นโยบายและมาตรการแก้ปัญหาให้ประชาชนแบบเร่งด่วน ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่เพิ่งเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อ 13 ก.ย. เรื่องที่คนพูดถึงกันมากและได้รับเสียงชื่นชมกันพอสมควรก็คือ “การลดค่าครองชีพให้ประชาชน” ด้วยการปรับลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลลง ทันที ตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรกเมื่อ 13 ก.ย. และสัปดาห์ถัดมาเมื่อ 18 ก.ย. ก็ยังมีการลดค่าไฟฟ้ารอบสองอีก ขณะเดียวกันก็มีการส่งสัญญาณ ว่าจะพยายามทำให้มีการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลงมาเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มและทิศทางของ โครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ ในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดย่อมไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน" ที่จะมาตอบคำถาม-ข้อสงสัยในเรื่องพลังงานที่ทุกคนอยากรู้ โดยเฉพาะในระยะยาว คนไทยจะได้ใช้ไฟฟ้า-น้ำมัน ในราคาที่ถูกลงกว่านี้หรือไม่?
-คนมองว่า พรรครวมไทยสร้างชาติเมื่อร่วมรัฐบาล การส่งคนไปเป็นรัฐมนตรีก็น่าจะอยู่สายงานด้านกฎหมาย สังคม แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีของพรรคดูแลทั้ง พลังงาน-อุตสาหกรรม และ รมช.การคลัง คือดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นทิศทางอย่างไรของพรรค?
การเป็นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเราต้องมีความพร้อมในทุกด้าน และตอนที่มีการหารือกันในพรรคร่วมรัฐบาล บอกตามตรงผมไม่เคยไปเรียกร้องขอกระทรวงไหนเลย ไม่ได้มีเงื่อนไข แล้วแต่พรรคแกนนำเขาจะพิจารณา แต่สุดท้ายพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ได้รับการพิจารณาให้รับผิดชอบงานกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันได้ว่าไม่มีการยื่นข้อเสนออะไรใดๆ
-แต่ก็ได้กระทรวงดีด้วย กระทรวงพลังงานใครๆ ก็อยากได้?
ผมก็ไม่ทราบ อยากได้ทำไม จริงๆ เป็นกระทรวงเล็ก งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ประมาณสองพันกว่าล้านบาท
-แต่คุมด้านความมั่นคงพลังงาน ทำให้กระทรวงพลังงานเลยดูใหญ่?
ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ประการแรก ผมคิดว่าการบริหารบ้านเมืองทุกอย่างอยู่ที่กฎหมาย อย่างผมเข้ามากระทรวงนี้ เห็นชัดเลยหลายเรื่องที่เขาไม่สามารถทำได้ เพราะเขาบอกว่ากฎหมายไม่มี ก็ต้องถามว่าแล้วทำไมไม่แก้ ประเด็นคือแล้วใครทำให้ อันนี้ผมจะทำเองหมด วันนี้เราไม่สามารถเรียกต้นทุนของผู้ประกอบการด้านน้ำมันมาดูได้ เพราะไม่มีอำนาจ มันเป็นไปได้อย่างไร
-บางคนคิดว่าที่ได้กระทรวงพลังงาน เพราะลุงตู่ขอให้?
ท่านไม่ได้ยุ่งเลย และความจริงเรื่องพลังงาน เป็นนโยบายหลักอันหนึ่งของพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่แล้ว ในเรื่องการปรับปรุงความถูกต้องเหมาะสมของราคาพลังงาน รวมไปถึงเรื่องระบบโครงสร้างของพลังงานต่างๆ
สิ่งเหล่านี้คือนโยบายของพรรค และผมเองได้เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ตั้งแต่ตอนหาเสียง ส่วนที่ทำได้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะว่าเป็นแนวทางเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีก็เคยประกาศไว้ เลยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้เกริ่นนำเรื่องนี้ และบอกว่าให้ทำเป็นเรื่องแรกด้วย เลยทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ที่คนของพรรคได้เป็น รมว.อุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ไปยื่นข้อเสนออะไร แต่ในฐานะกำกับดูแล ผมก็ได้บอกว่ากับคุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ว่าจะต้องปรับปรุงรูปแบบการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างไร ที่ก็ตรงกับแนวทางของนายกรัฐมนตรีอีก
อย่างตอนประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ คือรัฐต้องไม่เป็นอุปสรรค ซึ่งผมก็คิดว่าสิ่งนี้คือหลักการที่ถูกต้อง คือบ้านเราควบคุมประชาชนมากเกินไป อะไรก็ต้องขออนุญาตจนวุ่นวายหมด
ผมก็มอบแนวทางให้ รมว.อุตสาหกรรมไปว่า ให้ไปดูกฎ ระเบียบต่างๆ ดูว่าอะไรที่สามารถผ่อนปรนได้ เช่นการตั้งโรงงานเล็กๆ ให้ทำง่ายๆ โดยวางกฎกติกาให้เขาดู แล้วก็ให้เขาไปทำ แล้วมาแจ้งกับกระทรวงอุตสาหกรรมเลยได้หรือไม่ ไม่ใช่ต้องมาคอยขอใบอนุญาตเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ยังทำให้เป็นช่องทางในการทุจริตประพฤติมิชอบด้วย ไปเรียกรับอะไรเขา หรือไม่ก็เกิดความล่าช้า อาจว่าเจ้าหน้าที่ไม่พอ แล้วก็บอกว่าออกใบอนุญาตไม่ได้
ผมคิดว่าวันนี้ภาครัฐต้องไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคให้กับประชาชน อะไรที่คิดว่าผ่อนปรนได้สามารถทำได้ เช่นประกาศไปเลยว่าหากจะเปิดโรงงานขนาดเล็ก จะต้องทำอะไรบ้าง 1-2-3-4 และทำเสร็จแล้วต้องมาแจ้งให้ทราบ จากนั้นพอแจ้งมาก็ไปตรวจ ประชาชนจะได้เดินหน้าทำมาหากินได้ ไม่ใช่ให้มานั่งรอคุณคนเดียว อันนี้หมายถึงอะไรที่มันไม่มีผลกระทบประโยชน์ส่วนรวมหรือความมั่นคงของประเทศ แต่หากเป็นโรงงานที่มีผลกระทบก็ต้องอีกแบบหนึ่ง
ผมคิดว่าเราต้องรู้จักแบ่ง เหมือนการขอใบอนุญาตจะเปิดร้านอาหารเล็กๆ หรือโรงแรมขนาดเล็ก บางทีปีหนึ่งยังไม่เสร็จเลย ผมว่ากฎเกณฑ์กติกาแบบนี้มันใช้ไม่ได้ ทั้งหมด ก็เป็นเรื่องของกฎหมาย อย่างที่ผมพูดมาตลอด ที่สิงคโปร์ ตอนลี กวนยู ขึ้นมาเป็นผู้นำครั้งแรก เขาใช้กฎหมายฟื้นประเทศ โดยที่เขาไม่ได้ใช้นักเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจอะไร
-ประชุม ครม.นัดแรกก็มีมติให้ลดราคาพลังงานต่างๆ เลย เป็นยุทธวิธีหรือความตั้งใจของรัฐบาล?
คิดว่าเป็นความตั้งใจของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี เพราะว่า ครม.ทั้งคณะตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ทุกคนพยายามช่วยให้ทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศเรื่องนี้ออกมา ที่มาตรงกับที่ผมได้รับโอกาสให้มาทำหน้าที่ดูแลกระทรวงพลังงาน แล้วตรงกับนโยบายทั้งส่วนตัวและของพรรครวมไทยสร้างชาติ เราก็เดินหน้าเต็มที่
เบื้องต้นผมยอมรับว่า เราต้องทำบนพื้นฐานของโครงสร้างและวิธีการเดิมที่เคยใช้กันมา แต่ผมคิดว่าเท่านี้ไม่ได้ ต้องคิดต่อไปว่ารูปแบบ โครงสร้างวิธีการที่ใช้กันมา วันนี้มันถึงเวลาต้องปรับปรุงกันหรือยัง
-ค่าไฟฟ้าที่ประชุม ครม.นัดแรกให้ลดเหลือหน่วยละ 4.10 บาท ต่อมาประชุม ครม.นัดที่สองก็ลดเหลือ 3.99 บาท คนแปลกใจว่าทำได้อย่างไร?
ที่ทำได้ตรงนี้ประการแรกคือ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ อันที่สองคือ ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การที่เราจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มันไม่ใช่แค่หน่วยงานของกระทรวงพลังงานหน่วยงานเดียว แต่ยังมีอีกเช่น หน่วยงานของกระทรวงการคลัง ที่จะต้องมีสัญญาณที่ชัดเจนจากผู้นำรัฐบาล จากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ทุกอย่างมันก็จะเดินหน้าได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสัญญาณชัดเจนว่าให้ทำให้ได้ มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ เราก็มานั่งดูกันว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร
เป้าหมายของตัวผมเอง ถ้าทำได้อยากให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาท ให้มีกำลังใจบ้าง นายกรัฐมนตรีเองก็เช่นเดียวกัน แต่ตอนเริ่มต้นหากติดตามกัน มติ ครม.ครั้งแรกคือ 4.10 บาท เพราะมันเร่งด่วนและ ณ วันนั้นเราบริหารจัดการได้เท่านั้น แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเมื่อเป้าหมายเราพยายามให้ต่ำกว่า 4 บาท แต่วันนั้นสุดๆ มันได้แค่นั้น ก็เลยอยู่ที่ 4.10 บาท แต่หลังจาก 4.10 บาท เราก็มาทำงานกันต่อว่าจะกดลงให้เหลือ 4 บาท หรือต่ำกว่า 4 บาท ให้เห็นเลข 3 ให้ได้จะทำอย่างไร
-กระบวนการคือใช้วิธีการยืดหนี้ กฟผ.?
อันนั้นคือตัวเลข 4.10 บาท ส่วนราคา 3.99 บาท เป็นเรื่องเกี่ยวกับราคาก๊าซ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งก็จะเป็นช่วง 4 เดือนนี้ คือกันยายนถึงธันวาคม 2566
อันนี้คือหลักเกณฑ์ภายใต้เงื่อนไขแบบปัจจุบัน แต่ในอนาคตผมต้องมานั่งคิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้ราคาพลังงานมันลดลงมา ให้อยู่ในความรู้สึกว่าอธิบายได้ ตอบได้ และประชาชนรู้สึกว่ามันถูกต้องและเป็นธรรมกับเขา
-ก็คือมีแนวคิดที่จะทำให้ราคาพลังงานถูกลง ด้วยการไปแตะที่โครงสร้างราคาพลังงาน?
ก็มีอยู่ แต่ว่าเรายังไม่เคยมาดูแลงานกระทรวงพลังงาน ก็ต้องใช้เวลาในการตรึกตรองว่ามันใช้ได้หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ ต้องหารือกับผู้รู้ คนที่มีประสบการณ์
เปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงาน
รูปแบบ-วิธีการ ทำอย่างไร?
-แล้วตอนนี้มีแนวคิดเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานอย่างไรบ้าง?
พลังงานมีหลายอย่าง เช่นก๊าซที่ต้องใช้ก็มีทั้งก๊าซที่ใช้ในเชิงพลังงานและทางตรง มีราคาก๊าซที่เป็นราคาตลาดโลก ขณะเดียวกันเราก็สามารถขุดก๊าซขึ้นมาจากอ่าวไทย ซึ่งตรงก๊าซอ่าวไทย ผมคิดว่าเราสามารถควบคุมราคาได้มากกว่าที่เราต้องนำเข้าซื้อมาจากต่างประเทศ
ประเด็นคือ จะทำอย่างไรให้การขุดก๊าซในอ่าวไทย สามารถขุดได้มากขึ้น และมีต้นทุนที่สามารถอธิบายชี้แจงได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และก๊าซที่ได้ดังกล่าวต้องจัดสรรให้กับประชาชนในครัวเรือนก่อน เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพ การทำอาหาร รวมไปถึงการทำการค้า ร้านอาหารต่างๆ
ผมคิดว่าต้องจัดลำดับความสำคัญ แต่ว่ารูปแบบจะทำแบบไหน อย่างไร ต้องแก้ไขกฎหมาย ระเบียบอะไรบ้าง ในเชิงบริหาร การปรับต่างๆ ต้องขอเวลาผมทำงาน แต่ว่านโยบาย เป้าหมายก็อยู่ในส่วนนี้
เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไปสู่ขั้นตอนนำไปผลิต คือนำไปผลิตไฟฟ้า ที่เขาเรียกกันว่าไฟฟ้าที่เสถียรกับไฟฟ้าที่ไม่เสถียร คำว่าเสถียรคือสามารถจ่ายไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนไฟฟ้าไม่เสถียรคือต้องพึ่งพา เช่นโซลาร์เซลล์ที่ต้องพึ่งพาแสงแดด เพราะกลางคืนไม่มีแดด ก็ต้องวางระบบเช่นเรื่องแบตเตอรี่ หรืออย่างพลังน้ำ ที่เป็นกังหันเล็กๆ ก็แล้วแต่ความแรงของน้ำ รวมไปถึงกังหันลม ที่หากไม่มีลมก็ไม่ได้ อันนี้คือไม่เสถียร
ส่วนพวกไฟฟ้าเสถียร คือที่สามารถจ่ายไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นโรงงานใหญ่ ซึ่งหลักๆ ก็ยังเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ความต้องการของประชาชนมันเกินความสามารถของ กฟผ. จึงต้องมีเอกชนมาร่วมลงทุน เพราะมันเกินทั้งกำลังคนและงบประมาณ
สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมเอกชนต้องเข้ามา แต่พอเข้ามาแล้ว ผมคิดว่า กฟผ.ก็ต้องมานั่งคิดว่า ไฟฟ้าที่เสถียรมาจากก๊าซธรรมชาติ มาจากถ่านหิน รวมถึงพลังงานที่เขาเรียกว่าไม่สะอาด ก็เลยมีการเรียกร้องว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินให้หยุดให้หมด ให้เป็นแบบสะอาดให้หมด ซึ่งเวลานี้ที่สะอาดจริงๆ ของการผลิตไฟฟ้าเสถียรคือพลังน้ำ และประหยัดที่สุดด้วย รองลงมาก็คือก๊าซธรรมชาติ
ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าจะทำให้ดีขึ้น อาจต้องไปใช้เรื่องของน้ำ แต่ปัญหาคือจะนำมาจากที่ไหน วันนี้สิ่งที่เราเห็นคือมีเขื่อน กลายเป็นว่าเขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่เราไม่สามารถเปิดน้ำเพื่อให้ผ่านกังหันจะได้ผลิตไฟฟ้า ตามสิ่งที่มันควรจะเป็น เพราะหากปล่อยลงมาก็จะท่วม เลยกลายเป็นว่า เขื่อนปล่อยน้ำตามความต้องการของภาคการเกษตรเป็นหลัก
ผมคิดว่าต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร เราจึงจะสามารถใช้น้ำหมุนเวียนในเขื่อน ไม่ใช่ว่าปล่อยมาแล้วก็หายไปเลย ในช่วงที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร น่าจะมีบ่อเก็บกักต่างหาก สร้างไว้หรือไม่ เพื่อให้สามารถปล่อยมาผลิตน้ำได้ 24 ชั่วโมง แล้วก็ดูดกลับไปใหม่ ผมนั่งคิดไว้ก่อน ซึ่งถ้าเราทำแบบนี้ได้ ลงทุนตรงนี้ได้ เราก็จะสามารถเสริมระบบไฟฟ้าเสถียรจากพลังน้ำได้ โดยเป็นพลังงานสะอาดและต้นทุนต่ำ
ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าเยอะช่วงหลัง ก็เป็นไปตามความต้องการ แต่ผมคิดว่าที่จะถูกที่สุดคือ ก๊าซที่ได้จากอ่าวไทย ผมคิดว่าตรงนี้ต้องนำมาให้ประชาชนก่อนเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
-ที่คนวิจารณ์กันเยอะคือ มีการผลิตไฟฟ้าเยอะเพื่อนำมาสำรอง แล้วเสียค่าเก็บค่ารักษาปีละเป็นหมื่นล้าน คิดว่าต้องมีการศึกษาหรือทบทวนเรื่องนี้หรือไม่?
ผมคงต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่จากที่ผมได้ข้อมูลหลังจากที่สอบถามแล้ว อันนี้ฟังดูก็มีเหตุผลพอสมควร เช่นจะเห็นได้ว่าบ้านเราแทบไม่เคยเกิดเหตุไฟฟ้าดับ ที่ก็เพราะมาจากการมีการสำรอง ที่มีเป้าหมายคือต้องไม่มีการเกิดเหตุไฟฟ้าดับเลย
การสำรองมีสองขั้นตอนตามที่ได้รับรายงานและศึกษาเบื้องต้น เช่น กำลังการใช้ไฟฟ้าในประเทศเราต่อวัน 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 1 เดือน ก็ 300 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องสำรองไฟฟ้า เผื่อไฟฟ้าตก ไฟฟ้าหาย ไฟฟ้าขาด อีกสัก 10 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ผมยกตัวอย่าง เท่ากับก็ต้องมี 330 เปอร์เซ็นต์ และ 30 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่ม ก็ต้องสำรองซ้อนสำรองอีกเพื่อเผื่อเหนียวไว้ ก็กลายเป็น 333 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ผมคิดให้เห็นตัวเลขง่ายๆ แต่ความจริงไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ผมพูด เพราะต้องมีการคำนวณอะไรอีกหลายอย่าง เช่น 10 เปอร์เซ็นต์เพียงพอหรือไม่ แต่เป้าหมายคือไม่ว่าจะเกิดกรณีเช่นไฟตก จะต้องไม่มีไฟฟ้าดับ
การสำรองตรงนี้ความจริงเป็นภารกิจของ กฟผ. แต่ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กำลังคน กำลังทุนไม่พอ พอไม่พอเขาจึงต้องหาคล้ายๆ ผู้ร่วมลงทุน ต้องมีคนเข้ามา ซึ่งตรงนี้ที่เขาทำก็คือ หากว่าคนที่จะมาลงทุนต้องกู้เงินธนาคาร ถ้าหากว่าตัวเลขไม่เสถียรในการที่จะได้เงินกลับคืนธนาคาร ทางธนาคารก็ไม่ให้กู้เงิน
เหตุผลที่สองคือ มันเป็นภารกิจหลักของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือต้องสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอ ไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ผมบอก เขาก็ต้องทำโรงงานขึ้นมา ซึ่งหากเกิดเหตุจำเป็นโรงงานดังกล่าวก็จะต้องเดินไฟของ กฟผ. แต่ไม่ใช่ว่าโรงงานดังกล่าวจะเดินงานจ่ายไฟตลอดเวลา เพราะอย่างที่ผมยกตัวอย่าง วันละ 10 เปอร์เซ็นต์ เดือนละ 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็มีโรงงานแค่ตรงนั้น แล้วหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาไฟฟ้าดับเลย
ทำให้ กฟผ.ต้องมีกำลังผลิตสำรอง ซึ่งยังไม่ทำงาน แต่หากว่าเกิดปัญหาจะต้องสามารถไปเสริมกำลังตรงนี้ได้ หรืออย่างที่บอกใช้วันละ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจมีบางช่วงขึ้นไป 15 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเดินเครื่องเพิ่ม
ดังนั้นเช่นเดียวกัน เขาก็อธิบายกับผมว่าที่ต้องให้มีเอกชนเข้ามา ก็เป็นเงื่อนไขเดียวกันว่าต้องพร้อมจ่ายไฟฟ้า ถ้าเราต้องการ แต่การที่เราไปจ้างเขาทำไว้แล้ว ก็เท่ากับเราต้องจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเรียกมาใช้เมื่อใดเป็นเรื่องที่เราจะเรียก แต่หากเรียกแล้วเขาต้องพร้อมให้เรา
ตรงนี้ก็คือภาระของผู้ลงทุน เพราะเขาต้องลงทุนให้เราในหลักเกณฑ์ตรงนี้ แต่ถ้าทำแล้วเราบอกเราไม่ซื้อ เราไม่ใช้ เขาก็ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ ธนาคารก็ไม่ให้เงินกู้ ทาง กฟผ.อธิบายผมว่าถ้าเป็นเขาทำเอง เขาก็ต้องทำแบบนี้ แต่อันนี้จะถูกต้องหรือไม่ ผมต้องไปศึกษาอีกที
-หากดูแล้วสำรองไว้เยอะเกินไป ก็อาจทบทวน?
ต้องมาดู ข้างหนึ่งก็บอกว่าไม่เกิน อีกข้างก็บอกว่ามีเยอะเกินไป ตรงนี้ภารกิจผมอย่างหนึ่งคือต้องมาดูตรงนี้ หากว่าเยอะเกินไปก็ต้องปรับลด แต่ถ้ามีเหตุผลมารองรับว่าไม่ได้เยอะเกินไป แต่มีเหตุผลความจำเป็น เราก็อธิบายได้ว่าข้อมูลตัวเลขมันเป็นแบบนี้
แย้มมีข้อมูลสำคัญ-นำเข้าน้ำมัน
หลังขอข้อมูลกรมศุลกากร
-เรื่องทิศทางนโยบายเกี่ยวกับน้ำมัน จะมีแนวทางอย่างไร?
ผมคิดว่าโครงสร้างน้ำมันวันนี้ต้องมาทบทวนว่ารูปแบบตอนนี้ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะต้นทางของราคาน้ำมัน คือราคาหน้าโรงกลั่น อะไรคือราคาที่ถูกต้อง ความเป็นจริง ต้นทุนที่ถูกต้องคืออะไร วันนี้กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้มีอำนาจไปสั่งการหรือบังคับให้บริษัทค้าน้ำมันส่งต้นทุนให้ดู อันนี้คือเรื่องของกฎหมาย อย่างการที่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่เดินทางไปยังกรมศุลกากร ก็เพื่อต้องการหาข้อมูลต้นทุน ผมเป็นคนแบบนี้ ผมไม่ต้องนั่งรอใครรายงาน เพราะผมต้องหาข้อมูลเอง จะมัวมานั่งรอรายงาน แล้วนั่งอยู่เฉยๆ ผมทำไม่เป็น ผมเป็นคนทำอะไรต้องลงมือเอง ผมถามแล้วเมื่อไม่ได้ข้อมูล ผมก็หาเองไม่เห็นต้องไปง้อใคร
เอาแบบนี้ ผมยกตัวอย่างที่ผมก็เพิ่งทราบ เขาบอกว่า ราคาหน้าโรงกลั่นที่เป็นราคาเริ่มต้นของทั้งหมด สมมุติเรากำหนดไว้ 28 บาท แต่ผมขอกลับไปที่ค่าไฟฟ้าก่อน สมมุติว่าหากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขากำหนดค่าไฟออกมาที่ 3.99 บาท หากเก็บเกิน 3.99 บาท มีปัญหา แต่สำหรับน้ำมันไม่ใช่ เพราะโครงสร้างน้ำมันที่กำหนดไว้ให้ใช้ราคาหน้าโรงกลั่น 28 บาท แต่หากปรากฏว่าผู้ประกอบการเขาไม่เอาด้วย เขาบอกจะขาย 28.50 บาท โดยบอกว่าราคา 28 บาทขายไม่ได้ แต่พอทางนี้บอกไปว่าข้อมูลของฝั่งคุณผิด ขอให้เอาข้อมูลของคุณมาให้ทางเราดู เขาไม่ให้ แล้วหากเขาขาย 28.50 บาท หรือขาย 29 บาท แล้วบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ถ้าแบบนี้ไม่ใช่หลักของการบริหารราชการ แบบนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวน
เพราะฉะนั้นเมื่อเขาบอกว่าราคาที่เรากำหนดไว้ เบื้องต้นเป็นราคาหน้าโรงกลั่นไม่ถูกต้อง และเราไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ต้องไปหาข้อมูลมา เพราะน้ำมันทุกอย่างต้องผ่านมาทางท่าเรือ เพราะขนมาทางเรือ ผ่านเข้ามาก็ต้องจ่ายภาษีอากร ก็มาดูว่าต้นทุนจากตรงนี้บวกกันแล้วมันคือเท่าใด
สิ่งที่ได้คือราคาน้ำมันที่นำเข้า ที่นำเข้ามาเป็นน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูป ถ้าเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็ไปขายได้เลย ก็ไปดูว่าต้นทุนคือเท่าใด แต่หากเป็นน้ำมันดิบต้องไปกลั่น เราไปดูในงบดุลประจำปีว่าเขามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ไม่ว่าจะบวกค่าใช้จ่ายอะไร บวกไปบวกมามันคือค่าดำเนินงานของผู้นำเข้ามา ทำให้เรารู้ข้อมูลเบื้องต้น ที่เป็นเอกสารราชการที่เขาเป็นคนแจ้งมาเอง
เมื่อไม่กี่วันก่อนราคาน้ำมันโลกขึ้นราคา ราคาน้ำมันหน้าปั๊มก็ปรับราคา โดยอ้างเหตุว่าน้ำมันดิบต่างประเทศปรับราคาสูงขึ้น แต่สำหรับตัวผมคิดว่ามันผิดหลักตรรกะ ผมก็ต้องไปหาข้อมูลมาอีกว่าหลักนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่ ที่บอกว่าผิดหลักตรรกะก็คือ น้ำมันที่ขายที่ปั๊มน้ำมันวันนี้มันนำเข้ามาเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว น้ำมันดิบเวลาเข้ามาแล้ว ออกจากกรมศุลกากรก็จะถูกนำไปเก็บไว้ที่คลังน้ำมัน จากคลังน้ำมันถึงจะนำไปเข้าโรงกลั่น และจากโรงกลั่นถึงจะนำมาขายที่ปั๊มน้ำมัน จะใช้เวลาในส่วนนี้ประมาณ 2-3 เดือน
เพราะฉะนั้นน้ำมันที่ขายที่ปั๊มน้ำมันวันนี้ คือต้นทุนน้ำมันเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว แต่เมื่อราคาน้ำมันโลกขึ้นวันนี้ แล้วคุณมาปรับขึ้นราคาน้ำมันตามได้อย่างไร เพราะต้นทุนของคุณมันคืออดีต ตรงนี้ผมยังสับสนอยู่ว่ามันเป็นหลักตรรกะอะไร ผมก็ต้องมาศึกษามาดูว่ามันถูกต้องหรือไม่ แต่ยังไม่รู้ว่าตามกฎหมายปัจจุบันจะทำอะไรได้
สิ่งสำคัญคือ เมื่อผมรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ถ้ากฎหมายมันใช้ไม่ได้ก็ต้องแก้กฎหมายใหม่หมด
แล้วผมก็จะร่างกฎหมายเหล่านี้เองด้วย ไม่ต้องรอให้ใครร่างเพราะผมทำได้อยู่แล้ว โดยให้ตรวจสอบได้และถูกต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
คือเราก็ต้องเข้าใจว่า ภาคเอกชนที่เขามาลงทุนเข้ามาทำ ถ้าเขาขาดทุนอยู่ไม่ได้ เขาเจ๊ง เราก็เดือดร้อนอีก แต่หากประชาชน ผู้บริโภค อยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสม มันก็เป็นการเอาเปรียบประชาชน
สำหรับการเดินทางไปกรมศุลกากรเมื่อ 19 ก.ย. ทางกรมศุลกากรให้ข้อมูลดีมาก แต่ที่คุยกันเบื้องต้นหลักการทำงานคือ เราต้องประสานงานกันสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะมานั่งทำงานกระทรวงเรา ต่างคนต่างอยู่ได้อย่างไรในเมื่อข้อมูลมันเชื่อมกันหมด หากเราไม่ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เราจะทำงานราชการได้อย่างไร ก็เป็นแนวทางการทำงานของผม ไม่ได้เป็นการไปก้าวล่วงอะไร เป็นการประสานงานเพื่อนำข้อมูลมาทำงานกันต่อไป และหลังจากนี้ผมก็จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปที่กรมศุลกากรต่อไปเพื่อขอข้อมูล
-จะมีข้อมูลแบบช็อกซีเนมาหรือไม่?
มีครับ แต่ไว้เปิดเผยทีหลัง
-แล้วเบนซินมีโอกาสจะปรับลดราคาลงมาได้หรือไม่ภายในปีนี้?
เป็นความตั้งใจของผม ที่เมื่อลดก็ต้องลดให้ได้ทั้งหมด แต่ว่าคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในภาครัฐ เขาก็บอกว่ามันลำบาก เพราะว่ามันมีหลายขั้นตอนของกระบวนการและมีหลายเกรดของน้ำมัน ซึ่งเขาบอกว่าดีเซลกับเบนซินมันต่างกัน ดีเซลเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตและการขนส่งเป็นหลัก แต่ว่าเบนซินมันไม่ใช่ แต่ผมก็บอกว่ามันไม่ใช่หรอก เพราะคนที่จำเป็นต้องใช้รถก็มีทั้งเบนซินและดีเซล
ผมยกตัวอย่าง เช่นพวกบริษัทส่งของวันนี้ใช้รถปิกอัปอะไรต่างๆ ก็มีทั้งเบนซินและดีเซล ที่ผ่านมาเขาก็เลยเลือกจะช่วยพวกผู้ประกอบอาชีพเล็กๆ คือวินมอเตอร์ไซค์ แต่ก็มีปัญหาในเชิงการลงทะเบียน เช่นเรื่องเสื้อวินอะไรต่างๆ ผมก็เลยมอบนโยบายให้ไปดูเบนซินที่ราคาต่ำสุด ประเภทที่ต่ำสุด เราช่วยตรงนี้ คนที่ไม่มีเงินมากก็ใช้เบนซินราคานี้ แล้วก็ไม่จำกัดแต่เฉพาะวินมอเตอร์ไซค์ จะได้หมดปัญหาเรื่องการลงทะเบียน ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงแรงงานมีหลักเกณฑ์อยู่ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็มีเกณฑ์อยู่ว่าระดับใดที่ถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็ให้คนที่มีรายได้น้อยได้ใช้น้ำมันราคาถูกหมด แล้วก็ไปปรับตัวเลขต่างๆ เรื่องนี้ผมมอบการบ้านให้ไปพิจารณาแล้ว ให้ดูผลงานว่าจะทำได้แค่ไหน
-หากเป็นแบบนี้ ทำเรื่องโครงสร้าง ไปดูเรื่องข้อกฎหมาย น่าจะทำให้ราคาค่าน้ำมันมีโอกาสปรับลดลงได้เยอะ เบนซินปีนี้น่าจะลดลงได้?
ผมก็ไม่อยากพูดไปแบบนั้น แต่เอาเป็นว่าคือความตั้งใจและคิดว่าอยากจะทำให้ได้ แต่ดีเซลทำมาแล้ว ไฟฟ้าทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นเบนซินก็ต้องทำให้ได้
-เรื่องกองทุนพลังงาน ตอนนี้สถานะเป็นอย่างไร ติดลบเท่าใด?
อันนี้ที่ผมบอกใช้มากี่ปีแล้ว วันนี้มันเหมาะสมหรือไม่ เป็นหนี้อยู่แบบนี้ ที่ถามก็คือ ทำไมเราไม่คิดเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ้าง กองทุนพลังงานมีไว้ชดเชยเวลาบาลานซ์ราคา แต่ถามว่าการบาลานซ์ราคา รูปแบบต้องใช้เงินอย่างเดียวหรือ ผมว่าเราต้องคิดใหม่ได้แล้ว เพราะหากเราแก้ตรงนั้น ก็จะกลายเป็นหนี้รัฐบาลอีก แล้วเงินมหาศาลขนาดนี้ เราต้องคิดรูปแบบใหม่ๆ หรือไม่ ผมก็เป็นคนแบบนี้ ไม่ชอบนั่งเฉยๆ คือเขาทำกันมาแบบเดิมก่อนนี้ โอเคไม่ว่ากัน แต่ต้องมานั่งคิดว่าจะมีรูปแบบอื่นหรือไม่ ที่จะทำให้การดูแลเรื่องราคาน้ำมัน มันดีโดยที่ไม่ต้องใช้เงินจากกองทุนพลังงาน แต่ใช้วิธีอื่นมีไหม แต่ผมยังไม่ได้บอกว่าจะมีวิธีอะไร แต่ผมคิดว่าการทำงานเป็นรัฐมนตรีต้องคิดสิ่งใหม่ๆ คิดอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมา แต่เราก็ต้องคิดบนพื้นฐานความเป็นจริง ความเป็นไปได้ ด้วยหลักเหตุและผล
เพราะรัฐมนตรีไม่ใช่ทำงานแบบวันต่อวัน แต่รายละเอียดยังไม่อยากพูด แต่ผมก็คิดว่าของมันต้องแก้ด้วยของอย่างเดียวกัน เหมือนผลไม้ขาดตลาดก็หาผลไม้มาใส่ แต่หากผลไม้ล้นตลาดก็ต้องเอาผลไม้ออกมา
-คนใช้เบนซินเขาก็อาจคิด เอาเงินจากคนใช้เบนซินไปเข้ากองทุน แต่พอน้ำมันลดกลับไม่เห็นช่วยคนใช้เบนซินเลย?
ก็แบบนี้ไง ผมถึงบอกว่ามันเป็นระบบแบบนี้มานานแล้ว และก็เกิดปัญหาต่อเนื่อง พอแก้ปัญหาจุดนี้ก็จะไปเกิดปัญหาตรงที่อื่น ทำไมไม่คิดรูปแบบอื่นๆ บ้าง แต่ผมยังไม่อยากบอกว่ากองทุนมันจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่ผมจะบอกว่ารูปแบบที่ใช้ทุกวันนี้คือระบบกองทุนน้ำมัน แต่ผมกำลังจะบอกว่าต้องมานั่งคิดกันแล้วว่า นอกจากใช้วิธีรูปแบบของกองทุนน้ำมัน จะมีวิธีการแบบอื่นหรือไม่ ต้องมานั่งคิดกัน ไม่ใช่แบบว่าก็เคยใช้กองทุนน้ำมัน วันนี้ก็ต้องกองทุนน้ำมัน วันหน้าก็ยังใช้กองทุนน้ำมัน แล้วก็มานั่งบอกกันว่ากองทุนน้ำมันตัวเลขติดลบ ตอนนี้ก็ติดลบกัน 5 หมื่นกว่าล้านบาท
-ที่เคยบอกว่าจะมีนโยบายนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ทำอย่างไร?
คนที่ไม่เข้าใจผม ก็เพราะเขาไม่เข้าใจวิธีคิดแบบผม ทุกคนคิดแต่ว่าเรื่องน้ำมันเป็นเรื่องธุรกิจ แต่ผมถูกคุณพ่อ (พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง) สอนมาว่าไม่ใช่ คือ พลังงานเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ พลังงานเป็นเรื่องความมั่นคงของชีวิตคน เพราะฉะนั้นจะคิดเรื่องพลังงานแบบสินค้าทั่วไปไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญมากกว่าสินค้าทั่วไป
เราจึงต้องดูว่าสินค้าประเภทนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคน ส่งผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงต้องมานั่งคิดว่าจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้มันเกิดความสมดุลในด้านการประกอบการ
ที่ผมบอกเรื่องนโยบายนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพราะผมไม่ได้มองน้ำมันเป็นธุรกิจ เพราะเป็นเรื่องของชีวิตคน แต่คนก็บอกว่าปัจจุบันก็เปิดให้นำเข้าเสรีอยู่แล้ว ให้ไปดูมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ซึ่งผมไม่เถียง ผมเป็นนักกฎหมาย ไม่ต้องให้มาบอก ผมก็รู้ แต่มันเป็นเรื่องธุรกิจหรือไม่ มาตรา 7 แต่อย่างถามว่าคุณเป็นคนไทย ทำไม คุณถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อน้ำมันที่คุณคิดว่าราคาถูกกว่า อย่างตอนแรกที่ผมบอกว่า น้ำมันที่นำเข้ามีทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งหมดนำเข้ามาขาย
ผมยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นรถบรรทุกของต่างๆ เขาใช้น้ำมันดีเซล แต่พอน้ำมันขึ้นราคา ก็จะขึ้นราคา โดยบอกว่าน้ำมันขึ้นราคา ทั้งที่อย่างที่ผมบอกข้างต้น น้ำมันที่ขายวันนี้เป็นน้ำมันที่นำเข้าเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ซึ่งคนเหล่านี้ทำไมเราจะต้องออกกฎเกณฑ์กติกา ไม่ให้เขานำเข้าน้ำมันมาใช้เอง คำว่าเสรีของผม อยากใช้คำว่าเสรีภาพมากกว่า ไม่ใช่เสรีค้าขาย ต้องมาขออนุญาตตามมาตรา 7 สมมุติสมาคมรถบรรทุกหรือรถบัสเขารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ มีสมาชิกเป็นสหกรณ์ แล้วสามารถไปหาน้ำมันดีเซลจากประเทศต่างๆ ได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่เขาซื้อในเมืองไทย เอาเข้ามาแล้วก็มาใช้ ไม่ได้เอามาค้าขายแบบคนอื่นๆ แต่ให้เฉพาะสมาชิกในกลุ่มเขา ต้นทุนมันก็จะถูกลง แล้วคนที่ได้น้ำมันไปจะมาอ้างว่าน้ำมันขึ้นราคา แล้วจะขอขึ้นราคาอะไรต่างๆ จะทำได้หรือไม่ ต้นทุนผลิตสินค้าจะมาอ้างได้ไหม แล้วเป็นสิทธิที่เราควรให้เขาหรือไม่
แต่ว่าเขาจะหาได้หรือไม่ได้ มีใครทำหรือไม่มีใครทำ ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงพลังงาน "รัฐ" ไม่ใช่เรื่องตรงนั้น แต่รัฐ ควรเป็นผู้ซัพพอร์ตให้คนไปหา ให้เขามีสิทธิ์ แต่เปิดโอกาสแล้ว จะมีใครใช้โอกาสใช้สิทธิ์หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราไม่ควรไปบล็อกโอกาสตรงนี้ของประชาชน แต่คนไม่เข้าใจ ไปมองเป็นเรื่องธุรกิจกันไปหมด แต่ผมบอกแล้วพลังงานไม่ใช่เรื่องธุรกิจ
-คนมองกันว่า กระทรวงพลังงานผลประโยชน์เยอะ รัฐมนตรีหากไม่แน่จริงอาจเสร็จกลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มต่างๆ กลุ่มข้าราชการ จะประกาศอะไรบ้างหรือไม่?
ก็ยังไม่เห็นมีอะไร ผมมานั่งทำงานอยู่ ก็ยังไม่เห็นมีอะไร กลุ่มทุนกลุ่มอะไรก็ไม่เห็นมีใครมาหาผม ข้าราชการก็ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ก็ไปกันได้ดีอยู่
-ไม่มีการล็อบบี้อะไรหรือว่ายังใหม่อยู่?
คงไม่มีใครกล้ามายุ่งกับผม
"ในฐานะที่ผมทำหน้าที่ รมว.พลังงาน ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผมจะพยายามทำให้เรื่องพลังงานอยู่ในระดับที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับประชาชน และที่สำคัญอย่างที่คุยตอนต้น ผมก็รู้ว่าผมจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ผมจะต้องเจอกับผลประโยชน์ที่อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากนโยบายที่จะทำให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม ผมอาจจะเจอกับหลายเรื่อง แต่ผมยืนยันว่าผมจะทำให้พี่น้องประชาชน ก็ขอให้ประชาชนเป็นหลักพิงหลังให้ผมด้วยแล้วกัน" รมว.พลังงานระบุ.
อนาคตพรรค 'รทสช.'
หลังไม่มี 'บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์'
คุยกับ "พีระพันธุ์-รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน" ทั้งที ก็ต้องคุยเรื่องการเมืองกันด้วย เพราะนอกจากตำแหน่งในฝ่ายบริหารแล้ว ก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง "รวมไทยสร้างชาติ" หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อถามถึงกรณีมติ ครม.เมื่อ 13 ก.ย. ที่ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร "พีระพันธุ์-หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ" กล่าวถึงจุดยืนของพรรคว่า ตรงนี้เราคุยกันชัดเจน ในส่วนที่เขาอยากให้แก้ไขก็คือความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมาตราอะไรที่จะไปโยงกับสถาบัน และไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะกระทบกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพราะฉะนั้นในสองส่วนนี้จะไม่มีการไปกระทบถึง แต่ในแง่ที่เขาจะไปฟังประชาชนมา หรือมีข้อมูลมาว่ามีมาตราอะไรตรงไหน มันไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ในมุมของเขาหรือมุมของประชาชนก็จะมีการปรับปรุงแก้ไข อันนี้เราไม่ได้ว่าอะไรกัน ก็มีการทำความเข้าใจ ตกลงกันไว้แล้ว
-หากสุดท้าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึงจุดที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่า ส.ส.ร.ควรมีรูปแบบที่มาอย่างไร ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ หรือผสมผสาน?
ผมมองคนละมุมกับหลายคน คือผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีความรู้ และต้องมีความเข้าใจว่าอะไรคือรัฐธรรมนูญ และต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีอคติกับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้
รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายของคนไทย ไม่ใช่กฎหมายของกลุ่มอาชีพ แล้วก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะมาสร้างความแตกแยก แต่เป็นกติกากลางของคนไทยทุกคน จึงต้องเป็นกติกาที่สร้างความเป็นธรรมและถูกต้องให้กับคนไทยทุกกลุ่ม เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายของอาชีพ แต่เป็นกฎหมายของคนไทย กฎหมายสูงสุดของประเทศ
-เกรงหรือไม่ว่าปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดวิกฤตกับบ้านเมืองอีก หรือไม่น่าจะมีแล้ว พ.ศ.นี้?
อยู่ที่คน ปัญหาของบ้านเมืองอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ
-บางคนบอกตอนนี้บรรยากาศบ้านเมืองมีการสลายขั้ว สลายสีแล้ว?
ผมว่าก็ดีนะ อันนี้เป็นนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ผมคิดว่าบ้านเมืองมันตีกันมาพอแล้ว ทุกฝ่ายไม่ว่าจะฝ่ายไหน ทุกคนมีพลัง มีความสามารถ แต่ว่าทางเดินของแต่ละคนอาจจะต่างกัน แต่ถ้าเป้าหมายสุดท้ายของทุกคน อยากเห็นบ้านเมืองดี อยากทำบ้านเมืองให้ลูกหลานเหมือนกัน นั่นคือมีเป้าหมายเดียวกัน เราสามารถปรับจูนเส้นทางเดินให้ไปด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สีอะไร คิดอะไร แต่ถ้าทุกคนมีเป้าหมายคือเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อลูกหลาน มันก็สามัคคีปรองดอง แล้วเอาพลังที่ตัวเองมี มาสร้างบ้านสร้างเมือง ดีกว่ามาตีกัน เอาประเทศเป็นที่ตั้งก็ไม่มีใครทำอะไรเราได้ อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
-มีการมองกันว่าวันนี้ "ลุงตู่" ไม่อยู่แล้ว เลือกตั้งรอบหน้ารวมไทยสร้างชาติอาจสลายตัว?
ก็แล้วแต่คนมอง อย่างที่ผ่านมาก็มีบางคนบอกว่าพรรคจะได้ สส.แค่ 7 คน คือห้ามคนไม่ได้ ปากมนุษย์ ผมถูกสอนมาแบบนี้ ไม่ต้องฟังใคร ทำตัวเองให้ดี ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรเป็นเรื่องของเขา แต่ผมไม่เคยเอามาเป็นอารมณ์ เราทำของเราให้ดี เรารู้ว่าเราคืออะไร เราทำอะไร ใครเขาอยากจะมองอะไรเราแบบไหนก็เรื่องของเขา เพราะเราไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียอย่าง กลัวอะไร
-ยังไงเลือกตั้งรอบหน้า จะมีธงพรรครวมไทยสร้างชาติโบกสะบัดอยู่ในสนามเลือกตั้ง?
มีแน่นอน เพียงแต่ว่าจะเลื่อนลำดับ คือจำนวน สส.ไปอยู่ตรงไหน ก็ว่ากันอีกที ซึ่งก็อยู่ที่ประชาชน ผมและสมาชิกพรรคก็จะพยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด เพื่อชาติบ้านเมือง ถ้าประชาชนเห็นว่าผมและสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามาแล้วตั้งใจทำงานอย่างที่ประชาชนต้องการอยากให้มีตัวแทนการเมืองแบบนี้ ก็ช่วยกันดูแลพรรครวมไทยสร้างชาติไว้ต่อไปก็แล้วกัน
สำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตั้งแต่ท่านพลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมยังไม่มีโอกาสได้พบท่านเลย เพราะท่านก็ต้องการพักผ่อน เราเองก็ภารกิจเยอะ แต่คุยกันก็มี แต่ว่าไปเจอกันยังไม่ได้เจอ ก็อยากให้ท่านได้พักผ่อนเต็มที่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...