความผิดของอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มันมีการเปลี่ยนไป เหมือนกับเราไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วมีคนร้ายมาล้วงกระเป๋า การทำผิดมันก็ยังคงมีอยู่ แต่รูปแบบการทำผิด  มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การที่กลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าว ได้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลต่างๆ ไป เขาได้ข้อมูลได้อย่างไร โดยที่บางข้อมูลก็เป็นข้อมูลบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง เช่น บางคนเขาทำธุรกิจแล้วต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านศุลกากร ก็พบว่ามีคนเข้าไปติดต่อโดยอ้างว่ามาจากศุลากร โดยอ้างว่าจะเข้ามาเคลียร์เรื่องต่างๆ ให้ แสดงว่าคนที่แอบอ้างต้องมีข้อมูลของคนที่ต้องการจะเข้าไปโกง แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการทำผิดค่อนข้างซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งตำรวจก็มีการติดตามอยู่ ทางกสทช.ก็ทำหน้าที่ช่วยประสาน ที่จะแชร์ฐานข้อมูล Database ระหว่างหน่วยงาน โดยกสทช.เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน ผ่านCall Center 1200 ของกสทช.-มีเว็บไซด์ให้แจ้ง รวมถึงกสทช.แอปพลิเคชัน “กันกวน” เพื่อให้ช่วยเช็คว่าโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาเป็นเบอร์พวกมิจฉาชีพหรือไม่

กสทช.มีมาตราการในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวไว้อยู่แล้ว เพียงแต่กสทช.ก็เหมือนคนที่ทำหน้าที่ดูถนน แต่คนที่วิ่งบนถนนที่ทำผิดมีอยู่เยอะ และเปลี่ยนรูปแบบการทำผิด ซึ่งตำรวจเขาก็ติดตามตามจับอยู่

-ในฐานะมาจากกสทช.สายคุ้มครองผู้บริโภค หนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา พอใจบทบาทกสทช.ด้านดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน?

ในแง่การคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม คิดว่าทำได้ดี ส่วนด้านวิทยุ-โทรทัศน์ พวกปัญหาการโฆษณาสินค้าที่เป็นโฆษณาแฝง ก็เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา ที่ก็ยังควบคุมได้ โดยปัญหาของวิทยุก็คือพวกวิทยุที่ทดลองออกอากาศเช่นวิทยุชุมชน แล้วมีโฆษณาอะไรต่างๆ ซึ่งทางอย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็มีการเฝ้าระวังอยู่ โดยเมื่อพบ เขาก็จะแจ้งมายังกสทช. โดยเฉพาะกสทช.ในระดับภูมิภาค มีการตามจับอยู่เรื่อยๆ

สำหรับระบบร้องเรียนของสำนักงานกสทช.ที่ผ่านมา สำนักงานกสทช.ส่วนภูมิภาครับเรื่องร้องเรียนเยอะ พอได้รับเรื่องก็จะรายงานเข้ามายังส่วนกลาง ถือว่ากสทช.มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆค่อนข้างเยอะ แต่จะมีการพัฒนาปรับปรุงต่อไปเรื่อยๆ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...