พล.ต.อ.เอก-ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ฝากงานเร่งด่วน 'ผบ.ตร.' คนใหม่ สังคายนา การแต่งตั้งโยกย้าย

หลังที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. มีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นชอบให้ "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร." ขึ้นเป็น "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" (ผบ.ตร.) คนใหม่ ดังนั้น ต่อจากนี้รอดูกันว่า การทำหน้าที่ ผบ.ตร.คนใหม่ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในฐานะเบอร์หนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นอย่างไรต่อไป 

ไทยโพสต์” สัมภาษณ์พิเศษ "พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์" อดีตรอง ผบ.ตร., อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ จากการเลือกตั้งที่เป็น ก.ตร.เสียงข้างน้อยเพียงคนเดียว ที่ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ในการประชุม ก.ตร.เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยถึงเรื่อง เหตุใดถึงลงมติไม่เห็นด้วยดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่เราเน้นถามมากเป็นพิเศษก็คือ เรื่องบทบาทของ ก.ตร.ในการพิจารณาเรื่อง "แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ” ก.ตร.จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับสูง  เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ตั๋วฝาก ซึ่งที่ผ่านมามันมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นให้ได้ยินอยู่เสมอ

เริ่มต้นที่ พล.ต.อ.เอก-ก.ตร. เล่าให้เราฟังถึงมติ ก.ตร.เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งคนจับตามองและพูดถึงกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยบอกว่าการประชุม ก.ตร.ดังกล่าว เมื่อเริ่มวาระการประชุม ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้ฝ่ายเลขานุการที่ประชุม ก.ตร.นำเสนอถึงคุณสมบัติของผู้ที่เป็นแคนดิเดตรอง ผบ.ตร.ทั้ง 4 คน ว่ามีประวัติรับราชการ ผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

จากนั้นได้ให้ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิได้อภิปราย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่ก็มีการแสดงความคิดเห็นทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ กฎหมาย รวมถึงข้อซักถามของ ก.ตร.บางคนที่เป็นบุคคลภายนอก และ ก.ตร.ที่มาจากการเลือกของข้าราชการตำรวจ เพราะนายกฯ คงต้องการให้เกิดความชัดเจน

ต้องบอกก่อนว่าการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ในปีนี้ เป็นการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับปัจจุบันที่ออกมาเมื่อปี 2565 โดยเป็นการแต่งตั้งผบ.ตร.ที่ให้คณะกรรมการ ก.ตร.เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพราะเดิมทีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ใน พ.ร.บ.ตำรวจฉบับก่อนหน้านี้ หรือการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่ผ่านมาทั้งหมด นายกรัฐมนตรีก็จะเสนอชื่อคนที่เป็น ผบ.ตร.ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติหรือ ก.ต.ช.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งโครงสร้างกรรมการ ก.ต.ช.จะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด ทำให้รูปแบบการพิจารณาจะไม่ค่อยมีปัญหายุ่งยาก คือหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าบุคคลใดมีความเหมาะสม ก็นำชื่อเข้าที่ประชุม ก.ต.ช. จากนั้น ก.ต.ช.ก็พิจารณาให้ความเห็นชอบและมีมติ

พล.ต.อ.เอก-อดีตรอง ผบ.ตร. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาในฐานะเคยมีประสบการณ์ตอนทำหน้าที่เลขานุการ ก.ต.ช. ที่ผ่านการแต่งตั้ง ผบ.ตร.มา 4-5 คน ก็ทำให้เห็นได้ว่าการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.จะไม่ค่อยมีข้อถกเถียงในที่ประชุม ก.ต.ช.มากมายนัก จะเป็นลักษณะพอนำเสนอชื่อ แล้วกรรมการก็เห็นชอบ แต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ครั้งนี้ นอกจากกฎหมายกำหนดว่าให้เข้าสู่การพิจารณาของ ก.ตร. แล้ว ทางองค์ประกอบของ ก.ตร.ก็มีที่มาจากการเลือกตั้งบางส่วนรวม 6 คน โดยแบ่งเป็นอดีตนายตำรวจสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกสามคน 

นอกจากนี้ ที่เพิ่มเติมมาคือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปัจจุบัน ยังกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งต่างๆ ของตำรวจเพิ่มขึ้นมา สมัยเดิมนายกฯ เสนอใครมาก็ได้ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่ได้พูดเรื่องความอาวุโส ความรู้ความสามารถอะไร แต่การแต่งตั้งครั้งนี้ กฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่ามีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง คือต้องคำนึงถึงความอาวุโส ความรู้ความสามารถ เช่น ประวัติรับราชการ เคยดำรงตำแหน่งที่ไหนมาบ้าง ผลการปฏิบัติราชการเป็นอย่างไร มีผลงานดีเด่น ผลงานการปราบปราม ผลงานสืบสวนสอบสวน ผลงานด้านการจับกุม ได้รับโล่เกียรติยศอะไรต่างๆ มาบ้างหรือไม่

ตลอดจนเรื่องหนึ่งที่คนพูดกันน้อยมากก็คือ เรื่องความประพฤติ เพราะการที่จะแต่งตั้งผู้นำองค์กรเบอร์หนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้น ผบ.ตร.ต้องมีความประพฤติที่เรียกว่าเพรียบพร้อมในระดับหนึ่ง ไม่เคยถูกกล่าวหาหรือมีเรื่องร้องเรียนว่าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นภาพรวมประกอบกันของหลักเกณฑ์ โดยหลายคนยังไปเข้าใจว่าเรื่องหลักอาวุโสคิดมาเป็นตัวเลข 50 เปอร์เซ็นต์ ความรู้ความสามารถ 50 เปอร์เซ็นต์ อะไรทำนองนั้น ที่ต้องบอกว่าไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นตัวเลขอย่างไร แล้วมาให้คะแนนกัน แต่เราจะมาพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด

ความอาวุโสคนไปพูดกันมากว่า ถ้าอาวุโสอันดับหนึ่งจะได้คะแนนเกณท์เท่าใด แล้วจะได้มากกว่าคนที่อาวุโสในลำดับถัดไป 2-3-4 ที่ต้องบอกแบบนี้ว่า ในบริบทของกฎหมายเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ไม่ได้มีเฉพาะใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ เท่านั้น บริบทของการแต่งตั้งตำรวจนอกจากอยู่ใน พ.ร.บ.ตำรวจฯ แล้ว ยังอ้างอิงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ ที่เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดรายละเอียดของการที่ต้องไปกำหนดกฎหมายบริหารงานตำรวจให้มีความเป็นธรรม เรื่องนี้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าการแต่งตั้งตำรวจต่อไปนี้ให้คำนึงถึงความอาวุโส ความรู้ความสามารถ ตำรวจต้องไม่อยู่ใต้อาณัติใคร อันนี้คือที่มา แล้วต่อมาก็มีการไปกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2565 ก็จะเห็นความแตกต่างในเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร.จากก่อนหน้านี้ อย่างที่บอกไว้ข้างต้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีบทบัญญัติในอีกหลายมาตรา ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ให้ความสำคัญกับเรื่อง 1.หลักอาวุโส 2. หลักคุณธรรม 3.ไม่ต้องการให้ใครมาใช้อำนาจแต่งตั้งโดยมิชอบ  และหากทำผิด ทำโดยมิชอบก็พบว่าเป็นครั้งแรก ที่มีการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่บัญญัติให้มีคณะกรรมการอิสระที่เรียกว่า "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม" มาคอยตรวจสอบ ซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจหน้าที่เหมือนศาลชั้นต้น คือให้ผลการพิจารณาของกรรมการที่วินิจฉัยชี้ขาดถือเป็นที่ยุติ โดยหากไม่พอใจแล้วจะไปร้องทุกข์ฟ้องร้องกัน คำร้องก็ให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ขณะเดียวกันใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ยังมีบทบัญญัติอีกว่า ถ้าหากได้มีการพิจารณาจนรับฟังได้ว่า ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบ ให้ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง สามารถสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่ต้องไปสอบสวนอะไรอีก และยังมีบทบัญญัติที่ต้องพิจารณากันอย่างยิ่งก็คือ มีบทกำหนดโทษเหมือนความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่นเขียนไว้ว่า ผู้ใดให้ หรือขอให้ หรือสัญญาจะให้ และผู้ใดรับ หรือสัญญาว่าจะรับ แล้วใช้อำนาจไปแต่งตั้งโดยมิชอบ มีการไปแทรกแซง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี อันนี้คือบทที่ต้องพึงระวัง ทำให้จะเห็นได้ว่าในบทบัญญัติของกฎหมายตำรวจฯ มีความชัดเจนถึงเจตนารมณ์ ในเรื่องของการที่จะพิจารณาในองค์รวม ทั้งเรื่องความอาวุโส ระบบคุณธรรม เรื่องการที่จะมีผู้ใดมาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งหมดคือกรอบใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผมได้พิจารณาว่าเราปฏิรูปประเทศ เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีกฎหมาย (พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ) ที่ถือเป็นกฎหมายฉบับปฏิรูปตำรวจ ที่ผ่านมาเราพยายามจะปฏิรูปกันหลายครั้งมาเป็นสิบๆ ปี แต่ครั้งนี้ถือว่าสำเร็จ จนมีการเขียนไว้ในกฎหมาย ดังนั้นทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเจตนารมณ์ของทั้งรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง

นายกฯ เสนอชื่อตั้ง ผบ.ตร.

ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กหมาย

พล.ต.อ.เอก-ก.ตร.” ระบุว่า ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมได้ให้เหตุผล ที่ก็ได้ให้มีการบันทึกไว้ในการประชุม ก.ตร.ถึงการที่ได้ลงมติไม่ได้ให้ความเห็นชอบด้วยกับการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยพิจารณาว่าการคัดเลือกแต่งตั้งผบ.ตร.ของนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ซึ่งอันนี้ก็เป็นความเห็นส่วนตัวผม จากการที่ผมได้ประเมิน จากการพิจารณาเพราะผมมองดูว่า ความรู้ความสามารถของแคนดิเดตทั้งสี่คน ไม่สามารถหาข้อแตกต่างจนให้คะแนนใครได้ว่าใครเป็นที่หนึ่ง ใครเป็นที่สอง ใครเป็นที่สาม-ที่สี่ แต่พอเรื่องความอาวุโสมันจะมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการครองตำแหน่ง แต่บางคนก็อาจจะเห็นว่าก็เป็นรอง ผบ.ตร.ต่างกันแค่ปีหรือสองปี แต่ผมมองในภาพรวม คือเรื่องระยะเวลาที่เขารับราชการมาทั้งหมด อันนี้คือข้อเท็จจริง

"สิ่งที่กล่าว ผมพูดในหลักการ หลักเกณฑ์ ถึงการที่ไม่เห็นด้วยกับที่นายกฯ เสนอชื่อ ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กฎหมาย อันนี้เป็นความเห็นของผม แต่เรื่องความเห็นส่วนตัวต่อแคนดิเดตทั้ง 4 คน ผมไม่ได้มีประเด็นในเรื่องพวกนี้ และส่วนตัวยืนยันสำหรับทั้ง 4 คน ผมรู้จักคุ้นเคยดี เพราะบางคนก็เคยร่วมรับราชการมาด้วยกัน ความรู้ความสามารถผมว่าทั้ง 4 คนพอๆ กัน ไม่ได้แตกต่างกัน อันนี้ยืนยันได้ คือทั้ง 4 คนนี้ใครเป็น ผบ.ตร.ก็แทบไม่ได้แตกต่างกันเลย”

เพียงแต่ว่าผมพูดในประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย ที่เป็นความเห็นส่วนตัว ส่วนที่นายกฯ คุยนอกรอบกับ ก.ตร.ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการ ก็เป็นการหารือทั่วไป ไม่ได้มีอะไร เพราะเป็นการพบกันครั้งแรกของ ก.ตร.กับนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่เคยมีการพบกันมาก่อน ตัวผมเองก็เพิ่งพบกับนายกรัฐมนตรีวันดังกล่าว

-งานเร่งด่วนของ ผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  ที่จะต้องเร่งเข้าไปทำมองว่าคืออะไร เพราะตอนนี้คนก็มองว่าภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติค่อนข้างมีปัญหา?

สิ่งที่เห็นตอนนี้ที่ต้องรีบสังคายนากันใหญ่ ก็คือเรื่องการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ที่ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะต้องยอมรับความจริงกันว่า ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้นกับการแต่งตั้งโยกย้าย ระบบอุปถัมภ์ การซื้อขายตำแหน่ง ภาพของตำรวจที่ไปถือพวงมาลัย แสดงความขอบคุณนักการเมือง มันเป็นเรื่องที่บ่งบอกอยู่แล้ว ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ ผบ.ตร.ต้องทำ ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพราะตอนนี้ถือว่าได้หัวแล้ว คือได้ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่แล้ว แต่ ผบ.ตร.คนเดียวคงไม่สามารถปกครองบังคับบัญชาตำรวจได้ทั่วประเทศ ก็จะต้องมีผู้บังคับบัญชาในระดับที่ลดหลั่นกันไป คือต้องได้ผู้บัญชาการ (ผบช.) ที่ดี ต้องได้คนที่ดี มีความรู้ความสามารถ มีความอาวุโส เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย

เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เพราะเมื่อได้ผู้บัญชาการดี ได้ผู้บังคับการดี ก็จะทำให้ได้หัวหน้าสถานีตำรวจที่ดี แล้วทุกอย่างก็จะค่อยๆ ปรับปรุง คือปรับปรุงที่ตัวตำรวจ เพราะเมื่อปรับปรุงแล้ว ทุกคนก็ต้องอยากทำงาน เพราะมีขวัญกำลังใจในการทำงานตามหน้าที่ไปบริการรับใช้ประชาชน

หากได้คนอย่างที่มีข่าว มีการซื้อขายตำแหน่งมา แล้วเข้ามาเจริญเติบโต ต่อไปมันก็จะมีปัญหา บางทีอาวุโสไม่ถึง ข้ามหัวรุ่นพี่ไปเยอะๆ วุฒิภาวะยังไม่ได้ที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ประสบการณ์ยังน้อยอยู่ มันก็เป็นปัญหาอย่างที่เห็น

ดังนั้น การบริหารงานบุคคลก็ควรต้องยึดหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย (พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ) ที่เขียนไว้ดี ที่ได้วางหลักเกณฑ์กลไกการบริหารงานบุคคล คือต้องแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคล ต้องได้หัวหน้าหน่วย ในสี่ตำแหน่งหลักคือ คือ ผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานีตำรวจ, ผู้บังคับการ, ผู้บัญชาการ และ ผบ.ตร. หากได้สี่ตำแหน่งนี้มาเป็นหลักที่ดี ก็จะแก้ไขได้ทุกเรื่อง

-ในฐานะเป็น ก.ตร.คนหนึ่ง ยืนยันได้ไหมว่า ก.ตร.ชุดปัจจุบัน จะเป็นหลักเป็นที่พึ่งของตำรวจทั่วประเทศในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับ?

ก็ยืนยัน ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะผม แต่เป็น ก.ตร.ทุกคน ผมมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็น ก.ตร.โดยตำแหน่งหรือ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่พบว่าจากที่เราได้ทำงานร่วมกันมาพอสมควร ที่แต่ละคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็จะยึดมั่นถือมั่นในแนวทาง เพียงแต่การลงมติตำแหน่ง ผบ.ตร.เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ก.ตร.เห็นแตกต่างกันกับผม โดยตัวผมอาจไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก แต่ผมคิดว่า ก.ตร.ทุกคนมีจิตสำนึกในการต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะหน้าที่หลักของเราก็คือ กำกับดูแล ควบคุมให้ระดับผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ตร.-ผู้บัญชาการต่างๆ ให้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎ ก.ตร.โดยเคร่งครัด ที่เป็นหน้าที่สำคัญของ ก.ตร. เพราะหากได้หัวดี ได้ ผบ.ตร.แล้ว ได้ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับ ก็เป็นหน้าที่ของ ก.ตร.ที่ต้องช่วยกันกำกับดูแล ควบคุม เป็นหน้าที่ซึ่ง ก.ตร.ต้องดำเนินการที่ก็จะส่งผลไปถึงการปฏิบัติงานของตำรวจ

-หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มองว่าจะทำให้ป้องกันปัญหาการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง ได้มากน้อยแค่ไหน?

ผมมั่นใจในเรื่องทั้งหลักเกณฑ์และตัวบุคคล เพราะอำนาจหน้าที่มันจะอยู่ตามลำดับชั้น อย่างเช่นการแต่งตั้งในระดับล่าง บทบาทจะอยู่ที่ผู้บัญชาการ, ผู้บังคับการ ซึ่งหากเราตั้งผู้บัญชาการได้ดีก็จะทำให้ตั้งผู้บังคับการได้ดี และเมื่อตั้งผู้บังคับการได้ดีมันก็จะส่งผลไปถึงระดับผู้กำกับ เพราะฉะนั้นต้องรีบขับเคลื่อนเรื่องการบริหารงานบุคคลก่อน

-เรื่องการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายโดยให้คำนึงถึงหลักอาวุโส คิดว่าสำคัญมากน้อยแค่ไหน เพราะบางคนอาจอาวุโส แต่ผลงานอาจไม่ดี มีผลงานน้อยกว่าคนที่อาวุโสน้อยกว่า?

ก็เป็นไปได้ ผมไม่ขัดข้อง แต่เราต้องดูในภาพรวม  เพราะหากเราไม่มีกติกา ไม่เอาเรื่องอาวุโส ไม่เอาเรื่องอะไรมาพิจารณาเลย มันก็จะหากรอบในการพิจารณาได้ยาก ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่าในร่างเดิมของกฎหมายตำรวจ จากปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคลที่หลายคนรับฟังมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมยังเคยเห็นคลิปที่มีบางคนออกมาพูดด้วยถ้อยคำรุนแรง ที่พูดว่าตำแหน่งพ่อ ตำแหน่งแม่มึงหรือ ถึงเอามาซื้อขายกัน

เราต้องยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอย่างที่ผมบอกภาพของเรื่องการแต่งตั้งบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด ทั้งผู้กำกับ ผู้บังคับการอะไรต่างๆ มันเป็นเรื่องจริง เป็นฐานของนักการเมืองท้องถิ่นบ้างอะไรต่างๆเหล่านี้ ทำให้กฎหมายเขาถึงพยายามเขียน พยายามวางกรอบ เมื่อวางกรอบกฎหมายไว้ดีแล้ว ก็ต้องมาดูที่ตัวคน ไม่ว่าจะเป็น ก.ตร.ที่มีการคัดเลือกกันมา จนได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาทำหน้าที่ แล้วทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย ผมว่าก็จะเป็นเรื่องที่จะมีการพิจารณาไปตามลำดับ และตอบโจทย์ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาตำรวจมันมีมากมาย แต่คงพูดได้แค่ในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องรับผิดชอบ แต่ผมมองว่าตอนนี้ให้ได้ผู้บริหารก่อน แล้วปัญหาอย่างอื่นก็ค่อยแก้ไขไป เพราะปัญหามีไว้ให้แก้ไข

-ความเป็นอิสระของ ก.ตร.ชุดปัจจุบัน มีความเป็นอิสระตามกฎหมายจริงหรือไม่?

ท่านอื่นผมไม่ทราบ แต่สำหรับผม ก็ตัวผมขอยืนยัน ผมเป็นอิสระจริง ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของใครใดๆ ทั้งสิ้น มีความคิดเห็น ใช้วิจารณญาณ ใช้ดุลยพินิจ ก็มีบทพิสูจน์ที่คงทราบแล้ว แต่ว่าท่านอื่น ผมก็คิดว่าผมก็มั่นใจ เพราะก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านต่างๆ มีทั้งอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย (ฉัตรชัย พรหมเลิศ) อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ศ.กิตติคุณ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ) ผมก็คิดว่าด้วยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถของ ก.ตร.แต่ละท่าน และจากที่ได้ทำงานมาด้วยกัน ผมก็มั่นใจ ก.ตร.ทุกคนจะมีส่วนช่วยกันสนับสนุนการทำงานของ ก.ตร.ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

-หลังการตั้ง ผบ.ตร.แล้ว ต่อไปเดือนตุลาคมก็จะมีการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพล ตั้งแต่รอง ผบ.ตร.ถึง ผบก. ตรงนี้ในฐานะ ก.ตร.จะมีหลักพิจารณาอย่างไร จะมีเรื่องของตั๋วอะไรต่างๆ หรือไม่?

ผมบอกเลยนะครับว่าจะมีหรือไม่ ผมไม่สามารถที่จะรับทราบหรือยืนยันได้ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพล ต้องมาผ่านการพิจารณาของ ก.ตร. ผมยืนยัน และในส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับรองๆ ลงมา ที่ ก.ตร.ก็ต้องมีหน้าที่ในการกำกับดูแล เราก็จะมีการสอบทานติดตาม

อยากจะบอกว่า ก.ตร.ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างตัวผม ที่มีพี่้น้องข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในทุกพื้นที่ ซึ่งส่วนตัวผมก็ได้พยายามสื่อสารโดยตลอดว่า ก.ตร.ในบทบาทเดิม เดือนหนึ่งมีประชุมหนึ่งครั้ง แต่ตอนนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว อย่างการประชุม ก.ตร.เมื่อ 27 ก.ย. ดร.ศุภชัยก็เสนอว่า ก.ตร.เราต้องมีการประชุมเพิ่มขึ้น ต้องมาคุยกันเรื่องการพัฒนาการบริหารงานบุคคล หรือปัญหาต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ก.ตร.เข้าไปช่วยสนับสนุนแก้ปัญหาได้ ตรงนี้ก็จะสื่อสารไป อย่างผมมีเฟซบุ๊กอะไรต่างๆ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เข้ามา ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียช่วยได้เยอะ ทำให้ตำรวจรู้จักสิทธิของตัวเอง ต่อไปหากเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย หรือผู้บังคับบัญชามีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ มีการเปิดบ่อน ทำเรื่องการพนันออนไลน์ ผมคิดว่าเราก็จะได้ช่วยกันป้องกัน ระงับยับยั้ง และแก้ไขปัญหา เพื่อให้บุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนก็จะได้สบายใจ

-ในฐานะเป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเป็น ก.ตร.ด้วย มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตำรวจกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นข่าวตอนนี้อย่างไร รู้สึกเป็นห่วงหรือไม่?

ก็ไม่เป็นห่วงครับ ที่ไม่เป็นห่วงในหลักการก็คือ เมื่อมีผบ.ตร.คนใหม่ ผมก็มั่นใจว่าท่านมีความรู้ความสามารถ เพราะตำรวจที่เติบโตมาถึงระดับนี้ได้ เขาผ่านอะไรต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการจัดการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ก็อาจจะมีประเด็นในปัญหาที่คั่งค้างมาในหลายปีที่ผ่านมา แต่ผมก็มั่นใจว่าทาง ผบ.ตร.คนใหม่ ก็คงจะใช้ความรู้ความสามารถ เพราะดูแล้วทาง ผบ.ตร.คนใหม่ก็มีความมุ่งมั่น จากที่ได้คุยกันตอนประชุม ก.ตร.เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ก็บอกว่าจะพยายามทำทุกอย่าง มีอะไรก็ขอให้แนะนำ ดังนั้น ดูแล้วไม่น่าเป็นห่วงอะไร

-ในฐานะเป็น ก.ตร. ถ้าให้พูดถึงปัญหาเช่นตำรวจไปรับใช้นักการเมือง หรือรับใช้ผู้มีอิทธิพล ที่มีผลต่อภาพลักษณ์ของตำรวจ?

ตรงนี้ผมคิดว่าให้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการของผบ.ตร. ก.ตร.คงไปพูดถึงหรือไปล้วงลูกตรงนี้ไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก มันอยู่ที่ว่าจะแก้หรือไม่เท่านั้น หากจะแก้ง่ายๆ ก็ได้ ทำให้เรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก จนแก้ไม่ได้ก็ได้ แต่ผมเชื่อว่า ผบ.ตร.คนใหม่แก้ไขได้

ก็เรียนยืนยันว่า ก.ตร. ทั้ง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และ ก.ตร.โดยตำแหน่ง มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการที่จะกำกับดูแล ให้ผู้บังคับบัญชาต่างๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ไปดำเนินการในเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หรือการโยกย้ายในระนาบข้างเคียงเดียวกัน ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

ก.ตร.ชุดปัจจุบันที่เข้ามา 3-4 เดือน ได้เข้าไปทำงานในส่วนดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลการปฏิบัติงานพี่น้องตำรวจคงได้รับทราบแล้ว เช่นในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา กรณีตำรวจที่ถูกย้ายออกนอกหน่วย ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราได้มีมติให้ย้ายกลับหมดเลย ทั้งย้ายจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยต่างๆ ที่ทำให้เขาได้รับความลำบากจากการรับราชการ แล้วเขาร้องทุกข์มาที่ ก.ตร. เราก็ได้พิจารณาให้ในระดับหนึ่ง

ผมก็คาดหวังว่าการแต่งตั้งต่อไป มันจะเป็นไปตามกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการตำรวจมากยิ่งขึ้น โดยการพิจารณาก็จะเป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องมีกรอบ  อย่างบางตำแหน่งให้อาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้อง 50 เปอร์เซ็นต์ บางตำแหน่ง 33 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แล้วในส่วนที่เหลือก็มีการบอกไว้แล้วว่าจะต้องพิจารณาดำเนินการอย่างไร มีกรอบไว้ชัดเจนหมด ก.ตร.จะทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ผมก็ให้ความมั่นใจ และบทบาทโดยส่วนตัวผม ตัวผมก็คิดว่าผมให้ความมั่นใจได้

อย่างผมก็ดีใจ เพราะมีเสียงสะท้อนจากการลงมติก.ตร.เมื่อ 27 ก.ย.เรื่องแต่งตั้ง ผบ.ตร. ก็มีน้องๆ โทรศัพท์มาให้กำลังใจ มาชื่นชม ถึงแม้จะเป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม ก็ยืนยัน เพราะมันเป็นหน้าที่ เมื่อเราอาสา เราปวารณาตัวเองมาทำงานตรงนี้ ต้องทำให้เต็มที่เพราะมีเวลาทำงานอยู่ 3-4 ปีเท่านั้นเอง”

'ปฏิรูปตำรวจ' เกิดแล้ว

ใกล้คลอด 7 อรหันต์

กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

ที่ผ่านมา เวลามีข่าวเกี่ยวกับแวดวงตำรวจ การทำงานของตำรวจที่เป็นข่าวเชิงลบ ก็มักจะมีเสียงสะท้อนตามมาว่า ที่เกิดปัญหาขึ้นก็เพราะไม่มีการ "ปฏิรูปตำรวจ”

เมื่อเราถาม "พล.ต.อ.เอก-ก.ตร." ว่า ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจมาตลอด มีความคิดเห็นอย่างไรและ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับล่าสุดที่ออกมา ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจหรือยัง เรื่องนี้ “พล.ต.อ.เอก” ให้ทัศนะว่า ณ ปัจจุบัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับปัจจุบัน ถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจที่เป็นผลสำเร็จแล้ว เพราะหากจะย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมา ก็มีความพยายามจะปฏิรูปตำรวจกันมา อย่างที่เห็นก็มี 3 ครั้ง โดยครั้งแรกก็สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ครั้งที่ 2 ก็สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งที่ 3 ก็สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่ก็ถือว่าได้ปฏิรูปตำรวจสำเร็จ แม้อาจจะช้าบ้างเพราะเริ่มจะปฏิรูปกันตั้งแต่ปี 2557 และมาสำเร็จมีการออก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 นี่คือผลพวงการปฏิรูปตำรวจ

ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มีหลักการหลายอย่าง ที่จะเอื้ออำนวยการบริหารจัดการของตำรวจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการบริการประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เริ่มมีการใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ก็อาจจะมีปัญหาข้อขัดข้อง ผมก็เห็นหลายคน ตั้งคำถาม หรือมีความตั้งใจที่ว่าต้องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจอีก ซึ่งผมว่าคงไม่ใช่เพราะ ณ เวลานี้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่ใช้คือผลของการปฏิรูปตำรวจ

"พล.ต.อ.เอก" ย้ำว่าเมื่อการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปที่จะต้องทำคือการปฏิบัติตาม เพราะตอนนี้เพิ่งบังคับใช้กฎหมายมาครบหนึ่งปี ที่จะต้องมีการทำอะไรอีกหลายอย่าง แต่แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้สมบูรณ์เพอร์เฟกต์ แต่จริงๆ แล้วในระบบการบริหารจัดการตามกฎหมายเมื่อครบ 5 ปี ก็ต้องเสนอการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ถ้ายังย้อนกลับไปแล้วยังพูดกันอยู่ว่าจะปฏิรูปตำรวจ ผมว่าเขาอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ในความคิดเห็นส่วนตัวผม เพราะความคิดเห็นของผมคือมีการปฏิรูปตำรวจแล้ว เพียงแต่ปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้น พอมีปัญหาแล้วหยิบปัญหาขึ้นมาพูด แล้วบอกว่า ต้องปฏิรูปตำรวจ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่

ตอนนี้ได้มีการปฏิรูปตำรวจ ดูอย่างเช่นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. จากเดิมอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่นายกรัฐมนตรีนำชื่อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แบบเดิม เพราะต้องนำชื่อมาเข้าที่ประชุม ก.ตร. ซึ่ง ก.ตร.ก็มี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ  แต่หากวินิจฉัยชี้ขาดผิดพลาดบกพร่อง ก็สามารถไปร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ซึ่งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจมีความเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของ ผบ.ตร. มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล Check and Balance ที่มีบทลงโทษไว้ด้วย

จะเห็นได้ว่าได้มีการปฏิรูปตำรวจแล้ว ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาอะไร เช่นเรื่องบ่อน เรื่องพนันออนไลน์ ซึ่งมันเป็นเรื่องของความประพฤติ ที่หากเกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาก็ต้องดำเนินการ หากใครทำผิดก็ลงโทษ ผิดอาญาก็ดำเนินคดี ไม่ใช่ว่าพอเกิดเหตุก็ย้อนกลับมาบอกว่ายังไม่ปฏิรูปตำรวจ ที่มันเป็นคนละเรื่องกัน อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวผม

พล.ต.อ.เอก" ยังกล่าวถึงความคืบหน้า การมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการคนอื่น คือ รองประธานศาลฎีกา, กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน ซึ่งได้รับเลือกโดย ก.ตร. ที่ก็คือผม ก็ได้เรียกผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกมาสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 ก.ย. และต่อไปจะถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้รู้แล้วว่า คนที่จะมาเป็นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เจ็ดคนตามกฎหมายจะประกอบด้วยใครบ้าง ซึ่งเมื่อมีการประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา ทางคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจก็น่าจะเริ่มงานได้ภายในเดือนตุลาคม

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจถือว่าเป็นความหวัง เพราะเป็นอิสระในองคาพยพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องการร้องทุกข์ ซึ่งการร้องทุกข์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย หรือร้องทุกข์เรื่องอื่นๆ เช่นผู้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติต่อตำรวจด้วยกันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย หรือการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์เช่น ไล่ออก ปลดออก

อำนาจดังกล่าวเดิมเป็นของ ก.ตร. แต่ก็อาจดูไปว่า ก.ตร.เป็นคนสั่งลงโทษเอง แล้ว ก.ตร.มาพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ หรือ ก.ตร.เป็นผู้พิจารณาการโยกย้ายตำรวจเอง แล้ว ก.ตร.ก็มาพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ว่าการโยกย้ายเป็นธรรมหรือไม่ เป็นหลักการใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหลักการที่ดี เป็นหลัก Check and Balance ที่จะทำให้การบริหารงานบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ต่อไปนี้ ผบ.ตร. หรือผู้บัญชาการ จะแต่งตั้งโยกย้ายใคร ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ที่ก็คาดว่าน่าจะทำให้ดีขึ้น เพราะหากไม่ทำตามหลักเกณฑ์จะผิดวินัย ที่มีทั้งผิดวินัยธรรมดาและผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งหากผลการวินิจฉัยออกมาว่าผิดวินัย ก็สามารถลงโทษได้เลย ไม่ต้องมาสอบสวนอีก และหากถ้ามันเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาอีกจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ อันนี้คาดหวังว่าน่าจะเป็นกรอบที่ทำให้การบริหารงานบุคคลจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...