“พันธุกรรมธรรมาภิบาล” .. หัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๖ ตรงกับ วันมหิดล วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน ได้จัดงานฉลองสมโภชสะพาน “ราม-จามเทวี วัดป่าอนุสรณ์ ๒๕๔๕” ขึ้นบริเวณด้านหน้าพื้นที่เชื่อมโยง ลานบาตร-ลานธรรมกับอุปัชฌาย์วิหาร ขึ้น โดยมีการทำพิธีบรรจุ พระรอด-พระคง ทั้ง ๔ ทิศ เพื่อเป็นมงคลสถานอีกแห่งหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชยในอดีต ที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องสู่ความเป็นวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ในปัจจุบัน ท่ามกลางคณะศรัทธาพอสมควรที่มาร่วมงานโดยบังเอิญ มิได้ทราบเรื่องมาก่อนส่วนใหญ่

ในยามค่ำ ได้จุดธูปเทียนสักการบูชาพระรอด-พระคงอีกครั้ง พร้อมสวดมนต์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขออำนาจธรรมคุ้มครองรักษาหมู่ประชาสัตว์ทั้งหลายที่มีจิตตั้งมั่นในเขตบุญพระพุทธศาสนา ให้ปลอดจาก ทุกข์ โรค ภัย ทั้งปวง.. ในทุกภพภูมิ... หลังจากเสร็จพิธี สัมผัสได้ถึงอำนาจ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ที่สมบูรณ์พร้อม แผ่เยือกเย็น สงบ สะอาด ทรงพลัง เมื่อเดินขึ้นไปยืนกลางสะพานดังกล่าว

ถัดมาอีกสองวัน ตรงกับวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ ได้กระทำสัตตาหกรณียะฯ เป็นครั้งที่สองในพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ นี้ ด้วยมีกิจนิมนต์อันควร เพื่อไปบรรยายธรรม (การสอนพิเศษ) แก่ นิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน ๙๐ คน ที่เข้าเรียนในวิชา ปพส ๒๒๒ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ ESG ของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้เข้าร่วมรับฟังการสอนในครั้งนี้ได้ ในหัวข้อการบรรยาย ชื่อ พันธุกรรมธรรมาภิบาล (Governance DNA) ซึ่งทราบว่าหลักสูตรวิชาดังกล่าวได้ถูกออกแบบโดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบุคลากรที่ทรงความรู้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริงในปัจจุบัน.. ที่ทุกสังคม.. ทุกองค์กร.. ทุกชุมชน ทั้งในและต่างประเทศ ได้เรียกร้องให้มีธรรมาภิบาลในองค์กร สังคมนั้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ.. มีความสมดุลในธรรม.. สู่ สังคม เจริญก้าวหน้า สงบสุข อย่างยั่งยืน

จริงแล้ว คำว่า “ธรรมาภิบาล” ที่ชาวต่างชาติจากโลกตะวันตก อย่างอเมริกา ยุโรป เรียกขานว่า Good Governance” คงไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมศาสนาที่เข้มแข็งอย่างในประเทศเอเชีย โดยประเทศพุทธศาสนา ที่มุ่งเน้นการสร้าง “จริยธรรม คุณธรรม” ในองค์กร ชุมชน สังคม.. เพื่อการพัฒนาตัวตนบุคคล สมาชิกในองค์กรนั้นๆ ไม่ว่าระดับครอบครัว ชุมชน สังคม หรือประเทศ อย่างยั่งยืน ในการมีพื้นฐานชีวิตอยู่บนการมีศีลธรรมที่ชาวพุทธสมาทานกันบ่อยๆ เมื่อเข้าวัดประกอบศาสนกิจของพุทธศาสนิกชน

การ สมาทานศีล ๕ กันบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องลูบคลำ พร่ำเพ้อ ฟุ้งเฟ้อ.. แต่เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้คนในสังคม ทุกคนที่เป็นชาวพุทธ มุ่งเน้นการดำรงชีวิตอย่างมีจิตสำนึกของความเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่ต้องมีสิกขาบท ๕ ประการ.. ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “คุรุธรรม” เพื่อมาเป็นเครื่องดำรงชีวิตและเพื่อการดำเนินไปอย่างมีจริยธรรม คุณธรรม ในขั้นพื้นฐาน ที่เรียกว่า มนุษยธรรม

“มนุษยธรรม” จึงเป็นหลักธรรมอันประเสริฐยิ่ง ที่จะประกันคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้เป็นสัตว์สมบูรณ์ในคุณความดี ว่า สามารถเจริญงอกงามในคุณธรรมอันประเสริฐ อันเป็นไปเพื่อความสงบสุขในชีวิตได้จริง.. ที่สามารถพัฒนาไปสู่ความดับทุกข์ได้.. ด้วยหลักธรรมขั้นศีล ๕ ประการ

ชาวพุทธเรามีความคุ้นเคยกับการรับศีลห้าเป็นปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีการประกอบศาสนพิธี มักจะมีการสมาทาน เพื่อทำความพร้อมใน กาย วาจา ให้ศาสนิกชนได้ตระหนักในความสำรวม.. ที่นำไปสู่การแสดงเจตนางดเว้นการล่วงสิกขาบททั้ง ๕ จนดูเหมือนว่า ศีลห้า จะเป็นเครื่องหมายหรือความหมายของพุทธศาสนิกชน ซึ่งหากไม่ศึกษาพิจารณาลงไปในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา อันเป็นไปเพื่อความสงบสุข สู่ความดับทุกข์ ก็คงจะติดอยู่กับการสมาทานศีล ๕

แต่แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าของเราทรงเป็น กรรมวาที กิริยาวาที วิริยวาที หมายถึง การสั่งสอนเพื่อนำไปสู่การกระทำตามแนวกรรมบถสิบ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ที่เป็นสิ่งสำคัญของพื้นฐานชีวิต ที่แสดงว่า “มนุษย์สามารถเข้าถึงความประเสริฐแท้จริงได้โดยการพึ่งตนเอง.. และพึ่งธรรม”

พระพุทธศาสนาได้แสดงฐานะอันประเสริฐของมนุษยชาติว่า สามารถเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีคุณธรรมความดีได้.. จนถึงขั้นสูงสุด สู่อริยธรรม เพื่อสำเร็จเป็นอริยบุคคล ซึ่งนั่นหมายถึง มนุษย์จะประเสริฐไม่ได้เลย หากไม่เรียนรู้ฝึกฝนตนเองให้ถูกต้องตามหลักธรรม..

จากที่กล่าวมา.. มนุษย์จึงต้องยอมรับว่า.. ความเป็นสัตว์ประเสริฐ มิได้สำเร็จด้วยการเกิดมาได้ฐานะสัตว์มนุษย์ พระพุทธศาสนาจึงวางระบบการศึกษาปฏิบัติไว้ ให้มนุษย์ที่มีความตั้งใจ ใส่ใจ.. ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่กัลยาณชน .. อริยบุคคล ได้ใช้เส้นทางหรือหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยในเบื้องต้นได้ปูพื้นฐานให้ทุกคนเข้าสู่การพัฒนา กาย วาจา ใจ ให้สุจริต.. ด้วยการเข้าถึง กุศลกรรมบถสิบประการ ที่ประมวลรวมศีลห้าประการอยู่ด้วย ในกายกรรมและวจีกรรม.. เพื่อจะได้ฝึกฝนตนเองให้พร้อมที่จะพัฒนาสู่คุณธรรมชั้นสูง.. และสูงสุด ตามหลักธรรมคำสั่งสอนในพุทธศาสนา

มนุษย์นั้นจึงเป็นสัตว์ประเสริฐ ด้วยการฝึกฝนอย่างมีระเบียบแบบแผน สอดรับกับกฎธรรมชาติ ที่หากไม่ฝึกฝนตนเองด้วยตนเองแล้วนั้น ย่อมจะเข้าถึงความประเสริฐหาได้ไม่...

สมดังพระพุทธดำรัสที่ว่า.. “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” ที่แปลว่า  ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ประเสริฐสุดจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ

ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่ การได้รับการเรียนรู้ปฏิบัติอย่างมีระเบียบแบบแผน อ้างอิง หลักการ อุดมการณ์ และข้อปฏิบัติ ที่เป็นสัจธรรม จึงกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า หากไม่ฝึกฝนตนเองให้ถูกต้องตามธรรม.. ก็ยากที่จะประเสริฐได้.. แม้ได้ฐานะสัตว์ประเสริฐมาเป็นต้นทุนชีวิตแล้วก็ตาม

ดังนั้น ความเห็นที่ว่า.. สังคมสัตว์มนุษย์ควรมี “ธรรมาภิบาล” จึงเป็นเรื่องที่เหมาะควร เมื่อแปล “ธรรมาภิบาล” ที่ชาวต่างชาติเรียกว่า Good Governance” ว่า.. เป็นวิธีการปกครองที่ดี (ราชบัณฑิตยสถานแปล) มีการนิยมนำมาใช้ในการบริหารงานในองค์กรต่างๆ กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อหวังว่าจะช่วยสร้างสรรค์ส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพในทุกมิติ.. ที่เป็นปัญหาอยู่ในระบบ ซึ่งนอกเหนือจากความเจริญก้าวหน้าในองค์กรในด้านการประกอบการแล้วนั้น สิ่งสำคัญของแนวคิด ธรรมาภิบาล คือ การได้รับการยอมรับศรัทธาและเชื่อมั่นจากบุคคล องค์กร สังคมภายนอก อันจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ที่เชื่อมโยงไปสู่ภายนอก ที่เชื่อมั่นในศักยภาพ ประสิทธิภาพ อย่างมีคุณธรรม.. โปร่งใส ตรวจสอบได้...

จึงเกิดความเชื่อว่า.. การนำธรรมาภิบาลเข้าไปใช้ในองค์กรต่างๆ .. จะทำให้เกิดความเสถียรภาพในการเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

จึงนำไปสู่.. การจัดหัวข้อการสอนในเรื่อง การปลูกสร้าง “พันธุกรรมธรรมาภิบาล” (Governance DNA) ขึ้นในหลักสูตรวิชาดังกล่าว.. เพื่อการเพาะบ่ม DNA ธรรมาภิบาลในจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ ที่ควรเรียนรู้ให้เข้าใจ เพื่อนำความรู้ดังกล่าว ออกไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบสร้างสรรค์ สังคม ชุมชน บุคคล ให้มี พันธุกรรมธรรมาภิบาล

การรับนิมนต์ไปบรรยายในหัวข้อดังกล่าว ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ จึงนับเป็นศาสนกิจสำคัญยิ่ง อันควรแก่การกระทำการสัตตาหะฯ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ปลูกฝังคุณธรรมที่ถูกต้องในจิตวิญญาณนิสิต-นักศึกษาในกระแสสังคมปัจจุบัน ที่ร้อนแรงด้วยวัตถุนิยม เทคโนโลยีชั้นสูง ที่ขยายอิทธิพลครอบคลุมมนุษยชาติ.. คนรุ่นใหม่.. จนกลายเป็นเผ่าพันธุ์ใหม่ของมนุษยชาติ.. ที่ยึดมั่นในวัตถุศาสตร์.. มากกว่าสัตถุศาสน์ อันน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาของสังคมประเทศชาติ.. ไปสู่ สังคมสันติสุข-สันติธรรม แท้จริง!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก